fbpx

ทำไมมาราธอนต้อง 42.195 กิโลเมตร

42.195 กิโลเมตร เป็นตัวเลขที่ทุกคนรู้กันดีว่าคือระยะการวิ่งมาราธอน และใครหลายๆ คนต้องการวิ่งไปให้ถึงสักครั้งในชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ทุกตัวเลขล้วนมีที่มาที่ไป และเลข 42.195 กิโลเมตรนี้ก็มีทั้งเรื่องเล่า ความเป็นมาเป็นไป ตำนาน จนไปถึงประวัติศาสตร์ที่รับรองให้ตัวเลขนี้ถูกเรียกว่า ‘ระยะมาราธอน’

ปัจจุบันมีวิทยาศาสตร์ที่อธิบายการวิ่งของมนุษย์ ซึ่งมันเชื่อมโยงมนุษย์กับการเป็นยอดนักวิ่งระยะไกลได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมมนุษย์ถึงเป็นนักวิ่งระยะไกล แต่ไม่ใช่นักวิ่งที่รวดเร็วเท่ากับสัตว์อื่นๆ

และเรื่องราวทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไปอันน่าดูชมเลยทีเดียว

ตำนานของระยะมาราธอนในยุคสมัยกรีกโบราณ

ก่อนที่ตัวเลขระยะทาง 42.195 กิโลเมตรจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ในยุคโบราณย้อนกลับไปยาวนานกว่า 2000 ปี ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าก่อนคริสตกาล มีเรื่องเล่าอันเป็นตำนานของการวิ่งระยะมาราธอน ปรากฎอยู่อยูในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน

ตำนานการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของโลกเป็นส่วนหนึ่งของสงครามในสมรภูมิแห่งมาราธอน ซึ่งเป็นการรบบริเวณชายหาดมาราธอนของกองทัพเปอร์เซีย กับ กองทัพจากเอเธนส์เจ้าถิ่น เมื่อราวปี 490 ก่อนคริสตกาล

สงครามครั้งนี้ เอเธนส์มีทหารน้อยกว่าทำให้ในช่วงการเตรียมทัพเพื่อรบนั้น พวกเขาได้ส่ง ‘ฟีดิปปิดีส’ ทหารส่งสาส์นมือดีวิ่งเพื่อไปขอความช่วยเหลือจาก ‘สปาร์ตา’ ในการยกทัพมารับมือกับเปอร์เซียในคราวนี้

ฟีดิปปิดีส วิ่งจากเอเธนส์ไปยังสปาร์ตาที่มีระยะทางยาวกว่า 200 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 วัน แต่คำตอบที่เขาได้รับจากสปาร์ตาไม่น่าพึงพอใจสำหรับเอเธนส์มากนัก เพราะว่าทางฝั่งนครรัฐแห่งนักรบบอกว่าพวกเขาอยู่ระหว่างทำพิธีบางอย่างอยู่ และต้องใช้เวลาราว 10 วัน ถึงจะสามารถไปช่วยเหลือได้

นั่นหมายความว่า ฟีดิปปิดีสต้องหอบข่าวร้ายว่า ความช่วยเหลือของสปาร์ตาจะมาช้ากว่าที่ควรจะเป็น กลับไปรายงานสู่สภาของเอเธนส์ แต่ไม่ว่าอย่างไรเอเธนส์ก็ตัดสินใจสู้ในสงครามครั้งนี้ พวกเขาส่งมิลไทอะดีสไปเป็นแม่ทัพโดยนำทัพราว 10,000 คนไปตั้งยันทัพเปอร์เซียในสมรภูมิที่ชายหาดมาราธอน 

มิลไทอะดีสยันทัพของเปอร์เซียไว้ได้ด้วยชัยภูมิที่ได้เปรียบ ทำให้ฝั่งเปอร์เซียตัดสินใจทิ้งทหารไว้บางส่วนและให้อีกส่วนขึ้นเรือเพื่ออ้อมไปตีเอเธนส์โดยตรง

มิลไทอะดีส ก็ใช่ว่าจะไม่รู้สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะหลังจากนั้นเขาก็ให้กองทัพเอเธนส์ภายใต้การบัญชาของเขาบุกตีทหารที่เปอร์เซียทิ้งไว้เพื่อยันทัพของเขาที่ชายหาดมาราธอนจนราบคาบ พร้อมกับให้ทหารวิ่งกลับไปรายงานชัยชนะที่เกิดขึ้น พร้อมกับกลยุทธ์ของทางเปอร์เซียให้เอเธนส์ทราบ

ตรงนี้นี่เองที่เกิดตำนานและข้อโต้แย้งได้เกิดขึ้น

มีการเล่าขานว่า ทหารคนนั้นวิ่งระยะทางราว 40 กิโลเมตรด้วยความเร็วสุดตัว และเมื่อถึงเอเธนส์ก็ตะโกนคำว่า นิเก นิเก (Nike, Nike) ซึ่งหมายถึงชัยชนะ ก่อนจะสิ้นใจเสียชีวิตลงไป นับเป็นที่มาของการวิ่งมาราธอน และตอบคำถามว่าทำไมมาราธอนจะต้องวิ่งที่ระยะราว 40 กิโลเมตรกว่าๆ เพราะนั่นคือระยะจากชายหาดมาราธอน มายังเอเธนส์ นั่นเอง

แต่หลายๆ ตำนานล้วนมีข้อโต้แย้ง หนึ่งในข้อโต้แย้งนั้นเล่าว่า คนที่วิ่งมาแจ้งข่าวแล้วล้มลงเสียชีวิตนั้น คือ ฟีดิปปิดีส เจ้าเก่าที่เคยวิ่งไปแจ้งข่าวและขอกำลังเสริมที่สปาร์ตา อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานว่านายทหารที่วิ่งมาแจ้งข่าวคือเขาจริงๆ

ขณะที่ผลของการรบในเวลาต่อมา ก็ยังเป็นฝั่งกรีชที่ดูดีกว่าเมื่อ มิลไทอะดีส เอาชนะสงครามที่มาราธอนแล้ว เขาก็เดินทางกลับไปสู่เอเธนส์ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน และนำกำลังทัพไปรับมือกับเปอร์เซียได้ก่อนที่พวกเขาจะล่องเรืออ้อมมาถึง ทำให้สุดท้าย ยุทธการเหนือชายหาดมาราธอนชัยชนะก็ตกเป็นของฝั่งเอเธนส์ และก่อให้เกิดตำนานการวิ่งมาราธอนอันลือลั่นสนั่นโลกขึ้นมาด้วย

มาราธอนของเราไม่เท่ากัน

เรื่องเล่าจากแรงบันดาลใจโดยใครสักคน (ซึ่งอาจเป็น ฟีดิปปิดีส หรือคนอื่นก็ได้) ในยุคกรีกโบราณ กลายมาเป็นการแข่งขันจริงๆ ของการวิ่งมาราธอนในปี 1896 ณ การแข่งขันโอลิมปิก ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

ภายหลังก็มีเอกสารยืนยันว่า การวิ่งมาราธอนถูกปรับเปลี่ยนหลายครั้งมาก กว่าจะกลายมาเป็นระยะ 42.195 กิโลเมตร หรือ 26 ไมล์ 385 หลา แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรีซ กำหนดให้การวิ่งมาราธอน คือการวิ่งที่มีระยะทางเกิน 40 กิโลเมตรขึ้นไป และจากเอกสารที่เขียนด้วยลายมือของ ปีแอร์ เดอ กูแบร์กแตง (Pierre de Coubertin) ที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1894 ระบุว่า มีการเสนอให้การวิ่งมาราธอน มีระยะ 48 กิโลเมตรในครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ

ต่อมาบนใบประกาศที่ถูกพิมพ์ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 พฤศจิกายน 1894 การแข่งขันวิ่งมาราธอน ได้ถูกเปลี่ยนตัวเลขจากเอกสารของ กูแบร์กแตง ที่เคยระบุไว้ว่าการวิ่งจะมีระยะ 48 กิโลเมตร ลดลงมาเหลือ 42 กิโลเมตรเท่านั้น

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ตัวเลขสุดท้ายที่เกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกอยู่ดี เพราะท้ายที่สุดแล้วในใบประกาศก่อนการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่ระบุรายละเอียดในกีฬายิมนาสติก และ กรีฑา ที่ถูกเผยแพร่เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 1896 ได้มีการให้รายละเอียดของการวิ่งมาราธอนใหม่อีกครั้ง พร้อมกำหนดระยะไว้ที่ 40 กิโลเมตร

รายละเอียดในใบปิดดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า การวิ่งมาราธอนจะแข่งขันในวันที่ 4 ของการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรก หรือวันที่ 10 เมษายน 1896 โดยคำบรรยายการแข่งขันระบุว่า “การแข่งขันวิ่งมาราธอน จะแข่งขันกันบนถนนสาธารณะจากมาราธอน มาถึงสนามแข่งขัน”

การแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกอย่างเป็นทางการ มีนักกีฬาจาก 5 ชาติ จำนวน 17 คนเข้าร่วมการแข่งขัน และผู้ที่คว้าเหรียญทองในครั้งนั้นคือ สไปริดอน หลุยส์ จากเจ้าภาพกรีซ โดยเขาทำสถิติโลกและสถิติโอลิมปิกให้กีฬามาราธอนเป็นครั้งแรกของโลกที่ 2 ชั่วโมง 58 นาที 50 วินาที

ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่นักวิ่งทั่วไปในปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก และไม่ต้องเป็นนักวิ่งอาชีพด้วยซ้ำ แค่เพียงซ้อมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีวินัยมากพอ ก็สามารถจบมาราธอนซับ 4 ได้ในเวลาใกล้เคียง หรือ อาจจะดีกว่าเวลาที่หลุยส์ ทำได้เช่นกัน

แต่ในสมัยนั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่นับได้ว่ามหัศจรรย์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแข่งขันมาราธอนในครั้งนั้นมีคนวิ่งไม่จบถึง 7 จาก 17 คนที่ลงแข่งขัน

เวลา 2 ชั่วโมง 58 นาที 50 วินาที ของ สไปริดอน หลุยส์ จึงทำให้มนุษย์เห็นความเป็นไปได้ใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจทั้งต่อวงการกีฬาและวงการวิทยาศาสตร์ว่า มนุษย์มีศักยภาพมากแค่ไหน

42.195 กิโลเมตร ระยะที่ไม่มีคำอธิบาย

ความไม่เข้าที่ของระยะมาราธอนในโอลิมปิกครั้งแรกที่เอเธนส์ เมื่อปี 1896 ยังส่งผลต่อเนื่องมามาถึงโอลิมปิกครั้งต่อๆ ไปอีก 6 ครั้งหลังจากนั้น ระยะทางในการแข่งขันมาราธอนไม่เท่ากันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนจะมาได้ข้อสรุปในปี 1924 ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีส เมื่อ 100 ปีก่อน

โดยหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่กรีซ ซึ่งระยะมาราธอนถูกกำหนดไว้ที่ 40 กิโลเมตร อย่างที่ได้เรียนไปแล้ว แต่พอมาโอลิมปิก ครั้งที่ 2 ที่ปารีส ระยะมาราธอน ถูกขยับออกไปเป็น 40.26 กิโลเมตรโดยไม่มีเหตุผลมารองรับ

ก่อนที่ในโอลิมปิกครั้งที่ 3 ในเวลาอีก 4 ปีต่อมาที่ เซนต์ หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ระยะทางของการแข่งขันวิ่งมาราธอนกลับไปอยู่ที่ 40 กิโลเมตรเท่ากับโอลิมปิกครั้งแรก แต่นั่นเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกันที่ระยะมาราธอนถูกกำหนดไว้ที่ 40 กิโลเมตร

จนในปี 1908 ตัวเลขที่คุ้นเคยก็เกิดขึ้น นั่นคือระยะ 42.195 กิโลเมตร แต่ตัวเลขนี้ในโอลิมปิกครั้งที่ 4 กลับเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ และเต็มไปด้วยความไร้เหตุผลจนน่าใจหาย

ในตอนแรก ฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิกของกรุงลอนดอน เตรียมใช้ระยะ 40 กิโลเมตรในการแข่งขันวิ่งมาราธอน เช่นเดียวกับเชนต์ หลุยส์ และหากระยะ 40 กิโลเมตร คือระยะมาราธอน ถูกใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในโอลิมปิกครั้งที่ 4 ก็มีโอกาสมากเหลือเกินที่มาราธอนจะถูกจดบันทึกว่าเป็นการแข่งขันวิ่งในระยะทาง 40 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันมาราธอนในโอลิมปิก 1908 ถูกเคาะที่ระยะ 42.195 กิโลเมตร หรือราว 26 ไมล์ 385 หลา ซึ่งเป็นครั้งแรกด้วยที่โลกรู้จักกับมาราธอนในระยะดังกล่าว

เหตุผลเบื้องหลังตัวเลจดังกล่าวเป็นเหตุผลง่ายๆ นั่นคือความสะดวกของราชวงศ์อังกฤษเท่านั้น โดยฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการราชวงศ์มีส่วนร่วมกับการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ จึงเพิ่มระยะทางการแข่งขัน โดยเริ่มต้นการวิ่งมาราธอนที่ปราสาทวินด์เซอร์ และจบการแข่งขันที่ รอยัล บ็อกซ์ ในโอลิมปิก สเตเดียม กรุงลอนดอน

การเพิ่มระยดังกล่าว จึงทำให้ระยะทางการแข่งขันจากเดิมที่ตั้งไว้ 40 กิโลเมตร เพิ่มเป็น 42.195 กิโลเมตรนั่นเอง

หลังจากนั้น โลกก็ต้องพบกับตัวเลขแปลกๆ อีกมากมาย ทั้ง 40.2 กิโลเมตร ในโอลิมปิก ครั้งที่ 5 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, 42.75 กิโลเมตร ในโอลิมปิก แอนทเวิร์ป ประเทศเบลเยียม ก่อนที่ ระยะมาราธอน จะกลับมาเป็น 42.195 กิโลเมตรอีกครั้งในปี 1924 กับโอลิมปิก ครั้งที่ 7 ที่กรุงปารีส

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ปารีสเลือกใช้ระยะ 42.195 กิโลเมตร มาแข่งขันในการวิ่งมาราธอนนั้น มีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นอยู่ เพราะว่า สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นนานาชาติ (IAAF) ได้รับเลือกให้ระยะมาราธอน มีระยะ 42.195 กิโลเมตร ในปี 1921 นั่นเอง

แต่ส่วนเหตุผลว่าทำไม IAAF ถึงเลือกระยะ 42.195 กิโลเมตรนั้น ก็ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร มาจนถึงปัจจุบัน 

ขีดจำกัดของมนุษย์

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าการแข่งขันวิ่งมาราธอนในโอลิมปิก ครั้งแรก ที่กรุงเอเธนส์ เมื่อปี 1896 เป็นการสร้างแรงบันดาลใจทั้งต่อวงการกีฬาและวงการวิทยาศาสตร์ว่า มนุษย์มีศักยภาพมากแค่ไหน

การที่ได้เห็นมนุษย์สามารถวิ่งระยะกว่า 40 กิโลเมตรได้โดยไม่พัก ทำให้มีการวิจัยต่อยอดจนได้ข้อสรุปว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถเดินทางได้ต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวไกลขนาดนี้ โดยเสื่ยงต่อภาวะโอเวอร์ฮีต (overheat) หรือภาวะความร้อนในร่างกายขึ้นสูงเกิดกำหนดน้อยที่สุด

การวิจัยในปัจจุบันค้นพบว่า มนุษย์มีความเร็วโดยเฉี่ยเพียง 5.0-5.9 ไมล์ ต่อ ชั่วโมง ซึ่งช้ากว่าทั้ง แมว, หมี, สิงโต, เสือรวมไปถึงจ้าวความเร็วอย่างเสือชีตาห์ ที่มีความเร็วโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70 ไมล์ต่อชั่วโมง

แต่ในบรรดาสัตว์ที่ว่ามาทั้งหมด ไม่มีสัตว์ชนิดไหนเดินทางด้วยการวิ่งได้ต่อเนื่องกันได้ใกล้เคียงกับมนุษย์เลย โดยเฉพาะชีตาห์ พวกมันวิ่งได้เต็มสปีดเพียงแค่ 300-400 เมตรเท่านั้น

นั่นทำให้มีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่วิ่งได้ถึกที่สุดในโลกใบนี้ ซึ่งอึดกว่าสัตว์ทุกชนิดบนโลก และข้อสรุปดังกล่าว ทำให้เราสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ถึงปัจจุบันนี้

ไม่ใช่เพราะเราหนีเร็ว แต่เราหนีภัยพิบัติ รวมถึงอันตรายต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าสัตว์ชนิดใดๆ บนโลกซึ่งการวิ่งมาราธอนเป็นเครื่องย้ำเตือนเราว่า เราคือเผ่าพันธุ์ที่ทรหด อดทน และ แข็งแกร่งมาตั้งแต่บรรพกาลแล้วนั่นเอง


อ้างอิง

Why is a marathon 42.2km?

Why is the marathon distance set to 42.195 km?

Exactly 42.195 kilometres?

THE HISTORY OF THE MARATHON

The Origins of the Marathon

How Fast Can a Human Run?

We Evolved to Run—But We’re Doing It All Wrong

Humans are better at endurance running than any animal on the planet

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save