fbpx

สนม-ไสว สุทธิพิทักษ์ : คู่รักที่แต่งงานบนตึกโดม

เธอที่รัก ชีวิตของเราทั้งสองเป็นเสมือนชีวิตของคนคนเดียว เราจะทำอะไร เราก็ปรึกษาหารือกัน เราเป็นกำลังใจให้แก่กันและกัน เธอเป็นหุ้นส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของฉัน เป็นเพื่อนร่วมชีวิต เป็นภรรยา เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตของฉันผู้เป็นสามี ความสำเร็จทั้งปวงในชีวิตของเราเกิดขึ้นเพราะเราทั้งสองคน และเพราะเธอ เวลา 45 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ยืนยันสัจจะนี้

นี่เป็นคำไว้อาลัยที่ ‘ไสว สุทธิพิทักษ์’ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เขียนถึง ‘สนม’ ภรรยาของเขา ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

แต่เกือบครึ่งศตวรรษแห่งความสัมพันธ์จาก ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ สู่ ‘ธุรกิจบัณฑิตย์’ ชีวิตรักของทั้งคู่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีห้วงเวลาที่ทั้งคู่ถูก ‘การเมืองเป็นพิษ’ เล่นงานถึง 9 ปีเต็มๆ


สนม-ไสว สุทธิพิทักษ์


กำเนิดสนม


สนมเกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2460 ณ บ้านใกล้วัดชนะสงคราม เป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 9 คน ของขุนตำรวจเอก พระพิเรนทรเทพ (เนียน เกตุทัต) กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ และนางพิเรนทรเทพ (สงวน สกุลเดิม วิริยศิริ)

วัยเยาว์อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของพระสุจริตสุดา ในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในปี 2465 เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 2 แล้วย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชินีบน จนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2477

ก่อนที่จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา สนมติดตามคุณพระผู้เป็นบิดา ไปพำนักที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ได้ทำงานเป็นครูประชาบาล ณ โรงเรียนประจำอำเภอบางมูลนากด้วย

ครั้นถึงปี 2480 เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) สำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2485 โดยระหว่างเรียนที่ ม.ธ.ก. สนมรับราชการในตำแหน่งพนักงานต่อสาย กองช่างโทรเลข และเสมียนคลังออมสิน เสมียนแผนกสลากและพันธบัตร ตามลำดับ


สนม เกตุทัต ธรรมศาสตร์บัณฑิต


กำเนิดไสว


ไสวเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2460 ที่อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรชายคนโตของนายเฟื่อง สุทธิพิทักษ์ ข้าราชการตรี กับนางนวล (สกุลเดิม กันภัย) ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ไสวยังไม่ประสาต่อโลก

ในด้านการศึกษา เรียนหนังสือจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ เมื่อ พ.ศ. 2477 จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ จนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนอํานวยศิลป์ ในปี 2479 และประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร ในปีต่อมา

ครั้นถึงปี 2481 เข้าเรียนที่ ม.ธ.ก. สำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2485 และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากสถาบันเดิม ในปี 2488 ซึ่งในระหว่างการศึกษาที่นี่ ไสวทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โรงเรียนสมเด็จวังบูรพา (2481) ครูพิเศษ สอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โรงเรียนสุวิชช์วิทยาลัย (2482-2484) และรับราชการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง (2484-2489)


ไสว สุทธิพิทักษ์ เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต


กำเนิดความรัก


ไสวบันทึกไว้ว่า รู้จักสนมตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เมื่อตนเองอาศัยอยู่กับพระในวัดราชาธิวาส ส่วนสนมพำนักที่บ้านซอยข้างวัดราชาธิวาส โดยสนมเป็นคนสวย ซึ่งในเวลานั้นสอบปริญญาตรีภาค 1 ได้แล้ว ขณะที่ไสวเรียนเพียง ม.7 เขาถือตัว คือ “ไม่ยอมแพ้เปรียบใครในเรื่องความรู้ ฉนั้น แม้ฉันจะชอบสนมในเวลานั้น ฉันก็หยู่เงียบตามวิสัยของฉัน” หลังจากนั้นอีกหลายปี “เรามาพบกันใหม่เมื่อ…เราเรียนปริญญาตรีปี 4 ด้วยกัน เรารักกัน และหมั้นกันโดย ร.ต. ทวี มุขดาร์ เป็นผู้แทนฝ่ายฉัน และเราแต่งงานกันตาม ก.ม. เมื่อ 6 ส.ค. 2486 ตามพรึตินัยเมื่อ 7 ส.ค. 2486


บัตรเชิญงานมงคลสมรสของทั้งสอง

ในนาม “ผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธัมสาตรและการเมือง”


แต่งงานที่ตึกโดม

งานแต่งงานของสนมกับไสวจัดขึ้นห้องประชุม บนตึกโดม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2486 โดยมีผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเจ้าภาพดังปรากฏข้อความตามบัตรเชิญว่า

นายปรีดี พนมยงค์

ผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธัมสาตรและการเมือง

ขอเชินหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร

เพื่อความสวัสดีไนพิธีมงคลสมรส

นายไสว สุทธิพิทักส์ ธัมสาตรบันดิต บุตรนายเฟื่อง

และ

นางสาวสนม เกตุทัต ธัมสาตรบันดิต บุตรีนายเนียน พิเรนทรเทพ เกตุทัต

นะ มหาวิทยาลัยวิชาธัมสาตรและการเมือง

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2486

เวลา 16.50 นาฬิกา

โดยภริยาของท่านผู้ประศาสน์การได้เล่าไว้ด้วยว่า

เป็นคู่สมรสคู่แรกๆ ที่จัดพิธีอย่างกะทัดรัดและทันสมัยที่สุด คือ ขณะที่เจ้าบ่าวควงแขนเจ้าสาวเดินเข้าสู่ห้องพิธี ท่ามกลางแขกที่รับเชิญ มีดนตรี (piano) บรรเลงเพลงชื่อ Bridal Chorus จาก Opera เรื่อง Lohengrin ของ Wagner ไปตลอด ถึงที่ๆ จัดไว้เพื่อประกอบพิธีรดน้ำประสาทพร


เจ้าบ่าวควงแขนเจ้าสาว
ผู้ประศาสน์การสวมมงคลให้บ่าวสาว
วันแต่งงานที่ตึกโดม ในยุค “มาลานำไทย”


เสรีไทยในสงคราม


ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไสวเป็นพลพรรคขบวนการเสรีไทยผู้หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สายงานของวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ ม.ธ.ก. อย่างเป็นความลับที่สุด ซึ่งแม้แต่ภริยาอย่างสนมก็ไม่เคยทราบ ดังที่ไสวบันทึกไว้ว่า

“ปลายปี พ.ศ. 2487 เราจึงอพยพกลับบ้านเดิมที่ถนนราชวิถี เมื่อกลับมาแล้ว ฉันก็มักจะหายตัวออกจากบ้าน จะไปไหนไปนานเท่าไรก็ไม่เคยบอก บอกแต่ว่าไปธุระ ไม่ต้องเป็นห่วงเท่านั้น ต่อเมื่อสงครามสงบลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 เธอจึงได้ทราบความจริงว่า ฉันผู้เป็นสามีได้ปฏิบัติหน้าที่อะไรมาในระหว่างนั้น”

แต่น่าเสียดายที่ไสวไม่ได้เล่าต่อไปว่า ปฏิบัติงานเสรีไทยด้านใดบ้าง


เบื้องแรกแห่งชีวิตสมรส


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สนมให้กำเนิดธิดา 2 คน คือ เลิศลักษณ์ (30 พฤษภาคม 2489) และเฉิดโฉม (12 ตุลาคม 2490)

โดยในปี 2489 ไสวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ได้เป็น ส.ส. ในวัยย่าง 30 ปี พร้อมกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี (พลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์)

ครั้นเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวก็สิ้นสุดลง ไสวออกมาประกอบอาชีพอิสระ ทำสำนักงานทนายความ และเจ้าของผู้จัดการห้างสุทธิเทรดดิ้ง ท่าพระจันทร์ ขณะที่สนมรับราชการในกองบำเหน็จบำนาญ กระทรวงการคลัง แต่เมื่อขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ประสบความล้มเหลว ไสวก็จำต้องจากภริยาและลูกน้อยไปลี้ภัยใช้ชีวิตในสิงคโปร์ถึง 9 ปีเต็ม


คุณหญิงธารมณี หนังสือที่ไสวแปลบทละคร เพื่อมอบให้สนม เมื่อ พ.ศ. 2495 โดยมีความตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้เขียนให้เธอในวาระวันคล้ายวันเกิดของเธอ เป็นงานที่ทำด้วยสมองและสติปัญญา และด้วยแรงกายของตนแท้ๆ เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน สำเร็จเรียบร้อย หวังว่าเธอคงจะยินดีและพอใจ หากจะไม่ภูมิใจ ใช่ไหม ที่รัก”


ยามยากของชีวิตคู่


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของรัฐบุรุษอาวุโส ผู้ประสบความผันผวนในชีวิตการเมือง ซึ่งกระทบกระเทือนต่อครอบครัวอย่างมาก ได้กล่าวถึงสนมในห้วงเวลาอันยากลำบากนี้ไว้ว่า

คุณสนมเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์กตัญญู ในขณะที่คุณไสวลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ เธอได้ทำหน้าที่ดูแลบิดาคุณไสวในยามป่วยไข้อย่างดีที่สุด จนวาระสุดท้ายของบิดาคุณไสว ทั้งยังเลี้ยงดูและส่งเสียให้บุตรเล่าเรียนจนสำเร็จทั้ง 2 คน เธอได้ทำหน้าที่บุตร, ภรรยา และมารดาที่ดี ฟันฝ่าความลำบากนานัปการเป็นเวลาหลายปี

โดยที่ธิดาทั้งสองคนบรรยายภาพของอดีตไว้อย่างแจ่มชัดว่า

คุณแม่ต้องทำงานหนักมาก เพื่อเลี้ยงดูลูกและช่วยคุณพ่อ ซึ่งผจญความยากลำบากอยู่สิงคโปร์เพื่อลี้ภัยการเมือง คุณแม่ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่มเติม เช่น รับตัดเสื้อ ทำขนมขาย นอกจากนั้นยังต้องย้ายจากบ้านใหญ่ที่ราชวิถี ซึ่งให้ฝรั่งเช่าไป เพื่อไปอยู่บ้านเช่าหลังเล็กในซอยระนอง 2 ซึ่งมีสภาพแวดล้อมยากลำบากมาก ต้องบุกโคลนจากปากซอยเข้าไปลึกมากจึงจะถึงตัวบ้าน คุณแม่ต้องกลับค่ำทุกๆ วัน ซึ่งความเป็นอยู่นี้ต่างจากสภาพเดิมตอนที่คุณพ่อยังอยู่เมืองไทย ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรและเลขานุการนายกรัฐมนตรีมาก

ยังดีที่ในระหว่างนั้น สนมบินได้เยี่ยมไสวที่สิงคโปร์บ้าง ส่งลูกไปเรียนที่สิงคโปร์ ได้อยู่พร้อมหน้ากันบ้าง


ภาพถ่ายครอบครัวที่สิงคโปร์


ยามสุขของชีวิต


ไสวกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง ใน พ.ศ.2501 พร้อมกับประสบการณ์การเป็นนักธุรกิจจากสิงคโปร์ และปณิธานอันแรงกล้าที่จะสร้างนักธุรกิจที่ดีและเก่ง บนความเชื่อว่า ‘นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ’ หลังจากนั้นเมื่อได้หารือกับ สนั่น เกตุทัต ผู้เป็นพี่ชายของสนม ซึ่งคิดตรงกันเรื่องการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่เน้นทางด้านธุรกิจ เพื่อสร้างพลเมืองดี นักธุรกิจที่มีความรู้และคุณธรรม ดังนั้น สถาบัน ‘ธุรกิจบัณฑิตย์’ จึงสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2511

ส่วนหน้าที่ราชการของสนมก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ ได้เป็นข้าราชการชั้นเอก ดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดเอก จังหวัดสมุทรปราการ (2505-2513) ซึ่งนับเป็นสตรีรุ่นแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ และที่จังหวัดนนทบุรี (2513-2518) จนลาออกจากราชการเพื่อมาทำงานที่ธุรกิจบัณฑิตย์

ไสวสะท้อนความสามารถของภริยาเอาไว้ว่า

เธอเป็นคนรอบคอบ และระมัดระวังเรื่องการเงินของครอบครัวมาก สมกับที่เธอเป็นคลังจังหวัด เธอเป็นนักวางแผนการเงินที่มีฝีมือผู้หนึ่ง ครอบครัวของเราจึงสร้างฐานะได้ดีขึ้นตามลำดับ สามารถส่งลูกทั้งสองไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาเอก ปริญญาโท กลับมาช่วยบริหารงานวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์สืบต่อมาตามความปรารถนาของเธอ


ไสว สุทธิพิทักษ์
อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (2527-2537)


คำขอร้องสุดท้าย


น่าเสียดายที่สนมไม่ทันได้อยู่เห็นความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยในปี 2527 เนื่องจากเธอถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 66 ปี 4 เดือน

โดยในวันหนึ่งก่อนที่สนมจะจากไป มีเพื่อนรักร่วมรุ่นธรรมศาสตร์ของทั้งสองมาเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อนผู้ซึ่งกำลังโด่งดังทางการเมือง พูดกับสนมต่อหน้าไสวว่า กำลังทำงานเพื่อให้ไสวได้ตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอีก ไสวบันทึกต่อไปว่า

เธอได้แต่ยิ้มรับคำบอกเล่าของเขา ครั้นเมื่อเขากลับไปแล้ว เธอขอร้องฉันว่า อย่ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เลย เสียงขอร้องของเธอแผ่วเบามาก และฉันก็ได้รับปากกับเธอว่า ฉันจะไม่ยุ่งกับการเมืองอีก” ทั้งนี้คงเป็นเพราะ “การที่ฉันเป็นนักการเมืองนั้นกระทบต่อสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวเราอย่างยิ่ง เพราะแทนที่จะหามาได้ กลับเป็นนำทรัพย์ที่มีอยู่ออกขาย เพื่อไปใช้จ่ายทางการเมือง

ส่วนไสวถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2537 รวมอายุได้ 77 ปี 7 เดือน


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ กับ ไสว-สนม สุทธิพิทักษ์


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save