fbpx

ผีคณะราษฎร-ผีคอมมิวนิสต์-ผีทักษิณ: ไตรภาคชัยชนะปีกอนุรักษนิยม สู่บทใหม่ ‘ผีก้าวไกล’

ภาคแรก: ผีคณะราษฎร (พระยาพหลพลหยุหเสนา ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดยคณะราษฎร มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำระหว่างปีกอนุรักษนิยมและจารีต (กลุ่มนิยมเจ้า) กับปีกคณะราษฎร ที่อ้างการขับเคลื่อนในนามประชาชนและเพื่อประชาชนอยู่หลายครั้ง เช่น การก่อรัฐประหารเมษายน 2476 และการก่อกบฏบวรเดชในตุลาคมปีเดียวกัน แต่แทบทุกครั้งการต่อสู้ก็ยังจบด้วยชัยชนะปีกคณะราษฎร (ยกเว้นรัฐประหาร 2490 ที่เป็นจุดเริ่มต้นความพ่ายแพ้แบบเบ็ดเสร็จในเวลาต่อมา)

การต่อสู้ระหว่างสองปีกสองขั้วในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้กำลังทางอาวุธ ทั้งใช้แบบตรงๆ และกดดันทางอ้อมผ่านกองทัพ ซึ่งประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมน้อยมากเพราะบรรยากาศการ ‘ตื่นรู้’ ในสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ตามหลักประชาธิปไตยยังไม่แพร่หลายและไม่เป็นที่เข้าใจนัก

ยุค ‘ผีคณะราษฎร’ พูดตรงๆ จึงเป็นเหมือนการช่วงชิงอำนาจในกลุ่มอีลิตหรือชนชั้นนำเสียมากกว่า 

‘ผีคณะราษฎร’ หลอกหลอนปีกอนุรักษ์+จารีตอยู่ราว 25 ปี จึงถูกกำจัดชนิดหมดฤทธิ์เดชโดยสิ้นเชิง จากการรัฐประหารกันยายน ปี 2500 โดยหัวหอกสำคัญคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งยุคเผด็จการโดยสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการฟื้นคืนพระราชอำนาจอย่างเป็นทางการ

ภาคสอง: ผีคอมมิวนิสต์

แนวคิดระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในไทยเริ่มปรากฏจริงจังเมื่อปี 2485 บางช่วงที่รัฐไทยยกเลิกกฎหมายห้ามก็มีการทำกิจกรรมทางการเมืองโดยเปิดเผย แต่หลังปี 2494 ก็กลับไปเคลื่อนไหวแบบใต้ดินเหมือนเดิม เพราะรัฐไทยมีกฎหมายห้าม

‘ผีคอมมิวนิสต์’ เริ่มต่อสู้กับรัฐไทยโดยใช้อาวุธ ตามแนวคิด ‘ป่าล้อมเมือง’ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ที่เรียกกันว่า ‘วันเสียงปืนแตก’ จากเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธ พคท. ปะทะกับตำรวจที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม

และว่าไปแล้ว เราอาจนับได้ว่านี่คือยุคที่ประชาชนทั่วไปลุกขึ้นมาต่อสู้กับปีกอนุรักษ์+จารีต เป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอีลิทด้วยกันเหมือนยุคผีคณะราษฎร ทั้งเป็นยุคที่รัฐไทยสุ่มเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ถึงขั้นเปลี่ยนระบอบอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เพราะการล้อมปราบประชาชน เยาวชนนักศึกษา จากสองเหตุการณ์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าป่าสมทบกับกองกำลัง พคท. จนสร้างความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผนวกกับปรากฏการณ์โดมิโน ที่เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอินโดจีนที่ล้อมรอบรัฐไทย ปี 2516-2523 จึงเป็นห้วงเวลาที่ ‘ผีคอมมิวนิสต์’ หลอกหลอนปีกอนุรักษ์+จารีต จนแทบเสียศูนย์ ต้องงัดกลยุทธ์โต้กลับทั้งด้วยกองกำลังอาวุธที่พร้อมและเหนือกว่าและปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน สร้างภาพ ‘ผีคอมมิวนิสต์’ ให้ประชาชนทั่วไปหวาดกลัว เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับรัฐไทย แต่เพราะความแตกแยกทางความคิดในระบอบคอมมิวนิสต์ที่แบ่งขั้วเป็นสายจีน สายโซเวียต มีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้ความเข้มแข็งของ พคท. ค่อยๆ อ่อนแอลง

และตะปูดอกสำคัญ ที่นำมาซึ่งการปิดฝาโลง ‘ผีคอมมิวนิสต์’ ในบ้านเรา คือคำสั่งที่ 66/2523 ที่เซ็นอนุมัติโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

คำสั่งนี้เป็นการพลิกกลยุทธ์การต่อสู้กับ พคท. จากเดิมใช้การทหารนำ เปลี่ยนเป็นการเมืองนำ มีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่เข้าไปร่วมกับ พคท. กลับคืนบ้านเมือง โดยรัฐไม่เอาผิดใดๆ จนเกิดปรากฏการณ์ ‘ป่าแตก’ หลงเหลือสมาชิก พคท. ไม่กี่คน และค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันอดีตนักรบ-สมาชิก พคท. แม้จะมีการจัดพบปะรำลึกอดีตกันอยู่บ้าง แต่ในทางการเมืองนั้นทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะกฎหมายเลือกตั้งจัดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ภาคสาม: ผีทักษิณ

‘ผีทักษิณ’ ถูกปีกอนุรักษ์+จารีตสร้างขึ้นหลังพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในปี 2548 ด้วยคะแนนถล่มทลาย 377 เสียง เป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ด้วยความหวาดกลัวในอำนาจ บารมี และศรัทธาจากประชาชน ที่ไม่เคยมีนักการเมืองจากการเลือกตั้งคนใดเคยทำได้มาก่อน จนถูกมองว่าเริ่มสร้างความสั่นคลอนให้กับเสถียรภาพของปีกอนุรักษ์+จารีต

หัวขบวนในการสร้างคือสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนและเจ้าของเครือผู้จัดการ สนธิเริ่มปลุกระดมโจมตีผีทักษิณด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชันผ่านการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุมพินี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548

จากนั้นขยายแนวร่วมกลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีแกนนำร่วมเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ที่สำคัญเช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกสัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

จุดเปลี่ยนที่เร่งเร้าอารมณ์ให้มวลชนเข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ คือการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ถูกกล่าวหาว่าซิกแซ็กใช้ช่องว่างกฎหมายโดยไม่เสียภาษี บวกกับกล่าวหาในประเด็น ‘ล้มเจ้า’ จนกลายเป็นเป็นปรากฏการณ์ ‘คนเสื้อเหลืองปกป้องสถาบัน’

ก่อนจะจบลงด้วยการที่กองทัพทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นการจับ ‘ผีทักษิณ’ ลงหม้อถ่วงน้ำครั้งที่หนึ่ง

แต่ความที่ประชาธิปไตยในยุคนั้นเบ่งบานจากรัฐธรรมนูญปี 2540 กอปรกับผลงานผลักดันนโยบายหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับชนชั้นล่างที่เป็นฐานใหญ่ของประเทศ ประชาชนตื่นรู้กับคำว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ จากฝีมือของทักษิณ

‘ผีทักษิณ’ จึงฆ่าไม่ตาย ด้วยมีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2550 พรรคพลังประชาชนของทักษิณก็ชนะได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง มีสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

แต่บริหารงานได้ไม่นาน ปีกอนุรักษ์+จารีตก็ระดมม็อบเสื้อเหลืองออกมาต่อต้านอีกครั้ง และสมัครก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นตำแหน่งด้วยข้อหารับเงินจากเอกชนจากการทำรายการอาหารออกทีวี

แม้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ จะชนะโหวตได้เป็นนายกฯ แทน แต่ม็อบเสื้อเหลืองยังตามต่อต้าน บานปลายถึงขั้นยึดสนามบินและสถานที่ราชการหลายแห่ง 

สมชายเป็นนายกฯ ได้ไม่กี่เดือนก็พ้นตำแหน่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้กลุ่มการเมืองบางส่วนโดยการนำของเนวิน ชิดชอบ แตกไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ผลักดันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกฯ

ปีกอนุรักษ์+จารีต จับ ‘ผีทักษิณ’ ลงหม้อถ่วงน้ำครั้งที่สอง

แต่เพราะยังมีประชาชนรักศรัทธามหาศาล ผ่านไปไม่นาน ‘ผีทักษิณ’ ฟื้นคืนมาอีก โดยค่อยๆ โผล่จากหม้อที่ถูกถ่วง ผ่านการจัดตั้งขบวนการคนเสื้อแดง แม้จะถูกล้อมฆ่ากลางกรุงอย่างโหดร้ายในช่วงเมษา-พฤษภา 2553

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2554 คนเสื้อแดงก็ระเบิดความโกรธแค้นที่เก็บกดไว้ผ่านการเลือกพรรคเพื่อไทย ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ เป็นนายกฯ นับเป็นคนในเครือข่ายทักษิณคนที่สี่ที่ได้นั่งเก้าอี้นี้

‘ผีทักษิณ’ หลุดมาหลอกหลอนปีกอนุรักษ์+จารีต อย่างเต็มตัวอีกรอบ 

บริหารงานได้เพียงสองปีเศษ ปีกอนุรักษ์+จารีต สร้างผู้เล่นและเครือข่ายใหม่ในนามคณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นแกนนำ

ฉวยจังหวะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นตัวเร่งปลุกกระแสมวลชนต่อต้าน จนนำไปสู่การรัฐประหารพฤษภาคม 2557 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จับ ‘ผีทักษิณ”’ ลงหม้อถ่วงน้ำอีกรอบ

ปีกอนุรักษ์+จารีตใช้เวลาห้าปีในการออกแบบกระบวนการกำจัดผีทักษิณให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเหมือนจะได้ผล เพราะแม้การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2562 พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง คะแนนมาอันดับหนึ่ง แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ

เลือกตั้งครั้งล่าสุด 2566 แม้พรรคเพื่อไทยจะได้แค่ที่สอง โดยพรรคก้าวไกลได้ที่หนึ่ง และรวมเสียงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันแปดพรรค ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาล่างที่ 312 เสียง แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ปีกอนุรักษ์+จารีตออกแบบไว้

และสถานการณ์ล่าสุดก็ชัดแล้วว่า ในที่สุดปีกอนุรักษ์+จารีตก็กำจัด ‘ผีทักษิณ’ ได้เบ็ดเสร็จเสียที หลังสู้กันมายาวนานร่วม 20 ปี

กำจัดโดยไม่ต้องจับลงหม้อถ่วงน้ำเหมือนเดิม แต่เพราะ ‘ผีทักษิณ’ ถอดจิตวิญญาณการต่อสู้ คลานไปศิโรราบรับใช้ ยอมเป็น ‘หัวหอก’ ปีกอนุรักษ์+จารีตนำทัพต่อสู้ทิ่มแทงผีตัวใหม่ในนาม ‘ผีก้าวไกล’

ภาคสี่: ผีก้าวไกล

อันที่จริงผีตัวใหม่ เริ่มเปิดเผยตัวตนให้ปีกอนุรักษ์+จารีต เห็นเค้าลางความน่ากลัวตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในนามพรรคอนาคตใหม่ และพวกเขาพยายามกำจัดแล้วรอบหนึ่งด้วยการยุบพรรค

แต่กลายเป็นว่าไม่ได้ผลและกลับยิ่งกระตุ้นให้เติบใหญ่ กลายเป็น ‘ผีก้าวไกล’ ในวันนี้ วันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม นับตั้งแต่เกิดม็อบเยาวชนระหว่างปี 2563-2564

เพราะโลกยุคใหม่ คนยุคใหม่  ความเชื่อใหม่

ทำให้คนเหล่านี้ตระหนักแล้วว่าปัญหาของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ใครคือ ‘ช้างตัวใหญ่’ ที่อยู่ในห้อง คอยขัดขวางไม่ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ตามหลักการและโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย

คะแนนเสียงที่พุ่งทะยานในนามอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 จาก 81 ที่นั่ง เป็น 151 ที่นั่งในนามพรรคก้าวไกลปี 2566

ยิ่งเมื่อดูไส้ในจะพบว่า ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ก้าวไกลมาที่ 1 ถึง 44 จังหวัด จาก 77 จังหวัด ที่เหลือ 33 จังหวัด มาเป็นที่ 2

หลายจังหวัดชนะเขตยกจังหวัด แม้กระทั่งถิ่นของการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’ ทั้งที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ล้วนหน้าใหม่ โนเนมทางการเมือง และเป็นพรรคเดียวที่ไม่ปรากฏคำร้องเรียนกล่าวหาซื้อเสียง

นี่คือการเมืองใหม่ การเมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีใครเคยเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย

ปรากฏการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้ปีกอนุรักษ์+จารีตไม่ยอมให้ก้าวไกลมีส่วนร่วมแม้แต่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะนโยบายการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างทุกๆ ด้านของก้าวไกล แม้ตอบโจทย์ประชาชนและตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่ตอบโจทย์และยังบั่นทอนทำลายเสถียรภาพและความมั่งคั่งของปีกอนุรักษ์+จารีต

ภูมิทัศน์การเมืองไทยจากนี้ไป ก้าวไกลจึงถูกโดดเดี่ยวในฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตย (มีพรรคเป็นธรรมและประชาชนผู้ศรัทธาอีกจำนวนมหาศาลเป็นเพื่อนแท้) ขณะที่อีกฝั่ง ปีกอนุรักษ์+จารีตกวาดต้อนแทบทุกพรรคมาเป็นเครื่องมือและกลไก ใช้ต่อสู้และกำจัด ‘ผีก้าวไกล’

มารอดูกันว่า ชัยชนะจะตกเป็นของปีกอนุรักษ์+จารีตเหมือนไตรภาคที่ผ่านมา

หรือ ‘ผีก้าวไกล’ จะเขียนบทจบใหม่ให้ผู้รักประชาธิปไตย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save