fbpx

รอยลบ รอยลับ รอยอาลัย: บ้านพักชนชั้นนำสยามผู้ลี้ภัยในปีนัง

ชนชั้นนำสยาม ผู้ลี้ภัย

ความเดิมตอนที่แล้ว (มีใครยังรออยู่เหรอ?)

ในช่วงท้ายของบทความ ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะที่เขียนจากทางไกล: ‘สาส์นสมเด็จ’ ในปีนัง’ ผู้เขียนทิ้งปัญหาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พื้นที่’ กับการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มี ‘เครื่องหมาย’ บางอย่างที่มองเห็นได้ในทางกายภาพแล้ว เราจะศึกษาหรือเขียนอะไรได้อย่างไรในเมื่อประวัติศาสตร์ศิลปะอาศัย ‘วัตถุ’ เป็นจุดตั้งต้นของการทำงาน? (วัตถุที่ว่าเป็นได้ตั้งแต่ผลงานศิลปกรรมนานาชนิดที่สร้างขึ้นจากสื่อทุกประเภท ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างทุกรูปแบบ) หากปราศจากวัตถุ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะยังมีความหมายอะไรอยู่ไหม? พื้นที่มีความหมายอย่างไรต่อการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุ? ในทางกลับกัน วัตถุมีความหมายอย่างไรต่อพื้นที่? ไม่ว่าวัตถุนั้นจะยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือสลายหายไปแล้วแต่เคยตั้งอยู่ตรงนั้น 

อันที่จริงแล้ว ชุดคำถามข้างต้นไม่ได้แปลกประหลาดอะไร นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ศึกษาซากปรักหักพังรับมือกับเรื่องแบบนี้อยู่ตลอดเวลา อิฐกองหนึ่งในทุ่งร้างที่ดูคล้ายจะเป็นฐานของสิ่งก่อสร้างอะไรสักอย่าง (เจดีย์?) อาจบอกเราว่าบริเวณนั้นเคยมีชุมชนตั้งอยู่ หรืออาจเป็นเส้นทางการค้า หรือเส้นทางการเดินทัพ สมมติฐานและคำอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะตามมาขึ้นอยู่กับหลักฐานแวดล้อมและข้อมูลประกอบอีกหลายอย่าง ในทางกลับกัน ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่เองก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดอายุและรูปแบบทางศิลปะของสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย

ทั้งนี้ ปลายทางหนึ่งของคำตอบที่กลายเป็นองค์ความรู้ (จนกว่าจะถูกหักล้างด้วยหลักฐานหรือคำอธิบายใหม่) ก็คือการประเมินว่าวัตถุ สิ่งก่อสร้าง และพื้นที่นั้นๆ มีความสำคัญหรือไม่? อย่างไร? ต่อใคร? มากน้อยเพียงไร? เลยไปถึงเรื่องที่ว่า จำเป็นต้องอนุรักษ์ไหม? อย่างไรก็ตาม ฐานคิดที่เป็นตัวกำหนดมุมมองในการประเมินคุณค่าเองก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเช่นกันว่า มีความหลากหลายมากน้อยเพียงไร ครอบคลุมมิติใดบ้าง (ลองนึกถึงการหายไปของหมุดคณะราษฎร หรือแผนการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยุธยาที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้)

เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่รายรอบการเมืองของมรดก (heritage) และการอนุรักษ์ ตลอดจนการสร้างคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ (ศิลปะ) และการจดจำ        



เมืองจอร์จทาวน์ในปีนังมีสถานะเป็นมรดกโลก ซึ่งขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2551 ร่วมกับมะละกาในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ในช่องแคบมะละกา ด้วยความที่เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ประชากรในจอร์จทาวน์ (ซึ่งต่อไปจะเรียกในเชิงภาพกว้างว่า ‘ปีนัง’) จึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงฝรั่งบริติชเจ้าอาณานิคมด้วย ความหลากหลายที่ว่านี้สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนสนใจในปีนังไม่ใช่สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลหรือบรรดาคฤหาสน์สไตล์ kitsch ของเจ้าสัวจีนเปอนารากันที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง Cheong Fatt Tze (Blue Mansion) หรือ Pinang Peranakan Mansion (Green House) หากแต่เป็น ‘ย่าน’ ที่พักอาศัยของชนชั้นนำสยามผู้ลี้ภัยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผู้เขียนอยากรู้ว่าพวกเขาไปอยู่ที่ไหน (นอกจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งประทับอยู่ไม่บ้านเลขที่ 15 ก็ 206 บนถนนเกลาไว) บ้านพักอาศัยหน้าตาเป็นอย่างไร รูปแบบอาคารและย่านที่พำนักนั้นบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงสังคมทั้งในและนอกปีนัง  

การเดินเท้าเป็นวิธีที่ดีในการสำรวจภาคสนาม ลายแทงของผู้เขียนคือคลิปสามตอนจากรายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ (Ep. 53-55) ได้แก่ ‘สยามและปีนัง ดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ของสยามประเทศไทย‘, ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กับช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยการเมืองในปีนัง‘ และ ‘การลี้ภัยทางการเมืองที่จบลงด้วยการหลับใหลตราบชั่วนิรันดร์‘ กับ Google Map เพื่อนเก่านั่นเอง   

รายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านพักนับสิบหลังที่ใครต่อใครเคยได้พำนักอยู่ในปีนัง อย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย, หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แม้จะรู้ล่วงหน้าจากรายการว่า บ้านพักส่วนใหญ่ถูกรื้อไปแล้ว แต่ก็จะไปเดินอยู่ดีเพราะอยากเห็นร่องรอยบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ รวมถึงบรรยากาศของย่านในปัจจุบัน

เมื่อดู Google Map จะเห็นได้ว่าผู้เขียนปักหมุดไว้สิบจุดด้วยกัน บางจุดเป็นชื่ออาคารในปัจจุบันซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบ้านพักเหล่านั้นมาก่อน บางจุดเป็นเพียงชื่อถนน (Jalan/Jln) เลน (Lorong) และซอยแยก (Solok) ที่เคยมีบ้านพักตั้งอยู่ ทั้งสิบจุดวางตัวอยู่ในแนวเลียบชายฝั่ง ใช้ระยะเวลาเดินเท้าประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หรือขับรถราว 38 นาทีเท่านั้น ผู้เขียนตั้งต้นที่ Dewan Sri Pinang หอศิลป์และโรงละครใกล้ศาลาว่าการเมืองปีนัง ซึ่งแต่เดิมคือ ‘บ้านระนอง’ (ตระกูล ณ ระนอง บริจาคที่ดินให้ทางการเมืองปีนัง) ไปจนสุดที่ Solok Mano อันเป็นบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ชื่อ Jalan Mano และ Solok Mano ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเรื่องราวดังกล่าว

ข้อต่อที่เชื่อมทั้งสิบจุดบน Google Map นี้เข้าด้วยกันก็คือ ตระกูล ณ ระนอง (แซ่คอ) คหบดีจีนฮกเกี้ยนที่มีความสัมพันธ์กับราชสำนักสยามมาหลายชั่วอายุคน



ตระกูล ณ ระนองเป็นผู้ดูแลหัวเมืองภาคใต้มาอย่างยาวนาน มีเครือข่ายการค้าที่แผ่ขยายไปทั่วมลายู ห้างโกหงวนบนถนนบีช (Beach Street) ที่เป็นสำนักงานใหญ่ในย่านศูนย์กลางการค้าสมัย British Malaya อยู่ห่างจากบ้านระนอง ที่สร้างโดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก้อง) ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร กลุ่มสิ่งก่อสร้างสำคัญในละแวกใกล้เคียงยังประกอบด้วยป้อมคอร์นวอลลิส (Fort Cornwallis) และหอนาฬิกาสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (Queen Victoria Memorial Clock Tower)

ตำแหน่งที่ตั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงสถานะ ความสำคัญ และอิทธิพลของตระกูลในภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ-การเมือง บ้านระนองเคยเป็นที่รับรองเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงจากสยามยามที่ต้องมาขึ้นเรือเพื่อเดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ ส่วนบ้านอีกสองหลังของตระกูลบนถนนที่อยู่ติดกันคือ ถนนสุลต่านอาห์เหม็ดชาห์ (Jalan Sultan Ahmed Shah หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ถนนนอร์ธแธม – Northam Road) คือ ‘บ้านสโคเทีย’ ที่หันหน้าออกทะเล กับ ‘บ้านโนวาสโคเทีย’ ที่หันหน้าออกถนนนั้น ก็ล้วนเคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์เช่นกัน บ้านสโคเทียเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านจักรพงษ์’ ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเคยเสด็จมาประทับ ส่วนบ้านโนวาสโคเทียเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านอัษฎางค์’ ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งเคยเสด็จมาประทับ



ถนนสุลต่านอาห์เหม็ดชาห์เป็นถนนเลียบชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์สไตล์โคโลเนียลหรูหรามากมายมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ปัจจุบันเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ กล่าวได้ว่าเป็นย่านที่พักอาศัยของมหาเศรษฐีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราเดินตามทางไปเรื่อยๆ ก็จะพบกับคฤหาสน์ที่ถูกทิ้งร้าง (การบำรุงรักษาอาจเป็นภาระหนักหน่วงที่ทายาทไม่อยากแบกรับ) คฤหาสน์กึ่งร้างที่มีแต่คนเฝ้าเพราะเจ้าของไปอยู่ที่อื่น และคอนโดมิเนียมประเภทตึกสูงระฟ้าราคาแพงลิบ โดยมีอาคารธุรกิจอื่นๆ แทรกอยู่ประปราย น่าสนใจว่าในขณะที่บ้านสโคเทีย ซึ่งเคยใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2450 และเคยเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ถูกรื้อไปแล้วหลังจากการขายที่ดินในปี 2503 บ้านโนวาสโคเทีย อันเคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาเมื่อปี 2467 และรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2472  ยังมีร่องรอยให้เห็นอยู่โดยเป็นเปลือกหน้า (façade) ของคอนโดมิเนียมชื่อ Mayfair Condominium

ในคลิป ‘สยามและปีนัง ดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ของสยามประเทศไทย’ คุณสัญชัย ตัณฑวณิช ทายาท ณ ระนอง รุ่นที่ 4 เล่าว่า บ้านโนวาสโคเทียถูกขายไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้มีการดัดแปลงเป็นโรงแรมชื่อ เมโทรโพล ก่อนจะถูกขายต่อไปยังกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และถูกรื้อทิ้งไปในที่สุดเมื่อปี 2536 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบ้านหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ไว้ก่อนแล้วโดยทางการปีนัง การรื้อจึงต้องแอบทำโดยเป็นการทุบทิ้งกลางดึกภายในคืนเดียว เรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาทใหญ่โต ศาลตัดสินให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จ่ายค่าปรับและสร้างบ้านโนวาสโคเทียขึ้นมาใหม่ภายในหกเดือน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น คอนโดมิเนียมได้สร้างโครงขึ้นไปสิบชั้นแล้ว บ้านโนวาสโคเทียที่จำลองขึ้นมาใหม่จึงต้องแปะอยู่เป็นเปลือกด้านหน้าของอาคารคอนโดนิเนียมนั้นเอง ลักษณะแบบเดียวกันนี้พบได้ที่คอนโดมิเนียมอีกแห่งหนึ่งคือ Setia V Residence บนถนนเบอร์มา (Lorong Burma) อาคารคอนโดมิเนียมดังกล่าวสร้างคร่อมบ้านเช่าเดิมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเช่าบ้านหลังนี้เมื่อแรกมาถึงปีนังด้วยความช่วยเหลือของพระยารัษฎาธิราชภักดี (คอยู่จ๋าย) อนึ่ง บ้านหลังที่เห็นอยู่นี้ยังเป็นบ้านจริง ไม่ใช่บ้านที่จำลองขึ้นมาใหม่หลังจากถูกทุบทิ้งดังในกรณีของบ้านโนวาสโคเทีย

จากสภาพที่ปรากฏ เราอาจอ่านได้ว่า ปลายทางของบ้านอันเคยเป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยชั้นสูง ทั้งเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสยาม ก็คือการถูกกลืนกินด้วยทุนนิยมสมัยใหม่ ออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า บ้านแบบตะวันตก (รูปแบบที่เป็นที่นิยมในหมู่คนมีฐานะในสมัยอาณานิคม) ซึ่งเป็นอดีตที่พำนักของชนชั้นสูงเหล่านี้กลายเป็น ‘ส่วนต้อนรับ’ (ด้านหน้า, ทางเข้า) ของอาคารที่พักอาศัยแบบสมัยใหม่ของเศรษฐีในปัจจุบัน (หรือจะมองอีกแบบว่ามันกลายเป็น ‘ส่วนค้ำยัน’ โครงสร้างสูงลิบด้านบนก็ได้) สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านโนวาสโคเทีย (Mayfair Condominium) กับบ้านเช่าของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (Setia V Residence) ชี้ให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองที่พัวพันอยู่กับปมปัญหาว่าด้วยการอนุรักษ์กับการพัฒนาเมือง ทุนนิยม รวมทั้งประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ทับซ้อนอยู่กับอำนาจหลายระดับทั้งในและนอกเกาะปีนัง



ผู้เขียนยังได้ไปเดินดูย่านและบ้านอีกหลายหลังตลอดแนวถนนที่ยาวต่อเนื่องกันไปนี้ (ก็ปักหมุดไว้ตั้งสิบจุด) ถึงแม้ว่าสิ่งที่กระทบสายตามากที่สุดจะเป็นสภาพของบ้านโนวาสโคเทียกับบ้านเช่าของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ซึ่งชวนพินิจมากในเชิงภาพที่ปรากฏ นั่นคือการเป็นบ้านที่ถูกตึกระฟ้าคร่อมทับอยู่ด้านบน) แต่บ้านหลังอื่นๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่และมีขนาดเล็กกว่าอย่างบ้าน(เกือบ)ร้างชั้นเดียวที่เคยเป็นที่พำนักของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ที่หัวมุมถนนแคนตันเมนท์ (Jalan Cantonment) และบ้านสองชั้นที่เคยเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย บนถนนบางกอก (Lorong Bangkok) ก็ช่วยเติมเต็มให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ชนชั้นนำสยามผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกาะกลุ่มอาศัยอยู่ในย่านเดียวกันอย่างไร ‘บ้านซินนามอน’ บนถนนเกลาไว (Jalan Kelawai) ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เคยกล่าวถึงไว้ในตอนที่แล้ว ก็ตั้งอยู่โดยเป็นส่วนหนึ่งของแกนที่พักอาศัยนี้เช่นกัน

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้ที่ผู้เขียนไม่ได้ปักหมุดไว้ก็คือวัดไชยมังคลาราม บนถนนเบอร์มา (ส่วนวัดปิ่นบังอรซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และมีอนุสรณ์สถานของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นอยู่ห่างออกไปอีกด้านหนึ่งของปีนัง)  



ตกลงมาเดินๆ แล้วเห็นอะไร?

คำตอบก็คือเห็นบ้านในสภาพหลากหลาย เห็นพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้าน และเห็นย่านอันเป็นที่ตั้งของบ้านเหล่านี้ เพื่อที่จะเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ นั่นคือความสัมพันธ์ของเครือข่ายอำนาจในการเมืองสยามช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สะท้อนอยู่ในการโยกย้ายถิ่นฐานของชนชั้นนำผู้ลี้ภัย

หากมองจากแนวที่ตั้งของบ้านโดยนับจากบ้าน ณ ระนอง ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมืองมากที่สุด ไปจนสุดที่ Solok Mano ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งของบ้านเหล่านี้สัมพันธ์กับลำดับศักดิ์ที่เรียงความสำคัญไปตามช่วงชั้นทางสังคม นั่นคือ ความเป็นเชื้อพระวงศ์อันเป็นช่วงชั้นที่ผูกติดกับชาติกำเนิดนั้นมาก่อนสามัญชนผู้มีบรรดาศักดิ์ทางราชการ (พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) โดยมีข้าราชการ-คหบดีผู้มั่งคั่ง (ตระกูล ณ ระนอง) เป็นแกนกลางตัดพาดผ่านอีกทีหนึ่ง ร่องรอยของบ้านจึงบ่งชี้ถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่หยั่งรากลึกอยู่ในแผ่นดินอื่นคือ สยาม ที่พลัดถิ่นมาอยู่ในปีนัง ซึ่งเป็นผลมาจากการพลิกกลับของอำนาจในการปฏิวัติ 2475 เครือข่ายสายสัมพันธ์ระหว่างเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ และคหบดี (ซึ่งก็เป็นข้าราชการเช่นกัน) ถักทอลงในเนื้อเมืองแถบเลียบชายฝั่งของปีนัง ผูกร้อยอยู่กับความสำคัญของตัวย่าน และรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำของยุคนั้น ที่ในปัจจุบันค่อยๆ ทยอยเสื่อมสลายหายไปจนแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็น

สิ่งที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็นกลับเป็น ‘Sun Yat Sen Heritage Trail’ ที่พัฒนาขึ้นโดย Penang Heritage Trust ในอีกฟากของปีนัง


(โปรดติดตามบทความตอนต่อไป)


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save