fbpx

เสียงกรีดร้องของยุคสมัย

สบโอกาสที่งานของ เอดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch, 1863-1944) มาจัดแสดงที่เมืองพอตสดัม และผมเดินทางมานครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้พอดี จึงขอถือโอกาสเล่าถึงบรรยากาศงานจัดแสดงของศิลปินจากนอร์เวย์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของโลกสำหรับเดือนนี้ก็แล้วกันนะครับ แต่อาจจะด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างออกไปบ้าง

ท่ามกลางศิลปินคนสำคัญที่มาจากนอร์เวย์ มุงค์เป็นคนแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก ในยุคปลายศตวรรษที่ 20 นี้คงต้องขอบคุณวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ที่นำเอางาน Skrik (The Scream, 1893) ไปเป็นงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำแบบจักรกล อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับมุงค์เองแต่แรก

ยุคที่งานของมุงค์กลายเป็นที่รู้จักกันในยุคของเรา ผมจะขอเรียกว่าเป็นการรู้จักจากการเกิดครั้งที่สอง ตัวอย่างที่เราอาจเห็นได้ เช่นการที่แอนดี วอร์ฮอลนำงานของมุงค์มาเป็นส่วนหนึ่งของงานป๊อปอาร์ตของตนเอง หรือศิลปินป๊อปอาร์ตชาวไอซ์แลนด์ เอโร (Erró, 1932-) มีงานที่เรียกว่า The Second Scream (1967) แม้กระทั่งภาพยนตร์ Scream (1996) เป็นต้น

เอดวาร์ด มุงค์

งานของมุงค์ในเบอร์ลิน

อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว นั่นเป็นการเกิดครั้งที่สองที่เรารู้จักกัน คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วการเกิดครั้งที่หนึ่งมีกระบวนการเป็นอย่างไร

จุดเชื่อมที่สำคัญคือนครเบอร์ลินครับ อันที่จริงแล้ว อาจจะเรียกได้ว่า งานของมุงค์กลายเป็นที่รู้จักในระดับกว้างขึ้นในระลอกแรก หรือการเกิดครั้งแรก มาจากความสัมพันธ์ทางศิลปะระหว่างสแกนดิเนเวียและเยอรมนี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 นั่นเอง

บุคคลสำคัญของการเชื่อมต่อนี้คนหนึ่ง คือ สตานิสลอฟ ชริบริเชฟสกี (Stanisław Przybyszewski, 1868-1927) นักเขียนชาวโปแลนด์-เยอรมัน ผู้เขียนงานวิเคราะห์ ตีความ วิจารณ์ และทำให้งานของมุงค์เข้าไปอยู่ในห้วงความสนใจของศิลปินและปัญญาชนใช้ภาษาเยอรมัน อย่างเช่นงาน Das Werk Des Edvard Munch (1894) โดยทั้งสองเป็นเพื่อนกัน

สตานิสลอฟ ชริบริเชฟสกี (ที่มาภาพ)

จุดเริ่มต้นมาจากกรณีที่ว่า ในปี 1892 งานของมุงค์ในวัยย่าง 30 ปี ถูกตัดออกจากงานแสดงศิลปะของสมาคมศิลปะแห่งเบอร์ลิน (Berliner Kunstverein) ด้วยเหตุผลว่าเป็นงานที่ดู ‘เป็นมือสมัครเล่น’ เขาจึงตอบโต้ด้วยการจัดแสดงงานเดี่ยวของตนเองในปีเดียวกันนั้น และในปีถัดมา คือปี 1893 มุงค์ก็กลับมาจัดงานแสดงศิลปะของตนเองที่เบอร์ลิน และเป็นปีนี้เอง ที่ The Scream เวอร์ชั่นแรกถูกนำออกแสดง

ชริบริเชฟสกีเกาะติดประเด็นนี้ และถือเป็นงานที่ทำให้เขาเข้าไปสู่วงการของนักวิจารณ์ศิลปะ เขาเห็นทิศทางและมุมมองใหม่ๆ ในงานของมุงค์ ผ่านบทวิจารณ์ศิลปะหลายต่อหลายบท และชี้ชวนให้เห็นถึงความสำคัญ รวมทั้งเป็นคนที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของงานที่ต่อมาจะเป็นงานสำคัญระดับโลกของมุงค์ ไม่ว่าจะเป็น Melancholy (1891), The Voice (1893), Madonna (1894), Vampire (1895), The Kiss (1897) และแน่นอนว่ารวมทั้ง The Scream ด้วย ในแง่นี้ ชริบริเชฟสกีอาจจะถือว่าเป็นผู้ร่วมให้การกำเนิดครั้งแรกของชุดภาพวาดอันลือลั่นชุดนี้นั่นเอง

นอกจากนี้ควรระบุไว้ด้วยว่า สตานิสลอฟ ชริบริเชฟสกีเป็นนักเขียนผู้ช่วยทำให้งานของมุงค์ไปเป็นที่รู้จักในยุโรปตะวันออกด้วย

นิทรรศการในเบอร์ลินปี 1927

เมื่อเอดวาร์ด มุงค์ เป็นที่รู้จักในโลกศิลปะยุโรปภาพพื้นทวีปในช่วงเปลี่ยนศตวรรษแล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของอาชีพศิลปินของเขาด้วย นั่นคือการแสดงงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่โดยหอศิลปะแห่งชาติเบอร์ลิน

งานนี้เป็นงานขนาดใหญ่ นำภาพวาดของมุงค์จำนวน 244 ภาพมาจัดแสดง และเป็นส่วนหนึ่งของการหนุนเสริมซอฟท์ พาวเวอร์ของศิลปะ ‘ร่วมสมัย’ ในเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

นักวิจารณ์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญมุงค์เสนอว่า มีการวัฒนาไปของโลกศิลปะต่องานของมุงค์สามประการ

งานนิทรรศการ Munch: Trembling Earth ที่พอตสดัม

ประการแรก ตั้งแต่ปี 1892 ถึง 1908 มุงค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเยอรมนี ถึงแม้ว่าจะแวะไปปารีสบ้างเป็นครั้งคราว และไปใช้เวลาช่วงหน้าร้อนที่นอร์เวย์ ดังนั้นช่วงเวลานี้แทบทั้งหมดมีการอธิบายมุงค์ว่า ‘เป็นเยอรมัน’ อย่างมาก รวมทั้งเขาเองก็ได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์และประสบความสำเร็จในการขายงานมากที่สุดก็ในเยอรมนีนี่เอง

ประเด็นนี้ต้องจี้ให้ชัดเจนว่า นี่เป็นหนึ่งในกระแสการเลือกรับปรับใช้ ‘ความเป็นนอร์ดิค’ ของเยอรมนีช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940

ประการที่สอง ช่วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนของการมองงานมุงค์ จากที่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 งานของเขาถูกมองว่ามีฐานความเป็นวรรณกรรม (literary) คือมีแหล่งที่มาจากที่อื่น และเข้ามาสู่ในตัวงานในภายหลัง 

พอมาถึงทศวรรษที่ 1920 ความหมายของงานมุงค์พลิกไพล่ สู่การมองงานเขาว่าเป็นการแสดงสภาวะภายในของศิลปิน เป็นแถลงการณ์ทางจิตของศิลปินที่เผชิญกับโลกธรรมชาติ และความหมายที่เปลี่ยนมานี้ ช่วยพาให้งานของมุงค์ผ่านเวลากลายเป็นงานคลาสสิคในยุคของเรา และดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ยากเสียด้วย

ประการสุดท้าย ดูเหมือนว่า จะมีนักวิจารณ์ศิลปะนำงานของมุงค์ไปช่วยหนุนเสริมความเคลื่อนไหวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ในเยอรมนี

แต่เรื่องที่ย้อนแย้งก็คือว่า ความเคลื่อนไหวที่ว่านี้กำลังอยู่ในช่วงที่หมดพลังลงไปเสียแล้ว หลังจากที่เคยให้ความหวังว่าจะเป็นยาใจในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ความวินาสสันตะโรที่ตามมาก็ทำให้ศิลปะนี้หมดแรงลงไป

เวอร์ชั่นหนึ่งของ The Scream 

นารีอุปถัมภ์

ผมขอทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ประเด็นหนึ่งที่งานนิทรรศการไม่ได้พูดถึงนัก คือชีวิตของเอดวาร์ด มุงค์นั้นรายล้อมด้วยผู้หญิงที่อุปถัมภ์เขาในรูปแบบต่างๆ ตลอดชีวิต ท่ามกลางพี่น้องทั้งหมดสี่คน เขาเป็นผู้ชายเพียงคนเดียว

แม่ของเขาตายด้วยวัณโรคเมื่อเขาอายุห้าขวบ พี่สาวของเขาตายด้วยโรคเดียวกันเมื่อเขาอายุ 13 ผู้ที่อยู่ช่วยดูแลเลี้ยงดูเขาก็เป็นน้าสาว ส่วนน้องสาวของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจของภาพ Summer Night. Inger on the Beach (1889) ซึ่งเป็นภาพโด่งดังแรกๆ ที่เขาวาดในวัย 25

ประเด็นเหล่านี้อาจจะยังไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควรในการเข้าใจชีวิตของศิลปิน ว่าหลายครั้งเสียงกรีดตะโกนอาจจะมาจากคนหลายคน และเป็นเสียงของผู้หญิง


อ้างอิง

– Lidia Głuchowska, “Munch, Przybyszewski and The Scream”, Kunst og Kultur Vol.96 (4), 2013, 182-193. 

– Jay A. Clarke, “1927: Munch’s Changing Role in Germany”, Kunst og Kultur Vol.96 (4),170-180.

– Celia Paul, “At the Courtauld: Edvard Munch”, LRB, Vol.14(5), Aug 2022.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save