fbpx

โดนตกจนเป็นติ่ง! : สำรวจความรักและวัฒนธรรม ‘แฟนด้อม’ นักการเมืองไทย

ด้อมการเมือง

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง ต่างเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดหากจะมี ‘แฟนด้อม’ เกิดขึ้นหลากหลายกลุ่มในโซเชียลมีเดีย

‘แฟนด้อม’ เป็นคำที่มาจาก fanclub และ kingdom หมายถึงกลุ่มคนที่มีความชื่นชอบในตัวศิลปิน นักร้องคนเดียวกันมารวมตัวกัน จนเกิดพฤติกรรมและวัฒนธรรมเฉพาะภายในกลุ่ม ยิ่งเวลาผ่านไป เราได้เห็นแฟนด้อมศิลปิน แฟนด้อมดารา จนไปถึง แฟนด้อมของไอดอลมากมายผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากบุคคลที่พวกเขาชื่นชอบคือ ‘นักการเมือง’ จนเติบโตกลายเป็น ‘แฟนด้อมทางการเมือง’?

‘ด้อมการเมือง’ คือปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทยที่เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังคงสร้างการถกเถียง ข้อวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นี่คือการบูชาตัวบุคคลหรือไม่? ‘นักการเมือง’ ควรถูกชื่นชอบหรือชื่นชมคล้ายกับที่ศิลปิน ดารา นักร้องได้รับหรือไม่? แล้วการจัดวางความความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แฟนด้อม’ และ ‘นักการเมือง’ จะต้องเป็นเช่นไร?

จากคำถามมากมายเหล่านี้ 101 ชวนผู้อ่านเข้าไปสำรวจโลกของ ‘ด้อมการเมือง’ เพื่อหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว ทั้งเรื่องราวความรัก และการติ่ง ในวันที่หัวใจของพวกเขาโดนนักการเมืองตกไป

จาก ฟ้ารักพ่อ สู่การเกิดขึ้นของ ด้อมการเมือง

หากย้อนกลับไปช่วงการเลือกตั้งปี 2562 การเกิดขึ้นของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย เพราะเป็นพรรคการเมืองที่เน้นการหาเสียงในโลกออนไลน์เป็นหลัก และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเมืองไทย ผ่านปรากฏการณ์ #ฟ้ารักพ่อ ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นที่นั่งในสภามากถึง 81 ที่นั่งในการลงเลือกตั้งครั้งแรก

@earthanaphat

ฟ้ารักพ่อ เสียงออริจินัลต้องเสียงชั้นเท่านั้น #ตํานานที่ยังมีลมหายใจ

♬ ฟ้ารักพ่อ – earth🌎

วิดีโอการเดินทางมาร่วมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรณิการ์ วานิช มีเสียงตะโกนจากผู้สนับสนุนว่า


“แด๊ดดี้ที่แปลว่าพ่อ ฟ้ารักพ่อค่ะ ฟ้ารักพ่อ ฟ้ารักพ่อที่สุด”


คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ตามโลกโซเชียลมีเดีย และถูกพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างมาก จนเกิดเป็นกระแสฟ้ารักพ่อขึ้น

สำหรับ พลอยกมล สุวรรณทวิทย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ผู้ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “From Politics Fans to Young Protesters: The Case of Anti-government Hashtag Activism in Thailand” ระบุว่าปรากฎการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ เป็นเหมือนจุดตัดสำคัญทางประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่แตกต่างจากเมื่อก่อน กล่าวคือ เปลี่ยนจากวัฒนธรรมแบบ ‘พ่อยก-แม่ยก’ กลายมาเป็นการติดตามนักการเมืองแบบ ‘แฟนด้อม’

“ปรากฎการณ์ฟ้ารักพ่อเป็นครั้งแรกที่วัฒนธรรมร่วมสมัย (pop culture) ถูกหยิบมาใช้ในการสื่อสารทางการเมือง แม้แต่คำว่า ‘ฟ้ารักพ่อ’ เองก็มาจากคำพูดในละครเลย และหลังจากวันนั้นเราก็เห็นคุณธนาธรเริ่มออกรายการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองบ่อยขึ้น เช่น beauty blogger เป็นต้น” พลอยกมลกล่าว

พลอยกมลเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ‘พ่อยก-แม่ยก’ กับ ‘ด้อมการเมือง’ คือ การนำวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามาใช้ในการสื่อสาร โดยเธอยกตัวอย่างกรณีของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขาเองก็มีพ่อยก-แม่ยกติดตามและชื่นชอบตัวเขา ก่อนหน้านี้พ่อยก-แม่ยกก็มักจะพูดถึงอภิสิทธิ์ในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา การศึกษา หรือการทำงานในฐานะนักการเมือง ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก ‘ด้อมการเมือง’ สมัยนี้ เพียงแต่เครื่องมือที่ใช้อยู่ในพื้นที่โลกความเป็นจริง แตกต่างจาก ‘ด้อมการเมือง’ ที่ใช้โซเชียลมีเดียและวัฒนธรรมร่วมสมัยต่างๆ เข้ามาร่วมสื่อสารทางการเมืองมากขึ้น

นอกจากนี้ พลอยกมลยังระบุอีกว่า ในอดีต นักการเมืองอาจจะไม่ได้ลงมาตอบรับหรือสื่อสารกับเหล่าพ่อยก-แม่ยกโดยตรง เพราะมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้สนับสนุนพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เราได้เห็นนักการเมืองเริ่มใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขาสื่อสารทางการเมืองกับกลุ่มผู้สนับสนุน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างวัฒนธรรมภายในกลุ่มด้วย เช่น แฮชแท็กประจำตัวของนักการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของแฟนด้อมทางการเมืองนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

ปัจจัยแรก คือการเกิดขึ้นและขยายตัวของโซเชียลมีเดีย ทำให้นักการเมืองสามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้สนับสนุนหรือกลุ่มที่พวกเขาต้องการสื่อสารได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อดั้งเดิม อาทิ หนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์

ปัจจัยที่สอง คือผู้คนต่างมีความรู้สึกเบื่อหน่ายทางการเมือง (anti-political sentiment) กล่าวคือหลายคนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ยาก เคร่งเครียด จนไม่อยากยุ่งกับการเมืองแล้ว

ปัจจัยทั้งสองประการ ส่งผลให้นักการเมืองต่างหาวิธีดึงดูดให้กลุ่มผู้สนับสนุนมาเลือกพวกเขา โดยต้องไม่ใช้วิธีเดิม และใช้พื้นที่โลกออนไลน์หาเสียงมากขึ้น

“ในแง่ของการตลาดทางการเมือง (political marketing) วิเคราะห์ได้ว่าหลังจากโซเชียลมีเดียเติบโตอย่างมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักการเมืองเริ่มใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขาสื่อสาร และเทคนิคการหาเสียงก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ทุกคนได้เห็นนักการเมืองเริ่มไปออกรายการวาไรตี้มากขึ้น เริ่มใช้คำศัพท์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าเหล่านักการเมืองมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เห็นถึงอารมณ์ตัวตน และความรู้สึกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

“นักการเมืองเหล่านั้นไม่สามารถขายอุดมการณ์ของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาได้ในโลกออนไลน์ ทำให้พวกเขาต้องขายว่าวันนี้ฉันไปทำอะไรมาแทน ส่งผลให้เมื่อประชาชนเสพเนื้อหาที่ไม่ใช่การเมืองเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต่อความรู้สึกทางการเมืองของพวกเขามากขึ้น

“ปรากฎการณ์แฟนด้อมไม่ได้เป็นกระแสเพียงในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งประเทศที่เป็นระบบประธานาธิบดี เราจะยิ่งเห็นการเกิดขึ้นของแฟนด้อมมากขึ้น เพราะประชาชนในประเทศเหล่านั้นต้องเลือกประธานาธิบดีของพวกเขา ดังนั้นผู้เข้าชิงจะไม่นำเสนอเพียงนโยบาย แต่จะนำเสนอว่าพวกเขาเป็นคนอย่างไร”

ทว่า พลอยกมลมองว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเข้าใจคำว่า ‘แฟนด้อม’ ผิด โดยเธอหยิบยกคำว่า ‘ด้อมส้ม’ มาอธิบายถึงความเข้าใจผิดดังกล่าว

“ในความจริงแล้ว ‘ด้อมส้ม’ ไม่ใช่ แฟนด้อมทางการเมือง เพราะปกติแล้วคำว่าแฟนด้อมมักจะถูกใช้สำหรับกลุ่มคนที่สนับสนุนหรือชื่นชอบนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่หากพวกเขาชื่นชอบในตัวพรรคการเมือง จะไม่ถูกนับว่าเป็นแฟนด้อม แต่เป็นผู้สนับสนุนของพรรคการเมือง และทั้งสองกลุ่มก็มีปัจจัยต่อการตัดสินใจทางการเมืองที่แตกต่างกัน

“คำถามคือ แฟนด้อมสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองได้หรือไม่ เราตอบเลยว่า ได้ เพราะจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยเราพบว่า มีหลายคนมากๆ ที่เริ่มต้นจากการเป็นแฟนด้อมของนักการเมืองคนหนึ่ง และพอเขาชื่นชอบใครสักคนก็จะอยากรู้เรื่องของเขา เขาเป็นคนอย่างไร สนใจอะไร จนหันมาสนใจนโยบายของพรรคการเมืองและเป็นผู้สนับสนุนของพรรคในที่สุด”

ด้อมป๊อกกี้ บง และน้องแจ้ม

แฟนด้อมนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 62

“ก่อนหน้านี้เรารู้สึกเพียงต้องออกไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แล้วใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราแล้ว แต่ตั้งแต่เราเริ่มมาตามนักการเมือง ทำให้เรารู้สึกสนใจเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปตามอ่านงานวิชาการของอาจารย์ปิยบุตร ไปฟังวิดีโอบรรยายของเขา อ่านหนังสือของอาจารย์ ทำให้เราสนใจทางการเมืองมากขึ้น ดูข่าวการเมืองมากขึ้น

“ตอนนั้นคนที่ตามอาจารย์ปิยบุตรนั้นอยู่กันเป็นด้อมเลย เราเรียกกันว่า ‘ด้อมป๊อกกี้’ และอาจารย์ปิยบุตรเองก็มีฉายาคือ ‘แจ้ม’ มาจากคำว่า แก้ม และเราเป็นคนแรกๆ เลยที่เอาขนมป๊อกกี้ไปให้แก จนกลายเป็นธรรมเนียมว่าถ้าใครไปหาอาจารย์ก็ต้องเอาป๊อกกี้ไปให้” – นี่คือสิ่งที่ หมิง (นามสมมติ) เล่าให้ฟัง

หากย้อนกลับไปช่วงการเลือกตั้ง 62 ช่วงเวลานั้น หมิง อายุเพียง 23 ปี เธอชื่นชอบนักการเมืองอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่จากการไปฟังปราศรัยที่จังหวัดนนทบุรี และเริ่มหันมาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงเป็นคนที่ทำ ‘บง’ (แท่งไฟ) รูปขนมป๊อกกี้ไปให้ปิยบุตร

รูปภาพจาก @Piyabutr_FWP (https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1118444862536204288)

“ตอนนั้นเราไปฟังอาจารย์มาหาเสียงที่จังหวัดนนทบุรี ถ้าภาษาติ่งก็คือ ‘โดนตก’ และเริ่มมาสนับสนุนพรรค ในช่วงเวลานั้นพรรคอนาคตใหม่เริ่มได้รับความสนใจจากปรากฎการณ์ฟ้ารักพ่อ และกลุ่มแฟนคลับก็เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จะไปเจออาจารย์ปิยบุตรที่ตึกของพรรคอนาคตใหม่

“ตอนนั้นเราทำ ‘บง’ ไปให้อาจารย์ปิยบุตร เพราะเราอยากเอาวัฒนธรรมของแฟนด้อมมาเชียร์นักการเมือง เรารู้สึกคล่องมือที่สุด เพราะเราโตมากับสิ่งเหล่านี้ เหมือนเรากำลังเชียร์เขา ให้กำลังใจเขา เนื่องจากเราเองก็เป็นติ่งเกาหลีด้วย เรารู้สึกว่าพื้นฐานการเชียร์ศิลปินเกาหลี กับการตามนักการเมืองมันไปด้วยกันได้” หมิงให้ข้อมูล

คำบอกเล่าดังกล่าวของหมิงสอดคล้องกับผลการศึกษาของพลอยกมลที่มองว่า เนื่องจากพรรคการเมืองของประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงคนในระบบการศึกษาตั้งแต่โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่สถาบันพรรคการเมืองสามารถเข้าถึงกลุ่มคนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้ ทำให้ผู้สนับสนุนรุ่นใหม่ของพรรคหรือนักการเมืองไม่รู้ว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร

“แฟนด้อมกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีเขาเติบโต และเรียนรู้การมีส่วนร่วมในชุมชนผ่านการเป็นแฟนคลับของศิลปินเกาหลีมาอย่างยาวนาน พวกเขารู้จักการปั่นแฮชแท็ก การรวบรวมผู้คน การกระจายข่าวสาร ทำให้วันหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องแสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไรดี เพราะไม่เคยถูกสอนหรือเรียนรู้มา ทำให้พวกเขาจึงหยิบสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างวัฒนธรรมการติดตามศิลปิน”

พลอยกมลยกตัวอย่างว่า หากวันนี้นักการเมืองที่เขาติดตามหรือชื่นชอบโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ พวกเขาก็จะช่วยกันรีทวิต หรือปั่นแฮชแท็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะประสบความสำเร็จเพราะพวกเขามีความเข้าใจในการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ต้องปั่นแฮชแท็กในช่วงเวลาไหนถึงจะทำให้โพสต์นั้นเป็นที่นิยม เป็นต้น

ทั้งนี้ หมิงรู้ว่าการนำวัฒนธรรมจากการชื่นชอบศิลปินประเทศเกาหลีใต้มาใช้กับนักการเมืองของประเทศไทย จะสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ต่อสังคมไทยอย่างมาก แม้เธอหวังว่าในอีก 2-3 ปี หลังจากนี้สังคมจะเข้าใจมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหมิงเองก็เห็นว่าหลายคนยังไม่ชินกับการประยุกต์วัฒนธรรมดังกล่าว และวิพากษ์วิจารณ์แฟนด้อมทางการเมือง ไม่ต่างจากที่แฟนด้อมศิลปินเกาหลีโดนมองในแง่บวกและลบมาก่อน

“แฟนด้อมอยู่ในทุกวงการ ไม่ว่าจะนางงาม วงการบันเทิง จนไปถึงนักการเมืองเอง หากถามว่ามันมีข้อดีไหม เรามองว่าแฟนด้อมทำให้นักการเมืองรู้ว่าเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังเหมือนสมัยก่อน แฟนด้อมทำให้นักการเมืองที่แต่ก่อนดูเข้าถึงยาก ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ถึงแม้เราจะชอบนักการเมืองคนไหนก็ตาม แต่หากวันนี้เขาทำผิด เราก็จะด่าเขานะ เพราะเราเลือกเขาส่วนหนึ่งเพราะอุดมการณ์ ความคิดของเขา หากวันนี้เขาตัดสินใจอะไรที่ขัดต่ออุดมการณ์ที่เราเชื่อ หรือตระบัดสัตย์ทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เราก็ไม่โอเค มันเหมือนเป็นการหักหลังผู้สนับสนุนมากเกินไป”

แม้วันนี้หมิงตัดสินใจถอยจากการตามนักการเมืองแล้ว เป็นผลมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค หรือการยุบพรรคอนาคตใหม่ จนทำให้หลายๆ คน รวมทั้งปิยบุตร แสงกนกกุล หมดสิทธิ์ทางการเมือง แต่เธอเล่าว่ากรุ๊ปไลน์ฟ้ารักพ่อ ที่ใช้กันสื่อสารภายในแฟนด้อมได้ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้แจ้งข่าวสารว่ามีการประท้วงที่ไหนบ้าง เชิญชวนไปประท้วง หรือคุยเรื่องกิจกรรมของพรรคก้าวไกล ไม่พูดถึงนักการเมืองรายบุคคลแบบที่ผ่านมา

“ถ้าวันไหนที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ในช่วงเวลานั้นพ้นจากโทษการตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี เราว่ากลุ่มนี้ต้องกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง คนที่เปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่นก็จะกลับมายังพรรคนี้อีกครั้ง แต่อาจจะไม่ใช่รูปแบบแฟนด้อมอีกแล้ว” หมิงกล่าว

การปรับตัวครั้งใหม่และใหญ่ของพรรคการเมือง
ในการต่อสู้ศึกเลือกตั้ง 66

เมื่อพรรคอนาคตใหม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงและสื่อสารทางการเมืองจนประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้งปี 2562 หลังจากนั้นพรรคการเมืองอื่นๆ จึงเริ่มลงมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น จนเกิดแฟนด้อมในพรรคการเมืองอื่นๆ ตามมา

“นอกจากพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็นพรรคก้าวไกลปรับตัว หนึ่งในพรรคที่เราเห็นได้ชัดคือพรรคเพื่อไทย เพราะว่าช่วงการเลือกตั้ง 66 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเริ่มหันมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำแคมเปญหาเสียงให้กับพรรค และเห็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยลงมาเล่นกับโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่แฟนด้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครอย่าง ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ และจิราพร สินธุไพร ที่เป็นกระแสทั้งในทวิตเตอร์และTik Tok เปลี่ยนความเข้าใจเดิมว่าคนรุ่นใหม่เป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล และกระแสของแฟนด้อมผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยก็นำวัฒนธรรมการชื่นชอบศิลปินมาใช้เหมือนกัน” พลอยกมลกล่าว

พลอยกมลแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองทั่วโลกมองข้ามความสำคัญ อิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของโซเชียลมีเดีย ทำให้เมื่อมีพรรคการเมืองใช้เครื่องมือดังกล่าวเดินหน้าแคมเปญทางการเมือง ก็มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการหาเสียง

“เราค่อนข้างตกใจตอนดูรายการของช่อง FAROSE ชื่อว่า ‘เพื่อไทย พรรคนี้เป็นไงบ้าง?’ แล้วพบว่ามีแฟนคลับของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยไปรออยู่ใต้ตึกของพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นเราตกใจมากไม่คิดว่าจะเห็นเยาวชนไปรอใต้ตึกพรรคการเมืองเหมือนที่รอใต้ตึกค่ายเพลงของศิลปิน วัฒนธรรมแฟนด้อมทางการเมืองของประเทศไทยมันไปไกลจากปี 62 อย่างมาก”

ภาพจากรายการ เพื่อไทย พรรคนี้เป็นไงบ้าง? ช่อง FAROSE (https://www.youtube.com/watch?v=fwX2wPzuIE8&t=1s)

วิว (นามสมมติ) อายุ 17 ปี หนึ่งในผู้ติดตามของธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ และจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เล่าว่าปกติมักไปร่วมงานของพรรคเพื่อไทยอยู่บ่อยครั้งในช่วงปิดเทอม และหลังจากเธอเริ่มชื่นชอบทั้งคู่ เธอก็ได้สมัครสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึงทำช่อง TikTok ร่วมกับทีมสื่อสารของพรรค ปัจจุบันช่องดังกล่าวมีผู้ติดตามมากถึง 2 พันคน เนื้อหาหลักคือการนำเสนอผลงานของพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรค เช่น ผู้คนคิดอย่างไรกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น

“จุดอ่อนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย คือการใช้โซเชียลมีเดีย เราจึงไปช่วยทีมสื่อสารของพรรคเพื่อไทยทำช่อง TikTok เพื่อให้เนื้อหาต่างๆ เข้าถึงผู้คนมากขึ้น บางเนื้อหาก็เป็นทีมงานในพรรคให้ช่วยทำให้” โดยเธอยกตัวอย่างวิดีโอสองชิ้นที่ทีมงานของพรรคให้เธอช่วยทำ ประกอบด้วยคลิปผลงานของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 50 วัน และรวมการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของพรรค

ภาพจากช่องTikTok ที่วิว (นามสมมติ) สร้างขึ้น

สำหรับวิว มองว่าแฟนด้อมนักการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เหตุผลที่ทำให้เธอชื่นชอบทั้งธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ และจิราพร สินธุไพร เองก็มาจากการเห็นกระแสคู่จิ้น ‘พี่อิ่มน้องน้ำ’ จาก TikTok จนทำให้เธอตัดสินใจมาฟังการอภิปรายของทั้งคู่ ติดตามผ่านทวิตเตอร์และอินสตาแกรม และสื่อสารกับแฟนด้อมผ่าน openchat

“เวลาพี่ๆ โพสต์อะไรเราก็จะไปตามรีทวิต หรือหากพี่ๆ มีอภิปรายในรัฐสภาก็จะมีคนไปตัดวิดีโอและถอดเทปสรุปการอภิปรายลงในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ก็เหมือนเราต้องการขายผลงานคนที่เราชื่นชอบให้คนอื่นเห็นผลงานของเขาเยอะๆ”

#ลาดกระบังต้องธีรรัตน์ #สุดปังต้องจิราพร เป็นแฮชแท็กประจำตัวที่แฟนด้อมใช้เพื่อรวบรวมผลงานของทั้งคู่ ทั้งการอภิปราย การเข้าร่วมงาน จนไปถึงจังหวะที่ ‘พี่อิ่มน้องน้ำ’ อยู่ด้วยกัน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของวิวที่เธอเองก็เคย ‘จิ้น’ นักการเมือง

“เมื่อก่อนเราก็จะไปหวีดโมเมนต์ในทวิตเตอร์ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยหวีดเปิดเผยมากเท่าเดิม เพราะกลัวว่าคนข้างนอกแฟนด้อมมองเข้ามาจะรู้สึกแปลก

“ทั้งพี่อิ่ม (ธีรรัตน์) และพี่น้ำ (จิราพร) ก็พอรู้เรื่องเหล่านี้ว่ามีคนจับทั้งคู่มาเป็น ‘คู่จิ้น’ และมองว่าเป็นเรื่องปกติ มิหนำซ้ำยังเป็นเรื่องที่ดีเสียอีกที่มีคนมาตามผลงานของพี่ๆ

“ที่ผ่านมากลุ่มคนที่ชื่นชอบพี่ๆ ทั้งคู่ก็จะช่วยกันเผยแพร่ผลงานของพี่ๆ เขาไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ การถอดเทป หรือแม้แต่การแต่งนิยายในโลกออนไลน์ แต่ถ้าอันไหนที่ไม่เหมาะสม เช่น พี่ๆ ทั้งคู่เสียภาพลักษณ์ หรือคุกคามทางเพศ พวกเราก็จะพยายามเตือนกันเองในแฟนด้อม หรือถ้าร้ายแรงจริงๆ ก็จะช่วยกันรีพอร์ต”

นิยายที่อ้างอิงตัวละครจากธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ และจิราพร สินธุไพร
ภาพจาก readAwrite

ด้านพลอยกมลกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง หลังจากที่เธอสำรวจในโลก TikTok เพราะอยากรู้ว่าแฟนด้อมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนด้อม ‘อิ่มน้ำ’ เขาทำอะไรกันบ้าง พบว่าเนื้อหาหลายชิ้นเป็น user-generated content

“ผู้สมัครบางคนเวลาออกไปลงพื้นที่หาเสียง ก็จะมีแฟนด้อมตามผู้สมัครและทำวิดีโอให้ เราว่าเนื้อหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจากทั้งสองฝั่ง คือจากแฟนด้อมและนักการเมือง ก็คือแฟนด้อมทำวิดีโอ และนักการเมืองทำอะไร นำเสนออะไรออกมาในวิดีโอที่จะทำให้คลิปนั้นได้รับความนิยมและเกิดการแชร์ต่อ

“นอกจากนี้พอการเลือกตั้งมีการแข่งขันที่สูงมาก มันส่งผลถึงการแสดงออกของกลุ่มแฟนด้อมด้วย บางทีพวกเขาจะรู้สึกว่า ด้อมของฉันต้องแข่งกับด้อมของเธอ ก็คือมีการแข่งขันระหว่างด้อมเกิดขึ้น สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแฟนด้อมศิลปินเหมือนกัน ฉันชอบวงนี้ เธอชอบวงนี้ และเรามาแข่งกัน”

พลอยกมลมองว่าจนถึงวันนี้ สังคมไทยเพิ่งมีวัฒนธรรมแฟนด้อมขึ้นมาไม่นานนัก เหมือนเป็นช่วงที่กำลังตั้งไข่ กล่าวคือทั้งนักการเมืองและกลุ่มผู้ติดตามกำลังเรียนรู้ว่าจะจัดการตำแหน่งแห่งที่ของตนอย่างไร ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนและนักการเมืองเองจะได้เรียนรู้ทั้งวันที่เจอเรื่องดีหรือพลาดว่าพวกเขาจะจัดการกับแต่ละสถานการณ์อย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองฝ่ายก็จะรู้ว่านักการเมืองต้องวางตัวอย่างไร และผู้สนับสนุนต้องวางตัวอย่างไร

วิดีโอจาก @Dear_Khattiya

แฟนด้อมการเมือง คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบใหม่
หรือลดทอนความเป็นการเมือง?

แปลก”, “บูชาตัวบุคคล”, “ส.ส. หรือศิลปิน


นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อวิจารณ์แฟนด้อมทางการเมือง (political fandom) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่กังวลว่าการเกิดขึ้นและมีอยู่ของแฟนด้อมทางการเมืองจะลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticize)

สำหรับศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ไม่มองเช่นนั้น

ปัจจุบันศุภณัฐ มีกลุ่มผู้สนับสนุนในลักษณะแฟนด้อมชื่อว่า ‘ด้อม #แบงค์10’ เขามองว่าแฟนด้อมเป็นเหมือนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง เพียงแต่เป็นผู้สนับสนุนที่มีระดับความชื่นชอบและติดตามงานของพรรคมากกว่าคนทั่วไป

“ในการเมืองสมัยก่อน เราเห็นทั้งมือตบ ตีนตบ ใส่เสื้อหน้านักการเมือง ปฏิทินนักการเมืองภายในบ้าน ผมมองว่ายุคนั้นก็คล้ายๆ กับแฟนด้อมทางการเมืองในวันนี้ เพียงแต่อาจจะไม่มีใครไปนิยามสิ่งเหล่านั้นเท่ากับปัจจุบัน

“งานของนักการเมืองเป็นสิ่งที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยตรง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจสอบจากประชาชน ผมจึงมองว่าแฟนด้อมคือประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ตื่นตัวในการตรวจสอบพรรคการเมืองและนักการเมือง ทำให้นักการเมืองจะถูกจับจ้องมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผมจึงมองว่าการเกิดขึ้นและมีอยู่ของแฟนด้อมจะทำให้ผลประโยชน์ของงานการเมืองจะไปตกอยู่กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

“หากพวกเขาชื่นชอบหรือชื่นชมเรามากๆ แต่เมื่อไหร่ที่ผิดหวัง พวกเขาก็จะเป็นกลุ่มคนที่ผิดหวังมากเช่นกัน” ศุภณัฐกล่าว

หากสำรวจข้อวิพากษ์วิจารณ์ของแฟนด้อม ‘#แบงค์10’ คงไม่พ้นเรื่องการติดตามนักการเมืองจากบุคลิกและหน้าตา ศุภณัฐมองว่าในสนามการเมืองไทยมีนักการเมืองที่มีบุคลิกและหน้าตาดีกว่าเขาอยู่มาก แต่ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ได้มีแฟนด้อมกันทุกคน ดังนั้นหน้าตาและบุคลิกอาจจะไม่ใช่คำตอบเดียว เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง สำคัญที่เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง ความคิดและทัศนคติที่ตรงกันเสียมากกว่า

จากความเห็นของศุภณัฐ สอดคล้องกับ แพร (นามสมมติ) และพรีม (นามสมมติ) หนึ่งในกลุ่มแฟนด้อม #แบงค์10 พวกเธอเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ชื่นชอบนักการเมืองอย่างศุภณัฐไว้ว่า ทั้งคู่เริ่มต้นติดตามและเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลมาก่อน จนกระทั่งเมื่อศึกษาการเมืองไทยมากขึ้นก็ได้พบตัวละครอย่างศุภณัฐ และสนใจทัศนคติ อุดมการณ์ทางการเมืองของเขาว่าสอดคล้องกับความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเธอ

“ถ้าในมุมมองของคนนอกที่มองเข้ามา และส.ส.ที่เราตามดันหน้าตาดีด้วยไง (หัวเราะ) คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่จะรู้สึกว่า พวกเราติดตามส.ส. จากหน้าตา หรือเป็นการบูชาตัวบุคคล แต่ในความจริงแล้ว เขาทั้งหล่อและทัศนคติดี ทุกอย่างดีไปหมด เราจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่เราจะติดตามคนเดียวแล้วได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาหรือความคิด” แพรกล่าว

“ที่ผ่านมาคุณศุภณัฐเองก็มีผลงานมากมาย พวกเราก็จะช่วยกันกระจายข่าวกันในโลกออนไลน์ เช่น รีทวิต เพราะพวกเราเองต่างเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีมาก่อน ทำให้มีผู้ติดตามพวกเราหลายคนอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองเลย สมมติวันนี้ถ้าเรารีทวิตหรือโพสต์ไป คนที่ติดตามเราอยู่ก็จะเห็นโพสต์ของเราว่านักการเมืองคนนี้ไปทำอะไรมา” พรีมกล่าวเสริม

ที่ผ่านมา แฟนด้อมของศุภณัฐมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่โลกออนไลน์จนไปถึงโลกออฟไลน์ ส่วนหนึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่มีต้นแบบมาจากกิจกรรมของแฟนด้อมศิลปินเกาหลี ทั้งการทำโปรเจกต์วันเกิดของนักการเมือง การร่วมกันทำบุญวันเกิด จนไปถึงผลิตของแจก (giveaway)

ของแจก (giveaway) ที่แพรออกแบบและผลิตขึ้นมา

แพรเล่าว่าเธอเองก็เคยทำของแจก (giveaway) เหมือนกันโดยให้คนที่สนใจอยากได้ต้องมารีทวิต นอกจากนี้ แฟนด้อมของศุภณัฐยังสร้างกลุ่มจิตอาสาชื่อ ‘สุข-พา-นัด’ ซึ่งเป็นการเลียนเสียงจากชื่อส.ส. ที่พวกเขาชื่นชอบ กิจกรรมดังกล่าวเป็นเหมือนนัดกันไปทำเรื่องดีๆ

“พวกเราก็ช่วยกันซัพพอร์ตสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักคนชรา บ้านเด็กอ่อน หรือพื้นที่ศาสนสถาน พวกเราพยายามที่จะช่วยเหลือสังคมให้ได้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหมือนการซัพพอร์ตไปยังนักการเมืองที่พวกเราติดตามอีกด้วย

“หรือแม้แต่วันเกิดของคุณศุภณัฐพวกเราก็จัดเซอร์ไพรส์วันเกิดให้กับเขาโดยใช้ทักษะที่พวกเรามีอยู่แล้ว นั่นคือ ‘การปั่นแฮชแท็ก’ ในทวิตเตอร์ กิจกรรมดังกล่าวเริ่มจากการคุยกันภายในด้อมเพื่อให้ได้ชื่อแฮชแท็ก จนได้ชื่อว่า #BankMinchaiynuntDay และนัดกันว่าจะเริ่มต้นปั่นแฮชแท็กในช่วงเวลา 22.00 น. ก่อนวันเกิดศุภณัฐ เพื่อให้แฮชแท็กติดอันดับความนิยมในทวิตเตอร์ก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันเกิดเขา เพื่อให้เป็นเหมือนของขวัญที่พวกเราแฟนคลับจะทำให้เขาได้” พรีมเล่าถึงกิจกรรมของแฟนด้อม

การปั่นแฮชแท็กของแฟนด้อม #แบงค์10  นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะ แฮชแท็กดังกล่าวสามารถขึ้นอันดับความนิยมของประเทศไทยของวันนั้นได้ โดยมีผู้ทวิตมากถึง 16,000 ครั้ง โดยศุภณัฐก็ได้ออกมาทวิตในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า


“ของขวัญวันเกิดที่ดีที่สุดในปีนี้ คือการรู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะสุขหรือจะทุกข์ ยังมีประชาชนจำนวนมาก อยู่เคียงข้าง พร้อม support และร่วมต่อสู้ไปกับพวกเรา ทุก trending มีความหมาย – เสียงสะท้อนของประชาชน”


พลอยกมลอธิบายถึงข้อวิจารณ์ต่อแฟนด้อมทางการเมืองของประเทศไทยว่ามีรากฐานมาจากอคติต่อ ‘ติ่งเกาหลี’ กล่าวคือเมื่อพูดคำว่า ‘ด้อม’ หรือ ‘ติ่ง’ ขึ้นมา หลายคนจะมีภาพจำต่อติ่งเกาหลีในด้านลบ ทำให้เมื่อคำดังกล่าวถูกหยิบยกมาใช้กับแฟนคลับของนักการเมือง อคติเหล่านั้นจึงติดตามมาด้วย

“ถ้าการเกิดขึ้นของแฟนด้อม คือ การชื่นชอบคนๆ หนึ่ง ดังนั้นเป้าหมายการมีอยู่ของแฟนด้อมก็คือความรู้สึกมีความสุขที่ได้ชอบเขาแค่นี้ (หัวเราะ) คือแฟนด้อมอาจจะไม่เหมือนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ที่ต้องการให้พรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่แฟนด้อมมีเป้าหมายคือ ฉันอยากให้นักการเมืองของฉันมีที่นั่งในสภา

“ดังนั้นจุดสำคัญของพรรคการเมืองที่ต้องทำ คือ พวกเขาจะทำอย่างไรที่จะสร้างจุดเปลี่ยนจนทำให้แฟนด้อมสามารถเปลี่ยนจาก ‘แฟนด้อม’ ไปสู่ ‘ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง’ ได้ คำถามคือคุณจะออกแบบนโยบายอะไรที่จะทำให้พวกเขาซื้อนโยบายจากคุณ

“ตั้งแต่ปรากฎการณ์ฟ้ารักพ่อในวันนั้น จนมาถึงปัจจุบัน เราเริ่มเห็นรูปแบบของวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะของคุณธีรรัตน์ จิราพร และศุภณัฐ ก็คือกลุ่มผู้สนับสนุนเริ่มรวมตัวกันเป็นแฟนด้อมจริงๆ และมีกิจกรรมที่เริ่มออกไปจากโลกออนไลน์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ร่วมกับนักการเมือง หรือกิจกรรมที่จัดกันภายในแฟนด้อม และเราเชื่อว่าสังคมไทยจะพบเจอกิจกรรมในโลกออฟไลน์จากเหล่าแฟนด้อมบ่อยมากขึ้นในอนาคต” พลอยกมลกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save