fbpx

เหลียวหลังการเมืองไทย 2566: 8 ข้อสรุป ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’

ในรอบปี 2566 ไม่มีเหตุการณ์ไหนในประเทศที่จะสร้างความตื่นตะลึงและเกิดแรงกระเพื่อมไปทุกหย่อมหญ้า มากไปกว่า ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’ ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวน ส.ส. 151 คน เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ ส.ส. 81 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

และถ้าไปดูคะแนนดิบปาร์ตี้ลิสต์ปี 2566 ก้าวไกลได้ 14.4 ล้านเสียง (ตัวเลขกลมๆ) ปี 2562 ได้ 6.3 ล้านเสียง คะแนนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ในจำนวนนี้ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด มี 44 จังหวัด หรือมากกว่าครึ่งประเทศที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง อีก 33 จังหวัดที่เหลือ มาเป็นอันดับสอง ไม่มีหลุดไปอันดับสามแม้แต่จังหวัดเดียว

หลายจังหวัดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นที่หนึ่ง โดยไม่ชนะ ส.ส.เขต และหลายจังหวัดเป็นพื้นที่ที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของบางพรรคการเมือง เช่น บุรีรัมย์ เมืองหลวงพรรคภูมิใจไทย สุพรรณบุรี เมืองหลวงพรรคชาติไทยพัฒนา สุราษฎร์ธานี เมืองหลวงกลุ่มการเมืองในนาม กปปส.

ในแง่ ส.ส.เขต ก้าวไกลยังเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มี ส.ส. ครบทุกภูมิภาค ที่น่าทึ่งสุดคือชนะแบบยกจังหวัดในภูเก็ต เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเข้มข้นด้วย ‘เสื้อเหลือง+กปปส.’ และยังคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้มากสุดในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองหลวงภาคเหนือของพรรคเพื่อไทย แสบสุดคือชนะแม้แต่เขตบ้านเกิดของทักษิณ ชินวัตร  

นั่นคือไฮไลต์บางส่วนจากภาพรวมของปรากฏการณ์ก้าวไกล  

แล้วจากปรากฏการณ์ดังกล่าว สร้างจุดเปลี่ยนและเกิดข้อสรุปใหม่ในทางการเมืองไทยอย่างไรบ้าง ในความเห็นผมมีข้อสังเกตดังนี้

1.เกิดการแบ่งขั้วจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน คือปีกอนุรักษนิยมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และปีกเสรีนิยม ที่นำโดยพรรคก้าวไกล

ถือเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจนำบริหารประเทศ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2544 ที่พรรคเพื่อไทยจุดประกายการแข่งขันด้วยนโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ใช่การลอกแผนสภาพัฒน์ฯ แล้วมาดัดแปลงเป็นนโยบายพรรค จนคล้ายๆ กันหมดทุกพรรคเหมือนในอดีต หรือแข่งกันแค่การชูภาพเป็น ‘คนดี ซื่อสัตย์ ไม่ซื้อเสียง’

จากปี 2566 เป็นต้นไป รูปแบบการแข่งขันทางการเมือง นอกจากพรรคการเมืองต้องขายนโยบายที่จับต้องได้แล้ว ยังต้องขายจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองด้วยว่าชุดความคิดเป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม

2.ลบภาพมายาคติที่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งก็ต้อง ‘ซื้อเสียงทุกพรรค’ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะถูกจับได้หรือไม่ และชนะเลือกตั้งหรือไม่

พรรคก้าวไกลพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชนะเลือกตั้งได้ (เป็นพรรคอันดับหนึ่งด้วย) โดยไม่ต้องซื้อเสียง ข้อสรุปนี้นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แม้แต่นักการเมืองต่างพรรคหลายคนยังพูดตรงกันว่าเลือกตั้งรอบนี้มีพรรคเดียวที่ไม่ซื้อเสียงคือ พรรคก้าวไกล

3.สร้างความเชื่อมั่นว่า ‘คนธรรมดาทั่วๆ ไปก็เป็น ส.ส.ได้’ เพราะแต่เดิมความคิดความเชื่อและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยส่วนใหญ่ คือคนที่จะก้าวเข้ามาเป็น ส.ส. มักมาจากลูกหลานทายาทนักการเมืองเก่า สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น หรือเป็นคนในอาณัติ จนมีคำเรียกขานว่าเป็นการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนมีฐานะร่ำรวย มีชื่อเสียง เป็นนักธุรกิจ ไฮโซคนชั้นสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือเทคโนแครต แต่พรรคก้าวไกลทำให้เห็นว่าคนธรรมดาที่เราพบเห็นทั่วๆ ไป เป็นมนุษย์เงินเดือนปกติ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก แรงงาน คนชายขอบ ก็เป็น ส.ส.ได้ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและมีความคิดความอ่าน

4.ปิดฉาก ‘ผีทักษิณ’ สร้าง ‘ผีก้าวไกล’  

ชัยชนะแบบเหนือความคาดหมายของพรรคก้าวไกลทำให้ปีกอนุรักษนิยมที่ต่อสู้กับ ‘ผีทักษิณ’ มาร่วม 20 ปี (เริ่มนับจากปี 2548 ที่ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งที่สองถล่มทลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียว) ตัดสินใจสงบศึก หันมาจับมือกับ ‘ผีทักษิณ’ เพื่อสู้กับ ‘ผีก้าวไกล’ ผีตัวใหม่ที่ปีกอนุรักษนิยมวาดภาพว่าน่ากลัว และเป็น ‘ภัย’ ต่อการดำรงอยู่ของปีกอนุรักษนิยม

5.ตอกย้ำวาทกรรม ‘การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร’ การตระบัดสัตย์ขายวิญญาณ ย้ายข้ามขั้วจากที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘พี่ใหญ่’ ปีกเสรีนิยมของพรรคเพื่อไทย ไปเป็นแกนนำปีกอนุรักษนิยม ในด้านหนึ่งก็ตอกย้ำวาทกรรมดังกล่าว เพราะเชื่อว่า การเมืองคือการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

6.ก้าวไกล ‘เหมือนจะแพ้แต่ชนะ’ การชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่กลายเป็นฝ่ายค้าน+พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ (แถมยังโดนคดีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่) ตัวแทนพรรคไม่ได้เป็นประธานสภาฯ+พรรคสุ่มเสี่ยงถูกยุบ

ทั้งหมดนี้ หากมองในระยะเฉพาะหน้า ดูเหมือนก้าวไกลจะแพ้เกมการเมืองแบบหมดสภาพ แต่ในระยะยาว ผมยังเชื่อว่าหากการเมืองไทยยังเชื่อและเดินบนกติกาเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุดว่าจะเลือกใคร พรรคไหน มาใช้อำนาจบริหารประเทศแทนเขา วันใดวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ อย่างช้าไม่เกินปี 2574 ก้าวไกลจะชนะและได้เป็นรัฐบาล

เพราะจากปรากฏการณ์ก้าวไกลที่ไล่เรียงมาข้างต้น หากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ทำให้ผู้คน ‘ตาสว่าง’ การที่ปีกอนุรักษนิยมเดินเกมทุกวิถีทางเพื่อสกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งทำให้ผู้คน ‘ตาเบิกโพลง’

มองเห็น ‘ช้างตัวใหญ่’ ที่อยู่ในห้อง

และผู้คนเหล่านี้จะช่วยกันออกแบบ ออกแรง เพื่อสร้างห้องที่อยู่ร่วมกันใหม่ ภายใต้หลักการเคารพความเป็นคนซึ่งกันและกัน

7.ทักษิณ+เพื่อไทยเหมือนจะชนะแต่แพ้ ในมุมตรงข้ามจากข้อหก ทักษิณและเพื่อไทยอาจมองว่าตัวเองชนะที่ได้อำนาจรัฐ แต่มองให้ไกลกว่านั้น ทักษิณและเพื่อไทยไม่เพียงลดทอนศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่เพราะการตระบัดสัตย์ทางการเมืองและขายอุดมการณ์เพื่อแลกกับอำนาจ ไม่มีวันที่ทักษิณและเพื่อไทยจะกลับมายืนในจุดที่เคยได้รับความนิยมสูงสุดอีกต่อไป แต่มีแต่จะลดลง หากยังไม่เคยแสดงความสำนึก แถมยังเชิดหน้าชี้นิ้วสั่งสอนประชาชนให้ภาคภูมิใจกับการตระบัดสัตย์ของตัวเอง

เป็นไปได้สูงมากว่าเลือกตั้งรอบหน้า พรรคเพื่อไทยไม่สูญพันธุ์ แต่จะต่ำร้อย

8.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือคนที่ฉลาดในการบริหารอำนาจทางการเมือง ในแง่วิสัยทัศน์บริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ อาจถูกดูแคลนตลอดเก้าปีบนเก้าอี้นายกฯ และอาจเป็นที่เกลียดชังของคนจำนวนไม่น้อย แต่ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือคนที่ฉลาดในการบริหารอำนาจทางการเมือง

เก้าปีของระบอบประยุทธ์ ไม่เพียงจบลงด้วยการเอาชนะ ‘ผีทักษิณ’ ได้อย่างราบคาบ แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังลงจากอำนาจ แบบคำพังเพยที่ว่า ‘ลงจากหลังเสือ โดยไม่ถูกเสือกัด’ และยังมีอำนาจมากพอในการร่วมกำกับบทบาทเสือที่โลดแล่นใช้ชีวิตในโลกกว้าง

ปิดท้ายคอลัมน์ประจำเดือนนี้ ขออนุญาต ‘ขาย’ ล่วงหน้า โปรดติดตามอ่าน ‘แลหน้าการเมืองไทยปี 2567’ ในเดือนมกราคม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save