fbpx

อำนาจ วัฒนธรรมและจินตนาการ ในประเทศที่มีรัฐประหาร 13 ครั้ง : สำรวจนโยบาย Soft Power ของแต่ละพรรคในสนามเลือกตั้ง 2566

ชั่วระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา หนึ่งในคำที่ทั้งภาครัฐและเอกชนหยิบมาใช้อยู่บ่อยครั้งราวกับเป็นคาถาใช้บอกว่าทันยุคไม่หลุดสมัยคือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) โดยเฉพาะตั้งแต่ที่ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ศิลปินชาวไทยที่เติบโตจากอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลงเดี่ยวของตัวเองและ มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล แรปเปอร์ชาวไทย คว้าข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นมากินขณะแสดงบนเวทีที่เทศกาลดนตรีโคเชลลา (Coachella) ประเทศสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2022 แล้วจากนั้น คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ก็เป็นคำที่ปรากฏขึ้นแทบจะทุกบทความ ทุกหน้ากระดาษ ทุกการกล่าวถึง (คล้ายกันกับเมื่อครั้งเกิดการระบาดใหญ่แรกๆ คำว่า New Normal ก็เป็นอีกคำที่โผล่มาให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆ) 

โจเซฟ นาย (Joseph Nye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีซอฟต์พาวเวอร์ ระบุว่าการจะสร้าง ‘อำนาจ’ นี้ของแต่ละประเทศได้นั้นเรียกร้องวัฒนธรรม, คุณค่าทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ โดยนายเขียนไว้ใน Soft Power: The Means to Success in World Politics (2004) ว่า “ประเทศหนึ่งๆ อาจบรรลุสิ่งที่ต้องการในโลกทางการเมืองได้ เพราะประเทศอื่นๆ นั้นยกย่องคุณค่าของประเทศดังกล่าว ดำเนินรอยตาม และปรารถนาจะยกระดับความก้าวหน้าของตัวเอง หรือคือต้องการจะทำตามประเทศข้างต้น ในลักษณะเช่นนี้ การตั้งเป้าหมายและดึงดูดประเทศอื่นๆ ในโลกทางการเมืองจึงสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงการบังคับพวกเขาด้วยกองกำลังทหารหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ”

พูดกันอีกด้าน ซอฟต์พาวเวอร์ก็อาจจะหมายถึง ‘อำนาจ’ ของวัฒนธรรมและจินตนาการ อันเป็นสิ่งที่ดูด้วยตาเปล่าแล้วมันปราศจากพละกำลังควบคุมใดๆ แต่นั่นเพราะอำนาจของมันไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์อาวุธหรือตัวเลขที่เห็นได้ชัด หากแต่เป็นสิ่งซึ่งแทรกซึม อยู่ในเนื้อตัว อยู่ในความคิดของผู้คน

ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนขึ้นในยุคสมัยของ คสช. ก็ดูจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะเงื่อนไขหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยใน ‘แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๗๐’ ส่วนหนึ่งระบุว่าความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเองก็เคยประกาศว่ามีนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทย ทั้งภาพยนตร์ ดนตรีและศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 

คำถามคือ รัฐไทยเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ ‘แบบไหน’ นิติ ภวัครพันธุ์ เคยเขียนถึงประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ไว้ในบทความ ‘Soft power’ ไทย: ฝันลมๆ แล้งๆ ของคนใช้แต่อำนาจ ไว้ว่า “ในมุมมองของรัฐบาลไทย ซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังที่ใช้ดึงดูดใจคนต่างชาติ ด้วยการใช้วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ ซอฟต์พาวเวอร์จึงมีนัยของการประยุกต์วัฒนธรรมไทยให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ” ซึ่งก็แน่นอนว่า หากพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด ซอฟต์พาวเวอร์อาจซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไร โดยตัวมันเองแล้วคือการใช้ ‘อำนาจ’ อยู่ดี แล้วรัฐไทยเข้าใจวิธีการใช้อำนาจนี้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่มีรากจากการเป็นเผด็จการผู้ดูจะคุ้นเคยกับการใช้อาวุธหนักมากกว่าทำความเข้าใจความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม

ในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึงนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคก็ดูจะเห็นความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ไม่น้อย เห็นได้จากนโยบายมากหน้าหลายตาที่เห็นความสำคัญของอำนาจเชิงวัฒนธรรม พรรคชาติพัฒนากล้าที่ตั้งใจจะจัดตั้งกองทุนหมื่นล้าน ส่งเสริมให้มีการจัดเทศกาลอาหารไทยหรือภาพยนตร์ไทยขนาดใหญ่ รวมทั้งมุ่งปั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็น ‘พรีเซนเตอร์’ ของไทย ตลอดจนแนวคิดเศรษฐกิจสายมู กับความสำคัญของพระเครื่อง วัตถุมงคลซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ หรือพรรคพลังประชารัฐที่มีนโยบาย From Farm to Table สนับสนุนเกษตรกรด้วยการนำสินค้าด้านเกษตรส่งถึงผู้รับโดยตรง และผลักดันสินค้าการเกษตรไทย -ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว- ให้ไปถึงระดับโลก 

พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดสนับสนุน​ Creative Economy เป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพภาพยนตร์​ไทย โดยมีงบประมาณสำหรับอุดหนุนการทำหนังตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาบทไปจนถึงถ่ายทำ มีกองทุนสำหรับผู้ผลิตหนังรายเล็กหรือหนังอิสระเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับค่ายหนังได้ ตลอดจนประเด็นการเซนเซอร์ภาพยนตร์ที่หากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะตราบใดที่ยังมีการเซ็นเซอร์ ก็เท่ากับว่าประชาชนยังถูกจำกัดการเข้าถึงภาพยนตร์อยู่ ตลอดจนส่งเสริมสวัสดิภาพแรงงานคนทำหนังด้วย 

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่พร้อมตัดลดงบประมาณของหน่วยงานบางหน่วย เช่น กอ.รมน. และ ศรชล. เพื่อเปลี่ยนไปเป็นงบประมาณด้านวัฒนธรรม พร้อมจัดตั้งกองทุนภาพยนตร์ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตหนังหน้าใหม่และกำหนดสัดส่วนเวลาฉายขั้นต่ำสำหรับภาพยนตร์ไทย-ท้องถิ่นในโรงหนัง เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดหนังโดยโรงหนัง และพรรคยังมุ่งมั่นจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมระดับชาติ สร้างสวัสดิการแรงงานที่ดีกว่าเดิมเพราะหากชีวิตแรงงานไม่มั่นคง ก็ไม่อาจมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์และผลิตงานออกมาได้ รวมทั้งให้พื้นที่แก่ผู้ผลิตโดยเสรีด้วย 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังของซอฟต์พาวเวอร์ในไทยมาโดยตลอดคือ สภาพการผูกขาดเชิงเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีไม่ได้ สิ่งที่เกิดตามมาคือการผูกขาดทางการค้าโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ถึงที่สุด กลายเป็นผู้เล่นที่กำหนดทิศทางการตลาด -ประเภทภาพยนตร์ที่น่าจะทำเงิน, แนวดนตรีที่ตลาดน่าจะสนใจ, แฟชั่นที่ยึดโยงอยู่กับกลุ่มทุนหลัก ฯลฯ- ถึงที่สุดแล้วความหลากหลายหรือความแปลกใหม่ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งในหัวใจสำคัญของการก่อกำเนิดซอฟต์พาวเวอร์ก็ไม่อาจก่อกำเนิดขึ้นมาได้

และแม้ในมิติทางเศรษฐกิจเอง รัฐต้องเข้าใจด้วยว่าตัวสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ก็ไม่สมควรจะถูกประเมินผลหรือวัดค่าด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียวเสมอไป เพราะงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ -ไม่ว่าจะภาพยนตร์, ดนตรี, งานภาพ, วรรณกรรม หรือในลักษณะอื่นๆ- มีลักษณะที่ ‘ออกดอกออกผล’ เป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากเม็ดเงินอยู่ ทั้งการโอบรับความหลากหลาย ไปจนถึงความเข้าอกเข้าใจในเนื้อตัวความเป็นมนุษย์ ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ใช้ตัวเลขมาเป็นมาตรวัดได้ไม่ชัดนัก และแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้อาจใช้ระยะเวลายาวนาน

รวมถึงบทบาทของรัฐ ที่ต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผูกขาด ถือบทบาทการนิยาม ‘ความเป็นไทย’ ไว้เพียงเจ้าเดียว ถ้ายังจำกันได้ ปี 2016 เคยมีกรณีที่ เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ศิลปินชาวไทยแสดงโขนชุดทศกัณฐ์เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวไทยในงานประกวดดนตรีที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐฯ และถูกอดีตผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมร้องเรียนว่าไม่เหมาะสม ก็มีลักษณะเดียวกันคือเกิดจากการที่รัฐผูกขาดนิยามความเป็นไทย 

อีกด้านหนึ่ง การนิยามความเป็นไทยโดยรัฐ มักปรากฎอยู่ในลักษณะสนับสนุนภาพความเป็นไทยที่เข้านิยามแบบของรัฐ ‘คนโขน’ (2011) ภาพยนตร์โดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ว่าด้วยเรื่องเด็กกำพร้าที่โตในคณะโขน ผู้ต้องเผชิญเรื่องราวท้าทายจิตสำนึกและศีลธรรมในใจมากมาย กระทั่งสุดท้ายได้เรียนรู้หลักชีวิตผ่านแนวคิดแบบพุทธ โดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติมีมติให้ภาพยนตร์ ‘คนโขน’ เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเพื่อเข้าประกวดชิงรางวัลออสการ์ปี 2012 ด้วยเหตุผลว่า “สมาพันธ์ฯ ได้คัดเลือกภาพยนตร์คนโขน เนื่องจากเห็นว่า เป็นภาพยนตร์ตลาดที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย” 

เหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์, นโยบายว่าด้วยวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ แล้วแต่จะเรียกนั้น หนึ่งในหลักใหญ่ที่พรรคการเมืองที่หวังผลักดันประเด็นนี้ต้องแก้ให้ได้ -นอกเหนือไปจากการงัดกับนิยามความเป็นไทยกระแสหลักที่กำหนดโดยรัฐมาเนิ่นนานชั่วนาตาปีแล้ว- คือประเด็นการเซนเซอร์ 

ลำพังเอาแค่ปี 2023 เรายังต้องมาเผชิญหน้ากับเรื่องชวนหัวเก่าแก่อย่างการเซนเซอร์เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งถูกลงดาบด้วยเรตติ้ง ฉ.20 และถูกสั่งให้ไปแก้ไขมาใหม่ หนึ่งในเหตุผลคือหนังมีฉากเณรชกต่อยกันในชุดผ้าเหลือง และฉากกอดผู้หญิง (ซึ่งในเนื้อเรื่องแล้วเป็นแม่ของตัวละคร) หรือย้อนกลับไปสมัย ‘แสงศตวรรษ’ (2008, อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล) ออกฉาย ก็ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ลงดาบด้วยเหตุผลเรื่องการกระทบภาพองค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ เนื่องจากหนังมีฉากพระเล่นกีตาร์กับเล่นเครื่องร่อน, ฉากแพทย์ดื่มเหล้าและฉากที่แพทย์หนุ่มจูบคนรักขณะที่เป้ากางเกงนูนขึ้นสูง (ถึงที่สุด ผู้กำกับต่อต้านการเซนเซอร์เช่นนี้และใส่ฟิล์มสีดำแทนฉากที่ถูกสั่งให้ตัดออกทั้งหมดแทน)

ตราบใดที่ระบบการเซนเซอร์ยังตระหง่านอยู่เช่นนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ความหลากหลาย ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์จะเรืองรองขึ้นมาได้ การที่มี ‘กรอบ’ บางอย่างขีดไว้โดยรัฐว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้บ้าง ถึงที่สุดแล้วคนทำงานศิลปะจะหลีกเลี่ยงแตะต้องประเด็นนั้นเอง และทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ ‘ไม่อาจจับต้องได้’ ไปโดยปริยาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะวงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น กรณีคอนเสิร์ต “4 แยกปากหวาน ตอน I will survive #สู้ตายเราต้องรอด” ที่มีแปลงเนื้อเพลงบางท่อน วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถูก สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายยุติธรรมร้องเรียน ด้วยเหตุผลว่าบทเพลงดังกล่าวนั้นมีข้อความด่าทอ ใส่ร้ายด้วยความเท็จต่อรัฐบาลและผู้นำประเทศ 

กำแพงเซนเซอร์ที่ยังตระหง่านอยู่นี่เอง เป็นอุปสรรคสำคัญไม่น้อยไปกว่ามิติเรื่องการยึดโยงนิยามความเป็นไทยโดยรัฐ หรือการผูกขาดโดยกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะปลายทางย่อมส่งผลต่อการรับรู้และรสนิยมของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากว่ากันตามตรง นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ในสังคมไทยนักหากมองว่าสื่อสร้างสรรค์หรือศิลปะที่ท้าทายกรอบความคิด ความเคยชินหรือรสนิยมเดิมๆ มักถูกตีตราหรือผลักไสให้ไปอยู่ในเส้นแบ่งของ ‘ความไม่ได้เรื่อง’ โดยปริยาย นี่ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการถูกผูกขาดจนคนยึดติดอยู่กับความเคยชินแบบเก่าแบบเดียวทั้งสิ้น

การจะใช้ซอฟต์พาวเวอร์นั้นเป็นเกมยาว รัฐและพรรคการเมืองที่หวังจะผลักดันประเด็นนี้จึงต้องวางแผนล่วงหน้าที่อาจไม่จบแค่สี่ปี แต่อาจหมายถึงทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า ‘ส่งไม้ผลัด’ ต่อกันเพื่อให้เกิดสายป่านขนาดยาวที่จะรังสรรค์ให้ความสร้างสรรค์งอกงามขึ้นมาได้ แน่นอนว่าไม่เพียงแต่จะสร้างพื้นที่ สร้างชีวิตให้แก่คนทำงานในสนาม -ไม่ว่าจะคนทำหนัง นักดนตรี นักวาดหรือนักเขียน ฯลฯ- แต่ยังขยับขยายขอบเขตการรับรู้ของผู้ชมให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นส่วนหนึ่งในการขยายสนามความสร้างสรรค์นี้ในอนาคตด้วย 

ว่าไปแล้ว หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้การ ‘ส่งไม้ผลัด’ นี้เกิดขึ้นไม่ได้จริง อาจอยู่ที่ระบอบการเมืองอันแสนง่อนแง่นที่ยึดโยงอยู่กับอำนาจนิยม ประเทศซึ่งมีรัฐประหารมาร่วม 13 ครั้งกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอันแสนแข็งตัว และนี่ก็ดูจะเป็นอีกความท้าทายที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเผชิญเพื่อจะสร้างพื้นที่ทางจินตนาการให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save