fbpx

Soft Power ผ่านความร่วมมือในกิจการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ในวาระที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสนใจกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ผ่านการนำเสนอความภาคภูมิใจของชาติในมิติวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทย คำถามที่สำคัญมากกว่าคือ ทำอย่างไรให้การสร้าง Soft Power เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน กลไกไหน มิติใดของ Soft Power ที่จะสามารถสร้างพลังอำนาจอย่างแท้จริงในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมร่วมกันทั้งของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด และเมื่อเกิด Soft Power ขึ้นมาแล้ว เราจะรักษา ต่อยอด และใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา Soft Power ของไทยในเวทีประชาคมอาเซียน โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม (CLIV+T) เพื่อแสวงหาแนวทางวางกลไกสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยกิจการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เป็นเครื่องมือหลักในการสร้าง Soft Power

การพัฒนานโยบายและกลไกการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน CLIV+T อย่างยั่งยืน โดยอาศัยกิจการ อววน. จำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศไทยและอาเซียนที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันในมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ ที่มีผู้เล่นหลักคือจีนที่กำลังทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจผ่านการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และกองกำลังแสนยานุภาพทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจับมือกับพันธมิตรโดยเฉพาะยุโรปที่ยังทำหน้าที่กำหนดปทัสฐานสากล โดยทั้งสหรัฐฯ และยุโรปต้องการปิดล้อมจีนโดยใช้มหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในขณะที่จีนก็ต้องการฝ่าวงล้อมด้วยมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง และนอกจาก 3 มหาอำนาจนี้แล้ว ไทยและอาเซียนยังประคองตัวอยู่ร่วมกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นนักลงทุนหลักที่ควบคุมห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาค รวมทั้งมีอินเดียและเอเชียใต้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่อยู่ใกล้บ้าน

การสร้างพลังอำนาจ Soft Power เพื่อวางตำแหน่งประเทศไทยในฐานะมหาอำนาจระดับกลาง (middle power) ที่มีบทบาทนำร่วมกับเพื่อนบ้านอาเซียน ผ่านการต่างประเทศภาคประชาชน (public diplomacy) จากความร่วมมือในการพัฒนากิจการ อววน. ร่วมกัน รวมถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ไทยเราเป็นแม่แบบ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

และหากเราพิจารณาประเทศไทยและประชาคมอาเซียนในบริบทภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจข้างต้นแล้ว จากการกวาดสัญญาณทางยุทธศาสตร์ (Strategic Intelligence Scanning – SIS) จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยของเราและประชาคมอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายอีกอย่างน้อยที่สุด 5 ประการ ซึ่งต้องการการพัฒนาความร่วมมือในมิติ อววน. และ BCG ได้แก่

1) การกระชากเปลี่ยนในระดับเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน

2) ระบบโลจิสติกส์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

3) ห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติที่กำลังฟื้นแต่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

4) วิถีชีวิตใหม่ (new normal) ภายหลังสภาวะการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่ทำให้โลกหลุดออกจากระเบียบโลกเดิม และ

5) การเปลี่ยนแปลงในมิติสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ

ทั้ง 5 มิติของภาวะคุกคามและความท้าทายที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนกำลังเผชิญในระเบียบโลกใหม่ ดูเหมือนจะมีพลวัตสูง เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง และที่สำคัญคือทุกความท้าทายเชื่อมโยงและประดังถาโถมเข้าสู่ประเทศไทยในห้วงเวลาเดียวกัน คือจากวันนี้ไปจนถึงอย่างน้อยอีก 1 ทศวรรษข้างหน้า ดังนั้นการทำความเข้าในยุทธศาสตร์และโครงสร้างการพัฒนากิจการ อววน. ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อการพัฒนานโยบายและกลไกการสร้างความร่วมมือกับประเทศ อย่างยั่งยืน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิยุทธศาสตร์ (geo-strategy) ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สามารถสร้างความแข็งแกร่งจากภายในเพื่อรับกับระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้

เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 มิติ รวมทั้งเมื่อพิจารณาภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรในการศึกษาวิจัย จากการร่วมหารือระหว่างคณะผู้วิจัย และตัวแทนของ สอวช. ทำให้สามารถสังเคราะห์ได้มิติที่ประเทศไทยควรสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียน 4 ประเทศคือ กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในกิจการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ดังต่อไปนี้

  1. การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming)
  2. ความมั่นคงทางอาหารและอาหารอนาคต (Food Security and Future Food)
  3. การออกแบบและบ่มเพาะธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Design & Circular Business Incubation)
  4. นวัตกรรมวัฒนธรรมและสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ (Cultural Innovation & Creative Digital Contents)
  5. การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Ecosystem and Innovation -driven Enterprise Development)
  6. อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (Science & Innovation Parks)
  7. การวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Frontier Research for Sustainable Development )

ยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. ที่เหมือนจะสอดคล้อง แต่ก็ยังคงมีอุปสรรค

จากการศึกษาลงลึกในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ และแนวทางนโยบายในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน กิจการ อววน. ของแต่ละประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาค CLIV+T ผู้วิจัยพบว่าทุกประเทศมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อย่างยิ่งยวดในการพัฒนากิจการ อววน. ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ทุกประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในระดับแผนยุทธศาสตร์ระดับที่ 1 (แผนระดับชาติ เทียบเท่ากับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของไทย) แผนยุทธศาสตร์ระดับที่ 2 (เทียบเท่ากับแผนแม่บทฯ และแผนปฏิรูปฯ ของไทย) และในระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ระดับกระทรวง โดยทุกประเทศมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (strategic ends) ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่ง สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการวิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยในกรณีของ สปป.ลาว และเวียดนามมีลักษณะพิเศษ คือมีการกำหนดนโยบายลงมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีรอบระยะเวลาการกำหนดนโยบายอยู่ที่รอบการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคในรอบ 5 ปี

แต่เมื่อถึงระดับแนวทางการไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (strategic ways) ผู้วิจัยพบว่า แม้แนวทางการดำเนินการของแต่ละประเทศจะมีความคล้ายกัน แต่ในบางประเทศ เช่น กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีการแยกกลไกการทำงานของกิจการอุดมศึกษา และกิจกรรมวิจัย และสร้างนวัตกรรมออกจากกัน และแม้ทุกประเทศมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์การการทำงานของภาครัฐในกิจการ อววน. อย่างต่อเนื่อง หากแต่ปัญหาที่ทุกประเทศมีร่วมกันคือลักษณะการทำงาน อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ทับซ้อนกัน รวมทั้งยังขาดการสื่อสาร ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากร (strategic means: คน เงิน เวลา และองค์ความรู้) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. เกิดความไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขาดแคลนกำลังคน ขาดแคลนอัตราในบางหน่วยงาน แต่ในบางหน่วยงานกลับมีจำนวนเจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐที่ล้นเกิน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณยุ่งยากซับซ้อน รวมทั้งยังไม่สามารถเบิกจ่ายข้ามหน่วยงานเพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างสะดวก นอกจากนี้บางประเทศยังมีองค์ความรู้อยู่อย่างจำกัด และในบางประเทศ พนักงานเกิดความรู้สึกไม่ใช่เจ้าเข้าเจ้าของผลงาน หรือตนเองอาจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ดังนั้นจึงทำงานไปในลักษณะที่ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน

ภายใต้เงื่อนไขและบริบทดังต่อไปนี้ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสของความเหมือนและความแตกต่างดังกล่าวในการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยไทยสามารถเล่นบทบาทนำในการสร้างพันธมิตรความร่วมมือในกิจการ อววน.

ข้อเสนอแนวทางและกลไกการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัย อววน.

ภูมิภาค CLIV+T นั่นคือกัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งต่างก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันในประชาคมอาเซียน มีความร่วมมือกันในทุกมิติและในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน (ไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 ขณะที่เวียดนาม สปป.ลาว และ กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1995, 1997 และ 1999 ตามลำดับ) ดังนั้นกรอบความร่วมมือทางด้าน อววน. จึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และหากพิจารณาจากยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศในการสนับสนุนส่งเสริมกิจการ อววน. ก็ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสามารถต่อยอดเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้อย่างยั่งยืน แต่มีข้อสังเกตคือ แม้ในแต่ละประเทศจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. ที่ไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน หากแต่ทุกประเทศต่างก็ประสบปัญหาเดียวกันนั่นคือ การทับซ้อนกันของหน่วยงานที่กระจายตัวในการควบคุม ดูแล อำนวยความสะดวกให้การพัฒนากิจการ อววน. เกิดขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคน งบประมาณ และในบางกรณี ขาดแคลนองค์ความรู้ คณะผู้วิจัยจึงนำเสนอข้อเสนอแนวทางและกลไกการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัย อววน. ได้แก่

แนวทางการสร้าง Soft Power  เพื่อเป้าหมายการสร้าง Friends of Thailand ผ่านความร่วมมือ อววน.

เป้าประสงค์สำคัญของการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในมิติ อววน. ก็เพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวในการเป็นสะพานสร้างการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและมิตรประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ สปป.ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการขยายอิทธิพลผ่าน Soft Power เพื่อสร้างการทูตภาคประชาชน (public diplomacy) หรือเพื่อให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีค่านิยมที่ชื่นชอบ ชื่นชม และพร้อมที่จะพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันอย่างยั่งยืนในรูปแบบ ‘เพื่อนของประเทศไทย’ (Friends of Thailand) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้นๆ เอง ที่จะมีระดับการพัฒนาการในมิติ อววน. ที่สูงขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากประเทศไทยในหลากหลายมิติ เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยก็จะสามารถวางตำแหน่งของตนเป็น middle power เพื่อสร้างบทบาทนำและอำนาจต่อรองในเวทีการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แนวคิด Soft Power ถูกพัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ Joseph Nye ก่อนที่แนวคิดดังกล่าวจะถูกตีความและขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น Nye จึงปรับปรุงแนวคิดของเขาอีกครั้ง โดยการอธิบายแหล่งทรัพยากรสำคัญของ Soft Power ทั้งสิ้น 3 แหล่งได้แก่[1] (Nye, 2012)

  1. วัฒนธรรม (Culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น Soft Power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น โดยช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ นั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยน และการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ
  2. ค่านิยมทางการเมือง (Political Values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆSoft Power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆอย่างชัดเจน Soft Power ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950s ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว (racial segregation) ทำให้ Soft Power ของสหรัฐอเมริกาในทวีปแอฟริกามีน้อย เป็นต้น
  3. นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่ย้อนแย้งไม่มีความจริงใจ (hypocritical) ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้าง Soft Power จะมีน้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง Soft Power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก

เห็นได้ว่าในการสร้าง Soft Power  สำหรับประเทศไทย มิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งกินความรวมถึงความร่วมมือทางวิชาการใน อววน. โดยมีนโยบายการต่างประเทศ[2] ที่จริงใจ ไม่เสแสร้ง ไม่ก้าวร้าว ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเลือกเฟ้นเฉพาะประเด็นความร่วมมือที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการทำงานร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน และทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการใช้ Soft Power เพื่อสร้าง Friends of Thailand

จากการศึกษาวิจัยในโครงการนี้ คณะผู้วิจัยร่วมกับคณะทำงานของ สอวช. ได้สังเคราะห์มิติความร่วมมือที่สอดคล้องทั้งกับแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการ อววน. ของทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนาม) อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยมิติความร่วมมือด้าน อววน. ที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ ได้แก่ 6 มิติที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

แนวทางการพัฒนาความร่วมมือในมิติ อววน. ใน 6 มิติสำคัญ

การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการวิจัยและความร่วมมือด้านอุดมศึกษามีลักษณะเฉพาะตัว การพัฒนานวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการในสถาบันระดับอุดมศึกษา และ/หรือภาคเอกชน ไปจนถึงการเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เข้าสู่ภาคธุรกิจ และตลาดที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงมีลักษณะเป็นการขยายตัวแบบเอกซ์โพเนนเชียล (exponential) และต้องการความต่อเนื่อง ดังแสดงในแผนภาพ

กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมใหม่สามารถพิจารณาได้จากแผนภาพ โดยหากให้แกนนอนของแผนภาพคือระยะเวลาของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จุดเริ่มต้นของเวลาคืออุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการและมีความสามารถในการจับจ่ายที่มีนัยสำคัญเพียงพอคนทำให้ผู้ประกอบการ หรืออุปทานต้องการสร้างความพยายามในการรับรู้ ทำความเข้าใจความต้องการของตลาด ของผู้บริโภคที่มีประเด็นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาที่ต้องการแก้ไข (pain point) ดังนั้นในช่วงเวลานี้ หากทีมงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี อววน. ของประเทศไทยทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงความต้องการแท้จริง (insight) จากตลาดที่มีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ทีมวิจัยมีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง

จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาของการสังเคราะห์ (synthesis) นำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่ต่างก็มีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองจากแหล่งต่างๆ กัน เข้ามาบูรณาการเข้าด้วยกัน (integration) จากแผนภาพดังกล่าว สมมติให้มีเทคโนโลยีที่ต้องการนำมาสังเคราะห์บูรณาการร่วมกัน 3 เทคโนโลยี ดังนั้นช่วงเวลาที่ทั้ง 3 เทคโนโลยีมีความพร้อมจึงจะเกิดจุดบรรจบขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้หากต้องการสร้าง Soft Power ผู้กำหนดนโยบายด้าน อววน. สมควรอย่างยิ่งที่จะร่วมพัฒนาเทคโนโลยีย่อยๆ เหล่านี้ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการให้ทุนวิจัยในรูปแบบที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผลงานวิจัยร่วมกัน

แผนภาพแสดงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะสั้นและในระยะยาว

แผนภาพแสดงกระบวนการสร้างนวัตกรรม

อย่างไรก็ตามผู้ให้ทุนวิจัยเองก็ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของการสังเคราะห์บูรณาการด้วยว่าบางครั้งอาจจะไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ฉับพลันทันที แต่โดยปกติการบ่มเพาะจนถึงช่วงเวลาที่เป็นจุด rapture point หรือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต้องอาศัยการทอดระยะเวลา ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยทางด้านอุปทาน เช่น ทีมวิจัยต้องการระยะเวลาในการคิดวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบว่าเทคโนโลยีที่ต้องการนำมาสังเคราะห์บูรณาการมีความครบถ้วน สุกงอมเต็มที่ พร้อมที่จะนำมาใช้งานแล้วหรือไม่ หรือยังคงต้องมีการเสาะแสวงหา พัฒนา ปรับปรุงเพิ่มเติม หรืออาจจะเป็นปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ที่ต้องมีการทอดระยะเวลาเพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ผู้ใช้งาน หรือลูกค้า หรือต้องรอจนระดับการพัฒนาของตลาดของรายได้ผู้ซื้อปรับตัวถึงจุดที่มีความเหมาะสม

จากนั้นเมื่อถึงจุด rapture point การพัฒนาจากเทคโนโลยี หรืองานวิจัยต่างๆ ที่มาสังเคราะห์บูรณาการร่วมกันจึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี้ในช่วงแรกอาจมีวัฏจักรขึ้นลงในระยะแรก หรือที่เรียกว่าเป็นช่วงของการทดลองผิดลองถูก ซึ่งนั่นหมายความว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และหน่วยงานของประเทศที่มีเงินทุนจำกัดจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนในระยะเวลาที่โครงการเหล่านี้ยังไม่สร้างกระแสเงินสดไหลเข้ามาได้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้ประเทศ และ/หรือ บริษัทที่มีเงินทุนสูงกว่าเข้ามาร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Angel Investor, Venture Capital รวมทั้งการควบรวมหรือซื้อกิจการ ทั้งเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง หรือแม้แต่การกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ เมื่อไม่ต้องการให้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง

ดังนั้นช่วงเวลาของรวบรวมสังเคราะห์บูรณาการเทคโนโลยีจนถึงการบ่มเพาะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่หากรัฐบาลของไทยผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมจะสามารถสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ผ่านการให้เงินทุนสนับสนุนสร้างโครงการสร้างองค์ความรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีกระบวนการและข้อตกลงในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ให้ทุนและผู้รับมอบทุน

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อความยั่งยืนของความร่วมมือในกิจการ อววน.

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและอาเซียนภาคพื้นทวีป (สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มีหลากหลายช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ยังมีความทรงจำที่ขัดแย้งในยุคสงครามเย็น (1945-1991) ซึ่งปัจจุบัน ประชากรในรุ่นนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายของประเทศ เมื่อประกอบกับที่ผ่านมาโครงการความร่วมมือหลากหลายมิติที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็มีลักษณะของการดำเนินโครงการที่ขาดตอน ไม่ต่อเนื่อง ขึ้นกับงบประมาณที่มีการกำหนดเป็นรายปี ซึ่งไม่มีความแน่นอน ดังนั้นหลากหลายโครงการที่เป็นความร่วมมือจึงมีลักษณะที่ค้างเติ่ง ดำเนินการได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ทิ้งโครงการไป โดยที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงผลที่วัดได้ด้วยการกำหนดเป้าหมายในระยะสั้น ซึ่งในหลายๆ ครั้ง แทนที่โครงการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กลับกลายเป็นสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ (trust crisis) เพราะกลายเป็นไปสร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับบุคลากรด้านนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อโครงการได้เริ่มไปแล้วก็ขาดตอนไม่มีการสานต่อ ดังนั้นงานในลักษณะดังกล่าวจะไม่มีทางสร้างอำนาจ Soft Power ให้เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust building) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาความร่วมมือจนสามารถสร้าง Soft Power  และการพัฒนากิจการ อววน. ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โดย 3 ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการก่อกำเนิดกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คือ

1. มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน (common purpose) ซึ่งในรายงานวิจัยฉบับนี้เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กิจการ อววน. ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 6 ประเด็น ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่ ชีววิทยาศาสตร์ และ ชีวเคมี (bio-science and biochemistry); พลังงานและวัสดุศาสตร์ (energy and material science); อุทยานวิทยาศาสตร์ และอุทยานดิจิตอล (science park and digital park); ภาคการเกษตรและอาหาร (food and agricultural); การสาธารณสุขและความร่วมมือในยุคหลังโควิด (health care and post-COVID cooperation); และ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy/ Circular Economy/ Green Economy) ต่างก็เป็นมิติที่ทั้ง CLIV+T มีจุดมุ่งหมาย และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแต่ละประเทศไปในทิศทางเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน

2. มีแรงจูงใจ (motives) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเป็นการกำหนดนโยบายจากเพียงฝ่ายเดียว ในรูปแบบของการสั่งการ และให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตาม ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แนวทางการพัฒนา กิจการ อววน. ร่วมกันในระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างกลไกการทำงานที่ยั่งยืน

3. มีความสามารถ มีศักยภาพ (competence) ซึ่งหมายความถึง การสร้างความร่วมมือกันต้องลดข้อจำกัดต่างๆ อย่างน้อยที่สุดใน 4 มิติ อันได้แก่ 1) กำลังคน 2) งบประมาณ 3) องค์ความรู้ และ 4) ระยะเวลาที่เป็นไปได้ โดยในมิตินี้ ต้องคำนึงถึงเสมอว่า หน่วยงานของประเทศไทยที่จะเข้าไปสร้างความร่วมมือในกิจการ อววน. กับประเทศเพื่อนบ้านต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างน้อย 4 ประการ อันได้แก่

  • มีความน่าเชื่อถือ (credit) ในยุคข่าวสารข้อมูลที่ถาโถม และในระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และองค์ความรู้ ความเท่าทันในองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน ความน่าเชื่อถือคือทรัพยากรที่หายากและขาดแคลน ดังนั้นตัวแทนทางฝ่ายไทยที่จะเข้าไปสร้างความร่วมมือต้องเป็นตัวจริงที่มีความสามารถ มีศักยภาพ และมีความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกัน ในฝ่ายประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องให้แน่ใจว่าหน่วยงานที่ฝ่ายไทยจะประสานงานด้วยก็ต้องเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบและได้รับการรับรอง (endorse) จากผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศให้สามารถมาร่วมกันทำงานได้จริง
  • การสื่อสาร (communication) แน่นอนว่าการติดต่อ ประสาน ทำงาน ร่วมกันระหว่างสองฟากของชายแดน บางครั้งอุปสรรคด้านการสื่อสาร เกิดขึ้นจากระดับความสามารถในการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะภาษาที่เป็นสื่อกลางในการทำงานของประชาคมอาเซียน นั่นคือภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ทักษะทางภาษา คือทักษะในการสื่อสาร ซึ่งต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยที่สำคัญที่สุด นั่นคือ 1) การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (strategic communication) การใช้การสื่อสารอย่างมีจุดประสงค์ เน้นการสื่อสารเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุภารกิจ โดยภารกิจหลัก คือ การพัฒนากิจการ อววน. (สร้างองค์ความรู้) และการสร้างอำนาจ Soft Power เพื่อสร้าง Friends of Thailand ซึ่งต้องคำนึงถึงตลอดเวลา และวางแผนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์อย่างรัดกุม และ 2) ทีมสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (strategic communication team) และเรื่องเล่าที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย (narrative) ซึ่งสิ่งนี้จะเติมเต็มปัจจัยแรกให้การสื่อสารทรงพลังมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานด้านจิตวิทยาที่มีมาตรฐานสูงพร้อมกับการดำเนินงานด้านข้อมูล (knowledge management) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ความปรารถนาดีของประเทศไทย ได้รับการยอมรับ และเข้าใจอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกตีความให้เกิดความเข้าใจผิด อาทิ กลายเป็นเข้าใจไปว่าประเทศไทยเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ มาทำให้เกิดปัญหาสมองไหล มาขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ
  • ความปรารถนาดี (care) การทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ เคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) ปรับลดทัศนคติที่มักจะพิจารณาว่าเพื่อนบ้านมีความอ่อนด้อยมากกว่า และการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) ที่ไม่ได้เพียงเน้นเฉพาะความเท่าเทียมกัน หรือความเสมอภาค (equality) หากแต่บางครั้งการประนีประนอม ให้แต้มต่อ กับประเทศที่มีข้อจำกัดสูงกว่าเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม (equity) ก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วย และนี่ก็สอดคล้องกับแนวทางของประชาคมอาเซียนที่กำหนดไว้ใน ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration – IAI)
  • ความต่อเนื่อง (consistency) การพัฒนาองค์ความรู้ในกิจการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะยาว กินเวลาต่อเนื่องเกินกว่าปีงบประมาณ เช่นเดียวกันกับกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust building) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้าง Soft Power  สร้าง Friends of Thailand ดังนั้นการทะลายข้อจำกัดในด้านเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ (strategic means) 4 มิติ อันได้แก่ 1) ทรัพยากรมนุษย์ อัตรากำลังคน 2) งบประมาณที่ต่อเนื่อง 3) องค์ความรู้ที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ และ 4) กรอบระยะเวลาที่เพียงพอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมิติข้ามช่วงเวลาของปีงบประมาณ ข้ามเส้นแบ่งของหน่วยงาน และข้ามเส้นแบ่งของพรมแดน

[1] Nye, Joseph. 2012. “China’s Soft Power  Deficit To catch up, its politics must unleash the many talents of its civil society”. The Wall Street Journal. 8 May 2012.

[2] นโยบายการต่างประเทศ (foreign policies) ไม่จำเป็นต้องเป็นการดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศ แต่หมายถึงทุกภาคส่วนของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ และหากดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศจะนิยมเรียกว่า นโยบายการทูต (diplomatic policies)

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save