fbpx

เป็น ‘ด้อม’ ให้น้อยลง เป็น ‘Voter’ ให้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่การประสบชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมายของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ในอีกด้าน กระแสความนิยมทั้งของพรรคการเมืองและในตัวผู้นำพรรคก็ดูจะพุ่งขึ้นสูงด้วยเช่นกัน ภาพของคลื่นประชาชนที่ไปฟังการปราศรัยของพรรคก้าวไกลหรือให้การต้อนรับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ภายหลังการเลือกตั้งก็สะท้อนปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

พูดอีกแบบหนึ่ง ความนิยมชมชอบนี้ทำให้คนจำนวนมากกลายเป็น ‘ด้อม’ ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง การดำรงอยู่ในสถานะดังกล่าวหมายถึงการสนับสนุนและการแสดงออกที่สะท้อนว่าเขาและเธออันหลากหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมากกับพรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่การไปหย่อนบัตรให้ในวันเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการใส่เสื้อสีเดียวกัน การแสดงสัญลักษณ์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ด้วยเจตจำนงอันเป็นอิสระของตนเอง เป็นรูปธรรมอันหนึ่งของการกลายเป็นด้อมพรรคการเมือง

ความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองในลักษณะนี้คงไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด ภายหลังจากที่ต้องทนทุกข์อยู่กับนักการเมืองที่ไม่สามารถทำให้เห็นอนาคตได้มาเป็นเวลานาน เมื่อมีการเสนอนโยบายที่แตกต่างออกไปและการให้ความสำคัญกับผู้คนที่กว้างขวาง รวมถึงท่าทีที่เห็นความเป็นมนุษย์ของประชาชนมากขึ้น พรรคการเมืองนี้จึงเปรียบเสมือนบ่อน้ำที่ดับความกระหายทางความฝันของผู้คน การให้ความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจึงเป็นภาพที่สามารถเข้าใจได้

แม้การเป็นด้อมของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหา แต่ในด้านหนึ่ง การดูดกลืนเอาพรรคการเมืองเข้ามาอยู่ภายในตัวตนก็จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นๆ กับสถาบันการเมือง เมื่อความเป็นพรรคการเมืองได้แทรกเข้ามาอยู่ภายในตัวตน ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน

ผมเดาเอาเองว่าข้อวิวาทะจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาตั้งแต่ก่อน ระหว่าง รวมถึงภายหลังการเลือกตั้ง ก็ล้วนเป็นผลมาจากการที่บุคคลจำนวนหนึ่งพากันสมาทานเป็นด้อมของต่างพรรคการเมือง จึงเป็นผลให้เมื่อมีการเคลื่อนไหว ถกเถียง ตั้งคำถามหรือข้อสงสัย ต่อฝ่ายที่ตนเองสังกัดอยู่ บรรดาด้อม (รวมถึงนางแบกนายแบกทั้งหลาย) ก็จะออกมาทำหน้าที่ชี้แจง ตอบโต้ ปกป้อง กระทั่งในหลายประเด็นก็กลายเป็นวิวาทะอันร้อนแรงระหว่างกัน

บางครั้งก็ไปไกลเสียยิ่งกว่าที่เจ้าตัวกำลังเป็นประเด็นอยู่ด้วยซ้ำ การตอบโต้อย่างจริงจังทั้งเหตุผลและอารมณ์คงยากจะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ได้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่

ผมไม่ปฏิเสธความเป็นด้อมของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองแต่อย่างใด ความรู้สึกอันแข็งขันต่อสถาบันพรรคการเมืองย่อมถือเป็นนิมิตหมายอันดี การมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่าการมีบทบาททางการเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถกระทำได้ โดยไม่ใช่เรื่องของความต่ำช้า หรือเป็นแค่เรื่องของการช่วงชิงผลประโยชน์อันน่าละอายดังที่เข้าใจกันมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเป็นด้อมแล้ว การจัดวางตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ออกเสียง (voter)’ ในทางการเมืองก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ประชาชนในฐานะผู้ออกเสียงคือความสำคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ส่วนพรรคการเมืองและนักการเมืองก็จะทำหน้าที่ในการนำเสนอนโยบาย เมื่อประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคการเมืองใดก็สามารถสนับสนุนพรรคนั้นๆ หากพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับตนเอง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปลงคะแนนให้แต่อย่างใด

รวมทั้งหากเห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองมีข้อบกพร่องหรือปัญหาอย่างใด ในฐานะผู้ลงคะแนนก็ย่อมสามารถที่ใช้เหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี ต้องไม่ลืมว่าโอกาสที่ประชาชนผู้ลงคะแนนจะเห็นด้วยกับนโยบายพรรคในทุกเรื่องทุกประเด็นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย แม้กระทั่งต่อให้เป็นพรรคที่รู้สึกว่าอุดมการณ์ใกล้เคียงกับเรามากที่สุดแล้วก็ตาม

พูดในภาษาแบบวิชาการก็คือ ไม่มีใครสามารถเป็นตัวแทนของใครได้อย่างสิ้นเชิง เราอาจเห็นด้วยกับนโยบายหลักของพรรคการเมืองหนึ่งแต่อาจมีความเห็นต่างในหลายประเด็น ก็ควรต้องทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นถึงปัญหาหรือข้อบกพร่องในประเด็นเหล่านั้น

ในอดีต เมื่อพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบสาธารณสุขที่รอบด้านภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายนี้มีความสำคัญไม่น้อยต่อความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน แต่ความล้มเหลวด้านสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดและการเสียชีวิตในกรณีตากใบในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นปัญหาที่ควรต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนจำนวนไม่น้อยซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ (ยังไม่มีคำว่า ‘ด้อม’ ในช่วงเวลาดังกล่าว) ก็เลือกที่จะมองข้ามประเด็นเหล่านี้ไป แม้กระทั่งผ่านมามากกว่าสองทศวรรษ หลายคนก็ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา

ระยะห่างในการจัดวางตนเองกับสถาบันการเมืองจึงมีส่วนต่อการกำกับมุมมองของเราไม่น้อยในการทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ยิ่งเข้าไปอยู่ใกล้หรือถูกกลืนกลายให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเหล่านั้นก็อาจทำให้ความสามารถในการมองเห็นแง่มุมอื่นๆ ลดน้อยลง

หากจัดวางตนเองในฐานะของผู้ออกเสียงควบคู่กันไป ผมคิดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ ได้อย่างรอบด้านมากขึ้น รวมทั้งมีความ ‘กล้า’ ที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือประเด็นที่ตนเองมีความเห็นต่างออกไป แม้กระทั่งพรรคการเมืองที่เพิ่งหย่อนบัตรเลือกตั้งให้ก็ตาม

ในห้วงเวลาที่สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น ผมใคร่ขอเสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองที่จะมีส่วนส่งเสริมความเข้มแข็งของระบอบเสรีประชาธิปไตย ผู้คนควรจะต้องมีลักษณะของการเป็นด้อมให้น้อยลง และกลายเป็นผู้ออกเสียงให้มากขึ้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save