fbpx

กะเทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด : ศึกกะเทยแห่งชาติ และการรบบนสมรภูมิของ ‘ผู้มีอิทธิพล’ ใน #สุขุมวิท 11

ต้นธารเริ่มมาจากกะเทยไทยสองคนถูกกะเทยฟิลิปปินส์ร่วม 20 คนรุมทำร้ายร่างกายในย่านสุขุมวิท 11 ทั้งยังโพสต์คลิปวิดีโอแสดงอาการหยามหมิ่นอีกฝ่ายลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง เมื่อข่าวแล่นไปไวถึงหู ‘พี่กะเทยไทย’ ไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็มีการนัดหมายให้มารวมตัวกันที่ซอยเจ้าปัญหาในเวลาหัวค่ำ และแม้จะมีวลีแซวกันอยู่เนืองๆ ถึง ‘เวลากะเทย’ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าถึงเวลาแลกกำปั้น พี่กะเทยไทยก็ไม่มีสาย -เผลอๆ ไปกันก่อนเวลานัด ง้างหมัดมาจากบ้าน

4 มีนาคม เราจึงได้เป็นประจักษ์พยานเลือดนักสู้ผ่านวิดีโอและการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกะเทยไทยกับกะเทยฟิลิปปินส์ มีตั้งแต่หมัดตรง กระชากผม (ที่หลุดติดมือใครบ้างไม่รู้มาหลายหย่อม) ไปจนล็อกคอแล้วขึ้นตีเข่า เหตุการณ์ลากยาวไปจนถึงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ตามด้วยบทสรุปเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะสอบปากคำผู้เสียหายและดำเนินคดีผู้ที่ทำผิดตามขั้นตอน ทั้งประเด็นทำร้ายร่างกายหรือแม้แต่ความถูกต้องของการเข้ามาทำงานในไทย

เหตุการณ์ #สุขุมวิท 11 รวมทั้ง ‘พี่กะไทยผ่านศึก’ กลายเป็นไวรัล มองฉากหน้ามันเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ การต่อล้อต่อเถียงตลอดจนการสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อพินิจลงไปให้ลึกมากกว่านั้น ก็อาจพบว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพของการต่อสู้ของคนชายขอบ -ทั้งในฐานะคนข้ามเพศและอาจจะในฐานะผู้ค้าบริการทางเพศ- ที่ไม่เคยได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจัง รวมถึงมันยังเป็นเหตุการณ์ที่พลิกเอาสิ่งที่อยู่ใต้พรมของสังคมไทยด้วย

พื้นที่สีเทาของสุขุมวิท 11

คืนวันที่ 4 มีนาคม ทาทา-ศิริ นิลพฤกษ์ นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้ออกไปร่วมสมรภูมิที่สุขุมวิท 11 เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ คนในประเทศ เธอเห็นข่าวผ่านตา รับรู้ว่ามีการนัดหมายที่ใจกลางเมือง จากเหตุกะเทยไทยถูกกะเทยฟิลิปปินส์รุมตบเมื่อคืนก่อน

คำถามแรกๆ ที่แวบเข้ามาในสำนึกของเธอคือ ทำไมชาวฟิลิปปินส์ที่มาค้าแรงในประเทศไทยจึง ‘ย่ามใจ’ ได้ถึงเพียงนั้น

“คำถามของเราคือ ชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้เข้ามาในประเทศเราอย่างไร แล้วทำไมจึงใช้พลัง ใช้อำนาจได้ขนาดนั้น” เธอตั้งคำถาม “เพราะขณะเดียวกัน ผีน้อยของไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่สามารถแสดงความกร่างหรือแสดงอำนาจอะไรใดๆ ได้ แต่กรณีชาวฟิลิปปินส์ครั้งนี้ใช้อำนาจอย่างโฉ่งฉ่างมาก ชวนให้สงสัยว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรไหม เช่น อาจมีกลุ่มอิทธิพลใดๆ หนุนหลังอีกทีหนึ่ง ซึ่งแน่ล่ะว่าเราก็ตอบไม่ได้หรอก”

ทั้งนี้ ทาทาชวนสำรวจความสัมพันธ์แบบหยิกหลังโอบไหล่ระหว่างกะเทยฟิลิปปินส์กับไทยว่า การเขม่นกันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากใครที่ติดตามวงการประกวดนางงามน่าจะรู้ดีว่า ประเทศไทยและฟิลิปปินส์งัดข้อกันด้วยเวทีนี้มาหลายต่อหลายปี “แล้วจากที่เราฟังมาคือ กะเทยฟิลิปปินส์โพสต์คลิปที่เขาตบกะเทยไทยในเว็บไซต์ห้องนางงามของเขา แล้วก็เยาะเย้ยถากถางว่า ฉันตีกะเทยไทยได้แล้วนะ จากนั้นบรรยากาศเลยระอุขึ้นมา” เธอเล่า “มันเลยกลายเป็นศึกขึ้นมา แต่ศึกที่กะเทยเหล่านี้เจอในวันนั้นไม่ได้เป็นแค่ศึกของการตบตี แต่เป็นศึกของการถูกเหยียดหยาม ดูถูกจากคนประเทศอื่น”

และเรื่องก็ขยายพื้นที่ใหญ่โตเมื่อเรื่องถึงหูฝั่งกะเทยไทย ที่ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันก็เกิดปรากฏการณ์ ‘กะเทย assemble’ “เราว่ากะเทยมันมีความเป็นเพื่อน ความเป็นแม่อยู่ด้วย พอใครถูกรุมทำร้ายเขาก็รวมตัวกันออกไปช่วย” ทาทาแสดงความเห็น

อย่างไรก็ดี จากการไปยืนเท้าสะเอวเตรียมด่า บานปลายกลายเป็นการใช้กำลังแทบทุกรูปแบบที่กายเนื้อปะทะได้ และไม่ว่าจะอย่างไร มันได้กลายเป็นไวรัลที่คนเอาไปตัดเป็นคลิปวิดีโอสั้นเพื่อเล่าเรื่อง, ทำเป็นมีมล้อ (meme) หรือแม้แต่ตัดไปทำเป็นมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงออกศึก ถึงที่สุด ดูเหมือนแทบไม่มีใครเพ่งพินิจถึง ‘ราก’ ที่ซุกอยู่ข้างใต้ของปัญหาเลย

“พอคนมองว่าเป็นกะเทยตีกันก็เหมือนคนดูมวยน่ะ คนดูเขาก็มีอารมณ์ร่วมได้ง่าย ทั้งที่จริงๆ มันก็มีคนที่เจ็บตัวจากเหตุการณ์นี้” เธอว่า “ภาพแรก คนก็มองว่ามันเป็นเรื่องกะเทยตีกันเอามัน ปัญหาหลายๆ อย่างเลยถูกมองข้ามไป เช่น คนที่พากลุ่มคนฟิลิปปินส์เข้าประเทศ ใครเป็นผู้คุ้มครอง ทำไมทำอะไรกันได้ขนาดนั้น ไม่มีใครพามองไปให้เห็นเบื้องลึกเลย”

สำหรับทาทา ยากจะตอบว่าเหตุการณ์ความโกรธเกรี้ยวของกะเทยไทยในวันนั้นเป็นผลลัพธ์ของความอัดอั้นจากการถูกรัฐเพิกเฉยมาอย่างยาวนาน เพราะสำหรับเธอ เงื่อนไขที่ผลักให้เกิดการปะทะดังกล่าวนั้นซับซ้อนและยากจะสรุปออกมาสั้นๆ “แต่จากที่เราสอบถามคนใกล้ตัว เราก็จะพบว่า กระบวนการการเข้ามาในไทยไม่ง่าย กว่าจะผ่านมาจนได้มาทำงานย่านใจกลางเมืองก็หลายต่อมาก สิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้ต้องจ่ายคือค่าคุ้มครองในการดำรงชีวิตในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศของเขา”

คำถามต่อมาคือค่าคุ้มครองนี้อยู่ที่ใคร ดูแลกันทั่วถึงหรือไม่ และคนที่ข้ามเขตแดนมาทำงานนั้นได้รับการปฏิบัติอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ลอยวนอยู่ในอากาศเหมือนม่านควันขมุกขมัว “สิ่งที่เราคิดคือ ชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้เขาต้องจ่ายค่าคุ้มครองเยอะขนาดไหนถึงรู้สึกว่าตัวเองรวมกลุ่มกับเพื่อน 20 คนแล้วกล้าไปตบคนอื่นได้” ทาทาตั้งข้อสังเกต

เป็นดังเช่นที่ทาทาตั้งคำถามไว้ในคราวแรก ว่าเงื่อนไขใดกันที่ทำให้กะเทยต่างชาติสามารถ ‘เบ่งอำนาจ’ ได้ถึงขนาดนั้น หากไม่ใช่เพราะมั่นใจในเส้นสายตัวเองแล้วจะยังมีเหตุผลใดอื่นซุกซ่อนอยู่อีก คำถามต่อมาคือแล้วเส้นสายที่ว่านั้นเริ่มขึ้นที่ไหน ตลอดจนผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใครแน่

“เราสงสัยว่าทำไมตำรวจจึงมีท่าทีเช่นนั้น แม้เราจะพอเข้าใจได้ว่า ตราบใดที่ยังมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 อยู่ เรื่องแบบนี้ก็จะยังเกิดเรื่อยๆ เพราะถ้ามีคนไปถามตำรวจว่า มีการค้าบริการในพื้นที่แห่งนี้ไหม แน่นอนว่าตำรวจก็ต้องบอกว่า ไม่มีหรอก ซึ่งก็ถูกของเขาเพราะเขาเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ถ้าเขาพบว่ามีการค้าประเวณีแล้วไม่ดำเนินคดี เขาจะถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 ทันที แต่ถ้าเขาบอกว่ามี เขาก็ต้องดำเนินการจับกุมซึ่งก็จะไปเจอเรื่องพื้นที่และกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ถ้ายังมี พ.ร.บ. นี้อยู่ เท่ากับว่าทั้งเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือผู้ค้าบริการต่างก็อิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้จะเผชิญหน้ากันอย่างไร ผู้ค้าบริการก็ไม่รู้จะยืนยันสิทธิของตัวเองว่าโดนกระทำแบบไหน หรือมีเรื่องการเมืองด้านการแบ่งพื้นที่ยังไง”

คำตอบของทาทาต่อประเด็นนี้คือ การยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพราะตราบใดที่การค้าบริการทางเพศยังผิดกฎหมายอยู่ เรื่องของการใช้อิทธิพลและเส้นสายบน ‘พื้นที่สีเทา’ ก็จะยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครกล้าสบตาด้วยสักที

ความอัดอั้นของคนชายขอบ

สำหรับ โน้ต-อดิเรก เรือนปิน Miss LGBT Thailand 2024 มองว่าเหตุการณ์ ‘วันกะเทยผ่านศึก’ ดังกล่าวมีรายละเอียดมากไปกว่าการยกพวกตบกัน

“เราว่ามันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลยนะ” เธอบอก “อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยไทยกับกะเทยฟิลิปปินส์ก็เถียงกันเรื่องนางงาม เรื่องวอลเล่ย์บอลมาเป็นระยะๆ แค่ว่าครั้งนี้กะเทยไทยถูกฝั่งโน้นรุมทำร้ายร่างกาย และกลายเป็นเหตุการณ์ที่กะเทยไทยรู้สึกว่ายอมไม่ได้แล้ว ‘แม่ๆ’ เขาเลยออกไปรวมตัวกันที่สุขุมวิท 11”

วัฒนธรรม ‘แม่ๆ’ ของกลุ่มกะเทยนั้นกินความตั้งแต่ความเป็นเพื่อน พี่สาว และคนที่เคารพรัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงทางด้านสายเลือด หรืออาจจะกล่าวว่า มันให้ภาพของคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โลกใบเดียวกัน และเผชิญสิ่งต่างๆ มาคล้ายกัน หนึ่งในนั้นคือความไม่เป็นธรรมจากรัฐซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทีละเล็กและทีละน้อย

“มันอาจเป็นเรื่องความรู้สึกของคนชายขอบที่ถูกกระทำมาตลอดด้วย” เธอว่า “นึกออกไหมว่ามันไม่เป็นธรรมเลย กะเทยไทยถูกกะเทยฟิลิปปินส์ 20 คนรุมทำร้าย แต่ทำไมไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนช่วยเหลือแต่แรก เราคิดว่าการที่กะเทยไปรวมตัวกันวันนั้นเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่ามันเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น”

สิ่งที่อดิเรกตั้งข้อสังเกต คือช่องทางการเข้ามาทำงานของชาวฟิลิปปินส์ จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนว่าพวกเธอเหล่านั้นเข้ามาทำงานจากช่องทางไหน ติดต่อใครเป็นขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย “แล้วความที่การค้าบริการทางเพศในไทยยังไม่ถูกกฎหมาย มันทำให้เกิดพื้นที่สีเทาขึ้น แต่เราก็รู้กันหมด ทราบกันดีว่าการค้าบริการนั้นมีมานานแล้วแต่ก็พูดกันไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เกิดการใช้อิทธิพล การเก็บส่วยในพื้นที่ต่างๆ”

อดิเรกเองไม่ได้ใกล้ชิดกับพื้นที่สุขุมวิท 11 นัก แต่จากที่ฟังจากเพื่อนๆ ที่ใช้ชีวิตในย่านนั้นหลายคน ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พ้นไปจากฟิลิปปินส์ก็ยังมีชาวเวียดนาม ชาวมาเลเซียที่ข้ามเขตแดนเข้ามาทำมาหากินด้วย แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ยังไม่เคยมีการสำรวจและพินิจพิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง

เรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับอดิเรก คือการที่ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่าการค้าประเวณีถือเป็นความผิด ซึ่งสำหรับเธอแล้วมันไม่เพียงแต่ส่งผลทางอ้อมให้เกิดพื้นที่สีเทาและการใช้อิทธิพลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสวัสดิภาพและความเป็นมนุษย์ของคนที่ติดอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ด้วย

“ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การที่การค้าบริการทางเพศผิดกฎหมาย มันทำให้คนที่ทำอาชีพนี้ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างที่พวกเขาควรจะได้ เพราะพวกเขาต้องตรวจร่างกายเป็นประจำ บางคนก็ต้องกินยา ซึ่งถ้ากฎหมายยังระบุว่าอาชีพนี้เป็นเรื่องผิดอยู่ เท่ากับว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขเหล่านี้ได้เลย” เธอปิดท้าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save