fbpx

ทักษิณ ศราวัต ของ ป. บูรณปกรณ์

ชื่อตัวละครหนึ่งในวรรณกรรมไทยรุ่นเก่าที่เหมือนคั่งค้างกลางสี่ห้องหัวใจ (ยังไม่ให้ใครเช่า) ของหนุ่มทุ่งกระโจนเมียงมองเยี่ยงผมมาเสียจะนานจนเนิ่น ตั้งแต่อายุอานามมิทันเต็ม 20 ปี จวบกระทั่งเพลิดเพลินเต้นเพลงเต่างอยด้วยวัยค่อยๆ ย่าง 34 ปี นั่นคือ ‘ทักษิณ ศราวัต’

หลายครั้งหลายคราที่ผมปรารถนาและตระเตรียมจะเขียนถึงตัวละครดังกล่าว แต่มีอันมิได้ลงมือสักที พอต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เล็งเห็นสถานการณ์ที่คนทั้งหลายกระวนกระวายกับข่าวคราวการกลับมาเมืองไทยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ผู้จำต้องลาจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเกือบ 17 ปีเพราะเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คงเนื่องด้วยเขาพยายามส่งสัญญาณเนืองๆ ว่าถึงอย่างไรก็จะกลับบ้าน ทำนองเดียวกับท่อนเพลงหนึ่งของจ่าหลอย เฮนรี่ที่ว่า “สัญญาอ้ายมาแน่นอน”  จึงทำให้ความเคลื่อนไหวของอดีตนายกทักษิณถูกจดจ่อจับตาเสมอๆ และแล้วช่วงสายๆ ของวันอังคารที่ 22 สิงหาคม เขากลับมายังเมืองไทยจริงๆ ผมผุดพรายความคิดขึ้นในพลันนั้น เอาละ น่าจะได้เวลาที่เราจะต้องร่ายเรียงเรื่องราวของ ‘ทักษิณ ศราวัต’ ให้สำเร็จเสร็จสิ้น

ยากที่จะปฏิเสธว่า นาม ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นที่ลือฉาวกราวลั่นมิรู้สิ้นสุดมาตลอดสองทศวรรษ นับจากกลางทศวรรษ 2540 ที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถูกยึดอำนาจเมื่อปลายทศวรรษเดียวกัน รวมทั้งห้วงเวลาของการพำนักในต่างประเทศโดยไม่มีโอกาสกลับเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2550 และเกินครึ่งทศวรรษ 2560

ผมเองขอสารภาพ เหตุที่สะดุดตาเข้ากับชื่อ ‘ทักษิณ ศราวัต’ ในทันทีแรกอ่านเจอ ก็เพราะคล้ายๆ กับชื่อของทักษิณ ชินวัตร เฉกเช่นเดียวกันกับตอนชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘อินทรีทอง’ ซึ่งมิตร ชัยบัญชา ฝากผลงานการแสดงชิ้นสุดท้ายก่อนประสบอุบัติเหตุตกลงมาจากบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำจนเสียชีวิต แล้วสะดุดหูเข้ากับชื่อตัวละครผู้ร้ายอย่าง ‘นายปรีดา พนายันต์’ เพราะฟังคล้ายๆ ชื่อของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐบุรุษอาวุโส

ทักษิณ ศราวัต เป็นตัวละครชายที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง มลฤดีวิลาส ผลงานการประพันธ์ของ ‘ป. บูรณปกรณ์’ นักคิดนักเขียนผู้ครองชื่อเสียงช่วงทศวรรษ 2460 ถึงกลางทศวรรษ 2490 ซึ่งนักอ่านยุคปัจจุบันแทบมิค่อยรู้จักมักคุ้น ‘ป. บูรณปกรณ์’ สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2492 แต่เพิ่งจะนำมาตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ภายหลังเขาอำลาโลกไปแล้ว ผนวกเรื่องสั้นอื่นๆ เข้าด้วยอีก 7 เรื่อง อันได้แก่ ความเศร้าของธนบดี, ผู้กินอุดมคติ, เยาวราช, ผู้ละอายต่อบาป, เขาพาหนูฉาย, อารยธรรมในแสงแดดอ่อน และ คนที่จำหน้าตัวเองไม่ได้ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รสมาลิน สำนักงานตั้งอยู่ที่ 230 ถนนราชวิถี พระนคร และพิมพ์ที่โรงพิมพ์เจริญธรรม เลขที่ 160 เสาชิงช้า พระนคร มีนายรวล รุ่งเรืองธรรม เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ภาพปกหนังสือวาดโดยยอดฝีมืออย่าง ‘พนม’ หรือพนม สุวรรณบุณย์

ความที่เป็นงานเขียนซึ่งผู้ประพันธ์ได้ล่วงลับไปแล้ว ทางผู้จัดพิมพ์จึงเขียนโปรยคำนำตอนหนึ่งว่า     

ถ้าหากผู้เขียนมลฤดีวิลาสยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นงานชิ้นหนึ่งรวมกับเรื่องสั้นอื่นๆอีกหลายเรื่องภายในรูปเล่มอันกะทัดรัดงดงามด้วยปกฝีมือของคุณพนม เขาคงพอใจไม่ใช่น้อย ป. บูรณปกรณ์ เคยทราบดีว่าหนังสือที่เขาเขียนขายยากเต็มทน…

ปกหนังสือ มลฤดีวิลาส จัดพิมพ์ พ.ศ. 2496

มลฤดีวิลาส ได้ถูกถ่ายทอดเป็นขบวนตัวอักษรโดยอาศัยรูปแบบลักษณะการประพันธ์ที่นิยมใช้กันมากในยุคนั้นก็คือเล่าเรื่องด้วยจดหมาย กำหนดให้ตัวละคร ‘หม่อมเจ้าหญิงภาคินีจันทร์ดวง’ เขียนจดหมายหลายฉบับระบายความในใจส่งไปยัง ‘หม่อมเจ้าหญิงมลฤดีวิลาสกนกนุช’ ผู้เป็นน้องสาว ขณะทั้งสองต้องพำนักอยู่ห่างไกลกัน สื่อสุ้มเสียงปรับทุกข์ตามประสาสตรีเพศ ดังบทเปิดเรื่องคือ

หญิงจะต้องได้รับความชอกช้ำและสิ้นชีวิตด้วยความเศร้าอาดูร เพราะศิริวิลาสอันเลอลักษณ์ของหญิงเอง ความสวยและความเปล่งปลั่งจะทำให้เพศตรงข้ามเหลือกตาลานด้วยความหื่นกระหาย พี่ของหญิงจะไม่หลงลงโทษความง่ายอันเกิดขึ้นแก่ใจตัวอีกแล้ว…

เนื้อความจดหมายทั้งหมดเผยให้ทราบว่าหม่อมเจ้าหญิงภาคินีจันทร์ดวง เป็นสตรีเลอโฉมและเพียบพร้อมทุกด้าน ชายหนุ่มรูปงามผู้ครองสถานะทัดเทียมกันล้วนหมายปองจะครองคู่กับเธอ ทว่าเธอกลับลงเอยชีวิตสมรสกับ ‘หม่อมเจ้าสราวุธเวนัย’ ชายอายุมากกว่า ร่างผอมกะหร่อง ฟันหลอ ศีรษะล้าน ดูไม่มีความหล่อเหลาเอาเสียเลย แต่ก็มีหญิงสาวมากมายกรูเข้ามาสู่วงแขนอ้อมกอดเนืองๆ ด้วยอานุภาพแห่งอำนาจเงินตรา นามของท่านชายผู้นี้จึงเซ็งแซ่ในฐานะนักเลงผู้หญิงรวมถึงเป็นนักเลงเล่นพนันม้า

แม้จะเป็นการชักนำและสนับสนุนโดยผู้ปกครองของหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ ที่หมายมั่นให้เธอร่วมเรียงเคียงหมอนกับหม่อมเจ้าสราวุธฯ แต่ท่านหญิงก็ใช่จะชอกช้ำระกำใจ เธอยินยอมและยินดีอย่างยิ่งในการออกเรือน เพราะเธอรู้สึกอึดอัดเหลือทานทนต่อการต้องกำเนิดมาเป็นราชนิกูลหญิงสูงศักดิ์และต้องจำกัดวิถีประจำวันของตนอยู่ในกรอบขนบประเพณีแห่งฐานันดร เธอปรารถนาลิ้มชิมรสชาติของเสรีภาพ ฝันใฝ่จะโบยบินออกนอกขอบเขตกรงทองแห่งชนชั้นที่กักขังเธอเรื่อยมา ท่านหญิงเชื่อมั่นว่าการหลุดพ้นไปจากผู้ปกครองย่อมเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เธอถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ การแต่งงานและไปอยู่วังของหม่อมสวามีจะทำให้เธอเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองได้ เพราะในห้วงหฤทัยส่วนลึก เธออยากจะประพฤติตนแหวกกรอบประเพณีอย่างเต็มประดา

เป้าประสงค์สำคัญที่ทำให้หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ อยากเริงโลดออกไปจากร่มเงาของชาติตระกูลสูงส่งเสียครามครัน ก็เพราะเธอมีความรัก หากเผอิญเป็นต้นรักหอมหวานที่เธอร่วมปลูกขึ้นกับชายสามัญที่แตกต่างชนชั้นวรรณะเยี่ยง ‘นายทักษิณ ศราวัต’

ถึงจะยึดอาชีพเพียงแค่หนุ่มนายหน้าของบริษัทขายประกัน แต่นายทักษิณคนนี้ได้ครอบครองทุกห้องหัวใจของราชนิกูลสาวสูงศักดิ์ตั้งสองรายไว้แน่นแฟ้น รายหนึ่งเป็นหม่อมเจ้าหญิง ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นหม่อมราชวงศ์หญิง

‘มาดามสุวัฒน์’ นอกจากจะเป็นชื่อร้านเสริมสวยแล้ว ยังเป็นสถานที่ถักทอความพิศวาสวาบหวามของทั้งสองหญิงสาวชั้น ‘เจ้า’ กับชายหนุ่มผู้ต้อยต่ำกว่าให้ลุกโชนเริงแรง เจ้าของร้านคือหม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณ ความเป็นเครือญาติกันระหว่างเธอกับหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ มิแคล้วจูงใจให้ท่านหญิงแวะมาเยี่ยมเยือนร้านของคุณหญิง และด้วยการย่างก้าวเข้ามาในร้านมาดามสุวัฒน์ คราวหนึ่ง หม่อมเจ้าหญิงโฉมเอกมีอันได้พบเจอนายทักษิณ ซึ่งเขามักจะวนเวียนมาที่นั่นเนืองๆ เพราะสนิทสนมกับคุณหญิงเจ้าของร้าน

ถ้าจะให้ผมบอกเล่าแบบเอื้อนลูกคอเพลงศรคีรี ศรีประจวบ ก็คงประมาณว่า “เขาเรียกบุพสันนิวาส สร้างสรรค์…” ร้านเสริมสวยกลายเป็นแหล่งที่หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ และนายทักษิณ หลงทางในหลุมรักแสนลึกยากป่ายปีนขึ้นมา ความเสน่หาค่อยๆ เบ่งบานงอกงาม ขณะแรงปรารถนาเร้นลับค่อยๆ ล้นปรี่ ในที่สุด ท่านหญิงกับหนุ่มนายหน้าค้าประกันลักลอบได้เสียกันสมดังอารมณ์พรั่งพรู

และถ้าจะให้ผมบอกเล่าต่อแบบประหวัดนึกถึงเพลงสดใส รุ่งโพธิ์ทอง ก็น่าจะกล่าวทำนองว่า ร้านเสริมสวยมาดามสุวัฒน์หาใช่บางประกง มวลความรักที่หม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณพลีมอบให้นายทักษิณมาแต่ไหนแต่ไร จึงมิเคยจืดจางลงไป มิหนำซ้ำ ยิ่งทบทวีความเข้มข้นขึ้น คุณหญิงเจอพ่อหนุ่มนายหน้ามาก่อน รักเขามาก่อนตั้งนาน คงเพราะเธอค่อนข้างจะถูกมองในทางขี้เหร่กระมัง จึงยังไม่สมหวัง ส่วนท่านหญิงคนสวยเพิ่งมาใหม่แท้ๆ กลับฉวยคว้าเอาชายยอดรักไปจากเธอต่อหน้าต่อตา ทว่าหม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณ หาได้นึกอิจฉาริษยาหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ เลยสักนิด

ทำไมทั้งสองราชนิกูลหญิงจึงหลงใหลในตัวนายทักษิณ ศราวัต นักเล่า? ก็เพราะเขาคือคนหนุ่มผู้เปี่ยมล้นจิตวิญญาณรักประชาธิปไตย ทุกถ้อยคารมที่เอ่ยปากกับทั้งท่านหญิงและคุณหญิงล้วนสะท้อนทัศนะที่มองเห็นคนทุกคนเท่าเทียมกัน

แม้หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ และหม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณ จะมีชาติกำเนิดเป็น ‘เจ้า’ แต่พวกเธอกลับไม่พึงพอใจสถานะของตน โดยเฉพาะท่านหญิงรูปงามที่เอาแต่เฝ้าคร่ำครวญถึงอิสรภาพ ส่วนคุณหญิงรูปไม่งามดูจะค้นพบอิสระในชีวิตมากกว่า เพราะเธอสามารถออกมาประกอบอาชีพทำร้านเสริมสวยและยืนหยัดหาเลี้ยงตนเองได้

“ฉันต้องการอิสรภาพ…ฉันต้องการเป็นนกเล็กๆ ที่ตายง่ายดีกว่าความเป็นเจ้าที่ถูกกักขัง ต้องหมอบราบกราบกรานและซุกตัวอยู่มุมตำหนัก ที่มองเห็นแต่จิ้งจกตุ๊กแก…”

นั่นคือกังวานความรู้สึกที่หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ เรียกร้องมิวาย ยิ่งหลังจากเธอได้ลองซาบซ่านความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางเรือนกายกับนายทักษิณ หญิงสาวก็ยิ่งต้องการละทิ้งฐานันดรไปอยู่กินฉันท์เมียผัวกับเขา

นายทักษิณคงไม่ปฏิเสธว่าตนเองหลงรักท่านหญิงท่วมท้น แต่ก็ไม่หาญกล้าเพียงพอที่จะเสี่ยงโน้มดึงดอกฟ้าเยี่ยงเธอลงมาแต่งงานและเคียงครองกันแบบผัวเมีย เขาสุดปัญญาสรรหาเงินทองมาเลี้ยงดูเธอให้สุขสบายทัดเทียมกับสถานะที่เธอเป็นอยู่ ไม่อยากให้เธอมาตกระกำลำบากกับเขา นายทักษิณจึงยอมเสียสละเมื่อทราบว่าท่านหญิงยอดรักได้ถูกจัดแจงให้เข้าพิธีวิวาห์กับหม่อมเจ้าสราวุธฯ 

หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ มีหรือจะมิล่วงรู้ว่าหม่อมเจ้าสราวุธฯ เป็นผู้ชายไม่น่าอภิรมย์ อีกทั้งเธอยังนึกขยะแขยง แต่ที่ยอมเป็นเมียของท่านชายอัปลักษณ์ ก็เพราะคาดการณ์เอาไว้ว่าพระสวามีของเธอคงไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อโอกาสที่เธอจะแอบลักลอบไปร่วมชีวิตสวาทกับนายทักษิณ ชายที่เธอรักแท้บ้างในบางคราว เนื่องด้วยปกติแล้วหม่อมเจ้าสราวุธฯ ไม่เคยคิดจริงจังกับผู้หญิงรายใดเลย ขอแค่ได้สมสู่เสพกามรสอย่างเริดรมเยศจนอิ่มหนำ ครั้นพอเบื่อหน่ายก็จะเปลี่ยนคนใหม่ ท่านหญิงจึงหวังว่าเมื่อหม่อมสวามีเบื่อเธอก็จะทอดทิ้งเธอเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ต่อจากนั้นเธอย่อมเป็นอิสระและจะได้ผละออกจากวังไปอยู่กินกับนายทักษิณ

ท่านหญิงโฉมแฉล้มส่งน้ำเสียงถึงเรื่องนี้ในจดหมายถึงน้องสาวทำนองว่า

“ชีวิตบนเตียงวิวาห์จะเปรียบปานกับอะไรได้ สวรรค์น่ะหรือมลฤดี? แม้พี่จะไม่เคยลอยตัวขึ้นไปชม แต่พี่ก็รู้สึกว่ามันไม่สุขเท่ากับชั่วโมงบนเตียงวิวาห์กับผู้ชายที่เรารักคนแรกนั่นดอก”

น่าเศร้าที่หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ คาดคะเนผิดถนัด กลายเป็นว่าการจำทนเป็นเมียที่วางเฉยของหม่อมเจ้าสราวุธฯ กลับยิ่งทำให้ท่านชายอัปลักษณ์หันมาติดอกติดใจหลงใหลเธออย่างหนัก เพราะผู้หญิงรายอื่นๆ นอกจากปรนเปรอกามารมณ์ก็มัวประจบสอพลอเพื่อหวังทรัพย์สิน แต่ท่านหญิงภาคินีไม่เคยทำเช่นนั้นเลย หม่อมสวามีจึงเริ่มแสดงอาการหึงหวงเธอ

ทางด้านนายทักษิณ เมื่อหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ แต่งงานเข้าหอไปกับชายอื่นที่สูงศักดิ์ เขาจ่อมจมอยู่ในห้วงทุกข์ระทมตรมตรอม ยังดีว่ามีหม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณคอยปลอมประโลมใจไม่ห่างคุณหญิงเจ้าของร้านเสริมสวยพร้อมใจเสมอ หากวันใดนายทักษิณบังเกิดความปั่นป่วนของพายุอารมณ์และแรงปรารถนาทางกายขึ้นมาเกินอดกลั้น แน่ละ ความใกล้ชิดย่อมทำให้นายทักษิณมิอาจรั้งใจไหว

หม่อมเจ้าสราวุธฯ มีหรือจะไม่ระแคะระคายและไม่รู้เท่าทันความคิดอยากคบชู้สู่ชายของผู้เป็นเมีย ท่านชายอัปลักษณ์จึงพยายามกีดกันมิให้หม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ มีโอกาสได้ลักลอบพบเจอกับนายทักษิณอีก ซึ่งท้ายสุดได้พาเธอย้ายไปพำนักอยู่ไกลถึงต่างประเทศ ความเศร้าอย่างใดหนอเกาะกุมความรู้สึกของหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ นับแต่นั้น ความมีชีวิตชีวาและสภาพจิตใจของเธอก็ค่อยๆ ริบหรี่ลงจนมอดดับสิ้น

นายทักษิณ พอทราบข่าวหม่อมเจ้าหญิงยอดรักของตนต้องลาไกลไปต่างแดน ความรวดร้าวก็เล่นงานเสียล้มป่วย คุณหญิงสุนีวรรณทำหน้าที่คอยปรนนิบัติฟูมฟักรักษา กระทั่งที่สุด นายทักษิณก็กลายเป็น ‘ผัว’ ของหม่อมราชวงศ์หญิงอย่างออกหน้าออกตา แม้ทั้งสองจะมิได้ประกอบพิธีวิวาห์กัน

ที่สาธยายมาคือเรื่องราวผ่านเสียงเล่าระคนตัดพ้อในความอาภัพที่ต้องเกิดมาเป็นผู้หญิงของหม่อมเจ้าหญิงภาคินีจันทร์ดวง

คุณผู้อ่านอาจขมวดคิ้วสงสัย แล้วตัวละคร ‘หม่อมเจ้าหญิงมลฤดีวิลาสกนกนุช’ ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรเลยรึ ทั้งๆ ที่นามของเธอเป็นชื่อนวนิยายแท้ๆ อุตส่าห์นึกว่าเธอจะเป็นตัวละครเอก

ผมเองชักจะชอบ ป. บูรณปกรณ์ เสียจริงๆ นี่ สรุปคือผู้ประพันธ์กำหนดให้หม่อมเจ้าหญิงมลฤดีวิลาสฯ เป็นผู้คอยรับฟังถ้อยรำพันขมขื่นของหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ ที่ส่งมาจากต่างประเทศ ท่านหญิงผู้พี่ยังยกเอาเรื่องการตัดสินใจผิดพลาดของเธอมาเตือนสติและแนะนำท่านหญิงผู้น้อง

แต่ ป. บูรณปกรณ์ คงไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวังหรอก จึงกำหนดให้ตัวละครหม่อมเจ้าหญิงมลฤดีวิลาสฯ ได้แสดงบทบาทอันน่าตื่นตะลึง

ที่จริง ท่านหญิงผู้น้องครุ่นคิดที่จะอาศัยวิธีการเข้าพิธีสมรสกับชายเชื้อพระวงศ์ที่ทางผู้ปกครองจัดหาให้ เพื่อเป็นหนทางกระโจนออกจากกรงทองแห่งชนชั้นเฉกเช่นเดียวกันกับท่านหญิงผู้พี่ ทั้งๆ ที่เธอมีชายคนรักโดยแท้เป็นหนุ่มหน้าตาคมขำละม้ายแขกฮินดูอยู่แล้ว มิหนำซ้ำ สถานะของชายหนุ่มคนนี้ดูจะยากเข็ญยิ่งกว่าหนุ่มนายหน้าค้าประกันเยี่ยงนายทักษิณ ศราวัต เสียอีก เพราะเขาเป็นเพียงกรรมกรหาเช้ากินค่ำ

น่าจะเพราะหม่อมเจ้าหญิงมลฤดีวิลาสฯ ได้อ่านจดหมายชวนสลดหดหู่ของหม่อมเจ้าหญิงภาคินีฯ เธอจึงฉุกนึกว่าควรทำตามเสียงหัวใจและความมุ่งมาดปรารถนาแรงกล้าของตนเอง ในที่สุด ท่านหญิงผู้น้องจึงหนีตามไปเป็นเมียของพ่อหนุ่มกรรมกรหน้าคม โดยไม่พะวงไยดีต่อฐานันดรและทรัพย์สินใดใด

เนื้อหาของนวนิยายเรื่อง มลฤดีวิลาส นั้น ถ้าพิจารณาตามบริบทของยุคสมัยที่เขียนขึ้นคือต้นทศวรรษ 2490 ก็ยังนับว่ามีความอุกอาจไม่เบา แม้จะเป็นช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาแล้วเกือบๆ 20 ปี และความตึงเครียดเรื่องชนชั้นฐานันดรผ่อนคลายลงมากโข พูดง่ายๆ ก็คือได้ปรากฏกรณีที่สตรีซึ่งเป็น ‘เจ้า’ กลายมาเป็นเมียของชายสามัญชนจำนวนไม่น้อยราย สืบเนื่องจากสถานะของ ‘เจ้า’ ก็ตกต่ำตกอับจนต้องมาพึ่งพาอาศัยสามัญชนซึ่งสามารถสร้างตัวเลื่อนชั้นเลื่อนสถานะขึ้นมาได้ด้วยความรู้และหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์เชิงความรักรวมถึงความสัมพันธ์ทางเพศรสในรูปแบบข้ามชนชั้นระหว่างราชนิกูลหญิงกับชายสามัญจึงเป็นไปได้โดยง่ายขึ้น แต่ก็หาใช่จะราบรื่นสำหรับทุกคู่ เพราะยังมีกรอบค่านิยมแบบเดิมที่คอยกีดกันและมีร่องรอยการเป็นสิ่งต้องห้ามอยู่

ดังงานเขียนข้างต้นของ ป. บูรณปกรณ์ จะเห็นว่าได้แสดงถึงความรักระหว่างราชนิกูลสาวกับชายสามัญชน มีทั้งชายสามัญที่พยายามเลื่อนสถานะขึ้นมาด้วยการทำงานบริษัทแบบนายทักษิณ ซึ่งถือเป็นชนชั้นใหม่อยู่ตรงกลางของชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง และมีทั้งชายสามัญที่ยังเป็นชนชั้นล่างและกลุ่มคนชายขอบแบบหนุ่มกรรมกรหน้าตาคมละม้ายแขก

อย่างไรก็ดี ผู้ประพันธ์ยังสะท้อนถึงการละเมิดต่อกรอบค่านิยมเดิมรวมถึงท้าทายสิ่งต้องห้าม โดยนำเสนอประเด็นเรื่องการคบชู้และเรื่องพฤติกรรมทางเพศมาเพื่อบ่งชี้ว่าแม้ตัวละครจะเป็นหญิงสาวสูงศักดิ์ แต่ด้วยความอึดอัดต่อกรอบฐานันดรของพวกเธอ การได้ล่วงล้ำเขตแดนทางชนชั้นมาร่วมอรรถรสทางเพศกับชายที่มีสถานะต้อยต่ำกว่าก็เป็นหนทางหนึ่งที่เธอมองเห็นว่าจะนำไปสู่อิสรภาพ ซึ่งเราจะมองเห็นผ่านตัวละครอย่างหม่อมเจ้าหญิงภาคินีจันทร์ดวง และหม่อมราชวงศ์หญิงสุนีวรรณ นับเป็นการเปิดเปลือยเบื้องลึกลับเร้นทางอารมณ์ของมนุษย์อย่างลึกซึ้งและแจ่มกระจ่าง พร้อมทั้งบันทึกถึงความเป็นไปของ ‘เซ็กส์’ ในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงทางสังคมสมัยนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงมีลวดลายไม่ธรรมดาทีเดียว

น่าเสียดายที่ ป. บูรณปกรณ์ หรือนามจริงคือ ‘ปกรณ์ บูรณปกรณ์’ เป็นนักประพันธ์ผู้อายุไม่ยืนยาวเท่าใดนัก สูญสิ้นลมหายใจด้วยวัย 40 ปลายๆ หากในยุคสมัยที่เขาเขียนหนังสือ ใครๆ ก็พากันยกย่องว่าสร้างสรรค์งานได้มีเอกลักษณ์และชั้นเชิงโดดเด่น นวนิยายและเรื่องสั้นของเขามักมุ่งเน้นความสนใจไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวอันหลากหลายของผู้ต่ำต้อยในสังคม ตัวละครของเขาจึงมิแคล้วจำพวกกรรมกร, ขอทาน, สัปเหร่อ, โสเภณี รวมถึงผู้ใช้แรงงานและผู้ยากไร้ต่างๆ ป. บูรณปกรณ์ เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของคนทุกคนนอกจากจะเขียนถึงตัวละครที่ดูต่ำต้อยในสายตาของสังคมให้เปี่ยมชีวิตชีวาแล้วเขายังทำให้ตัวละครเหล่านี้สามารถเข้าไปโลดแล่นและปะทะปะปนกับตัวละครชนชั้นสูงได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมิพักต้องคอยอ่อนยอบหมอบราบ

ป. บูรณปกรณ์

ด้วยการเขียนหนังสือแสดงเนื้อหาลักษณะดังกล่าว ป. บูรณปกรณ์ จึงถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคลือบแคลงสงสัยว่าเขาอาจฝักใฝ่สังคมนิยมหรือเป็นคอมมิวนิสต์ และคงด้วยอีกบทบาทหนึ่งของเขาที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือ ‘สำนักงานนายศิลปี’ ริมถนนตีทองใกล้สี่แยกเฉลิมกรุง โดยนำเข้าหนังสือจากต่างประเทศจำนวนมากมาจัดจำหน่าย ซึ่งน่าจะมีหนังสือที่ทางการมองว่าเข้าข่ายสิ่งพิมพ์ต้องห้ามอันหาซื้อจากร้านอื่นๆ มิได้เลยด้วย เช่น ผลงานของพวกนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย วรรณกรรมของพวกนักเขียนจีนและนักเขียนโซเวียต ลูกค้าสำคัญคนหนึ่งที่แวะเวียนมาดูหนังสือบ่อยๆ เห็นจะมิพ้นคนหนุ่มนามศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’

สักช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 ล่วงผ่านมาหลายเดือน ผมน่าจะแว่วยินชื่อหนึ่งชวนสะดุดหูจากข่าวโทรทัศน์คือ ‘ปกรณ์ บูรณุปกรณ์’ คลับคล้ายคลับคลาว่าเขาจะเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย และอาจจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง หากท้ายสุดก็พลาดโอกาสได้เข้าประจำกระทรวง แต่ก็ทำให้ผมอดประหลาดใจมิได้ว่า ‘ปกรณ์ บูรณปกรณ์’ กับ ‘ปกรณ์ บูรณุปกรณ์’ มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร

ไม่นานเกินรอถัดจากนั้น ผมได้ทราบชัดว่าปกรณ์ทั้งสองคงไม่น่าข้องเกี่ยวกัน เพียงชื่อเหมือนกัน และนามสกุลคล้ายๆ กัน แต่การประจักษ์ว่ามีชื่อ ‘ปกรณ์ บูรณุปกรณ์’ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นชาวเชียงใหม่ในพรรคเพื่อไทยซึ่งเชื่อมโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และที่จริงเขาเคยร่วมเป็นกรรมการบริหารมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย แต่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ผมก็ยิ่งปลุกเร้าความอยากเขียนถึงตัวละครทักษิณ ศราวัต ของปกรณ์ บูรณปกรณ์

ใคร่จะขอเล่าแทรกเรื่องตลกสักหน่อย ผมเองก็เคยได้รับเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเขาได้เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น ‘อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ ซึ่งแตกต่างกับชื่อผมแค่นิดเดียว นั่นคือชื่อของผมมีตัวอักษร ช. จึงเป็น ‘อาชญาสิทธิ์’

ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ลืมตายลโลกหนแรกในกรุงเทพมหานครเมื่อวันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2447 เดิมทีชื่อ ‘ป่วน บูรณศิลปิน’ เป็นบุตรชายคนกลางของนายเยื้อน และนางพร้อม โดยมีศักดิ์เป็นหลานปู่หลานย่าของพระยาเทวานฤมิตร และ หม่อมราชวงศ์หญิงเม้า สิงหรา ทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานตาหลานยายของพระยาสิหสุราช (วัน บุนนาค) และหม่อมผิว เขาจึงถือว่ามีชาติกำเนิดในตระกูลขุนนาง นายเยื้อน ผู้เป็นบิดาก็เคยเป็นมหาดเล็กพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ได้ออกมายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์และเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามอ๊อบเซอร์เวอร์

เพราะซึมซาบความเป็นนักหนังสือพิมพ์มาจากบิดา ป่วนเลยสมัครเข้าทำงานที่ สยามอ๊อบเซอร์เวอร์  ตั้งแต่วัยรุ่นช่วงต้นทศวรรษ 2460 ขณะยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ อย่างมิเคยคาดนึกว่า พอเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เขาจะทะเลาะวิวาทกับครูประจำชั้น โดยไม่ยินยอมให้ครูผู้นั้นลงโทษตนด้วยความอยุติธรรม ป่วนตัดสินใจออกจากโรงเรียนและไม่คิดหวนกลับมาเรียนหนังสืออีก พฤติกรรมของเขาเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักเรียนเทพศิรินทร์รุ่นราวคราวเดียวกัน คนหนึ่งที่อดชื่นชมป่วนมิได้ คือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’

ไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นนักเรียนก็ขอใช้ชีวิตเป็นนักเขียนแทนป่วน เข้าทำงานหนังสือพิมพ์กับ สยามอ๊อบเซอร์เวอร์  เต็มตัว เขายังอาศัยความรู้ภาษาอังกฤษที่ดีไปเขียนหนังสือเล่าเรื่องภาพยนตร์ให้กับสำนักพิมพ์ของนาย ต. เง็กชวน และเขียนงานป้อนให้นิตยสารรายสัปดาห์ ภาพยนตร์สยาม นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม กระทั่งศรีบูรพาได้เขียนบอกเล่าถึงภายหลังว่า

 “ข่าวที่แว่วมาว่าพ่อหนู ป.บูรณศิลปิน ได้แซกเข้าไปอยู่ในสำนักของพวกดวงดาวแห่งโลกวรรณกรรมและยังได้สตางค์จากการเขียนหนังสือพอที่จะเดินหน้าเชิดอยู่ตามบาทวิถีทุกแห่งในพระนคร ที่จะเดินอาดๆ เข้าไปในร้านกุ๊กชอปต๊อกต๋อย และร้องสั่งผัดเปรี้ยวหวานหนึ่งจานด้วยเสียงอันดัง ที่จะเข้าไปนั่งในร้านน้ำชาโกโรโกโส ย่านสะพานผ่านฟ้าและทุกหนทุกแห่ง และสั่งน้ำชาจีนกับถั่วลิสงตัดมานั่งกินอยู่ได้ตั้งครึ่งคืน โดยไม่ต้องอนาทรร้อนใจ และที่จะขึ้นรถราง หรือรถเมล์ไปไหนมาไหนได้ดังใจ แทนการเดินตั้ง 2-3 ชั่วโมง ออกจะเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นกันอยู่ไม่น้อย ในหมู่มิตรสหายรุ่นเยาว์ ที่หวังจะได้สตางค์จากการเขียนหนังสือบ้าง แต่ยังไม่ได้ และก็ยังทนนั่งเขียนกันไปจนดึกดื่นทุกคืน

ป่วน บูรณศิลปิน ยังเข้าร่วมทำงานกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ที่หม่อมหลวงฉอ้าน อิศรศักดิ์ นั่งควบคุมอยู่ พร้อมๆ กับส่งงานเขียนไปลงพิมพ์เผยแพร่ในสิ่งพิมพ์ที่มีชื่อเสียงฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารานุกูล ที่หลวงสารานุประพันธ์ เป็นบรรณาธิการ หรือ สุภาพบุรุษ ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ต่อมาเขาได้รับมอบหมายให้จัดทำหนังสือพิมพ์ เดลิเมล์วันจันทร์ อีกฉบับ ซึ่งต้องคอยตรวจต้นฉบับเรื่องอ่านเล่นที่มีผู้ส่งมาให้พิจารณา

ในปี พ.ศ. 2472 นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่งของโรงเรียนราชินีบนได้ส่งเรื่องสั้นชื่อ ‘มาลินี’ มาให้ทาง เดลิเมล์วันจันทร์ พิจารณาใช้นามปากกาว่า ‘ก.สุรางคนางค์’ บรรณาธิการป่วนอ่านต้นฉบับดูแล้วประทับใจในลายมือประณีต สวยผอม และเป็นระเบียบ ตัวละครในเรื่องก็มีชื่อและนามสกุลเป็นฉันท์และกาพย์จึงตัดสินใจนำลงตีพิมพ์ นักเรียนหญิงคนนั้นมีนามว่า กัณหา วรรธนะภัฏ บุตรีคนโตของ ‘พระสุริยภักดี’ ตำรวจหลวง

ชะรอยพระพรหมจะมานั่งอยู่บนหน้ากระดาษต้นฉบับจึงลิขิตบันดาลให้บรรณาธิการและนักเรียนหญิงเกิดความรักลึกซึ้งต่อกัน เริ่มต้นจากการที่ป่วน สุดแสนปลื้มตัวอักษรของกัณหา หรือชื่อเล่นของเธอคือเล็ก จึงหมั่นเขียนจดหมายเกี้ยวพาราสี อีกทั้งเช้าวันหนึ่งต้นเดือนพฤศจิกายนปีนั้น บรรณาธิการและนักเขียนหนุ่มวัย 26 ถึงกับยืนคอยเฝ้านักเรียนสาวขณะเดินออกจากบ้านใกล้ตลาดนางเลิ้งเพื่อไปขึ้นรถราง ป่วนในชุดเสื้อนอกแพรกลัดกระดุมห้าเม็ดและนุ่งกางเกงแพรสีเขียวแก่ดักรอเธอตรงถนนฝั่งตรงข้ามแล้วมองมาอย่างยิ้มๆ กัณหารีบหลบสายตาและเร่งสาวเท้าเดินไปขึ้นรถราง พอวันต่อมาเธอได้รับจดหมายและทราบว่าชายคนนั้นคือผู้ตรวจต้นฉบับของเธอนั่นเอง

ต่อจากนั้นตลอดทั้งเดือน ป่วนเขียนจดหมายส่งนักเรียนสาวนับ 10 ฉบับ เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473) อันเป็นวันเกิดของกัณหา บรรณาธิการและนักเขียนหนุ่มก็ส่งจดหมายเนื้อความว่า

“คุณเล็กที่รัก

ถึงแม้ในระยะสองสามวันมานี้งานโรงพิมพ์จะชุกจนต้องกลับบ้านค่ำ บางวันต้องอยู่จนดึก แต่วันนี้เป็นวันสำคัญ คือวันเกิดของคุณ ซึ่งผมจะลืมเสียมิได้ จึงออกปากไหว้วานมิตรสนิท-นายสันต์ เทวรักษ์ ให้จัดการนำของขวัญให้คุณเล็กแทนตัวผมเอง ผมบอกให้เขาจัดหากุหลาบแดงใส่แจกันแก้วเจียระไนมาให้คุณ ไม่ทราบว่าเขาจะได้จัดตามนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าได้ตามปรารถนาของผม ผมขอให้กุหลาบแดงเป็นสัญลักษณ์ระหว่างมิตรภาพของเรากับขออวยพรให้คุณจงมีความสุขความเจริญทั้งในด้านการเรียน การงาน และเป็นนักเขียนด้วย ซึ่งในประการหลังนี้ ผมหวังเป็นอย่างมากว่า คุณคงจะไม่ทิ้งมันเสีย ดังนักเขียนสตรีอื่นๆ ที่ได้ละทิ้งมันเมื่อเขาได้ก้าวขึ้นบันไดแห่งความมีชื่อเสียงมาแล้วทีละขั้น

นับถือ

ป.บูรณศิลปิน”

ป่วนปรารถนาให้กัณหามาเป็นคู่ชีวิตของเขา แต่บิดาคือพระสุริยภักดี และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงไม่เห็นพ้อง ด้วยมองว่าอาชีพนักหนังสือพิมพ์ช่างยากจน เป็นนายท้ายเรือเมล์ยังจะดีเสียกว่า เพราะมีเงินเดือนแน่นอน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ถูกสั่งปิด ป่วนเข้ามาทำงานประจำหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติ ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนพ้อง โดยควบคุมดูแลแผนกสารคดี ทั้งยังไปทำงานกับบริษัทสหศินิมาอีกแห่งหนึ่ง ราวๆ พ.ศ. 2477 เขาลาออกจาก ประชาชาติ แล้วไปจัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาธิปไตย  แต่ก็มีอันให้ต้องลาออกอีกหน

ปลายทศวรรษ 2470 ป่วนก่อตั้งสำนักงานนายศิลปีขึ้นแถวถนนจักรพรรดิพงศ์เพื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของเขาเอง ต่อมาคิดจะจัดจำหน่ายหนังสือที่สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย จึงย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร ด้านหลังกระทรวงมหาดไทย เรียกตัวมิตรสหายอย่าง เมตตา ศาตะมาน มาช่วยดูแลการสั่งซื้อหนังสือจากเมืองนอก

ในปี พ.ศ. 2479 ป่วนถือปณิธานแม่นมั่นว่าเขาจะต้องเป็นสามีของอดีตนักเรียนหญิงนาม ‘กัณหา’ ให้จงได้ เพราะฝ่ายหญิงเองก็มีใจให้เขา มิได้นึกเดียดฉันท์เลย ขณะนั้นเธอเป็นครูสอนภาษาไทยโรงเรียนราชินี ทั้งสองตัดสินใจสมรสกัน เมื่อบิดาและญาติผู้ใหญ่ไม่อนุญาต กัณหาเก็บกระเป๋าผละหนีจากบ้านมาเพื่ออยู่กินกับป่วน โดยมีผู้ใหญ่ที่เต็มใจเป็นสักขีพยานและจัดงานสมรสให้ทั้งสองคือ ‘หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล’ ท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินี สองสามีภรรยาเริ่มต้นชีวิตด้วยการที่ป่วนมีเงินติดตัวเพียง 80 บาท ซึ่งได้มาจากน้ำพักน้ำแรงในการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนกัณหามีเงินติดตัวเพียง 35 บาท หากทั้งสองก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขฝ่าฟันอุปสรรคมาจนมีบุตรสาวและบุตรชายด้วยกัน

ป. บูรณปกรณ์ และ ก. สุรางคนางค์

กิจการสำนักงานนายศิลปี ค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้น ป่วนย้ายสำนักงานอีกหนมาตั้งอยู่ริมถนนตีทองใกล้สี่แยกเฉลิมกรุง มอบหมายให้ภรรยาคือ ‘กัณหา บูรณศิลปิน’ เป็นผู้จัดการร้านหนังสือ ป่วนตระหนักดีว่ากัณหาชอบและอยากเขียนหนังสือ เขาจึงพยายามส่งเสริมและแนะนำให้เธอลองเขียนนำเสนอเนื้อหาอันแปลกใหม่ เฉกเช่นการเขียนเรื่องราวของหญิงโสเภณี ซึ่ง ป่วนมีความรู้เป็นอย่างดี คารกล่าวด้วยว่า ยุคสมัยนั้นมีผู้ชายเขียนงานเกี่ยวกับหญิงโสเภณีเป็นจำนวนมาก แต่งานที่เขียนโดยผู้หญิงยังไม่ค่อยจะปรากฏ ครั้นกัณหาเขียนนวนิยายเผยชีวิตหญิงโสเภณีตามคำแนะนำของสามี ให้ชื่อเรื่องว่า หญิงคนชั่ว ใช้นามปากกา ‘ก. สุรางคนางค์’ เธอก็เป็นนักประพันธ์หญิงผู้โด่งดังเป็นพลุแตก สร้างกระแสเกรียวกราว เธอประสบความสำเร็จยิ่งกว่าผู้เป็นสามีหลายเท่า ผลงานนวนิยายหลายเรื่องทยอยออกมาสู่สายตานักอ่าน และเรื่องที่ส่งให้เธอกลายเป็นยอดนักประพันธ์หญิงก็คือ บ้านทรายทอง

ก. สุรางคนางค์ เคยย้อนรำลึกถึงสามีคนแรกสุดของเธอไว้ตอนหนึ่งว่า

 “สิ่งที่ข้าพเจ้ามิได้คิดฝันมาแต่เล็กแต่น้อยก็คือตัวข้าพเจ้าจะได้เป็นนักประพันธ์, รักกับนักประพันธ์…ข้าพเจ้าอายุสิบสี่ได้อ่านงานของ ป. บูรณปกรณ์ ซึ่งลงรายวันประจำในเดลิเมล์ เหมือนเด็กรุ่นสาวที่ติดบ้านทรายทอง”

ตลอดทศวรรษ 2480 ป่วนยังคงยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์อย่างแข็งขัน พร้อมๆ กับสร้างสรรค์งานวรรณกรรม ต่อให้เผชิญความล้มเหลวอย่างไรก็หาได้ระย่อท้อถอย โดยเฉพาะช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังร่วมมือกับเพื่อนๆ จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ออกมามากมายหลายฉบับ ผลิตงานเขียนสารพัดรูปแบบและเนื้อหาผ่านสารพัดนามปากกา ทั้งเรื่องชีวิตเข้มข้นไปจนเรื่องบันเทิงและกีฬา

กัณหา บูรณปกรณ์ เจ้าของนามปากกา ก. สุรางคนางค์

ป่วน บูรณศิลปิน เปลี่ยนชื่อและนามสกุลของตนเองเป็น ปกรณ์ บูรณปกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2490  หากสำหรับเพื่อนพ้องน้องพี่นักเขียนมักจะเรียกขานเขาติดปากว่า “อ้วน” หรือ “พี่อ้วน” เพราะเป็นคนที่มีรูปร่างอ้วนท้วน

ก็เพราะความอ้วนนั่นแหละ โรคร้ายอย่างความดันโลหิตสูงจึงมาเยือนชีวิต ท้ายที่สุด ป.บูรณปกรณ์ ก็ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน ณ โรงพยาบาลกลางในวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ช่วงบั้นปลายชีวิตเขาพำนักอยู่บ้านที่ตั้งชื่อว่า ‘รสมาลิน’ ถนนราชวิถี จึงไม่แปลกถ้าผลงานหนังสือภายหลังมรณกรรมของเขาจะจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รสมาลิน

ชีวิตของปกรณ์ บูรณปกรณ์ สูญสิ้นไปแล้วราวเกินครึ่งทศวรรษ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ จึงลืมตาดูโลกหนแรกที่เชียงใหม่ แต่นักการเมืองชาวเชียงใหม่ผู้เคยเป็นทั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนี้อำลาโลกไปนานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถ้าจะมีใครที่ใช้นามสกุลบูรณุปกรณ์และยังปรากฏเป็นข่าวคราวตามหน้าสื่อก็คงจะมิพ้น ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาวของปกรณ์

ตราบบัดนี้ไม่ว่าจะหันไปยังแหล่งใด เราๆ ท่านๆ ก็แลเห็นและแว่วยินการเอ่ยขานนามของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ขณะที่นวนิยายเรื่อง มลฤดีวิลาส ได้กลายเป็นหนังสือเก่าหายากและแทบจะมิค่อยมีผู้ใดใส่ใจ ประกอบกับยุคปัจจุบัน วรรณกรรมไทยดูเหมือนจะถูกมองให้เป็นของเชยช้าล้าสมัยไปเสียฉิบ หากผมยังรู้สึกสนุกสนานและสำเหนียกถึงความจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องผายมือแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักตัวละครชายนาม ‘ทักษิณ ศราวัต’ ของ ‘ป. บูรณปกรณ์’

อ้างอิง

  1. ชั่วชีวิตหนึ่ง ก. สุรางคนางค์. จัดพิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ วันพุธที่ 13 ต.ค. 2542 ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2542
  2. แด่ผู้ที่จากไป ปกรณ์ บูรณปกรณ์. กัณหา บูรณปกรณ์ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร 19 ธันวาคม 2496. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2496
  3. ป. บูรณปกรณ์. มลฤดีวิลาส. พระนคร: รสมาลิน, 2496
  4. วิลาศ มณีวัต. รักระทมของ ก.สุรางคนางค์. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน พับลิเคชั่น, 2543
  5. ศรีดาวเรือง. ละครแห่งโลก จาก ป.อินทรปาลิต ถึงพระสารสาส์นพลขันธ์. กรุงเทพฯ: ไรเตอร์, 2537
  6. อาจิณ จันทรัมพร. นักเขียนไทยในสวนหนังสือ. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2537

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save