fbpx

‘Soft power’ ไทย: ฝันลมๆ แล้งๆ ของคนใช้แต่อำนาจ

รัฐบาลไทยดูกระตือรือร้นมากในการโฆษณาขายไอเดียเรื่อง ‘Soft Power’ (ที่แปลอย่างเป็นทางการว่า ‘อำนาจละมุน’ แต่ผมอยากเรียกทับศัพท์ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ มากกว่า) ทำให้หน่วยงานของรัฐและข้าราชการทั้งหลายต้องรีบเข้ามาเกี่ยวข้อง และกระตุ้นความสนใจของผม

ทว่า ความคิดเรื่อง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่เห็นๆ กันดูออกแนว ‘ไทยๆ’ เพราะนอกจากจะแตกต่างจากต้นตำรับแบบอเมริกันแล้ว ยังอาจไม่เข้าข่าย ‘เกณฑ์การวัด’ ความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่โลกตะวันตกพยายามคิด/สร้างเพื่อให้มีมาตรฐานที่อาจใช้ร่วมกันและยอมรับกันได้ ยิ่งกว่านั้น การมีซอฟต์พาวเวอร์ที่ประชาคมโลก ประเทศต่างๆ ยอมรับนั้นมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องการการพัฒนาอย่างจริงจัง มากกว่าที่รัฐบาลกำลังโฆษณาอยู่ในขณะนี้

ในที่นี้ จะแสดงให้เห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์ของไทยยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกมากมาย เนื่องจากขาดความเข้าใจอย่างเพียงพอเกี่ยวกับแนวคิดนี้ (ซึ่งแฝงไว้ด้วยคุณค่าทางสังคมและการเมืองเสรีนิยม ที่เน้นเรื่องเสรีภาพ ความสมัครใจ และความเป็นปัจเจกบุคคล) ขาดการวางแผนระยะยาว และไม่มีการเสนอนโยบายเป็นแนวทางในการปฏิบัติในอนาคตที่แน่นอน/ชัดเจนในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ (เพราะการชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์และการจัดอันดับเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ผันแปร และมีพัฒนาการอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายที่ยืดหยุ่น แต่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ) ที่สำคัญอย่างยิ่งคือแม้ว่าประเทศจะถูกจัดอันดับว่ามีซอฟต์พาวเวอร์แล้ว แต่การรักษาอันดับนั้นไว้เป็นงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง

ซอฟต์พาวเวอร์จึงมิใช่แค่เรื่อง ‘อะไรที่คนไทยมีอยู่แล้ว’ นำออกไปโชว์และขายได้

‘ขาย’ ซอฟต์พาวเวอร์

ผมลองค้นหาความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ตามการนิยามของทางราชการ พบว่าในเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภามีข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มด้วยการกล่าวถึง ‘มิลลิ’ แร็ปเปอร์สาวไทย กับการกินข้าวเหนียวบนเวทีการแสดงดนตรีที่กลายเป็นที่ฮือฮากันในหมู่ชาวไทย ตามด้วยการพาดพิงถึงแนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่เสนอโดย โจเซฟ เอส นาย (Joseph S. Nye) อย่างสั้นๆ จากนั้นก็กล่าวถึงความสำเร็จของสาธารณรัฐเกาหลีในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมป๊อบที่รู้จักกันในนาม ‘เค-ป๊อบ’ (K-Pop) รวมถึงภาพยนตร์และสื่อด้านอื่นๆ กลายเป็นที่นิยมกันทั่วโลก จนทำให้ ‘วัฒนธรรมเกาหลี’ ซึ่งรวมถึงอาหารการกินและสิ่งอื่นๆ กลายเป็นสินค้าขายดีชนิดหนึ่งของเกาหลีใต้ และเสนอว่า

สำหรับประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมซึ่งเป็นแหล่งที่มาของ Soft Power ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในต่างประเทศ เช่น นาฏศิลป์ไทย อาหารไทย มวยไทย และภาพยนตร์ไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายในการผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก เพื่อช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ[1]

นอกจากนี้ มีการเสนอว่า “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอดถ้าเรารู้จักการสร้างคุณค่า และได้รับการสนับสนุนให้ Soft Power ขยายและพัฒนาศักยภาพได้ต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้เป็นเพียงกระแสชั่วครู่” และ “Soft Power กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มุ่งสู่นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy”[2]

อาจสรุปได้ว่าในมุมมองของรัฐบาลไทย ซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังที่ใช้ดึงดูดใจคนต่างชาติ ด้วยการใช้วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ ซอฟต์พาวเวอร์จึงมีนัยของการประยุกต์วัฒนธรรมไทยให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ทว่า ความคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ดูจะซับซ้อนกว่า และมีพัฒนาการไปไกลกว่าที่หน่วยงานราชการไทยพยายามนำเสนอและประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน

ทรัพยากรของอำนาจ

โจเซฟ นาย ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ผู้เสนอแนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ค้นคว้าและพยายามสร้างคำนิยามเรื่อง ‘อำนาจ’ (Power) แต่เพราะมีพื้นฐานการศึกษาและความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศ เขาจึงเริ่มด้วยคำนิยามที่ใช้กันทั่วไปว่าอำนาจคือความสามารถในการทำเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น แต่อำนาจที่ว่านี้วางอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม

ด้วยเหตุนี้ อำนาจจึงหมายถึงความสามารถในการทำให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ ทว่า มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อความสามารถของเราในการทำให้บรรลุผลสำเร็จ และปัจจัยเหล่านี้ก็ผันแปร แตกต่างไปตามความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น

อันที่จริง เขาได้ให้ข้อเสนอเรื่อง ‘ฮาร์ดพาวเวอร์’ (Hard power) ที่หมายถึงอำนาจจากการบังคับข่มขู่และการใช้กำลัง เช่น กำลังทหาร และเรื่อง ‘สมาร์ตพาวเวอร์’ (Smart power) ซึ่งมีนัยว่าเป็นอำนาจที่ดีที่สุด เป็นการผสมผสานการใช้ฮาร์ดพาวเวอร์และซอฟต์พาวเวอร์เข้าด้วยกัน แต่ผมจะเน้นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เท่านั้น

ในความคิดของเขา อำนาจนอกจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ที่อาจซับซ้อนและคลี่คลาย เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ทรัพยากรของอำนาจ (Power resources ซึ่งหมายถึงปัจจัยและสิ่งต่างๆ ก่อให้เกิดอำนาจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

เขาเห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นอำนาจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งข่าวสารข้อมูล ที่รวมถึงการดำรงอยู่ของโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้เรื่องราวและข้อมูลต่างๆ กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว และเสนอว่าทรัพยากรของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power resources) มีสามประการ ได้แก่วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่านอกจากการมีอำนาจ เศรษฐกิจของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และยกตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา ที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีการเติบโตที่เร็วมาก และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980-90 ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันประเทศอย่างอินเดียและจีนก็มีการเติบโตเศรษฐกิจที่รวดเร็วและแข็งแรงเช่นกัน

ทว่า เศรษฐกิจที่เข้มแข็ง/เติบโตเท่านั้นไม่พอ ความผาสุก (well-being) ของประชาชนในประเทศก็มีความสำคัญเช่นกัน ผู้คนทั่วไปต้องอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี – หลายประเทศในยุโรปเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

เมื่อพิจารณาเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐอเมริกา โจเซฟ นายยืนยันว่าวัฒนธรรมป๊อบมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างของ ‘ฮอลลีวูด’ ที่ผลิตภาพยนตร์อเมริกันออกมาในจำนวนมหาศาล จนโด่งดัง กลายเป็นที่นิยมชมชอบกันไปทั่วโลก แต่เขาก็ระบุว่าวัฒนธรรมป๊อบเป็นสิ่งที่เอกชนผลิตขึ้น มีพัฒนาการและการเติบโตของมันเอง ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขและความเป็นไปของตลาด เป็นไปตามการบริโภคของผู้คนทั่วไป ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล

นอกจากนี้ การสร้างวัฒนธรรมป๊อบอเมริกัน ที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเป็นกำลังสำคัญ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษกว่าจะบรรลุผล ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันสู่สากลโลก ทำให้ ‘ความเป็นอเมริกัน’ และวิถีชีวิตแบบอเมริกันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

โจเซฟ นายย้ำว่าความสำเร็จนี้ ประการแรก เกิดขึ้นด้วยน้ำมือและความสามารถของเอกชน – บริษัทสร้างภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง – ไม่ใช่โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ประการที่สอง มักมิได้เป็นไปตามความคาดหวังหรือการวางแผน เพราะวัฒนธรรมป๊อบมีการทำงานของมันเอง เป็นปฏิบัติการ ‘แบบอ้อมๆ’ (indirectly) ที่ไม่อาจควบคุมได้ ไม่ว่าจะโดยรัฐบาล หน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ

การสร้างซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนาน เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต้องใช้ความอดทน มีความซับซ้อน และไม่อาจคาดหวังให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ไม่อาจควบคุมได้ตามใจต้องการ และมิใช่เป็นเพียงการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้า

ซอฟต์พาวเวอร์กับเสรีภาพ

คุณค่าทางการเมืองเป็นหนึ่งในทรัพยากรของซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘เสรีภาพ’ หนึ่งในคุณค่าทางการเมืองเสรีนิยม เป็นประเด็นสำคัญที่โจเซฟ นายเน้น/ย้ำเสมอในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เขาสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่รวมถึงนโยบายส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการประท้วง ฯลฯ

เขาพาดพิงถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ประเทศจีนไม่อาจสู้สหรัฐอเมริกาได้ในเรื่องนี้ ยกเว้นในทวีปแอฟริกาเท่านั้น เหตุผลหนึ่งคือสาธารณรัฐประชาชนจีนมักเลือกใช้ฮาร์ดพาวเวอร์ในนโยบายต่างประเทศ เป็นอำนาจที่มีลักษณะชาตินิยมจีนต่อประเทศอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการลงโทษทางเศรษฐกิจของจีนต่อออสเตรเลีย และการใช้กำลังทหารในบริเวณชายแดนจีนกับอินเดีย[3]

นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงเรื่อง ‘ชาร์ปพาวเวอร์’ (Sharp power) ซึ่งมีนัยของการทำโฆษณาและการชักชวนด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนัก เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นจากการจัดการหรือชักใยข้อมูลต่างๆ อันเป็นเทคนิคที่ประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียเลือกใช้ปฏิบัติ โดยระบุว่าการทำโฆษณาและการชักชวนมักเกี่ยวข้องกับการสร้างเรื่อง/กุเรื่องขึ้นหรือการวางแผน และเป็นการสร้างข้อจำกัดในเรื่องความสมัครใจ (voluntarism) (เพราะความสมัครใจของผู้นั้นถูกชักชวนใจด้วยข้อมูลผิดๆ นั่นเอง) เขาเห็นว่าชาร์ปพาวเวอร์เป็นฮาร์ดพาวเวอร์ประเภทหนึ่ง และยืนยันว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากสังคมแบบประชาสังคม เป็นสังคมที่มีลักษณะเปิดกว้าง (ทั้งในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการประท้วง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล)[4]

ความเห็นของเขาต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ มีรายงานระบุว่าหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย-แปซิฟิก มีทัศนคติในเชิงลบต่อประเทศจีน ที่มีระบบการเมืองแบบเผด็จการ ปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่โปร่งใสในการจัดการในเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด 19[5]

ตัวชี้วัดและมาตรฐาน

ยังมีประเด็นสำคัญและละเอียดอ่อนอีกหลายประการเมื่อพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ในรายงานของ เมลิสสา นิสเบ็ตต์ (Melissa Nisbett) และ เจ ไซมอน โรฟ (J. Simon Rofe) นอกจากพาดพิงถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการมีรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหรือข้อจำกัดในเรื่องมาตรฐานในการชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ โดยระบุว่าการทำโพลชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละประเทศมักละเลยหลักการในเรื่องคุณค่าทางการเมืองเสรีนิยม (อันเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์) ด้วยการจัดอันดับประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการว่ามีอำนาจแบบซอฟต์พาวเวอร์ และไม่ใยดีถึงการเติบโตของระบบการปกครองแบบเผด็จการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อคุณค่าทางการเมืองเสรีนิยม (อันมีนัยของเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และความเป็นปัจเจกบุคคล) และต่ออนาคตของความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตก[6]

ในประเด็นเรื่องมาตรฐานในการชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ มีบทความที่น่าสนใจของ ยุน ซึง-ฮุน (Yun Seong-Hun) ศาสตราจารย์ด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยทงกุก (Dongguk University) ในเกาหลีใต้ ที่วิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานในการชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ของ ‘The Soft Power 30’ หนึ่งใน 3-4 โพลที่เป็นที่นิยมใช้ในการอ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง ในด้านการจัดอันดับซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศต่างๆ

งานเขียนชิ้นนี้ระบุว่าตัวชี้วัดที่ เดอะ ซอฟต์พาวเวอร์ 30 ใช้นั้นเน้นที่ ‘ตัวชี้วัดทรัพยากรของซอฟต์พาวเวอร์’ (index of soft power resources) มากเกินไป อีกทั้งยังสร้างความสับสนแก่คนทั่วไป เกิดความไม่แน่ใจว่าตัวชี้วัดที่ว่านี้คืออะไร เช่น หากใช้ ‘ตัวชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์’ (the soft power index) จะเน้นห้าเรื่อง ได้แก่ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ทุนมนุษย์ และการทูต แต่ถ้าใช้ ‘ตัวชี้วัดยี่ห้อของชาติ’ (the nation brand index) จะเน้นหกเรื่อง คือ วัฒนธรรม ธรรมาภิบาล การส่งออก ผู้คน การท่องเที่ยว และการอพยพเข้าประเทศ/การลงทุน จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดทั้งสองประเภททับซ้อนกันในบางประเด็น แต่ก็มีความแตกต่างกัน ส่วนการชี้วัดก็อาจไม่ชัดเจน มิได้มีความกระจ่างเสมอไป

ดังนั้น ผู้เขียนจึงอ้างถึงข้อเสนอของ อเล็กซานเดอร์ วูวิง (Alexander Vuving) ในหนังสือชื่อ How Soft Power Works (2009) ว่าหากต้องการให้เกิดมาตรฐานในด้านการชี้วัด เราควรเน้นเรื่อง ‘เงินตราแห่งอำนาจ’ (Power currencies) ที่มีอยู่สามประการ ได้แก่

  1. ความโอบอ้อมอารี ความกรุณา ความอ่อนโยน (Benignity)
  2. ความสามารถในการทำให้บรรลุผลสำเร็จ การมีประสิทธิภาพ  (Competence)
  3. อำนาจบารมี (Charisma)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ระบุว่าข้อเสนอเรื่องเงินตราแห่งอำนาจทั้งสามประการนี้ยังเป็นเพียงไอเดีย ที่รอให้นักวิชาการในอนาคตปรับเปลี่ยน แปลงไอเดียนี้ให้สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ และเพื่อใช้ในการชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์[7]

การศึกษา การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี กีฬา

อันที่จริง หากพิจารณาการจัดอันดับซอฟต์พาวเวอร์ของโพลบางโพล จะเห็นว่ามีการให้ความสำคัญต่อรายละเอียดบางประการในเรื่องตัวชี้วัด เช่น แบรนด์ไฟนานซ์ (Brand Finance อันเป็นโฟลที่หน่วยงานราชการไทยใช้) ระบุถึงความโดดเด่นด้านซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเยอรมนีในเรื่องการศึกษาและวิทยาศาสตร์ การจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การส่งออก และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยธุรกิจ SMEs หรือในรายงานปี 2019 ของ เดอะ ซอฟต์พาวเวอร์ 30 ได้จัดให้เยอรมันอยู่ในอันดับที่ 3 เนื่องจากมีจุดแข็งในเรื่องการพัฒนาด้านมนุษย์ เศรษฐกิจ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย/อพยพ แต่มีจุดอ่อนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอินเตอร์เน็ต

รายงานฉบับเดียวกัน เดอะ ซอฟต์พาวเวอร์ 30 จัดให้ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 8 เพราะมีจุดแข็งในเรื่องวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านกีฬา เนื่องจากประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกหลายครั้ง แต่มีจุดอ่อนในเรื่องความไว้วางใจต่อรัฐบาลและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

หรือจัดให้สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในอันดับที่ 27 ด้วยจุดแข็งในเรื่องวัฒนธรรม ทั้งด้านกีฬาและอื่นๆ แต่มีจุดอ่อนในเรื่องการปกครอง เสรีภาพและอิสรภาพของปัจเจกบุคคล ความไม่โปรงใสในการจัดการด้านดิจิทัล อันเป็นการจำกัดเสรีภาพ

จะเห็นได้ชัดว่าในการจัดอันดับซอฟต์พาวเวอร์ มีการให้น้ำหนักในเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมด้านกีฬา การพัฒนาด้านมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อเสนอของโจเซฟ นายในเรื่องคุณค่าทางการเมืองเสรีนิยม

ไม่เข้าใจและชอบห้าม

แล้วประเทศไทยจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นจริงและสำเร็จได้หรือ คำถามนี้อาจหาคำตอบได้จากบทความเรื่อง ‘Soft power ไทย เหตุใดจึงยังไม่เวิร์ค’[8] ที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ

การตื่นตัวของภาครัฐต่อ soft power นำมาสู่คำถามว่า แท้ที่จริงแล้วภาครัฐเข้าใจ soft power ดีพอหรือไม่? เพราะที่ผ่านมานโยบายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ soft power ของหน่วยงานต่างๆ หรือความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในความเข้าใจต่อนิยามและการทำงานของ soft power ตัวอย่างเช่น กระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามนำท่ารำใส่ในเกมผี เพราะอาจทำให้คนกลัว [การรำไทย] กรณีดราม่า “ทศกัณฐ์เที่ยวไทย” ที่มีข้อร้องเรียนว่า มีการนำเสนอไม่เหมาะสม ทำให้เสื่อมเสียวัฒนธรรมของชาติ เพราะนำตัวละครทศกัณฐ์มาใช้งานอย่างไม่เหมาะสม หรือกรณี “อาลัวพระเครื่อง” ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สมควรทำขนมอาลัวรูปทรงพระเครื่อง เป็นต้น

การที่หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายสั่งห้ามไม่ให้กระทำหรือการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมแสดงความคิดเห็นเชิงลบไม่เพียงแต่จำกัดการสร้างสรรค์วัฒนธรรมให้งอกเงยหรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนความไม่เข้าใจในมโนทัศน์คำว่า soft power อย่างถ่องแท้

ผู้เขียนบทความมีความเห็นคัดค้านการออกคำสั่งห้ามดังกล่าวของทางราชการ และเสนอว่า

หากภาครัฐต้องการจะสนับสนุนการใช้ soft power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย ภาครัฐจำเป็นจะต้องคำนึงว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเกิดเรารู้จักการสร้างคุณค่า ดังนั้น การจะพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้เป็น soft power ที่ขายได้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างคุณค่าขึ้นอย่างหลากหลาย มิควรเข้าไปห้ามหรือแทรกแซงพัฒนาการทางวัฒนธรรมดังที่เคยเกิดขึ้นหลายกรณี แต่ควรช่วยโปรโมทและโฆษณาวัฒนธรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น การออกมาชื่นชม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา soft power อาจจะไม่สามารถสร้างตลาดของสินค้านั้นๆ ได้เองเสมอไป รวมไปถึงตัว soft power นั้นอาจจะไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป ด้วยเหตุดังนี้ ภาครัฐจึงควรสร้างกลไกหนุนเสริม เช่น การให้ทุนสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรมที่มีศักยภาพทั้งหน้าเก่าและใหม่ การสร้างพื้นที่โปรโมทและโฆษณาสินค้าวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอย่างเปิดกว้าง เป็นต้น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการขยายตัวของ soft power อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เข้าไปจับกระแสและปล่อยให้เงียบหาย

ผู้เขียนยังย้ำอีกว่า

… การใช้ soft power อย่างแท้จริงเกิดจากความเต็มใจที่จะเข้าหา soft power นั้นๆ มิใช่เกิดจากการบังคับหรือร้องขอ ด้วยเหตุนี้ การพัฒนา soft power ของไทยจึงควรให้พัฒนาไปตามกลไกธรรมชาติ คือ ให้วัฒนธรรมนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนเข้าหาเอง ทั้งส่วนที่เป็นวัฒนธรรมในรูปแบบดั้งเดิม หรือจะเป็นรูปแบบใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขก็ตาม ในแง่นี้ ภาครัฐจึงไม่ควรสร้างนโยบายหรือกฎระเบียบที่มีกรอบกำหนดแน่นิ่งตายตัว ไม่เปิดโอกาสให้ soft power พัฒนาตนเองไปได้ตามบริบทที่ควรจะเป็น (ซึ่งเป็นไปได้ที่จะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้) หากแต่จะต้องปรับปรุงแนวคิด แนวนโยบาย ไปจนถึงกฎระเบียบต่างๆ ให้เปิดกว้าง เอื้อแก่การพัฒนา soft power ใหม่ๆ

ฝันลมๆ แล้งๆ แล้วใช้อำนาจ

ในขณะที่รัฐบาลไทยพยายามประโคมข่าวเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ และอ้างความสำเร็จในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริง ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มากมายด้วยรายละเอียดต่างๆ และยังหาข้อยุติไม่ได้ในเรื่องตัวชี้วัดและมาตรฐานในการจัดอันดับซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละประเทศ

ยิ่งกว่านั้น นอกจากการพิจารณาในเรื่องทรัพยากรของซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีด้วยกันสามประการ คือวัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วย เช่น ความผาสุกของประชาชน การศึกษา การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมด้านกีฬา ฯลฯ

แต่ที่ดูสำคัญอย่างยิ่งคือซอฟต์พาวเวอร์เป็นอำนาจที่เน้น/ย้ำในเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรี อิสรภาพของปัจเจกบุคคล – เหล่านี้คือประเด็นหลักที่ศาสตราจารย์โจเซฟ นาย ผู้เสนอแนวคิดนี้ ให้ความสำคัญตลอดมา และไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ทว่า คุณค่าทางการเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่เข้าใจ และไม่สนใจ


[1] สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, “Soft Power (อำนาจละมุน)”, ร้อยเรื่องเมืองไทย, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, วันที่ออกอากาศ: 2565-05, <https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2565-may7>

[2] Thailand Convention & Exhibition Bureau (TCEB), “Soft Power อำนาจแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างเศรษฐกิจไทย”, <https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/detail/1461-soft-power-the-power-of-creativity-to-build-the-thai-economy>

[3] Joseph S. Nye, “Whatever happened to soft power?”, The Jordan Times, Jan 11, 2022, <https://jordantimes.com/opinion/joseph-s-nye/whatever-happened-soft-power>

[4] Joseph S. Nye, “China’s Soft and Sharp Power”, Project Syndicate, The World’s Opinion Page, Jan 4, 2018, <https://www.project-syndicate.org/commentary/china-soft-and-sharp-power-by-joseph-s–nye-2018-01> และดู Joseph S. Nye, “Soft power: the evolution of a concept”, Journal of Political Power, 2021, <https://doi.org/10.1080/2158379X.2021.1879572>

[5] Melissa Nisbett and J. Simon Rofe, “Soft Power Polls and the Fate of Liberal Democracy”, Global Perspectives, 3(1)

[6] อ้างแล้ว

[7] Seong-Hun Yun, “An Overdue Critical Look at Soft Power Measurement: The Construct Validity of the Soft Power 30 in Focus”, Journal of International and Area Studies, Volume 25, Number 2, 2018, pp. 1-19 (see <https://www.researchgate.net/publication/330727833>)

[8] พนธกร วรภมร และ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร, “Soft power ไทย เหตุใดจึงยังไม่เวิร์ค” (เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการติดตามสถานการณ์ การปรับตัวและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาจากปัญหาโควิด-19: สู่การพลิกฟื้นอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 2)” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)), TDRI (Thailand Development Research Institute), ออนไลน์ 19 เมษายน 2022, <https://tdri.or.th/2022/04/soft-power-thai/>

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save