fbpx

6 คำถามดีลควบรวมทรู-ดีแทค ถามตรง-ตอบตรงกับผู้บริหารระดับสูงของเทเลนอร์

“เทเลนอร์จะยังไม่ไปจากประเทศไทย”

นี่คือคำกล่าวแรกๆ ที่ ซิคเว่ เบรคเก้ (Sigve Brekke) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวต่อสื่อมวลชน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นับเป็นการสื่อสารอย่างเป็นทางการและตรงไปตรงมาเป็นครั้งแรกของผู้บริหารระดับสูงของเทเลนอร์ นับตั้งแต่มีข่าวการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค

“เทเลนอร์เชื่อมั่นในการแข่งขัน เราเชื่อมั่นว่า การแข่งขันดีสำหรับทุกฝ่าย”

นี่คืออีกหนึ่งสารที่ซิคเว่เน้นย้ำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่หลังจากที่เขาพูดเสร็จ คำถามของสื่อมวลชนมีต่อเขาและเยอเก้น โรสทริป (Jørgen C. Arentz Rostrup) รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าเทเลนอร์เอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป ซึ่งมาร่วมพูดคุยด้วยจะมีใจกลางอยู่ที่เรื่องนี้ เพราะสิ่งที่ซิคเว่เน้นย้ำกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมดูเหมือนจะสวนทางกัน อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎีและวิชาการ

“แรงจูงใจเบื้องหลังของการควบรวมของเทเลนอร์คืออะไร”
“การควบรวมจะนำไปสู่การแข่งขันที่ลดลงหรือไม่”
“เทเลนอร์จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การควบรวมจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะราคาและคุณภาพการให้บริการ”
“การทำงานกับทรูและซีพีจะราบรื่นมากแค่ไหน เพราะถ้ามองจากข้างนอกสององค์กรนี้มีค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกันอยู่”
ฯลฯ

ข้างต้นคือ คำถามที่ 101 และเพื่อนสื่อตระเตรียมไปสอบถามสองผู้บริหารเทเลนอร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอยู่ไม่น้อยว่า สังคมไทยตั้งคำถามและจับตามองอภิมหาดีลนี้ด้วยความกังวลเพียงใด

และนี่คือบางส่วนของคำถาม และคำตอบในวันนั้น

ซิคเว่ เบรคเก้
ที่มาภาพ: ดีแทค

สำหรับเทเลนอร์ อะไรคือแรงจูงใจสำคัญในการตัดสินใจควบรวมกิจการกับทรู

ซิคเว่ เบรคเก้: เมื่อเทเลนอร์เข้าสู่ตลาดไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ววิสัยทัศน์ของบริษัทคือคนไทยทุกคนควรเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและสามารถซื้อได้ เทเลนอร์เชื่อมั่นในการแข่งขันและริเริ่มเปลี่ยนแปลงตลาดต่างๆ เช่น การคิดค่าบริการเป็นวินาที การตลาดและการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถหาซื้อใช้จ่ายได้ ทุกวันนี้การเข้าถึงของโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 86% และมีการเชื่อมต่อมือถือ 98.5 ล้านอุปกรณ์ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การเติบโต 1.0 (growth 1.0)

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (perfect storm) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ – ปัญญาประดิษฐ์ (AI), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) และ 5G มารวมกัน จะไม่ใช่การเชื่อมต่อแค่ผู้คนเข้าด้วยกันอีกต่อไป แต่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ กับอินเทอร์เน็ต จะมีการใช้ดาต้ามหาศาลและจะต้องใช้ AI เพื่อให้เข้าใจดาต้าจำนวนมหาศาลที่สร้างขึ้น จะต้องใช้ความเร็ว 5G เพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ นับร้อยนับพัน ในโลกแบบนี้ คู่แข่งของเราจะไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคมแบบดั้งเดิมแต่เป็นบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น AWS, Google Cloud และ Microsoft ซึ่งในด้านกลับกัน บริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเหล่านี้ก็จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทโทรคมนาคมด้วย

สิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคม หากแต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

เยอเก้น โรสทริป: เราเชื่อว่าการควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรูจะสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต นี่เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเติบโต 2.0 (growth 2.0) และทำให้ประเทศอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่งแต่อีก 2 รายไม่แข็งแกร่ง

บริษัท telecom-tech ในประเทศไทยนี้จะดีสำหรับผู้บริโภค ธุรกิจ สตาร์ตอัป และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา เราจะนำเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญของเทเลนอร์ทั้งในกลุ่มภูมิภาคนอร์ดิกและเอเชียสู่บริษัทใหม่นี้ พร้อมกับรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล และสร้างสถานที่ทำงานสำหรับอนาคต

หนึ่งในประเด็นที่สาธารณะกังวลมากที่สุดในการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคคือ การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่ลดลง เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่จะลดลงจาก 3 เหลือ 2 ราย ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นราคาค่าบริการและคุณภาพที่ลดลงของการให้บริการ ที่ผ่านมาเทเลนอร์ชูเรื่องการแข่งขันมาตลอด คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ซิคเว่ เบรคเก้: ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมองนิยามของการแข่งขันให้กว้างและถี่ถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องนี้มองได้ 2 มุม ในมุมแรกคือการมองการแข่งขันจากสภาพตลาดปัจจุบันที่ทรูกับดีแทคดำเนินการอยู่ แล้วพิจารณาว่าส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบันเป็นเท่าไหร่และเมื่อควบรวมแล้วส่วนแบ่งตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทว่าในอีกมุมหนึ่งต้องมองด้วยว่า การแข่งขันที่แท้จริงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่แข่งในอุตสาหกรรมมีขนาดไม่ต่างกันจนเกินไป สถานการณ์ในประเทศไทยคือ มีผู้เล่น 1 รายที่แข็งแกร่งมากและมีผู้เล่นอีก 2 รายที่อ่อนแอ สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่การแข่งขันที่แท้จริง (real competition) เพราะผู้เล่นที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพได้เลย ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การมีผู้เล่นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันจะทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง

เยอเก้น โรสทริป: ผมอยากจะเสริมย้ำให้ชัดเจนว่า สำหรับเทเลนอร์ เป้าหมายในการควบรวมไม่ใช่เพื่อการขึ้นราคาค่าบริการ แต่เป็นการสร้างบริษัท telecom-tech ที่พร้อมรับกับการแข่งขันในอนาคต โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงจุดแข็งในฐานะผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเครือข่าย 5G, AI, IoT หรือแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นโจทย์อนาคตที่จะมีส่วนกำหนดด้วยว่า ประเทศไทยจะสามารถกลายเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่

ในแง่นี้ผมอยากจะชวนคิดในมุมกลับด้วยว่า หากการควบรวมไม่เกิดขึ้นแล้วผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ผลที่เกิดขึ้นกับทรูและดีแทคเท่านั้น แต่รวมถึงการแข่งขันอย่างแท้จริงในตลาด และโอกาสของประเทศไทยด้วย

แต่ถ้าหากว่ากันตามหลักวิชาการ ปัจจัยที่กำหนดระดับการแข่งขันคือโครงสร้างตลาด (market structure) ไม่ใช่เจตนารมณ์ของผู้เล่น งานวิจัยที่ศึกษาในประเด็นนี้ก็ชี้ว่า ต่อให้ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่สองรายแข่งขันกันอย่างรุนแรง ราคาค่าบริการก็จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี

เยอเก้น โรสทริป: เรายืนยันหลักการว่า การปกป้องผู้บริโภคในทุกมิติจะต้องเป็นหัวใจของการควบรวมในครั้งนี้ด้วย ผู้บริโภคจะยังคงต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพดีในราคาที่จ่ายได้ (affordable price) ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล และการที่พวกเรามีกลไกและมาตรการกำกับดูแลต่างๆ ก็เพื่อเรื่องนี้

นี่เป็นงานของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องเข้าไปดูว่าปัจจัยอื่นๆ ในตลาดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันและผลกระทบต่อผู้บริโภค เราเองก็คาดหวังว่า กสทช. จะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน เพราะการอนุมัติให้ควบรวมที่มาเลเซียก็เป็นการอนุมัติแบบมีเงื่อนไข ซึ่งเราคงต้องรอฟังว่า กสทช. จะมีเงื่อนไขและมาตรการอย่างไร นี่เป็นกระบวนการที่ปกติมากๆ สำหรับการควบรวม

คุณพูดถึงการควบรวมที่มาเลเซียที่ผู้กำกับดูแลเพิ่งอนุญาตไป แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ การควบรวมของมาเลเซียทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ลดจาก 4 เหลือ 3  ในขณะที่การควบรวมในกรณีไทยนั้นทำให้เหลือผู้เล่นหลักแค่ 2 ราย ยิ่งถ้าไปดูในยุโรปจะเห็นเลยว่าแทบไม่มีประเทศไหนเลยที่จะยอมให้เหลือผู้ประกอบการเพียงแค่ 2 ราย

ซิคเว่ เบรคเก้: นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ถ้าคุณไปดูจะพบว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมในยุโรป ถ้าไม่ใช่เบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 นั้นอ่อนแอลงอย่างมากและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ถ้าคุณดูตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการในยุโรปจะเห็นภาพที่ชัดเจน ในช่วง 2 ปีที่โควิด-19 ระบาด จำนวนผู้ใช้บริการแอมะซอนและกูเกิลที่เพิ่มขึ้นในอินเดียประเทศเดียว ย้ำนะครับว่า นับเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น มีจำนวนมากกว่าผู้ใช้บริการโทรคมนาคมรวมกันทั้งอียูเสียอีก

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในยุโรปแข่งไม่ได้ ยกเว้นเจ้าที่แข็งแกร่งมากๆ เพราะอียูไม่อนุญาตให้มีการควบรวมนี่แหละ แม้เทเลนอร์จะยังแข็งแกร่งในยุโรป แต่ก็นับเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก เพราะถ้าคุณไม่เริ่มคิดถึงสิ่งที่แตกต่างในวันนี้ คุณจะแพ้ในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน คุณจะเสียโอกาสที่จะสร้างตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในคลื่นการเติบโตใหม่ นี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่า เราต้องคิดในมุมกลับด้วยว่า หากการควบรวมไม่เกิดขึ้น เราจะเสียโอกาสอะไรบ้าง การแข่งขันในประเทศไทยจะลดลงอย่างไร ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยด้วยเช่นกัน

เยอเก้น โรสทริป
ที่มาภาพ: ดีแทค

เทเลนอร์อ้างว่าให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยนำเอามาตรฐานสากลมาใช้สำหรับการทำธุรกิจในไทยมาโดยตลอด ในขณะที่ ‘ทรู’ และ ‘ซีพี’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เป็นบริษัทที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากต่อ ‘วิถีธุรกิจแบบไทยๆ’ ซึ่งแม้บางเรื่องจะถูกกฎหมายไทย แต่ก็ยังมีช่องว่างกับมาตรฐานสากล การควบรวมภายใต้โมเดลการสร้างความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน (equal partnership) จะทำให้เทเลนอร์ต้องประนีประนอมกับมาตรฐานด้านการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ อย่างไร

ซิคเว่ เบรคเก้: ไม่! เราไม่ประนีประนอมใดๆ ในเรื่องมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เรากับซีพีทำงานร่วมกันค่อนข้างมากเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่า บริษัทใหม่นี้ควรจะดำเนินงานอย่างไร ซึ่งรวมถึงการวางมาตรฐานธรรมาภิบาลของบริษัทด้วย ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เทเลนอร์มีอิทธิพลสูง

เยอเก้น โรสทริป: ผมอยากเสริมว่า การที่ทั้งเทเลนอร์และซีพีเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจและมีพาร์ตเนอร์อยู่ทั่วโลกมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเจรจา การพูดคุย และกระบวนการทำงานต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะทั้งสองบริษัทเข้าใจมุมมองแบบระดับโลก (global perspective) อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบคิดในการทำงานหรือมาตรฐานต่างๆ พวกเรามีบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมมากๆ และกลไกต่างก็ทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

หากเป้าหมายของเทเลนอร์คือ การสร้างบริษัท telecom-tech ใหม่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราสามารถมีทางเลือกอื่นที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคน้อยกว่าการควบรวมไหม เช่น การทำบริษัทร่วมทุน เป็นต้น

เยอเก้น โรสทริป: แน่นอนว่าโลกมีทางเลือกอยู่เสมอ แต่เราเชื่อว่าทางเลือกที่เราเสนอนั้นดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย การควบรวมดีที่สุดสำหรับเทเลนอร์และทรู เพราะการควบรวมครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานว่า ‘เราเป็นใคร’ และช่วยแก้ปัญหาที่หนักที่สุดของเราได้ นั่นก็คือการไม่สามารถลงทุนเพื่อแข่งกับผู้นำตลาดได้

นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและผู้บริโภคด้วย การควบรวมจะทำให้เราสามารถกลับมาให้ความสำคัญกับการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมได้ เราเชื่อว่าวิธีการทำงานของเราจะช่วยสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคและสังคมไทยโดยรวมได้

เราสามารถทำอย่างนี้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะคงไม่มีครั้งที่สองแล้ว ดังนั้น เราจึงเลือกวิธีที่เราเชื่อว่าดีที่สุด

ซิคเว่ เบรคเก้: เรากำลังออกจากโมเดลธุรกิจแบบเก่าไปสู่โมเดลธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เราจึงไม่สามารถใช้กรอบคิดแบบเดิมได้ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคำถามและการถกเถียงจึงเกิดขึ้นที่นี่ ในวันนี้ผมเชื่อว่าองค์กรกำกับดูแลทั่วโลกก็กำลังพูดคุยกันในประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save