fbpx

บันทึกลวดลาย ระบายเรื่องเล่า ‘ลำน้ำโขง’ ในเทศกาลงานศิลปะเบียนนาเล่ ณ เมืองเชียงราย

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวรถบรรทุกสารเคมีประเภทกรดซัลฟิวริกพลิกตะแคงตกร่องข้างถนนที่หลวงพระบาง ก่อนที่กรดกำมะถันในรถจะไหลลงร่องถนนไปสู่แม่น้ำคาน และไหลลงสู่แม่น้ำโขงกว่า 30 ตัน รัฐบาลลาวออกประกาศเตือนประชาชนห้ามนำปลาไปขายและประกอบอาหาร ขณะที่ไทยซึ่งอยู่ปลายทางของสายน้ำก็ต้องเตรียมรับมือกับกรดที่ไหลมาพร้อมน้ำด้วย

นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อการกระทำของมนุษย์ – ทั้งอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ – ส่งผลเสียต่อความเป็นไปของธรรมชาติ ยิ่งวันเวลาผ่านไปนานมากเท่าไหร่ ข่าวคราวลักษณะนี้ในลุ่มแม่น้ำโขงยิ่งมากขึ้น ฉันทำความเข้าใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนพลังงานไฟฟ้ามาบ้างในช่วงปี 2563 ที่ทางเครือข่ายคนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหลักฐานต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ฉันเริ่มค้นหาเรื่องราวของแม่น้ำโขง

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ฉันเดินทางไปเยี่ยมชมงานเทศกาล Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ทีมภัณฑารักษ์และศิลปินมีการนำเสนอผลงานศิลปะในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับจังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เมืองเก่าแก่อย่าง ‘โยนกเชียงแสน’ บรรยากาศเมืองแห่งศิลปะที่มีศิลปินมากฝีมือ หรือปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่น ทั้งความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ในทุกฤดูแล้ง และการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

ท่ามกลางประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้ งานศิลปะที่กล่าวถึง ‘แม่น้ำโขง’ เป็นงานที่สามารถนำมาพูดคุยและชวนมองได้หลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเชื่อ และเรื่องราวของผู้คนจำนวนมากที่ข้องเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขง ซึ่งทั้งหมดนี้เล่าผ่านสายตาของศิลปินที่มาจากคนละพื้นที่


เปิดหูเปิดตาเปิดโลก สายธารน้ำโขงผ่านงานศิลปะ เบียนนาเล่


ฉันเดินทางไปเยี่ยมชมงานศิลปะในเทศกาล Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงงานของศิลปินสามคน โดยผลงานที่จัดแสดงล้วนเป็นผลงานที่ว่าด้วย ‘แม่น้ำโขง’ 


I. การเดินทางของธารน้ำและวิถีผู้คนริมฝั่งโขงในฤดูร้อน


เมื่อก้าวเข้าไปที่โถงแรกของตึกพิพิธภัณฑ์ฯ บนผนังทั้งด้านซ้ายและขวามีชิ้นงานจัดวางอยู่ทั้งวิดีโอบนหน้าจอ ภาพถ่าย และแผนที่ขนาดใหญ่เต็มผนังที่แสดงหมุดบันทึกการเดินทางของ ‘วิชญ์ พิมพ์กาญจน์’ ศิลปินผู้บันทึกอีกหนึ่งภาพความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำโขง

ฉันหยุดดูคลิปวิดีโอสารคดี ‘Summer with Naga’ บันทึกการเดินทางของศิลปินบนระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรในช่วงสงกรานต์ปี 2566 ระหว่างการเดินทางเขาพบกับผู้คนที่ใช้ชีวิตริมแม่น้ำโขงฝั่งลาว บางคนออกเดินร่อนทอง บางคนถืออาวุธพร้อมจับจักจั่น ตัดสลับกับภาพเด็กน้อยหัวเราะร่าวิ่งเล่นอยู่ริมหาด ยิ่งตอกย้ำว่า นี่คือภาพบรรยากาศแห่งฤดูร้อน

นอกจากบรรยากาศระหว่างการพายเรือคายัค ศิลปินยังถ่ายภาพระหว่างการเดินทางและนำมาจัดแสดงบนผนังทางด้านซ้ายของห้อง ฉันค่อยๆ เดินดูภาพถ่ายแต่ละภาพที่มีรูโบ๋อยู่นับไม่ถ้วน 

“ร่วมเจาะสักหน่อยไหมครับ เดี๋ยวผมไปหยิบสว่านมาให้” ผู้นำชมในส่วนนี้ เป็นคุณลุงท่าทางใจดี กระตือรือร้น ชวนผู้ชมร่วมทำงานศิลปะไปด้วยกัน

ฉันยิ้ม พยักหน้าให้ คุณลุงจึงเดินไปหยิบสว่านมาให้ทันที “เจาะได้เต็มที่เลยครับ ระบายความรู้สึกได้เต็มที่เลย”

ระหว่างนั้น ฉันค่อยๆ มองดูรูพรุนบนเฟรมภาพที่ศิลปินถ่ายเจาะผืนน้ำและโขดหินตามเกาะแก่งต่างๆ ในแม่น้ำ จำนวนรูที่มากขึ้นทำให้ภาพในบางจุดเริ่มเห็นไม่ค่อยชัด เหมือนรอยประของจิกซอว์ที่มีแต่จะทำให้ภาพแตกมากขึ้นเรื่อยๆ จากการร่วมทำงานของศิลปินและผู้ชมงาน 

โดยปกติ เราคงคุ้นเคยกับภาพหรือวัตถุที่เรียบเนียน มีความละเอียด แต่สำหรับชุดภาพที่ศิลปินจัดแสดงภาพบรรยากาศลุ่มน้ำโขงเป็นภาพที่ล้วนแต่ถูกทำลาย มีร่องรอยของรูสว่านไฟฟ้าเกือบเต็มภาพ ฉันไม่แน่ใจว่าภาพเหล่านี้จะถูกเจาะทำลายไปอีกมากแค่ไหน เช่นเดียวกับการทำลายแม่น้ำโขงที่ฉันก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ ทั้งจำนวนเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้น สารเคมีที่ไหลลงน้ำ และสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายไปทีละส่วน



ความเชื่อของผู้คนริมน้ำโขงคือ ‘แม่น้ำโขงคือพญานาค’ เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณ วิถีชีวิตของผู้คนจึงสัมพันธ์กับธรรมชาติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหาเลี้ยงชีพหรือสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจ

งานของวิชญ์ชวนให้นึกถึงงาน ‘ไร้เสียง’ (Sound-Less) ของ ‘เหงียน ตรินห์ ตี’ ศิลปินชาวเวียดนามที่เลือกใช้ ‘หอคำ’ เป็นโรงละคร โดยใช้ ‘เสียง’ เป็นนักแสดงนำ 

เสียงกระทบของเหล็กและไม้ระนาดดังก้องทั่วพื้นที่หอคำ ที่เปรียบเสมือนสถานที่ประทับของกษัตริย์ล้านนาในอดีต โดยหอคำในไร่แม่ฟ้าหลวงนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมจากองค์การ UNESCO



แหล่งกำเนิดเสียงแต่ละจุดผลัดกันเขียนโน้ตดนตรีจากแรงกระเพื่อมน้ำ ซึ่งส่งสัญญาณมาจากเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ตามแต่ละจุดของแม่น้ำโขง ซ่อนอยู่ตามวัตถุโบราณและงานพุทธศิลป์จากแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ ความโปร่งภายในอาคารทรงจตุรมุขแห่งนี้ สร้างบรรยากาศให้ผู้ชมรู้สึกสงบ ปราศจากการพูดคุย ปราศจากการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพ และชวนผู้ชมค่อยๆ เดินสำรวจพื้นที่ ฟังเสียงทีละจุดอย่างตั้งใจ

หากแม่น้ำโขงมีชีวิตและเลือดเนื้อ บทสนทนาแบบไหนที่แม่น้ำโขงกำลังอยากพูดคุยกับทุกคน นี่อาจจะเป็นบุคลาธิษฐานรูปแบบหนึ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์พื้นที่หอคำทั้งหลังจัดแสดงออกมา


II. การจดจำผ่านการบันทึกรหัสพันธุกรรมจาก ‘น้ำโขง’ 


หลังจากที่ฉันสำรวจร่องน้ำโขงไปกับงานของวิชญ์แล้ว ฉันเดินต่อเข้าสู่ห้องจัดแสดงถัดไป เสียงดนตรีค่อยๆ ดังขึ้น ฉันฟังแล้วจินตนาการถึงภาพคลื่นน้ำ เสียงคล้ายระฆังวัด ไม่ทันได้จินตนาการต่อ ผู้นำชมประจำจุดนี้ก็อธิบายให้ฟังถึงที่มาที่ไปของเสียงประกอบนี้

เสียงที่ฉันได้ยิน เป็นเสียงบรรเลงจากบทกลอนที่ศิลปินแต่งขึ้นและนำเสนอผ่านหลากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ รหัสมอร์ส ไปจนถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการเก็บตัวอย่างน้ำโขงของ ‘โบดี วิจายา’ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ‘Path 14, The River Flows Two Ways’

“บทกลอนที่แต่งขึ้นมาเป็นบทกลอนภาษาอังกฤษผสมกับภาษาอินโดนีเซีย พูดถึงลักษณะของแม่น้ำโขง ว่ามีลักษณะเป็นเหมือนทะเลสาบ มีผืนดิน ผืนน้ำ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน 

“ด้วยความที่ภาษาชวามีตัวอักษรทั้งหมด 20 ตัวอักษร ขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิลปินสนใจก็มีอีกหนึ่งสิ่งที่มีจำนวน 20 ตัวเหมือนกันนั่นคือกรดอะมิโน พอเอาทั้งสองอย่างมาจับคู่กัน เขาก็เลยสามารถแปลงบทกลอนให้อยู่ในรหัสพันธุกรรมหรือ DNA ได้” ผู้นำชมเล่า



ศิลปินได้นำเอาวัสดุผ้าไหมไปวางบนหิน แล้วคัดลอกลวดลายที่เกิดจากส่วนเว้าโค้งของหินในแม่น้ำโขง นอกจากลวดลายของที่เกิดขึ้น ฉันมองเห็นตัวอักษร A C G T วางสลับกันไปมาในผ้าไหมผืนเดียวกัน ซึ่งศิลปินนำไปทำเป็นรหัสมอร์ส ประกอบเป็นคำว่า ‘Rivers and Lakes’แปะไว้ที่กระจกด้านในสุดของห้อง

“ส่วนตรงนี้เราจะเรียกว่าพวกโคดอน เป็นหน่วยเล็กๆ ของดีเอ็นเอ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษร A C G T ศิลปินเชื่อมโยงตัวอักษรพวกนี้เข้ากับทฤษฎีดนตรีด้วยการเปลี่ยนตัวอักษรไปเป็นโน้ตดนตรี”

นอกจากนี้ ศิลปินยังนำรหัสดังกล่าว นำเสนอเพิ่มผ่านสีสัน ใส่รหัสตัวอักษรและตัวเลขผ่านโปรแกรมแต่งภาพ ใช้สีที่ได้ปรับแต่งกลายเป็นธงสีฟ้า-เหลือง-ขาวพลิ้วไสวอยู่ในสวนภายนอกอาคาร

“ธงข้างนอกเกิดจากการเข้ารหัสมอร์สอีกขั้นหนึ่ง คือการนำรหัสมอร์สมานำเสนอผ่านสีสันหรือรูปภาพนั่นเอง ศิลปินได้แทนตัวจุดเป็นสีฟ้าบนธง ตัวขีดจะแทนเป็นสีเหลืองบนธง ส่วนสีขาวแทนด้วยตัวเว้นวรรค” ผู้นำชมชี้ชวนให้ดูธงที่อยู่นอกตัวอาคาร



ระหว่างที่ผู้นำชมกำลังตั้งใจบรรยายชิ้นงานไปทีละส่วน ก็เกิดเสียงดนตรีดังโดดขึ้นมาหนึ่งครั้ง กระตุกชวนให้ฉันเงี่ยหูฟังอีกเสียงที่เกิดขึ้น กังวานทั่วห้อง เสียงคล้ายการตีขันเหล็กผสมทองเหลืองของทิเบต

เมื่อจบคำอธิบายงานอีกประโยค ฉันได้ยินเสียงกังวานอีกครั้ง รู้ตัวอีกทีก็พบว่าผู้นำชมกำลังพาเดินเข้าสู่ผลงานส่วนสุดท้ายของโบดี วิดจายา

“งานนี้เรียกว่าประติมากรรมเสียง เป็นตัวอย่างของเสียงที่มาจากซาวด์แทรกประกอบวิดีโอตัวนี้ ศิลปินนำมาใส่ไว้ให้เราสามารถเล่นกับมันได้ ใช้ไม้ตีแล้วจะมีเสียงออกมา ซึ่งตัวเสียงต้นฉบับมาจากเครื่องดนตรีที่ชื่อว่า กาเมลัน”

กาเมลันเป็นวงดนตรีของอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วยเครื่องตีและเครื่องเคาะที่ทำมาจากโลหะประเภททองเหลือง ลักษณะของดนตรีมีความละเอียดอ่อน ประณีต แต่มีจังหวะที่ซับซ้อน ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงและประกอบพิธีกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ

กาเมลันจึงเป็นวงดนตรีที่ประกอบสร้างจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดการเล่นที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำโขงที่ประกอบด้วยผู้คนหลากประเทศ 

นอกจากโบดี วิดจายาที่เลือกนำรหัสทางพันธุกรรมมาบันทึกโครงสร้าง เรื่องราว และความทรงจำของแม่น้ำให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ภายในเทศกาล Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ยังมีงานชิ้นอื่นที่บันทึกเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเช่นกัน

ที่มา: Michel Rein


มาเรีย เทเรซา อัลเวซ เป็นศิลปินอีกคนที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวของผืนป่าที่ถูกทำลายบริเวณแม่น้ำกก หนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง งานชิ้นนี้จัดแสดงภายในโกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย ศิลปินรวบรวมชื่อพืชพรรณท้องถิ่นในลุ่มน้ำกก เช่น ขะย่อมตีนหมา ก้านโคยวัว พระเจ้าร้อยท่า ฯลฯ ก่อนจะนำไปออกแบบตัวอักษรและทำเป็นสติกเกอร์ติดบนแผ่นไม้ กลายเป็นตัวหนังสือสีทองที่มีทั้งชื่อภาษาไทยและชื่อวิทยาศาสตร์ของพันธุ์ไม้ติดเรียงเป็นคลื่นเหมือนระลอกน้ำบนแผ่นไม้อัดสีแดง

ในขณะที่ด้านหน้าของอาคาร ศิลปินจัดสวนหย่อมสีเขียว ตกแต่งด้วยพืชพรรณท้องถิ่นตามชื่อที่ปรากฏบนแผ่นไม้อัด เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสธรรมชาติของจริง ความสนุกของงานชิ้นนี้คือ สวนที่อยู่ภายนอกอาคารนั้นไม่มีป้ายบอกว่าต้นไหนคือพืชชนิดอะไร เพื่อชวนให้ผู้ชมงานสังเกตและหาคำตอบด้วยตัวเอง

เมื่อมีพืชก็ย่อมมีสัตว์มาเคียงคู่กัน ภายในเทศกาลฯ มีศิลปินที่พูดถึงเรื่องราวของสัตว์ด้วย นั่นคืองานของ ‘วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร’ จัดแสดง ณ ช้างแวร์เฮาส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง) ในอำเภอเชียงแสน

ศิลปินนำเสนอเรื่องสัตว์ที่เคยมีในดินแดนล้านนาแถบเชียงแสนและเชียงราย แต่ต้องหายไปเนื่องด้วยระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปของลำน้ำ

เรื่องราวของสัตว์เหล่านี้เล่าผ่านบรรยากาศเมฆหมอกและภูเขาเขียวตัดสายน้ำสีเข้ม ปรากฏเป็นภาพวิดีโอจอใหญ่สามจอ และจอขนาดเล็กสองจอ แทรกอยู่ระหว่างภาพวิดีโอจากจอใหญ่ ภาพแต่ละจอฉายภาพแตกต่างกัน โดยมีพื้นหลังเป็นเสียงขับร้องที่ชาวล้านนาเรียก ‘จ๊อยซอ’ ของแม่เฒ่าสักคนหนึ่ง ตัดสลับกับภาพอากัปกิริยาของพืชและสัตว์ที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า ไม่รีบร้อน แต่ก็แฝงประโยคชวนชะงัก เช่น ช่วงหนึ่งของภาพคลื่นน้ำไหล ฉันฟังเสียงขับขานไม่ชัดเท่าที่ควร แต่ทันใดซับไตเติลก็โผล่ขึ้นมาว่า “…Something once near has become afar…” – บางสิ่งที่อยู่ใกล้ได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไปเสียแล้ว – ฉันแปลตามในใจและนั่งดูต่อไปเรื่อยๆ จนวิดีโอวนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง



III. การเดินทางของเรื่องเล่าในท้องถิ่นที่เริ่มเลือนราง


ฉันและทีมเดินต่อเข้าไปยังส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ท่ามกลางตู้จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับลุ่มแม่น้ำโขง ยังมีภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ของศิลปินชาวเชียงใหม่ นามสมมุติ ‘อุบัติสัตย์’ เป็นฉากหลังให้ได้เชยชมคู่กันไป

ผลงานที่เป็นไฮไลต์ของศิลปินคืองานจิตรกรรมสองชิ้นติดตั้งไว้ตรงข้ามกัน ชื่อว่า ‘เรือเหาะสิงหนวัติกุมาร’ (No Distance to Khon Pi Luang) เป็นภาพจิตรกรรมที่เกิดขึ้นจากการสำรวจสถานการณ์ของแม่น้ำโขง การลงพื้นที่ร่วมกับโฮงเฮียนแม่น้ำโขง และการพูดคุยกับ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผอ.โฮงเฮียนแม่น้ำโขง ทำให้ศิลปินได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น

“การสร้างเขื่อนอาจมีข้อดี ช่วยสร้างกระแสไฟฟ้า มันคือความฉลาดของมนุษย์ที่เราสร้างอะไรเพื่อตัวเอง แต่มันก็ทำให้ธรรมชาติกลับมาทำลายเราต่อ” ผู้นำชมหญิงประจำจุดสุดท้ายอธิบายถึง ‘เขื่อน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของภาพ

แต่ละส่วนของภาพเรือลำยักษ์นี้ประกอบขึ้นมาจากเรือกว่าหกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เรือสำเภาจีน, เรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ที่พาชาร์ลส์ ดาร์วินท่องโลกกว้าง, เรือรบช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, เรือดำน้ำรัสเซียช่วงสงครามเย็น และเรือเจอร์ราลด์ อาร์ ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford) ท่ามกลางความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์



ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเรือที่เกิดขึ้นและนำไปสู่ ‘ความขัดแย้ง’ บางประการ ศิลปินนำองค์ประกอบเหล่านี้ผนวกเข้ากับตำนานท้องถิ่น ‘ตำนานสิงหนวัติกุมาร’ เป็นเรื่องราวการก่อตั้งเมืองโยนกเชียงแสน ก่อนเมืองจะหายไปและกลายมาเป็นอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา ถึงแม้ฉันจะมีพื้นเพเป็นคนเหนือ แต่ฉันก็ไม่ได้รู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องเล่านี้เท่าไหร่ 

ส่วนผลงานอีกชิ้นเป็นงานที่เคยจัดแสดงมาแล้ว ผลงานนี้มีชื่อว่า ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ (white eel in the dawn of the exile) ศิลปินเล่าบรรยายภาพของการเกิดขึ้นของเขื่อนในประเทศจีนหลอมรวมไปกับเรื่องราวมุขปาฐะการเกิดภัยพิบัติใน ‘เวียงหนองหล่ม’ 

พื้นที่สีดำท่ามกลางสีขาว-ส้มบนภาพ ผู้นำชมงานบอกกับเราว่า พื้นที่ส่วนนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ของแม่น้ำโขงที่ถูกทำลาย ภายในพื้นที่เหล่านี้ก็มีรายละเอียดชวนให้เราสังเกตต่อ ปลานานาชนิดที่สูญพันธุ์ไปว่ายวนเวียนจำกัดแค่พื้นที่ส่วนนี้ โดยมากเป็นปลาสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว

‘ปลาไหลเผือก’ หรือ ‘งูขาว’ จากเรื่องเล่าการเกิดภัยพิบัติในเวียงหนองหล่ม เป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับชาวบ้านถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น ศิลปินเหมือนบอกใบ้กับเหล่าผู้ชมกลายๆ ถึงการปรากฏตัวครั้งนี้ คือสัญญาณเตือนภัยถึงอนาคตอันใกล้ ทั้งกับแม่น้ำโขงและโลกทั้งทั้งใบของพวกเราทุกคน

ใกล้ๆ ผลงานจิตรกรรม มีจอโทรทัศน์ตั้งอยู่ คอยฉายวิดีโอเบื้องหลังการทำงานความยาวนานเกือบชั่วโมง ผู้นำชมจึงบอกกับฉันว่าไม่ต้องรอดูจนจบก็ได้ ฉันจึงได้ยืนดูวิดีโออยู่ครู่หนึ่ง และเป็นจังหวะที่ได้ยืนฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ปู่ละหึ่ง’ ชื่อคุ้นหูเหมือนฉันเคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน ถ้าไม่มาจากคนเฒ่าคนแก่ ก็คงจะมาจากคุณครูสังคมสักคนเมื่อนานมาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องราวก็เลือนรางเหลือเกิน



การเปิดโลกครั้งนี้ ฉันคงไม่ได้มารับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ฉันได้ทำความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความรู้สึกของคน ‘เชียงราย’ รวมไปถึง ‘คนริมโขงทางฝั่งลาว’ ด้วย

เส้นทางน้ำของแม่น้ำสายใหญ่มีการเปลี่ยนทิศทางตามกาลเวลา เกาะแก่งโผล่ขึ้นมาให้เห็นในช่วงฤดูแล้ง ความรุ่มรวยของวัฒนธรรมก็เติบโต งอกงามมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเกิดเขื่อนไฟฟ้าในจีนและลาวมากขึ้น ทุกสิ่งเริ่มแปรเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบหนักขึ้นเรื่อยๆ 

การเกิดขึ้นของเมืองสัมพันธ์กับ ‘แม่น้ำโขง’ อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เรื่องเล่า ตำนาน และเกี่ยวข้องกับสังคมในหลากมิติทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมือง 

ฉันถึงแม้จะเป็นคนเหนือ แต่ฉันไม่รู้เลยว่า เพื่อนบ้านจังหวัดข้างเคียงกำลังประสบปัญหาอะไร สายน้ำสายใหญ่ที่เป็นจุดแบ่งประเทศเพื่อนบ้าน ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ส่งผลกระทบต่อตัวฉันมากขนาดไหน 

Thailand Biennale หลักใหญ่ใจความของเทศกาลศิลปะในครั้งนี้คือ ‘เปิดโลก’ การเปิดโลกในครั้งนี้ ไม่ได้นำข้อมูลเชิงวิชาการมาพูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำภาพและความรู้สึกมาพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่ผู้คน แต่ยังรวมถึงเหล่าสรรพสัตว์และสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ที่ต่างมีอำนาจของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น เราต่างต้องการการเกื้อกูลกันและหาจุดตรงกลางร่วมกันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save