fbpx

“Let me flow free” คำร้องขอจากลุ่มน้ำสาละวิน ถึง ‘เขื่อนน้ำยวม’ กัมปนาทในความเงียบ

ต้นฤดูร้อน 2567 อากาศริมฝั่งแม่น้ำสาละวินแดดร้อนร้าย มีเพียงฝูงวัวควายของชาวบ้านที่กล้ายืนท้าทายอากาศกลางแจ้ง เล็มกินยอดหญ้าเชื่องช้า ไม่ยี่หระพระอาทิตย์ที่ทำให้มนุษย์ต้องซ่อนตัวตามร่มเงา

ในหมู่บ้านท่าตาฝั่งที่ไม่มีไฟฟ้า การรับมืออากาศร้อนมีเพียงการอาศัยร่มเงาต้นไม้หรือใต้ถุนบ้าน อาบน้ำดับร้อน หรือนอนแนบผิวกายลงกับพื้นกระเบื้อง เคลื่อนไหวให้น้อย รอคอยให้พระอาทิตย์อ่อนกำลังในท้ายวัน

‘เงียบสงบ’ เป็นคำที่ใช้บรรยายได้ตรงที่สุดในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะยามเย็นของท่าตาฝั่ง แม่น้ำเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนเข้าไปใกล้ วักน้ำเย็นเฉียบมาประพรมเนื้อตัวขณะกำซาบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติตรงหน้า แสงอาทิตย์ตกดินลอดผ่านทิวเขามาประชันความงามคู่กับสาละวิน สายน้ำไหลแรงส่งเสียงเป็นจังหวะ เสียงเดียวที่ทำลายจังหวะน้ำไหล คือเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวที่ชาวบ้านใช้สัญจรระหว่างหมู่บ้าน

นี่คือหมู่บ้านท่าตาฝั่ง, แม่สะเรียง, แม่ฮ่องสอน ริมแม่น้ำสาละวินยามการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงฝั่งพม่าสงบลง เมื่อกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยึดพื้นที่จากทหารพม่าสำเร็จ ภาพหลุมหลบภัยตามบ้านเรือนและโรงเรียนเด็กเล็กเป็นหลักฐานความยากลำบากเมื่อการสู้รบในอีกฝั่งแม่น้ำปะทุ

เสียงระเบิด เสียงเครื่องบินรบ และภาพพี่น้องกะเหรี่ยงจากอีกฝั่งแม่น้ำต้องหนีตายเข้ามา เป็นความทรงจำถึง ‘อันตราย’ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่นี่ แต่ท่ามกลางความเงียบสงบ ไม่มีลูกกระสุนลอยข้ามฝั่งแม่น้ำ ไม่มีเสียงการยิงสู้รบ ก็ใช่ว่าปราศจากภัยคุกคามอื่น

หากได้ยินเสียงระเบิด สัญชาตญาณจะเตือนเราถึงอันตรายและต้องหนีให้ไว แต่สำหรับโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำสาละวินนั้นเงียบเชียบ ไม่มีเสียงอันน่าหวั่นเกรงกระตุ้นเตือนสัญชาตญาณให้ต้องปกป้องตัวเอง มีแต่คนจากที่อื่นเข้ามาพูดจาดีๆ หว่านล้อมว่าจะมีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น …การพัฒนาเดินทางมาถึงแล้ว

ท่ามกลางความเงียบนั้น ชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวินได้ยินเสียงภัยคุกคามสนั่นหวั่นไหว

แม่น้ำสาละวินที่หมู่บ้านท่าตาฝั่ง

1

“เวลามีการสู้รบ เมื่อสถานการณ์สงบคนยังกลับบ้านได้ แต่ถ้าสร้างเขื่อนแล้วน้ำท่วม เป็นการปิดกั้นการอยู่อาศัยโดยถาวร” เป็นคำบอกเล่าของ สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ที่สรุปรวบยอดความคิดของคนลุ่มน้ำสาละวินทั้งสองฝั่ง

สะท้านเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ฉันพบเขาในวันที่คนแถบลุ่มน้ำสาละวินทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action for Rivers) คนที่มาเข้าร่วมไม่ได้มีเฉพาะคนจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวิน แต่ยังรวมถึงคนฝั่งขวาในรัฐกะเหรี่ยง เหล่าคนที่ชีวิตย่อมได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกันหากเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำของพวกเขา

สำหรับคนที่นี่ ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนของแม่น้ำ ทุกคนล้วนเป็น ‘พี่น้อง’ ด้วยคนส่วนใหญ่คือชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ใช้เรือสัญจรข้ามไปมาเป็นปกติ ยามเกิดปัญหาสู้รบ ผู้คนจึงพร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กัน หากไม่มีการปิดกั้นจากรัฐไทย

“ใจจริงพี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งโน้นไม่อยากหนีมาหรอก เขาอยากอยู่บ้านเกิด ถ้ามันสงบแล้วเขาก็กลับ” สะท้านว่า

ใช่ ใครจะอยากทิ้งบ้านตัวเอง หากไม่มีภัยคุกคาม

บังเกอร์สำหรับนักเรียนที่โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง
สะท้าน ชีววิชัยพงศ์

อันตรายจากภัยสู้รบเป็นภัยคุกคามที่มองเห็น แต่สำหรับคนที่นี่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ชวนหนักใจ ทัศนียภาพอันงดงามของแม่น้ำสาละวินเป็นหลักฐานถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในลุ่มน้ำนี้ จากต้นกำเนิดในเทือกเขาหิมาลัย สาละวินเดินทางไกล 2,800 กิโลเมตรผ่านประเทศจีน พม่า ไทย และวกออกทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ

เมื่อมองเทียบกับแม่น้ำหลักสายอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ สาละวินยังรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ได้มาก ด้วยถูกรบกวนจากมนุษย์น้อย บทเรียนสำคัญที่คนในลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวินเรียนรู้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง แม่น้ำ ‘พี่น้อง’ กับสาละวิน จากจุดกำเนิดในดินแดนเดียวกัน สาละวินและโขงไหลเคียงคู่กันมา ก่อนจะแยกจากไปยังต่างทะเล สภาพความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนนับสิบแห่งกั้นแม่น้ำ แปรเปลี่ยนชีวิตคนลุ่มน้ำโขงอย่างไม่มีวันหวนกลับและไม่อาจต้านทาน

นี่คือบทเรียนสำคัญที่คนสองริมฝั่งสาละวินจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นกับบ้านและแม่น้ำของพวกเขา

สาละวินเป็นหัวใจของการสัญจรสำหรับคนทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำ

2

สาละวินไหลอย่างอิสระมายาวนาน แม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำนี้ก็ช่วยเติมชีวิตให้ผู้คนรายรอบ แต่การปล่อยให้ธรรมชาติทำงานของตัวเองไปอย่างเที่ยงตรงต่อไปกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคนที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับแม่น้ำไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ ที่ผ่านมาเฉพาะในประเทศพม่าและชายแดนไทย-พม่ามีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินถึง 7 แห่ง

แต่โครงการที่ถูกสั่งให้เดินหน้าแล้วคือแนวคิดการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ซึ่งเป็นแนวคิดที่เริ่มเป็นรูปร่างตั้งแต่ปี 2535 และถูกหยิบกลับมาปัดฝุ่นโดย คสช. ในปี 2564 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเดินหน้าต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน

แม่น้ำยวมตั้งต้นที่อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และไหลลงแม่น้ำสาละวิน ด้วยความเป็นแม่น้ำนานาชาติของสาละวินนี้เองที่ทำให้ภาครัฐไทยมองว่าแม่น้ำยวมถูกปล่อยให้ไหลทิ้งลงทะเลประเทศเพื่อนบ้านอย่างเสียเปล่า จึงเกิดไอเดียสร้างอุโมงค์ส่งน้ำยาวกว่า 60 กิโลเมตรไปที่เขื่อนภูมิพล เพื่อเพิ่มน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยายามแล้ง

แผนที่โครงการผันน้ำยวม (ภาพจาก www.salween.info)
แม่น้ำยวมช่วงที่ผ่านตัวอำเภอแม่สะเรียง

โปรเจ็กต์ยักษ์นี้ต้องมีการก่อสร้างทั้งเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมและอ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินผ่านป่ารอยต่อสามจังหวัด จุดทิ้งวัสดุจากการขุดอุโมงค์  6 แห่ง ปากอุโมงค์ และถนนเข้าออกโครงการ 8 เส้น ตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.7-2.4 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุน

โครงการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. ที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยไล่ยึดที่ดินชาวบ้านที่มีข้อพิพาทกับอุทยานจนสร้างคดีให้คนตัวเล็กตัวน้อยมากมาย เป็นเรื่องย้อนแย้งที่โครงการผันน้ำยวมมีการศึกษาแล้วว่าหากจะทำก็ต้องสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 3,600 ไร่ กินพื้นที่อุทยานและป่าสงวนหลายแห่ง

นับแต่ที่โครงการผันน้ำยวมได้รับสัญญาณให้เดินหน้าในรัฐบาล คสช. เสียงคัดค้านก็เกิดขึ้นทั้งจากชาวบ้านและนักวิชาการที่มองถึงผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อป่าและแม่น้ำ ที่ดินทำกินของประชาชน วิถีชีวิตและความเชื่อของชาติพันธุ์ ไปจนถึงการทำงานที่สร้างความขัดแย้งและมองข้ามการมีส่วนร่วมจากประชาชน ดังที่แสดงให้เห็นในรายงานอีไอเอที่มีชื่อเล่นว่า ‘อีไอเอฉบับร้านลาบ’ จากที่มีการนัดประชาชนในพื้นที่รับประทานอาหาร แล้วนำภาพถ่ายไปใส่ในรายงานว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ

ไม่ต้องมองอย่างซับซ้อนก็เห็นได้ว่ามีเรื่องไม่ปกติซ่อนเร้นอยู่ ในเวลาที่ผ่านมาฝ่ายรัฐก็พยายามแก้เกมด้วยหลากวิธีการ เช่น การจัดเวทีเสวนาที่สะท้อนเฉพาะเสียงสนับสนุนโครงการ หรือการซื้อพื้นที่สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียว

เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนความไม่ตรงไปตรงมาที่เกิดขึ้นกับคนลุ่มน้ำสาละวินจนการลุกขึ้นสู้เป็นเรื่องจำเป็น

ในตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง จากที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวินและประชาชนในพื้นที่ยื่นฟ้องว่าโครงการและการทำอีไอเอไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3

หากมองจากกรุงเทพฯ สาละวินเป็นเพียงแม่น้ำเส้นหนึ่งที่แสนห่างไกลความรับรู้

หากมองจากริมน้ำสาละวิน สายน้ำนี้ยิ่งใหญ่และอุดมไปด้วยความซับซ้อนทั้งทางธรรมชาติและชีวิตมนุษย์หลากชาติพันธุ์ริมสองฝั่ง

หากมองจากสายตารัฐไทย ลุ่มน้ำนี้คือทรัพยากรที่ยังไม่สร้างผลกำไร

หากมองจากสายตาคนลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำนี้คือทรัพย์สินมหาศาลที่หล่อเลี้ยงพวกเขาให้เติบโตมาหลายชั่วคน

ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อมีการตัดสินใจที่กรุงเทพฯ การสร้างเขื่อนน้ำยวมอันเป็นการพัฒนาแบบเขมือบกินทั้งธรรมชาติและชีวิตคนลุ่มน้ำสาละวิน จึงเป็นเรื่อง ‘แลกได้’ เพราะคนตัดสินใจไม่ต้องแลกอะไรเลย

ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อมีการศึกษาผลกระทบจากโครงการ เสียงคัดค้านที่ปรากฏบนหน้ากระดาษจึงบางเบาและตัดความจริงบางส่วนออก เพื่อให้เห็นว่านี่คือการพัฒนาที่ชาวบ้านปรารถนา

เช่นเดียวกับที่ ดาวพระศุกร์ มึปอย หรือ ดาว ไม่ถูกนับรวมในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการในรายงานอีไอเอ ทั้งที่เมื่อดาวดูเอกสารของโครงการแล้วพบว่าบ้านของเธออยู่ในจุดทิ้งดินแถวปากอุโมงค์

ฉันพบดาวและลูกสาวตัวน้อยที่มาร่วมพิธีสืบชะตาแม่น้ำที่ริมแม่น้ำสาละวิน ที่ผ่านมาดาวออกมาร่วมคัดค้านการทำโครงการผันน้ำยวมอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ดาวแนะนำตัวเองว่าเธอคือกะเหรี่ยงโปว์ ทำการเกษตร ปลูกถั่ว ปลูกข้าวโพด อยู่ที่บ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเล่าว่าเธออยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง จึงต้องพึ่งพิงแม่น้ำและป่าในการหากิน

“แม่น้ำสำคัญกับพวกเรามาก หมู่บ้านเราไม่ได้มีที่ดินเยอะเหมือนหมู่บ้านอื่น เราจึงต้องอาศัยแม่น้ำและป่าในการหากินตามความถนัด บางคนถนัดจับปลาก็จะต้องอาศัยแม่น้ำ บางคนถนัดหาของป่าก็จะต้องอาศัยป่า เข้าไปหาผัก หาเห็ด ในแต่ละฤดูจะมีของป่าหมุนเวียนแตกต่างกันไป เราจะรู้ว่าในฤดูนี้ต้องหาอะไร”

ระหว่างที่คุยกัน มีเรือหางยาวแล่นผ่านในแม่น้ำสาละวิน เสียงเครื่องยนต์เรือดังทั่วคุ้งน้ำเรียกความสนใจคนริมฝั่ง บนเรือไม่ได้บรรทุกผู้โดยสารเช่นเรือลำอื่น แต่เป็นกองใบไม้แห้งที่ถูกมัดเรียงเป็นระเบียบ

ดาวบอกว่าช่วงเดือนมีนาคมชาวบ้านจะเก็บใบตองตึงมาไพสำหรับมุงหลังคา บางคนก็เอามาขายริมแม่น้ำรอคนมารับซื้อ เป็นหนึ่งในรายได้หมุนเวียนแต่ละปีของคนที่นี่

“แม่น้ำเลี้ยงหมู่บ้านของเรา คนในหมู่บ้านหาผัก หาไข่มดแดงใกล้ริมน้ำ หากุ้ง หาหอย หาปลามากิน ถ้าหาได้เยอะก็เอาไปขายเพื่อซื้อไข่ ซื้อมาม่ามาให้ลูกกิน พวกเราอยู่กับแม่น้ำมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย อยากให้มันอยู่อย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่อยากให้ใครมาทำอะไรแม่น้ำ แม่น้ำมีประโยชน์กับเรามาก” ดาวมองว่าถ้ามีโครงการใหญ่เข้ามาวิถีชีวิตของคนที่นี่จะเปลี่ยนไป พืชพันธุ์อาหารที่เคยหาได้จากธรรมชาติก็จะเปลี่ยนแปลง

“การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรา ทุกวันนี้ที่เป็นอยู่มันดีแล้ว”

สำหรับคนบ้านแม่เงาที่ต้องรับผลโดยตรงจากโครงการ การทำรายงานอีไอเอแบบซ่อนเร้นที่เกิดขึ้นสร้างความรู้สึกกับคนในพื้นที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเขา

“บ้านเราไม่มีระบุว่าในรายงานอีไอเอว่าเป็นบ้านที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งที่ถ้าดูแผนที่แล้วเป็นจุดที่เขาวางแผนจะเอาดินไปถม ในรายงานมีระบุผลกระทบแค่ไม่กี่หลังคาเอง ทั้งที่จริงแล้วมันกระทบทั้งหมู่บ้าน ทั้งน้ำจะท่วมและมีจุดที่เอาดินไปกอง”

ดาวบอกว่ามีรูปของเธอปรากฏในรายงาน ทั้งที่เธอไม่ได้รับการชี้แจงเรื่องโครงการเลย สิ่งที่รัฐทำเหมือนเป็นการ ‘หลอกคนบ้านนอก’

“คนที่ทำอีไอเอเขาเอาขนมมาแจกเด็กๆ ในหมู่บ้านแล้วขอถ่ายรูปด้วย เราเห็นเขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ให้ถ่ายรูป เราไม่รู้ว่าเขาจะมาหลอก สุดท้ายเอารูปไปบอกว่าคนคนนี้เห็นด้วยกับโครงการ” สิ่งที่ดาวมองไม่เห็นคือความตรงไปตรงมา พูดคุยกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างอารยชน

“ทำไมคนทำอีไอเอเขาไม่มาคุยดีๆ เขามาถ่ายรูปแล้วไปเขียนว่าคนในพื้นที่ยอมรับแล้ว ทั้งที่คนในรูปไม่ได้บอกเลยว่าเห็นด้วยกับโครงการ ไม่รู้ด้วยว่าจะเอารูปไปใส่ในรายงาน เวลาเขามาก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากมาย เขาจะบอกว่าไม่มีผลเสียเลย มีแต่ผลดี ทำแล้วจะเจริญ จะสบาย ชาวบ้านก็ไม่รู้ ก็เออออ เราเป็นคนไม่มีการศึกษา สุดท้ายมาบอกว่าเรายินยอม” ดาวเล่า

หากมองด้วยเหตุผลของเรื่องราวทั้งหมดที่คนแม่ฮ่องสอนถูกเรียกร้องให้เสียสละ เพื่อโครงการมูลค่ามหาศาลที่ทำเพื่อส่งน้ำไปเขื่อนภูมิพล เพื่อเพิ่มน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดาวก็ทำความเข้าใจไม่ได้ว่าเหตุใดจึงต้องลงทุนมหาศาลเพื่อเอาน้ำจากบ้านเธอไปให้คนที่อื่น

“น้ำในแม่น้ำของเราก็น้อยลงทุกปี แม่น้ำของเขาก็ใหญ่อยู่แล้ว เราสงสัยว่าจะเอาน้ำไปทำไม น้ำในแม่น้ำเราไม่ได้เยอะเลย มันไม่ใช่แม่น้ำใหญ่ มันมีเยอะพอแค่ชาวบ้านจะอาศัยกินใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจะผันน้ำไปขนาดนั้นมันไม่ได้หรอก”

สิ่งที่คนจากภาครัฐทำ ทำให้ดาวสะท้อนใจว่ารัฐมองข้ามและไม่เห็นคุณค่าคนที่นี่ เพียงแค่จะมาอธิบายให้คนที่นี่เข้าใจดีๆ ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ภาครัฐก็เลือกที่จะไม่ทำ

“เราเป็นแค่ชาวบ้าน แต่ก็มีสิทธิที่จะต่อต้านเขา เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน มีแข้งมีขาเหมือนกัน ทำไมต้องทำกันอย่างนี้ ทำไมไม่คุยกันดีๆ ล่ะ บอกข้อมูลที่ถูกต้องมา พวกเราอยู่กันมานานแล้ว ไม่ควรมาทำลายแม่น้ำของเรา ไม่ควรทำลายอาชีพของพวกเรา อยากให้เขาคิดดูว่าทำอย่างนี้จะสร้างความเสียหายให้กับพวกเราไหม ทำแล้วจะกระทบใครบ้าง แล้วคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือใคร”

ฉันมองตาดาวพระศุกร์ หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงจับมือลูกสาวแน่น เด็กน้อยเริ่มยุกยิกอยากไปวิ่งเล่น แววตาของดาวไม่ต่างจากแววตาชาวกะเหรี่ยงหลายคนที่ฉันเจอที่นี่ ไม่ว่ากะเหรี่ยงฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาของแม่น้ำสาละวิน แววตามุ่งมั่น มั่นใจ ประสบการณ์เผชิญการต่อสู้หลากหลายรูปแบบในชีวิตหล่อหลอมพวกเขามาแบบนี้

พวกเขาต่อสู้เพื่อที่จะอยู่ในบ้านของตัวเอง

หลังคุยกัน ฉันขอถ่ายภาพดาว เธอคิดครู่เดียวก่อนสบตาสาวน้อยข้างกาย ผู้เป็นแม่จัดแจงผูกแถบผ้ายาวที่เขียนคำว่า ‘สาละวิน’ รอบหัวลูกสาวพร้อมพูดกับเธอ “คนอื่นจะได้รู้ว่าสู้กันมาตั้งแต่ตัวเท่านี้เลยนะ”

ดาวพระศุกร์ มึปอย

4

“พี่น้องในรัฐกะเหรี่ยงก็เล่าว่าเวลาที่รัฐบาลอยากให้ชาติพันธุ์ย้ายไปที่อื่น เขาจะใช้วิธีสร้างเขื่อนเพื่อไม่ให้อยู่ได้ ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในไทยเช่นกัน”

ในสายตาของสะท้าน เขามองไม่เห็นเหตุผลที่เพียงพอสำหรับการทำโครงการผันน้ำยวม ทั้งที่ต้องทำลายทั้งธรรมชาติและชีวิตคนในลุ่มน้ำสาละวิน โดยเฉพาะเหตุผลที่กรมชลประทานซึ่งเป็นเจ้าของโครงการยกมาคือเรื่องการเติมน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง

“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการบริหารจัดการน้ำให้คนภาคกลาง ผมคิดว่ายังมีแม่น้ำของภาคกลางอีกเยอะแยะและยังมีวิธีการอื่นอีกมาก เช่น สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำในหน้าฝน ผมจึงคิดว่าโครงการนี้ไม่จำเป็น เราสามารถบริหารจัดการน้ำให้ดีกว่านี้ได้”

เรื่องที่สะท้านกังวลคือเหตุผลอื่นที่ไม่ปรากฏบนกระดาษ

“เรากังวลว่าเหตุผลจะเป็นเรื่องค่าคอมมิชชันจากโครงการหรือเปล่า เพราะผลประโยชน์มันมหาศาล ตอนแรกโครงการผันน้ำยวมจะใช้งบประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท แต่วันนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงสองแสนล้านบาท งบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายส่วน เหมือนเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง”

เมื่อมองแม่น้ำยวมที่จะถูกดึงน้ำไปให้คนภาคอื่นใช้แล้ว สะท้านเห็นว่าปัจจุบันน้ำในแม่น้ำยวมก็เหลือน้อย เขาจึงตั้งข้อสงสัยถึงจุดมุ่งหมายของโครงการว่า แท้จริงคือการมุ่งหมายจะผันน้ำสาละวินซึ่งเป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อกันหรือไม่ แต่การจะทำโครงการบนแม่น้ำสาละวินโดยตรงนั้นไม่ได้ เพราะสาละวินเป็นแม่น้ำชายแดนกั้นระหว่างประเทศ ซึ่งหากมีการผันน้ำยวมจนแล้งแล้วจะกระทบต่อสาละวินอย่างแน่นอน

“เราคัดค้านโครงการผันน้ำยวมเพราะมันกระทบชีวิตเราจริงๆ แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าเมื่อเริ่มโครงการแล้วจะสร้างผลกระทบหลายด้านให้ชาวบ้าน”

สำหรับสะท้านเอง เขาใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำยวม ที่บ้านแม่ทะลุ เห็นชีวิตของคนในชุมชนแถบนี้ที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำทั้งสี่สาย คือ ยวม เงา เมย สาละวิน แม่น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะสาละวินที่ใช้ในการสัญจร เมื่อการเดินทางโดยรถยนต์แถวนี้ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบาย แม่น้ำจึงเป็นหัวใจหลักของชุมชน

“พี่น้องในพื้นที่นี้ทำเกษตรริมน้ำ ทั้งแตงโม ยาสูบ ถั่ว ผักกาด เราปลูกบนพื้นทรายที่มีความชุ่มชื้นจากแม่น้ำ อีกส่วนหนึ่งคือการหาปลาของพี่น้องในพื้นที่ทั้งสี่แม่น้ำนี้ บางคนก็เป็นชาวประมงเป็นหลักเลย ถ้ามีเขื่อนเกิดขึ้นจะทำให้พี่น้องสูญเสียโอกาสทางอาชีพ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขาจะล่มสลาย”

ความกังวลในฐานะลูกแม่น้ำยวมของสะท้านคือการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมและคนในชุมชนต้องแยกย้ายคนละทิศละทาง อีกเรื่องสำคัญคือโครงการนี้เป็นการทำลายทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด

“ทุกวันนี้ทรัพยากรของเรามีจำกัด แต่มีการแย่งชิงทรัพยากรมาก ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯ พยายามเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ทำไมอนุญาตให้กรมชลประทานทำลายพื้นที่บริเวณโครงการผันน้ำยวม 3,600 ไร่”

เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบและคนในลุ่มน้ำสาละวินอาจไม่ต้องการคำตอบอีกต่อไปแล้ว เมื่อความไว้วางใจที่มีกับภาครัฐถูกทำลายลงจากการเข้ามาทำรายงานอีไอเอแบบปิดบังข้อมูล ไม่มีส่วนร่วม และไม่มีความจริงใจ

ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน สะท้านสรุปความต้องการของคนในพื้นที่ว่าต้องการให้ยุติการทำอีไอเอโครงการผันน้ำยวม และยุติโครงการผันน้ำยวม

“ผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องคุยกันด้วยความจริงและจะพัฒนาอะไรขอให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ เราอยากให้รัฐบาลมีความจริงใจกับชาวบ้าน”

สำหรับคนลุ่มน้ำสาละวิน ชีวิตของพวกเขาปรับตัวไปตามธรรมชาติในแต่ละฤดู กินอยู่กันอย่างง่ายๆ สิ่งล้ำค่าที่สุดที่มีอยู่คือสายน้ำและผืนดิน แนวคิดการพัฒนาด้วยการสร้างเขื่อนจึงเป็นการแย่งชิงทุกอย่างจากคนที่นี่ไป สะท้านบอกว่าต่อให้ภาครัฐจะเอาเงินหรือสิ่งของมาให้ชาวบ้านก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะสิ่งสำคัญคือ ‘ที่ดิน’ คนต้องการที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และการดำรงชีวิตตามวิถีของตัวเอง

หากภาครัฐคิดจะพัฒนาอะไร ขอให้คำนึงถึงสิ่งสำคัญที่สุดของคนที่นี่คือ ‘วิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ’

เสียงที่คนกะเหรี่ยงในแม่ฮ่องสอนกำลังส่งเสียงถึงคนที่คิดจะครอบครองแม่น้ำคือ “ปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ” ฟังดูประหลาด แต่เป็นเรื่องจริงที่เราต้องเรียกร้องให้มนุษย์ปล่อยให้ธรรมชาติทำงานอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่เคยเป็น

หากมองการเดินทางแสนไกลของสาละวิน จากหิมาลัยสู่อันดามัน ชายแดนไทยเป็นเพียงทางผ่านในระยะไม่ไกล แต่แม่น้ำไม่มีพรมแดน แม่น้ำเป็นสมบัติที่ใช้ร่วมกันของมนุษย์ ไม่ใช่ทรัพยากรที่ถูกทิ้งให้สูญเปล่าจนใครคิดจะมาเป็นเจ้าของ

หลังพิธีสืบชะตาแม่น้ำจบลง ป้ายผ้า ‘NO DAM’ ถูกผูกติดกับแพไม้ไผ่ลอยไปตามสายน้ำสาละวิน พริบตาเดียวแพนั้นก็ถูกพัดลอยไปจนลับสายตาโดยไม่มีใครรู้ว่าข้อเรียกร้องที่ผูกติดกับแพนี้จะไปจบลงที่ใด

หลังจากสบตาผู้คนที่นี่ ฉันรู้ว่าสิ่งที่จะคุ้มครองสายน้ำได้คงไม่ใช่แค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละคน แต่คือผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำที่ลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองแม่น้ำของพวกเขาเอง

หวังเพียงว่าคนที่ตัดสินใจสร้างเขื่อนจากห้องแอร์ที่กรุงเทพฯ จะมีโอกาสมาสบตากับพวกเขาบ้าง

เสียงเป่าแตรเขาสัตว์บรรเลงประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save