fbpx

นับหนึ่งรัฐบาลเศรษฐา นับถอยหลังพรรคเพื่อไทย ไม่สูญพันธุ์ แต่ต่ำร้อย

ผมเกิดไม่ทันการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยฝีมือคณะราษฎร ซึ่งอ่านจากบันทึกประวัติศาสตร์ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดูมีเรื่องราวแง่มุมที่ตื่นเต้นเร้าใจ และเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองที่แพรวพราว

ตัดกลับมาในยุคเปลี่ยนผ่านจากผีทักษิณเป็นผีก้าวไกล ผมคิดว่านี่จะเป็นอีกยุคที่การเมืองไทยห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจ แบบเปลือยธาตุแท้ตัวตนคนการเมืองได้ล่อนจ้อนที่สุด

ใครจะไปเชื่อว่า ‘แผนปฏิบัติการเขย่าต้นส้ม’ มีจริงและทำได้สำเร็จ ด้วยน้ำมือพรรคการเมืองที่เคยได้ชื่อว่าเป็นพี่ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย อย่างเพื่อไทย

คนการเมืองเก๋าเกมขั้นสูงสุด (เก๋าเกม ในอีกความหมายทางการเมือง คือความหน้าด้าน) ทั้งในเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายอนุรักษนิยม ตลอดจนผู้มีบารมีที่อยู่นอกพรรค

วางหมากเดินเกมจนเขย่าส้มร่วงสามลูก

ลูกแรก ประธานสภาส้มหล่น

ลูกสอง นายกฯ ส้มหล่น

ลูกสาม รัฐบาลส้มหล่น

ผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านสำเร็จ เหลือแค่ขั้นตอนสุดท้ายจะตัดสินใจโค่นต้นส้มจนไม่เหลือตอ หรือจะแค่ลิดรอนกิ่ง ชะลอการเติบโต

แผนทั้งหมดนี้ กระทำกันแบบโจ๋งครึ่มต่อหน้าประชาชน ชนิดไม่คิดว่าเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้ร่วมสมคบคิดจะเสื่อมสลาย และถูกคนรุ่นหลังพูดถึงว่าอย่างไร  

การเริ่มนับหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐาจึงไม่เพียงขาดความสง่างามตามวิถีประชาธิปไตยปกติ แต่ยังเต็มไปด้วยริ้วรอยความอัปลักษณ์จากการตระบัดสัตย์

เมื่อนับสองด้วยรายชื่อ ครม. ที่ประกาศออกมา ผู้คนที่ทำใจกับรัฐบาลตระบัดสัตย์ได้บ้างแล้ว ยังต้องผิดหวังซ้ำสอง เพราะผิดฝาผิดตัว เรียกเสียง ‘ยี้’ มากกว่า ‘ว้าว’

ถ้าไม่นับตำแหน่งนายกฯ ที่ชื่อเศรษฐา ซึ่งมองมุมไหนก็ดีกว่าประยุทธ์ ในความเห็นผมมีเพียงสามเก้าอี้ที่ถูกฝาถูกตัว คือ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ / พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหมอชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข

ที่ ‘ขี้เหร่’ เลย คือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ / ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์ / ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย / เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม

ยังดีที่พิชิต ชื่นบาน ทนายประจำครอบครัวชินวัตรถอนตัวจากเก้าอี้ รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดูด้านกฏหมาย) เสียก่อน ไม่งั้นจะเพิ่มที่ ‘ขี้เหร่’ มาอีกเก้าอี้

ส่วนที่เหลือ แม้ใช้คำว่าขี้เหร่ได้ไม่เต็มปาก แต่ดูโปรไฟล์การทำงานที่ผ่านมา ก็เหมือนจะฝากความหวังได้ยาก

โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.คลัง ที่นายกฯ ควบเอง แม้จากประวัติการศึกษาจะจบเศรษฐศาสตร์และการเงิน มีประสบการณ์บริหารธุรกิจระดับแสนล้าน แต่ก็เป็น ‘มือใหม่หัดขับ’ กับการบริหารประเทศ บริหารนโยบายสาธารณะ

ลำพังตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีงาน+ภารกิจมากมายมหาศาลสำหรับมือใหม่แล้ว นึกภาพไม่ออกว่าควบคลัง กระทรวงหัวใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะไปรอดได้แค่ไหน

นับสาม การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาก็เช่นเดิม คือแทนที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาบ้าง กลายเป็นทำลายความเชื่อมั่นที่มีน้อยอยู่แล้วลงไปอีก

เพราะนโยบายที่เคยหาเสียงช่วงเลือกตั้งไม่ถูกระบุ หรือแม้ระบุ ก็ใช้ถ้อยคำที่หลีกเลี่ยงการผูกมัดด้วยกรอบเวลา หรือตัวเลขชัดๆ หรือที่มาที่ไปของงบประมาณที่จะนำมาทำ

เป็นการแถลงแบบ ‘กว้างๆ’ ไม่มีตัวชี้วัด เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ+เงินเดือนปริญญาตรี ตอนหาเสียงระบุตัวเลข+เวลาว่าเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แต่ในนโยบายที่แถลง เลี่ยงใช้คำว่า ‘เป็นธรรม’

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เลี่ยงใช้คำว่า เกณฑ์โดยสมัครใจ / พักหนี้เกษตรกร 3 ปี เลี่ยงใช้คำว่า พักหนี้ตามความเหมาะสม / เงินดิจิตอล 10,000 บาท ไม่ยอมระบุที่มาของแหล่งเงิน

หรือบางนโยบายก็ไม่ใส่ไว้ดื้อๆ เช่น ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พอถูกทวงถามถึงรับปากว่าจะทำ  

ต่างๆ เหล่านี้จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพจำ ‘ตระบัดสัตย์’ ให้กับรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย จนระยะหลัง คนในรัฐบาล+ในพรรคและกองเชียร์ กลับมาว้าวุ่นโต้ตอบ หวังจะลบเลือนภาพจำนี้  

นับสี่ การเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ครม. อย่างเป็นทางการ ประชุมนัดแรกก็ตระบัดสัตย์ซ้ำ ไม่ยอมมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้ง สสร. ตามที่แถลงไว้หลังคว่ำเอ็มโอยูกับก้าวไกลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

เลี่ยงไปตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ และเช่นเคย ไม่มีการกำหนดกรอบเวลา

นอกจากตระบัดสัตย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มติ ครม. นัดแรกที่อาจจะพอเรียกคะแนนนิยมว่าทำตามที่เคยหาเสียงไว้บ้าง เช่น ลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ลดค่าไฟ 35 สตางค์ต่อหน่วย

แต่ก็ถูกกลบด้วยเรื่องที่ไม่เคยหาเสียง ไม่เคยพูดว่ามีแนวคิดเช่นนี้มาก่อน คือมติที่บอกว่าจะปรับระบบการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นสองงวดต่อเดือน เริ่ม 1 ม.ค. 2567

สร้างความตระหนก จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางลบ จากที่คิดว่าจะได้เสียงเชียร์ ว่ากล้าเปลี่ยนโครงสร้างการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม

กลายเป็นระงมด้วยเสียงด่า เมื่อเห็นท่าไม่ได้การเลยต้องรีบขยายความว่ามีทางเลือกให้ว่าจะรับแบบเดิมหนึ่งงวด หรือแบบใหม่สองงวด ใครรับแบบสองงวด กรมบัญชีกลางจะเคลียร์เรื่องงวดการจ่ายหนี้สินให้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เลยเบาบางลงไปบ้าง

นายกฯ เศรษฐาถึงกับยอมรับตรงๆ ว่าเป็นมือใหม่หัดขับ พยายามทำให้ดี แต่ถ้าข้อมูลไม่ครบก็เป็นบูมเมอแรงกลับมาโดนหน้า จากนี้หลายเรื่องขอให้มีข้อมูลพร้อมก่อน เป็นบทเรียนขอน้อมรับ

เพื่อความเป็นธรรม ผมยังเห็นว่าคุณเศรษฐาแกเป็นนายกฯ ที่พร้อมขอโทษ+น้อมรับอย่างจริงใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ต่างจากนายกฯ หรือนักการเมืองทั่วๆ ไป  

โดยเฉพาะอดีตนายกฯ ประยุทธ์ที่แทบไม่เคยเอ่ยปากขอโทษง่ายๆ และหากจำเป็นต้องพูดจริงๆ แกก็มักจะพูดแบบเสียไม่ได้ว่า “ก็ขอโทษก็แล้วกัน”

นอกจากมติ ครม. ที่ออกมาดังกล่าว ถ้าเหลียวไปสำรวจการโชว์วิสัยทัศน์+ให้นโยบายของ รมต.รายกระทรวง ไม่มีใครที่โดดเด่นเรียกคะแนนบวก ส่วนใหญ่เสมอตัว บางรายเรียกคะแนนลบเพิ่มให้รัฐบาลเสียอีก

เช่น กรณีอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย โชว์วิชั่นแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล โดยมอบหมายให้ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ต้องดูว่านี่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด put the right man on the right job. หรือเป็นการจัดระเบียบตีเมืองขึ้นกันแน่

หรือกรณี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ โชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหาหนี้ครู บอกให้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง นั่งรถแบบคาร์พูลมาทำงาน ไปงานแต่งงานศพใส่ซอง 20 บาท ถ้าไม่มีจริงๆ ให้ไปช่วยล้างจาน พร้อมสรุปคาถาแก้หนี้แบบตำรวจ ให้ครูนำไปใช้ว่า “ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มีไม่จ่าย ไม่ตาย”

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ อีกหนึ่งกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการส่งออก แหล่งรายได้สำคัญของประเทศ นอกจากการท่องเที่ยว จนถึงวันนี้ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์ ที่ฝากฝีมือในบทบาทนักเจรจาต่อรองทางการเมือง ตระบัดสัตย์ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสำเร็จ

เมื่อต้องรับบทรัฐมนตรี บริหารนโยบายสาธารณะ กลับไม่ได้โชว์วิชั่นอะไร ที่สร้างความเชื่อมั่นว่าส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัว เป็นเครื่องจักรสูบฉีดฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สดใสอีกครั้ง

และยังแบกหน้าไปรับก้อนอิฐจากเกมเตะถ่วงแก้รัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ

เห็นผลงานเดินเกมเขย่าต้นส้มที่กล่าวถึงข้างบนแล้ว ความหวังแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งเลือนรางพอๆ กับความหวังที่จะให้แกมาผลักดันนโยบายส่งออก

กล่าวโดยสรุป ผมฟันธงเลยว่า รัฐบาลเศรษฐายากที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจสำเร็จเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์รัฐบาล+พรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลหลัก

1.นายกรัฐมนตรีไม่ได้ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ชื่อชั้นคุณเศรษฐา ความคิดความอ่าน วิสัยทัศน์ที่แสดงออกตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนถึงวันนี้ แม้จะดูดีกว่าประยุทธ์ แต่นั่นคือนายกฯ ‘นิวโลว์’ ที่สำคัญแกเป็นเพียงนายกฯ ร่างทรง ไม่มีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเองที่แท้จริง

2.รัฐบาลที่มาจากการตระบัดสัตย์และมีส่วนผสมหลายพรรค ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ เมื่อประกอบกับนายกฯ ร่างทรง ทำให้ยิ่งกำกับดูแลรัฐมนตรีทั้งในพรรคตัวเองและต่างพรรคยาก จะปรับเปลี่ยนใครที่คิดว่าไม่เหมาะสม ทำไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องฟังทั้งจากบ้านจันทร์ส่องหล้า บ้าน ร.1 รอ. บ้านบุรีรัมย์ บ้านป่ารอยต่อ

3.การเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอย่างก้าวไกล รัฐบาลจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น บาดแผลจะถูกเปิดเผยให้สังคมรับรู้ง่ายและรวดเร็ว

4.ศรัทธาจากประชาชนอยู่ในระดับต่ำ ความเชื่อถือจากประชาชน คือหัวใจสำคัญสุดของการทำการเมือง แต่รัฐบาลนี้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ทำลายย่อยยับไปแล้ว อย่างน้อยจากคน 14.4 ล้านคน

การจะเรียกศรัทธากลับคืน ผลงานคุณต้องทะลุเป้าหรือระดับสร้างปรากฏการณ์บางอย่าง เช่น ผลักดันกฎหมายที่แสดงความก้าวหน้า หรือเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมองแล้ว นอกจากรัฐบาลนี้ไม่มีเจตจำนงมุ่งมั่น ยังมีท่าทีพินอบพิเทากับโครงสร้าง+อำนาจเดิม เช่น กรณีไม่ยอมยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ผมจึงเชื่อว่าการเริ่มนับหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐา ก็คือการเริ่มนับถอยหลังของพรรคเพื่อไทย

คะแนนเสียงจะลดลงเรื่อยๆ จาก 10.9 ล้านคนในการเลือกตั้ง 2566 ผลจากการตระบัดสัตย์จะมีอย่างน้อย 30% ที่ไม่เลือกเพื่อไทยอีก เหลือเพียง ‘แดงทักษิณ’ 70% ที่ศรัทธา ไม่ว่าทักษิณจะเดินเกมอย่างไร ก็ยังเลือก

นอกจากคะแนนที่หายไป อย่าหวังว่าจะช่วงชิงคะแนนใหม่จากฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ก้าวไกลครอบครองอยู่

เพื่อไทยในวันนี้มีทางเดียวต้องช่วงชิงคะแนนในฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยกัน ซึ่งมีหลายพรรค และคู่แข่งที่น่ากลัวคือภูมิใจไทย เพราะเป็นรัฐบาลรอบนี้ได้เก้าอี้ รมต.มหาดไทย แขนขาสำคัญในการสร้างฐานคะแนนระดับท้องถิ่น

มองในแง่บุคลากรของพรรค แถวหนึ่งของเพื่อไทยวันนี้ นอกจากเต็มไปด้วยบาดแผล แถวสองก็เติบโตไม่ทัน ไม่ทันทั้งในแง่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก (ยกเว้นอิ๊ง แพทองธาร ที่ดังเพราะนามสกุล) และไม่ทันโลกยุคใหม่ในแง่จุดยืน ความคิดอ่านทางการเมือง

เลือกตั้งรอบหน้า แปะผลไว้ข้างฝาได้เลยว่า เพื่อไทยไม่สูญพันธุ์ แต่ต่ำร้อยแน่นอน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save