fbpx

THE ZONE OF INTEREST สูตร ‘แกงเผ็ช’ เคล็ดล้างครัว ไส้อั่ว Currywurst เยอรมัน

นับเป็นเรื่องถูกต้องดีงามมีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ที่บทภาพยนตร์เรื่อง The Zone of Interest (2023) เขียนโดยผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์สำหรับหนังที่ออกฉายในสหรัฐอเมริกาในรอบปี 2023 ต่อให้ในความเป็นจริงก็ไม่รู้หรอกนะว่าคณะกรรมการมีโอกาสได้อ่านนิยายต้นฉบับเรื่อง The Zone of Interest (2014) ของ มาร์ติน เอมิส (Martin Amis) ก่อนลงคะแนนโหวตกันสักกี่ราย และแม้ว่าสุดท้ายบทหนังเรื่องนี้จะพ่ายรางวัลให้แก่ American Fiction (2023) โดย คอร์ด เจฟเฟอร์สัน (Cord Jefferson) ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Erasure (2001) ของ เพอร์ซิวัล เอเวอเร็ตต์ (Percival Everett) อีกที (พอดี ‘กัลปพฤกษ์’ ยังไม่มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องหลังนี้ จึงขออนุญาตไม่นำมาเปรียบเทียบ)

ที่ต้องยกย่องสรรเสริญกันเรียบร้อยตั้งแต่บรรทัดแรก ก็เพราะบทหนังสุดแปลกเรื่อง The Zone of Interest ของเกลเซอร์ มันช่างทะเยอทะยานในการก้าวข้ามจากเนื้อหาในงานวรรณกรรม ด้วยการเอามา ‘ต้มยำทำแกง’ ด้วยสูตรใหม่ให้กลายเป็นงานภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงก้นเหวแห่งความหม่นมืดในจิตใจของมวลมนุษยชาติ จากกรณีการกวาดล้างสังหารเผ่าพันธุ์เชื้อสายยิว ณ ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ด้วยบรรยากาศแวดล้อมเดียวกันกับฉบับนิยาย หากในส่วนของรายละเอียดกลับแยกเส้นทางกันราวเป็นแม่น้ำสองสายที่แทบจะหาได้มีองค์ประกอบอื่นใดพ้องคล้ายกันอีกเลยสักตรง!

ต่อให้นิยายเรื่อง The Zone of Interest ของมาร์ติน เอมิส จะได้ชื่อว่าเป็นงาน ‘มงฯ ลง’ นักวิจารณ์วรรณกรรมเคยส่งเสียงแซ่ซ้องกันกว้างขวางเพียงไหน แต่ในสายตาของ ‘กัลปพฤกษ์’ แล้ว งานวรรณกรรมเล่มนี้กลับถือเป็น ‘หายนะ’ ทางการประพันธ์อย่างไม่น่าให้อภัย ไม่เห็นจะชวนให้รู้สึกร่วมอะไรตรงไหน ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษปนภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศสและละติน โดยไม่มีคำแปลใดๆ ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ อยากเขวี้ยงหนังสือทิ้งไปให้ไกลๆ ทุกครั้งที่อ่านจบครบแต่ละตอน! ซึ่งพอย้อนไปอ่านรีวิวของผู้อ่านจากทางบ้าน หลายๆ คนก็ออกมาวิจารณ์ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน ทำให้ใจชื้นขึ้นมาโดยพลันว่าฉันไม่ได้เรื่องมากเอาใจยากและหยิ่งเยอะอยู่ลำพัง เพราะหลายๆ คนก็ด่าหยาบด่าดังกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังบ่นครวญอยู่หลายเท่า!

คนอื่นๆ จะเม้ามอยหอยกาบสาปส่งนิยายเล่มนี้อย่างไรก็คงไม่เห็นต้องสนต้องแคร์ แต่ผู้กำกับเกลเซอร์ที่ลงมือดัดแปลงนิยายเรื่องนี้มาเป็นหนังด้วยตัวเองนี่สิที่น่าสงสัย เพราะถ้าได้อ่านได้ดูเทียบกันก็จะพบว่า เกลเซอร์จัดการทำหนัง The Zone of Interest เพื่อ ‘แกง’ ไส้อั่ว Currywurst เยอรมันสูตรมั่วจากตัวงานวรรณกรรมต้นฉบับเสียหม้อใหญ่ ราวกับจะมองว่าเอมิสช่างเล่าเรื่องราวที่แสนจะน่าสนใจของตัวละคร รูดอล์ฟ เฮิสส์ (Rudolph Höss) ในหนังสือไว้อย่างไม่เป็นสับปะรดเสียนี่กระไร เขาจึงต้องหยิบเอานิยาย The Zone of Interest มา ‘รื้อสร้าง’ วางเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดเสียใหม่ จนแทบไม่เห็นเค้าเดิมราวกับเป็นงานคนละชิ้น ด้วยกลิ่นอายของการได้แรงบันดาลใจในแบบห่างๆ จางๆ! กล่าวคือถ้าเกลเซอร์รักและศรัทธานิยายเล่มนี้จริงๆ ทำไมเขาจึงทิ้งเนื้อหาเดิมแทบทุกอย่าง แล้วหันมา ‘รื้อสร้าง’ กันอย่างไม่เกรงใจเช่นนี้ ทำทีเหมือนกำลัง ‘สอนมวย’ เอมิสว่าเรื่องราวแบบนี้ ถ้าจะเล่าให้ดีควรทำอย่างไร สร้างตำนานบทใหม่ของงานภาพยนตร์ชั้นดีที่สร้างมาจากนิยายราคาถูกคุณภาพก๊องแก๊งกระป๋องกระแป๋ง แบบที่ผู้กำกับอย่าง อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อค (Alfred Hitchcock -คนทำหนังชาวอเมริกัน) เคยสำแดงไว้ในเรื่อง Psycho (1960 -ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ โรเบิร์ต บลอช) และ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Speilberg -คนทำหนังชาวอเมริกัน) จากเรื่อง Jaws (1975 -ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ ปีเตอร์ เบนช์ลีย์)

ก่อนที่จะว่าถึงการดัดแปลง ขอแย่งเล่าถึงเนื้อหาในนิยายของเอมิสเสียก่อนว่าอ่อนด้อยอย่างไร น่าเบื่อจนเหลือทนกันขนาดไหน จนไม่ว่าจะมองจากมุมใด ก็แทบจะไม่พบอะไรที่เป็นด้านดีๆ The Zone of Interest ฉบับนิยาย อาศัยโครงสร้างการเล่าด้วยมุมมองบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งถ่ายทอดกระแสสำนึกของตัวละครชายหนุ่มสามรายในแบบ I-narrative ช่วงปี 1942-1943 คนแรกคือ อันเกลุส ธอมเสิน (Angelus Thomsen) นายทหารหนุ่มฝ่ายนาซีที่ดันไปตกหลุมรักนาง ฮันนาห์ โดลล์ (Hannah Doll) ภริยาของผู้บัญชาการ เพา โดลล์ (Paul Doll) ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายนายที่สองด้วย ซึ่งเมื่อโดลล์เริ่มระแคะระคายความสัมพันธ์ระหว่างอันเกลุสกับฮันนาห์ เขาจึงว่าจ้างให้ผู้บรรยายนายที่สามคือ ชสมุล ซาคาริอัส (Szmul Zacharias) นักโทษยิวที่ทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ เอาปืนไปสังหารโดลล์อย่างอำมหิตเลือดเย็น ซึ่งเนื้อหาในนิยายก็แบ่งออกเป็นหกบทย่อยๆ แต่ละบทก็ค่อยๆ สลับเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของตัวละครชายทั้งสามนาย ก่อนจะปิดท้ายด้วยบท ‘Aftermath’ ให้อันเกลุสเล่าถึงชะตากรรมของโดลล์ในอีกห้าปีต่อมา

The Zone of Interest ฉบับนิยาย (ที่มาภาพ)

ปัญหาใหญ่ในการเล่าด้วยลีลานี้ก็อยู่ที่การใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งมาเป็นเสียงบรรยาย ยิ่งเมื่อผู้เล่าหลักมีตั้งสามราย ขณะที่ส่วนใหญ่เขาให้แต่ละเรื่องมีเพียงเสียงเล่าเดียว ตัวละครแต่ละรายแต่ละเสียงจึงออกมาพล่ามได้แค่ประด๋าวประเดี๋ยว ยังไม่ทันจะรู้ความอะไรก็เลี้ยวไปขึ้นตอนใหม่เสียละ! การบรรยายในลักษณะของสรรพนามบุรุษที่หนึ่งจึงเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะให้ข้อมูลพื้นหลังหรือเรื่องราวแวดล้อมตัวละครที่ไม่ได้มาจากกระแสสำนึก ‘กัลปพฤกษ์’ นั่งอ่านจบไปสามบทยังไม่รู้เลยว่าแต่ละคนเป็นใคร แล้วมาพล่ามอะไรให้เราฟังกันทำไม ต้องรอให้ถึงบทสุดท้ายโน่นถึงจะพอจับโยงอะไรได้ เทคนิคการเล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งของมาร์ติน เอมิสนี่ไม่ไหวเลยจริงๆ สิ่งที่เล่าเหมือนไม่มีการวางแผนใดๆ ว่าจะขยักขย้อนข้อมูลอย่างไร นึกอะไรได้ก็จับคำพูดยัดปากตัวละครไป ในขณะที่เนื้อหาสำคัญจริงๆ กลับมีติ่งแฝงอยู่เพียงไม่กี่ย่อหน้า!

ที่สาหัสกว่านั้นคือการใช้ภาษาของเอมิสที่แสนจะตรงไปตรงมา หาได้มีวรรณศิลป์กินใจใดๆ และเหมือนเขาเองก็ยังทำใจไม่ได้ที่ไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เป็นภาษาเยอรมันตามภาษาที่ตัวละครแต่ละรายใช้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ยังต้องเจาะตลาดผู้อ่านภาษาอังกฤษ เขาจึงดัดจริตยัดคำเยอรมันสารพัดสารพันคั่นไว้เยอะมากๆ ซึ่งก็ยิ่งสร้างความยากลำบากในการอ่าน ขนาด ‘กัลปพฤกษ์’ อุตส่าห์ไปร่ำเรียนที่สถาบันเกอเธ่มาจนแปลทุกประโยคทุกคำได้โดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม ก็ยังอดเสียอารมณ์ด้วยความรำคาญไม่ไหว เพราะพอเขาเริ่มแค่นเปลี่ยนภาษาใหม่ มันส่งผลให้การอ่านติดขัดเหลือเกิน แล้วคนที่ไม่รู้ภาษาเยอรมันเลยเขาจะหงุดหงิดคิดเบื่อกันขนาดไหน เมื่อคุณเอมิสได้ร่ายยาวภาษาเยอรมันโพล่งเข้ามาเป็นประโยคติดๆ กัน (เดี๋ยวจะลองทำเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามัน ‘น่ามคาญ’ ขนาดไหน native Deutsch speaker เองยังทนไม่ไหว ต้องขอเข้ามาร่วมวงด่าด้วยเลยนะเธอว์!) ทะเยอทะยานหาทำพยายามจะเป็น ‘วรรณกรรมโลก’ ทั้งที่มันมิได้มีความจำเป็นเลยสักนิด!

เมื่อเอมิสจำเป็นต้องเขียนเสียงเล่าของตัวละครทั้งสามเป็นภาษาอังกฤษ ‘จริต’ ความเป็นคนเยอรมันและยิวของตัวละครหลักทั้งสามรายจึงมลายหายไป ไม่ว่าจะอ่านอย่างไรก็ยังรู้สึกได้ว่าพวกเขามีบุคลิกความเป็น British ติดมาดผู้ดี จนไม่เห็นความเป็น ‘นาซี’ ตรงไหน นับเป็นการถ่ายทอดตัวละครที่ล้มเหลวเสียนี่กระไร จนเป็นนิยายที่มีแต่ตัวละครที่ดูร้างไร้ชีวิต แต่ละคนเป็นคนแบบไหนคิดอ่านอย่างไร จนถึงเวลาพลิกแผ่นปิดหน้าสุดท้ายก็เหมือนยังไม่ได้รู้จักใครในระดับลึกสักราย!

Auf rund dreihundert Seiten นี่ข้าพเจ้าอ่านไปด้วยความรู้สึก ‘เฉย’ ไม่อึ้ง ไม่ว้าว ไม่รู้สึกเร้าใจใดๆ แม้สักบรรทัด และถ้าอยากจะได้อรรถรสทั้งหมดจริงๆ อ่านรอบแรกจนรู้ว่าใครเป็นใครแล้วก็ควรต้องย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่ต้นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ขอบาย รอบเดียวกับนิยายเล่มนี้ก็ต้องถือว่ามากมายจนเกินจะรับไหว ไม่เข้าใจกับทุกคำสรรเสริญเยินยอต่องานสุดกำมะลอเล่มนี้เลยจริงๆ!

ยิ่งได้ย้อนกลับมาดู The Zone of Interest ฉบับหนังของเกลเซอร์อีกรอบ ก็ยิ่งชอบงานภาพยนตร์เรื่องนี้แบบทบทวีเข้าไปใหญ่ เมื่อผู้กำกับถือวิสาสะดัดแปลงบทโดยไม่แคร์เวิลด์ใดๆ เปลี่ยนวิธีการเล่าทั้งหมดในหนังให้เป็นแนวทางใหม่ จนกลายเป็นหนังเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของกองกำลังนาซีเยอรมันในแบบที่เราไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน

สิ่งแรกที่เกลเซอร์สอนเอมิสในหนังก็คือการแต่งตั้งตัวละครหลักสำคัญในฐานะผู้ผลักดันเหตุการณ์และเรื่องราวให้ก้าวล้ำนำหน้าคนอื่นๆ ออกมาอย่างประจักษ์ นั่นก็คือผู้บัญชาการค่ายกักกันของพรรคนาซีเยอรมัน รูดอล์ฟ เฮิสส์ บุคคลจริงที่เป็นแรงบันดาลใจให้เอมิสสร้างตัวละครโดลล์ขึ้นมา แล้วขีดฆ่ากากบาทเนื้อหาส่วนที่ว่าด้วยคำบรรยายของอันเกลุส ธอมเสินและชสมุล ซาคาริอัสจากนิยายออกไป คือจะเอาเข้ามาสร้างความยุ่งเหยิงรุงรังทำไม ถ้าหัวใจสำคัญของเรื่องทั้งหมดจะอยู่ที่ตัวละคร รูดอล์ฟ เฮิสส์ นายนี้อยู่แล้ว จากนั้นเกลเซอร์ก็เพิ่มบทบาทให้แม่ยอดแก้วจอมขวัญของเฮิสส์นั่นคือ เฮ็ดวิจ เฮิสส์ (Hedwig Höss) ศรีภริยาของเขา, die Herr Martin Amis ‘Hannah’ genannt hat ในนิยาย ให้มีบทบาทเป็นคุณนายหญิงของบ้าน เพราะหนังเรื่อง The Zone of Interest ต้องการนำเสนอภาพชีวิตอันแสนสุขตามครรลองของลัทธินาซีของครอบครัวใหญ่เรือนนี้ ครอบครัวที่รั้วบ้านดันอยู่ติดกับค่ายกักกันที่ดับชีวิตชาวยิวนับเป็นหมื่นนับพันชีวิตในแต่ละสัปดาห์ เมื่อระบุหน้าค่าตาตัวละครหลักได้เรียบร้อย เกลเซอร์ก็ค่อยๆ เทียบเคียงความย้อนแย้งผ่านการแสดงให้เห็นถึงความโอ่อ่าภูมิฐานของตัวอาคารบ้านของตระกูลเฮิสส์ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติริมลำธารอันน่ารื่นรมย์ ผสมเคล้ากับเสียงหวีดร้องอย่างมีความสุขของเด็กๆ ในบ้าน ที่ประสานเสียงกับนัดกระสุนปืนกล และเสียงร้องของคนที่กำลังถูกสังหาร ซึ่งดังมาจากนอกรั้วบ้าน โดยไม่มีใครสะทกสะท้านไปกับสิ่งที่พวกเขาได้ยิน!

นอกจากนี้ in der Familie gibt es auch polische Dienerinen oder veilleicht Sklavenmädchen ซึ่งมีบทบาทเป็นเพียงเหล่า ‘นางทาส’ ไม่อาจขัดขืนหรือคิดหนีแต่อย่างใด ยกเว้นไว้ก็แต่เด็กสาวชาวโปแลนด์ที่ลักลอบหนีออกจากบ้านในยามวิกาล ปั่นจักรยานแอบเอาอาหารไปซุกซ่อนไว้ให้เหล่าแรงงานร่วมเชื้อชาติไม่ให้ขาดเสบียงเลี้ยงชีวิต เป็นกิจกุศลที่หนังต้องนำเสนอด้วยภาพขาวดำกลับลำแสงแบบเนกาทีฟจนดูหลอน ให้แตกต่างจากช่วงตอนแสนสุขของครอบครัวเฮิสส์ ที่ช่างสุกสว่างและบรรเจิดกันเหลือเกิน!

หลังจากเกลเซอร์ ‘ลดทอน’ เนื้อหาจากตัวนิยายกันจนเพลิน แล้วหันมาเดินเรื่องกันอย่างเรียบง่าย คำถามก็คือ “Ist das wirklich genug? Ja oder nein?” ซึ่งคำตอบง่ายๆ คือ “Ganz sicherlich! Warum nicht?” เพราะเมื่อ Jonathan Glazer hat sich für einen Film entscheiden แล้ว เขาก็อาศัยความแพรวพราวด้านศิลปะภาพยนตร์ขนกันมาโหมประโคมวิสัยทัศน์ในการโจมตีวิถีคิดอันเลือดเย็นของเหล่านาซี แทนที่รายละเอียดเรื่องราวที่ทั้งย้วยยาวและเยิ่นเย้อแบบในนิยาย ก็ใช้ทุกองค์ประกอบหนังในการสื่อความหมาย เอาง่ายๆ ลำพังงานด้านภาพจะเห็นว่าเกลเซอร์ประณีตบรรจงในการถ่ายแต่ละฉากมากขนาดไหน ใช้ทั้งมุมกล้อง การลองเล่นกับแสงสี เลนส์ปกติเลนส์ไวด์ที่ดูไม่เป็นธรรมชาติก็มี นี่ยังไม่รวมการออกแบบเสียงที่แต่ละสุ้มโสตสำเนียงที่ใส่มา มันช่างชวนให้ขวัญผวา ไม่ว่าจะ diegetic sound (เสียงที่ตัวละครได้ยิน) ที่ได้ยินมาจากโพ้นรั้วค่าย หรือ non-diegetic sound (เสียงที่ใส่เพิ่มเข้ามา) ที่ออกแบบใส่เข้ามาในภายหลัง เรียกได้ว่ามิติเชิงหนังต่างๆ ใน The Zone of Interest ของเกลเซอร์มีในระดับเข้มข้นและถ้วนครบ ไม่เห็นจะต้องตบเรื่องกันด้วยเสียงเล่าหรือแม้แต่บทสนทนา ซึ่งในหนังก็มีเข้ามาเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ (แถมนักแสดงทุกคนต่างก็ spricht Deutsch กันจริงๆ ไม่มีการอิงบทแปล แม้ว่าหนังจะยังได้ชื่อว่าเป็นผลผลิตจากฝั่งสหราชอาณาจักรอยู่ก็ตาม!)

ใจความสำคัญของ The Zone of Interest ฉบับหนังเรื่องนี้ จึงมีเจตนาในการถ่ายทอดให้เห็นว่า ผู้บัญชาการค่ายกักกันนาซีอย่างรูดอล์ฟ เฮิสส์ แท้ที่จริงแล้วเขาก็ไม่ได้มีมาดของฆาตกรผู้เลือดเย็นเห็นคนยิวเป็นเพียงผักปลาที่สามารถตกมาฆ่าแกงเล่นๆ หากโดยอุดมการณ์แล้วเขากลับทำหน้าที่เป็นสุภาพบุรุษหัวหน้าครอบครัว ถวายตัวให้กับหน้าที่การงานเยี่ยงทหารหาญผู้รอรับคำสั่งบัญชาการต่างๆ โดยไร้ข้อโต้แย้ง ในเมื่อความรับผิดชอบของเขาคือการหาวิธีฆ่าแกงหมู่ชาวยิวจำนวนมหาศาลมากมายให้สิ้นซากไป เขาก็จะทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด ต่อให้ชุดอุดมการณ์เหล่านั้นมันจะละเมิดศีลธรรมและความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์อย่างรุนแรงเพียงไหน มาดของ รูดอล์ฟ เฮิสส์จึงยังแลดูมีความเป็น ‘พระเอก’ รักและห่วงหวงครอบครัวและศรีภรรยาของเขาปานดวงใจ แม้จะมีจังหวะพลั้งเผลอไปมีอะไรกับหญิงชั้นไพร่ เขาก็ยังรีบชำระล้างร่างกายตัวเองในทันใด ด้วยหัวใจที่พยายามจะดำรงความเป็นพ่อพระ! เห็นรูดอล์ฟ เฮิสส์ในหนังแล้วจึงยากจะฟันธงลงความเห็นว่าเขาเป็น ‘คนชั่ว’ และคงต้องหันไปโบ้ยให้ต้นขั้วความคิดที่ส่งคำประกาศิตลงมาเช่นนั้น เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าคำบัญชามีเนื้อหาที่หักศอกไปอีกด้าน เฮิสส์ก็ยังต้องเร่งกุลีกุจอจัดการในฐานะผู้ปฏิบัติการที่ดี ด้วยปรัชญาความคิดที่อิงกับวิถี ‘หลังปฏิฐานนิยม’ หรือ ‘post-positivist’ คล้ายวิศวกรที่มีหน้าที่ใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงเลยว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือไม่ ตราบใดที่วิธีการแก้ปัญหาที่คิดได้ มันนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานอันคุ้มค่าที่สุด!

รูดอล์ฟ เฮิสส์ ใน The Zone of Interest ของเกลเซอร์ จึงเป็นตัวละครที่ยังเปี่ยมไปด้วยภาวะแห่งการเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาที่บังเอิญเข้ามาอยู่ในกลไกแห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่ได้มีต้นตอมาจากความโกรธแค้นภายในของเขาแต่อย่างใด ทุกอย่างที่เขาทำก็เพื่อให้ครอบครัวของเขาได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย เป็นเสาหลักของบ้านที่พึ่งพาได้ โดยไม่มีความบาดหมางขุ่นมัวใดๆ ต่อผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรู และนั่นยิ่งทำให้คนดูรู้สึก ‘ขนลุก’ ปลุกสำนึกให้ต้องใจหาย Leider gehört ihm keine Schuld! ทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักรูดอล์ฟ เฮิสส์อย่างลึกซึ้งถึงจะมีโอกาสได้ยินเขาพูดเพียงไม่กี่ประโยค ต่างจากบทร่ายยาวด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งตั้งหลายโศลกในท่อนกลางแต่ละบทของนิยาย ที่ต่อให้อ่านกันจนจบหน้าสุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเขาเป็นคนอย่างไร

ได้เห็นโจนาธาน เกลเซอร์ ‘แกงเผ็ช’ งานประพันธ์ของมาร์ติน เอมิสเสียหม้อใหญ่ในหนังเรื่องนี้ ก็อดที่จะแซวไม่ได้ว่า นี่มันเป็นการห้ำหั่นโจมตีและทำร้ายกันทางศิลปะอย่างอำมหิตยิ่งกว่าเหล่านาซีปลิดชีวาของมหาชนชาวยิวกันเสียอีกนะ แล้วจะเรียกมันว่าเป็นการ ‘ดัดแปลง’ ได้ไหม หากสิ่งที่เกลเซอร์หยิบมาใช้จริงๆ จากในนิยายจะกลายเป็นเรื่องราวชีวิตคู่ของผู้บัญชาการโดลล์เพียงน้อยนิด ขณะที่เนื้อหาที่เหลือกลับคิดขึ้นมาเองใหม่ทั้งหมด เหมือนได้อ่านบทประพันธ์แล้วต้องนั่งส่ายหัวว่าจะมาเล่าสั่วๆ แบบนี้ไม่ได้ จนต้องขยำทิ้งแล้ว ‘รื้อสร้าง’ สถานการณ์ทั้งหมดขึ้นมาใหม่  ตามที่มาร์ติน เอมิสได้เคยเคลมเอาไว้ว่า นี่คือไส้อั่วผงกะหรี่ Currywurst เยอรมันขนานแท้ แต่พอกัดกินจริงๆ มันคือ toad-in-a-hole mit British bangers ที่ช่าง ‘ปลอม’ เสียนี่กระไร เกลเซอร์จึงต้องตั้งเตาต้มแกง Currywurst ด้วยไส้กรอกเยอรมันจริงๆ ให้ได้ดูกันใหม่ ว่าเขาทำกันอย่างไร แม้จะเรียกว่าเป็นต้นธารของ ‘แรงบันดาลใจ’ ก็อาจจะยังไม่สะดวกปากเลยด้วยซ้ำ  หรือเพราะอย่างนี้เหล่ากรรมการออสการ์จึงไม่ยอมลงคะแนนให้ ฐานที่เกลเซอร์ช่าง zeigt keinen Respekt gegenüber งานประพันธ์ต้นฉบับเอาเลย ทั้งๆ ที่เอมิสเองก็อาจยังไม่เคยได้ดู The Zone of Interest ฉบับภาพยนตร์ เพราะเขาได้วายชนม์ลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมปี 2023 วันเดียวกับที่หนังของเกลเซอร์เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์พอดิบพอดี . . .

RESQVIESCAT IN PACE . . . Herr Martin Amis (1949-2023)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save