fbpx

‘เปิดช่องทุนผูกขาด – ตัดอำนาจผู้บริโภค?’ คุยกับสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรณีควบรวมทรู-ดีแทค

จะเป็นอย่างไร? – หากเราต้องจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ตแพงขึ้นเพื่อซื้อบริการที่มีคุณภาพเท่าเดิม หรืออาจจะน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ

นี่คือความกังวลที่เกิดกับสังคม หลังมีข่าวการดีลควบรวมการให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศ อย่างทรูและดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของไทย ในขณะที่อันดับ 1 คือ AIS ซึ่งหากการควบรวมนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้ผู้ให้บริการที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดลดลงจาก 3 เจ้าเหลือเพียง 2 เจ้าเท่านั้น

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อคนขายหรือคนให้บริการยิ่งน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายอยู่แล้ว การแข่งขันในตลาดจะลดลง การผูกขาดในอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้น และนำไปสู่การขึ้นราคา (หรือไม่พัฒนาคุณภาพเพื่อแข่งขัน) เพราะคนขายจะมีอำนาจเหนือตลาดมากกว่าเดิม

คำถามสำคัญในเรื่องนี้คือ หากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคครั้งนี้เกิดขึ้นจริง การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นอย่างไร ประเทศจะได้โอกาสในการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่ผู้ให้บริการให้เหตุผล หรือเสียโอกาสจากการที่บริการพื้นฐานราคาแพงขึ้น ที่สำคัญคือ ประชาชนหรือใครที่ได้ประโยชน์?

101 จึงชวน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มาร่วมพูดคุยและจับตามองในเรื่องนี้

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.273: จับตาควบรวมทรู-ดีแทค สู่ยุคผูกขาดโทรคมนาคมไทย? กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

เปิดข้อมูลควบรวม ทรู – ดีแทค

เปิดช่องทุนผูกขาด – ตัดอำนาจผู้บริโภค?

101PUB – 101 Public Policy Think Tank ได้ทำผลการศึกษาในประเด็นดังกล่าวซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจ 2 ข้อ

หนึ่ง–หลังการควบรวม ‘ผู้ให้บริการหลัก’ จะเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น โดยแบ่งตลาดกันคนละครึ่ง ทรูกับดีแทครวมกันเกิน 50% ซึ่งในทางวิชาการจะมีการวัดดัชนีการกระจุกตัวหรือ HHI (Herfindahl–Hirschman Index) พบว่าหลังการควบรวมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% คือ จาก 3,500 ขึ้นไปถึง 4,800 ซึ่งตามข้อกฎหมายของ กสทช. นั้นถ้าเกิน 2,500 ก็อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังแล้ว จุดนี้จึงเป็นข้อสังเกตว่าก่อนการควบรวมก็เกินกว่าเกณฑ์แล้วและหากควบรวมก็จะยิ่งเกินไปอีก 

สอง–การคำนวณราคาโดยเปรียบเทียบกรณีการไม่ควบรวมกับกรณีที่มีการควบรวม พบว่า กรณีไม่มีการควบรวมราคาอยู่ที่ 220 บาท / เลขหมายต่อเดือน แต่หากเกิดกรณีร้ายแรงที่สุดที่รายใหญ่จะเกิดการฮั้วและกำหนดราคาขึ้นมา ราคาจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 66-70% 

จากข้อมูลดังกล่าว สมเกียรติให้ความเห็นว่า กรณีการควบรวมดีแทคต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในการอนุญาตควบรวมของ กสทช. ซึ่งมีวิธีคิดเบื้องหลังว่า เมื่อมีการกระจุกตัวเยอะจะมีผลเสียต่อผู้บริโภค และเกณฑ์ที่นำมาใช้ก็เอามาจากสหรัฐอเมริกาที่ว่า ดัชนีการกระตุกตัวห้ามสูงเกิน 2,500 และถ้าควบรวมกันแล้วสูงขึ้นไปอีกตั้งแต่ 100 ขึ้นไป ก็เรียกได้ว่าอยู่ในโซนอันตรายต้องระมัดระวัง 

ยกตัวอย่างกรณี ในปี 2011 AT&T ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในอเมริกา ตอนนั้นอยากจะซื้อ T-Mobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายหนึ่ง โดยอ้างว่าคลื่นไม่พอใช้ขอควบรวมกัน คำถามคือถ้าควบรวมกันจะเกิดผลอะไรบ้าง อเมริกาได้คำนวนค่าการกระจุกตัว พบว่าก่อนจะรวมตัวเลขอยู่ที่ 2,800 อยู่แล้ว ถ้ารวมกันจะสูงขึ้นไปถึง 730 ซึ่งอยู่ในโซนอันตรายมาก เพราะฉะนั้นหลังจากพิจารณาเรื่องนี้ว่ามีความเสี่ยง ผนวกกับการวิเคราะห์แล้วว่าหากผูกขาดแล้วโอกาสที่จะเกิดรายใหม่ก็เป็นไปได้ยาก เขาเลยตัดสินว่าไม่ให้ควบรวม 

เพราะฉะนั้นกรณีของเมืองไทยตั้งต้นสูงกว่าที่อเมริกาหลังควบรวมด้วยซ้ำ กรณีอเมริกาที่ห้ามควบรวมตั้งต้น 2,800 แล้วสูงขึ้นอีก 700 กว่า เมื่อรวมแล้วตัวเลขคือ 3,500 เกือบเท่ากับของเมืองไทยก่อนที่จะมีการควบรวมเสียอีก แล้วถ้าของไทยหลังการควบรวมมีแนวโน้มจะสูงถึง 4,800 ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง

“การควบรวมอาจจะทำให้ 2 รายนี้ลดต้นทุนได้บ้างซึ่งก็เห็นว่าจะลดต้นทุนได้ประมาณ 2-7 บาท มันลดได้นิดเดียวแต่โอกาสที่จะขึ้นราคา ขึ้นมาได้เป็นร้อย เพราะฉะนั้นผู้บริโภคมีโอกาสถูกฟันราคา”

กสทช. มีกลไกควบคุมราคาหลังควบรวมอยู่แล้ว ทำไมถึงยังต้องกังวล? 

ต่อกรณีนี้ สมเกียรติ ตั้งคำถามต่อว่า กำหนดราคาแล้วได้ผลหรือไม่? เพราะการควบคุมราคาไม่ง่ายเลย เช่น ถ้ากำหนดว่านาทีละไม่เกิน 1 สลึง ผู้ให้บริการจะออกแพคเกจมาว่า เราต้องใช้ 10,000 นาทีแล้วจึงจะได้ราคา 1 สลึง ซึ่งถ้าเอามาคำนวณเงินจริง ราคาประมาณ 2,500 บาท แปลว่าผู้บริโภคต้องซื้อแพคเกจละ 2,500 บาทจึงจะได้ราคานาทีละ 1 สลึงได้จริง แต่เป็นแพคเกจที่มีคนอยากใช้หรือไม่? แน่นอนว่า, ไม่ 

“ขายในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการแล้วบอกว่าถูก เหมือนให้ไปกินบุฟเฟ่ต์ปูสดๆ ปูตัวละ 100 บาท แต่คุณต้องจ่าย 3,000 บาท คุณถึงจะกินปูตัวละ 100 บาท ได้ ดังนั้นวิธีการที่ฉลาดกว่า คือ อย่าให้ไปควบรวม มันไม่มีความจำเป็นต้องให้ไปควบรวม จะได้ไม่ต้องไปยุ่งในการคุมราคา ผู้บริโภคก็จะไม่โดนฟันราคา ตรงไปตรงมาดี”

‘เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน – แต่ลดแรงจูงใจในการแข่งขัน’
ปัญหาของข้อโต้แย้งจากฝั่งทุน

เพิ่มศักยภาพเพื่อการแข่งขันที่เท่าเทียม?

ผู้บริหารเทเลนอร์ กรุ๊ป ให้เหตุผลว่า “การแข่งขันที่แท้จริงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมมีขนาดไม่แตกต่างกันจนเกินไป แต่ในประเทศไทยตอนนี้มีผู้เล่นเพียง 1 รายที่แข็งแกร่งมากและอีก 2 รายที่อ่อนแอ 2 รายนี้ก็คือ ทรู กับดีแทค สถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การแข่งขันที่แท้จริงเพราะว่าผู้เล่นที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพได้เลย ดังนั้นการมีผู้เล่นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันจะทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำไม่ได้ลดลง” 

สมเกียรติ ตอบคำถามต่อประเด็นนี้ว่าศักยภาพในการแข่งขันมันสูงขึ้นจริง เพราะส่วนแบ่งตลาดจะสูสีกัน 48% กับ 51% แต่ขณะเดียวกันแรงจูงใจในการแข่งขันจะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นต่อให้แข่งกันได้ คำถามคือ การแข่งขันเป็นประโยชน์ต่อเขาไหม? คำตอบคือไม่เป็นประโยชน์เทียบเท่าการฮั้วกัน เพราะฉะนั้นต่อให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันได้แต่ความอยากจะแข่งจะลดลง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจากข้อมูลที่ทำกันมาราคาถึงสูงขึ้น 

“ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น คุณครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 99% ผมเป็นรายใหม่เข้ามา ผมต้องฟันราคาเพื่อที่จะสามารถได้กำไรจากตลาดนี้ เพราะฉะนั้นถ้าผมฟันราคา คุณต้องสู้แบบนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ถ้าเกิดส่วนแบ่งตลาด 50:50 แรงจูงใจที่จะไปฟันราคากันมันจะน้อยมาก”

“นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิเคราะห์ว่า ‘สงครามราคากำลังจะหมดไป’ ซึ่งในมุมผู้ประกอบการ การฟันราคามันคือสงครามราคาเพราะเขาไม่อยากไปฟันราคากัน

ดังนั้น สงครามราคาจะหมดไปก็คือสันติภาพ ซึ่งแปลว่า กอดคอกันฟันพวกเรา”

เพิ่มอำนาจต่อรองแพลตฟอร์มต่างชาติ – พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย?

อีกหนึ่งข้อโต้แย้งที่ฝั่งทรูและดีแทคชี้แจงคือ ตอนนี้อุตสาหกรรมคมนาคมกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น Ai และ 5G เพราะฉะนั้นต่อไปนี้คู่แข่งของเราไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคมแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จะรวมถึงบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก อย่างเช่น Google Cloud Microsoft ในด้านกลับกันบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเหล่านี้ก็จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทโทรคมนาคมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทย จึงไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคมหากแต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า Telecom-Tech ที่สามารถจะให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และจะสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆได้ การควบรวมจะสามารถทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งพอที่จะลงทุน และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย ให้อยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค

ต่อประเด็นนี้สมเกียรติ กล่าวว่า บริษัทแข็งแกร่งขึ้นจริง เขามีอำนาจต่อรองกับบรรดาพวกผู้ผลิตอุปกรณ์หรือบรรดาพวก Tech ได้ดีขึ้น แต่ผลประโยชน์ของการต่อรองนั้นกลับมาที่ผู้บริโภคหรือไม่? 

“สิ่งที่เราในฐานะผู้บริโภคจะเจอ คือ การผูกขาด 2 ชั้น ชั้นแรก – เข้าถึงโทรศัพท์มือถือก็ผูกขาด เข้าไปเจอ Facebook ก็เป็นแพลตฟอร์มที่กินรวบตลาด Social media ก็ถูกผูกขาดอีกทอดหนึ่ง ถูกผู้ขาด 2 ชั้นแบบนี้ แล้วจะไปอยู่รอดได้อย่างไร” 

‘กสทช. ต้องทำหน้าที่’

ผลการพิจารณาในทางทฤษฎีมี 3 ทาง 

หนึ่ง–เห็นว่าอันตรายถ้าควบรวมแล้วมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคเยอะ ความเห็นนี้จะไม่ให้ควบรวมอยู่แบล 3 รายเหมือนเดิม 

สอง–เห็นว่าควบรวมแล้วไม่ค่อยดีแต่พอมีวิธีแก้ไขได้ โดยใช้วิธีให้ควบรวมแต่สั่งให้แก้ไขบางเรื่องที่เรียกว่าเยียวยาหรือมีมาตรการป้องกัน

สาม–ให้ควบรวมไปเลยโดยไม่ต้องทำอะไร

สมเกียรติ ยอมรับว่าไม่อาจคาดเดาใจของ กสทช. ได้ แต่ในทางวิชาการชัดเจนว่ากรณีเช่นนี้ กสทช. ไม่ควรจะให้ควบรวมเพราะยิ่งตัวเลือกเหลือน้อย อำนาจต่อรองในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค, ในฐานะที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ก็จะยิ่งเหลือน้อย ผนวกกับข้อมูลที่ถูกทำออกมาจาก 101PUB, จุฬาฯ หรือแม้กระทั่งคณะอนุกรรมการของ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์เองก็ตาม ต่างก็พูดชัดว่าถ้าควบรวมกันแล้วผู้บริโภคจะเสียประโยชน์

เมื่อหน่วยงานทางด้านเศรษฐศาสตร์บอกว่า ควบรวมแล้วผู้บริโภคเดือดร้อนไม่ควรให้ควบรวมและอนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาก็พูดไว้ชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้ควบรวมก็ได้ ไม่ให้ควบรวมก็ได้หรือให้ควบรวมแต่มีเงื่อนไขก็ได้

“แต่บางคนใน กสทช. ทำท่าจะยอมแพ้ตั้งแต่ในมุ้งเหมือนกับกรรมการการแข่งขันทางการค้า ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่า ประเทศไทยไม่รู้จะจ่ายเงินเดือนให้หน่วยงานอิสระต่าง ๆ เหล่านี้ไปเพื่ออะไร?”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save