fbpx

โหดร้ายเหมือนไม่ใช่คน

นโยบายกำไลอีเอ็มที่เชื่อกันว่ามีมนุษยธรรมกว่าการสั่งขังห้ามประกันนั้น เอาเข้าจริงก็กลายเป็นปัญหาใหม่ เมื่อผู้พิพากษาต้องเข้ามาร่วมตัดสินใจกับเจ้าตัวผู้ใส่กำไลอีเอ็มเองว่าจะอนุญาตให้เขาใช้ชีวิตได้ ‘ปกติ’ มากน้อยแค่ไหน

ไม่มีชีวิตปกติภายใต้กำไลอีเอ็ม มีแต่ปกติมากหรือน้อยกว่าเท่านั้น

บางราย อย่าง ตะวัน ตัวตุลานนท์ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง การติดกำไลอีเอ็มมาพร้อมเงื่อนไขต้องอยู่ในบ้าน 24 ชั่วโมง

ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็วไม่ได้รับอนุญาตให้ถอดกำไลอีเอ็มชั่วคราวเพื่อเดินทางไปร่วมเป็นวิทยากรงานเวทีเสวนาวิชาการในการประชุมใหญ่ประจำปีของเครือข่ายประชาธิปไตยเอเชีย

นักกิจกรรมบางรายไม่ได้รับอนุญาตให้ถอดกำไลอีเอ็มไปเข้าเครื่อง MRI เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทตัวเอง

บางรายถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน แต่สมัครงานออนไลน์ เมื่อสมัครได้แล้วจึงไปขออนุญาตออกจากบ้านเพื่อทำงานประกอบอาชีพก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ตอนสมัครงานไม่ได้ขออนุญาตก่อน

คำสั่งทั้งหมดนี้ไม่ได้สั่งโดยคนที่ใจคอโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษเลย สั่งโดยคนธรรมดาเหมือนคนจำนวนนับสิบๆ ล้านในประเทศนี้ ที่น่าจะโตมาอย่างธรรมดา เข้ารับการศึกษาสูงสุดที่ประชาชนคนหนึ่งจะแสวงหาได้และทำงานสุจริต เป็นสมาชิกครอบครัวที่ปกติ แต่คำสั่งที่ออกมามีผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อะไรทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งออกคำสั่งที่โหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้

คนธรรมดากับการตัดสินใจที่โหดร้ายเหมือนไม่ใช่คน

การทดลองในหัวข้อความโหดร้ายของคนธรรมดา ต้องเท้าความถึงงานสองชิ้นที่ชื่อเสียงมาก คือ การทดลองมิลแกรม (Milgram’s experiment on obedience to authority) ซึ่งทดสอบเรื่องความเชื่อฟังต่ออำนาจ โดยนักจิตวิทยา Stanley Milgram ซึ่งอาสาสมัครถูกขอให้ช่วยนักวิจัยกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่กลุ่มทดลองเรื่องการทดสอบระบบความทรงจำ ซึ่งกระแสไฟฟ้านั้นเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่นักวิจัยนั้นยืนยันว่ากลุ่มทดลองนั้นปกติดี ถึงแม้กลุ่มทดลองนั้นจะเริ่มกรีดร้องโหยหวนขอความเมตตาให้หยุดปล่อยกระแสไฟฟ้าเสียที

แท้จริงการทดลองทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริงและการกรีดร้องก็เป็นการแสดง การทดลองจริงๆ คือตัวอาสาสมัครนั่นเอง อาสาสมัครที่มา ‘ช่วย’ ด้วยการกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าตามคำสั่งของนักวิจัยอย่างเคร่งครัด โดยละเลยสัญญาณวิกฤตของเหยื่อที่อยู่ตรงหน้า ข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการทดลองคือ คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นั้นสามารถเชื่อฟังคำสั่งและทำตามคำสั่งที่นำไปสู่ผลเลวร้ายที่สุดได้ไม่ยากเย็นอะไร

งานของมิลแกรมถูกนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีด้วย เพื่อพยายามอธิบายว่า เหตุใดคนเป็นแสนๆ คนจึงเชื่อฟังพรรคนาซีแล้วกระทำการอันโหดร้ายหมือนไม่ใช่คนเช่นนั้นได้

งานทดลองอีกชิ้น คือ การทดลองผู้คุมนักโทษ (Stanford Prison Experiment) ซึ่งจำลองเรือนจำและเอาคนธรรมดามาเล่นบทผู้คุมและนักโทษเป็นเวลาสองสัปดาห์ ผลที่สุด การทดลองนี้ต้องยกเลิกกลางคันเพราะเมื่อมาถึงครึ่งทางพบว่า ผู้คุมจำแลงนั้นได้แสดงความทารุณโหดร้ายต่อนักโทษจำแลงจนเกินจะยอมรับได้ การทดลองครั้งนี้ชี้ว่า ความทารุณโหดร้ายนั้นสามารถถูกสร้างขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพราะศีลธรรมส่วนตัวของปัจเจกแต่ละคน ใครก็ตามที่ถูกระบบมอบเงื่อนไขให้ก็สามารถกลายเป็น ‘ผู้คุมเรือนจำ’ ได้ในที่สุด

งานทดลองผู้คุมนักโทษนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ทรมาณนักโทษในเรือนจำอาบู กราอิบ (Abu Graib) ในอิรัก เมื่อทหารหนุ่มๆ สาวๆ จำนวนไม่น้อยร่วมกันทรมานนักโทษด้วยลักษณะการอุจาดต่างๆ จนเป็นที่อื้อฉาว

การทดลองทั้งสองงานนี้ไม่ใช่ไม่มีที่ติ มีผู้พยายามอ่านผลการทดลองและตีความมันใหม่ หรือวิจารณ์วิธีวิทยาที่ใช้ แต่ผลการทดลองก็ยังเป็นสิ่งเตือนใจมนุษยได้เสมอว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากคนธรรมดาหลุดเข้าไปในระบบที่สนับสนุนให้เขาแสดงด้านที่เจริญน้อยกว่าของตัวเองออกมาโดยไม่มีอะไรฉุดรั้งเอาไว้

อันความกรุณาปรานี

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้พิพากษารัฐเพนซิลเวเนียมีคำสั่งอนุญาตให้คุณไรลีย์ วิลเลียมส์ออกจากบ้านไปร่วมงาน Renaissance Faire ได้

ความสำคัญคือคุณไรลีย์นี้เป็นผู้ต้องหาสำคัญในคดีร้ายแรง จากคดีจลาจลบุกเมืองหลวง The Capitol Riot เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2020 และคุณไรลีย์เองทำผิดฉกรรจ์ด้วยการขโมยคอมพิวเตอร์ของแนนซี เพโลซี ซึ่งบรรจุข้อมูลสำคัญของชาติไว้ จึงถูกจับขัง จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วศาลจึงสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขห้ามออกจากบ้านยกเว้นเพื่อไปทำงาน และกิจกรรมอื่นๆ

ซึ่งกิจกรรมอื่นๆ นั้นดูเหมือนว่าจะรวมถึงการไปร่วมงานแฟร์นี้ด้วย งานนี้เป็นงานสำหรับผู้สนใจในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรป มีแต่งคอสเพลย์เป็นคนโบราณ และแสดงละครต่างๆ

ก่อนหน้านี้ อัยการก็ไม่ได้คัดค้านหากคุณไรลีย์ต้องการออกจากบ้านไปเที่ยวสักวันเต็มๆ

พูดกันตรงไปตรงมา งานแบบนี้ ไม่ไปก็ไม่ตาย ไม่เกี่ยวกับการดำรงชีพ เป็นงานสำหรับหญิงสาวที่สนใจแฟนตาซีหน่อยๆ แต่ศาลก็ให้ จะให้เพราะเหตุใดก็เหลือจะคาดเดา ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะศาลเป็นมืออาชีพ เคารพหลักการที่ว่า บุคคลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ก็ได้ หรืออาจจะเพราะมีเมตตากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ได้ จึงเข้าใจว่า มนุษย์ต้องการอะไรบ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ในระบบที่ออกแบบมาดีแล้ว ผู้พิพากษาสามารถใช้อำนาจด้วยเมตตาง่ายกว่า

ระบบที่ผลิตผู้คุมเรือนจำ

เมื่อเราเริ่มจากข้อสันนิษฐานที่ว่า ความโหดร้ายเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล คำถามคือเราจะเข้าใจระบบนั้นได้อย่างไร

ข้อสันนิษฐานเรื่องระบบ ย้อนแย้งอย่างยิ่งกับภาพลักษณ์ของวงการผู้พิพากษาตุลาการ ที่เน้นคุณธรรมจริยธรรมศีลธรรม ความกรุณาเมตตาปรานี ยิ่งทำให้การศึกษาระบบตุลาการเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้น

อุดมการณ์ใดที่ตุลาการยึดถือ และกลไกใดที่ใช้ปลูกฝังอุดมการณ์ลงไปในสมาชิกของฝ่ายตุลาการ เขาอบรมอะไรกัน เนื้อหาสะท้อนวิธีคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ และอาญาสิทธิของศาลอย่างไร เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน ศาลมีกลไกภายในที่เอาไว้จัดการกับผู้ที่ลุแก่อำนาจหรือไม่ มีประสิทธิภาพไหม การลุแก่อำนาจแบบไหนถูกลงโทษ แบบไหนอนุญาตให้ใช้ได้ มีข้อยกเว้นในการควบคุมการใช้อำนาจหรือไม่ ถ้ามี อำนาจตัดสินใจจะยกเว้นหรือไม่ยกเว้นอยู่ที่ใครบ้าง สำคัญที่สุดคือ เขาทำให้คนในระบบเชื่อฟังได้อย่างไร และมีกลไกใดทำโทษคนที่ไม่ลุแก่อำนาจ หรือไม่เชื่อฟังอำนาจบ้างหรือไม่

คำถามแบบนี้ ความรู้นิติศาสตร์ที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ การวิเคราะห์คำพิพากษาไม่มีประโยชน์ ต้องใช้ความรู้สาขาอื่นเข้ามาช่วย โดยตั้งคำถามกับกับคนและระบบที่แสนจะบริสุทธิ์ยุติธรรมนี่เอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save