fbpx

ประวัติศาสตร์ศิลปะที่เขียนจากทางไกล: ‘สาส์นสมเด็จ’ ในปีนัง

เมื่อห้าปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยมีโจทย์ว่าเราจะคิดอะไรได้บ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พื้นที่’ กับการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยมีเมืองหนึ่งอยู่ในหัวคือ ‘ปีนัง’ (ไม่บอกหรอกค่ะว่าทำไมเป็นปีนังและทำไมถึงไม่ได้ทำ 555)

ในตอนนั้น ผู้เขียนยังไม่เคยไปปีนังเลย มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่รู้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลี้ภัยไปประทับที่บ้านซินนามอน (Cinnamon Hall) ในปีนัง จดหมายโต้ตอบระหว่างพระองค์ กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระหว่าง พ.ศ. 2476-2485 ที่ทรงประทับอยู่ที่นั่น เป็นส่วนหนึ่งของ สาส์นสมเด็จ หนังสือรวมเล่มจดหมายระหว่างสมเด็จฯ ทั้งสอง (พ.ศ. 2457-2486) ที่ว่าด้วยการหารือในข้อปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งของ สาส์นสมเด็จ นั้นเป็นงานเขียนของผู้ลี้ภัยนั่นเอง (ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงความเสี่ยงและความลำบากเมื่อเทียบกับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในปัจจุบัน แต่คุณจะลองจินตนาการดูก็ได้ นึกถึงชีวิตของนักเขียน-ผู้ลี้ภัยอย่างคุณวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ล่วงลับอย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์เรื่อง ไกลบ้าน หรือการเดินเท้าข้ามเขาของนักวิชาการ-ผู้ลี้ภัยอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เปรียบเทียบกับการส่งปลาทูทอดแช่น้ำมันใส่หีบแครกเกอร์ไปให้จากกรุงเทพ (นาทีที่ 5:06) แล้วก็แตกต่างกันมากอยู่…)

จดหมายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทำให้นึกถึงคำว่า ‘nostalgia’ ที่หมายถึงภาวะโหยหา อาลัยอาวรณ์อดีต ซึ่งสัมพันธ์กับความคิดถึงบ้านหรือมาตุภูมิ รากศัพท์กรีกของ ‘nostalgia’ คือ ‘nostos’ (homecoming) กับ ‘algos’ (pain, grief, distress) ภาวะทางใจอันเกิดจากการจากบ้านไปอยู่ ‘ที่อื่น’ เช่นนี้เองเป็นแรงผลักดันให้เกิดการครุ่นคิดอันนำไปสู่ข้อเขียนปริมาณมหาศาลที่กลายเป็นสดมภ์หลักของความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในเมืองไทยในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่าความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอนนั้น—ในส่วนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ระหว่างช่วงปีดังกล่าวที่กินเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ—เกิดขึ้น ‘จาก’ และ ‘ใน’ พื้นที่ ของความเป็นอื่น ทั้งพระองค์เองที่เป็นอื่นต่อพื้นที่ (คนนอกผู้ลี้ภัย) และพื้นที่ที่เป็นอื่นต่อพระองค์ (ต่างบ้านต่างเมือง)

แน่นอนว่าเมื่อข้อเขียนดังกล่าวอยู่ในรูปของจดหมาย ก็ย่อมไม่ใช่การเขียนข้างเดียว แต่มีคู่สนทนาคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กิจกรรมเชิงปัญญานี้ดำเนินไปโดยเป็นการโต้ตอบข้ามพื้นที่พรมแดนระหว่างปีนัง ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ British Malaya กับกรุงเทพฯ แม้จะมีการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ทรงพบเห็นในปีนังอยู่เนืองๆ รวมทั้งมีการเล่าสารทุกข์สุกดิบสู่กันฟัง หลักใหญ่ใจความสำคัญก็ยังคงเป็นการอภิปรายเรื่องเมืองไทยในฐานะปราชญ์ผู้ทรงภูมิ จดหมายโต้ตอบที่ต้องเรียกว่าเป็นเอกสารที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างมากนี้ เมื่อถูกนำมาตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในวารสาร ศิลปากร ก่อนจะรวมเล่มเป็นหนังสือในเวลาต่อมาได้กลายสภาพไปเป็น ‘ตำรา’ ที่ยังคงถูกอ่านและอ้างอิงมาจนถึงปัจจุบัน ในสายตาของผู้เขียน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่ได้ศึกษาศิลปะโบราณ ความน่าสนใจของ สาส์นสมเด็จ อยู่ที่รูปแบบการเขียน คือจดหมายโต้ตอบ กับภาวะของการเขียน คือการเขียนถึงบ้านในยามไกลบ้าน / ลี้ภัย ทั้งสองเรื่องนี้มี ‘พื้นที่’ เป็นเงื่อนไขแวดล้อมสำคัญ และเพื่อที่จะเขียน ก็ต้องมีเครื่องมือสำหรับการเขียน ในจดหมายจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2476 ระบุถึงบรรดาข้าวของที่ส่งไปถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ที่ปีนัง หนึ่งในนั้นคือ ‘ไตป์ไรเตอ‘ หรือเครื่องพิมพ์ดีดนั่นเอง

ในการทำงานวิชาการนั้น นอกจากการค้นคว้าและครุ่นคิดอะไรต่างๆ อันเป็นกิจกรรมที่เรามักจะทำตามลำพังแล้ว การมีคู่สนทนาก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการปรึกษาหารือ อภิปรายในเรื่องต่างๆ นั้นคือการ ‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้’ (โอ้! ช่างเป็นคำที่เฝือเสียจริงสำหรับโลกวิชาการในจักรวาลหนึ่งที่ชอบสร้างคำขวัญ คำคม คำคล้องจองโดยไม่เคยคำนึง หรือเคยทำตามความหมายของมันจริงๆ) เพราะบางทีเราก็คิดคนเดียวไม่ออก และการมีเพื่อนคุยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเออออตามกันเสมอ มันหมายรวมถึงการถกเถียงขัดแย้งกันด้วย

Anyway (นักศึกษาที่จบไปแล้วคนหนึ่งบอกว่าผู้เขียนชอบพูดคำนี้!?!) ที่ผู้เขียนอยากจะบอกก็คือ การเขียนในรูปของ ‘จดหมาย’ นั้นเอื้อต่อการสร้างบทสนทนาในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการรอคอยก็ตาม อนึ่ง ความไม่ฉับพลันทันใดนี้เปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนและตกผลึกทางความคิดต่อทั้งสองฝ่าย 

ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ เรื่องจะจัดประเภทเมรุคราวปราบกบฏบวรเดชว่าเป็นสิ่งก่อสร้างแบบไหนดี?

จดหมายจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2476 (นับตาม พ.ศ. แบบเก่า) ปรากฏข้อความว่า

“หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์มาคราวหลังนี้ มีรูปการเผาศพนายทหารที่ท้องสนามหลวง ได้เห็นพระรูปท่านทรงเครื่องแบบทหารอย่างใหม่ หม่อมฉันก็เข้าใจเหตุการณ์ได้ดี เปนแต่ลูกคนหนึ่งเขาว่า พระแสงดาบเห็นจะถ่วงพระองค์หนักมาก อีกคนหนึ่งว่าไม่เปนไร ด้วยมีราชองครักษ์เคียงคอยพยุงพระองค์เมื่อลงบรรไดทั้งสองข้าง หม่อมฉันเพิ่งได้เห็นรูปที่เผาศพนั้นเปนครั้งแรก เกิดนึกเปนปัญหาในทางโบราณคดีว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ตามคำที่ใช้กันเปนสามัญ ถ้ามียอดเขาเรียกว่าเมรุ ถ้าไม่มียอดเขาเรียกว่าโรงธึม ถ้าหลังคาตัดเรียกว่าปะรำ เมื่อหม่อมฉันปลงศพหม่อมเฉื่อย พระยาราชสงคราม (กร) รับช่วยสร้างที่เผาที่สุสานหลวงวัดเทพสิรินทร หม่อมฉันบอกแกว่าให้ทำเพียงเปนปะรำอย่าให้ทำเมรุ แกก็รับจะทำให้ตามประสงค์ แกไปทำตอนล่างเหมือนเมรุหมดทุกอย่าง เว้นแต่ตรงที่ทำยอด แกทำเปนหลังคาตัด บางทีท่านจะยังทรงจำได้ แต่ในหนังสือบัตร์หมายและบอกกล่าวครั้งนั้น หม่อมฉันให้เรียกว่าปะรำ” (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

ต่อมาในจดหมายฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2476 (นับตาม พ.ศ. แบบเก่า) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงตอบความโดยวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันว่า แบบนี้ควรต้องเรียกว่า ‘ปะรำ’ เพราะแตกต่างจาก ‘เมรุ’ ที่มีหลังคาเป็นยอดแหลม

“เรื่องงานเผาศพทหาร ได้เล่าถวายมาในหนังสือคราวก่อนเห็นจะพอแล้ว ทีนี้จะวินิจฉัยถวายในเรื่องชะนิดที่เผา เปนทางวรรณคดี

“เมรุ” เห็นจะได้ชื่อมาแต่ปลูกปราสาทอันสูงใหญ่ในท่ามกลางปลูกปราสาทน้อยขึ้นตามมุมทุกทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกันปักราชวัตล้อมเปนชั้นๆ มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริพันธุ์ล้อม จึงเรียกว่าพระเมรุ ทีหลังทำย่อลงแม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็คงเรียกว่าเมรุ

“โรงธึม” คิดว่าคำ “ธึม” นั้นจะเปน “ทิม” เรานี่เอง คำที่ลงนฤคหิตไม่มีมูลอย่างนี้มีมาก เช่น อธิก อธึก แก้วผลิก แก้วผลึก เปนต้น สมเด็จพระวชิรญาณวงศวินิจฉัยว่าเปนเสียงเขมร ท่านมีพระเขมรอยู่ด้วยมาก ท่านว่า โรงพิมพ์ เขาออกเสียงว่า โรงพึมพ์ เปนความจริงดังนั้น เช่นน้ำ คำเขมรเขียน ทิก เขาอ่านว่า ตึก แต่มีข้อสงสัยอยู่หน่อย คำว่า ทิม เราเข้าใจกันเปนว่าโรงแถวห้องแถว แต่เมื่อไตร่ตรองดูก็เห็นหาใช่ไม่ เพราะมีคำใช้อยู่ว่า ทิมแถว ถ้า ทิม เปนเรือนแถวแล้ว ทำไมจะต้องเติมคำว่า แถว เข้าไปอีก ทิม ไม่จำต้องเปนเรือนยาว แต่ไม่ใช่เรือนยอดแหลมเปนแน่ ที่เผาซึ่งหลังคาไม่เปนยอดแหลม​จึงเรียกว่า “โรงธึม” คือ โรงทิม

“ปะรำ” เปนหลังคาตัด ไม่มีปัญหา ที่เผาศพทหารเปนหลังคาตัด ต้องเรียกว่า ปะรำ (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)



จดหมายจากปีนังระบุที่อยู่บนหัวจดหมายว่า ‘บ้านซินนะมอน ฮอลล์’ ปิดเทอมนี้ผู้เขียนก็เลยเปิดเครื่องเนิร์ดไปเดินเรื่อยเปื่อยคิดอะไรๆ เล่นที่ปีนัง จะได้ไปเห็นว่าแถวๆ นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าบ้านบ้านซินนามอนจะถูกรื้อไปแล้ว ก็ยังอยากจะไปสำรวจ ‘ย่าน’ ที่ผู้ลี้ภัย-อีลิทไทยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปอยู่กันว่าเป็นย่านแบบไหน (ขอยังไม่เล่าในรอบนี้ค่ะ)

เข็มทิศนำทางอันหนึ่งของผู้เขียนก็คือ คลิป ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กับช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยการเมืองในปีนัง’ โดยรายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ (ที่มีเรื่องเกี่ยวกับการส่งปลาทูทอดที่เล่าไปตอนต้นนั่นเอง) คลิปดังกล่าวพาไปยังอาคารเลขที่ 15 ถนนเกลาไว (Kelawai Road) ชื่อ Penang Flying Club แต่สิ่งที่ชวนให้งุนงงก็คือ ในขณะที่คลิปอ้างถึงที่อยู่ในหัวจดหมายที่เขียนว่า 15 Kelawai Road ในจดหมายที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ส่งถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2476  กลับระบุว่า “บ้านนั้นเรียกว่า 206 Sinnamon Hall ถนน Kelawei” (เปลี่ยนตัวสะกดเป็น Cinnamon เมื่อกล่าวถึงในภายหลัง) 

ตกลงมันบ้านเลขที่เท่าไหร่กันแน่???

ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เป็นการรวบรวมจดหมายเหมือนกันคือ จดหมายถึงหญิงใหญ่ ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กับพระธิดาพระองค์ใหญ่ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล (ผู้เขียนใช้ฉบับชื่อ ‘ถึงหญิงใหญ่’ ที่ตีพิมพ์ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เรืออากาศเอกผล ทองปรีชา ซึ่งดาวน์โหลดได้จาก TU Digital Collection ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พบว่าบ้านเลขที่มีทั้ง 206 และ 15 โดยเลขที่ 15 นั้นปรากฏในช่วงปี 2481 ลงไป

ระหว่างที่ยังไม่ได้สืบค้นไปให้ถึงที่สุดว่า การเปลี่ยนเลขที่บ้านแปลว่า ทรงย้ายบ้าน หรือทรงประทับอยู่ที่เดิม แต่บ้านเลขที่เปลี่ยน (น่าจะเป็นแบบหลังเพราะบ้านชื่อเหมือนเดิม) ผู้เขียนก็เปิด Google Map เดินไปทั้งสองเลขที่เสียเลย ทั้งสองจุดอยู่ห่างจากกันแค่ 1.7 กม. เท่านั้นเอง อาคารเลขที่ 15 เป็น Penang Flying Club ส่วนอาคารเลขที่ 206 เป็นบ้านพักส่วนบุคคล (จึงไม่ได้ถ่ายภาพมา)

ถามว่าจะเดินไปทำไมในเมื่อไม่ว่าจะเป็นเลขที่ไหน ที่ดินตรงนั้นก็ไม่มีบ้านซินนามอนตั้งอยู่แล้วทั้งคู่? ต่อให้อาคารเลขที่ใดเลขที่หนึ่งในสองเลขที่นั้นคือ ‘ตำแหน่งที่ใช่’ ในความหมายที่ว่าบ้านหลังนั้น ‘เคยตั้งอยู่ที่นั่น’ ก็ไม่มีร่องรอยเค้าโครงทางสถาปัตยกรรมหรือเครื่องหมายอันใดหลงเหลือบนพื้นที่นั้นอยู่ดี อันที่จริงแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าการ ‘ตามรอย’ ได้ไหมเพราะไม่มีรอยอะไรให้ตามทั้งสิ้นนอกจากชื่อถนน แล้วไม่ใช่ว่าบ้านทุกหลังจะมีบ้านเลขที่ติดอยู่หน้าบ้านสักหน่อย ถ้าไม่มี Google Map คอยบอกให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ผู้เขียนคงไปไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าจะหยุดตรงไหนดี (ชอบสุดๆ เวลามันส่งเสียงว่า ‘You’ve arrived at your destination’ รู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จ)

ปัญหาข้อนี้นำเรากลับไปสู่โจทย์ตั้งต้นเรื่อง ‘พื้นที่’ กับ ‘การเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ’ หากปราศจากร่องรอยบนพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดแล้ว พื้นที่นั้นจะยังมีความหมายอยู่ได้ด้วยเงื่อนไขและตัวอ้างอิงใด? ถ้าไม่มีเครื่องหมายใดๆ ให้มองเห็นได้ในทางกายภาพ (อันจะนำไปสู่ความหลงลืมตามกาลเวลา) เราไป ‘ดู’ อะไรกันแน่? และการ ‘เขียน’ ถึงพื้นที่ในลักษณะเช่นนี้จะมีความเป็นไปได้แบบไหน?   


(โปรดติดตามบทความตอนต่อไป)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save