fbpx

สมมติสนทนาเรื่อง สว. กับ ‘บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ 2560’

มีข้อวิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สำนักข่าว BBC Thai เห็นว่าเป็นการคัดเลือกที่ ‘ซับซ้อนที่สุดในโลก’ ผู้สันทัดกรณีจำนวนมากต่างบอกว่ามีขั้นตอนที่ชวนให้มึนงงเป็นอย่างยิ่ง ระบบการคัดเลือกของ สว. ชุดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยจุดมุ่งหมายเช่นใด นับเป็นคำถามสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธ

ผู้เขียนมีความเห็นว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ในมุมมองของผู้เขียน เขาควรจะมีสถานะเป็น ‘บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ 2560’) น่าจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำชี้แจงต่อข้อสงสัยดังกล่าวได้ดีที่สุด จึงได้เรียนเชิญนายมีชัย มาสนทนาถึงการออกแบบสมาชิกวุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม บทสนทนานี้มิได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้เขียนมิได้รู้จักกับมีชัย เป็นการส่วนตัว (และไม่มีความประสงค์ที่จะทำความรู้จักแม้แต่น้อย) ทั้งไม่เคยมีการพูดคุยไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง คำอธิบายที่เกิดขึ้นในที่นี้มิใช่มาจากการคาดเดาของผู้เขียน หากแต่นำมาจากเอกสารที่ผลิตขึ้นภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 (ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560, ไม่ปรากฏผู้จัดพิมพ์, สิงหาคม 2561) อันเป็นเอกสารที่บันทึกความรู้สึก ความคาดหวัง มุมมองของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคนไว้อย่างน่าสนใจ ในส่วนของนายมีชัย ได้เขียนไว้ในเรื่อง ‘บันทึกไว้กันลืม’ อยู่ใน น. 7 – 44

บทสนทนานี้น่าจะช่วยทำให้เข้าใจว่าการคัดเลือก สว. ชุดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติทางการเมืองและมุมมองต่อการระบบการเลือกตั้งเช่นไร จึงได้สร้างระบบการคัดเลือกอันแสนซับซ้อนและชวนมึนงงให้บังเกิดขึ้นได้


ผู้เขียน: ทางคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยนวุฒิสภาให้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า

มีชัย: “แต่เดิมมานั้น การมีวุฒิสภา มักจะเกิดขึ้นจากแนวคิดว่าสภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไป ต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาของสมาชิกในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้งเพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มากๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดขาดจากพรรคการเมือง จะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง แต่มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนมีความรู้มีปริญญาสูงๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูงๆ ก็มีประสบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก ในขณะเดียวกันในการจัดให้มีการเลือกตั้ง สว. โดยให้ปลอดจากการเมือง ก็เห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้เพราะลำพังผู้สมัครเพื่อรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ถ้าไม่ได้ไปศิโรราบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในพื้นที่ ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้ สว. ไม่อยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก” (น. 22 – 23)

“เราจึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความต้องการหรือความเดือดร้อนหรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง และความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ” (น. 23)


ผู้เขียน: คิดว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายคลึงกับสภาสูง (House of Lords) ของอังกฤษหรือไม่ มีความแตกต่างอย่างไร

มีชัย: “อันที่จริงวุฒิสภาที่เราคิดสร้างขึ้นนั้น ก็คล้ายกับสภาสูงของอังกฤษ เพียงแต่สภาสูงของอังกฤษเป็นการรักษาประโยชน์ของชนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาที่เราสร้างขึ้นเป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น” (น. 23)


ผู้เขียน: ทาง กรธ. ทั้งหมดมีความเห็นกับข้อเสนอนี้อย่างไร

มีชัย: “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าและแนวคิดอย่าง 360 องศา ไม่น่าเชื่อว่าพอเสนอแนวคิดนี้ขึ้น กรธ. ทั้งคณะร้องฮ้อแร่ดขึ้นพร้อมกัน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าการจะทำให้คนอื่นเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไป กับขบวนการในการจัดการเลือกที่จะไม่ให้เกิดการฮั้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย” (น. 23)

“ในเรื่องแรก เราออกจะประมาทอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เห็นถึงแนวคิดของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปว่าเราไม่ได้มุ่งหมายให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาคอยกลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎรหรือเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของตนได้โดยสมบูรณ์แล้ว (เว้นแต่เป็นกรณีที่จงใจจะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง) สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรยังปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากพรรคการเมืองที่อ้างๆ กันว่าเรามาจากประชาชน เราเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยนั้น เอาเข้าจริงบางทีก็มองข้ามความทุกข์ยากของประชาชนทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะหลายกรณีมุ่งแต่จะให้พรรคเป็นที่นิยมโดยไม่คำนึงถึงอันตรายในระยะยาว หรือความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมหรือประเทศชาติได้ ดังที่เห็นๆ กันอยู่ แต่นั่นก็เป็นระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” (น. 23 – 24)

“แนวคิดในเรื่องที่มาของ สว. จึงมุ่งที่การทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง ในขณะเดียวกันให้ทุกภาคส่วนสามารถบอกเล่าความคับแค้น อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในส่วนของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ที่จะมาเป็น สว. จึงมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ล้นฟ้าอีกต่อไป หากแต่เป็นผู้ที่มาจากคนทุกหมู่เหล่าที่ประกอบอาชีพหรือมีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อจะได้สะท้อนถึงความต้องการของเขาอย่างแท้จริง” (น. 24)


ผู้เขียน: ทำไมถึงการจัดแบ่งออกเป็น 20 กลุ่ม และในการจัดแบ่งนี้มีข้อมูลหลักฐานใดมาสนับสนุน

มีชัย: “เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้สามารถกระจายกันไป แต่ละกลุ่มจะมีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของตนอยู่ในวุฒิสภา มีคนตั้งข้อสงสัยว่าการกำหนดไว้ 20 กลุ่ม มีเหตุผลอะไร ทำไมถึงไม่เป็น 25 กลุ่ม 30 กลุ่ม หรือ 40 กลุ่ม แล้วเลยเสนอให้ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งว่าที่จริงการลดลงเหลือ 10 กลุ่มก็ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันว่าทำไมถึง 10 กลุ่ม” (น. 24 – 25)

“การที่ กรธ. กำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่ได้เกิดจากการเสี่ยงทายหรือหยิบขึ้นมาเฉย ๆ หากแต่เกิดจากความพยายามคิดอาชีพและคุณลักษณะทั้งหมดของประชากรทุกหมู่เหล่า (โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหลัก) และจับอาชีพหรือคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมแล้วได้ 19 กลุ่ม บวกกับกลุ่มเผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อให้ทุกคนมีที่ลงได้ จึงเพิ่มอีก 1 กลุ่ม คือ ‘กลุ่มอื่นๆ’ รวมเป็น 20 กลุ่ม ถามว่าทำไมจึงไม่เป็น 30 หรือ 40 กลุ่ม คำตอบก็คือเราต้องคำนึงถึงจำนวนที่แต่ละอาชีพหรือแต่ละคุณลักษณะจะพึงมี เพื่อให้ได้สัดส่วนใกล้เคียงกันเท่าที่จะทำได้ ถ้าแตกออกเป็นกลุ่มมากเกินไป สัดส่วนของผู้แทนของแต่ละอาชีพหรือคุณลักษณะจะไม่ทัดเทียมกัน ที่สำคัญในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ในระหว่างการทำกฎหมายลูกก็ดี เราได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาทุกภาค ผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการกำหนดเป็น 20 กลุ่ม เป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุด (น. 25)


ผู้เขียน: ทำไมจึงไม่ใช้การเลือกตั้ง สว. แบบที่เคยเป็นมา แต่กลับใช้ ‘การเลือกไขว้’ ที่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้

นายมีชัย ไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่นายนรชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นโฆษก กรธ. ได้ตอบคำถามแทน

นรชิต: “ขอเรียนว่า กรธ. มิได้คิดแหวกแนวหรือเพียงอยากลองวิธีการใหม่ๆ แต่เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีต ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งองค์กรใดๆ มักจะมีข่าวการสมยอมหรือ ‘ฮั้ว’ กัน กรธ. จึงเห็นว่า ‘การเลือกไขว้’ จะทำให้สมยอมกันได้ยากขึ้น กรธ. จึงได้นำประเด็นนี้ไปพูดคุยกับผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งก็เห็นตรงกันว่าการเลือกไขว้จะทำให้การสมยอมหรือฮั้วกันได้ยากขึ้น และ กกต. ก็ยืนยันว่าสามารถปฏิบัติได้โดยไม่มีข้อขัดข้อง” (น. 106)


จากสมมติเสวนากับนายมีชัย ‘บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ 2560’ ทำให้สามารถเข้าใจได้ถึงแนวคิดและมุมมองของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อระบบการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ได้เป็นอย่างดี อันเป็นการยืนยันว่าการออกแบบระบบ ‘การเลือกไขว้’ ไม่ได้มาจากความอุตริทางความคิดส่วนบุคคลแต่อย่างใด หากเป็นความคิดที่ตกผลึกมาจากความเข้าใจของคนกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในการกำกับความเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญในสังคมไทย

แต่ความคิดความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คงสามารถมองเห็นได้ไม่ยากลำบากนัก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save