fbpx

จากประชามติอัปยศสู่วันไม่ได้เข้าสภา : ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กับความหวังดีที่ไม่อยากเห็นเพื่อไทยผิดสัญญาประชาชน

ปรากฏการณ์เชียงใหม่เมืองหลวงเพื่อไทยถูกตีแตกในการเลือกตั้ง 2566 ทำให้ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เข้าสภาฯ

ในรอบสิบปีของสมรภูมิการเลือกตั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาจนถึงนักการเมืองระดับประเทศ ทัศนีย์ไม่เคยพ่ายแพ้ เว้นแต่เมื่อปี 2557 ที่การขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นโมฆะ เธอจึงตกงานครั้งแรก ด้วยความรู้สึกไม่ยุติธรรม เพราะยังไม่ผ่านเสียงจากประชาชน 

แน่นอนว่าการตกงานครั้งนั้นแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ประชาชนลงความเห็นแล้วว่าต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่ เธอจึงน้อมรับการตัดสินใจแต่โดยดี ในขณะเดียวกันก็กลับมา ‘ถอดบทเรียน’ ความผิดพลาดที่เธออาจทำงานไม่เต็มที่มากพอที่จะทำให้ประชาชนไว้ใจอีกครั้ง

ความเสียใจย่อมมี ในฐานะคนที่เคยทำงานในสภามายาวนาน แต่คงไม่เสียใจเท่ากับการเห็นเดดล็อกทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเธอเคย ‘อาบน้ำร้อน’ กับมันมาก่อน เนื่องจากการถูกดำเนินคดีและถูกจับกุมจากการส่งจดหมายประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 จนทำให้เธอไม่ได้ออกเสียงโหวตตามสิทธิของตัวเอง

‘น้ำร้อน’ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ทัศนีย์ตัดสินใจกลับมาลงสมัคร ส.ส. อีกครั้งในปี 2562 อยู่ใกล้ชิดกับข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้พรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ จากปัญหาคำถามพ่วงให้สิทธิ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ส่วนการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลที่ชนะอันดับหนึ่งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน จึงส่งไม้ต่อมายังเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับสอง ซึ่งก็ได้รับข้อวิจารณ์จากประชาชนต่อประเด็นการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. ในสมัยนี้ แต่ทัศนีย์ยังคงมีความหวังดีต่อพรรคต้นสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคำให้สัญญาประชาชนที่กล่าวไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่ร่วมกับอดีตนายทหารที่เคยทำการรัฐประหารแล้วหันมาทำงานการเมือง และในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ทัศนีย์จึงอยากเห็นภาคการเมืองตอบรับเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากผู้คนให้มากขึ้น

หลังผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ตอนนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องยอมรับว่าสองสามวันแรกหลังผลเลือกตั้งออกมา เราเสียใจ เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราก็ตื่นเต้นมาก ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ลุ้นตลอด แต่ก็มีความลุ้นที่ต่างกันออกไป ลงเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ก็ตื่นเต้นแบบคนทำงานการเมืองระดับประเทศครั้งแรก แต่ก็มีความอุ่นใจ เพราะรู้ว่ามีคุณอาช่วยซัปพอร์ต (ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ส.ส. เชียงใหม่และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) ส่วนรอบอื่นๆ ก็ตื่นเต้นกับการเอาชนะตัวเอง อย่างปี 2557 นอกจากเอาชนะตัวเองต้องชนะคนที่มาโหวตโนด้วย แต่สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะไป

พอมารอบปี 2562 เรายังสบายใจอยู่บ้างว่าฝั่งพลังประชารัฐไม่น่าฝ่ากระแสเราได้ หรืออย่างอนาคตใหม่ตอนนั้น เราก็ยังมองภาพไม่ออกว่ากระแสเขาเป็นอย่างไร เราแอบคิดในใจอยู่นะว่าถ้าจะชนะก็อย่าชนะเยอะ แบ่งให้อนาคตใหม่เขาด้วย เพราะปี 2562 เลือกบัตรใบเดียวแล้วคะแนนจะไปเติมบัญชีรายชื่อ เราก็อยากให้ฝั่งต่อต้านเผด็จการเข้ามาเยอะๆ

แต่ผลออกมาเราห่างกับอนาคตใหม่แค่ 700 คะแนน ระหว่างนับคะแนนนี่ปวดท้องขึ้นมากะทันหันเลย (หัวเราะ)

แล้วเลือกตั้งปี 2566 นี้ ต่างจากปี 2562 อย่างไร  

รอบนี้เราสลับเขตเลือกตั้งจากเขต 1 ไปอยู่เขต 3 อันนี้เป็นมติพรรคที่อาจจะเห็นว่ารอบที่แล้วเราชนะเลือกตั้งมาฉิวเฉียด ฐานเขต 1 มีคนรุ่นใหม่เยอะด้วย เขาน่าจะอยากให้ผู้สมัครมีบุคลิกลักษณะของคนรุ่นใหม่ เลยให้เราสลับไปอยู่เขต 3 ซึ่งเป็นเขตที่เพื่อไทยได้คะแนนเยอะ ตอนแรกอุ่นใจ เพราะเป็นเขตบ้านเกิดคุณทักษิณ แม้ว่าก้าวไกลจะมีกระแสมากขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์ แต่ก็คิดว่าเออ เอาน่ะ ที่นี่เขตเพื่อไทยอยู่แล้ว

แต่พอไปลงพื้นที่ เราเริ่มไม่มั่นใจ เพราะกระแสก้าวไกลแรงชนิดที่เมื่อลงเจอประชาชนเขาตัดสินใจเลือกได้เลย เราขอคะแนนเสียง เขาบอกว่า “จะเลือกก้าวไกล” เราถามว่า “ก้าวไกลเขามาขอคะแนนก่อนแล้วเหรอ” เขาตอบว่า “ไม่ครับ ยังไม่มา แต่ผมจะเลือก” เขาสามารถตัดสินใจเลือกได้โดยไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าผู้สมัครก้าวไกลเขตนี้คือใคร เสียงตอบรับแบบนี้มีเยอะมาก โดยเฉพาะในเยาวชน แม้ว่าเราจะขอให้เลือกคนก็ได้ แล้วให้เขาเลือกพรรคตามใจได้เลย เขายังคงต้องการเลือกทั้งคนและพรรคเป็นก้าวไกล

เราจับปฏิกิริยาได้ ไปเดินตลาดแจกนโยบาย เขาก็พูดว่า “เลือกพรรคที่มีเราไม่มีลุง” ขึ้นรถแห่คนก็พูดว่า “ก้าวไกลๆ” ยิ่งเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งเราหนักใจนะ แอบคิดว่าจะแพ้ด้วยซ้ำ แต่คนอื่นบอกว่าเรากังวลเกินเหตุ 

แล้วคุณแก้เกมในตอนนั้นอย่างไร

ตอนหลังพรรคเพื่อไทยเพิ่งมาพูดว่า เราไม่รวมทั้งพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ เราไปปราศรัยทุกครั้งจะพูดทุกครั้ง ยังมีบางคนถามว่า “ถ้ารวมจะทำยังไง” เราบอก “รับรอง ยังไงก็ไม่รวม เพราะแคนดิเดตเราประกาศไปแล้ว ถ้ารวม กุ้งจะรับผิดชอบทุกอย่าง ทุกคำพูดที่ออกมา เพราะมันคือนโยบายพรรคและนโยบายเรา” 

แสดงว่าคุณเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ลงพื้นที่หาเสียงแล้วว่าคนสนใจอุดมการณ์ทางการเมืองมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนเวลาหาเสียงคนจะชอบถามเรื่องเพิ่มค่าแรงก่อน

ใช่ๆ เพราะตอนเราเสนอนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท กลับไม่ได้เป็นประเด็นเลย เลยเข้าใจว่าตอนนี้คนอยากเปลี่ยนโครงสร้างและระบบของประเทศ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เขาคงมีความคิดว่าถ้าสามารถเปลี่ยนระบบประเทศได้ ทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าโครงสร้างดี การเมืองและเศรษฐกิจจะดี เขาเลยเลือกที่จะแก้ปัญหาที่หยั่งลึกของประเทศมากกว่า 

ซึ่งเมื่อก้าวไกลมีนโยบายอย่างปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจ รวมถึงมีสวัสดิการอย่างเงินดูแลผู้สูงอายุ แต่ของเราชูแค่เงินดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท ฐานเสียงของเราที่เป็นผู้สูงอายุก็ไม่ได้ตอบรับตรงนี้ เขางงว่าใช้อย่างไร มียายถามเราว่า “ถ้าไม่มีโทรศัพท์จะรับเงินนี้อย่างไร ยายใช้ไม่เป็นต้องทำอย่างไร” แล้วเขาจะถามกลับมาว่า “แล้วเบี้ยผู้สูงอายุล่ะ” แต่ตอนนั้นเพื่อไทยมีแต่นโยบายอัปเกรดบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค 

เรายอมรับความพ่ายแพ้ แล้วเราจะโกรธก้าวไกลไม่ได้ด้วย เขาเป็นคู่แข่งที่มีนโยบายตอบโจทย์การแก้ไขระบบโครงสร้างของประเทศ ที่พูดว่าคู่แข่งก็คือคู่แข่งนะคะ ไม่ใช่ศัตรู คู่แข่งมีแพ้-ชนะ ในเมื่อเราแพ้ เราจะไปโกรธคู่แข่งที่ชนะได้อย่างไร เราก็กลับมาดูว่าเราผิดพลาดตรงไหน แน่นอนว่าคงผิดพลาดที่เราด้วยแหละ ไม่ใช่แค่นโยบายพรรคอย่างเดียว เพราะเราแพ้ไปประมาณเกือบ 4,000 คะแนน ถ้าเราทำดีกว่านี้ ลงพื้นที่ให้ครบ เราอาจจะชนะ ต้องยอมรับว่าลงพื้นที่ไม่ครบสามอำเภอ คือ สันกำแพง ดอยสะเก็ด แม่ออน เราพบปะแกนนำครบ แต่เราลงพื้นที่ไม่ครบทุกหมู่บ้าน แล้วเราเป็นคนมาใหม่ด้วย ทำไมเขาต้องเลือกเราล่ะ ในเมื่อต่างคนต่างไม่ได้รู้จักผู้สมัครแต่ละพรรค เมื่อกระแสพรรคไหนมา เขาก็เลือกคนนั้นก็เป็นไปได้ เราต้องให้ความยุติธรรมกับประชาชนด้วย

แล้วก้าวไกลก็ไม่ได้ใช้เงินอะไรเลย ถ้าเป็นพรรคที่ใช้งบประมาณเราก็ยังโทษว่าเขาใช้เงินได้ แต่นี่เราโทษอะไรไม่ได้นอกจากตัวเอง 

ข้อมูลถอดบทเรียนเหล่านี้ คุณเคยสื่อสารกับพรรคไหม

เราพูดเรื่องนโยบาย อย่างพี่น้องผู้สูงอายุไม่เข้าใจดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท แต่เขาเข้าใจว่า สองตายายได้เบี้ยผู้สูงอายุเดือนหนึ่ง 6,000 บาท เขาคำนวณด้วยว่าปีหนึ่งจะได้เท่าไหร่ เคยแจ้งเรื่องเหล่านี้กับพรรคไปตั้งแต่ยังออกนโยบายมาใหม่ๆ แต่ทีมนโยบายอาจจะคิดว่าต้องการอัดเงินเข้าประเทศไปก่อนก็ได้ 

หลังผลเลือกตั้งออกมา คนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเชียงใหม่เมืองหลวงเพื่อไทยถูกตีพ่ายแล้ว เลือกตั้งครั้งนี้ทำให้คุณมองเชียงใหม่เปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนมาก ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกเยอะมาก ตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็ออกมาใช้สิทธิ์เยอะ รวมถึงคนเข้าถึงการศึกษาได้เยอะ ระดับการศึกษามีผล พูดตรงๆ ว่าส่วนใหญ่ ส.ส. รูปแบบเดิมจะแข่งลงพื้นที่กันหมดเลย เสาร์-อาทิตย์ต้องได้ 7-8 งาน ทั้งงานศพ งานบวช งานแต่งงาน เราไปหมด เรียกว่าลงพื้นที่แข่งกับสมาชิกสภาท้องถิ่นเลย ซึ่งเราก็ยังทำแบบนั้นอยู่ เพราะวัฒนธรรมเป็นมาอย่างนั้น แต่พอผลการเลือกตั้งเกิดขึ้น เราจะทำแบบวัฒนธรรมเดิมไม่ได้แล้ว พี่น้องประชาชนบอกให้เรารู้ว่าคุณต้องทำงานในเชิงโครงสร้างหรือทำงานด้านกฎหมายด้วย 

ในขณะที่ทางก้าวไกลใช้นโยบายหาเสียงเป็นหลัก แน่นอน บางคนก็บอกว่าก้าวไกลหาเสียงเก่งทางโซเชียลมีเดีย แต่อย่าลืมว่าใครก็ใช้โซเชียลมีเดียได้ แต่คำตอบอยู่ที่นโยบาย 

ในความคิดเรายังเชื่อว่าการลงพื้นที่ก็ยังสำคัญอยู่ งานที่เราต้องไปหาพี่น้องประชาชนก็ต้องเป็นงานเหล่านี้แหละ เราจะได้เจอเขาเยอะ ได้รับฟังว่ามีปัญหาตรงไหน ซึ่งบางทีเป็นปัญหาที่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการให้ได้ เพราะอย่างที่รู้ว่า มีการกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นน้อยมาก งบประมาณก็น้อย สุดท้ายประชาชนเดือดร้อน ท้องถิ่นถูกคุมทำงานยิ่งกว่านักเรียนถูกคุมในห้องเรียนอีก

อีกเรื่องที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญในเลือกตั้งครั้งนี้คือประชาชนล้มบ้านใหญ่ ซึ่งคนมองว่าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ถูกล้มด้วย คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

จริงๆ ของเราไม่ใช่บ้านใหญ่ เพราะครอบครัวของเราที่ทำงานการเมืองมา เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยไม่มีอิทธิพลอะไรใดๆ เลย แต่เราลงพื้นที่แบบธรรมดามากๆ เราทำงานกันจริงๆ อย่างตอนเราเป็นนายกเทศมนตรีช้างเผือก มีน้ำท่วม เราก็ต้องลงพื้นที่ทำงานถึงตีสี่ แล้วหกโมงเช้าต้องเข้าไปแจกถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนออกจากบ้านไม่ได้ เราไม่ได้ทำงานการเมืองแบบสบาย เราเข้าไปหาประชาชน ทำให้เขาเลือกเรา แล้วเราจะเรียกว่าเป็นบ้านใหญ่ได้อย่างไร ไม่ได้มีกลุ่มอิทธิพลอะไรสักอย่าง 

แต่คิดว่าที่คนมองว่าเราเป็นบ้านใหญ่ อาจจะเป็นเพราะว่าครอบครัวเราทำงานการเมืองกันเยอะ ก่อนคุณอาจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองบ้านเลขที่ 111 อาอีกคนหนึ่งไปเป็นนายกฯ อบจ. น้องชายเราก็ไปเป็นนายกฯ นครเชียงใหม่ แล้วพอเรามาเป็น ส.ส. อาจทำให้คนคิดว่าเราเป็นบ้านใหญ่ แต่ยังยืนยันว่าการเลือกตั้งทุกอย่างเรามาจากพี่น้องประชาชน จะเห็นว่าประวัติของเราไม่ได้เป็นบ้านใหญ่ที่เป็นผู้มีอิทธิพล มันมาจากการที่เราลงพื้นที่ สองมือไหว้พี่น้องประชาชน 

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ที่บ้านใหญ่ที่เขามีอิทธิพลโดนล้ม ประชาชนทำให้เห็นว่านักการเมืองตอนนี้ต้องปรับให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ จะไปทำแบบอดีตไม่ได้แล้วถ้าจะให้ประชาชนเลือก ตอนนี้บ้านเล็กบ้านใหญ่อาจจะไม่มีผล แต่ต้องทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเลือกจากนโยบาย หรือจากการลงพื้นที่ โดยทำให้ทั้งสองอย่างนี้บาลานซ์กันให้ได้ เพราะเรายังเชื่อเรื่องการลงพื้นที่อยู่นะ ได้มาเจอพี่น้องประชาชนจริงๆ เพราะหลายอย่างท้องถิ่นทำไม่ได้ พอ ส.ส. เข้าไปดู เราก็สามารถเสนอแนะไปยังรัฐบาล ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าเราดูแต่เรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ เราจะไม่ได้รับทราบปัญหาจริงๆ ทั้งสองต้องอยู่ในสัดส่วนที่มาผสมกันได้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สุด  

การมาทำงานการเมืองทั้งครอบครัว ดูแลพื้นที่ต่างกัน แล้วประชาชนก็รู้จักจนเลือกเข้ามา เรียกว่ามีอิทธิพลได้ไหม

ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคำว่าอิทธิพลจะต้องแปลว่าอย่างไร แต่เราลงพื้นที่ทุกครั้ง เรารับรู้ได้ว่าประชาชนมองเราเหมือนญาติคนหนึ่ง อย่างคุณอาเราลงพื้นที่ ประชาชนจะวิ่งเข้ามากอดเลย แม้ว่าคุณอาเสียชีวิตไปสิบปีแล้ว พี่น้องประชาชนยังบ่นคิดถึง มาเจอเราเมื่อไหร่ บางคนจะบอกว่า “เห็นแล้วนึกถึงท่านปกรณ์จัง” บางคนพูดไปพูดมาน้ำตาไหล เราก็ปลื้มใจนะ ปีนี้ปีที่สิบแล้ว การที่พี่น้องประชาชนพูดถึงแล้วยังน้ำตาไหลให้ พี่น้องประชาชนก็คงรักเราจากใจ 

อย่างเมื่อวานเราไปงานขาว-ดำ ประชาชนเข้ามาหาแล้วร้องไห้ บอกว่า ส.ส. ย้ายไปจากเขตหนึ่งทำไม สอบตกเลย เราบอกว่า “แต่ถ้ากุ้งอยู่ก็อาจจะตก ไม่ต้องร้องแล้ว” หรือไปเห็น อสม. เขาจะเห็นว่าเรายังเป็นเด็กอยู่ เขาก็ชวน “มานั่งตักป้าถ่ายรูปกัน” เราก็จะไปนั่งตักเขา 

แต่ในแง่หนึ่งเมื่อมีคนรักก็ย่อมมีคนชัง คนชังจะมองว่า “เอาอีกแล้ว นามสกุลนี้อีกแล้วเหรอ” ซึ่งเราอาจจะดูเสียเปรียบด้วยซ้ำ 

มันกลายเป็นข้อดี-ข้อเสียอย่างไรกับการเป็นตระกูลนักการเมืองแล้วมาทำงานทั้งครอบครัว

ถ้ากับคนที่คอมเมนต์บอกว่า “ตระกูลนี้อีกแล้ว” อันนี้เราก็ยังไม่เข้าใจเขาเหมือนกัน เพราะถ้ามีคนทำงานไม่ดีหรือทำงานไม่โอเคก็บอกมาได้เลย อย่าเหมารวมทั้งหมด เราต้องให้ความยุติธรรมกัน เพราะเราหรือคุณอาลงพื้นที่ แน่นอนว่าไม่ได้จะทำได้ดีทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่ดีตรงไหน คุณเป็นกระจกให้เราเถอะ ช่วยกรุณาบอกเรา 

หลายครั้งเราทำงานท้องถิ่น ระเบียบมาอย่างนี้เราทำไม่ได้ทุกอย่าง เวลามีปัญหา ท้องถิ่นเป็นฝ่ายรับหน้า เมื่อเราแก้ปัญหาให้ไม่ได้ เขาก็มีปฏิกิริยาลบกับเรา ประชาชนที่เข้าใจก็มี แต่คนที่ไม่เข้าใจก็มี 

แต่เราก็คิดว่าการโดนติก็ยังดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเราทำงาน เขาไม่ชมเราก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อเขาติการทำงานก็แสดงว่าเขาเห็นว่าเราทำงานอยู่ 

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าทำงานท้องถิ่นมาก่อน แล้วคุณวางเส้นทางว่าจะได้มาลงทำงานการเมืองระดับชาติตั้งแต่แรกเลยไหม

ไม่เลย แรกๆ ที่มาทำงานการเมือง เพราะมีบุคลากรในท้องถิ่นมาถามคุณอา ซึ่งตอนนั้นเป็น ส.ส. เชียงใหม่ เขต 1 ว่ามีใครลงสมัครตำแหน่งนายกเทศบาลช้างเผือกไหม พูดตรงๆ คือเป็นระบบการเมืองแบบเก่าที่เขาจะเข้ามาหานักการเมืองเพื่อขอคนมาลง คุณอาเลยมาถามเรา เราถึงตัดสินใจว่าลองดูก่อน 4 ปีถ้าไม่ไหวก็ไม่ไปต่อ ก็ทำให้จบ 4 ปีพอ

พออยู่ไปอยู่มา เราได้ไปคลุกกับปัญหาพี่น้องประชาชน ได้ทำงานและแก้ปัญหาเท่าที่ท้องถิ่นทำได้แล้วรู้สึกแฮปปี้ เป็นงานที่ท้าทายเรา เราสามารถจัดการการทำงานได้ รู้สึกว่าเป็นงานที่เราชอบ ก็เลยลงเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง

พอปี 2554 หลังจากคุณอาถูกเว้นวรรคทางการเมืองจากคดีบ้านเลขที่ 111 ตอนนั้น ดร.ปึ้ง-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ลงสมัครแทนคุณอา แล้วเขาจะขึ้นไปอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ เขามาถามคุณอาว่าจะหาคนลงสมัครเขต 1 แทน คุณอาเลยมาถามเรา เราก็โอเคเลย เพราะเราอยู่ท้องถิ่นมา 8 ปีแล้ว เรารู้ว่างานท้องถิ่นเป็นอย่างไร เราอยากจะอยู่บริบทที่เปลี่ยนไป เราก็ลงแบบสบายใจ เพราะมีคุณอาซัปพอร์ต แล้วหลังจากนั้นก็มาลงอีกปี 2557 แต่เป็นโมฆะอย่างที่บอก จนกระทั่งมาเกิดเรื่องจดหมายประชามติปี 2560 ที่เราถูกจับ

เหตุการณ์ประชามติรัฐธรรมนูญทำให้คนรู้จักคุณเป็นวงกว้าง ภาพที่คนจำได้คือ คุณถูกคุมตัวในรถทหาร ขอย้อนกลับไปในช่วงนั้น อะไรที่เป็นจุดที่ทำให้คุณตัดสินใจเขียนจดหมาย

ร่างรัฐธรรมนูญหนาขนาดไหน พี่น้องประชาชนไม่มีเวลาอ่านหรอก แล้วเรื่องนี้สำคัญ เราต้องการเอาเนื้อหาที่สำคัญที่สุดออกมาให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ก่อน เราจำได้ว่าตอนนั้นเขียนยกตัวอย่างเรื่องสามสิบบาทรักษาทุกโรคและเบี้ยผู้สูงอายุลงไป บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้จะให้แค่เฉพาะคนที่ยากจน แล้วคำว่ายากจน รัฐเป็นคนแปลว่าจะต้องมีรายได้ขนาดไหน แต่สองเรื่องนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ทุกคนเสียภาษี ทำไมดูแลเขาไม่ได้ 

ตอนนั้นตัดสินใจแบบลวกๆ ง่ายๆ เลย เพราะเขาบอกว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แน่นอนว่าถ้าเราไปหาประชาชนทุกหลังคาเรือนไม่หมดหรอก แต่ถ้าจะนัดประชาชนมาหา เขาตีเป็นเรื่องการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็กลับมาคิดว่าโดยปกติข้าราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ก็ส่งจดหมายให้เรา แสดงว่าส่งจดหมายไม่มีทางผิดเลย เพราะ กกต. ก็ส่งจดหมายให้เรา 

แล้วเนื้อหาในจดหมาย เราไม่ได้ใช้คำว่ารับหรือไม่รับ แต่ใช้คำว่า จะรับหรือไม่รับอยู่ที่พี่น้องประชาชนต้องตัดสินใจเอาเอง มีเรื่องคำถามพ่วงที่เป็นปัญหาด้วย เราเขียนว่า ส.ว. 250 คน มีวาระ 5 ปี สามารถเลือกนายกฯ ได้ แสดงว่า ส.ว. สมัยนี้เลือกนายกฯ ได้สองครั้ง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนฯ มีวาระ 4 ปี เท่ากับว่าเลือกได้ 2 ครั้ง วันที่ 7 สิงหาคม ขอให้พี่น้องประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ในการลงประชามติ ตัดสินใจยังไงก็ต้องอยู่ที่พี่น้องประชาชนเอง เราไม่ได้เขียนลงไปว่าต้องไม่รับนะ

ตอนมาจับเราไป เขาไม่ให้จดหมายโผล่ออกมาเลย เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่โมโหอยู่ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดอย่างรุนแรงเกินไป และเล่นใหญ่มาก เหมือนจะเชือดไก่ให้ลิงดู

ตอนเขียนขึ้นมา คาดการณ์ไหมว่าจะถูกจับ

(ส่ายหน้า) เพราะถ้ารู้เราไม่ทำหรอก เราก็หาวิธีอื่น คงเข้าไปหาประชาชนบ้านละคน หรือเชิญสามบ้านมาเจอเรา รวมเป็นสี่คน 

จดหมายนี่คิดว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว เนื้อหาก็ไม่ได้เขียนว่า อย่ารับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย เราไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องขนาดนี้ได้ ไม่คิดจริงๆ แต่ถ้าให้ย้อนกลับมาคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องทำไหม ก็ต้องทำอยู่ดี ไม่อย่างนั้นพี่น้องน้องประชาชนจะรู้ได้อย่างไร

ที่บอกว่ามีการจับกุมที่ ‘เล่นใหญ่เกินไป’ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอย่างไร

พอรู้ว่าเราเป็นคนส่งจดหมาย แรกๆ มาค้นบ้านกับออฟฟิศ แต่เขาบอกว่าไม่มีอะไร เราก็เลยไปกรุงเทพฯ ไปหาผู้บัญชาการภาค 5 บอกว่ามีอะไรให้เรียกเราเลย แล้วเขาเล่นใหญ่ ระดมตำรวจทั้งเชียงใหม่มาไล่ดูว่าเราไปส่งจดหมายที่ไหน เข้ามารื้อเอกสาร เสร็จแล้วบอกว่าเจอหลักฐาน ทั้งๆ ที่เอาแต่ซองผ้าป่าเปล่าๆ ไป เพราะหลักฐานจริงเขายึดที่ไปรษณีย์ไปหมดแล้ว

ตอนกลางคืนตำรวจและทหารฝ่ายปกครองมากัน 40-50 คน ปิดซอยบ้านเรา ชาวบ้านแถวนั้นตกใจกันทั้งซอย คงคิดว่ามีผู้ก่อการร้าย น้องเราขับรถออกมา เขาบอกจะให้น้องเราไป มทบ.33 เราก็โทรบอกให้ทนายมา น้องก็บอกว่าจะไปตอนเช้า ไม่ต้องมาปิดซอยแล้ว ชาวบ้านตกใจกันหมด  

วันต่อมาเราไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราประสานท่าน ผบตร. ในขณะนั้น ไม่ต้องมายุ่งอะไรกับน้องเราแล้ว ไปถึงเจอทหารสองคนแทน เขาก็มาเชิญเราไปปรับทัศนคติที่ มทร.11 ส่วนน้องเราถูกส่งตัวจาก มทบ.33 นั่งรถไปกรุงเทพฯ พร้อมกับนายกฯ เทศบาลช้างเผือก สรุปตอนนั้นโดนจับ 15 คน คนที่ถูกใช้ให้ไปซื้อซองจดหมาย แสตมป์ โรงพิมพ์ถูกจับหมด คนที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องถูกส่งเข้าค่ายแล้วสอบสวน 7 วัน

วันแรกเรากังวลใจ เพราะว่าน้องเราถูกส่งตัวจาก มทบ.33 นั่งรถไปกรุงเทพฯ ไปกับนายกเทศมนตรีช้างเผือก ซึ่งโดนเหมือนกัน เพราะเราให้คนทำงานในเทศบาลช้างเผือกช่วยทำงาน

ตอนที่เห็นว่ามีคนรอบตัวโดนจับไปหมดรู้สึกเสียใจที่ทำไหม

ที่เสียใจ คือไม่น่าทำให้สิบสี่คนนี้มาโดนด้วยเลย น่าจะมีเราคนเดียวพอแล้ว ทำไมเอาคนไม่รู้เรื่องมาโดนด้วย 

แล้วพอเราไปถึง เราไม่ใช่ผู้กระทำผิด เราไม่ใช่นักโทษ เรามองว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะมัดมือ ปิดตาเรา พอสอบเสร็จจะเอาเราไปนอนที่อื่น แต่เขาทำ แล้วเราเป็นโรคกลัวที่แคบ ต้องกินยาตลอดเวลา  

คุณบอกเขาไหม

เราบอกว่าไม่ได้เด็ดขาด (เสียงหนักแน่น) กลัวการปิดตา ทหารหญิงบอกว่า ต้องขอมัด แต่เขาจะจับมือเราไว้ เขาก็อะลุ่มอะล่วยที่สุดแล้ว แต่ว่าออกจากสถานที่ไปที่รถต้องมัดไปก่อน พอขึ้นรถก็ขับวนไปเกือบชั่วโมง แล้วเอาเราไปอยู่บ้านเก่าๆ หลังหนึ่ง เราถามว่าแล้วน้องล่ะ เขาบอกว่า เดี๋ยวจะตามมาในบ้านหลังเดียวกัน แต่อยู่คนละห้อง เขาไม่ให้เจอกัน แล้วก็มีคนจากเทศบาลตำบลช้างเผือกและคนที่ทำงานในออฟฟิศเราที่ไปซื้อซองจดหมายมาด้วย ซึ่งเขาเป็นมะเร็งด้วย หมอนัดให้ไปตรวจ ทหารยังไม่ยอมให้ออกเลย 

อยู่ที่นั่นก็สืบเรื่องอยู่ 7 วัน ถามวนไปวนมา วนมาวนไป เราก็ไม่รู้จะตอบอะไรบ้าง เบื่อมากเลย พยายามจะโยงให้ได้ว่าพรรคอยู่เบื้องหลัง เรารู้ว่าเขาจะโยงผู้ใหญ่ในพรรค ถามถึงคนนั้นคนนี้ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันมีคนที่ลำปางทำด้วย แต่ตอนหลังศาลตัดสินให้เขารอด ในขณะที่ศาลทหารตัดสินให้เราผิด 

ไม่รู้เขาต้องการทำลายหรือเปล่า อันนี้พูดตรงๆ เพราะว่าตอนนั้นครอบครัวเราอยู่ในวงการเมืองค่อนข้างเยอะ ทั้งนายก อบจ. นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และเพื่อนเราก็เป็นนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือกอีก

แล้วตอนนั้นมีความคิดที่อยากจะออกจากการเมืองไหม

มี เพราะหลังจากผลกระทบ 7 วันที่ไปกักตัว แล้วก็ให้เข้าเรือนจำอีก 21 วัน ถ้าจะบอกว่าไม่เครียดเลยเป็นไปไม่ได้ คนที่ถูกจับไปเขาร้องไห้ทุกคืน ทุกคนต้องขอยานอนหลับจนในเรือนจำขาดยา หมอต้องยอมเขียนใบสั่งยาให้ญาติซื้อมาให้เลย น้องเราออกมาจากเรือนจำต้องพบหมอจิตเวช การเมืองทำให้คนได้รับผลกระทบเป็นสิบกว่าคนก็อยากทำให้เราอยากจะเลิก 

เราเห็นเขาร้องไห้ก็อยากจะร้องนะ แต่ถ้าร้องอีกคนแต่จะไม่มีใครอยู่ในนั้นที่ยืนหยัดได้เลย มันเลยจำเป็นต้องอึด พ่อแม่เราอายุใกล้ 70-80 มาเยี่ยมทุกวัน คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย สภาพจิตใจเขาทนไม่ได้เหมือนเราหรอก

หลายคนเห็นภาพวันที่คุณถูกจับเมื่อขึ้นรถทหารและวันที่เข้าเรือนจำ คนมองว่าคุณเป็นคนกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวมาก ถ้าถามตัวคุณเอง คุณมองเห็นตัวเองอย่างไร

(ส่ายหน้า) เมื่อเกิดแล้วมันก็ต้องรับ ถ้าเจออย่างเรา ทุกคนก็ต้องทำ ไม่ใช่ว่าเรากล้าหรือเก่งกว่าคนอื่น มันทำอะไรไม่ได้ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป เรายังถูกคุมให้อยู่ในเรือนจำ 21 วัน เยาวชนคนอื่นที่โดนหลายๆ เดือน เขาอดทนมากกว่าอีก เขาอึดกว่าเรามาก

ตอนเราออกมาจากเรือนจำ สุขภาพแย่ลง ร่างกายฟ้อง ผมร่วงเหมือนคนจับไข้หัวโกร๋น ไปหาหมอ ตรวจพบว่า ร่างกายไม่มีคอร์ติซอล (ฮอร์โมนที่ร่างกายจะผลิตออกมาเมื่อมีอาการเครียด) เขาให้นอนโรงพยาบาลแล้วเติมคอร์ติซอลไปตอน 6 โมงเช้าเพื่อจะมาเช็กตอน 8 โมง ถ้ามันขึ้นมาก็ถือว่าไม่เป็นไร มันคงหยุดทำงานไปชั่วคราว แต่สุดท้ายมันก็ไม่ขึ้น ทำอยู่สองรอบ หมอเลยอยากให้ MRI สมอง เผื่อมีก้อนเนื้อไปกดไว้ เราก็ใจไม่ค่อยดีแล้ว เปลี่ยนไปเช็กที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีก้อนเนื้ออะไร หมอบอกน่าจะเกิดจากความเครียด แต่ดันไปเจอไทรอยด์เป็นพิษอีก 

ร่างกายเราอาจจะไม่ดีเองก็ได้ แต่ถ้ามีสิ่งที่จะให้โทษคนอื่นได้ เราก็ต้องโทษประยุทธ์นั่นแหละ เพราะเราไม่รู้จะโทษใครแล้ว

แต่สุดท้ายคุณไม่หยุดทำงานการเมืองและลงเลือกตั้งปี 2562 ก่อนหน้านั้นมีช่วงลังเลใจบ้างไหม เพราะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เราไม่เห็นด้วย  

ไม่ลังเลใจเลยค่ะ ตอนอยู่ในเรือนจำคิดจะหยุด แต่คิดไปคิดมาไม่หยุดดีกว่า เขาคงอยากให้เราหยุดแหละ แต่ถ้าเราหยุดเขาคงแฮปปี้ ถ้าอย่างนั้นเราไม่หยุดดีกว่า พูดตรงๆ ว่าตอนเลือกตั้งยังมีคนมาขู่ว่าถ้าไม่หยุดคดีจะไม่จบ 

ไม่จบก็ไม่จบ คดีติดมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว 2562 ยังไม่จบเลย จะกี่ปีก็ว่าไปเลย ค่าทนายก็เสียไปแล้ว เอาคดีมาผูกติดกับเราทั้งๆ ที่คดีไม่มีอะไรเลย เขาคงเอาไว้ขู่ ไม่อยากให้เราลงเลือกตั้ง ถ้าเรายอมเท่ากับว่าเราผิดจริงนะ

ผ่านเหตุการณ์มาแล้ว เข้าสู่สภาปี 2562 ต้องไปเจอหน้าคนใน คสช. ที่เคยสั่งการสิ่งเหล่านี้มาก่อน คุณรู้สึกอย่างไร

เราอยากจะถามคุณประยุทธ์ คุณประวิตรนะว่า คุณทำอย่างนี้อายไหม อยากถามถึงก้นลึกว่าเขาทำได้อย่างไร กับประยุทธ์เราก็ต้องถาม คุณมีลูกสาวนะ คุณทำได้อย่างไร อยากถามจริงๆ อยากรู้เหตุผลว่าทำไมต้องทำ อย่าใช้คำว่าเชือดไก่ให้ลิงดูนะ คุณต้องใช้เหตุผลของการเอาสามัญสำนึกของความเป็นคนนะ  

แต่เราไม่ขึ้นไปบนบัลลังก์หรอก เดินไปข้างหลังก็ไม่เคยเจอเขาเลย เราเคยพูดกับเพื่อน ส.ส. ว่าถ้าได้เลือกเป็น ส.ส. หนนี้จะต้องได้คุยกับประวิตร เราต้องถามเหตุผล เขาอาจจะจำไม่ได้ก็ได้ แต่เรายังหวังในใจว่าชีวิตนี้เราต้องถามเขาแน่นอนว่าเขาทำได้อย่างไร  

มาจนถึงตอนนี้ รัฐธรรมนูญที่คุณเรียกว่ามาจากประชามติอัปยศก็เป็นฐานหลักของระบบการเมืองในตอนนี้ คุณมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ผลพวกจากประชามติฉบับนี้ที่ปิดปาก ที่บอกให้คนรับๆ ไปก่อน ทำให้พรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งทั้งปี 2562 และ 2566 ไม่ได้ตั้งรัฐบาล เพราะต้องให้ 250 คนมาโหวตเห็นชอบด้วย ถ้าเขาไม่เห็นชอบก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาล จนกว่าจะมีการเลือกตั้งให้ได้เสียง ส.ส. 271 คน ซึ่งมันยากมากจาก 500 คน ขนาดตอนนี้ได้ 312 คนก็ถือว่าพี่น้องประชาชนให้ฉันทมติแล้วนะ แต่ 8 พรรคก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่

ตอนนี้เพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว คุณมองสถานการณ์เพื่อไทยอย่างไรบ้าง เพราะมีทั้งเสียงที่คนเห็นด้วยกับพรรค และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางที่เพื่อไทยทำ

ถ้าเราจับมือกันไว้ในฉันทมติประชาชน 8 พรรคก็จะยังสามารถเดินต่อไปเลย ถ้าเขากล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เอาเลย บางคนด่าเราว่าถ้าลุงมาจะทำอย่างไร เขาตั้งรัฐบาลได้จริงๆ นะ เพราะเขามี ส.ว.

ถ้าลุงมาแล้วทุกคนยังเจตจำนงเดิม คนที่พี่น้องประชาชนเลือกเข้ามา ทำตัวเป็นคน อย่ากลับเป็นงู จับมือกันไว้ เราคิดว่าเขาอยู่ไม่ได้ เปิดสภา เรายื่นไม่ไว้วางใจได้เลย เขาอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะคุณมาจากเสียงข้างน้อย คุณไม่มีสิทธิบริหาร ขอให้เขากล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเถอะ แล้วคนใน 312 อย่าเปลี่ยนเป็นงูแล้วกัน เพราะการจะใช้งู ต้องหาอีกเกือบร้อย เพราะเขามีแค่ 188 

แต่ตอนนี้เพื่อไทยก็ฉีก MOU 8 พรรคไปแล้ว ในฐานะที่คุณบอกประชาชนไปตอนนั้นว่า ไม่ร่วมกับพรรคลุงแน่นอน คุณมองท่าทีเพื่อไทยตอนนี้อย่างไร 

เราว่าการที่แคนดิเดตแต่ละท่านพูดออกมาแล้วว่าไม่จับ เขาคิดก่อนจะพูดแล้วนะ เพราะฉะนั้นถ้าไปจับจะทำให้เราเสียหายอย่างมาก เราให้ฉันทมติกับประชาชนแล้วว่าเราไม่จับมือกับสองพรรคเลยนะ ของก้าวไกลบอกสองลุง ของเราบอกสองพรรค คือพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ เราก็ต้องทำตามฉันทมติที่ให้ไว้กับประชาชน เพราะอีกไม่นาน ส.ว. ก็หมดวาระแล้ว 

บางคนด่าเราว่า จะให้รอถึงสิบเดือน ประชาชนรอไม่ไหว แต่ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราจับมือเขาไปแล้วพี่น้องประชาชนจะดีขึ้นจริงเหรอ รัฐมนตรีก็ชุดเดิมหมดเลย เอาแค่ประยุทธ์ออกไป เอาเพื่อไทยเข้าไปแทรกหน่อย แล้วคุณมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้หรือ มั่นใจหรือว่าเขาจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่หรือที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มา 

แต่ถ้าจับมือ 8 พรรคไว้ ที่พี่น้องประชาชนไม่พอใจเพื่อไทยตอนนี้ก็จะเปลี่ยนไปเอง เขาก็ไปกดดันบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ เราเอาเวลาทั้งเดือนช่วยกันพูดได้ไหม เราว่าต้องมีบ้างมั้งใน 250 คนที่จะโหวตให้ แล้วจริงๆ เราต้องหาอีก 50 กว่าคน เพราะตอนนี้มีโหวต 13 คนแล้ว ใช้เวลาตอนนี้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับ ส.ว. ได้ไหม อะไรที่ไม่เข้าใจกัน ส.ว. ติดตรงไหนมาแก้ไข ไม่ใช่มาบอกว่า ส.ว. ไม่ให้พรรคนี้เป็นรัฐบาล คุณใช้สิทธิอะไร เขาได้ฉันทมติจากประชาชนมามากที่สุด แล้วคุณมาบอกว่าไม่ให้เขาเป็นรัฐบาล ถ้าเราไปยอมเขา เท่ากับเราให้สิทธิ ส.ว. อีก นี่เราไม่ได้จะปิดสวิตช์เขานะ เราส่งเสริมเขา

เพราะฉะนั้น คุณจะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้หรือ คุณมั่นใจเหรอว่าจะแก้ไขปัญหาประชาชนได้จริง 

ถ้าตอนนี้คุณได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. แต่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางพรรค คุณจะพูดคุยกับพรรคอย่างไร

ก็ต้องคุยในพรรคว่าพี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วยมากที่จะไปรวมกับสองลุง อีกอย่างเราสัญญากับประชาชนไว้แล้ว ถ้าเราลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนไม่เห็นด้วยแน่ๆ 

จะเป็นเรื่องยากไหม บางคนในพรรคตอนนี้ก็พยายามฟีดแบ็กกับพรรคไปแล้ว

เราคิดว่าน่าเห็นใจ ส.ส. ตอนนี้ ลงพื้นที่คุณจะตอบชาวบ้านไม่ได้ เพราะตอนเราเลือกตั้ง เราบอกว่าเราไม่เอา คะแนนที่เขากาเรา เพราะเขาอาจเห็นว่าเราจะไม่เอา 

แล้วมาถึงตอนนี้เราบอกว่า ทำเพื่อพี่น้องประชาชน แต่พี่น้องประชาชนเขาบอกว่าไม่เอา แล้วจะมายืนยันอยู่อย่างเดิมว่าเพื่อประชาชนได้อย่างไร ถ้าเราเป็น ส.ส. ก็ต้องคุยกับพรรค  

ก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศตั้งรัฐบาล ‘สารตั้งต้น’ บางคนมองว่าเพื่อไทยไม่ได้ผิดคำพูดประชาชน เพราะบอกว่าไม่เอาสอง ป. ไม่ได้บอกว่าจะไม่ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างภูมิใจไทย

โอเค ภูมิใจไทยเราไม่ว่า แต่ถ้าร่วมกับประชาธิปัตย์ เราจะตอบกับพี่น้องเสื้อแดงอย่างไร 99 ชีวิตที่เสียไป ถูกคุมขังอีกเท่าไหร่ บาดเจ็บอีกเป็นพันคน จะให้คำตอบเขาอย่างไร จริงๆ แล้วมีคนเกี่ยวข้องกันหมดในการสลายการชุมนุมครั้งนั้น คุณประวิตร คุณประยุทธ์อยู่ในเหตุการณ์นั้น แล้วเราจะให้คำตอบประชาชนอย่างไร ถ้าจะบอกว่าไม่เป็นไร ไม่ได้นะคะ ชีวิตคนเจ็บฟรี ตายฟรี ทุกการกระทำต้องมีคนรับผิดชอบ 

แต่ก็มีคนบอกว่าต้องเข้าใจสถานการณ์ของเพื่อไทยด้วย เพราะจากภูมิทัศน์ตอนนี้เพื่อไทยก็ติดล็อกการทำงานหลายอย่างเหมือนกัน

มันก็กลับมาจุดเดิมว่า อีกไม่กี่เดือนแล้วนะ นี่เวลาผ่านไปจากหลังเลือกตั้ง 3 เดือน ก็เหลืออีก 9 เดือนแล้วนะที่ ส.ว. จะหมดวาระ งานของข้าราชการประจำทำได้อยู่แล้ว จะมีเรื่องการโยกย้ายหรืองบการลงทุน ซึ่งต้องรองบประมาณ กว่างบประมาณมาแล้วใช้ได้ก็เดือนตุลาฯ-พฤศจิกาฯ ก็อีกไม่นานแล้ว 

ระหว่างนี้คุณต้องไปหาเสียงกับ ส.ว. หรือกับพรรคภูมิใจไทยบางคนสิ คนที่เพิ่งเป็น ส.ส. ใหม่ก็เยอะนะ  

คนก็พูดกันว่าการเมืองคือการต่อรองอำนาจ จากการที่คุณติดตามสถานการณ์ คิดว่าการต่อรองอำนาจแบบในปัจจุบันยังจำเป็นไหม

ยังไงก็ต้องคุยกันอยู่ การเมืองหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ คนต้องอยู่ร่วมกัน ต่างก็ให้ความเห็น แต่ของเราอาจจะเพราะประเด็นที่ว่าถ้าเรายังจับวิธีการเมืองแบบนี้ ก็มีสิทธิที่พี่น้องประชาชนจะคิดว่าเราอยู่กับการต่อรองอำนาจแบบเดิมอยู่ เพราะรัฐมนตรียังเป็นคนเดิมๆ แม้กระทั่งตอนไปลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนไม่พอใจเรื่องที่เพื่อไทยรับ ส.ส. ที่เคยย้ายไปพลังประชารัฐกลับมา เพื่อไทยโดนรอบนั้นก็หนักแล้ว บอกตรงๆ 

โดยส่วนตัวคุณคิดเห็นอย่างไรกับการที่รับคนเคยย้ายไปพรรคอื่นกลับมา

ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เหมือนจะอยู่ตรงไหนกันก็ได้ วิ่งไปวิ่งมาตรงไหนก็ได้ แต่เมื่อเป็นมติพรรค เราจะเคารพ เพราะเราอยู่ในพรรค แม้กระทั่งเรื่องการส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. เชียงใหม่ เราก็เคารพมติพรรค 

แต่กรณีจับข้ามขั้วถึงเป็นมติพรรค มันก็ไม่ได้ เพราะว่ามติพรรคไม่ควรอยู่เหนือคำสัญญาที่ให้ประชาชนทั้งประเทศ

เรามีบาลานซ์อย่างไรเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกับพรรค

เรามีเส้นแน่นอน ถ้าถึงจุดหนึ่งที่อุดมการณ์เราไม่ตรงกันกับพรรคแล้วทำให้เขาหนักใจ เราต้องพิจารณาตัวเองว่า เราล้ำเส้นเขาเกินไป เราต้องเป็นผู้ถอย อย่างตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เราก็ไม่เห็นด้วย ตอนแรกจะลงงดออกเสียง แต่มีผู้ใหญ่ขอให้เคารพมติพรรค เราก็มองว่าโอเค เพราะเรามองแล้วว่าเหตุการณ์ขนาดนั้นโหวตไปก็ไม่ผ่าน เดินต่อไม่ได้แล้ว เนื้อหาในนั้นผิดหลักการเรา แต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่รับมติพรรคได้ เพราะต้องการเอาพี่น้องประชาชนออกมาหมดก่อน เขาลำบากจริงๆ ก่อนหน้านั้นเราก็ไปเยี่ยมหลายคนในเรือนจำบ่อย ตั้งแต่คุณจตุพร (พรหมพันธุ์) คุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) และพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดงที่อยู่ในเรือนจำด้วย เราไม่ได้มีความคิดดีกว่าคนอื่นนะ แต่เราไปเห็นของจริงว่าเขาลำบาก

แต่ถ้าเป็นมติพรรคที่ขัดกับเราเกินไป แล้วยิ่งสำคัญคือ ผิดสัญญากับพี่น้องประชาชนด้วย แต่เราก็ไม่ได้เป็น ส.ส. แล้วไง

ถ้าตอนนี้เป็น ส.ส. เส้นที่จะไม่ไปกับพรรคแล้วคือตรงไหน

ต้องดูว่าพรรคทำอย่างไรก่อน เราถึงจะมองเหตุการณ์ได้ว่าจุดไหนที่เราจะไม่ละเมิดสิทธิของพรรค 

ถ้าประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าพรรคจะร่วมกับสองลุงจริงๆ

เราจะงดออกเสียง ถือว่าเป็นวิธีสุภาพที่สุดแล้ว เพราะใจเราไม่เห็นชอบ แต่เรางดออกเสียง

ถ้ายังเป็นสถานการณ์ตอนนี้ที่ร่วมกับภูมิใจไทย เรายังไปไหวกับพรรคอยู่ไหม

ถ้ามีแค่ภูมิใจไทย ไม่มีประชาธิปัตย์ ไม่มีสองลุง เรายังพอรับได้ เพราะไม่อย่างนั้นเท่ากับว่าเราต้องไปขีดพรรคเกินไป เขาก็เดินยากมากเลย แม้กระทั่งเราร่วมกัน 8 พรรคแล้วภูมิใจไทยมาโหวตด้วย เราก็ต้องลองไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้ 

คนจำนวนไม่น้อยก็มองว่า การเดินหน้าตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยผูกโยงกับการกลับบ้านของคุณทักษิณ ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่าที่ยึดกลุ่มอำนาจเป็นหลัก คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

คนมีสิทธิที่จะมองแบบนั้น แต่เราได้ยินคุณทักษิณเคยพูดว่าจะกลับมาแบบไม่อาศัยรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น จะกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เรายังมั่นใจว่าคุณทักษิณจะกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องไม่บิดเบี้ยวด้วย และการกระทำเท่านั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนเข้าใจเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ บางการกระทำอาจทำให้เขารู้สึกได้ แต่อย่าทำให้สิ่งที่เขารู้สึกเป็นจริง

เราเข้าใจที่คุณทักษิณอยากกลับมาบ้าน เพราะจากบ้านไปสิบกว่าปี ครอบครัวก็อยู่เมืองไทยหมด ลูกๆ ก็อยากให้พ่อกลับ คุณทักษิณยังมีหลานอีกเจ็ดคน เป็นเราก็อยากกลับบ้านเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณทักษิณจะกลับบ้าน เขามีสิทธิ เขาเป็นคนไทย แผ่นดินไทยเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน เขามีสิทธิเข้ามาแผ่นดินนี้ แต่ต้องมาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม แล้วสิ่งที่พี่น้องประชาชนคิดจะเป็นสิ่งที่เขาคิดเฉยๆ มันไม่ได้เป็นจริง

มองในฐานะประชาชนที่อยู่กับเพื่อไทย คุณมีอะไรที่อยากบอกหรือเสริมอะไรให้พรรคบ้างไหม

เราต้องการเสียงจากพี่น้องประชาชน เราต้องดูว่าพี่น้องประชาชนต้องการอะไร ตอนนี้พี่น้องประชาชนยังไม่เปลี่ยนนะ ถ้าพรรคเพื่อไทยกลับมาตั้งหลักใหม่แล้วฟังเสียงประชาชน ส.ส. ในพื้นที่คงเอาเสียงประชาชนไปบอกพรรคว่าตอนนี้ประชาชนเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจน้อยกว่าอย่าไปจับมือกับสองลุง เพราะเขาเห็นว่าถ้าไปจับมือ การแก้ไขเศรษฐกิจก็จะยาก เพราะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีก เขาไม่ยอมให้เราแก้แน่

เพราะฉะนั้น กลับมาฟังเสียงประชาชนเถอะค่ะ มันเป็นทางเดียวจริงๆ ที่เราจะพลิกสถานการณ์ได้ ถ้าเรายังดึงดันต่อไป แน่นอนว่าจะมีเสียงประชาชนบางส่วนบอกว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไปไม่ไหวแล้ว ต้องรีบแก้ไข แต่มันทำได้จริงไหม เพราะเราคิดว่าถ้าเรายังฝืนจะทำ แล้วทำไม่ได้จริง เราจะเสียหมดหน้าตักเลย 

เราเชื่อว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังหาแนวทางอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางที่พี่น้องประชาชนเข้าใจ เพราะตอนนี้มีเรื่องถาโถมเพื่อไทยจำนวนมาก และมีหลายความคิดที่อยู่ในสังคมตอนนี้ แต่อย่าทำให้สิ่งที่พี่น้องประชาชนคิดนั้นเป็นจริงก็พอ

บางคนจะพูดว่ายอมกลืนเลือดไปก่อน เพราะอาจจะทำให้แก้สถานการณ์ได้ในอนาคต

ถ้ากลืนเลือดแล้วแก้ไขสถานการณ์ได้ เราเห็นด้วยนะ แต่กลัวว่าที่กลืนจะเป็นยาพิษมากกว่า ถึงบอกว่าเมื่อดูจากสถานการณ์และปัจจัยหลายๆ อย่าง จะแก้ไขสถานการณ์ได้จริงหรือ ที่เพื่อไทยบอกว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เราจะทำอย่างนั้นได้จริงหรือ อย่าลืมว่าถ้าเรามีพรรคร่วมเป็นคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีรัฐบาลสมัยที่แล้ว กระทรวงนั้นเขาก็ต้องการ กระทรวงนี้เขาก็ต้องการ แล้วเราแก้ไขได้ไหม เขาก็บอกว่าเขามีนโยบายของพรรค

เพราะฉะนั้น ถ้ากลืนเลือดแล้วเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนกลืนไปเถอะค่ะ แต่ถ้าสิ่งที่ให้กลืนเป็นยาพิษ คิดดีๆ ก่อน เพราะถ้าแก้ไขไม่ได้ เลือดที่กลืนลงไปจะกระอักออกมามากกว่า 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save