fbpx

‘เสรีนิยมธรรมราชา’ ในโครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมากของชนชั้นนำจารีต: ปฤณ เทพนรินทร์

‘ถวายคืนพระราชอำนาจ’ เคยเป็นข้อเรียกร้องของปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมและผู้ชุมนุมช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 สะท้อนความต้องการให้สถาบันกษัตริย์ควบคุมนักการเมืองในสถาบันแนวประชาธิปไตย

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในดุษฎีนิพนธ์ เสรีนิยมธรรมราชา: พลวัตแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยในโครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก (พ.ศ. 2540 – 2560) ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ ปฤณ เทพนรินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ปฤณมุ่งศึกษาการเมืองไทยในทศวรรษ 2540 และมองเห็นว่าในช่วงเวลานี้มีรูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันแนวประชาธิปไตยที่เขาเรียกว่า ‘เสรีนิยมธรรมราชา’ ซึ่งคือความเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมในฐานะอนุญาโตตุลาการขั้นสุดท้าย ผู้กำกับดูแลสถาบันแนวประชาธิปไตยทั้งหลาย

แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่มีบริบทแวดล้อมหลายด้าน เช่น ทัศนะของชนชั้นนำที่มองว่าประชาชนไม่มีความพร้อมสำหรับการปกครองตนเอง ภาพลักษณ์อันเลวร้ายของนักการเมือง การขยายตัวของชนชั้นกลาง เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ฯลฯ

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อเสนอของฝ่ายปัญญาชนอนุรักษนิยมว่า ควรให้สถาบันกษัตริย์มีพระราชอำนาจในการควบคุมสถาบันแนวประชาธิปไตย ซึ่งหน้าที่นี้ตอบโจทย์สำคัญของอุดมการณ์เสรีนิยมที่ไม่ต้องการให้ผู้ปกครองลุแก่อำนาจ และความวิตกกังวลต่อเผด็จการเสียงข้างมาก

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามจำกัดอำนาจเสียงข้างมากของประชาชน นับแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ‘โครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก’ ดำเนินไปด้วยเครื่องมือที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งแบบแยบยลอย่างการใช้วาทกรรมต่างๆ และอย่างโจ่งแจ้งรุนแรงอย่างการยึดอำนาจ

101 จึงสนทนากับปฤณถึงการก่อกำเนิดของเสรีนิยมธรรมราชา ภาวะการเคลื่อนออกจากเสรีนิยมธรรมราชาในปัจจุบัน และการเดินหน้าต่อของโครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก

ทำไมจึงศึกษาเรื่องเสรีนิยมธรรมราชา เริ่มสนใจเรื่องนี้ได้อย่างไร

ขณะที่ผมเรียนปริญญาตรีปีสุดท้าย คุณสนธิ ลิ้มทองกุลจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร (2548-2549) ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องถวายคืนพระราชอำนาจ ผมจึงเริ่มสนใจเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ โดยที่ตอนนั้นก็จะมีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่พยายามให้คนสนใจเรื่องนี้

ช่วงปลายทศวรรษ 2540 มีคนพยายามอ้างว่า ถ้าใช้หลักการแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราต้องทำแบบนั้นแบบนี้เพื่อหยุดคุณทักษิณ ชินวัตร เพื่อแก้วิกฤตต่างๆ ซึ่งก็มีงานเขียนตอบโต้จากนักวิชาการหลายคน เช่น ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา โดยอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล, ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข:ที่มาและที่ไป โดยอาจารย์เกษียร เตชะพีระ

จนกระทั่งผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจึงคิดว่าจะตั้งคำถามในการศึกษาเรื่องนี้อย่างไร

คำถามแรกคือ ตกลงแล้วระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืออะไรกันแน่ โดยผมทบทวนวรรณกรรมในเรื่องนี้ทั้งจากงานเขียนวิชาการและงานเขียนกึ่งโฆษณาชวนเชื่อ คำตอบที่ได้ก็กลายเป็นวัตถุประสงค์การวิจัยในงานชิ้นนี้ คือการเสนอถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างองค์ประกอบหลักของระบอบนี้ ด้านหนึ่งคือ ‘ประชาธิปไตย’ (democracy) อีกด้านหนึ่งคือ ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (monarchy) งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเกือบทั้งหมดจะพยายามบอกว่า ความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของ democracy กับ monarchy ในสังคมนี้ควรจะเป็นอย่างไร อยู่กันอย่างชอบธรรมอย่างไร และอะไรคือสัมพันธภาพที่พึงประสงค์

จากคำตอบข้างต้นก็นำมาสู่คำถามต่อไปว่า ที่สุดแล้วสัมพันธภาพระหว่างสองสถาบันหลักนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งความสัมพันธ์ทางอำนาจย่อมมีพลวัต เช่น ในช่วงปี 2475, 2490, 2500, 2519 ก็มีความแตกต่างกัน เมื่อเราสนใจการเมืองปัจจุบันจึงเลือกศึกษาความสัมพันธ์ของสองสถาบันนี้ในยุคใกล้ (ช่วงทศวรรษ 2540) ว่ามีที่มาของความสัมพันธ์อย่างไร จนสร้างลักษณะเฉพาะของความสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้


เสรีนิยมธรรมราชาคืออะไร

เสรีนิยมธรรมราชาคือการใช้สถาบันกษัตริย์มากำกับสถาบันประชาธิปไตย ซึ่งมีที่มาแบบเสรีนิยม โดยที่สถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมในการกำกับ ควบคุม ดูแลสถาบันประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

ผมศึกษาว่าอะไรเป็นที่มาของวิธีคิดนี้ ทำไมสถาบันแนวประชาธิปไตยไม่มีความชอบธรรมพอจะดูแลตัวเองได้ สถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมในการกำกับอย่างไรและควรจะทำแบบไหน

หลายประเทศในโลกนี้ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยและมีสถาบันกษัตริย์จะมีรูปแบบการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันประชาธิปไตยที่แตกต่างหลากหลาย สำหรับของไทยที่มีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบอบที่องค์ประกอบหลักคือสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันจารีตที่ครองอำนาจอธิปไตยมาก่อน ไม่ได้ถูกถอดถอนออกจากระเบียบทางการเมือง

อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร เสนอเรื่องดุลยภาพอำนาจระหว่างสามองค์ประกอบไว้ คือ การให้อำนาจกับบุคคลเดียว (the one) การให้อำนาจกับคนกลุ่มน้อย (the few) และการให้อำนาจกับคนจำนวนมาก (the many) แต่ละประเทศก็มีช่วงเวลาของพัฒนาการแห่งการสร้างสมดุลระหว่างสามพลังนี้แตกต่างกัน

เสรีนิยมธรรมราชาเป็นลักษณะความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันประชาธิปไตยในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ในช่วงเวลาอื่นก็จะมีลักษณะความสัมพันธ์แบบอื่น โดยที่ยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ประเด็นศึกษาเรื่องเสรีนิยมธรรมราชาเป็นสิ่งที่ตั้งต้นไว้ตั้งแต่แรกหรือเป็นสิ่งที่ค้นพบหลังจากทบทวนวรรณกรรม

มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบที่ให้สถาบันกษัตริย์กำกับควบคุมสถาบันประชาธิปไตยนั้นเป็นเสรีนิยมแบบหนึ่ง ผมจึงตั้งต้นจากตรงนี้แล้วก็ศึกษาว่ามันมีที่มาอย่างไร

มีงานของอาจารย์ Michael Connors ที่ศึกษาเรื่อง royal liberalism บอกว่าการใช้มาตรา 7 (เรื่องประเพณีการปกครองในรัฐธรรมนูญ 2540) เป็นเสรีนิยมแบบหนึ่งที่ใช้พระมหากษัตริย์มากำกับสถาบันประชาธิปไตย ผมก็สงสัยว่าเรื่องนี้เกิดในช่วงเวลาไหนเป็นสำคัญและต่างกับช่วงเวลาอื่นหรือไม่

เมื่อสืบค้นจึงออกมาเป็น ‘เสรีนิยมธรรมราชา’ ในฐานะที่เป็นธีมของความสัมพันธ์ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ซึ่งเป็นกรอบหลักที่ถูกเอามาปฏิบัติในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่คุณสนธิเริ่มเคลื่อนม็อบเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร


เสรีนิยมธรรมราชาแตกต่างจาก royal liberalism ที่ Connors ศึกษาอย่างไรบ้าง

Connors ศึกษาพัฒนาการของเสรีนิยมแบบไทยๆ ตั้งแต่หลัง 2475 และใช้ royal liberalism อธิบายสภาวะในช่วงทศวรรษ 2520 ถึงปลายทศวรรษ 2530 ว่าเป็นสภาวะที่สถาบันกษัตริย์กำกับควบคุมสถาบันแนวประชาธิปไตย

งานศึกษาของผมต่อยอดจาก Connors ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ให้สถาบันกษัตริย์มากำกับควบคุมสถาบันแนวประชาธิปไตย แต่เสรีนิยมธรรมราชาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมากของชนชั้นนำจารีตไทยในแบบที่เลือกจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้ตัวเองมีอำนาจ

ชนชั้นนำจารีตไทยพยายามจำกัดไม่ให้เสียงข้างมากมีอำนาจ ซึ่งทำมาหลายแบบและทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านการรัฐประหาร ทำผ่านข้ออ้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในยุค 2490 ทำผ่านข้ออ้างว่าข้าราชการหรือสถาบันจารีตอื่นๆ มีความชอบธรรมที่ดีและเทียบเท่ากับสถาบันประชาธิปไตย จนถึงเรื่องเสรีนิยมธรรมราชาช่วงทศวรรษ 2530 เมื่อเขาต้องเผชิญกับนักการเมืองที่เขาอ้างว่าไม่มีคุณสมบัติ

ผมใช้ royal liberalism เป็นฐานทางทฤษฎีในการศึกษา โดยพยายามมองว่าสิ่งที่ผมศึกษาแตกต่างจากสิ่งที่ Connors ศึกษาไว้อย่างไรบ้าง เราอาจมีกรอบคิดในภาพรวมคล้ายกัน แต่จุดเน้นไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเป้าหมายหลักไม่ใช่เรื่องการใช้สถาบันพระกษัตริย์มากำกับนักการเมือง แต่เป้าหมายใหญ่คือการศึกษาเรื่องการจำกัดอำนาจของประชาชนให้ไม่มีอำนาจ ทั้งที่ในตรรกะแบบประชาธิปไตย ประชาชนควรจะมีอำนาจ


ในวิทยานิพนธ์นี้เน้นศึกษาช่วง 2540-2560 แต่ให้ความสำคัญในการศึกษายุค 2530-2540 เช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงก่อร่างเสรีนิยมธรรมราชาใช่ไหม

ผมเริ่มจากการมองว่าทำไมการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจทางการเมืองจึงกลายเป็นความชอบธรรม จนนำมาสู่ปฏิบัติการทางการเมือง ก่อนจะมีการเรียกร้องให้ใช้พระราชอำนาจนั้นมีที่มาอย่างไร แน่นอนว่าคงไม่เหมือนยุค 2490 แล้วช่วงไหนที่ทำให้ข้ออ้างเรื่องการใช้พระราชอำนาจมีความชอบธรรมขึ้นมา

เมื่อศึกษาย้อนกลับไปพบว่า น่าจะอยู่ในช่วงการปฏิรูปการเมือง 2530-2540 นั่นคือทศวรรษของการปฏิรูปการเมือง ในบริบทที่กลุ่มพลังนำฝั่งต่างๆ ในสังคมและสถาบันกษัตริย์ก่อรูปความสัมพันธ์ในลักษณะที่เรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยขึ้นมา เมื่อก่อรูปขึ้นมาแล้วในเวลาต่อมาจึงมีการใช้อ้างต่อ เช่น อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คุณคํานูณ สิทธิสมาน หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุลที่พูดในม็อบราวกับว่า การใช้พระราชอำนาจเป็นเรื่องปกติธรรมชาติแบบพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เอาเข้าจริงความปกตินี้เพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นานเกินปี 2530


เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีส่วนแค่ไหนในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับเสรีนิยมประชาธิปไตย

บริบททางเศรษฐกิจช่วงนั้น ไทยอยู่ภายใต้ทุนนิยมเสรีแบบเหลื่อมล้ำซึ่งโตขึ้นมามากหลังทศวรรษ 2500 และโตเดี่ยวเฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมือง ตลาดหุ้นบูมมาก ขณะเดียวกันตอนนั้นชนชั้นกลางไทยประสบความสำเร็จ กลายเป็นคนที่มีเสียงดังมากในสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกจีน

ด้านกลับของทุนนิยมโตเดี่ยวเหลื่อมล้ำแบบนี้ก็เกิดคนที่พ่ายแพ้ เป็นที่มาของภาคประชาสังคม สมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ฯลฯ นี่คือกลุ่มคนที่เป็นพื้นหลังของการเรียกร้องการปฏิรูปในช่วงเวลานั้น

เมื่อเกิดการรัฐประหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ปี 2534) ซึ่งคือความต้องการหวนคืนอำนาจของระบบราชการให้กลับคืนมา โดยเฉพาะทหาร และใช้ข้ออ้างว่านักการเมืองในระบบรัฐสภาไม่ดี ทุจริต คอร์รัปชัน บุฟเฟต์คาบิเนต ซึ่งเป็นเรื่องฟังขึ้นในมุมของสื่อที่เล่นประเด็นศีลธรรมทางการเมือง จึงเกิดความสำเร็จในแง่ที่มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าอยากพัฒนาเสรีนิยมประชาธิปไตยให้ดีขึ้นกว่านี้ สอดคล้องกับกระแสโลกในช่วงหลังสงครามเย็น ที่กระแสเสรีนิยม-กระแสประชาธิปไตยกลายเป็นเสียงของทั้งโลก เมื่อค่ายคอมมิวนิสต์ล้มลง

นอกจากนี้ในช่วงหลังปี 2519 ก็มีบริบทของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสร้างความเป็นไทยเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการริเริ่มปฏิรูปเพื่อสู้กับทุนและระบบราชการ

ในช่วงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองก็มีงานเขียนจำนวนหนึ่ง เช่น งานของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่กลายเป็นหมุดหมายต่อมาว่าทำไมสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมที่จะใช้พระราชอำนาจ เพราะเมื่อมองไปแล้วไม่มีอำนาจทางสังคมใดในตอนนั้นที่จะช่วยผลักดันการปฏิรูปเพื่อต้านทั้งรัฐและทุนได้ จึงต้องหันมาพึ่งระเบียบจารีต คนที่สนับสนุนแนวทางนี้ก็เช่น หมอประเวศ วะสี อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในช่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็สนับสนุนแนวทางที่ว่าอย่าทิ้งพลังจารีตทางประเพณีของเราที่เอามาใช้ในทางที่ดีงามได้ เพื่อจำกัดอำนาจนักการเมืองในตอนนั้นที่ไม่อยากปฏิรูป และเพื่อป้องกันอำนาจของกองทัพที่จะเข้ามาแทรกแซงหลังจากนั้น

มีงานที่ศึกษาช่วงการปฏิรูปนั้นอย่างละเอียดคือวิทยานิพนธ์ของอาจารย์กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ (เรื่องทัศนะของสื่อหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2540) การปฏิรูปตอนนั้นเป็นธีมแบบกษัตริย์นิยมชัดเจนมาก มีเรื่องการขอให้ใช้พระราชอำนาจ มีเรื่องการเสนอฎีกาจากนักวิชาการ เรื่องสภากระจกของอาจารย์ชัยอนันต์ รวมถึงข้อเสนอของอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ที่อ้างอิงพระราชอำนาจ เพราะหลังจากที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก สังคมมีข้อถกเถียงหลายอย่างถึงผู้นำคนใหม่ บ้างก็ว่าควรเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง บ้างก็ว่าให้สภาที่แต่งตั้งโดย รสช. ยุบสภาแล้วให้ประชาชนเลือกตั้ง แต่สุดท้ายนักการเมืองในตอนนั้นเลือกวิธีการที่พวกเขาได้ประโยชน์ที่สุด คือไม่เลือกตั้งใหม่ แค่โหวตเลือกกันเองให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ เป็นนายกฯ แล้ว ‘เผอิญว่า’ คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาฯ ขณะนั้นดันไปเปลี่ยนชื่อเป็นคุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกฯ แทน ในสภาพแบบนั้นก็เกิดการถกเถียงกันมากว่าให้มีการใช้พระราชอำนาจ

ในช่วงพฤษภาคม 2535 และการปฏิรูปการเมืองในตอนนั้นเกิดการก่อตัวและถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ซึ่งคนจำนวนมากในสังคมให้การสนับสนุนแนวทางนี้ การเสนอแนวทางนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่ต้องมีความพร้อมของกลุ่มคนและเงื่อนไขบางอย่างที่เอื้อให้การอ้างพระราชอำนาจสมเหตุสมผลหรือคนให้การยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางลูกจีนกับสื่อสารมวลชนแบบใหม่ในตอนนั้น


ช่วง 2535-2540 ความนิยมของสถาบันกษัตริย์พุ่งสูงขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า ในสภาพความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เป็นแบบนี้ส่งผลอย่างไรบ้างกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ผมไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด แต่อ่านบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่อ้างถึงพระราชอำนาจจะมีข้อสังเกตบางอย่าง เช่น ในมาตรา 3 มีข้อถกเถียงว่าอำนาจอธิปไตย ‘มาจาก’ ประชาชน หรืออำนาจอธิปไตย ‘เป็นของ’ ประชาชน รวมถึงการถกเถียงรายมาตราในหมวดพระมหากษัตริย์

ในภาพรวมความสัมพันธ์ในช่วงนั้นเป็นทางบวกต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมาก เพราะคนที่มีบทบาทในการกำหนดแนวคิดหลักในการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงกำหนดตัวคนร่าง กำหนดวิธีการร่าง ในหมู่พวกเขาเหล่านั้น พวกหนึ่งเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนอีกพวกก็จะเป็นคนที่ไม่มีการตั้งคำถามเรื่องพระราชอำนาจ

มีความแปลกประหลาดอยู่ว่า ตอนแรกฝ่ายนักการเมืองอยากเป็นคนเคาะคนสุดท้ายให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ตอนแรกมีชื่อคุณชุมพล ศิลปอาชา แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นอาจารย์ชัยอนันต์เป็นประธาน กมธ. แก้มาตรา 211 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วคนที่เป็นโต้โผหลักในการร่างก็คืออาจารย์บวรศักดิ์ ซึ่งเป็นรอยัลลิสต์คนสำคัญคนหนึ่งและมีบทบาทในการถกเถียงในคณะกรรมการร่างฯ


อีกด้านหนึ่งคือในช่วง 2530-2540 วาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ แพร่หลายมากในสังคมไทย เรื่องนี้ส่งผลอย่างไร

ภาพลักษณ์ว่านักการเมืองแย่นั้นรุนแรงมากในช่วง 2530-2540 ตั้งแต่ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกฯ ก็โดนด่าเลย เงื่อนไขที่ทำให้วาทกรรมนี้ถูกจุดขึ้นมาและกลายเป็นประเด็น เพราะด้านหนึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่อยากจะเสพเรื่องราวทางการเมือง อีกด้านหนึ่งมีกลุ่มผู้ผลิตคือสื่อมวลชนที่พยายามจะขายของให้กับลูกค้าชนชั้นกลาง เพราะสภาพเศรษฐกิจหลัง 2530 จีดีพีโตปีละ 8-10% มาตลอด

ผมลองไปดูนิตยสารที่เจาะกลุ่มชนชั้นกลาง ช่วงหลังพฤษภาคม 2535 อย่างนิตยสารผู้จัดการ นิตยสารสารคดี พบว่ามีเนื้อหาและโฆษณาครึ่งต่อครึ่ง โฆษณาสินค้าเป็นหน้าสีทั้งหมด ชนชั้นกลางก็อยากเสพเรื่องราวการเมือง เรื่องที่คนอ่านแล้วอินคือเรื่องการโกง การทุจริต นักการเมืองขี้ฉ้อ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองทำจริงๆ เอาใครก็ไม่รู้มานั่งเป็นรัฐมนตรี ค้านสายตาชนชั้นกลางที่เรียนจบมหาวิทยาลัย เรียนจบจากต่างประเทศ ทำงานในระบบตลาดที่เกี่ยวพันกับโลก เรื่องนี้อาจารย์ทามาดะ โยชิฟูมิเคยศึกษาว่าหลังพฤษภาคม 2535 มีนิตยสารการเมืองทั้งรายปักษ์และรายสัปดาห์เกิดขึ้นใหม่ 2-3 ฉบับ เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์

ความลงตัวนี้ทำให้เกิดวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ และเพิ่มความรุนแรงในด้านกลับคือการเรียกร้องการเมืองที่ดีขึ้น หนึ่งในคำตอบที่หลายคนคิดว่าจะพาเรารอดพ้นหรือพาเราเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปได้ คือการขอใช้พระราชอำนาจ


ในภาวะที่คนเสื่อมศรัทธากับนักการเมือง ทำไมทางออกคือการมุ่งไปหาราชาที่มีธรรมะ ทำไมไม่กลายเป็นว่าเราต้องทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น

ผมคิดว่าเหตุที่ผู้คนในเวลานั้นไม่ได้จินตนาการถึงการทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข้ง เพราะเขาไม่อยู่ในสภาวะที่คิดว่าสถาบันกษัตริย์เป็นคู่ตรงข้ามกับสถาบันประชาธิปไตย ซึ่งก็มีข้อถกเถียงอยู่ว่าตกลงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันนี้เป็นไปในรูปแบบปรปักษ์กันหรือเปล่า หรือที่จริงแล้วส่งเสริมกันได้ หรือขัดแย้งกันแต่เสริมกันได้ในบางกรณี ซึ่งในงานศึกษายุคหลังโดยมากมองว่าเป็นความขัดแย้งแบบปรปักษ์กัน ถ้าจะให้ด้านหนึ่งมีอำนาจมาก อีกด้านหนึ่งก็จะอำนาจน้อยลงทันที

ชนชั้นกลางในตอนนั้นเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงไม่ได้มีส่วนร่วม หรือไม่ได้เข้ามาแทรกแซง โดยพื้นฐานชนชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นลูกจีนที่ถูกมองว่า ‘ไม่ไทย’ เป็นลูกเจ๊กคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นความหวาดระแวงของรัฐมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 งานของอาจารย์เกษียรก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นปมที่ลูกจีนรู้สึกติดอยู่ในใจ อาการเหมือนคนกำพร้าทางวัฒนธรรม ไม่ได้รับการต้อนรับจากสังคม เข้าไปในเรียนในโรงเรียนก็สอนแต่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ด่าบรรพบุรุษคนจีน ด้วยอาการแบบนี้ทำให้ชนชั้นกลางในตอนนั้นอยากเป็นไทย และความเป็นไทยที่เขาเข้าใจก็คือความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม เขาก็คิดว่าสถาบันกษัตริย์จะไม่ดีได้อย่างไร ในเมื่อพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงไม่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองปกติทั่วไป จะทรงเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อเกิดสุญญากาศเท่านั้น

ดังนั้น ในตอนนั้นพวกเขาจึงไม่ได้มองหาว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้สถาบันประชาธิปไตยเข้มแข็ง แต่พวกเขามองหาว่าจะสู้กับนักการเมืองอย่างไร ก็เลยไปควานในความรับรู้ของตัวเองว่าใครบ้างที่จะมีอำนาจเพียงพอที่พวกนักการเมืองจะฟังหรือเพียงพอที่จะสู้กับนักการเมืองได้ แล้วก็เจอสถาบันทางวัฒนธรรมคือสถาบันกษัตริย์ เพราะว่าพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจ จึงมีความคิดต้องการให้พระองค์เป็นแม่ทัพในการสู้กับพวกนักการเมืองที่ลุแก่อำนาจ


หากมองว่านั่นเป็นเพียงความเรียกร้องต้องการของปัญญาชนและชนชั้นกลาง แล้วในช่วงนั้นภาพของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่การเมืองเป็นอย่างไร

ในเวลานั้น ผู้คนตีความว่าช่วงเวลาการปฏิรูปหรือช่วงเวลาของการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นช่วงเวลาพิเศษ ช่วงเวลาเฉพาะ ดังนั้นจะเข้ากับวาทกรรมที่ว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทได้เฉพาะในช่วงที่มีสุญญากาศหรือในช่วงเวลาที่สถาบันอื่นในสังคมทำงานไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ฉะนั้นเขาไม่คิดว่านี่เป็นการแทรกแซง

ปริมณฑลทางการเมืองถูกมองว่ามีสองระนาบ ด้านบนเป็นพื้นที่เหนือการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่และทรงช่วยกำกับดูแลพื้นที่ด้านล่างซึ่งคือนักการเมือง ระบบราชการต่างๆ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงลงมาเกี่ยวข้องเฉพาะในช่วงเวลาพิเศษเท่านั้น ซึ่งช่วงการปฏิรูปก็เข้าเกณฑ์ จึงชอบแล้วที่จะเรียกร้องให้มีการใช้พระราชอำนาจ


ในช่วงที่เสรีนิยมธรรมราชาเข้มแข็ง ปัญญาชนและชนชั้นกลางคาดหวังให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทหรือหน้าที่แบบไหน

หลัง 2535 มีแนวโน้มว่าทรงมีพระบารมีมากขึ้น สื่อมวลชนและชนชั้นกลางก็มีการตีความให้พระราชอำนาจสูงขึ้น ความคาดหวังที่เกิดขึ้นก็คือการเป็นผู้กำกับควบคุมให้สถาบันประชาธิปไตยดีงาม คำว่าดีงามในความหมายของพวกเขาก็คือไม่มีคอร์รัปชัน เศรษฐกิจโต เพราะความคิดของกระฎุมพีมองว่าเศรษฐกิจจะโตได้ต้องไม่มีการโกงกินมากมาย ไม่ลุแก่อำนาจ การเมืองมีหลักมีเกณฑ์ในบางระดับ

ในสภาวะนี้ก็มีการตีความหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าอะไรที่ทำได้บ้างและอะไรที่ทำไม่ได้ การตีความเหล่านั้นไม่ถึงกับออกมาเป็นข้อสรุปว่าเสรีนิยมธรรมราชาถูกคาดหวังให้ทำอะไรกี่ข้อ แต่ในภาพรวมคือการคาดหวังให้มีการกำกับดูแล ไม่ให้เกิดการลุแก่อำนาจ

เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็จะมีคนจำนวนหนึ่งฉวยใช้ว่าในสถานการณ์นี้ทำได้นะ เช่น การเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 (ในรัฐธรรมนูญ 2540) เมื่อเรียกร้องไปแล้วทำไม่ได้ก็เกิดแนวทางอื่น อย่างตุลาการภิวัตน์และรัฐประหาร โดยกลุ่มผู้ชุมนุม (พันธมิตรฯ) อ้างความชอบธรรมจากการอิงสถาบันกษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญ, สีเสื้อ, ผ้าพันคอ ฯลฯ ในภาพรวมการตีความถึงบทบาทมักจะเป็นการโยนหินถามทาง และผลักให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้


การเรียกร้องเรื่องพระราชอำนาจปรากฏในช่วง 2535-2540 และอีกครั้งคือช่วง 2548-2550 สองช่วงนี้แตกต่างกันไหม เป็นไปได้ไหมที่ในช่วงปี 2548 เกิดการเรียกร้องเพราะเคยเห็นตัวอย่างจากช่วงหลังปี 2535 มา

เป็นไปได้ เรื่องนี้มีอยู่ในวิทยานิพนธ์ของอาจารย์กิตติศักดิ์ที่พยายามบอกว่าช่วงปลายทศวรรษ 2540 คือการผลิตซ้ำช่วงการเรียกร้องปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2540

ผมคิดว่าช่วงปลายทศวรรษ 2540 ในหมู่ปัญญาชนอนุรักษนิยมมีความรับรู้ตรงกันถึงความเป็นได้เรื่องพระราชอำนาจ เมื่อมีการเขียนบทความตีความหลักการเรื่องนี้แล้วสังคมรับได้ บางช่วงมีปัญญาชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้ใช้พระราชอำนาจด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ถูกเอามาใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ จนกระทั่งคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ ก็มีการตีความหลักการที่เคยคิดว่ามันเป็นไปได้นั้นใหม่และเอามาปรับใช้ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ถึงต้นทศวรรษ 2550


วิธีคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหารด้วยหรือไม่ ทั้งในปี 2549 และปี 2557 คือความพยายามหาทางออกอื่นนอกสถาบันแนวประชาธิปไตย

ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ชนชั้นนำไทยมีหลายเครื่องมือที่จะใช้ในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก ประเพณีรัฐประหารก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น ในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลปกติก็จำกัดอำนาจด้วยการอ้างเรื่องการเมืองคนดี ประชาชนโง่จนเจ็บ ถูกซื้อเสียง ไม่มีคุณสมบัติ หนึ่งสิทธิ์ของคนไม่มีการศึกษาจะเอามาเทียบกับคนมีการศึกษาได้อย่างไร แต่การใช้กำลังยึดอำนาจก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของเขา เมื่อเขาไม่มองว่าสถาบันประชาธิปไตยจะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งความสงบของสังคมได้

เสรีนิยมธรรมราชาและการรัฐประหารต่างเป็นเครื่องมือในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก โดยที่ความพยายามจำกัดอำนาจเสียงข้างมากมีหลากหลายรูปแบบ มีวาทกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณแนะนำผมว่าให้ลองไปดูแนวคิดที่โต้ตอบกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับเสียงข้างมากโดยตรง หรือที่อาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ศึกษาเรื่องแนวความคิดประชาธิปไตยแบบไทย ช่วงหลังทศวรรษ 2490 เป็นความคิดที่พยายามอ้างว่าทำไมเสียงข้างมากจึงไม่ควรมีอำนาจ สองเหตุการณ์นี้เป็นคนละชุดความคิด แต่เป็นความพยายามจำกัดอำนาจเสียงข้างมากของชนชั้นนำไทยเหมือนกัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือในทศวรรษ 2520 เกิดวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยของฝ่ายทหารประชาธิปไตย อย่างพันโทประจักษ์ สว่างจิตร ฝ่ายเสธฯ ของกองทัพที่เป็นปีกสำคัญในการเสนอพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ว่าควรเอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา ปฏิบัติการทางวาทกรรม และปฏิบัติการทางอุดมการณ์มากกว่าการใช้กำลังทหารที่ดูแล้วไม่ได้ผล ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่พยายามเสนอว่าทำไมต้องจำกัดอำนาจของเสียงข้างมาก

ในช่วงทศวรรษ 2530 ก็คือการใช้เสรีนิยมธรรมราชา ส่วนในยุคหลังทักษิณ ชินวัตรจะพบวาทกรรมจำกัดเสียงข้างมากผสมปนเปเยอะมาก หลายวาทกรรมเอามาจากอดีต แต่ที่เป็นกระแสหลักและเป็นเสียงที่ดังมากคือวาทกรรมโง่จนเจ็บ ที่เราได้ยินว่าคนโง่ถูกซื้อเสียง ถูกทักษิณหลอก เป็นควายแดง

ในภาพใหญ่ทั้งหมดนี้คือความต้องการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก ไม่เชื่อว่าคนธรรมดามีอำนาจได้ ในแต่ละช่วงเวลาความพยายามนี้ก็จะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือไม่อยากให้ประชาชนธรรมดามีอำนาจ

ผมจึงคิดว่านี่เป็นที่มาของการที่พรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลเอาวาทกรรมประชานิยมฝ่ายซ้ายมาตอบโต้กับวาทกรรมที่ต้องการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก วาทกรรมประชานิยมคือการบอกว่าประชาชนสำคัญที่สุดและศัตรูของประชาชนนั่นแหละควรถูกจำกัด นี่คือการสถาปนาประชาชนผ่านการมีศัตรูร่วม ในทางการเมืองวัฒนธรรมนี่คือการโต้ตอบกับวาทกรรมที่ต้องการจำกัดเสียงข้างมาก โดยการอ้างว่าเสียงข้างมากสำคัญที่สุด


ตอนนำเสนอดุษฎีนิพนธ์คุณบอกว่า ไทยโน้มเอียงไปทางเสรีนิยมมากกว่าโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย สาเหตุเป็นเพราะอะไร

ในแง่อุดมการณ์เสรีนิยมกับประชาธิปไตยไม่ใช่เนื้อเดียวกันตั้งแต่ต้น ด้านหนึ่งคือเสรีนิยม ด้านหนึ่งคือประชาธิปไตย ซึ่งต่างมีจุดเน้นและเป้าประสงค์หลักทางการเมืองแตกต่างกันอย่างมากและต้องประนีประนอมกัน

เสรีภาพในทัศนะแบบเสรีนิยมเป็น zero-sum game หากเสรีภาพของรัฐมากคือรัฐมีอำนาจมาก ประชาชนก็จะมีอำนาจน้อย, หากรัฐมีอำนาจน้อย ประชาชนก็จะมีอำนาจมาก เป้าหมายของเสรีนิยมคือรัฐมีอำนาจน้อยที่สุด เพียงพอแค่ประกันความมีเสถียรภาพของสังคม เพราะหากรัฐมีอำนาจไม่จำกัดจะคุกคามเสรีภาพของประชาชน

เป้าหมายทางการเมืองที่เสรีนิยมต้องการบรรลุนั้นจึงสอดรับกับสภาพการมีอำนาจของชนชั้นนำจารีตหลัง 2475

ส่วนจุดเน้นของประชาธิปไตยคือความเสมอภาค อำนาจในทางการเมืองของประชาธิปไตยมาจากจำนวนคน อำนาจจึงมาในรูปแบบของการลงคะแนน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในอาชีพ ความรู้ ชาติกำเนิด แต่มองคุณในฐานะบุคคลคนหนึ่งซึ่งควรมีอำนาจเท่ากันกับคนอื่น ระเบียบของสังคมไทยที่เคลื่อนมาตั้งแต่อดีตมันขัดกับเรื่องนี้จังๆ เมื่อเรามีลำดับชั้นทางสังคมอยู่ก็ไปกันไม่ได้เลยกับการเชื่อว่าคนเท่ากัน หม่อมราชวงศ์จะเท่ากับชาวนาได้อย่างไร

ในแต่ละสังคมจะมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรคือกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับสังคมไทยเรามีระเบียบอีกรูปแบบที่อาจมีสัดส่วนมากกว่าด้วยซ้ำ คือระเบียบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกติกาที่ไม่ถูกเขียนเอาไว้ แต่เรารับรู้ เช่น เดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ต้องก้มหัว สิ่งนี้คือจารีต

ระเบียบทางวัฒนธรรมช่วงชั้นนั้นขัดกันอย่างมากกับประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียม มันแข็งแรงมากเสียจนวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยโตยาก ในขณะที่วัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่ให้รัฐมีอำนาจจำกัดนั้นโตง่ายกว่า

เมื่อกลายเป็นลูกผสมแบบนี้ กลายเป็นว่ารัฐมีอำนาจจำกัดเฉพาะกรณีที่ต้องใช้อำนาจตามลำดับช่วงชั้น รัฐยิ่งมีอำนาจมากเมื่อใช้กับคนชั้นล่าง คนที่เป็นเสรีนิยมแบบไทยๆ ไม่ได้อยากเรียกร้องหลักการเสรีนิยมให้กับคนในลำดับชั้นล่างๆ และเขาไม่ชอบรัฐแบบทักษิณแน่นอน เพราะกระทบกับเขาโดยตรง วาทกรรมหลักในม็อบต่อต้านทักษิณ ไม่ใช่เรื่องฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด ไม่ใช่เรื่องชายแดนใต้ แต่เป็นเรื่องการแทรกแซงระบบราชการ แทรกแซงการแต่งตั้งในกองทัพ เรื่องทำตัวเสมอเจ้า การไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง-ไม่เคารพลำดับชั้นสำคัญกว่าเรื่องฆ่าตัดตอน


ในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลใหม่ เสรีนิยมธรรมราชาเปลี่ยนไปหรือไม่

มีผู้วิจารณ์งานที่ผมศึกษาว่า ตกลงแล้วเราจะอ้างได้เหรอว่าเสรีนิยมธรรมราชาเป็นธีมของช่วงเวลานี้ (2540-2560) ในเมื่อมันก่อรูปขึ้นมาและไม่ได้ถูกลงหลักปักฐาน ผมก็ตอบว่าลักษณะที่เกิดขึ้นพอจะบอกได้ว่าแตกต่างจากช่วงอื่น เพราะมันมาพร้อมกับชนชั้นกลาง พร้อมกับสื่อมวลชน พร้อมกับวาทกรรมการปฏิรูปการเมือง พร้อมกับวาทกรรมการเมืองใสสะอาด พร้อมกับช่วงที่ความนิยมในสถาบันกษัตริย์ขึ้นสูงสุด เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มันไม่เหมือนช่วงอื่น และเราเรียกช่วงนี้ว่าเสรีนิยมธรรมราชา

ถ้าเราเชื่อว่าเสรีนิยมธรรมราชาลงหลักปักฐานพอสมควร ในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 คือการเอาหลักการนี้มาใช้จริง แล้วพอใช้ไปเกิดพลวัต เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการตีความใหม่ เกิดความพยายามเสนอเสรีนิยมธรรมราชาเวอร์ชันใหม่ จนกระทั่งออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ แต่ประเด็นสำคัญคือกลุ่มผู้มีอำนาจนำในตอนนั้น โดยเฉพาะ คสช. เขาไม่เอาร่างนี้


ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ฉบับบวรศักดิ์ สะท้อนการปรับตัวของเสรีนิยมธรรมราชาอย่างไร

จากเดิมการพยายามอ้างอิงพระราชอำนาจในการจำกัดเสียงข้างมาก คือการให้สถาบันกษัตริย์มากำกับนักการเมืองโดยตรง ในแง่นี้ก็เกิดความหมิ่นเหม่ เพราะเมื่อนักการเมืองได้รับความนิยมผ่านกลไกการออกเสียงลงคะแนนก็เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วมติของมหาชนให้อำนาจแก่ใครมากกว่า

ทางฝ่ายกษัตริย์นิยมมักจะอ้าง ‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ได้รับความยอมรับจากมหาชนอย่างไม่มีใครคัดค้าน และ ‘ราชประชาสมาสัย’ คือพระราชากับราษฎรต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เมื่อมาถึงยุคของทักษิณ เขาก็อ้างว่าผมมาจาก 19 ล้านเสียงนะ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหม่อมราชวงศ์หรือรัฐมนตรีก็เป็นใน 1 ใน 19 ล้านเสียงนั่นแหละ คุณจะอ้างความชอบธรรมมากกว่า 19 ล้านเสียงได้อย่างไรในเมื่อผมชนะการเลือกตั้ง นั่นทำให้เกิดการชนกันโดยตรงระหว่างหลักการธรรมราชาที่เป็นมหาสมมติกับหลักการแบบประชาธิปไตยที่นับหัวคนเท่ากัน

รัฐธรรมนูญ 2550 ก็พยายามปรับส่วนนี้ คนที่พูดเรื่องนี้คืออาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล และด้วยปมแบบนี้รัฐธรรมนูญ 2558 ของอาจารย์บวรศักดิ์จึงพยายามเลี่ยงการอ้างเรื่องนี้โดยตรง แต่ถามว่ายังเป็นเสรีนิยมธรรมราชาไหม โดยฐานคิดผมคิดว่าใช่ คือสถาบันกษัตริย์มีพระราชอำนาจในการกำกับควบคุม แต่เป็นการกำกับควบคุมแบบห่างออกไปอีกชั้นหนึ่ง มีกันชนป้องกันไม่ให้สถาบันประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ชนกันโดยตรง เช่น การตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ นี้ก็ถอดหน้าที่การชี้ขาดของสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้กำกับดูแลไปให้สถาบันอื่นทำแทนนั่นคือศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เคยมีแนวคิดแบบนี้ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ว่าทำอย่างไรจึงจะป้องกันนักการเมืองแบบประชานิยม เอาเงินภาษีประเทศไปถลุง แล้วใช้นโยบายประชานิยมทำให้คนหลงผิด และนักการเมืองก็รวบอำนาจจนทำให้เกิดความปั่นป่วน นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองที่ไม่จบ ทางแก้คืออย่าให้เกิดประชานิยม ต้องหากลไกกำกับควบคุมนักการเมือง

สุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ได้ออกแบบกลไกให้บทบาทที่มากพอแก่พลังฝ่ายนำในตอนนั้น คือกองทัพและเครือข่ายผู้สนับสนุน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจำกัดเสียงข้างมาก ดังนั้นร่างจึงต้องตกไปเพื่อร่างใหม่ให้เขามีบทบาทกำกับควบคุมมากกว่านั้น จึงเป็นที่มาของคำพูดอาจารย์บวรศักดิ์ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

ในภาพรวมผมคิดว่ายังเป็นธีมเดิมคือโครงการจำกัดเสียงข้างมาก แต่ความสัมพันธ์แบบเสรีนิยมธรรมราชาเริ่มเปลี่ยนไป มีการผ่องถ่ายพระราชอำนาจบางอย่างที่ถ้าใช้จะกระทบโดยตรงกับสถาบันประชาธิปไตย โดยพยายามสร้างกันชนไว้ผ่านคณะกรรมการต่างๆ ไม่ให้เป็นการใช้อำนาจโดยตรงจากพระมหากษัตริย์


ในยุคหลังรัชกาลที่ 9 ฝ่ายชนชั้นนำยังเห็นความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของเสรีนิยมธรรมราชาหรือไม่ หรือมีการใช้เครื่องมืออื่นแทนในโครงการจำกัดเสียงข้างมาก

ธรรมราชาและเสรีนิยมธรรมราชาจำเป็นสำหรับการรักษาเสถียรภาพของสภาพที่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากและสถาบันประชาธิปไตยมีอำนาจจำกัด หากไม่มีสิ่งเหล่านั้นความชอบธรรมในการกำกับควบคุมสถาบันแนวประชาธิปไตยจะยิ่งน้อยลงด้วย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราเห็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในม็อบต่างๆ และสิ่งที่โต้ตอบกลับมาคือความรุนแรง หากเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (network monarchy) ไม่ใส่ใจเรื่องธรรมราชา ก็เหมือนธารน้ำที่ไม่มีต้นน้ำ แล้วน้ำก็จะน้อยลงจนแห้งเหือด แนวโน้มที่เป็นอยู่จึงอันตราย


เราสามารถพูดได้ไหมว่า การใช้มาตรา 112 เกี่ยวข้องกับเรื่องธรรมราชา

แน่นอน มันคือด้านกลับของธรรมราชา การดำเนินคดี 112 ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการป้องปราม เป็นความยุติธรรมแบบประโยชน์นิยม แปลว่าไม่สำคัญว่ากระบวนการนั้นจะมีความยุติธรรมหรือเปล่า ตราบใดที่มันให้อรรถประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุดก็เพียงพอแล้ว ฉะนั้น ต่อให้มีแพะก็ได้ ขอแค่ทำให้ทุกคนไม่กล้าทำผิดอีกต่อไปก็พอ

เผอิญว่าการใช้ความยุติธรรมแบบประโยชน์นิยมของชนชั้นนำไทยในตอนนี้ ตีความอรรถประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด โดยนิยามตามความเป็นไทย คือต้องธำรงรักษาความเป็นไทยและความเป็นชาติของเราไว้ ดังนั้น นี่จึงเป็นนาฏกรรมแบบหนึ่งที่แสดงถึงความโหดร้าย ยิ่งความโหดร้ายถูกขับเน้นให้เห็นมาก ยิ่งความทุกข์ทรมานของผู้ต้องหาถูกทำให้เห็นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสมประโยชน์พวกเขา


ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเสรีนิยมธรรมราชาหรือไม่

ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าคนจำนวนมากไม่เอาวาทกรรมแบบเดิมหรืออุดมการณ์แบบเดิมแล้ว เงื่อนไขสำคัญคือพรรคก้าวไกลมีภาพลักษณ์คนละชนิดกับภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เสรีนิยมธรรมราชาใช้เป็นข้ออ้าง ต้องเท้าความหน่อย คือนักการเมืองบ้านใหญ่ในทศวรรษ 2520 เป็นผลผลิตจากการเว้นวรรคการเลือกตั้งอย่างยาวนานจนทำให้สถาบันประชาธิปไตยพิการ หากจะย้อนกลับไปดู อันที่จริงเราไม่มีเลือกตั้งอย่างจริงจังตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เพราะ 2501 รัฐประหาร, 2511 รัฐธรรมนูญเสร็จ, 2512 เลือกตั้งแล้วอยู่ได้ไม่นาน, 2514 ถนอมรัฐประหารตัวเอง, 2518 เลือกตั้ง, 2519 รัฐประหารอีกแล้ว, 2520 รัฐประหาร, 2521 ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ช่วง 20 ปีนี้เราเว้นวรรคไปนานมาก

พอมาถึงทศวรรษ 2520 ด้วยระเบียบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมทำให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของสถาบันประชาธิปไตยมีภาพลักษณ์แบบใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่าแบบ ‘ยี้’ ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่าบ้านใหญ่ แต่ต้นตระกูลบ้านใหญ่ก็จะย้อนไปไม่เกิน 40 ปี อย่างคุณชัย ชิดชอบก็เป็นกำนันมาก่อนจะได้สัมปทานโรงโม่หิน แล้วก็เข้ามาสู่แวดวงทางการเมืองเพื่อป้องกันสัมปทาน เพื่อการสะสมทุน ก็เป็นที่มาของบ้านชิดชอบ แล้วยังมีอีกหลายตระกูลซึ่งคล้ายกัน

การเกิดขึ้นของนักการเมืองเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจแบบกรุงเทพฯ โตเดี่ยว ทำให้การสะสมทุนของต่างจังหวัดโตขึ้นไม่ได้ บีบบังคับให้ชนชั้นนำที่ขึ้นมาใหม่ในต่างจังหวัดต้องวิ่งเข้ามาในเวทีการเมือง เพื่อที่จะคุมกระทรวง คุมสัมปทาน ผันโครงการมาลงพื้นที่ นี่คือนิเวศของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่กำกับภาพลักษณ์แบบยี้ๆ ที่เราด่ากัน

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลโตมาอีกแบบ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับกลุ่มนักการเมืองที่เสรีนิยมธรรมราชาใช้อ้างความชอบธรรมว่า นักการเมืองมันยี้ จึงต้องเพิ่มอำนาจอีกด้านหนึ่ง

พรรคอนาคตใหม่โตมาด้วยฐานของอุดมการณ์ เป็นเสรีนิยมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นด้านกลับของเสรีนิยมธรรมราชา กระแสเสรีนิยมนี้ก่อตัวมาเป็นสถาบันผ่านระบบพรรคการเมือง ผ่านพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และแสดงตัวออกมาผ่านการเลือกตั้งรอบนี้ ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงเสรีนิยมธรรมราชาในมิติของสัมพันธภาพระหว่างตัวแสดง


มองเหตุการณ์หลังเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ การที่พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคการเมืองของฝ่ายชนชั้นนำ จนถึงกรณีการกลับบ้านของคุณทักษิณ ทั้งหมดนี้เป็นการปรับตัวของชนชั้นนำ หรือเป็นความอ่อนแอลงของสถาบันแนวประชาธิปไตย

ลองคิดดูว่าชนชั้นนำจารีตเกลียดคุณทักษิณขนาดไหน แต่เขายอมดีลนี้เพราะต้องปรับตัว เนื่องจากสถาบันแนวประชาธิปไตยเริ่มเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นอานิสงส์ของชนชั้นกลางกลุ่มใหม่

ตัวแสดงทางการเมืองที่มีในปัจจุบันเราจะเห็นกลุ่มพลังนำกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมา ก่อนหน้านี้เขาคือกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง แต่ตอนนี้เขาเป็นกระฎุมพีเทียบเท่าสถานะของกระฎุมพีลูกจีนในช่วงทศวรรษ 2530 ก่อนการปฏิรูปการเมือง คนกลุ่มนี้มีปัญญาชนของเขา มีสื่อของเขา มีตลาดสามารถรองรับระบบนิเวศความคิดทางการเมืองของเขาได้ เช่น แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก จักรวาลไทบ้าน เจาะข่าวตื้น THE STANDARD เป็นต้น เหล่านี้สามารถทำเป็นธุรกิจได้เพราะมีกลุ่มชนชั้นกลางใหม่กลุ่มใหม่เป็นผู้บริโภค โดยเนื้อหาเป็นคนละอุดมการณ์กับกระฎุมพีกลุ่มเดิม คนพวกนี้จำนวนมากเป็นฐานสำคัญของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล

ดังนั้น นำไปสู่ข้อสรุปว่าเสรีนิยมธรรมราชาเปลี่ยนและเสรีนิยมแบบอื่นกำลังขึ้นมามีบทบาท ส่วนนี้เองที่ทำให้สถาบันแนวประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น และเนื่องจากมันเป็น zero-sum game เมื่อพัฒนาขึ้นก็ไปแย่งความชอบธรรมและมวลชนของเสรีนิยมธรรมราชา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดการปรับตัวของกลุ่มชนชั้นนำจารีตไทย

ผมมองไม่ออกว่ารัฐบาลในสภาพที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปทางไหน ต้องรอดูว่าจะลงตัวหรือไม่ เศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขหลัก หากพรรคเพื่อไทยทำให้เศรษฐกิจโตได้มากกว่ารัฐบาล คสช. ก็มีแนวโน้มว่าเราอาจมีเสถียรภาพระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันประชาธิปไตยในแบบนี้ไปอีกสักพัก


เราสามารถมองสภาพปัจจุบันว่าเป็นแนวโน้มที่ดีได้ไหม เมื่อฝ่ายชนชั้นนำจารีตยอมมาเล่นในเกมผ่านสถาบันแนวประชาธิปไตย

พูดยากมาก ต้องถามว่าดีต่ออะไรบ้าง ผมชอบที่คุณภู กระดาษบอกว่า พอเล่นไม้นี้มากลายเป็นว่าเราจกตากันเอง กลายเป็นว่าด้อมส้มกับด้อมแดงจกตากันเอง ผมคิดว่าแดงกับส้มเป็นคู่แข่ง แต่เราไม่ใช่ปรปักษ์ ปรปักษ์ที่แท้จริงคือสถาบันจารีตทั้งหมด

เราไม่ใช่ปรปักษ์ต่อกัน ความพังทลายของอีกฝ่ายจะนำความพังทลายมาสู่พวกเราด้วย ความล่มจมของพรรคเพื่อไทยจะนำมาซึ่งความพังทลายของสถาบันแนวประชาธิปไตยในภาพรวม เช่นเดียวกับการยุบก้าวไกล ฉะนั้นอย่าไปให้ถึงจุดนั้น เราเถียงกันได้ ตีกันได้ บนพื้นฐานว่าถึงอย่างไรหลักการแบบประชาธิปไตยต้องมาก่อน เขาได้รับการเลือกมา เขาทำเพื่อโหวตเตอร์ของเขา เราต้องเคารพเรื่องนี้ อย่าให้ไปถึงแบบสมัยม็อบพันธมิตรฯ เลยที่ลากมาทั้งกระดานเพื่อล้มทักษิณคนเดียว ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้


จากที่บอกว่าปัจจุบันเสรีนิยมธรรมราชาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากต้องศึกษาต่อจากงานชิ้นนี้จะศึกษาในแง่มุมไหน

ผมคิดว่ามีหลายคนที่เห็นตรงกันว่ามีโครงการพยายามจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก นี่เป็นสมมติฐานตั้งต้นร่วมกันในงานหลายชิ้นที่ศึกษาการเมืองไทย เมื่อมองในภาพระยะยาวมีความพยายามในสังคมไทยที่จะผลิตและหาข้ออ้างว่าทำไมคนธรรมดาจึงไม่ควรมีอำนาจ ผมอยากศึกษาว่าถ้ามองย้อนไปในอดีตเราจะเจอวาทกรรมหรือความพยายามแบบนี้กี่ครั้ง แต่ละครั้งมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็มีคนศึกษาเรื่องนี้ในบางช่วงเวลา อยากให้มีคนมาช่วยกันศึกษาว่าในภาพใหญ่โครงการจำกัดอำนาจเสียงข้างมากทำอะไรบ้าง ทำมากี่ครั้ง แต่ละครั้งมีเนื้อหาอย่างไร

ทั้งนี้ ผมคิดว่างานตัวเองยังมีหลายส่วนที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงอยากชวนคนมาวิจารณ์เพื่อจะได้พัฒนางานให้ดีขึ้น (ยิ้ม)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save