fbpx

ไทยซบพม่า : แหวกหัวใจคู่พระนางสังเวยชาตินิยม ใน ‘เลือดสุพรรณ’ ละครเพลงยุคปฏิวัติ

สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่รับรู้ว่าพม่าคือศัตรูตัวฉกาจในประวัติศาสตร์ไทย อาจจะแปลกใจว่าสังคมเราเคยมีละครอิงประวัติศาสตร์ที่เชิดชูพม่าในฐานะพระเอกด้วย นอกจาก ‘จะเด็ด’ หรือบุเรงนองใน ผู้ชนะสิบทิศ ที่อาจจะคุ้นหูกว่า บทความนี้จะขอแนะนำ ‘มังราย’ ตัวละครสมมติ (แต่ดันมีชื่อเหมือน ‘กษัตริย์ล้านนา’) ที่มีบทบาทคู่กับตัวนางเอกอย่าง ‘ดวงจันทร์’ ใน เลือดสุพรรณ

หาก ไทยรบพม่า เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความแค้นต่อสองชาติยามที่ชนชั้นนำสยามกำลังก่อร่างสร้างสิ่งที่เรียกว่าชาติขึ้นมา เลือดสุพรรณ กลับไม่ได้ทำให้พม่ากับไทยเป็นศัตรูคู่อาฆาตแบบแบ่งขาวแบ่งดำขนาดนั้น แต่มันยังถูกปรุงแต่งประเด็นของความรักและโรแมนติกเข้าไปด้วยดังชื่อบทความผู้เขียนว่า ‘ไทยซบพม่า’

ปี 2477 เป็นปีที่มีการประกาศผลประกวดการแต่งเพลงชาติไทย (ก่อนจะเปลี่ยนเนื้อหาอีกครั้งในปี 2482 และใช้มาจนถึงทุกวันนี้) เพลงชาติยุคนี้ขึ้นต้นด้วย “แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง…” ในเพลงชาติเวอร์ชันนี้ใช้คำว่า ‘เลือด’ อยู่ถึง 3 ครั้ง นั่นคือ ‘ลุยเลือด’ ‘เลือดของเชื้อข้า’ ‘เอาเลือดล้างให้สิ้น’ ซึ่งถือเป็นความกระตือรือร้นของคณะราษฎรมาตั้งแต่หลังปฏิวัติ การเมืองของเพลงชาติยังมีบทบาทขับเคี่ยวกับวัฒนธรรมศักดินาเดิมอย่างเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกด้วย ยังไม่นับว่าเพลงชาตินี้เกิดหลังจากเหตุขัดแย้งจากสมุดปกเหลืองไปสู่กบฏบวรเดช อย่างไรก็ตามว่ากันว่าเพลงชาติไม่ได้เป็นที่นิยมกันนัก ต้องรอจนถึงเวอร์ชันปี 2482[1]

เลือดสุพรรณ เป็นบทละครเวทีที่แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) เมื่อปี 2479 ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ต้นกำเนิดของละครนี้เกิดจากการที่เขาเดินทางไปสุพรรณบุรีเพื่อทำธุระเกี่ยวกับศาลหลักเมือง ซึ่งข้าหลวงและธรรมการจังหวัดได้พาเขาเยี่ยมชมโบราณสถานทำให้เขาจินตนาการไปถึงภาพสงครามที่พม่ามายึดสุพรรณก่อนจะตีกรุงศรีอยุธยา อนึ่ง ปลายปี 2478 ได้มีการประกาศเขตโบราณสถานล็อตใหญ่ของประเทศ ที่สุพรรณบุรีก็ได้ประกาศถึง 36 แห่ง แหล่งสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตตัวเมืองเสียด้วย เช่น ศาลเจ้าหลักเมือง วัดมหาธาตุ วัดป่าเลย์ไลยก์ คูเมืองและกำแพงเมือง ฯลฯ[2]

เลือดสุพรรณ เกิดขึ้นหลังจากการตีพิมพ์รวมเล่มภาคแรกของ ผู้ชนะสิบทิศ เพียง 3 ปี และระหว่างนี้ ผู้ชนะสิบทิศ ก็ยังตีพิมพ์เป็นประจำลงในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ อีกด้วย อิทธิพลของผู้ชนะสิบทิศที่มีต่อเลือดสุพรรณอาจเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เลือดสุพรรณจึงเป็นเหมือนบทละครปลอมประวัติศาสตร์ที่ใช้ฉากสงครามพม่า-อยุธยามาเล่าอดีตด้วยพล็อตของตน ดังนั้นบรรยากาศพื้นหลังของการเกิดละครจึงไม่ใช่เพียงเรื่องอารมณ์พาไปขณะพบโบราณสถานอย่างเดียว แต่เป็นยุคสมัยหลังการปฏิวัติไปด้วย

หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่าแม้พม่าจะเป็นคนโหดร้ายและข่มเหง ‘คนไทย’ แต่เขาก็คงมีคนดีเหมือนกัน และเห็นว่า การสร้างความเกลียดชังพยาบาทต่อเพื่อนบ้านเป็นเรื่อง ‘พ้นสมัย’ ควรจะหาทางผูกไมตรีกัน หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่า พม่านอกจากจะกล้าหาญและมีฝีมือแล้ว ยัง “มีความเคร่งครัดยุติธรรมเด็ดขาดอยู่ในหมู่ของเขาเป็นอย่างยิ่ง” ความคิดเช่นนี้นำไปสู่การแต่งละครระหว่างนั่งเรือกลับกรุง ความน่าสนใจก็คือ เขาแต่งเป็นละครเพลง จึงแต่งบทเป็นละครร้องที่ต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางคศิลป์นั่นคือ หลวงประดิษฐไพเราะ ให้แผนกนาฏดุริยางค์เลือกผู้แสดง คิดท่ารำ แล้วให้ช่างออกแบบฉาก ละครเรื่องนี้จึงนำเอาประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว และเสียงพูด รวมไปถึงดนตรีประกอบ[3] ละครเรื่องนี้ยังมีการประพันธ์ original soundtrack ไว้ 4 เพลงโดยหลวงวิจิตรวาทการ นั่นคือ ยากเย็น, ดวงจันทร์, มังรายและเลือดสุพรรณ เพลงสุดท้ายเป็นที่คุ้นหูกันมากที่สุด รองลงมาคือ เพลงดวงจันทร์ที่ถูกนำมาขับร้องใหม่ในช่วงหลังที่หากฟังโดยผิวเผินแล้วจะไม่รู้เลยว่าเกี่ยวอะไรกับ เลือดสุพรรณ

หลวงวิจิตรวาทการ พยายามสร้างความสมจริงผ่านการแสดงด้วยการแต่งกายตามจริง “ไม่ต้องแต่งให้เป็นละครมากนัก” นางเอกคือ ดวงจันทร์ ให้แต่งอย่าง ‘สาวชาวบ้าน’ และ “ความดีความงามอยู่ที่บทบาทของการแสดง ไม่ใช่อยู่ที่เครื่องแต่งตัว” [4] นอกจากความเสมือนจริงแล้ว ละครนี้ยังเลือกใช้ตัวเอกคนไทยที่เป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้า ทั้งยังเน้นไปที่ความสามัคคีของชาวบ้านแถบสุพรรณ

เรื่องย่อของเลือดสุพรรณก็คือ การยกทัพมารุกรานของพม่าผ่านมาทางสุพรรณบุรีแล้วชาวบ้านนั่นเองที่ถูกพม่าจับกุมในฐานะเชลยศึก ระหว่างนั้นพระเอกอย่างมังราย ก็ได้พบพานนางเอกอย่างดวงจันทร์ มังรายพยายามให้ความยุติธรรมแก่เชลยอย่างมีมนุษยธรรม ต่อมาทั้งคู่มีใจให้ มังรายช่วยเหลือปลดปล่อยคนไทยทั้งหลายออกจากค่าย นั่นทำให้เขาต้องอาญาศึกและถูกประหารชีวิต ส่วนดวงจันทร์พร้อมกับชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้พม่า กลับเข้าไปสู้จนตัวตาย ความกล้าหาญของพวกเขาแม้แต่พม่าก็ยังออกปากชื่นชม

มังรายในฐานะพระเอกถูกวางตัวให้เป็นนายทหารผู้เป็นสุภาพบุรุษ การรุกรานของพม่าในมุมของเขาแล้ว ต้องมี ‘มนุสสธรรม’ ด้วย ดังบทสนทนากับนายทหารพม่ากันเองว่า “แน่ละ ผู้ชะนะต้องปราณีผู้แพ้ เขาล่ำลือกันทั่วทวีปว่าพะม่าใจร้าย เราต้องทำตัวให้มีมนุสสธรรมบ้างซิท่าน” [5] เช่นเดียวกันกับที่มังรายได้กล่าวกับดวงจันทร์ว่า “แต่พะม่า ไม่ใช่โหดร้ายไปหมดทุกคน คนดีก็มีมาก ฉันขอรับรองว่าถ้าฉันยังมีชีวิตอยู่ตราบใด คนไทยจะไม่ถูกข่มเหงดังเช่นที่แล้วมานี้อีก มาเถอะเรามาพูดกันดีๆ ถึงแม้บ้านเมืองกำลังทำสงครามกัน แต่หัวใจของเราอาจเป็นไมตรีกันได้ ฉันสงสารเธอ ฉันจะช่วยเธอ พูดกันดีๆ บ้างซิจ๊ะ เราเป็นเพื่อนกันเถอะ”[6]

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี แสดงภาพเมืองเก่าที่มีคูน้ำอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน /ที่มาภาพ: มติชนอคาเดมี

การพบกันของคู่พระนางอยู่บนฐานของความเกลียดชังของฝ่ายหญิง ดวงจันทร์กล่าวว่า “ฉันเกิดในสุพรรณค่ะ ฉันเป็นเลือดสุพรรณแท้ เลือดสุพรรณเกลียดชังพะม่ายิ่งกว่าใครๆ หมด” [7] เหตุการณ์ที่น่าจะฝังใจดวงจันทร์ก็คือซีนที่พ่อของเธอถูกจับมาใช้งานหนักและถูกหวายเฆี่ยน พ่อของเธอถูกใช้ให้ผ่าฟืนร้องขอน้ำกินจากลูกสาว แต่มังระโธ นายทหารพม่ากลั่นแกล้งด้วยการแย่งเอาน้ำไปล้างเท้า พ่อของเธอต้องสูดน้ำที่พม่าล้างเท้าดื่มแก้กระหาย ขณะที่ก้มลงไปก็ถูกเตะถีบซ้ำโดยพม่าทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ความจริงใจของมังรายในการช่วยปกป้องคนไทยจากการข่มเหงอันเลวร้ายนายทหารพม่า ก็ค่อยๆ ทำให้น้ำใจของดวงจันทร์เปี่ยมรักขึ้นมาทีละน้อย บทเพลง ‘ดวงจันทร์’ ที่ร้องคู่อันงดงามจึงกำเนิดขึ้นมาด้วยฝีมือการประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการอีกด้วย เนื้อเพลงที่ว่าคือ

(มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์

(ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง

เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า

(มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ไม่มีหวัง

(ดวงจันทร์) จะหวังอะไร ที่ในตัวฉัน

(มังราย) พี่รักดวงจันทร์ อยู่เจียมจะคลั่ง

ห่วงการข้างหน้า พะว้าพะวัง

(ดวงจันทร์) แล้วยังห่วงหลัง อยู่ทางเมืองโน้น

(มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์

(ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง

เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า

(มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ได้แต่ฝัน

(ดวงจันทร์) จะฝันอะไร ในตัวคนยาก

(มังราย) พี่ฝันจะฝาก ชีพไว้สุพรรณ

(ดวงจันทร์) พอเสร็จการทัพ คงกลับเขตขัณฑ์

(มังราย) จะมาหาดวงจันทร์ ไม่ไปอื่นเลย

เมื่อผู้เขียนได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกเป็นเวอร์ชันของสุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง ที่สุเมธร้องท่อนมังราย และปนัดดา เรืองวุฒิ ร้องส่วนของดวงจันทร์ ก็ไม่ตระหนักเลยว่าเกี่ยวข้องกับละครอิงประวัติศาสตร์อย่างเลือดสุพรรณ ทั้งที่เคยได้ยินเพลงเลือดสุพรรณมาแล้วก่อนหน้านี้ เพลงนี้ยังถูกขับร้องมาหลายครั้งก่อนหน้านี่ไม่ว่าจะเวอร์ชันธนินทร์ อินทรเทพกับจินตนา สุขสถิต, ชรินทร์ นันทนาคร หรือวีระ บำรุงศรีกับอรวี สัจจานนท์ ฯลฯ

เรื่องถูกวางไว้ในแนวโศกนาฏกรรมที่พระเอกและนางเอกต้องตาย หลังจากที่มังรายปล่อยเชลยชาวไทยไปเขาก็รู้ดีว่าต้องรับโทษ อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์กลับมาหาเขาเพื่อตายด้วยกัน “ที่จริงความตั้งใจของฉัน ก็เพียงจะช่วยให้พ่อแม่และญาติพี่น้องทั้งหลายพ้นภัยไปเท่านั้น บัดนี้เขาก็รอดกันไปหมดแล้ว ส่วนตัวฉันเองยอมภัยทุกอย่าง ฉันจะอยู่กับคุณ อยู่รับโทษกับคุณ เพราะเชื่อแน่ว่าคุณจะถูกทำโทษ” [8] ดวงจันทร์เสนอให้เขาหนีไปกับเขาด้วยซ้ำ แต่มังรายปฏิเสธว่า “การที่ปล่อยให้พวกเธอไป ฉันก็ยังอ้างได้ว่าเป็นความเมตตากรุณา แต่การหนีทัพนี่ฉันทำไม่ได้ ถึงแม้จะไม่มีใครตามพบเรา ก็เป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของชายชาติทหาร ขออย่าให้ฉันต้องทำอะไรที่เสียเกียรติศักดิ์ของทหารเลยเป็นอันขาด” [9] ท่าทีของมังรายจึงสะท้อนแนวคิดทหารนิยมที่ยึดมั่นในเกียรติศักดิ์ศรีของกองทัพอย่างยิ่ง มังรายยอมรับโทษแล้วให้ดวงจันทร์กลับไป

เรื่องเกียรติยศและชื่อเสียงนี้ยังถูกผูกเข้ากับพฤติกรรมของกองทัพพม่าว่า “…การศึกศรีอยุธยาครั้งนี้เสียชื่อพะม่ามาก เมื่อครั้งบุเรงนอง เข้ามารบกันอย่างนักรบจริงๆ แต่เรามาคราวนี้ มาทำการอย่างโจรปล้นทรัพย์…” [10] ฝั่งนายทหารพม่าเอง มังมหาสุรนาทผู้เป็นพ่อของมังราย ก็ยืนหยัดในหลักการและความเห็นแก่ประเทศชาติ ต้องหักใจลงโทษประหารลูกตัวเอง “เลือดเนื้อของฉัน, ฉันได้สละให้แก่ประเทศชาติ, อย่าว่าแต่ชีวิตลูกเลย แม้ชีวิตของฉัน ก็พร้อมที่จะสละได้ทุกเมื่อ” [11]

เมื่อมังรายถูกประหาร[12] ดวงจันทร์กลับไปที่ป่าอันเป็นที่ซ่อนตัวของคนไทยพบว่า พ่อแม่ของถูกฆ่า เพราะทหารพม่ามาแก้แค้นให้กับมังระโธ นายทหารพม่าผู้ถูกประหารเพราะข่มเหงเชลยศึก[13] นั่นนำมาสู่ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา ความรักฉันหญิงสาวจบสิ้นลงไป เช่นเดียวกับความรักระหว่างลูกกับพ่อแม่ก็ถูกพรากจาก เหลือเพียงความรักเดียวนั่นคือ ความรัก ‘ประเทศชาติ’ ดวงจันทร์ตัดสินใจว่าเมื่อไม่มีอะไรให้ห่วงเธอจึงขอสู้กับพม่าจนตัวตาย  “ดวงจันทร์ไม่มีอะไรอีกแล้ว หมดตัว หมดคนที่ดวงจันทร์จะต้องรักและห่วงใย ดวงจันทร์เหลือแต่ชีวิตที่จะต้องสละให้แก่ชาติ พวกเรามีน้อย เราไม่มีอาวุธจะต่อสู้ แต่เลือดสุพรรณไม่กลัวใคร สู้เถอะ มีเท่าไรสู้เท่านั้น ขอให้ฆ่าพะม่าได้สักคน แล้วพวกเราตายหมดก็เอา พวกเลือดสุพรรณอยู่ที่ไหนบ้าง มากันให้หมด เลือดสุพรรณไม่เคยขลาด ใครคว้าอะไรได้ก็มาเถอะ มาด้วยกัน มาตายด้วยกัน” [14]

ในที่สุดดวงจันทร์ก็พาคนไทยที่เหลือบุกไปถึงทัพหลวงของพม่า ระหว่างนั้นก็ได้ฆ่าพม่าตายไปตลอดทาง แต่ก็ถูกปืนยิงตายจนหมด แม้สุดท้ายชาวสุพรรณจะพ่ายแพ้ แต่เลือดสุพรรณก็ได้หลั่งไหลเพื่อปกป้องแผ่นดินไว้

คำถามคือ เหตุใดหลวงวิจิตรวาทการจึงเลือกพล็อตการจบอย่างโศกนาฏกรรมและความพ่ายแพ้ของคนไทย ทั้งที่ในเขตสุพรรณบุรี ยังสามารถเล่าเรื่องชัยชนะในพล็อตอื่นได้ นั่นคือ ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี[15] (ยังไม่ต้องนับว่าในเรื่องระบุว่าไทยกับพม่ารบกันมา 200 ปี ศึกครั้งนี้อาจจะอยู่ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2) อาจเป็นเพราะว่า ความปราชัยของบรรพบุรุษจะนำมาซึ่งแรงกระตุ้นเชิงด้านอารมณ์ความรู้สึกปลุกใจให้คนต่อสู้และรักชาติได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนั้น ในเรื่องเล่ายุทธหัตถี ดังกล่าวเป็นการยกย่องระบบกษัตริย์ในระบอบเดิม ดังที่เราเห็นถึงกฤษฎาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรผ่านวรรณกรรมอย่างลิลิตเตลงพ่าย ที่แต่งโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เน้นการเฉลิมเกียรติยศของกษัตริย์ กษัตริย์ผู้เก่งกล้าสงครามผู้นี้ยังถูกผลิตซ้ำเรื่อยมาผ่านวรรณกรรม โคลงภาพ และจิตรกรรมฝาผนังอย่างยิ่งใหญ่[16] การหยิบเอาสามัญชนมาเล่าเรื่องเห็นได้ชัดจากกรณีท้าวสุรนารีที่โคราช กรณีนี้ดวงจันทร์ก็เป็นภาพตัวแทนของหญิงสามัญชนไทยที่รบกับพม่าจนตัวตาย พล็อตโศกนาฏกรรมได้ทำให้การสูญเสียนี้กระตุ้นเร้าให้คนฮึกเหิมในฐานะผู้แพ้ แต่ก็แพ้แบบเลือดนักสู้ ไม่ได้งอมืองอเท้าให้ใครมาย่ำยีบ้านเกิดเมืองนอน

ปี 2479 ที่ละครนี้เริ่มเล่น ไทยยังไม่ประกาศตัวเข้าร่วมกับสงครามใดๆ เพียงแต่สถานการณ์โลกโดยเฉพาะในยุโรปความขัดแย้งระหว่างประเทศเริ่มคุกรุ่น ตอนจบของเรื่องแม่ทัพพม่ากล่าวชมเชยอย่างจริงใจว่า “เลือดคนไทยที่ไม่เลวเลย กล้าหาญรักชาติ ไม่กลัวตาย หาคนชาติใดสู้ได้ยาก เสียอย่างเดียวแต่ไม่มีอาวุธ…น่าเสียดายเลือดไทย เลือดดีเหลือเกิน ถ้าไทยมีอาวุธพร้อมดีจริงๆ เหมือนชาติอื่นๆ แล้ว ก็จะไม่มีชาติใดในโลกนี้สามารถเอาชะนะไทยได้ เป็นการแน่นอนว่า ชาติไทย จะต้องเป็นชาติที่เจริญยิ่งในภายหน้า ถึงแม้เราจะเป็นพะม่า เราก็ยินดีจะร้องว่า ขอให้ชาติไทยเจริญ” [17]

ข้อความนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลซื้ออาวุธให้กองทัพโดยตรง สอดคล้องกับสถิติการจัดซื้ออาวุธที่ทวีขึ้นตั้งแต่หลังปฏิวัติจนถึงทศวรรษ 2480 โดยเฉพาะในปี 2483 ที่ถือเป็นการซื้ออาวุธครั้งใหญ่ของกองทัพบกไทยที่คิดเป็นเงินถึง 8.22 ล้านบาท[18] มีการชี้ให้เห็นในเชิงประวัติศาสตร์เช่นกันในหนังสือ ปลุกใจนักเรียน ที่จัดพิมพ์ในปี 2479 ในแผนได้ระบุว่า “เมืองไทยถูกเรือรบต่างประเทศปิดอ่าวถึงสองครั้ง เมื่อรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์ครั้งหนึ่ง กับในรัชชกาลสมเด็จพระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง นี่คือผลของการที่มีกำลังทหารไม่เพียงพอ” [19] ยิ่งไปกว่านั้นมีฝ่ายขวาจัดที่ใช้ชื่อว่า ‘คณะเลือดไทย’ ที่เริ่มแสดงบทบาทช่วงเดือนตุลาคม 2483 เพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ว่ากันว่ามีสาขากระจายไปหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ อ.พนัสนิคม ชลบุรี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี คณะเลือดไทยยังถือว่าเป็นตัวประสานกลุ่มข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษารวมไปถึงพระสงฆ์เข้าด้วยกัน มีคนสงสัยว่าหลวงวิจิตรวาทการจะเป็นผู้ก่อตั้งคณะเลือดไทยนี้ด้วยซ้ำ[20]

เลือดสุพรรณ ไม่ได้เป็นเพียงละครเวทียอดนิยมเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2479 และปี 2522 แต่ความรับรู้ของผู้คนจากเลือดสุพรรณนั้นมาจากเพลง ‘เลือดสุพรรณ’ มากกว่า ท่อนเนื้อร้องที่รู้จักกันดีคือ “มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณ เข้าประจัน อย่าได้พรั่นเลย”

ความรักของคู่พระคู่นางในเลือดสุพรรณจบลงแบบชีวิตของโรมิโอแอนด์จูเลียต ทั้งคู่สังกัดกันคนละประเทศ และประเทศชาติของทั้งคู่ยังเป็นศัตรูกันด้วย มังรายได้ทำตามเนื้อเพลงที่ว่า “ที่ฝันจะฝากชีพไว้สุพรรณ” แต่ก็ไม่ใช่อย่างที่เขาตั้งใจ ส่วนดวงจันทร์ก็เลือกที่จะเดินไปสู่ความตายโดยทั้งที่รู้ว่าไม่อาจสู้พม่าได้ น่าสนใจว่า หากมังรายไม่ตาย แต่เลือกหนีทัพไปพร้อมกับดวงจันทร์ชีวิตของทั้งคู่จะเป็นอย่างไร แต่ความเป็นได้เหล่านั้นถูกปิดลงด้วยมือผู้ประพันธ์ที่จุกช่องดังกล่าวด้วยความรักชาติ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดในการแสดงออกถึงความรักชาติและเกียรติยศในมุมมองของหลวงวิจิตรวาทการและอุดมการณ์ชาตินิยมแล้ว ก็คือ การหลั่งเลือด และความตายเพื่ออุทิศให้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ประเทศชาติ’ นั่นเอง

ภาพที่ 2 แผนที่อธิบายประวัติศาสตร์ไทย / ที่มาภาพ: ใช้ เรืองศิลป์, ปลุกใจนักเรียน (พระนคร: จันหว่า, 2479), หน้า 48-49
ภาพที่ 3 โปสเตอร์ภาพยนตร์ เลือดสุพรรณ (2479) / ที่มาภาพ: ไทยบันเทิง
ภาพที่ 4 โปสเตอร์ภาพยนตร์ เลือดสุพรรณ (2522) / ที่มาภาพ: ไทยบันเทิง
ภาพที่ 5 ภาพยนตร์ เลือดสุพรรณ (2522) / ที่มาภาพ: ไทยบันเทิง

ภาพที่ 6 ภาพยนตร์ เลือดสุพรรณ (2522) / ที่มาภาพ: ไทยบันเทิง


[1] “ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานแห่งชาติ”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 52, 8 มีนาคม 2478, หน้า 1711-1712

[2] มีการอภิปรายเรื่องเพลงชาติอย่างดุเดือดและยาวกว่าร้อยหน้า ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน”, วารสารธรรมศาสตร์, 27: 1 (ธันวาคม 2547) : 2-102

[3] วิจิตรวาทการ,  เลือดสุพรรณ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงจัน เทพประชุน ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2480 (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์สยามพณิชยการ, 2480), หน้า 1-2

[4] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 5

[5] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 7

[6] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 8

[7] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 10

[8] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 12-13

[9] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 13

[10] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 16-17

[11] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 18

[12] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 20

[13] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 21

[14] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 22

[15] กระนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า ยุทธหัตถีครั้ง อยู่ที่กาญจนบุรี หรืออยุธยา ดูข้อโต้แย้งใน กุลธิดา สามะพุทธิ. “ท้าทายความเชื่อเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถี””. นิตยสารสารคดี. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2565 จาก https://www.sarakadee.com/feature/2000/09/vote.shtml (กันยายน 2543)

[16] วารุณี โอสถารมย์, “เมื่อประวัติศาสตร์ชาติ เล่าเรื่องผ่านชีวิตประจำวัน จากกรณีเรื่องเล่าพระนเรศวรในภาพเขียน”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 12 (มิถุนายน 2551-พฤษภาคม 2552) : 22-49

[17] วิจิตรวาทการ,  เรื่องเดียวกัน, หน้า 22-24

[18] ปรัชญากรณ์ ละครพล, กองทัพคณะราษฎร (กรุงเทพฯ : มติชน, 2564), หน้า 196-200

[19] ใช้ เรืองศิลป์, ปลุกใจนักเรียน (พระนคร: จันหว่า, 2479), หน้า 48-49

[20] ภูวมินทร์ วาดเขียน, “บทบาทของคณะสงฆ์ไทยกับการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน”, วารสารศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 8 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563) : 175-176

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save