fbpx

‘และนี่คือเสียงของชาวเน็ต’ : เมื่อโซเชียลมีเดียคือ game changer การเมืองไทย?

ไรเดอร์แพลตฟอร์มส่งอาหารตั้งกล้องไว้หน้ารถมอเตอร์ไซค์ อัดวิดีโอตัวเขาเองเดินไปเช็ดป้ายหาเสียงให้พรรคการเมือง พร้อมใส่เพลงประกอบ เพลงที่ผู้ชมคลิปหลายคนเห็นตรงกันว่าเนื้อร้องเข้ากันกับบทบาทพรรคการเมืองนั้น และท้ายที่สุด คลิปนี้มียอดคนดูใน TikTok กว่า 12 ล้านครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของไวรัล ‘ซ่อมป้าย’ ปลุกกระแส ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ ให้ก้าวไกล

ไม่มีใครคาดคิดว่าบทบาทของ ‘ชาวเน็ต’ เหล่านี้จะกลายเป็นคะแนนที่นับได้จริงในการเลือกตั้งปี 2566 จนนักวิชาการหลายคนต้องยอมรับว่า การใช้สิทธิทางการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘กระสุน’ เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยึดโยงอยู่กับ ‘กระแส’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึง แม้ก่อนหน้านี้จะมีคำพูดที่ว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอาจเป็นได้เพียง ‘นายกโซเชียล’ 

@bestanawut_02

ใครมาพ่นสีสเปรย์ มันลบไม่ออก!!!นิสัยไม่ดี🥹 ก้าวไกลสู้ๆ🧡 #ก้าวไกล #ก้าวไกลทั้งใจ #พิธาก้าวไกล #กาก้าวไกล #fypシ

♬ เสียงต้นฉบับ – Kruawan Gawang – 𝐾𝑟𝑢𝑎𝑤𝑎𝑛💐

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของปรากฏการณ์ ‘ชาวเน็ต’ ที่เข้ามามีบทบาทต่อทิศทางการเมือง โดยเฉพาะในรอบสิบปีที่ผ่านมา การเมืองไทยร่วมสมัยเกิดสิ่งไม่คาดฝันจากกระแสโซเชียลมีเดียไม่น้อย จากการตื่นตัวของประชาชนที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การติดตามการเมืองบนโลกออนไลน์กลายเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิต 

แม้มองอย่างผิวเผิน แพลตฟอร์มออนไลน์ดูเป็นเพียง ‘พื้นที่’ ให้คนได้ส่งเสียง แต่หากสำรวจรายละเอียดผ่านการย้อนมองดิจิทัลฟุตปรินต์ตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นเพียงตัวกลางของพื้นที่การสื่อสาร แต่ยังก่อรูปวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งมีม คลิปล้อเลียน ภาษาอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์การเมืองไทย อย่างที่คนมักกล่าวว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น”

ประเด็นการเมืองไทยที่แหลมคมมากขึ้นทุกวัน ถูกนำมาวางแผ่ราบบนโลกเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยข้อจำกัดของอัลกอริทึม เอคโคแชมเบอร์ ภาษาของยุคสมัย และรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต่างกัน เราจะทำความเข้าใจโซเชียลมีเดียในฐานะตัวเปลี่ยนเกมการเมืองไทยได้อย่างไร และเมื่อโลกออนไลน์มีส่วนกำหนดทิศทางการเมืองได้ เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมอะไรร่วมกัน 

นี่อาจจะเป็นคำถามที่ ‘ชาวเน็ต’ ต้องหาคำตอบไปพร้อมกัน 

ย้อนดูพลวัตการเมืองไทยในโซเชียลมีเดีย : จากวันที่สร้างฮีโร่ชื่อ ‘สุเทพ’ สู่เน็ตไอดอลชื่อ ‘ธนาธร’ และการเคลื่อนไหวไร้ผู้นำของม็อบเยาวชน

ใครเล่นเฟซบุ๊กช่วงปี 2014 อาจจะไถฟีดเจอกับภาพธงชาติ หรือสิ่งของที่มีธงชาติอยู่ในภาพ ซึ่งเป็นอันเข้าใจตรงกันว่าผู้โพสต์มีความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองขณะนั้นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแชร์ภาพของ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ชูกำปั้น เป่านกหวีด โบกธงชาติ ยิ้มรับให้กับมวลชนที่มาต้อนรับเขาบนถนนในกรุงเทพ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับขบวนการ กปปส. แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเทรนด์ในเฟซบุ๊ก ยกสถานะความป๊อปให้กับแนวคิดและการสนับสนุนทางการเมืองที่ต้องการให้เกิด ‘การปฏิรูป’ ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์คือรัฐประหารในที่สุด 

เทรนด์การเมืองนี้ปะทุขึ้นในยุคกระแสการใช้โซเชียลมีเดียของชนชั้นกลางไทยในยุค 2010 บวกรวมกับการขยายอิทธิพลของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในไทย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ X), อินสตาแกรม ฯลฯ 

ภาพจากเพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ที่มียอดแชร์ 7.9K และยอดกดไลก์ 119K

ในหนังสือ Opposing Democracy in Digital Age โดยเอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญที่ทำให้ กปปส. ประสบความสำเร็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความป๊อปปูล่าให้สุเทพ เทือกสุบรรณ กลายมาเป็น ‘ลุงกำนัน’ หลังจากที่เขากับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 8 คนประกาศลาออกจากการทำงานในสภาเพื่อลงถนน ความนิยมของเขาในเฟซบุ๊กก็ปะทุขึ้นทันที สุเทพสามารถรีแบรนด์ให้ตัวเองเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้านประชานิยม’ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว การเคลื่อนไหวในฐานะผู้นำ กปปส. ทำให้มีคนเข้ามามีส่วนร่วมแต่ละโพสต์เฉลี่ยมากกว่า 1 แสนครั้ง (และมากที่สุดถึง 3 ล้านครั้ง) ทำให้เพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) มียอดไลก์เพิ่มขึ้น 5000% ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี[1] 

ยอดแชร์มหาศาลนับรวมกับคนมีชื่อเสียงในสังคมโพสต์ภาพในโซเชียลย่อมเป็นตัวกระตุ้นให้คนจำนวนเรือนแสนลงถนนตาม ‘ลุงกำนัน’ เอม ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาการชุมนุมปี 2014 จึงมองว่า กปปส.เป็น ‘การเคลื่อนไหวทางออนไลน์ที่พาคนลงถนนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ 

“ถามว่าในยุคนั้นก็มีคนเสื้อแดงชุมนุมด้วย แล้วเขาใช้สื่อโซเชียลไหม เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นคนที่สนับสนุนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัดหลายๆ คนยังเข้าไม่ถึง ถ้าเทียบกันแล้วคนที่สนับสนุน กปปส.จะใช้สื่อโซเชียลเยอะมาก” เอมให้ข้อมูล

ตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2015 ระบุว่า คนกรุงเทพเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 60% และเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ 90% คนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง มีการศึกษาสูง และจากการสำรวจของ Asia Foundation ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ผู้เข้าร่วมชุมนุม กปปส.บริโภคข่าวสารการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแนวคิดของกปปส.ได้รับการผลักดันให้ส่งเสียงดังกว่า

แต่หลังจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการพลิกผันของการเมืองจากแนวคิดหนึ่งสู่อีกแนวคิดหนึ่ง อะไรคือการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองบนโลกออนไลน์?

“ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือ 10 ปีที่ผ่านมามีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลได้เกือบ 90% ของประชากรแล้ว” เอม ให้คำตอบตรงกับรายงานของ Global Digital Report 2021 ระบุว่าคนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยคิดเป็น 78% ของทั้งหมด 

“กลายเป็นว่าหายากมากที่จะมีคนเข้าไม่ถึงสื่อโซเชียล เรามาถึงจุดที่การใช้สื่อดิจิทัลเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่เราทำทุกวัน เริ่มแรกคนก็เข้ามาใช้เพราะอีคอมเมิร์ซ หรือความบันเทิง ติดตามเกาหลี หรือแม้แต่มีคนเล่นพนัน คำถามต่อไปคือ แล้วเมื่อไหร่เราถึงเอามาใช้เรื่องการเมือง”

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากทำให้เกิดการกระจายข้อมูลหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ทำให้คนสนใจการเมือง สำหรับผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัชนี ศรีใย อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ใช่ตัวเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนเข้ามาพูดเรื่องการเมือง แต่สถานการณ์โลกข้างนอกต่างหากที่ทำให้คนต้องใช้โซเชียลมีเดียมาพูดอะไรบางอย่าง 

“เราอาจจะไม่ได้เชื่อในบทบาทของโซเชียลมีเดียขนาดนั้น เพราะการตื่นตัวการเมืองน่าจะเริ่มมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก่อน เมื่อแนวคิดของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว โซเชียลมีเดียเข้ามาทำให้เสียงหรือความเปลี่ยนแปลงนี้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น เงื่อนไขหนึ่งที่จะต้องนึกถึงเวลาที่เราพยายามมองความทับซ้อนระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความเป็นจริง คือ การมองว่าโลกจริงหมุนไปทางไหน กระแสสังคมและการเมืองในตอนนั้นเป็นยังไง มากกว่าจะมองว่าโลกออนไลน์เป็นตัวกำหนดทิศทางโลกจริง”

เอมเห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้คนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่กระตุ้นให้คนต้องพูดบางอย่างออกมา ซึ่งหากใครจำกันได้ หลายคนเริ่มส่งเสียงเรื่องปากท้องและปัญหาเศรษฐกิจในยุครัฐประหารกันบ้างแล้ว และยังมีการรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพ์ฯ single gateway จนมีคนลงชื่อออนไลน์กว่าสามแสนคน  

 “จุดสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของการใช้สื่อโซเชียลเพื่อเล่นการเมืองเพิ่มมากขึ้น คือ การเริ่มต้นใช้สื่อโซเชียลเพื่อหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2018-2019” เอมตั้งข้อสังเกตจากที่ได้ทำวิจัยใน Mobilizing the ‘Orange’ Online Support: Part II of the Futurista Campaigning ศึกษาการหาเสียงผ่านออนไลน์ของพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นส่วนหนึ่งให้พรรคเล็กเพิ่งเกิดใหม่สามารถคว้าที่นั่งในสภากว่า 80 ที่นั่ง โดยมีคนเข้ามาทวีต #อนาคตใหม่ มากที่สุดในช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งยอดการติดตามพรรคในช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยูทูบที่มียอดวิวกว่า 20 ล้านครั้ง (ในช่วงปี 2019) ที่สำคัญ ยังเกิดกระแส #ฟ้ารักพ่อ ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ จนทำให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกลายเป็น ‘เน็ตไอดอล’ ในทันที

“หลังจากมีการเลือกตั้งปี 62 ก็เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของคนที่อายุต่ำกว่า 40 ซึ่งหลายๆ คนเป็นดิจิทัลเนทีฟ” เอมกำลังพูดถึงการเกิดขึ้นของม็อบเยาวชนในปี 2563 ซึ่งขยายวงกว้างมากขึ้นหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ และมีเหตุการณ์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกอุ้มหาย ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งทำให้ถึงจุดที่ ‘ชาวเน็ตเดือด’ กับสถานการณ์การเมือง

“ม็อบปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนในการเมืองไทยคือ มีการใช้สื่อโซเชียลหลายแพลตฟอร์มเป็นสื่อหลักของการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่แค่เฟซบุ๊ก แต่มีทั้งทวิตเตอร์ ยูทูบ และอื่นๆ จากเมื่อก่อนที่ กปปส.ใช้เฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่” 

แม้เอมจะกล่าวเช่นนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มที่มีส่วนช่วยในการก่อรูปเครือข่ายการเคลื่อนไหวของเยาวชนคือ ทวิตเตอร์ ในงานศึกษา Twitter Analysis of the Thai Free Youth Protests ของเอมเสนอว่า คุณลักษณะของทวิตเตอร์มีส่วนกำหนดขบวนของเยาวชน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบเครือข่ายที่มีการกระจายอำนาจมากกว่า ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมได้สูงสุด ลดความเสี่ยงในการปราบปราม สร้างพื้นที่ดำเนินการได้อย่างอิสระ เหมือนที่ช่วงแรกๆ เราได้เห็นเยาวชนชวนกันจัดม็อบ ‘วิ่งนะแฮมทาโร’ ม็อบ ‘ไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ และอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับการเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กของ กปปส. ที่มีผู้นำในการจัดการคือเพจสุเทพเท่านั้น 

ความกล้าแสดงออกเรื่องการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลทหาร ยังมาจากคุณสมบัติและคัลเจอร์ของทวิตเตอร์ที่คนส่วนใหญ่มักใช้โปรไฟล์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนจริง และก่อนหน้านี้ก็เริ่มต้นใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดตามศิลปินเกาหลีหรือป๊อปคัลเจอร์มากกว่าพูดเรื่องการเมือง เมื่อต้องสื่อสารเรื่องการเมือง พวกเขาก็นำภาษาเฉพาะกลุ่มเข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้คนกล้าเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“ต้องบอกว่าม็อบเยาวชนในตอนนั้นคนลงถนนน้อยเมื่อเทียบกับ กปปส. แต่จัดนาน มีหลายรอบและหลายเดือน แต่คนมีอำนาจยังไม่นับว่าการชุมนุมทางการเมืองออนไลน์มันสำคัญเท่าการชุมนุมการเมืองบนท้องถนน เพราะออนไลน์คือคนบ่นแล้วจบ มันไม่เห็นจำนวนที่ออกมากดดันแบบคนลงถนน

“แต่ 3 ปีมานี้รัฐรู้แล้วว่าสื่อโซเชียลมีความสำคัญจริง ไม่ใช่เป็นที่ที่เด็กนั่งเมาท์เรื่องติ่งเกาหลี หรืออะไรที่ไม่สำคัญ เพราะตอนนี้คนสามารถสร้างแคมเปญเพื่อจะทำให้รัฐมีการตอบสนองเขามากขึ้นได้ มีการใช้สื่อโซเชียลเพื่อตรวจสอบรัฐให้เกิดความโปร่งใสได้ ซึ่งคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในออนไลน์พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนตรงนี้ว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2020”

เราเดินทางมาถึงวันที่โซเชียลมีเดียมีผลต่อการเลือกตั้งแล้ว 

จากเหตุการณ์การเมืองที่พลิกหน้าพลิกหลังไปมา รู้ตัวอีกทีการเมืองก็อยู่ทุกตารางนิ้วของโซเชียลมีเดีย ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคำถามต่อการนับจำนวนเสียงในโลกจริงอยู่ อย่างที่เราเห็นชัดในการเลือกตั้งปี 2562 แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้รับการพูดถึงในทวิตเตอร์เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถอ้างอิงคะแนนเสียงที่แท้จริงของพรรคได้ทั้งหมด

ทว่าอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ผลคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลและกระแสออนไลน์ ทำให้การเลือกตั้งปี 2566 มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่การใช้โซเชียลมีเดียของประชาชน 

“เราทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน สำรวจการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการเลือกตั้ง 2566 เราอยากรู้ว่าสื่อโซเชียลมีผลกระทบในการตัดสินใจการเลือกตั้งหรือเปล่า อันนี้ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะผลออกมาเห็นได้ชัดว่า คนใช้สื่อโซเชียลมากกว่าสื่ออื่นเยอะ และสื่อโซเชียลมีความสำคัญที่สุดในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ถ้าเทียบกับแบบสำรวจเมื่อเลือกตั้งปี 2562 พบว่า สื่อโซเชียลยังไม่มีความสำคัญที่สุดในการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร สื่อที่สำคัญที่สุดคือ ทีวี คนส่วนมากใช้สื่อโซเชียลเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งเฉยๆ”  เอมบอกข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุด

“การเลือกตั้งรอบนี้มีสื่อโซเชียลเพิ่มเยอะกว่ามาก อย่างที่เราเห็นว่ามี TikTok เข้ามาด้วย และสถิติคนไทยก็ใช้ยูทูบเป็นอันดับที่สองแล้ว สำนักข่าวต่างๆ ก็มีดีเบต มีรายการออกมาเยอะมาก สังเกตว่าคอนเทนต์วิดีโอมีความสำคัญมากกว่าข้อความ แม้ว่าทวิตเตอร์จะมีความสำคัญทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่คนก็ยังใช้อยู่อันดับห้าของประเทศอยู่”

อีกประเด็นที่เอมเสนอคือ คนมักคิดว่าการใช้เทคโนโลยีมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มดิจิทัลเนทีฟ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าทำให้มีช่องว่างของกลุ่มวัยในการรับข้อมูลด้านการเลือกตั้ง แต่จากการสำรวจของงานศึกษานี้ พบว่า กลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการตัดสินใจเลือกตั้งอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 50 ส่วนคนที่อายุมากกว่า 50 ขึ้นไปยังคงติดตามข้อมูลและตัดสินใจจากสื่อเก่าอย่างทีวีอยู่

“ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ คนที่อายุต่ำกว่า 50 ถือว่าครึ่งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นสรุปได้ชัดว่าตอนนี้ คนส่วนมากใช้สื่อโซเชียลเพื่อติดตามเรื่องการเลือกตั้งเยอะที่สุด และเป็นสื่อที่มีความสำคัญที่สุดในการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร” 

คะแนน 14 ล้านเสียงที่ก้าวไกลได้มาเป็นอันดับหนึ่งจึงสอดคล้องกับตัวเลขที่เกิดขึ้นในออนไลน์ แฮชแท็กที่คนใช้ในช่วงเลือกตั้งมากที่สุดคือ #เลือกตั้ง66 มีการพูดถึงพรรคก้าวไกลมากที่สุด โดยมีคนเข้ามาอินเทอร์แอกกับก้าวไกลมากที่สุด เช่น ในเฟซบุ๊กมีการโต้ตอบของพรรคก้าวไกลกว่า 10 ล้านครั้ง มากกว่าของพรรคเพื่อไทย 6 เท่า ส่งผลให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเหล่านี้ป้อนเนื้อหาของพรรคก้าวไกลให้ผู้ใช้งานมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขทางเทคโนโลยีที่แพลตฟอร์มต่างๆ จะจัดเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุดขึ้นก่อน[2]  

“จากที่ได้ศึกษาแฮชแท็กช่วงเลือกตั้งผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เราดูว่าแต่ละพรรคมีการเข้าถึงแฮชแท็กเหล่านี้อย่างไร เห็นได้ชัดว่าก้าวไกลกับเพื่อไทยอยู่ในแฮชแท็กเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น อันนี้ไม่เซอร์ไพรส์มาก แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือ 50% ของการใช้แฮชแท็ก #เลือกตั้ง63 #เพื่อไทย ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ TikTok ของพรรคเพื่อไทยมาจากพรรคและเครือข่ายพรรคเป็นคนใช้” เอมพูดถึงงานศึกษา Thailand moves forward in social media election

“ในขณะที่ 80% ของคนที่พูดถึงก้าวไกลแล้วใช้ #เลือกตั้ง66 #พิธา #ก้าวไกล ไม่ได้มาจากพรรค แต่มาจากคนทั่วไป อันนี้แสดงให้เห็นถึงความออแกนิก ซึ่งคนที่เรียนรู้เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจะรู้ว่าออแกนิกซัปพอร์ตสำคัญที่สุด คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดการสนับสนุนก้าวไกลอย่างออแกนิก ในขณะที่เพื่อไทยเป็นพรรคที่อยู่มานานและเป็นพรรคใหญ่ ทำงานสื่อสารในออนไลน์เหมือนกัน ทำไมเพื่อไทยไม่มีกระแสตอบรับแบบนี้?”

เอมได้ศึกษาผ่านการสัมภาษณ์คนที่ทำงานวางแผนหาเสียงออนไลน์ของทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย สิ่งที่พบคือ ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีงบประมาณจำกัด ทำให้คนที่ลงสมัครแต่ละคนต้องคิดคอนเทนต์เพื่อหาเสียงด้วยตัวเอง เนื่องจากคนที่มาลงสมัครไม่มีอิทธิพลในระดับพื้นที่มากนัก จึงต้องคิดแคมเปญที่ทำให้ตัวเองโดดเด่นออกมา โดยเฉพาะการดึงความแปลกของแต่ละคน จึงเกิดอิสระในการนำเสนอเอกลักษณ์เพื่อหาเสียงไปโดยปริยาย  

“เรื่องเหล่านี้เป็นคอนเทนต์ที่แชร์ได้ดีจริงๆ เพราะว่าแต่ละคนมีเรื่องราวของตัวเอง ไม่ได้เป็นเรื่องเดิมๆ ที่พรรคส่งมาให้ลง”

แต่ไม่ได้มีเพียงคอนเทนต์เหล่านี้ที่ทำให้ก้าวไกลเรียกความสนใจจากคนได้ เอมมองว่ายังมีส่วนอื่นๆ ประกอบที่รวมกันเป็น ‘แบรนด์ดิ้ง’ ของพรรคด้วย เช่น  นโยบายหลักและจุดยืนที่ชัดเจน

“เข้าใจว่าในตอนหลังคุณอุ๊งอิ๊งก็เริ่มมีคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์เข้ามาบ้าง แต่มันจบลงแค่นั้น เพราะสุดท้ายคนมองไม่ออกว่าจุดยืนคืออะไร ในขณะที่คนเข้าใจว่าก้าวไกลคืออะไร มีจุดยืนอะไร และยังมีพิธาฟีเวอร์อีก รวมกันแล้วการมีจุดยืนที่ชัดเจนทำให้คอนเทนต์ไหลได้ง่าย

“ดังนั้น ถ้าเราจะถอดบทเรียนสำคัญของการใช้สื่อโซเชียลหาเสียงในยุคสมัยที่ทุกคนเข้าถึงสื่อแล้ว และต้องหาเสียงกับคนที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคไหน เราต้องเข้าใจว่าตัวเองขายอะไร ขายแบรนด์อะไร ตัวเองมีจุดยืนอะไร และเราสามารถที่จะ ทำให้แบรนด์ของตัวเอง หรือจุดยืนออกไปขายให้แมสยังไง เพราะคนที่ทำให้แคมเปญประสบความสำเร็จ คือ คน

“และต้องป้อนคอนเทนต์เรื่อยๆ โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่มีความมีเอกลักษณ์และมีข้อความที่ชัดเจน”

วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่แบบสับในโลกออนไลน์ 

หากพูดถึงการเมืองในยุคดิจิทัลแล้วคงจะไม่พูดถึงวัฒนธรรมการเมืองร่วมสมัยไม่ได้ เพราะวิธีการสื่อสารแบบร่วมสมัยที่มาจากดิจิทัลเนทีฟ ทำให้เราเห็น ‘ภาษา’ การเมืองที่แปลกใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือการเกิดขึ้นของมีมการเมือง

“เป็นเรื่องปกติที่คนใช้งานดิจิทัลจะไปสร้างภาษาของเขาเอง ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมที่เขาทำในสื่อโซเชียลนั้นๆ อย่างมีม ทำให้คอนเทนต์ปลอดภัยมากขึ้น ถ้าพูดเรื่องการเมืองบางอย่างเซนสิทีฟ การใช้มีมหรือความตลกมาปน ทำให้คอนเทนต์ดูซีเรียสน้อยลง แต่ทำให้คนสามารถเสพได้มากขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะรัฐก็ไม่เข้าใจสิ่งที่คนสื่อสารผ่านมีมเลย”

มีมเป็นสื่อที่ดำรงความเป็นสาธารณะและอิสระสำหรับคนเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะภาพเพียงภาพเดียวสามารถนำไปเล่าได้หลายบริบทและเหตุการณ์ หลายครั้งยังหาต้นตอของคนที่เริ่มเล่นมีมนั้นๆ ได้ยาก จึงปราศจากปัญหาความเป็นลิขสิทธิ์ใดๆ ในจุดนี้เองที่ทำให้มีมเป็นไวรัลและนำมาใช้สื่อสารได้ง่าย ประกอบกับฟังก์ชันของเฟซบุ๊กที่มีระบบเพจ ทำให้เกิดการสร้างพื้นที่ส่งต่อมีมของดิจิทัลเนทีฟกัน

“เราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความอึดอัด มันพูดออกมาตรงๆ ไม่ได้ แต่ก็มีความโกรธ ความไม่พอใจ แล้วบริบทของสังคมเราคือ เมื่อไหร่ที่คุณแสดงออกว่าคุณโกรธคุณก็จะกลายเป็นคนไม่น่ารัก เรากับเพื่อนๆ ก็พยายามหาทางจัดการกับความโกรธเหล่านี้” พิพัฒน์ วัฒนพานิช ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองบอกประสบการณ์เริ่มต้นทำมีมการเมือง

“วันหนึ่งเราไปร้านกาแฟกับเพื่อน แล้วคุยกันเรื่องสังคม โดยธรรมชาติของเรากับเพื่อนอีก 6 คนเป็น LGBT ก็จะมีจริตจะก้านบางอย่างออกสาว แล้วความกะเทยก็จะไปหยิบไดอาล็อกจากละคร หนัง ซีรีส์มาพูด ความนพนภา มุนิน มุตาต่างๆ แล้ววันนั้นเราหยิบเรื่อง Mean Girls มาต่อบทเม้าเรื่องสังคมกัน ดันตลกมาก ในบรรยากาศช่วงรัฐประหารที่มันพูดเสียงดังไม่ได้ เราก็เลยมาเปิดเพจกัน ใช้ความคอมเมดี้เป็นน้ำตาลเคลือบให้กับความโกรธสังคม” และนี่คือจุดเริ่มต้นของเพจ Meme Girls Thailand (เปิดเพจครั้งแรกประมาณปี 2558 พวกเขาใช้ชื่อว่า ‘ดูออกเลยหรอคะ’) ช่วงแรกพวกเขาทำมีมภาพที่ดึงมาจากภาพยนตร์วัยรุ่นอเมริกัน Mean Girls โดยไม่ได้นำมาล้อเลียนการเมืองตรงๆ แต่เสียดสีปรากฏการณ์สังคม เช่น การวิพากษ์วิจารณ์การวิ่งเหนือจรดใต้ของนักร้องชื่อดังเพื่อชวนคนบริจาคให้โรงพยาบาล (พิพัฒน์เล่าว่าครั้งนั้นโดนทัวร์ลงฉ่ำๆ เพราะสังคมยังเห็นด้วยกับการบริจาคอยู่) 

“เราไม่ได้เป็นนักกิจกรรมการเมืองกันมาก่อน เราไม่รู้ว่าจะระบายอารมณ์ทางการเมืองยังไง การเปิดเพจแล้วทำมีมเป็นเส้นที่เรารู้สึกว่าทำได้ เพราะแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแล ยุครัฐประหารแรกๆ ก็ยังไม่ค่อยมีเพจการเมืองเยอะมาก น่าจะมีเพจมานีมีแชร์ หรือไข่แมวยุคแรกๆ ซึ่งแต่ละคนก็มีลักษณะการพูดที่ยิงตรง กวนนิดๆ แต่ Meme Girls Thailand คือผู้หญิงอเมริกัน ผมบลอนด์มาเลย นุ่งสั้น เต้นเพลงจิงเกิลเบลล์ร็อก ภาพลักษณ์ไม่มีความเป็นชายเลย” พิพัฒน์เล่าอย่างสนุกสนาน

“มันเป็นภาพที่เราว่าขั้วอำนาจน่าจะงงแล้ว นักกิจกรรมด้วยกันหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คงงงว่าเรามาทางนี้ได้ยังไง”

จุดที่ทำให้ Meme Girls Thailand มียอดแชร์ปั๊วะปัง คือช่วงการเกิดม็อบเยาวชนและปัญหาโควิด-19 ที่พิพัฒน์มองว่าจากเดิมที่ Meme Girls Thailand ล้อเลียนปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมก็ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะการจัดการโรคระบาดแบบ ‘บ้งๆ’  ทำให้ต้องทำมีมวิดีโอ ‘วนรถด่า’ ที่เปิดคลิปมาก็ด่าใส่เลยว่า “เธอมันโกหกตอแหล!” จนกลายเป็นตัวแทนในการระบายอารมณ์ความรู้สึกของคน

“และ ณ ช่วงเวลาเดียวกัน การเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนก็มา Meme Girls Thailand ก็ถูกเอาไปใช้ ตอนนั้นทำให้เรารู้ว่าเรจินา (หนึ่งในตัวละครจาก Mean Girls) กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแล้วนะ เรามีอำนาจในการส่งเสียงแล้ว และสิ่งที่เราทำก็อาจจะไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอะไรบางอย่างในสังคมได้” เพราะรู้ตัวอีกทีภาพเรจินาก็ไปแปะอยู่ในพรรคก้าวไกลแล้ว และยังมีคนนำภาพเพจ Meme Girls Thailand ไปถือในม็อบด้วย ทำให้พิพัฒน์กับทีมงานต้องมานั่งคุยกันถึงการผลิตเนื้อหาของเพจให้รัดกุมมากขึ้น

“ช่วงนั้นมีคอมเมนต์มาตลอดว่า “วนรถด่าหน่อย” แต่เราจะบอกว่าไม่ได้ เพราะการด่าในระดับคลิปวนรถ มันใช้พลังเยอะและส่งผลกระทบกับอะไรบางอย่างแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะต้องวนรถด่าสักหนึ่งครั้งต้องเป็นเรื่องที่เหลืออดจริงๆ แต่คุณจะต้องเป็นประเทศที่ผิดปกติมากนะ ถ้าคุณจะต้องเหลืออดทุกอาทิตย์” เจ้าของเพจ Meme Girls Thailand ปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ เพราะช่วงโควิดเป็นช่วงที่พวกเขาทำคลิปวนรถด่าออกมาจำนวนมาก

“สำหรับเรา มีมก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือ อาจจะมีพลังหรือไม่มีพลังก็แล้วแต่กระแส แล้วแต่พลวัตที่ขับเคลื่อนไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ จุดยืน มีมการเมืองที่มีพลังมันยืนอยู่บนหลักการอะไรบางอย่าง เราจะบอกหลายที่ว่า Meme Girls Thailand ไม่ได้พูดไปเรื่อย เพจเรามีจุดยืน มีเรื่องที่เราเลือกว่าจะทำและเลือกที่จะไม่ทำอยู่ เพราะเรารู้ว่าเรามีอิทธิพลต่อคนได้ เราจะไม่ทำมีมชี้นำคนเด็ดขาด โดยเฉพาะจุดที่ชาวเน็ตจะต้องตัดสินใจกันเอง” นี่เป็นเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจปิดเพจไปประมาณ 6 เดือนในช่วงเลือกตั้งปี 2566 เพราะมองว่าช่วงนี้คือการหาเสียง และย่อมมีเพอร์ฟอมานซ์ทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนน ซึ่งเป็นจุดที่ชาวเน็ตต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยตัวเอง 

“มันเป็นช่วงเวลาเซนสิทีฟที่มีหลายประเด็น มันเป็นมากกว่าเรื่องเผด็จการกับประชาธิปไตย มันคือการเมืองเก่า การเมืองใหม่ อนุรักษนิยม ก้าวหน้า ทุนนิยม รัฐสวัสดิการ เฉดมันไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ความแหลมคมก็มากขึ้น จากที่เราเคยต้องวนรถด่าทุกอาทิตย์ อาจจะต้องถอย บางจังหวะอาจจะต้องเงียบบ้าง”

“เพจ Meme Girls Thailand เป็นเพจสีชมพู ไม่ใช่เพจสีแดง สีส้ม สีน้ำเงิน เราจะ สนับสนุนบนหลักการ ไม่สนับสนุนบนพรรค และเราอยากเอามุกตลกเสียดสีอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจุดนั้น อำนาจกลับมาหาเจ้าของอำนาจคือ ประชาชน เพื่อไปกาว่าจะเลือกใครขึ้นครองอำนาจ นั่นแหละคือจุดที่เราทำได้อย่างเดียวคือ สนับสนุนให้ทุกคนออกไปใช้สิทธิ์” 

อิทธิพลของมีมกับการเมืองไม่ได้อยู่ในระดับการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ จากงานวิจัย ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน พ.ศ. 2563’ พบว่า มีมเป็นการซิงก์กันทางความคิดของคนรุ่นดิจิทัลเนทีฟ เมื่อพวกเขา ‘คิด’ กันเป็นมีมโดยปกติอยู่แล้ว พวกเขาก็นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากถอดแบบการเคลื่อนไหวแบบม็อบดาวกระจาย จะพบว่ามีลักษณะปรับตามบริบทและสถานการณ์ ซึ่งก็เหมือนกับการผลิตมีมที่ดึงป๊อปคัลเจอร์มาปรับให้ตรงกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

และต่อให้มีมนั้นๆ จะดึงมาจากเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม ทุกคนที่เสพก็ยังเข้าใจบริบท เพราะมีมประกอบด้วยองค์ความรู้บางอย่างที่เชื่อมต่อและประสานกัน ทำให้เข้าใจการสื่อสารมีมที่พูดเรื่องการเมืองนั้นๆ ได้

อยากชวนให้ลองดูคลิปมีมการเมืองใน TikTok ที่ดึงมาจากละครเรื่องเกมริษยา แม้คุณไม่เคยรู้เนื้อหาละครนี้มาก่อน และอาจจะไม่อินกับตัวละคร แต่คุณก็สามารถเข้าใจบริบทที่ผู้ผลิตต้องการนำมาสื่อสารทางการเมืองได้

TikTok ภาษาใหม่โลกการเมือง?

‘ซ่อมป้าย’ ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลก TikTok เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิดีโอสั้นว่าด้วยการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นไวรัล ทั้งคลิป ‘แต่งหน้าจนกว่าจะได้นายกฯ คนที่ 30’ (ซึ่งส่วนใหญ่จะรอให้ฟิลเตอร์แรนดอมภาพพิธาขึ้นมา ไม่ว่าตอนนั้นจะแต่งหน้าเสร็จหรือไม่) หรือการเดินก้าวขายาวๆ เพื่อบอกว่าตัวเองเลือกพรรคอะไร จนทำให้หลานคนตื่นตาตื่นใจกับ TikTok ที่อุดมไปด้วยคอนเทนต์การเมือง

“TikTok เป็นพื้นที่ที่ผมคาดไม่ถึงเลยว่าจะมีเรื่องการเมือง” สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมืองพูดด้วยสีหน้าตื่นเต้น “เมื่อก่อนผมมีปัญหากับ TikTok มาก ทำให้ช่วงแรกผมไม่สนใจเลย แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางการเมือง ทุกวันนี้ผมนั่งเฝ้า TikTok เลย” เขาหัวเราะให้กับตัวเอง

“พื้นที่นี้มีราคาเกมคู่ควรพอที่เราจะไปเสียเวลา แล้วเหลือเชื่อมากๆ ที่มันมีอิทธิพลสูงมาก คนไทยใน TikTok นี่ก็มีความครีเอทีฟสูง หลายคลิปกวนๆ มากเลยนะ ผมรู้สึกว่าเรื่องความตลก คนไทยไม่ธรรมดา เราเป็นประเทศที่สร้างคอนเทนต์ความคิดสร้างสรรค์อะไรแบบนี้ได้ดี” บ.ก. ลายจุดบอกเหตุผลที่ทำให้ต้องตามติด TikTok 

“จริงๆ TikTok เป็นสื่อที่ควรจะให้คนธรรมดาเล่น พรรคไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนบทสนทนา คนอยากจะเข้ามาเล่นเอง มาสร้างแฮชแท็ก สร้างคอนเทนต์เอง ในช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร แต่มีไม่กี่พรรคที่เข้ามาใช้งาน TikTok เพราะหลายคนไม่เข้าใจว่าคัลเจอร์ TikTok ต่างจากทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กยังไง” เอมตั้งข้อสังเกตจากการติดตามดูบทบาทของ TikTok ในการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเข้ามามีอิทธิพลต่อกระแสของพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งอย่างมาก

จากความเห็นของเอมตรงกับประสบการณ์ของ ‘พลอยอลิซ ช่อเทียม’ หนึ่งในผู้ใช้งาน TikTok ที่สื่อสารเรื่องการเมืองจนมีชาวเน็ตมาคอมเมนต์ให้ว่าเธอพูดเก่งเหมือน ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกลในขณะนั้น จนเธอรับบทบาทเป็น ‘ช่อเทียม’ รวมแกงค์กับ ‘ธนาเทียม’ และ ‘พิเทียม’ ในที่สุด

“เริ่มแรกเราเป็นคนธรรมดาที่ติดตามการเมืองเลยค่ะ ปกติก็เป็นนางด่านางฉอดในทวิตเตอร์อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ทวิตเตอร์มันเป็นข้อความแล้วใส่ลงไปได้สั้นๆ ซึ่งทำให้สื่อสารคลาดเคลื่อนได้ง่าย พอมาเล่น TikTok มันก็เป็นวิดีโอ เป็นภาพ แล้วใส่เพลง ใส่เสียงประกอบเข้าไปได้อีก ทำให้ไม่น่าเบื่อเหมือนอ่านข้อความ เราคิดว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้คนดู TikTok มากขึ้น” พลอยอลิซ มองว่าก่อนหน้านี้คนเข้ามาเล่นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นนี้เยอะมาก และอิทธิพลของ TikTok ก็สูงด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว สังเกตได้จากการมีผลต่อการตัดสินใจ ‘ซื้อ-ขายสินค้า’ ของคนใช้งานแพลตฟอร์มนี้

ส่วนในเนื้อหาเรื่องการเมือง พลอยอลิซติดตามพรรคนี้มาตั้งแต่ยังเป็น ‘อนาคตใหม่’ แล้ว และเมื่อเลือกตั้งรอบนี้ใกล้เข้ามา เธอยังคงชื่นชอบแนวทางพรรคอยู่ จึงถ่ายคลิปป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกลลง TikTok เพื่อพูดถึงการติดป้ายที่ไม่รบกวนทางเดิน คลิปนั้นมีผู้ชม 2.2 ล้านคน และคนเข้ามาคอมเมนต์ 700 กว่าคน

“ตอนแรกแค่เอาคลิปคุณทิม คุณธนาธรมาลง ยังไม่เคยเปิดหน้า แล้วพอถ่ายป้ายหาเสียงแบบง่ายๆ คนมาดูเยอะมาก ตอนนั้นคนใน TikTok ก็เริ่มถ่ายป้ายหาเสียงก้าวไกลแล้ว เพราะว่าพรรคนี้ขึ้นชื่อในเรื่องป้ายหาเสียงน้อย ใครเจอก็ถ่ายกัน” พลอยอลิซย้อนเล่าจุดเริ่มต้น 

“ตอนหลังทิศทางการเมืองบลัฟกันไปมาเยอะมาก มีคนบอกว่าเลือกก้าวไกลคะแนนจะเทลงน้ำ ตอนนั้นทนไม่ไหว ก็เลยอัดหน้าตัวเองพูดลง TikTok เพราะถ้าพิมพ์อย่างเดียวในกรอบสี่เหลี่ยม มันไม่พอ และอาจทำให้สารเราบิดเบี้ยว แล้วพอลงก็เริ่มมีคนมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีคนเห็นด้วยในสิ่งที่เราพูด เข้าใจในสิ่งที่เราพูดมากขึ้น มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าหรือว่ามันเวิร์ก” ต่อจากนั้นก็เริ่มมีคนมาทักว่าเธอเป็น ‘ช่อเทียม’ จากการที่เธอวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการเมืองในขณะนั้นได้ถึงพริกถึงขิงแบบพรรณิการ์

“ไม่เคยคิดเลยค่ะว่าตัวเองจะได้มาทำคอนเทนต์สนับสนุนพรรคการเมือง เมื่อก่อนการพูดเรื่องการเมืองเป็นเรื่องยาก แต่พอมาปัจจุบันมีแพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้น กลายเป็นว่าทุกคนสามารถที่จะพูดความคิดเห็นส่วนตัวได้  แม้กระทั่งการทำคลิป เอาดิจิทัลฟุตปรินต์ที่ทุกคนจะเห็นมาย้อนดูกันอย่างง่ายดาย แพลตฟอร์มทำให้คนมีอิสระที่จะสร้างสรรค์และพูดการเมืองได้เต็มที่”    

พลอยอลิซเล่าบริบท TikTok ในช่วงเลือกตั้งให้ฟังว่า มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่นำคลิปการทำงานการเมืองของพรรคก้าวไกลมาผลิตซ้ำด้วยการใส่ข้อความ ใส่เพลง และถ้าหากใครดูอะไรซ้ำๆ อัลกอริทึมก็จะส่งเนื้อหาที่คล้ายๆ กันมาให้ “มันเป็นการตะโกนให้คนเลือกพรรคก้าวไกลได้โดยที่ไม่ต้องตั้งป้ายหาเสียงให้เยอะเลยด้วยซ้ำ” เธอว่า

แต่ TikTok ไม่ได้มีเนื้อหาแค่คลิปพรรคก้าวไกลหรือพิธาฟีเวอร์ หลังเลือกตั้งมานี้ มีการผลิตมีมวิดีโอและนำเอาเนื้อหาวิเคราะห์ทางการเมืองเผยแพร่ใน TikTok จำนวนมาก แม้ก่อนหน้านี้คนจะมีภาพจำว่าแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นจะเต็มไปด้วยความบันเทิง ณ ปัจจุบัน ยอดคนติดตามคลิปสั้นสรุปประเด็นทางการเมืองมียอดผู้ชมและยอดเอนเกจไม่ต่างกับคลิปบันเทิงเลย

“ผมว่า TikTok มันสั้น กระชับ และฮุกเข้าประเด็นเลย มันถูกซอยเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กินง่าย ทำให้เราไม่ต้องฟังการปราศรัยยาวแบบ 15 นาทีถึง 30 นาที เราฟังเขาเพียงแค่ท่อนฮุกเข้าประมาณสักนาทีหรือ 30 วินาที ซึ่งอาจจะดึงมาจากจุดที่ดีที่สุดของการฟังครึ่งชั่วโมง” สมบัติตั้งข้อสังเกตจากการติดตาม TikTok

“แต่ว่าก็มีจุดอ่อน เพราะการอธิบายเรื่องบางเรื่องก็ต้องอาศัยความต่อเนื่อง เสวนาบางอย่างปูเรื่องกันยาวเพื่อจะลำดับเหตุการณ์ แต่เมื่อถูกตัดมาแค่ท่อนฮุกแรงๆ ฟังแล้วก็ซี้ด รับรู้ถึงพลังอารมณ์ที่สาดเข้ามา แต่อาจจะเข้าใจผิดบริบทหรือตรรกะหลายๆ อย่าง” 

ในสายตาของสุรัชนี การติดตามประเด็นหรือเนื้อหาการเมืองบางอย่างผ่าน TikTok เป็นเรื่องน่ากังวล ยิ่งมีรายงานว่าปัจจุบันคนไทยติดตามข่าวผ่านคลิปขนาดสั้นในแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น อาจทำให้สารบางอย่างคลาดเคลื่อนหรือสร้างการรับรู้ที่ไม่ครอบคลุมกับเนื้อหาทั้งหมดได้

“การติดตามคลิปสั้นๆ ใน TikTok ค่อนข้างจะ fact check ได้ยากมากเลยว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แล้วทุกอย่างผ่านตาคุณภาย ใน 30 วินาที อาจจะทำให้เราได้รับข้อมูลไม่เห็นบริบท ไม่เห็นภาพกว้างทั้งหมด แต่หลายคนก็เชื่อไปแล้ว”

ถ้าโซเชียลมีเดียคือ game changer การเมืองไทย แล้วเราจะทำความเข้าใจการเมืองบนข้อจำกัดของเทคโนโลยีอย่างไร

จากทศวรรษที่เต็มไปด้วยการพลิกขั้วทางการเมือง และปรากฏการณ์ใหม่ๆ จากอิทธิพลบนโลกออนไลน์ หากสรุปมองพลวัตที่เราย้อนดูดิจิทัลฟุตปรินต์กันมาทั้งหมดนี้ เอมเชื่อว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้วัฒนธรรมการเมืองในสังคมไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมหาศาล และยังอยู่ในจุดที่ดีในทางการเมืองที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้แบบชั่วข้ามคืน

“เราเห็นชัดว่าคนสนใจการเมืองมากขึ้น คนมีองค์ความรู้เรื่องการเมืองมากขึ้น แล้วเห็นได้ชัดว่าคนเริ่มแคร์เรื่องนโยบายในช่วงเลือกตั้งมากขึ้น อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่จริงๆ ใช้ เวลานาน กว่าจะเปลี่ยนคัลเจอร์เหล่านี้ได้ ถ้าเทียบกับตอนไม่มีอินเทอร์เน็ต กว่าเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองเหล่านี้ได้ ใช้เวลานานมาก

“นั่นแสดงว่าสื่อโซเชียลทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เร็วขึ้นเยอะ คนพูดคุยกันในเรื่องที่ปกติคนไม่ได้พูดคุยกัน ทำให้คนคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอื่นทางสังคมที่ค่อนข้างไปในทางก้าวหน้า อย่างเช่น เรื่อง LGBTQ, climate change หรือแม้กระทั่งว่าเรื่องกัญชา” 

สมบัติเห็นตรงกันกับเอม ในฐานะคนที่จัดกิจกรรมทางการเมืองมาร่วมทศวรรษ เขามองว่า การเมืองบนโลกออนไลน์มีส่วนช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในโลกออฟไลน์อย่างมาก หลายครั้งปฏิกิริยาในออนไลน์ก็มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะถ้าหากมี ‘ทัวร์ลง’ ยิ่งทำให้ทิศทางการเมืองเปลี่ยนไป แต่บางครั้งก็สร้างข้อจำกัดให้คนที่อาจจะเห็นต่างกับชาวเน็ตไม่กล้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ไม่มีคนกล้าเห็นแย้งกับมวลชน

“อย่างกรณี #มีกรณ์ไม่มีกู นี่เห็นชัดมากว่า ถ้ามีคนทำงานหน้างาน มองเห็นข้อจำกัดทางการเมืองแล้วเห็นต่างจากมวลชนจะลุกขึ้นมาโต้แย้งยังไง ซึ่งผมคิดว่าถ้าหากคุณมีเหตุผลยืนยันชัดเจน คุณสามารถที่จะออกมาพูดได้ คนทำงานต้องมีความกล้าหาญ โดยเฉพาะในภาวะบางช่วงบางตอนที่กระแสผิดทิศผิดทางหรือสังคมอาจจะมองไม่เห็นในบางมิติ ปัญญาชนหรือฝ่ายการเมืองที่มองเห็นรายละเอียดในเรื่องนั้นๆ ควรจะมีความกล้าหาญที่จะพูดหรือทวนกระแสออกมาได้” 

ในแง่ของความเปลี่ยนแปลง สำหรับสุรัชนีมองว่า แม้เราไม่สามารถปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงได้จริง เพราะโซเชียลมีเดียทำให้ ‘การขับเคลื่อนด้วยการด่า’ ยังคงมีอิทธิพลอยู่ แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเล็ก เพราะสุดท้ายแล้ว ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อยู่

“การมีส่วนร่วมของประชาชนบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องดี แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกปัญหาที่แก้ไข หลายปัญหาอยู่บนข้อจำกัด ถ้าเราดูกันจริงๆ ประเด็นที่ถูกแก้ไข คือประเด็นเล็กๆ ยิบย่อยมาก เมื่อเทียบกับประเด็น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ ซึ่งยังต้องอาศัยกลไกภาครัฐและการเมืองอยู่” 

สมบัติก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ไม่ใช่ทุกเรื่องที่โซเชียลมีเดียจะมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะในทางหนึ่ง ความสะดวกของเทคโนโลยีก็ส่งผลให้ประเด็นทางการเมืองหมุนไปไวมาก จนทำให้คนหลุดโฟกัสในเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนแปลง เพราะมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาให้ถกเถียงอยู่เรื่อยๆ

“มันเหมือนไปไม่สุดกับสักอย่าง ผมก็ไม่แน่ใจว่าขาดอะไรนะ หรือเราจะต้องมีคนที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาติดตามปัญหานั้นๆ จนกว่าจะเกิดการแก้ไข มันก็จะมีเจ้าภาพที่คอยอัปเดตฐานข้อมูลและสถานการณ์อยู่ แต่มันก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะต้องทำงานเป็นองค์กรเลย” เขาให้ความเห็น

แต่ท่ามกลางประเด็นอันหลากหลายเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน คงไม่พ้นอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มที่สร้างเอคโคแชมเบอร์ให้เราเข้าใจว่าโลกความเป็นจริงเป็นอย่างที่เราเห็นในหน้าฟีดข่าว 

“มันส่งผลต่อการแบ่งขั้วทางการเมือง เพราะเมื่อเราเสพแต่สิ่งที่เราชอบ อัลกอริทึมที่เขาสร้างขึ้นมาก็ป้อนแต่ข้อมูลนั้นจนเราตกอยู่ใน filter bubble ที่ไม่รับความเห็นต่าง” สุรัชนีพูดขึ้น “ในเมื่อเราต้องการอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยคือการยอมรับความเห็นต่าง การอยู่ในเอคโคแชมเบอร์นี้ก็จะขัดกับหลักประชาธิปไตยแล้ว” 

“และยังไม่นับว่าในสังคมออนไลน์ยังมีข่าวปลอมอะไรต่างๆ ออกมาด้วยแล้ว การเป็น active citizen เป็นเรื่องดี แต่เราก็จะต้องตระหนักรู้และเป็น active citizen ในอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพด้วย” 

ในฐานะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียติดตามการเมือง พลอยอลิซ ช่อเทียมยอมรับว่าตระหนักในปัญหาอัลกอริทึมและข่าวปลอมที่เกิดขึ้นได้ง่ายในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการเมือง เธอจึงมองว่าต้องมีวิธีการรับมือและตรวจสอบข่าวสารตลอดเวลาเพื่อไม่เข้าใจข้อมูลผิดๆ ได้ง่าย

“เวลาใครบอกว่าเรากำลังถูกพรรคก้าวไกลล้างสมองหรือเปล่า เราจะบอกว่า คุณคะ บ้านดิฉันมีเน็ต ฉะนั้น มีข่าวอะไรมา เราเช็กสำนักข่าวหลายๆ สำนัก เพราะแต่ละสำนักก็เขียนข่าวไม่เหมือนกัน เราต้องหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้”

ส่วนเอมมองว่าในอนาคตการเมืองไทยบนโลกออนไลน์อาจจะเจอความท้าทายเพิ่มมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น deep fake, AI หรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดข่าวปลอมได้ง่าย บวกรวมกับการต่อสู้กับอัลกอริทึมที่มีอยู่แล้ว สังคมไทยจึงต้องสร้างองค์ความรู้ของการรู้เท่าทันสื่อให้มากยิ่งขึ้น และต้องสร้างวัฒนธรรมในการรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารในออนไลน์มากขึ้น

“เราพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียในแง่ดีกันมาทั้งหมดนี้ เพราะเราคิดว่าท่ามกลางเฟกนิวส์ หรืออัลกอริทึมตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียก็มีส่วนช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยให้ประเทศเราอยู่ แต่ในทางหนึ่ง เราก็ต้องตระหนักรู้ด้วยว่า เราไม่ควรปล่อยให้อัลกอริทึมควบคุมเรา หรือคิดไปเองว่าโลกมันเป็นแบบนี้

“เพราะสิ่งที่เราคิดว่ายังเป็นแนวคิดที่ยังอยู่ในรอบ 10 ปีมานี้คือ โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่สร้างและล้มประชาธิปไตยได้ในเวลาเดียวกัน เพราะมันคือสื่อที่คนเข้ามาขับเคลื่อนแนวความคิดและจุดกระแสของตัวเองได้

“ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นผู้ใช้โซเชียล ต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม เราไม่ควรปล่อยให้แพลตฟอร์มทำอะไรแทนเรา เรามีพาวเวอร์ที่จะทำให้อัลกอริทึมมันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สร้างบริบทการเมืองออนไลน์ที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ ไม่เคยไปไลก์กลุ่มไหนที่เห็นต่าง ลองเข้าไปดู เข้าไปทำความเข้าใจความคิดเหล่านั้น เราต้องเล่นเกมอัลกอริทึมด้วย ไม่งั้นก็ปล่อยให้แพลตฟอร์มล้างสมองเราจนไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์เลย” 

References
1 Opposing Democracy in Digital Age, Aim Sinpeng, 155-157p.
2 Thailand moves forward in social media election, Aim Sinpeng, (2023), eastasiaforum.org

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save