fbpx

Anything is possible in politics ชัยชนะของอดีตนักกิจกรรมสู่นักการเมืองหญิงที่เป็นความหวังของสังคม

ท่ามกลางผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะได้อย่างเหนือความคาดหมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ หลังปิดหีบไปแล้ว แม้แต่ผู้สมัครในหลายเขตเองก็ยังไม่เชื่อว่าตัวเองจะมีโอกาสชนะ โดยเฉพาะในจังหวัดที่สื่อมวลชนยกให้เป็นบ้านใหญ่ อย่างระยอง สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ ลำปาง

ในบรรดา ส.ส.ก้าวไกลแบบแบ่งเขตจำนวน 112 คน หนึ่งในคนที่โดดเด่นต้องมีชื่อพุธิตา ชัยอนันต์ หรือ ‘จีน’ อยู่ด้วย จาก 62,009 คะแนนที่ได้ ส่งผลให้เธอกลายเป็นผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดของประเทศในฝั่งผู้หญิง และเป็นผู้สมัครที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดของพรรคก้าวไกล

เธอเคยเป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารในปี 2557 และเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่หลังเลือกตั้งปี 2562 ทั้งที่ไม่เคยมีความคิดอยากจะเป็นนักการเมืองมาก่อนด้วยซ้ำ

จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งปี 2565 ปฏิเสธมิได้ว่าพลังไวรัลคลิปการลงพื้นที่หาเสียงที่เธอเผชิญหน้ากับพลเอกประยุทธ์อยู่ห่างๆ ที่ตลาดนัดศรีบุญเรือง ทำให้พุธิตาเป็นที่รู้จักวงกว้าง และมีผลต่อความไว้วางใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต ประกอบกับอีกหลายปัจจัยเฉพาะพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเป็นเมืองขยายตัว (ดูได้จากปริมาณหมู่บ้านจัดสรร), การแบ่งเขตใหม่ของ กกต.ที่ตัดอำเภอรอบนอกออก (อ.พร้าว), ประชาชนเอือมอดีต ส.ส.เก่า (ซึ่งเคยเป็นมาติดต่อกันถึง 5 สมัย)

ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยให้พุธิตาชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 ในที่สุด และทำให้ผมนึกถึงนักการเมืองผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมา เธอชื่อ อาดา โกเลา (Ada Colau) ผมได้รู้จักเธอครั้งแรกผ่านสารคดีเรื่อง Ada for Mayor (2016) ที่ Documentary Club นำเข้ามาฉายในไทยตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน

หนังเล่าถึง 10 เดือนก่อนการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลนา ในปลายปี 2015 ซึ่งอาดานักเคลื่อนไหวในนามกลุ่มคนถูกไล่รื้อ (the Platform for Mortgage Victims: PAH) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งในปี 2009 ต่อสู้เรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยให้ผู้คนหลายแสนครัวเรือนทั่วประเทศที่นำบ้านไปจำนองแล้วถูกยึด ก่อนหน้านี้อาดาเคยปฏิเสธการเมืองเชิงสถาบันมาตลอด แต่เธอคิดว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขไม่ได้ด้วยการประท้วงเป็นคราวๆ

“..ฉันไม่ใช่คนสำคัญ ในชีวิตไม่เคยมีตำแหน่งหรือเป็นประธานใดๆ มาก่อน เหตุผลเดียวที่ฉันมายืนอยู่ตรงนี้คือ การเป็นภาพแทนที่แจ่มชัดของขบวนการเคลื่อนไหวของพลเมือง..” คือคำพูดของอาดาในวันที่หันเหเส้นทางมุ่งสู่ถนนการเมืองท้องถิ่น

การตัดสินใจของเธอก่อตัวเป็นเครือข่าย ‘เราจะพิชิตบาร์เซโลนา’ หวังเอาอำนาจรัฐใช้แก้ไขปัญหา โดยรวบรวมกลุ่มคนทั่วไปที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ซึ่งมีหลากหลายพื้นที่และกระจัดกระจายเข้ามารวมกลุ่มด้วยกัน เพื่อหาตัวแทนลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี โดยเชื่อว่าถ้าพวกเรายังแตกแยก (แข่งกันเอง) ก็ไม่มีทางจะล้มคู่แข่งที่แข็งแกร่ง (อดีตนายกฯ) ลงได้

หลังจากได้ฟอร์มทีมชัดเจน กำหนดตัวนายกฯ รองนายกฯ ลำดับในบัญชีรายชื่อ และนโยบาย ตั้งชื่อกลุ่มใหม่ว่า ‘บาร์เซโลนาสามัญชน’ (Barcelona in Common) ได้นำเสนอ 4 นโยบายหลัก

(1) การสร้างงานที่ดี

(2) ประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน

(3) ทบทวนการแปรรูปและโครงการที่ขัดแย้งกับประโยชน์สาธารณะ

(4) การมีผู้ตรวจสอบภายในสถาบันเพื่อยุติระบบอภิสิทธิ์ทั้งปวง 

ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ชนะครั้งนี้อยู่ที่การแปรเปลี่ยน ‘พลังเงียบ’ ให้เป็นคะแนน ภายใต้แคมเปญ ‘ทวงคืนบาร์เซโลนา’

บาร์เซโลนาคือเมืองใหญ่ระดับมหานคร เคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเมื่อปี 1992 มาแล้ว มีประชากร 1.6 ล้านคน งบประมาณเฉพาะของเมืองมากถึง 2,500 ล้านยูโร (9.5 หมื่นล้านบาท มากกว่า กทม.ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) เจ้าหน้าที่รวมกัน 12,000 คน (ข้อมูลก่อนการเลือกตั้งปี 2015)

สารคดีพยายามถ่ายทอดรายละเอียดปลีกย่อยระหว่างการหาเสียง เช่น เกิดข้อถกเถียงกันในหมู่ทีมงานว่าจะเชิดชูผู้สมัครหรือขายอุดมการณ์, การเลือกรูปหน้า/สีเสื้อที่ใส่ในสื่อหาเสียงทั้งหลาย หรือการที่อาดาไม่คิดว่าการดีเบตออกทีวีจะช่วยให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นซักเท่าไหร่ ฯลฯ

ช่วงโค้งสุดท้าย จากผลโพลแสดงให้เห็นว่าเธอเริ่มมีกระแสแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับถูกโจมตีว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน คนใกล้ชิดของเธอสนิทสนมกับนักการเมืองคอรัปชั่นบ้าง เธอไม่เคยมีประสบการณ์บริหารธุรกิจ ถ้าขืนได้รับเลือกตั้งเข้ามานักลงทุนหายหมด เป็นต้น

ไคลแมกซ์ในสารคดีอยู่ที่คืนวันเลือกตั้ง ขณะกำลังลุ้นผลการนับคะแนนในอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จู่ๆ นายกฯ คนเก่าก็โทรเข้าที่เบอร์มือถือส่วนตัวของอาดาเพื่อแสดงความยินดีกับเธอในฐานะนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกแห่งนครบาร์เซโลนาในวัยย่าง 41

สารคดีจบลงที่ภาพของเธอในพิธีเข้ารับตำแหน่งเพื่อทำงานให้บ้านเกิด

การเลือกตั้งท้องถิ่นสเปนน่าสนใจ กำหนดวันเดียวกันทั่วประเทศทุกระดับในวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมของปีก่อนปีอธิกสุรทิน (ปีที่มี 366 วัน ซึ่งจะเวียนมาทุกๆ 4 ปี) ซึ่งก็คือปีนี้ (2566) ตรงกับวันที่ 28 พฤษภาคม ใช้ระบบสัดส่วนเหมือนกับ บัญชีรายชื่อแบบปิด กำหนดคะแนนขั้นต่ำ 5% พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ไม่เอามานับคำนวณ จำนวนที่นั่งมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของท้องถิ่นแต่ละแห่ง

กรณีเมืองบาร์เซโลนา สมาชิกสภามีจำนวน 41 ที่นั่ง เมื่อครั้งพรรคของอาดาชนะเลือกตั้งครั้งแรกได้ไป 11 ที่นั่ง ขึ้นเป็นอันดับ 1 แม้เฉือนชนะพรรค Convergence and Union ที่ได้อันดับ 2 เพียง 1 ที่นั่ง ทว่านั่นเพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอได้เสียงข้างมากในสภาไปครอง (จากการที่พรรคอื่นสนับสนุนตามธรรมเนียมของผู้ซึ่งได้รับคะแนนจากประชาชนมาเป็นลำดับแรก) เพราะนายกเทศมนตรีมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมนั่นเอง

สำหรับการเลือกตั้งปี 2019 อาดายังคงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องอีกสมัย แม้จะได้ 10 ที่นั่งเท่ากับพรรค Republican Left of Catalonia ทว่าเสียงข้างมากในสภาตกเป็นของเธอ 21 เสียง โดยหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส (ผู้เกิดที่บาร์เซโลนา) ให้การสนับสนุนเธอ เพราะไม่ต้องการเห็นผู้บริหารเมืองที่มีข้อเสนอแยกแคว้นกาตาลุญญาเป็นอิสระจากสเปน

อาดา โกเลาได้ชื่อว่าเป็นอดีตนายกเทศมนตรีปีกซ้ายที่สุดไม่กี่คนของโลก สองสมัยของเธอคือการร่วมมือกับกลุ่มสังคมนิยม นโยบายที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จเป็นด้านที่อยู่อาศัยและการคมนาคม โครงการรูปธรรม เช่น เครือข่ายจักรยานสีเขียว และเส้นทางเท้าที่เป็นมิตร ออกแบบผังเมืองแบบ Superblock (แนวคิดคือเอาถนนกลับคืนมาเป็นพื้นที่สำหรับการเดินเท้าและทำกิจกรรมสาธารณะ) ช่วยลดปัญหาการจราจร รวมถึงมลพิษ นอกจากนี้ยังมีมาตรการหยุดยั้งการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณจริงจัง ปิดสถานที่พักที่ฝ่าฝืนกฎหมายพวกอพาร์ตเมนต์ จำกัดจำนวนเตียง/ห้องพักของโรงแรม เพราะเกินเมืองจะรองรับไหว

ถึงกระนั้น ในการเลือกตั้งสมัยที่ 3 พรรคเธอพ่ายแพ้ ได้รับเพียง 9 ที่นั่ง อยู่ในอันดับ 3 ตามหลังพรรค Catalan European Democratic Party ของ Xavier Trias ผู้กลับมาทวงตำแหน่งคืนได้ 11 ที่นั่ง กับพรรคสังคมนิยม 10 ที่นั่ง

นักวิเคราะห์มองว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เธอแพ้หนนี้ เป็นต้นว่า 1) เธอไม่เอาด้วยกับแนวคิดแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด 2) เธอถูกโจมตีว่าทำให้เมืองสกปรก ไม่สะดวกสบาย และปราศจากความปลอดภัย 3) คนไม่เอาด้วยกับนโยบายพัฒนาเมืองของเธอที่ให้ความสำคัญกับจักรยาน คนเดินเท้า (โดยเฉพาะคนแก่และเด็ก) พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะ

หลายอย่างที่อาดาทำหรือพยายามจะทำจึงเป็นที่มาของการถูกต่อต้านจากพวก Bikelash (กลุ่มคนที่มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ใช้จักรยาน) เช่น เก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) จำกัดความเร็วรถยนต์ไม่เกิน 10 กม./ชม. เปลี่ยนถนนไฮเวย์ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย การทุ่มงบประมาณลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานทางจักรยาน 

นโยบายข้างต้นตรงกันข้ามกับพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งหนนี้ ทั้งๆ ที่ทำไปด้วยความใส่ใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ Trias หัวพรรค Catalan European Democratic Party ที่ชนะการเลือกตั้ง เข้าใจฐานเสียงของตัวเองเป็นอย่างดี หลักๆ คือชายชนชั้นกลางระดับสูงและนิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว นโยบายพัฒนาเมืองของเขาจึงมุ่งเอาใจคนกลุ่มนี้ อีกประเด็นคือ จุดยืนอันชัดเจนของเขาสนับสนุนเอกราชของกาตาลุญญา

ความคล้ายคลึงระหว่างพุธิตา ชัยอนันต์กับอาดา โกเลาอยู่ที่ผันตัวมาจากนักกิจกรรมและได้รับชัยชนะในการลงเลือกตั้งครั้งแรก เป็นแม่ของลูกเหมือนกัน แต่อยู่คนละห้วงเวลาและคนละระดับ ขณะที่จีนกำลังจะพิสูจน์ตัวเองในวาระแรกในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นบทบาทการเมืองระดับชาติ อาดาได้ทำงานเป็นนายกเทศมนตรีมหานครที่ถือเป็นการเมืองท้องถิ่นมาแล้ว 8 ปีเต็ม และกำลังจะได้ทำบทบาทเดิมที่เธอถนัดอีกครั้ง

เรื่องราวชัยชนะของทั้งคู่ยังคงใช้ยืนยันคำกล่าวที่ว่า “Anything is possible in politics” ได้เป็นอย่างดี จากนักเคลื่อนไหวที่ปราศจากทรัพยากรอันสำคัญ (คือทุน) และแม้ไม่ใช่มาจากกลุ่มชนชั้นนำ แต่ก็สามารถฝ่าฟันก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญจนเป็นความหวังของสังคม


ข้อมูลประกอบการเขียน

Post-Colau Barcelona: Implications, ‘bikelash’ and opportunities

Center-right former mayor Trias takes Barcelona in tight three-horse race

Trias wins in a tense Barcelona mayoral race and closes the Colau era

ก้าวที่กล้าของ ‘บาร์เซโลนา’ กับยุทธการพลิกโฉมถนน 21 สายใจกลางเมือง เพื่อคนเดินเท้า-จักรยาน ตอกย้ำการเป็น Sustainable City

Is this the world’s most radical mayor?

Will Barcelona elect Ada Colau as mayor again?

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save