สังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคที่มีความซับซ้อนทางการเมืองและสังคมที่เขย่าอุดมการณ์สมัยปฏิวัติสยาม 2475 เป็นอย่างยิ่ง มีจุดเปลี่ยนสำคัญทางด้านการเมืองหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองนำไปสู่การรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2490 จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่การรัฐประหารทุกครั้งจะนำมาสู่การฆ่ารัฐธรรมนูญไปด้วย
นอกจากการเขียนรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อเขียน บทความ หนังสือ ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม เสรีประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม ล้วนมีโอกาสเผยแพร่ในตลาดวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายอยู่ได้ด้วยตลาดการอ่านเช่นนี้ หนังสือพิมพ์ นิตยสารเป็นพื้นที่ในการปล่อยของของเหล่านักเขียนไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ในที่นี้จะกล่าวถึงผลงานสองเรื่องได้แก่ บ้านทรายทอง ของ ก.สุรางคนางค์ ที่ตีพิมพ์ในปิยมิตร ช่วงปี 2493 และ ปริศนา ของ ว. ณ ประมวญมารค ที่ตีพิมพ์ลงในเดลิเมล์วันจันทร์ ช่วงปี 2494
ความน่าสนใจของนิยายทั้งสองคือ กลายเป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำข้ามยุคข้ามสมัยมาจนถึงในปัจจุบัน บ้านทรายทอง ล่าสุดถูกสร้างเป็นละครช่อง 7 ส่วน ปริศนา ถูกนำมาสร้างเป็นละครช่อง PPTV ทั้งคู่ผลิตขึ้นในปีเดียวกันคือ 2558 หลังรัฐประหารครั้งล่าสุดเพียง 1 ปี หรืออาจเรียกว่าอยู่ในช่วงที่ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งยังอยู่ในช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์กับรัฐบาล คสช. ภายใต้โครงการทางวัฒนธรรมอย่างรายการโทรทัศน์ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ การอัดฉีดค่านิยม 12 ประการเข้าสมองนักเรียน ฯลฯ
ในยุคที่บ้านทรายทองและปริศนาถือกำเนิดขึ้น นางเอกเป็นภาพตัวแทนความเป็นหญิงที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งของยุคสมัย หญิงสาวที่มั่นใจและหยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเอง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ก.สุรางคนางค์เขียนใน หญิงคนชั่ว (2480) พจมาน พินิตนันท์แห่งบ้านทรายทอง คือชนชั้นกลางที่มีพ่อเป็นถึงอดีตข้าหลวงจังหวัดที่เย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี ต่างจากรื่น (ชื่อเดิม ‘หวาน’) ในเรื่องหญิงคนชั่วที่เป็นลูกชาวนา ความคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือทั้งคู่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัด แต่รื่นเป็นเพียงโสเภณีที่หัวใจและศักดิ์ศรีถูกย่ำยี่จนแหลกสลาย
ส่วนปริศนา สุทธากุล ในเรื่องปริศนา แม้จะอาศัยอยู่ในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ แต่มีความเกี่ยวพันกับญาติๆ ในตระกูลสูง ทั้งพจมานและปริศนา ต่างเป็นผู้หญิงที่ล้ำหน้ากว่าผู้หญิงในยุคสมัยของพวกเธอ หากมองโดยผิวเผินแล้ว ทั้งคู่คือนิยายที่สะท้อนความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคู่อาจมองได้ถึงขนาดว่าเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้หญิงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ความน่ากังขาของ ปริศนา คือผู้เขียนก็อ้างว่าเริ่มเขียนตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มาเริ่มตีพิมพ์ก็อยู่ในช่วงปี 2494 แล้ว ในตัวบทจะเห็นถึงการลง พ.ศ. ในจดหมายว่าอยู่ในทศวรรษ 2480 ก่อนจะเกิดสงครามโลก และจนจบเรื่องก็ไม่มีการกล่าวถึงสงครามโลก การบุกของทหารญี่ปุ่นใดๆ แต่ความเป็นปริศนาได้ถูกเผยแพร่และตีความจากสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อนำรูปผู้หญิงคนหนึ่งที่รูปลักษณ์สวยเก๋ทันสมัยมาลงในปริศนาฉบับรวมเล่มเมื่อปี 2495[1] แทบจะทำให้ปริศนากลายเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเลือดเนื้อ

ตัวตน เรือนร่างและโลกของสตรีหลังสงคราม
จะเห็นว่าทั้งบ้านทรายทองและปริศนา เป็นนิยายที่ผู้หญิงเป็นตัวนำและชีวิตของพวกเธอคือแกนหลักของเรื่อง เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในเรื่องจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้หญิง หรืออาจเรียกได้ว่าส่วนหนึ่งแล้วพวกเธออยู่ในโลกของผู้หญิง ในเวลาใกล้เคียงกัน สี่แผ่นดิน (เริ่มเขียนลงเป็นตอนๆ ในสยามรัฐเมื่อปี 2494) ผลงานของคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นการเล่าโลกในอุดมคติของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยผ่านปากและมโนสำนึกของแม่พลอย หญิงผู้ผ่านชีวิตมาถึง 4 แผ่นดิน นอกจากข้อความทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของสตรีที่เกี่ยวข้องกับพลอยนั้นน่าตรึงตราใจเพียงใดโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวังกับเสด็จฯ
พจมานกับปริศนาแตกต่างจากแม่พลอยอย่างสิ้นเชิง เมื่อเธอคือผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกไปเมื่อไม่เห็นด้วย ทั้งคู่สูญเสียพ่อไปจากความตายที่ต่างกรรมต่างวาระ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเธอมีความเข้มแข็งและทนงในศักดิ์ศรีของตนท่ามกลางยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลังสงคราม
ในทศวรรษ 2490 เรือนร่างของสตรีถูกทำให้กลายเป็นสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จริงอยู่ว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2470 เริ่มมีการประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ก็เป็นการจำกัดวงด้วยเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ การจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้ายังไม่แพร่หลาย เมื่อเทียบกับหลังสงครามโลกที่ตลาดการพิมพ์เกิดขึ้นอย่างคึกคักแพร่หลาย ภาพเรือนร่าง ใบหน้า ถูกขับเน้นผ่านนิตยสารต่างๆ ทั้งในระดับประเทศอย่างเช่น เดลิเมล์วันจันทร์ หรือนายทุนเชียงใหม่ที่จัดพิมพ์ นิตยสารคนเมือง ที่เน้นการขายหน้าปกเป็นภาพผู้หญิงเหนือ หรือการทำให้นางงามเป็นสินค้า
สำหรับปริศนาแล้ว เธอเคยเอ่ยปากกับเพื่อนด้วยซ้ำว่าจะไปประกวดนางสาวสยาม เพราะมีจดหมายเชิญมาจากบริษัทสบู่ผู้จะส่งเธอเข้าประกวด จนทำให้คู่สนทนาตกอกตกใจ แม้จะเป็นการล้อเล่น[2] แต่ก็ทำให้เห็นอย่างน้อยสองประการว่า ภาพลักษณ์ของการไปประกวดนางสาวสยามในสายตาของชนชั้นกลางนั้นไม่สู้ดีเท่าใดนัก แต่ขณะเดียวกัน การเปิดเผยเรือนร่างของสตรียุคใหม่นั้นมิได้เป็นเรื่องถึงกับเสียหายอะไร เห็นได้จากชุดเก่งของปริศนาก็คือ การสวมกางเกงขาสั้นที่ถูกบรรยายว่า “กางเกงขาสั้นสีขาว ซึ่งสั้นกว่ากางเกงสั้นทั้งหลาย” [3] ปริศนายังแต่งตัวแบบที่รัตนาวดี ผู้หญิงด้วยกันชมว่า “เสื้อสีแดงแปร๊ด แล้วก็โป๊จัง รูปร่างสวยเหลือเกิน”[4] ปริศนายังถูกมองว่า “เมื่อแรกเห็นว่าเธอเปรี้ยวและโป๊ ต่อมาเห็นว่าเธอแปลก เธอเป็นคนที่หัวไวและฉลาด นพนั้นใครๆ ก็ว่าเขาฉลาด แต่เขา ‘หัวไว’ สู้ปริศนาไม่ยักได้”[5]
เรือนร่างของปริศนาในยุคดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้คนไม่ว่าจะหญิงหรือชาย สาเหตุที่ปริศนาโชว์เรือนร่างได้ก็เพราะว่าผู้เขียนให้พื้นเพว่าเธอถูกเลี้ยงดูมาจากสังคมอเมริกัน แม้จะมีคนมองค่อนขอดใดๆ แต่ปริศนามั่นใจเสียอย่าง ในทางกลับกัน เรือนร่างของพจมานที่สวมกางเกงขาสั้น กลับถูกถูกเหยียดหยามจากหญิงเล็กว่า “แต่งตัวทุเรศตา ยังกะอีผู้หญิงริมถนน”[6] ต่างกับปริศนาที่กลับมาเมืองไทยมีชีวิตที่อบอุ่นรายล้อมไปด้วยครอบครัวและผู้คนที่เป็นมิตร ขณะที่พจมานเดินทางมาจากบ้านนอกมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แทบจะมีแต่ศัตรู
ความงามของผู้หญิงยุคดังกล่าว อาจไม่ได้อยู่ที่สีผิวขาวอมชมพู อย่างปริศนา “แม่ปริศนานี่ก็สีเหมือนแหม่มอาบแดด รูปร่างก็สวย ท่าทางก็เก๋ไก๋พูดฝรั่งเป็นไฟ”[7] แม้กระทั่งรตี ตัวละครที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายที่สวยเปรี้ยวในปริศนาก็ “สวยเข้มเหมือนแขก” ขณะที่วิมล เพื่อนหญิงรัตนาวดีก็ “สวยเป็นไทยแท้” และมองย้อนไปว่า “สาวๆ เมื่อก่อนเขาต้องท้วมถึงจะสวย จะได้เต็มเนื้อเต็มหนัง”[8] โดยเฉพาะการชมว่าวิมลสวยอย่างไทยแท้มีการกล่าวคำนี้ถึงสามครั้งต่างสถานการณ์กัน ก็น่าสนใจว่า สวยอย่างไทยแท้เป็นอย่างไร มีฉากงานเลี้ยงที่วิมล “นุ่งผ้าซิ่นจีบสีแดงยกทอง สวมเสื้อสีแดงเกลี้ยงซึ่งเย็บคล้ายสไบเฉียงแบบโบราณ เผยให้เห็นแขนเรียวงาม และรูปร่างค่อนข้างท้วมได้ถนัด” [9] บทบรรยายนี้น่าจะทำให้เห็นภาพ
นอกเหนือจากความเป็นไทยแท้แล้ว แฟชั่นแบบตะวันตกก็เป็นที่นิยมเช่นการแต่งกายในชุดราตรีในงานเลี้ยง หรือการสูบบุหรี่ดังคำว่า “ผู้หญิงโก้เขาต้องสูบบุหรี่”[10] อย่างไรก็ตาม ความเป็นตะวันตกหลายครั้งก็ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยในเชิงดูถูกในปริศนา เช่น คำว่า “แหม่มครึ่งชาติจากสิงคโปร์” “แหม่มกะปิ” “ยายโรสตัวออกดำทำตัวเป็นแหม่มจ๋า” [11] หรือถึงขนาดว่า “แหม่มจะสู้ไทยด้วยกันได้หรือ?” [12]
บางครั้งความแตกต่างของทรงผมก็ทำให้บุคลิกของตัวละครเปลี่ยนไปด้วย ตัวเอกที่ไว้ผมเปียมักแสดงภาวะว่า คนคนนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ จึงพบว่าการเปลี่ยนจากผมเปียไปสู่ผมทรงอื่น เป็นการก้าวข้ามสู่ความเป็นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพจมานแห่งบ้านทรายทอง หรือหม่อมเจ้ารัตนาวดีน้องสาวของหม่อมเจ้าพจนปรีชา รัตนาวดีในมุมมองของปริศนาเมื่อแรกพบนั้นมองว่า “สวยอะไร หางหมูยาว”[13] หรือการที่ภาพลักษณ์ของพจมานที่เปลี่ยนไปดังบทสนทนาที่ว่า “ตั้งแต่ตัดผมเปียออกเสีย แลดูสวยและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ความสวยของพจ ทำให้ไอ้นายปฏิเวธกับนายสุทธิพงศ์จะเกิดฟาดปากกัน ไม่รู้หรือ”[14]
อย่างไรก็ตาม ความสวยมิได้เป็นคุณอย่างเดียว คนรุ่นก่อนอย่างแม่นมในบ้านทรายทอง เตือนพจมานที่ออกไปอยู่ตัวคนเดียวว่า “ความสวยเป็นภัยแก่ตัว สวยมากก็ยิ่งมีเรื่องมาก”[15]
เมืองนอก เมืองกรุงและบ้านนอก และความเป็นชาย
ทั้งปริศนาและบ้านทรายทองทำให้เราเห็นสังคมในสามชั้น นั่นคือเมืองนอก เมืองกรุง และบ้านนอก แต่ละพื้นที่ล้วนมีลำดับศักดิ์ความเจริญ-ความมีอารยธรรมที่ลดหลั่นกันไปด้วย ทศวรรษ 2490 ต่างประเทศเป็นเขตแดนที่คนส่วนใหญ่ในไทยน้อยครั้งจะจินตนาการไปถึงได้ คนจำนวนมากอาจรับรู้ผ่านทางภาพยนตร์ นิตยสาร หนังสือ หนังสือพิมพ์ จะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ไปเหยียบต่างประเทศจริงๆ เจ้านายชั้นสูงไม่น้อยได้ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ หรือมีประสบการณ์เดินทางไปในโลกตะวันตกอย่างช่ำชอง กรณีเช่นนี้ถูกถอดมาอยู่ในตัวละครและฉากในนิยายบางห้วงตอนด้วยซ้ำ
ตัวเอกอย่างหม่อมเจ้าพจนปรีชาแห่งปริศนาเคยถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์ภราดาพัฒน์ระพี (ชายกลาง) ก็มีโอกาสได้ไปดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง การใช้ภาษาอังกฤษก็ดูเป็นความหรูหราและเหนือระดับ เช่นการที่พจนปรีชาพูดหวานกับปริศนาเมื่อมีอารมณ์รักว่า “You are the sweetest girl I have ever known, Prissy”[16]
ความเป็นตะวันตกกับความเป็นชายยังถูกผนวกเข้าด้วยกันภายใต้การสร้างตัวตนของพระเอกกับพระเอกหนังฮอลลีวู้ด กรณีพจนปรีชาถูกนำมาเทียบกับแอรอล ฟลินที่ได้รับบทบรรยายว่า “รูปร่างใหญ่โต มีหนวด แล้วก็สูบกล้องเก๋”[17] ส่วนชายกลางถูกนำมาเทียบกับเจมส์ เมสัน ซึ่งเป็นดาราภาพยนตร์อังกฤษ ซึ่งมีลักษณะคือ “สง่า หน้าดุ พูดน้อย อิริยาบถเคลื่อนไหวช้าๆ เข้าทำนองผู้ดีเก่าอังกฤษที่สุภาพ”[18]
ขณะที่เมืองกรุงคือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ว่าจะไม่ได้เจริญเท่าเมืองนอก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงศักดิ์อำนาจและความมั่งคั่งในใจกลางของประเทศ บ้านทรายทองเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งเรืองของผู้มีอันจะกินบริเวณถนนวิทยุ ส่วนบ้านปู่ของปริศนานั้นก็เป็นบ้านขุนน้ำขุนนางที่เก่าแก่ ยังไม่ต้องนับวังริมแม่น้ำพระยาของพจนปรีชาที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเจ้าที่ดินอันมั่งคั่ง การบรรยายถึงรถยนต์ยี่ห้อต่างประเทศ เสื้อผ้า แฟชั่นสมัยใหม่ ล้วนบ่งบอกถึงความทันสมัยและความเจริญทางวัตถุ ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องราวในกรุงเทพฯ แทบจะไม่พูดถึงวัดหรือกิจกรรมทางศาสนาเลย หากจะพูดถึงก็มีแต่ว่าเป็นพื้นที่ปลีกวิเวกอย่างหญิงใหญ่ในบ้านทรายทองที่คิดว่าบั้นปลายชีวิตจะไปอยู่ที่นั่น
ส่วนบ้านนอกเป็นพื้นที่ตัวประกอบที่มักถูกเหยียดหยาม ดีที่สุดที่เป็นได้ก็คือแหล่งท่องเที่ยวอย่างทะเลหัวหิน ศรีราชา บ้านที่พจมานจากมา ผู้แต่งไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นจังหวัดอะไร เพียงระบุว่าเป็นจังหวัดที่มีรถไฟแล่นไปถึง จังหวัดนี้จึงดูเหมือนไกล แต่ไม่ไกล เหมือนมีตัวตน แต่ไม่มีตัวตน เช่นเดียวกับสภาวะบ้านนอกทั้งหลายในนาม ‘ต่างจังหวัด’ ของคนกรุงเทพฯ
ที่น่าสนใจคือ ทั้งปริศนาและพจมานต่างกำพร้าพ่อ ตัวตนความเป็นชายของพระเอกนี้เองที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม ‘พ่อ’ และ ‘ความเป็นชาย’ ที่เธอขาดหายไป ที่น่าสนใจคือกรณีของปริศนาที่ถูกเลี้ยงมาแบบผู้ชายจากอาผู้ชายของเธอที่มีความสนิทสนมกันอย่างมาก การเดินทางกลับมาไทยก็เท่ากับว่า ปริศนาห่างออกไปจากอาผู้ชายที่เสมือนเป็นพ่ออีกคนของเธอ การตกอยู่ในอำนาจความรักของพระเอก ก็คือการที่พวกเธอที่ดูพยศถูกสยบด้วยน้ำมือของความเป็นชายตามครรลองไปด้วย


เจ้านาย เจ้าชาย เจ้าหญิง กับการกลับมาของอนุรักษนิยมในรูปแบบเทพนิยายหลังสงคราม
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรยากาศที่เคร่งครัดแบบรัฐบาลทหารในช่วงสงครามเริ่มผ่อนคลายลง เช่นเดียวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎรถูกโจมตีพร้อมกับข้อครหาคดีสวรรคต ในทางตรงกันข้าม สื่อสิ่งพิมพ์และนิยายฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายเจ้ากลับมามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มน้ำเงินแท้ หนังสือที่เขียนโจมตีฝ่ายคณะราษฎร อย่างเช่น ยุคทมิฬ (2489) ฝันร้ายของข้าพเจ้า (2491) ความฝันของนักอุดมคติ (2490) หรือนิยายที่สร้างตัวละครฝ่ายนิยมเจ้าที่มีเลือดมีเนื้ออย่าง สี่แผ่นดิน (2494) [19] กระแสอนุรักษนิยมทางสิ่งพิมพ์จึงเป็นการตีกลับอุดมคติช่วงปฏิวัติสยาม โดยจัดวางให้ฝ่ายคณะราษฎรเป็นตัวร้าย ขณะเดียวกันก็รื้อฟื้นและถักทอความดีงามในอดีตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เจ้าและวังขึ้นมา
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจก็คือ การอภิเษกสมรสของกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ที่เกิดขึ้นในปี 2493 ในปีเดียวกับที่บ้านทรายทองเริ่มทยอยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และก่อนหน้าปริศนาและสี่แผ่นดินจะตีพิมพ์เพียง 1 ปี ก่อนหน้านั้นชีวิตของกษัตริย์หนุ่มและพระคู่หมั้นถูกนำเสนอเรื่องราวผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั้งในประเทศและในยุโรป ในช่วงต้นของการครองราชย์ อาจกล่าวได้ว่ากษัตริย์หนุ่มได้รับความสนใจจากผู้อ่านอยู่อย่างน้อยสองสถานะ คือ ‘เจ้าชีวิต’ แบบเดิม และในฐานะคนดังหรือ ‘เซเล็บฯ’ ผู้หนึ่ง ดังนั้นเรื่องราวของชนชั้นสูงภายใต้ฉากโลกที่เจริญแล้วจึงอยู่ในความรับรู้และความสนใจของคนไทยส่วนหนึ่งในยุคดังกล่าวอยู่ไม่น้อย

และบังเอิญไปกว่านั้น การ์ตูนวอลต์ ดิสนีย์ได้จัดทำเรื่องซินเดอเรลลาฉายในปี 2493 เช่นกัน ยิ่งทำให้ตอกย้ำเทพนิยายอันโรแมนติกของชนชั้นสูงมากขึ้นไปอีก
กลับมาที่ปริศนา ฝ่ายพระเอกคือเจ้าชายดีๆ นี่เอง หม่อมเจ้าพจนปรีชาคือผู้ชายในอุดมคติที่มีทั้งรูปสมบัติที่หล่อเหลา มีรูปร่างใหญ่โต มีคุณสมบัติที่มีความประพฤติดี ใจดี มีทรัพย์สมบัติ เป็นเจ้าของวังศิลาขาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำหนักมโนรมย์ที่หัวหิน ตำหนักสุขารมย์ที่ศรีราชา และตำหนักที่เชียงใหม่ ถึงขนาดว่า “คนที่ดีจริงๆ ทุกประการอย่างท่านชายหายาก ในร้อยปีอาจมีสักคนหนึ่งกระมัง”[20] ความมั่งคั่งของเขาถูกส่งผ่านมาในฐานะมรดก เขาจึงเป็นบุรุษผู้ดีพร้อม ทั้งยังมีเชื้อสายที่สูงส่ง เขายังมี “เด็จอา” ที่อาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่คอยอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทแบบชาววัง ในวังศิลาขาวมีมหาดเล็ก หรือคนรับใช้ในวังที่คอยดูแลความเป็นอยู่ตั้งแต่ตื่นนอน รับประทานอาหาร ฯลฯ อันเป็นตัวแทนความสะดวกสบายที่คนชั้นสูงเท่านั้นจะครอบครองได้
ในทางตรงกันข้าม ในเรื่องบ้านทรายทอง หม่อมราชวงศ์ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ (ชายกลาง) แม้จะทรงอำนาจ แต่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านจริงๆ พ่อในชั้นหม่อมเจ้าของเขาก็ไม่มีทรัพย์สินติดตัว บ้านทรายทองที่เขาอยู่ก็เป็นมรดกทางฝั่งแม่ น่าสนใจมากว่าบ้านทรายทองตั้งอยู่บนความไม่สมบูรณ์แบบ ที่นอกจากแม่ของชายกลางและหญิงเล็กจะเป็นตัวอิจฉาอย่างแรงกล้า หญิงใหญ่มีสภาพจิตใจไม่ปกติเนื่องจากถูกพรากออกจากคนรักที่ต่างชนชั้น ในบริเวณบ้านยังเป็นที่ตั้งของศพที่ยังไม่ได้ฌาปนกิจ พร้อมกับคราบสังขารที่ยังมีลมหายใจของผู้ชราภาพที่มีชีวิตอันโลดโผนและเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในยามหนุ่ม บ้านทรายทองจึงเสมือนนิยายที่ตั้งคำถามกับความชอบธรรมของชนชั้นสูงอันน่ารังเกียจอยู่ในที และไม่ได้ผลิตซ้ำภาพในอุดมคติอย่างที่กล่าวมา
คนใช้ ไพร่ สามัญชน คนเลว คนชายขอบ เจ๊ก แรงงาน และผู้ประกอบการในเขตเมือง
ภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับชนชั้นสูงก็คือคนชั้นล่าง เมื่อสำรวจดูจะเห็นการสร้างตัวตนของกลุ่มคนเหล่านี้ไว้อย่างน่าสังเกตไม่ว่าจะเป็นคนใช้ สามัญชน หรือ ‘เจ๊ก’
นิยายทั้งสองเรื่องต่างให้ภาพของครอบครัวชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่จะต้องมี ‘คนใช้’ ติดบ้านไว้เสมอ ปริศนา แม้จะอยู่ในย่านชานเมือง มีสถานะการเงินที่ไม่ได้มั่งคั่งอะไร แต่ก็มีคนใช้อยู่ที่บ้านถึง 5 ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแขกยาม ตาชุ่ม ยายเตียง เด็กชุบ (ลูกตาชุ่มยายเตียง) และจำเนียร[21] ตรงกันข้ามบ้านย่าของปริศนานอกจากจะเป็นบ้านหลังใหญ่และเต็มไปด้วยตึกอันใหญ่โตอันเป็นที่พำนักของพวกขุนน้ำขุนนางเก่าแล้ว ก็เต็มไปด้วยคนใช้ ปริศนาบรรยายว่า “พอไปถึงคนใช้สาวๆ คลานออกมารับรอง เชิญไปนั่งคอยที่หน้าตึก…คอยสักครู่สาวใช้อีก 4 คนก็เอาพรมมาปูอีก 2 ผืน และอีกหลายคนออกมานั่งดูเรา”[22] หรือคำสั่งของรตี ต่อเพียร คนใช้วว่า “นี่เพียร ไปบอกคนรถไป๊ ให้ไปรับเจ้าคุณ… แล้วบอกผินด้วยว่าเดี๋ยวฉันจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้มาคอยรับใช้””[23] ครอบครัวปริศนาเมื่อยามไปเที่ยวหัวหินแล้วจะกลับรถไฟ ก็จะให้คนใช้ไปซื้อรถตั๋วรถไฟที่สถานี แล้วให้ไปนั่งกันที่ไว้แต่เช้ามืด[24] แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจการควบคุมคนแบบเดิมเพื่อความได้เปรียบในการใช้บริการสาธารณะ นอกจากนั้นคนใช้ในมุมมองชนชั้นกลางแล้ว ก็ไม่ได้เป็นคนที่เท่าเทียมกันนักทางสติปัญญา อย่างที่ปริศนากล่าวถึงเด็กชุบว่า “เด็กคนใช้หน้าโง่คนหนึ่ง” [25] “เด็กคนใช้ซึ่งโง่จะตาย” [26]
ขณะที่ในเรื่องบ้านทรายทอง การที่พจมานเข้าไปสู่บ้านทรายทองโดยที่เจ้าของบ้านไม่ต้อนรับ ทำให้เธอต้องถูกผลักไปอยู่ในเรือนคนใช้ ทำให้นิยายเรื่องนี้บรรยายให้เห็น space ที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างเจ้านายกับคนใช้ได้เป็นอย่างดี พื้นที่ของพจมานและคนใช้ ถูกกันออกจากสายตาของแขกผู้มาเยี่ยมบ้าน ไม่มีสิทธิ์ใช้พื้นที่อย่างห้องน้ำ ห้องกินข้าวร่วมกันกับคุณๆ ในบ้าน อย่างไรก็ตาม บ้านทรายทองก็ทำให้เห็นมิติทางการเมืองของคนใช้ที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน คนใช้ก็จะขึ้นอยู่กับเจ้านายแต่ละคนอีก พจมานจึงถูกคนระดับคนใช้กลั่นแกล้งเอา เมื่อคนใช้เป็นคนของคุณหญิงพรรณรายและหญิงเล็ก และเมื่อตระกูลสว่างวงศ์จำต้องย้ายออกจากบ้านเมื่อความจริงเปิดเผย คนใช้ที่ภักดีก็กล่าวว่า “เราเป็นบ่าว ท่านไปอยู่ไหนเราต้องไปด้วย…นายเก่าจะเลวกว่านายใหม่ยังไงได้ เราต้องว่าเจ้านายของเราดีวันยังค่ำ ใครว่าคุณชายกลางของเราไม่ดีเป็นไม่ได้”[27]
แม่ของปริศนาและพจมาน เป็นตัวแทนของสามัญชนที่ได้แต่งงานกับสามีที่รับราชการที่ตระกูลทางสามีไม่ยอมรับ สมร แม่ของปริศนาให้กำเนิดปริศนาหลังพระวินิจมนตรีพ่อของปริศนาตาย ทำให้กลายเป็นข้อครหาว่า ปริศนาใช่ลูกของพระวินิจมนตรีจริงหรือไม่ เมื่อสามีตาย ครอบครัวของสมรก็ต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร ลูกต้องๆ ตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นเพื่อช่วยเหลือทางการเงินของครอบครัว กระนั้น แม่ของปริศนายังมีชื่อปรากฏ แต่แม่ของพจมานไม่ปรากฏกระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม และพบว่าตัวตนของเธอนั้นถือว่าต้อยต่ำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เป็นโรคหัวใจแล้ว เธอยังไม่สามารถเลี้ยงลูกให้ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น พจมานที่ได้ดีกว่าคนอื่นก็เพราะเธอได้รับการสั่งสอนมาจากพ่อ กระทั่งตัวเธอเองยังตอกย้ำว่าตนเป็น “คนชั้นต่ำ คนเลว”[28] ในความหมายว่าเป็นสามัญชนที่ไม่มีสกุลรุนชาติอะไร ดังคำด่าที่หญิงเล็กบริภาษถึง พจมานว่า “อีคนอาศัย อีพวกชาติไพร่ ลูกคนชั้นต่ำๆ หญิงทนไม่ได้”[29]
คนจีนก็เป็นตัวละครเล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกอยู่ในฐานะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้ประกอบการทางสังคมในยุคดังกล่าว ที่น่าแปลกคือ คำว่า ‘เจ๊ก’ ไม่ปรากฏ (หรือหากมีก็น้อยมาก) ในบ้านทรายทอง แต่เราจะพบคำนี้ในปริศนาบ่อยครั้ง ซึ่งในยุคดังกล่าวคำว่าเจ๊กเป็นคำเรียกเชิงดูถูก แต่อย่างไรก็ตาม คนจีนก็มิได้มีสถานภาพที่ดีนัก เห็นได้จากการที่พจนาน้องชายพจมาน ไปได้เสียกับลูกสาวคนเล็กจีนที่ “ก็ไม่ใช่คนดิบคนดีอะไรด้วย ลูกสาวคนเล็กของตาแป๊ะที่เคยเช่าสวน เห็นมันจงรักภักดีก็เลยเวทนามัน”[30] ในปริศนา เจ๊กมีบทบาทสำคัญในหลายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นร้านเจ๊กหน้าบ้านที่ขายของชำและเป็นร้านที่มีโทรศัพท์ที่ครอบครัวปริศนาจะใช้ติดต่อไปไหนมาไหน ในฐานะคนส่งของ ‘เรือเจ๊กขายหมู’ [31] เครื่องแต่งกายที่เป็นกางเกงชุดนอนก็เรียกว่า ‘กางเกงเจ๊ก’ [32] กระทั่งอาหารการกินก็เรียกว่าไป ‘กินข้าวเจ๊ก’ [33] อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์คนจีนเหล่านี้คือจีนจน อันเป็นจีนคนละชั้นกับพวกเจ้าสัวหรือผู้ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางจากการรับราชการ นอกจากตาแป๊ะที่เช่าที่ดินแม่พจมานปลูกบ้านแล้ว เจ๊กที่มาเช่าที่ส่วนหนึ่งวังศิลาขาวทำสวนฝรั่งก็ให้ภาพครอบครัวจีนจนได้ดี เจ๊กกุยมีเมียพร้อมกับลูกอีก 7 คน[34] ความเสียงดังโวยวายของชาวจีนก็ถูกนำมาเปรียบเปรยว่า “ตะโกนเป็นเจ๊กตื่นไฟไปได้ คนอะไร” [35]
ปริศนา ผู้ดีสายลมแสงแดด กับ บ้านทรายทอง ความหยาบคายของผู้ดี
หากปริศนาจะใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ หากจะมีความเดือดเนื้อร้อนใจก็มีเพียงการไม่ถูกยอมรับจากบ้านฝ่ายพ่อ โลกในปริศนาจะเห็นได้ว่าอยู่ในสมดุลที่คนแต่ละชั้นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเป็นความสงบที่ตั้งอยู่ในชนชั้นทางสังคมที่แยกขาดกันอย่างชัดเจนมีเจ้านาย ชนชั้นกลาง คนใช้ และชาติพันธุ์ชายขอบที่ทำหน้าที่ของตน ครอบครัวปริศนาแม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ปริศนาก็ไม่ใช่คนไม่มีหัวนอนปลายตีน ปริศนาใช้ชีวิตที่สนุกไปวันๆ แต่งตัวสวยๆ ร่วมงานสังสรรค์ปาร์ตี้ เล่นกีฬาเข้าสังคม เธอวางตัวได้อย่างไม่เคอะเขิน แม้จะอยู่ต่อเจ้านายอย่าง “เด็จอา” ของท่านชายพจน์ ตอนจบของเรื่อง ปริศนาได้ปิดฉากเทพนิยายด้วยการสมรสกับเจ้านายชั้นสูง ปริศนาจึงคล้ายกับซินเดอเรลลาที่ได้สมรสกับเจ้าชาย ยกระดับตัวเองไปสู่สมาชิกชนชั้นสูงที่เปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรีและความมั่งคั่ง เรื่องราวของเธอจึงเป็นเรื่องชวนฝัน โรแมนติก แม้จะมีปมปริศนาบางอย่างเกี่ยวกับชาติกำเนิดแต่เธอก็ผ่านมันไปได้
ตรงกันข้ามกับบ้านทรายทอง ที่เต็มไปด้วยซีนอารมณ์ ความขัดแย้ง พจมานผู้เย่อหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเป็นคู่ขัดแย้งที่มีความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกตั้งแต่ในบ้านของตนเอง เธอเป็นลูกพ่อ ไม่เข้าใจแม่ และถูกน้องสาวอิจฉา เมื่อเข้ากรุงก็ต้องมาเจอกับความหยาบคายและการเหยียดหยามดูถูกของเจ้าของบ้านทรายทอง การตอบโต้กันอย่างเผ็ดร้อนเช่นนี้เห็นได้จาก “มันทะลึ่งตึงตังเสียเหลือเกิน ไพร่ไม่ผิดแม่มันเลย” พจมานได้ยินก็โกรธและตอบกลับว่า “บ้านทรายทองถือดีว่าเป็นพวกผู้ดีมีสกุลทุกๆ คน แต่ดิฉันไม่เข้าใจว่า เหตุใดพวกที่เรียกตัวเองว่าผู้ดีจึงดูหมิ่นคนได้ง่ายๆ”[36] หรือ “อีชาติชั่ว อีเด็กเนรคุณ อาศัยข้าวแดงแกงร้อนเขากินแล้วยังบังอาจเข้ามาขึ้นเสียง ได้ยินกันไหม ทุกๆ คน เห็นฤทธิ์เดชลูกของไอ้พนา ไอ้ไพร่สารเลวบ้างไหม?” พจมานตอบกลับว่า “แม้ว่าเลือดของดิฉันไม่เข้มเหมือนเลือดสีน้ำเงินของพวกสว่างวงศ์ แต่พินิตนันท์ของดิฉันก็ไม่ต่ำกว่าใคร เคยทำแต่คุณงามความดี ไม่เคยมีชื่อว่าเบียดเบียนและทารุณใครๆ”[37]
เหมือนจะก้าวหน้า แต่ชาติกำเนิดก็สำคัญที่สุด
แม้จะรู้สึกได้ถึงความทันสมัยของตัวละครหญิงอย่างปริศนาและพจมาน ที่ไม่ใช่ผู้หญิงตามแบบฉบับที่เป็นผู้หญิงเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ แต่ก็พบว่าภายใต้เปลือกนอกที่ทันสมัยในด้านแฟชั่น หรือความกล้าที่จะคิดและตัดสินใจผิดวิสัยของผู้หญิงที่ถูกพร่ำสอนให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนนั้น ก็มีปัญหาสำคัญที่พึงอภิปรายตอนจบ นั่นคือในที่สุดแล้ว ชาติกำเนิดของทั้งคู่สำคัญที่สุด ปริศนาและพจมานอย่างน้อยก็มีตระกูลอยู่ในชนชั้นกลางของพีระมิดทางชนชั้น ครอบครัวทั้งคู่แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ล้วนมีคนใช้คอยรับใช้และดูแล พวกเธอได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับโอกาสทางชีวิต และที่สำคัญพวกเธอล้วนอิงอยู่กับตระกูลและชาติกำเนิดเป็นสำคัญ
อย่างปริศนา ต้นกำเนิดของชื่อเธอและการคลี่คลายไปสู่ตอนจบก็คือปมว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นใครกันแน่ เป็นลูกของพระวินิจมนตรีจริงๆ หรือไม่ ความจริงที่เผยว่าเธอคือเลือดเนื้อเชื้อไขจริงๆ นอกจากจะทำให้แม่ของเธอบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาแล้ว ยังทำให้เธอมีความชอบธรรมที่จะแต่งงานกับคนระดับหม่อมเจ้าอีกด้วย
ส่วนพจมาน พินิตนันท์ ศักดิ์ศรีของชาติตระกูลที่เธอแบกไว้มาจากการหล่อหลอมมาจากพระดุลยธรรมพินิต (พนา พินิตนันท์) พ่อของเธอ การทวงคืนสิทธิ์จากบ้านทรายทองแม้จะเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของเธอ แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าชาติกำเนิดเธอเป็นคนชั้นต่ำ การเรียกร้องและการต่อสู้ของพจมานภายใต้แรงกดดันจึงมาจากลมใต้ปีกที่อ้างสิทธิ์ทางชีววิทยา มากกว่าการเรียกร้องทางสังคมอย่างสิทธิแรงงานของชนชั้นแรงงานที่ในขณะนั้น คนจีนและกรรมกรในเขตเมืองไม่น้อยเริ่มมีปากเสียงขึ้นในช่วงหลังสงครามเช่นเดียวกัน การตอกย้ำเรื่องชาติกำเนิดและความชอบธรรมของตระกูลจึงเป็นการชูเรื่องความเหนือกว่าของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเลี่ยงมิได้เลย
ตารางแสดงประเด็นเปรียบเทียบระหว่างบ้านทรายทองและปริศนา
ประเด็นเปรียบเทียบ | บ้านทรายทอง | ปริศนา |
ผู้แต่ง | ก.สุรางคนางค์ (กัณหา เคียงศิริ) | ว. ณ ประมวญมารค (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) |
ประวัติตีพิมพ์ครั้งแรก | ปี 2493 ใน ปิยมิตร | ปี 2494 ใน เดลิเมล์วันจันทร์ |
นิยายต่อเนื่อง | พจมาน สว่างวงศ์ (ไม่ทราบปี) | เจ้าสาวของอานนท์ (2494?), รัตนาวดี (2496) |
ยุคสมัยในเรื่อง | หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 | ตั้งแต่ปี 2481 |
นางเอก | พจมาน พินิตนันท์ อาชีพครูสอนดนตรี | ปริศนา สุทธากุล อาชีพครูโรงเรียนสตรีเอกชน |
พระเอก | หม่อมราชวงศ์ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ (ชายกลาง) ข้าราชการชั้นสูงในกรมใดกรมหนึ่ง | หม่อมเจ้าพจนปรีชา อาชีพนายแพทย์ (ท่านชายพจน์) |
บ้านของพระเอก | บ้านทรายทอง ถนนวิทยุ | วังศิลาขาว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา |
บ้านของนางเอก | ริมน้ำ ต่างจังหวัด (ไม่ระบุ) รถไฟไปถึง | แถบบางกะปิ |
ครอบครัว | บิดา : พระดุลยธรรมพินิต (พนา พินิตนันท์), มารดา : ไม่มีชื่อ, น้องชาย : พจนา, น้องสาว : พจนีย์ | บิดา : พระวินิจมนตรี, มารดา : สมร, พี่สาว : อุบล, สิรี, อนงค์ |
ตัวร้าย | หม่อมพรรณราย สว่างวงศ์ ณ อยุธยา, ม.ร.ว.ภาวิณีจรัสเรือง สว่างวงศ์ (หญิงเล็ก) | รตี ราชพรรลภ |
ฉากและภูมิศาสตร์ตามท้องเรื่อง | ศรีราชา, ไซ่ง่อน เวียดนาม, อังกฤษ | ศรีราชา, หัวหิน, สหรัฐอเมริกา |
ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละคร | ละครเวที : 2494, 2495?, ภาพยนตร์ : 2499, 2523, ละครโทรทัศน์ : ช่อง 4 (2501), ช่อง 4? (2511), ช่อง 9 (2521), ช่อง 7 (2530), ช่อง 3 (2543), ช่อง 7 (2558) | ภาพยนตร์ : 2525, ละครโทรทัศน์ : ช่อง 3 (2530), ช่อง 7 (2543), ช่องพีพีทีวี (2558), ละครเวที : 2558 |
[1] เรื่องเล่าจากลาดพร้าวหนึ่ง. “ปริศนาตัวจริง!! “วาสนา กระแสสินธุ์” ต้นแบบจากนิยาย “ปริศนา” ในภาพสมมุติของ “พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน”. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.facebook.com/Makaranont/posts/688992025036891/ (29 พฤษภาคม 2563)
[2] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), ปริศนา (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2563), หน้า 341
[3] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 32
[4] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 181
[5] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 449
[6] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), บ้านทรายทอง (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2558), หน้า 241
[7] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 77
[8] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 405
[9] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 528
[10] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 460
[11] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 392, 395, 396
[12] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 459
[13] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 65
[14] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 377
[15] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 368
[16] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 293
[17] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 493
[18] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 239
[19] ดูใน ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ โค่นคณะราษฎร”, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556), หน้า 55-61
[20] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 814
[21] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 47
[22] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 48
[23] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 154
[24] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 262
[25] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 16
[26] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 288
[27] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 621
[28] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 556
[29] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 470
[30] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 551
[31] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 769
[32] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 184
[33] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 87
[34] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 773
[35] ว. ณ ประมวญมารค (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 505
[36] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 224
[37] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 225