fbpx

เพ็ดดีกรีนั้นหรือก็คือหัวนอนปลายตีนของคน: ‘นิกกับพิม’ นิยายที่แฝงนัยเหยียดเจ๊ก คอมมิวนิสต์ และชนชั้นล่าง

แม้ นิกกับพิม จะถูกบรรจุให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่หลายๆ คนกลับรู้สึกประทับใจกับนิยายรักโรแมนติกข้ามฟ้าของชายหญิงคู่หนึ่งที่ใช้หมาเป็นสื่อกลางติดต่อกัน สำนวนที่อ่านง่าย พล็อตที่น่าติดตาม ความน่ารักของสัตว์เลี้ยงทำให้นิยายหวานๆ เล่มนี้เข้าถึงผู้อ่านได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มอื่นอย่าง เอมิลยอดนักสืบ, ล่าปลาวาฬ ฯลฯ

ผู้แต่ง นิกกับพิม คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (2463-2520) มีนามปากกาว่า ว.ณ ประมวญมารค ผู้มีผลงานโดดเด่นที่รู้จักกันดีคือ ชุด ‘ไตรภาคปริศนา’ ที่ประกอบด้วย ปริศนา-เจ้าสาวของอานนท์-รัตนาวดี ที่มีฉากอยู่ช่วงหลังปฏิวัติสยาม 2475

ชมัยภร แสงกระจ่างกล่าวถึงไตรภาคปริศนาไว้ว่าเป็นแรงบันดาลใจของการอ่านและจินตนาการของผู้หญิงในรุ่นที่เติบโตมากับช่วงทศวรรษ 2500[1] ทั้งสามเรื่องมีกลวิธีการเล่าที่ต่างกันไป ปริศนา เล่าด้วยมุมมองแบบพระเจ้ามองลงมาเห็นการกระทำของทุกตัวละคร ส่วน เจ้าสาวของอานนท์ เล่าในมุมมองของผู้ชายอย่างอานนท์ ขณะที่ รัตนาวดี เล่าผ่านจดหมาย ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของชนชั้นสูง เรื่องหลังจะมีความคล้ายคลึงกับนิกกับพิม เนื่องจากใช้เทคนิคจดหมาย และมีฉากในต่างประเทศและมีการท่องเที่ยวในยุโรปเป็นส่วนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้อ่าน

‘พวกเรา’ ตัวตนของตัวละคร และโลกที่จดหมายยังมีมนต์ขลัง

นิกกับพิม ผู้เขียนใช้การเล่าเรื่องด้วยการเขียนจดหมายข้ามฟ้าถึงกันของตัวเอกอย่างพิเชฐและมนทิรา ที่คล้ายกับเทคนิคในรัตนาวดี ท้องเรื่องสัมพันธ์กับสถานที่หลักอยู่ 3 ส่วน คือ เมืองนอก กรุงเทพฯ และบ้านนอก

ฉากบ้านเมืองในยุโรปแถบสวิตเซอร์แลนด์เป็นสถานที่ที่พวกเขาพบเจอกันโดยบังเอิญในร้านขายสุนัข พล็อตเรื่องคือชายหนุ่มหญิงสาวชาติเดียวกันที่เจอในต่างแดนจนเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง และในเวลาต่อมาจะกลายเป็นปลายทางของจดหมายที่พระเอกเขียนถึงนางเอก ส่วนกรุงเทพฯ คือบ้านของพระเอกและนางเอกเป็นจุดเชื่อมของเรื่องมากกว่าจะเป็นพื้นที่หลัก ส่วนบ้านนอก นั้นคือ บ้านพักที่ตำบลบ้านภูเขียว อันเป็นสถานที่ทำงานของพระเอก ไม่แน่ใจว่ามันคือ สถานที่สมมติหรือจะหมายถึงแถบอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ

มนทิราต่างไปจากนางเอกในไตรภาคปริศนาที่เป็นผู้หญิงหัวใหม่ เก่งกล้า มั่นใจ มนทิราแทบจะเป็นคนหัวโบราณผู้เป็นหลานรักของหญิงแก่ที่มั่งคั่ง เป็นธิดาของบิดาที่มีเส้นสายกับในวังแต่ก็มิได้ร่ำรวยอะไร (ก่อนจะคลอด บิดาเคยหวังว่าจะฝากฝังให้เป็นมหาดเล็ก) มีพี่ชายที่เรียนแพทย์แต่ก็มิได้มีฐานะที่มั่งคั่งเช่นกัน เธอเรียนจบพยาบาลก็จริง แต่แทนที่จะดูแลย่าที่แก่เฒ่า กลับเลือกเดินทางมาเพื่อหาประสบการณ์ มนทิราจึงมิใช่ผู้หญิงที่มั่นใจในตัวเองนัก ทั้งยังรักนวลสงวนตัว ไม่กล้าเอ่ยปากกับพิเชฐถึงเรื่องของตัวเอง ในเมื่อตนยังไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนของพระเอกเลย มนทิราจึงเป็นภาพตัวแทนของชนชั้นสูงที่มีชีวิตที่ไม่น่าโสภามากนัก หากไม่ได้แต่งงาน มนทิราอาจมีชะตากรรมไม่ต่างจากคุณหญิงกีรติ

พิเชฐเป็นภาพตัวแทนของชนชั้นกลางชั้นสูงที่เป็นเศรษฐีใหม่ เป็นลูกชายของเศรษฐีแถบสีลม สามารถปลูกบ้านเพื่อเก็บค่าเช่าได้ ไปเมืองนอกเพื่อศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่รู้ว่าเหตุอันใดทำให้เขามาทำงานอยู่ที่โรงงานในภูเขียว อาจเป็นเพราะว่าเขาประชดรัก เมื่อเจอภาพบาดตาตอนที่มนทิราจูงรถเข็นทารกมากับชายผิวเข้มที่แท้จริงแล้วเป็นพี่ชาย แต่พิเชฐเข้าใจผิด ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับไทย อุปสรรคความรักของทั้งคู่ไม่ใช่ตัวร้ายหรือคู่แข่งของหัวใจ แต่เป็นความเข้าใจผิด

ที่น่าแปลกใจก็คือการที่ผู้เขียนใช้ภาพตัวแทนหญิงสาวและชายหนุ่มผ่านหมาสองตัวที่เป็นเพศผู้ทั้งคู่ ‘นิก’ คือหมาพันธุ์บ็อกเซอร์ตัวผู้ร่างใหญ่ที่ทุกวันนี้คนไม่นิยมเลี้ยงกันแล้ว ขณะที่ ‘พิม’ เป็นพุดเดิ้ลขนาดกลาง แม้จะเป็นตัวผู้แต่ภาพลักษณ์ภายนอกของมันถูกแต่งขนและตกแต่งให้เป็นตุ๊กตาที่มีลักษณะไม่ต่างไปจากตัวเมียเท่าใดนัก ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เมื่อเขียนจดหมายหากันผ่านปากของสุนัขทั้งสองจึงเป็นจินตนาการของเพื่อนผู้ชายที่คุยหากัน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของพิเชฐและมนทิราที่พยายามทิ้งระยะห่างไว้แก่กัน ทั้งคู่เขียนจดหมายหากัน หลังจากที่ห่างกันไปถึง 2 ปี และเป็นพิเชฐที่เป็นผู้เริ่มต้นก่อน

เทคนิคการเขียนจดหมายและการใช้ปากของสุนัขเป็นผู้เล่า ได้ล่อลวงให้ผู้อ่านเข้าไปอยู่ในกรงขังถึง 2 ชั้น ชั้นแรกคือ การเล่าผ่านจดหมายเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้เขียนมีเวลาเรียบเรียงคำพูด ปั้นคำและเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละเมียดละไม ต่างไปจากความเร็วของการสื่อสารของผู้คนสมัยนี้ด้วยโทรศัพท์ และการแชทหากันทางโซเชียลมีเดีย จดหมายที่ไปถึงกันนั้นบางทีใช้เวลาแรมเดือน ความนึกคิดในจดหมายกว่าจะไปถึง บางครั้งอาจจะกลายเป็นอื่นไปแล้ว ขณะที่การสื่อสารปัจจุบันมีลักษณะที่เข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า real time มากกว่า

จดหมายยังมีลักษณะเป็นวัตถุแทนตัวบุคคลที่เป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับการโทรศัพท์และแชทหา แม้ว่าการอัดเสียงและการแคปเจอร์รูปหน้าจอจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็เทียบกันไม่ได้เสียทีเดียว ไม่ใช่ว่าอะไรจะดีกว่าอะไร แต่นี่คือความผันแปรของการรับรู้เนื้อสารของผู้คนในยุคที่ต่างกันไป ความรักในการสื่อสารแบบเดิมจึงมีที่ว่างให้แต่งเติมและบิดพริ้วจินตนาการของคนสองคนไปคนละแบบ การสื่อสารผ่านจดหมายเมื่อไม่มีโทรศัพท์ที่สะดวกพอจึงมีความอิ่มเอมใจและความผิดหวังจากเวลาและการรอคอย เห็นได้ว่าความรักของทั้งคู่ไม่ได้เกิดจากการใช้ชีวิตคู่กันทางกายภาพ แต่เป็นการต้องใจกันผ่านจดหมายและตัวอักษร น่าสนใจว่าหากได้ใช้ชีวิตร่วมกันจริงๆ แล้วจะเป็นอย่างไร

น้ำเสียงของหมาทั้งสองได้ลวงให้ผู้อ่านลืมไปว่า เรื่องเล่าที่ซ้อนอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่เป็นการปั้นเรื่องของพิเชฐและมนทิรา มันจึงเปิดโอกาสให้สัตว์ทั้งสองพูดแทนใจในในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์มนุษย์ แต่มันก็แสดงให้เห็นลักษณะ ‘ขี้นินทา’ ของพิเชฐและมนทิราไปด้วย ซึ่งเราจะแสดงให้เห็นต่อไปข้างหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น หมาพันธุ์แท้ที่เรียกว่า ‘เพ็ดดีกรี’ นั้น มีนัยแสดงถึงสายพันธุ์ที่มีหัวนอนปลายตีน สามารถสืบสาแหรกขึ้นไปได้อย่างน่าเชื่อถือ และถือว่าเป็นสุนัขที่มีคุณค่า มีราคา ต่างไปจากหมาแถบภูเขียวที่เป็นทั้งหมาวัด หมาพันทางที่ไร้หัวนอนปลายตีนทั้งสิ้น

เมื่อเทียบกันแล้ว พิเชฐคือผู้ชายที่ถึงพร้อม แม้อาจจะมีเชื้อสายจีน แต่ก็เป็นตระกูลที่มีหัวนอนปลายตีน เป็นลูกหลานเจ้าสัวผู้มีความมั่งคั่ง เป็นนายเหนือหัวลูกน้อง และมีบริวารที่พึ่งพาได้ แม้จะเจอผู้ปรารถนาร้าย ก็สามารถตอบโต้กลับไปได้อย่างใจเย็น

ส่วนมนทิราเป็นผู้หญิงที่แสวงหาที่พึ่งพิงอยู่แทบจะตลอดเวลา การตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดของเธอก็คือการขายแหวนมรดกจากย่า (หรือยาย) เพื่อบินกลับมาหาพระเอกที่เมืองไทย ทั้งที่การเดินทางไปต่างประเทศของเธอนั้นถือว่าล้มเหลว เพราะไม่ได้อะไรกลับมาเลย ยกเว้นแต่ความสัมพันธ์กับพระเอก มนทิราจึงอาจไม่ต่างกับผู้หญิงไม่น้อยที่พยายามเข้ามา ‘จับ’ พิเชฐ เพียงแต่มนทิรามีพื้นเพชีวิตที่เป็นตระกูลผู้ดีเก่า เธอจึงมีความต่างไป

‘คนอื่น’ ในนิกกับพิม กับ บริบททางประวัติศาสตร์

หากนิยาม ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ แสดงให้เห็นถึงรักข้ามชนชั้น ‘นิกกับพิม’ กลับตรงกันข้าม หมาวัดก็คือหมาวัด ไม่มีคุณค่าพอที่จะเทียมกับหมาเพ็ดดีกรีได้ เมื่อเราอ่านความสัมพันธ์ของตัวเอกกับตัวละครทั้งหลาย เราอาจเทียบได้ว่าคือความแตกต่างระหว่าง ‘สุนัขเพ็ดดีกรี’ และ ‘หมาวัด’ ซึ่งหมาวัดนี่เองที่เป็น ‘คนอื่น’ ที่ทำให้เรื่องไม่ราบเรียบจนเกินไป แต่ช่วยเติมเต็มเพิ่มสีสันให้กับชีวิตรักพาฝัน

ถึงขณะนี้ผู้เขียนไม่สามารถทราบได้ว่า นิกกับพิม พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารใดและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่หากตีความจากตัวบท นิกกับพิม ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงครอบครัวมิชชันนารีฝรั่งที่อพยพจากจีนมาสู่เมืองไทยเป็นเวลา 8 ปีมาแล้ว เราอาจแกะรอยได้ว่าพวกเขาออกมาหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋ง และประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนได้สำเร็จในปี 2492[2] ตัวบทจึงน่าจะอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ต่อต้นทศวรรษ 2500 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของแปลก พิบูลสงคราม สู่การรัฐประหารของจอมเผด็จการอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผิดกับบริบทของไตรภาคปริศนาที่แม้ว่าตีพิมพ์ในปี 2494 แต่ก็ถือว่าเขียนขึ้นในปี 2481-2484 ช่วงยุคทองของกระแสปฏิวัติสยาม 2475[3]

คนอื่นกลุ่มแรกในสายตาผู้เขียนก็คือฝรั่ง นอกจากจะรู้สึกว่าคนไทยที่ดีจะต้องปฏิบัติไม่ให้ฝรั่ง ‘ดูถูก’ [4] ได้แล้ว ฝรั่งก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็นที่มีจุดที่ด้อยกว่าคนไทยด้วย ตั้งแต่การล้อเลียนฝรั่งหัวล้านในร้านขายหมา การบรรยายถึงตัวละครฝรั่งผู้หญิงในชีวิตประจำวันแบบ “แหม่มสูงโย่ง ส่วนแว่นตาหนาส่งแสงแวววาวหน้ากลัว”[5] ที่ต่างไปจากดาราผู้ทรงเสน่ห์อย่างมาริลีน มอนโร

ยิ่งตอนต้นเรื่อง ขณะที่มนทิรายังพอมีเงินจ้างแบร์ต้า คนใช้ฝรั่ง[6] ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าฝรั่งไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งอย่างที่คิด และเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นไทยแบบเจ้ายศเจ้าอย่างของคนไทยบางกลุ่มที่ต้องมีคนคอยรับใช้ด้วย นอกจากนั้นชนชาติเหล่านี้ยังดูเป็นคนใจแคบและขี้เหนียว การเปรียบเปรยคำพังเพยของฝรั่งว่า “พวกยิวและชาวสก๊อตตระหนี่” [7]  เพื่อใช้ถากทางคนไทยด้วยกัน ก็แสดงให้เห็นถึงความต้อยต่ำของคนต่างชาติต่างภาษาเหล่านี้ไปด้วย

ไม่เพียงฝรั่งในต่างประเทศกับในเมืองไทยเท่านั้น แต่สามีภรรยามิชชานารีฝรั่งในตัวจังหวัดที่พิเชฐรู้จักก็ไม่เป็นที่ “เสน่หา” ในความรู้สึกของนิก เพราะบ้านของทั้งคู่เลี้ยงไก่แล้วลอดรั้วมาในเขตบ้านพัก พอนิกไปไล่ฝรั่งก็เขียนฟ้องจดหมายมาฟ้องว่ามีหมาไปไล่ไก่ของเขา นอกจากนั้นการเขียนให้นิกเข้าไปป่วนพิธีกรรมในโบสถ์จนฝรั่งอับอายจนร้องไห้ก็เป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะบางประการของคนไทยต่อฝรั่งไปด้วย[8]

ลักษณะชาติเชื้อนิยมของผู้เขียนยังปรากฏอยู่บนเรื่องเล่าของนายมากที่สามารถยึดร้านของเถ้าแก่ฮงด้วยการแต่งงานกับเมียของเถ้าแก่ หลังจากกลายเป็นแม่ม่ายผัวตาย ดังที่ว่า “บางคนดีใจที่คนไทยได้เปรียบคนจีน จนหมดรูปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยแห่งตำบลบ้านภูเขียว”[9]

นิกกับพิมถูกเขียนขึ้นในช่วง ‘สงครามเย็น’ (ตามที่มีการระบุคำนี้ไว้ในตัวบทอย่างตรงตัว[10]) ดังนั้นจึงมีมิติทางการเมืองบางประการที่จำเป็นต้องกล่าวถึง ข่าวสหภาพโซเวียตปล่อยดาวเทียม (ในตัวบทใช้คำว่า ‘รัสเซีย’ ไม่แน่ใจว่าต้องการลบความเป็นคอมมิวนิสต์ออกหรือไม่) น่าจะหมายถึงการปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2500[11] นั่นอาจนับเป็นจุดตั้งต้นของ ‘Star Wars’ หรือสงครามอวกาศของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาที่พยายามเอาชนะกันด้วยเทคโนโลยีทางอากาศ ในฐานะผู้นำของค่ายการเมืองยักษ์ใหญ่นั่นคือ คอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมประชาธิปไตย

เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ในท้องเรื่องอยู่ในช่วงที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อ 16 กันยายน 2500 ไปด้วย คำว่ารัฐประหารปรากฏอยู่ในตัวบทในฐานะการเปรียบเปรยการใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาในห้องครัวของนิก[12] และเป็นที่รู้กันดีว่า หลังจากนี้สฤษดิ์จะเข้ามายึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะรัฐบาลเผด็จการทหาร ชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ภายใต้การหนุนหลังของสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนทั้งด้านการทหารและการพัฒนาประเทศ

ผู้เขียนพยายามจะใส่คำว่า ‘เสรีประชาธิปไตย’ เข้าไปในตัวบท ดังที่พบเห็นความตั้งใจนี้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา[13] เพื่อเปรียบเทียบชีวิตหมาของไทยกับต่างประเทศ นั่นคือมองว่า “ในเมืองไทย หมามีเสรีภาพ ประชาธิปไตย เป็นอิสระ” โดยเทียบชีวิตนิกกับพิมว่า นิกนั้นมีเสรีประชาธิปไตย อยากไปเที่ยวเล่นที่ไหนก็ได้ ขณะที่กฎหมายของฝรั่งนั้น หมาจำเป็นจะต้องมีเจ้าของจูงตลอดเวลาหากจะออกไปนอกบ้าน หรือมองว่า “เขาไม่ได้เป็นเจ้าของเรา เราเป็นสัตว์อิสระ มีเสรีประชาธิปไตยอย่างที่แกว่า” นัยสำคัญของการอ้างเช่นนี้ไม่เพียงจะเปรียบให้เห็นชีวิตเมืองนอกที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบจนทำให้คนไม่มีเสรีภาพแบบผิวเผินแล้ว อาจสัมพันธ์กับการพาดพิงถึงอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ก่อนรัฐประหาร 2500 สังคมไทยเป็นพื้นที่ที่ตลาดอุดมการณ์เปิดกว้างเป็นอย่างมาก ฝ่ายซ้ายมีที่ทางในการจัดทำกิจกรรมทางการเมือง การออกนิตยสาร ว่ากันว่าหนังสือพิมพ์ที่นักเขียนฝ่ายซ้ายทำงานให้ยังมีทุนของสฤษดิ์หนุนหลังอยู่ด้วยซ้ำ แน่นอนว่า พวกเขาจะถูกกวาดล้างในเวลาต่อมา

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ผู้เขียนที่สืบสายเลือดมาจากชนชั้นสูงจะฝากบทสนทนาที่ตอบโต้ฝ่ายซ้ายผ่านปากของพิเชฐ เมื่อนายมากเพื่อนบ้านจะมาขอยืมใช้โรงรถ แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพ นายมากไม่พอใจอย่างมากถึงกับสบถออกมาว่า “ฮึ! สัตว์อยู่ในโรงรถศักดินา” พิเชฐย้อนถามว่าเป็นศักดินาอย่างไร นายมากก็ตอบว่า “เลี้ยงหมาฝรั่งไว้ในโรงรถ” ก็ถือว่าเป็นศักดินาแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังต่อว่าเพิ่มเติมด้วยศัพท์ทางซ้ายว่า “นายน่ะนอกจากจะเป็นศักดินาแล้วยังเป็นนายทุนอีกด้วย” ทั้งที่นายมากเองเป็นนายทุนใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน พิเชฐจึงถือโอกาสสอนมวยกลับไปด้วยภาษาฝ่ายซ้ายว่า “อย่างนายมากงี้ไม่ใช่นายทุนธรรมดา เป็นนายทุนชนิดขูดเลือดชนชั้นกรรมาชีพด้วยซ้ำไป” พิเชฐจึงเป็นตัวแทนชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษนิยมและทุนนิยมที่ร่วมมือกันเป็นอย่างดี เขาชี้ว่า “การที่นายมากเที่ยวหาว่าคนโน้นคนนี้เป็นศักดินา คนนี้เป็นนายทุนอะไรบ้าๆ บอๆ พวกนี้น่ะเป็นการจำขี้ปากพวกคอมมิวนิสต์มาพูดทั้งนั้น”[14] การสร้างนายมากให้เป็นผู้ละโมบโลภมากที่พูดภาษาซ้ายจึงเป็นการดิสเครดิตทั้งภาษาของฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไปด้วย

เทคนิคเช่นนี้ทำให้เรานึกถึงนิยาย ไผ่แดง (2497) ของคึกฤทธิ์ ปราโมชที่ใช้สมภารกร่างสนทนากับนายแกว่นที่ดัดแปลงมาจากนิยาย The Little World of Don Camillon ของโจวานนี กวาเรสกิ[15] พิเชฐยังย้ำว่า

“คนที่จำขี้ปากเขามาพูดนี้เป็นพวกที่อิจฉาคนอื่น เห็นเขาดีกว่าตัว สบายกว่าตัว ทั้งที่เพราะเมื่อชาติก่อนเขาทำกรรมดีมา ตัวก็ไม่เข้าใจ อิจฉาตาร้อนฝ่ายเดียว อยากจะเหมือนเขาหรือดีกว่าเขาให้ได้ ก็เลยจำขี้ปากคอมมิวนิสต์มาว่าเขาเป็นศักดินาบ้าง นายทุนบ้าง โดยไม่เข้าใจความหมายอันแท้จริง” [16]

ดังนั้น ความขัดแย้งทางชนชั้นจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะชีวิตมนุษย์นั้นสำคัญอยู่ที่กรรมดีที่ทำมาแต่ชาติก่อน ความยอกย้อนจากตัวบทนี้ก็คือ ผู้เขียนยังคงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งกับฝ่ายซ้ายนี้ไปอีกราว 2 ทศวรรษ จนวันสุดท้ายของชีวิต

การจะบอกว่านิกกับพิม เป็นหนังสือ ‘เหยียดเจ๊ก’ ก็อาจจะกล่าวไม่ได้เต็มปาก เพราะพระเอกเองก็ดูจะมีเชื้อสายจีนอยู่ การใช้คำพูด ‘อั๊ว-ลื้อ’[17] ก็ยังเป็นสรรพนามที่ใช้ของคนที่มีอำนาจอยู่ แต่ความเป็นจีนที่ถูกรังเกียจในนิกกับพิม อยู่ที่ความเป็นไพร่ของจีนจน หรือจีนที่พยายามไต่เต้าและสร้างสถานะของตนให้ดีขึ้น

การ ‘จับผู้ชาย’ แบบไร้ยางอาย โฉ่งฉ่างเพื่อเลื่อนสถานะตัวเองจึงเป็นสันดานที่ควรถูกประณาม ผิดกับการ ‘จับผู้ชาย’ ของสตรีผู้มีตระกูลสูงส่ง จึงไม่แปลกที่คุณนาย ‘อ่อนซั่ก’ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วาสิฏฐี’ ตามนโยบายสมัยรัฐนิยม) จะถูกล้อเลียนในฐานะที่เป็นลูกเจ๊กสำเพ็งผู้ลืมกำพืดที่พยายามจะส่งลูกสาวไปจับพิเชฐ พระเอกของเรา เมื่อทราบว่าบ้านเขามั่งคั่งร่ำรวยเป็นทายาทเศรษฐีสีลม ความเป็นจีนที่ไม่กลายเป็นไทยของคุณนายเห็นได้จากการล้อเลียนสำเนียงการพูดไทยไม่ชัด[18] เธอพยายามส่งลูกสาวที่เรียกว่า “คุณน้อยขา” และ “คุณนวลขา” มาจับพิเชฐ แต่ไม่สำเร็จด้วยกลอุบายของเด็กชด บ่าวผู้ซื่อสัตย์ของพิเชฐ อันที่จริงความเนื้อหอมของพิเชฐนั้นไม่ธรรมดา เขามีผู้หญิงมาติดพันเสมอตามจดหมายที่นิกเขียนไปเล่าให้พิมฟัง แต่ด้วยความสัตย์จริงหรือกะล่อนไม่ทราบได้ พิเชฐมิได้สนใจใครเลย

ครอบครัวและความสัมพันธ์ทางเพศ ถูกเน้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงชนชั้นและความสูงส่งของผู้คนในเรื่อง พิเชฐและมนทิราเป็นผู้ที่อดกลั้นต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจเอ่ยปากบอกรักตรงๆ การแสดงความรู้สึกทางอ้อมผ่านจดหมายจึงเป็นชั้นเชิงที่มีรสนิยม ขณะที่สำหรับตัวละครอื่นในเรื่องช่างเป็นเรื่องราวที่คาวโลกีย์และน่าซุบซิบนินทาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนายมากเพื่อนบ้าน บุญช่วยลูกสาวแม่ครัว และพิศวง ทั้งสามคือตัวละครที่เป็นภาพตัวแทนชนชั้นล่างอันมีลักษณะที่แตกต่างกันไป

นายมาก เพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามบ้านพักของพิเชฐที่ภูเขียว เขาเป็นหัวหน้าครอบครัวขนาดใหญ่ที่อยู่ในเรือนชั้นเดียว มุงจาก มีห้องเดียวที่อยู่ร่วมกันกว่า 10 คน นายมากเซ้งต่อเมียของเถ้าแก่ฮง พร้อมกับลูกติดอีก 5 คน หลังจากนั้นนายมากก็มีเมียใหม่เป็นคนไทยชื่อ ‘สะอิ้ง’ มีลูกด้วยกันอีก 4 คน และให้สะอิ้งไปคุมร้านขายของชำ ลักษณะบ้านของนายมากมีลักษณะที่ไม่ถูกสุขอนามัย[19] จึงเป็นภาพแสดงถึงชีวิตของคนชั้นล่างที่มีสภาพเสื่อมโทรม

บุญช่วย ลูกแม่ครัวของพิเชฐที่ทำงานเป็นคนซักผ้าให้กับพิเชฐ เกิดตั้งท้องขึ้นมากับยง คนขับรถ ตอนแรกบุญช่วยปิดเป็นความลับไม่บอกว่าใครเป็นพ่อเด็ก ทำให้พิเชฐกลายเป็นผู้ต้องสงสัย จนเกือบสูญเสียบ่าวไพร่ในเรือนอย่างแม่ครัว และเด็กชด สุดท้ายเฉลยที่ไปท้องกับยง คนขับรถ เหตุที่ปกปิดไว้ก็เพราะความสัมพันธ์ทางเพศที่ยุ่งเหยิงระหว่างยงกับทิม เมียของเขา ทิมเดิมเป็นพี่สะใภ้ของยง แต่พอผัวของทิมเข้าคุก ก็มาได้กับยงจนมีลูกมาหนึ่งคน แล้วทิมก็เป็นคนขี้หึงอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าพกขวดน้ำกรดไว้กับตัว ถ้ารู้ว่ายงนอกใจจะได้เห็นดีกัน เรื่องมาคลี่คลายก็ตอนที่ผัวของทิมออกจากคุก ทิมก็ต้องขอเลิกกับยง[20] ความยุ่งเหยิงดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นเรื่องผัวๆ เมียๆ ของชนชั้นล่างได้เป็นอย่างดี

ขณะที่คุณนายพิศวง เมียของอาของสุวัณณี ภรรยาผู้จัดการโรงงาน ก็ถูกวางบทให้เป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวและเอาเปรียบคนอย่างเหลือร้าย ปัญหาคือการปูพื้นชีวิตของพิศวงว่าเคยเป็นคนใช้ในเรือน ‘คุณอา’ มาก่อน แล้วก็จับพลัดจับผลูได้กับ ‘คุณอา’ จนท้อง เลยต้องยอมจดทะเบียนด้วย พิศวงถูกติดป้ายว่า “พูดจาและมีความคิดความอ่านแบบชาวตลาดธรรมดานี่แหละค่ะ ดูเหมือนจะไปทางแม่ค้าปลาสดมากกว่าอื่น”[21] มีลูก 4 คนที่ทั้งซนและโกหก เห็นแก่ตัว ขี้ฟ้อง หยาบคาย และชอบแกล้งคน[22] ครอบครัวที่เลวร้ายนี่จึงสืบสันดานมาจากความเป็นชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่ได้รับการสั่งสอนอย่างที่ครอบครัวผู้ดีทำกัน โดย ‘คุณอา’ ก็ลอยตัวจากความผิดพลาดกันไป

ชนชั้นล่างจึงมิได้น่ารักสำหรับผู้เขียน แต่ที่พอจะมีอยู่บ้างก็คือ คนอย่างเด็กชดผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อนาย ถ้าอ่านดูดีๆ เด็กชดกับนิกมีลักษณะที่คล้ายกันคือดูแลรับใช้ เป็นห่วงนาย อยู่เคียงข้างนายไม่ทิ้งนายไปไหน และได้รับความรักความเอ็นดูจากนายราวกับเป็นญาติกัน

นิกกับพิม จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งราวกับเทพนิยายที่เจ้าชายกับเจ้าหญิงได้ครองคู่กัน แม้ทั้งคู่ได้พบกันเพียงเวลาสั้นๆ ความสัมพันธ์ทั้งสองผ่านตัวหนังสือทางจดหมาย และสุนัขอย่างนิกกับพิมได้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ที่สุด เมื่อเทียบกับ ปริศนา ที่เป็นนิยายแทนความมั่นใจของผู้หญิงยุคใหม่กับกระแสปฏิวัติที่เรียกร้องความก้าวหน้า แต่นิกกับพิมกลับถอยไปข้างหลัง ที่ทำให้ผู้หญิงอย่างมนทิรากลายเป็นเพียงช้างเท้าหลังผู้ภักดี ซึ่งในที่สุดแล้วเธอเองอาจไม่ต่างอะไรไปจาก ‘นิก’ กับ ‘พิม’. 


[1] ไทยพีบีเอสพอดแคสต์. “หลบมุมอ่าน EP. 52: ผู้หญิงของ ว.ณ ประมวญมารค”. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2565 จาก

https://www.thaipbspodcast.com/podcast/readingcorner/EP52-ผู้หญิงของ_ว.ณ_ประมวญมารค (26 ธันวาคม 2563)

[2] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 191

[3] ฐาปนัจฉร์ ขุนภักดี, “การศึกษาเปรียบเทียบนวสตรีในนวนิยายไทยเรื่อง ปริศนา ของ ว. ณ ประมวญมารค กับนวสตรีในนวนิยายอังกฤษยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19”, วารสารอักษรศาสตร์, 9 : 1 (2563): 4, 17

[4] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 228

[5] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 52

[6] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 31

[7] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 210

[8] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 189-191

[9] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 72

[10] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 148

[11] บีบีซีไทย. “รำลึก 60 ปีส่ง ‘สปุตนิก’ สู่อวกาศ”. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2565 จาก https://www.bbc.com/thai/international-41499397 (4 ตุลาคม 2560)

[12] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 189

[13] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 36-39

[14] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 76-77

[15] เต่าทองมะเขือเทศ (นามแฝง). “คอมมิวนิสต์ก็ชนะนิสัยคนไทยไม่ได้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกผ่านนวนิยาย ‘ไผ่แดง’ ”. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2565 จาก https://anowl.co/special-article/pai_dang/

[16] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 77

[17] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 142

[18] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 118

[19] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 72

[20] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 157-168

[21] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 215

[22] ว. ณ ประมวญมารค, นิกกับพิม (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2548), หน้า 221

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save