fbpx

ค่าจ้างขั้นต่ำกับคุณภาพความเป็นคน

เห็นการประกาศขึ้น ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ (ที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง) ทีไร ผมมักสงสัยทุกทีไป ว่าทำไม ‘แรงงาน’ ที่มีชีวิตอยู่ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงไม่เคยได้รับการขึ้นค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อ ทั้งที่นั่นคือเรื่องที่ควรจะเป็น ถ้าหากเรายังอยากให้แรงงานเหล่านั้นมีชีวิตที่ ‘ได้มาตรฐาน’ สมคุณค่าความเป็นคน

แรงงานที่อาศัยค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะเป็นสายพันธุ์มนุษย์เดียวก็ว่าได้ ที่มีชีวิตอยู่ด้วยการ ‘รอ’ ประกาศจากภาครัฐ ว่าพวกเขาจะได้รายได้ในแต่ละวันเท่าไหร่ แถมถ้าวันไหนจำเป็นต้องหยุดงาน ไม่ว่าจะเพราะป่วยหรือมีกิจธุระจำเป็น ก็ต้องขาดรายได้เหล่านั้นไปอย่างช่วยไม่ได้ ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลายได้รับรายได้เป็นรายเดือน มีการขึ้นเงินเดือนทุกปี ได้รับโบนัสเพิ่มในกรณีที่บริษัททำกำไรดี (ยกเว้นบางบริษัทที่ ‘นิสัยไม่ดี’ มีผู้บริหารโลภจนเห็นเงินอยู่เหนือความเป็นมนุษย์) และมีการจัดสรรวันลาหยุดโดยได้รับรายได้ด้วย

ถ้าว่าโดยหลักการแล้ว อย่างน้อยที่สุดเงินเดือนหรือรายได้ต้องขึ้นเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ เพราะถ้าต่ำกว่านั้น ก็แปลว่า ‘มูลค่า’ ของเงินเดือนลดต่ำลง เนื่องจากจะทำให้ ‘อำนาจซื้อ’ ของเงินเดือนนั้นน้อยลงกว่าที่เคยมี คือได้เงินเท่าเดิม แต่ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ปริมาณน้อยลง อะไรทำนองนั้น

การขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ดูเผินๆ แล้วเป็นเศรษฐศาสตร์ ‘จุลภาค’ แต่ที่จริง ยังมีผลในทาง ‘มหภาค’ ด้วย เพราะพอคนมีเงิน (ตามที่ควรจะมี) ก็จะไปกระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้เงินไหลเวียนไปเป็นรอบๆ ดังนั้น เหล่านายจ้างนายทุนที่เป็นผู้จ่ายเงินเดือน สุดท้ายก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนในภาพใหญ่ตามไปด้วย

ส่วนในแง่สังคม การขึ้นเงินเดือนตามอัตราเงินเฟ้อ คือการสร้างความ ‘เป็นธรรม’ ในการจ้างงาน เพราะแรงงานควรได้รับผลตอบแทนที่สะท้อนต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แถมยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานและรักษาบุคลากรเอาไว้อีกต่างหาก

แต่ดูเหมือนเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับแรงงานที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วย ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ในประเทศไทยสักเท่าไหร่!

คล้ายกับว่า พอเราเห็นคำว่า ‘ต่ำ’ ใน ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ มโนสำนึกของเราคิดได้แต่เพียง ‘ความต่ำ’ หรือแม้กระทั่งการถูก ‘กด’ ให้ ‘ต่ำ’ โดยไม่ได้ย้อนกลับไปดูเลยว่า ‘ปรัชญาค่าจ้างขั้นต่ำ’ แท้จริงแล้วไม่เกี่ยวกับความต่ำของรายได้เลย ทว่าเป็นเรื่องของมโนธรรมสำนึกที่จะ ‘ดูแล’ กันและกันในฐานะมนุษย์ให้มีมาตรฐานความเป็นมนุษย์ที่ ‘ดีพอ’ ผ่านการรับประกัน ‘รายได้’ ขั้นต่ำต่างหาก

แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ (minimum wage) เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะแรงงานถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ คนจำนวนมากต้องทำงานที่รวมไปถึงงานเสี่ยงอันตรายวันละ 14-15 ชั่วโมง มีการใช้แรงงานเด็กโดยไม่มีวันหยุด แถมยังได้ค่าจ้างน้อยนิดจนแทบไม่เหลือสภาพความเป็นคน สภาพการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นทั้งในอังกฤษและในยุโรปกับคนผิวขาวยากจนทั่วไป จึงแทบไม่ต้องพูดถึงคนผิวสีหรือคนที่ตกอยู่ในสภาพของ ‘ทาส’ เลย ว่าจะย่ำแย่เลวร้ายสักแค่ไหน

แรงงานเหล่านี้ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ต้องทำงานหนักเป็นเวลานานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย แต่ได้ค่าจ้างต่ำมาก จึงเกิดการออกแบบ ‘นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ’ ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำเกินไปจนคนงานไม่สามารถดำรงชีพได้โดยมีคุณภาพชีวิตสมกับความเป็นคน

โดยรากฐานแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำจึงคือการ ‘ประกันรายได้’ อย่างที่ ‘มนุษย์’ พึงดูแล ‘มนุษย์’ ด้วยกันนั่นเอง!

ที่จริงแนวคิดนี้เกิดในอังกฤษตั้งแต่ยุคกลางแล้ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำยุคใหม่ ต้องบอกว่าเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในนิวซีแลนด์เมื่อปี 1894 ตามมาด้วยออสเตรเลียในปี 1896 ส่วนสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้นโยบายนี้ในทศวรรษ 1930

ส่วนประเทศไทยของเรา กว่าจะเริ่มใช้อย่างจริงจัง ก็เมื่อปี 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103  แต่ก็ต้องบอกด้วยว่า มี ‘แนวคิด’ เรื่องการ ‘จัดการ’ กับแรงงานมานานแล้วนะครับ โดยเฉพาะในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อเนื่องกับยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเกิดพระราชบัญญัติแรงงานฉบับแรกขึ้นในปี 2500 แต่โดยความมุ่งหมายยุคนั้น ต้องถือว่ากฎหมายแรงงานยุคแรกๆ คือกฎหมายเกี่ยวกับ ‘ความสงบเรียบร้อย’ ของประชาชนมากกว่าจะเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพของแรงงาน (โปรดอย่าลืมว่ายุคนั้นเริ่มมีความกลัวอย่างแรงกล้าเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์จะเข้ามา ‘จัดตั้ง’ ในหมู่แรงงานด้วย)

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ ‘มีอำนาจ’ ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยตั้งคณะกรรมการค่าจ้างขึ้นมาพิจารณา และกำหนดว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเท่าไหร่ในพื้นที่ไหนบ้าง ในปี 2536 ได้โอนงานนี้ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแทน ทว่า ‘วิธีการ’ ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐอาจร่วมกับตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างจนเกิดเป็นการเจรจาแบบ ‘ไตรภาคี’ ขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่มีอำนาจประกาศ – ก็คือรัฐนั่นเอง

แต่คำถามก็คือ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ต้องเป็นไปตามการประกาศของ ‘ผู้มีอำนาจ’ (ในกรณีนี้คือรัฐ) เพียงอย่างเดียวเสมอไปหรือเปล่า

คำตอบคือไม่ใช่!

ในหลายประเทศ มีกลไกในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแบบที่เรียกว่าเป็นไปตาม ‘ดัชนีค่าครองชีพ’ (cost of living index) เช่น ถ้าค่าก๋วยเตี๋ยวปรับขึ้น ค่าแรงก็ควรจะต้องปรับขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แม้จะไม่ถึงขั้นปรับแบบ ‘อัตโนมัติ’ ก็ตาม ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศสมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำโดยอิงกับดัชนีค่าครองชีพและดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) อย่างจริงจัง ทำให้เกิดการ ‘ปรับ’ ค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุดก็คือทุกๆ ปี ในวันที่ 1 มกราคม โดยการปรับครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมานี้ เป็นการปรับครั้งที่ 8 ในรอบ 3 ปี แปลว่ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ‘บ่อย’ มากกว่าที่กำหนดด้วยซ้ำ

ถี่กว่านั้นก็คือเนเธอร์แลนด์ เพราะจะมีการ ‘ทบทวน’ และ ‘ปรับ’ ค่าจ้างขั้นต่ำกันปีละสองครั้ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือปรับกันทุก 6 เดือน โดยจะพิจารณาจากการเจรจาต่อรองร่วมในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ลักเซมเบิร์ก มอลตา หรือแม้กระทั่งในประเทศที่พูดได้ว่าเป็น ‘ทุนนิยม’ สุดขั้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ก็มีถึง 13 รัฐ ที่ผูกค่าจ้างขั้นต่ำเข้ากับอัตราเงินเฟ้อ เช่น รัฐเมน มินนิโซตา นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก โอเรกอน อะแลสกา แอริโซนา

มีผู้วิเคราะห์ว่า ที่ประเทศเหล่านี้สามารถปรับค่าแรงตามเงินเฟ้อได้ เนื่องจากมีการสร้างฉันทามติทางการเมือง ผ่านการผลักดันจากประชาชน สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองบางพรรค จนเกิดการออกกฎหมายบังคับให้ปรับค่าแรงตามดัชนีค่าครองชีพ แต่ที่สำคัญก็คือ ‘ภาคธุรกิจ’ เองให้การยอมรับเพราะเห็นว่าการปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในระยะยาว ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘จุลภาค’ ผ่านการมองด้วยวิสัยทัศน์แบบ ‘สายตาสั้น’ แต่คือเรื่อง ‘มหภาค’ ที่หากมองในภาพใหญ่ระยะยาวแล้ว จะช่วยให้แรงงานมีกำลังซื้อและหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังมักมีการบริหารแบบใช้ ‘ข้อมูล’ มาเป็นตัวกำหนด (คือมี data-driven policy) โดยเก็บข้อมูลทางสถิติอย่างมีประสิทธิภาพและนำมาวิเคราะห์จริงจังตามการคำนวณในทางเศรษฐศาสตร์ จึงนำข้อมูลมาใช้อ้างอิงเพื่อปรับค่าแรงได้อย่างแม่นยำ

เขียนมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าประเทศไทยไม่ได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจากดัชนีค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อหรืออย่างไร จริงๆ ต้องบอกว่า คณะกรรมการค่าจ้างของไทยเรานั้นทำงานหนักนะครับ เพราะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เยอะมาก มีตั้งแต่ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ไปจนถึงผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) แล้วก็ดูเทียบไปถึง GDP สภาพการทำงาน คุณภาพชีวิตชั้นพื้นฐานของลูกจ้าง รวมไปถึงความสามารถในการจ่ายของนายจ้างด้วย เรียกว่ามาตรฐานในการพิจารณาของเราไม่ได้แพ้ชาติอื่นหรอก

แต่พอมาพิจารณาดู ‘ประวัติศาสตร์ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ของไทย เราจะเห็นเลยนะครับว่า  ‘ความถี่’ ในการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นน้อยมาก น้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะถ้าเทียบกับดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ จนอดเกิดคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า ผู้มีอำนาจทุกยุคสมัยอยาก ‘กั๊ก’ ค่าจ้างขั้นต่ำเอาไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่าหนอ

ย้อนกลับไปในอดีต วาเลนไทน์ปี 2516 คือวันที่มีการประกาศกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งแรก ตอนนั้นกำหนดไว้ที่ 12 บาท โดยกำหนดแค่ในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่ผ่านไปไม่นาน คือราวแปดเดือนเศษ ก็ต้องขยับปรับใหม่เป็น 16 บาท แล้วก็ขึ้นมาเป็น 20 บาท พร้อมกับขยายพื้นที่ให้กว้างขวางครอบคลุมขึ้น

หลังจากนั้น มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาเรื่อยๆ สูงบ้างต่ำบ้าง เช่น ปี 2524 เพิ่มขึ้นเป็น 51 บาท (ตัวเลขนี้และต่อไปนี้เฉพาะกรุงเทพฯ นะครับ), ปี 2535 เป็น 100 บาท, ปี 2540 เป็น 145 บาท, ปี 2545 เป็น 165 บาท, ปี 2550 เป็น 184 บาท แต่พอมาถึงปี 2555 ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เกิดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบ ‘ก้าวกระโดด’ ตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้เป็นครั้งแรก คือกระโดดขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้า กล้าหาญ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะนี่คือการปรับขึ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่หลังจากนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็กลับมาเป็นแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ เหมือนเดิม (คือพูดได้ว่าแทบไม่เพิ่มเลยก็เห็นจะได้) เช่น พอมาถึงปี 2560 แล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308-330 บาท, ปี 2562 อยู่ที่ 313-336 บาท ยิ่งพอมาเจอสภาวะโควิดก็เลยไม่มีการปรับขึ้นอยู่หลายปี มาในปีล่าสุด ค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ ‘แพง’ ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 370 บาท และเพิ่งมีประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในกิจการโรงแรม (เฉพาะโรงแรมสี่ดาวขึ้นไป) ในสิบจังหวัดท่องเที่ยวแบบ ‘เฉพาะเขต’ ให้เป็น 400 บาท

ดังนั้น เมื่อดูโดยภาพรวม จะเห็นได้เลยว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้น มักจะเกิดขึ้นตาม ‘นโยบาย’ ของรัฐบาลที่เกิดจากการหาเสียง แล้วเอาไปผสมกับการ ‘เจรจา’ (แบบไตรภาคี คือระหว่างรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) เป็นครั้งๆ ไป แต่ไม่เคยเกิดความพยายามจะ ‘ใช้’ หลักเกณฑ์อ้างอิงถาวรเพื่อให้เกิดการปรับโดยอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ (เช่น การอิงกับอัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีค่าครองชีพ) ผลก็คือเราจะเห็นได้ชัดเลยว่า รายได้ของคนทำงานระดับล่างนั้น ‘ตามไม่ทัน’ กับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าย้อนกลับไปดูราคาทองคำช่วงก่อนปี 2516 (ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 416-451 บาทมานานหลายปี ก่อนจะพุ่งขึ้นในปี 2515 เป็น 576 บาท และในปี 2516 เป็น 912 บาท) เทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 12-16 บาทต่อวัน เราจะพบว่าต้องทำงาน 33-56 วัน (แล้วแต่ว่าเป็นปีไหน) ถึงจะเก็บเงินซื้อทองได้หนึ่งบาท

พอมาถึงยุคพลเอกเปรม (2524) ค่าจ้างขั้นต่ำคือ 51 บาท ราคาทองคำพุ่งไปอยู่ที่ประมาณบาทละ 3,000 บาท เราต้องทำงานเพิ่มเป็น 59 วันเพื่อซื้อทองคำหนึ่งบาท

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2555) (ที่มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แบบก้าวกระโดดแล้วนะครับ) ค่าแรงอยู่ที่ 300 บาท แต่ราคาทองคำถีบตัวไปอยู่ที่ราว 24,500 บาท ก็แปลว่าเราต้องทำงานเพิ่มเป็น 82 วัน เพื่อจะซื้อทองได้หนึ่งบาท

พอมายุคปัจจุบัน คิดเป็นค่าแรงสูงสุดที่ 400 บาทไปเลย และให้ราคาทองคำอยู่ที่ 38,000 บาท พบว่าเราต้องทำงานถึง 95 วัน เพื่อจะซื้อทองได้หนึ่งบาท

ถ้าพูดแบบหยาบๆ ก็คือ ย้อนกลับไปราวปี 2516 ทำงานด้วยค่าจ้างขั้นต่ำหนึ่งเดือน ได้ทองหนึ่งบาท แต่พอมาถึงปี 2567 (ซึ่งมนุษย์ควรจะพัฒนาขึ้นทุกวิถีทาง) กลับปรากฏว่าต้องทำงานด้วยค่าจ้างขั้นต่ำถึงกว่าสามเดือน จึงจะเก็บเงินซื้อทองได้หนึ่งบาท แปลว่าเราต้องทำงาน ‘หนัก’ ขึ้นกว่าในอดีต เพียงเพื่อจะให้ได้สิ่งของที่มีมูลค่าเท่ากัน

ภาพที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แถมไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำธรรมดาชั่วครู่ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ต้องเรียกว่าเป็น ‘ความเหลื่อมล้ำสะสม’ อันยาวนานทับถมกันมาเป็นสิบๆ ปี แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะพยายามแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดแล้ว แต่เราจะเห็นได้เลยว่ามันยังไม่ ‘ทัน’ และ ‘เพียงพอ’ ต่อความร้ายแรงของปัญหา ทั้งนี้ก็เพราะความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมัน ‘สะสม’ มานานมากจนกลายเป็นอาการเรื้อรังไปแล้ว

หลายประเทศและหลายเมืองเปลี่ยนมุมมองและปรัชญาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไม่ได้มองค่าจ้างขั้นต่ำแค่ในมุมเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่มองในเชิงสังคม ปรัชญา และความเป็นมนุษย์ด้วย จึงเกิดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการชดเชย ‘ความเหลื่อมล้ำสะสม’ เช่น สหราชอาณาจักรปรับค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ (national living wage) สำหรับแรงงานอายุ 25 ปีขึ้นไป เป็นชั่วโมงละ 9.50 ปอนด์ในปี 2022 นั่นคือเพิ่มขึ้นกว่า 30% นับตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายนี้ในปี 2016 หรือในเกาหลีใต้ ก็มีการประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 9,620 วอนในปี 2023 ซึ่งสูงขึ้น 5% จากปีก่อน และเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะให้ค่าจ้างขั้นต่ำชั่วโมงละ 10,000 วอนในปี 2025 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เราอาจตอบได้ยาก ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมอื่นๆ มาจากไหน แต่ถ้าเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หลายคนวิเคราะห์ว่าความเหลื่อมล้ำนี้ ‘ฝังลึก’ อยู่ในแนวคิดและการให้คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมแบบ ‘ไทยๆ’ ที่มีลักษณะอำนาจนิยมและชนชั้นนิยมนี่แหละครับ

ในหนังสือ ‘เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ’ ของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร มีอยู่หลายตอนที่ ‘บอก’ เราว่า ปัญหาเรื่องการเอารัดเอาเปรียบแรงงานของไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่เกี่ยวพันไปถึงระบบสะสมทุนแบบ ‘ศักดินา’ ที่กินเวลายาวนานจนฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรม

ถ้าเราไปดูภาพจำลองของ ‘ทุนนิยม’ ในตำราเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ทั่วไป เราจะเห็นชัดเลยว่าใช้อธิบายทุนนิยมในสังคมไทยได้ยาก เพราะทุนนิยมไทยมีพัฒนาการมาจากระบบศักดินาที่เน้นการ ‘สะสมทุน’ ผ่านการผูกขาดอำนาจรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ตระกูลไหนเป็นเจ้าภาษีนายอากร มาจนถึงการให้สัมปทานป่าไม้ อบายมุข จนกระทั่งถึงเรื่องพลังงาน กลุ่มทุนใหญ่ในไทยจึง ‘คุ้นเคย’ กับการได้รับการส่งเสริม ‘พิเศษ’ เหนือกว่าคนกลุ่มอื่นทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีรากความคิดแบบเดียวกับสังคมดั้งเดิมที่ผู้มีอำนาจจะยกผลประโยชน์บางส่วนให้กับคนที่ผู้มีอำนาจโปรดปราน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงแปลความได้ว่าทุนนิยมแบบไทยๆ นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการ ‘แข่งขัน’ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมที่ฐานรากสักเท่าไหร่ แต่มักต้อง ‘มุ่งเน้น’ ไปที่การสร้างสายสัมพันธ์ (หรือคอนเน็คชั่น) กับ ‘อำนาจ’ มากกว่า เพราะฉะนั้น แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่บอกว่ารัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงตลาด แต่ปล่อยให้ตลาดแข่งขันกันไปอย่างเสรีและเท่าเทียมนั้น – ถ้าไม่หลอกตัวเองมากเกินไป ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้จริงเลยในสังคมธุรกิจไทย

และด้วยวิธีสะสมทุนแบบนี้นี่แหละครับ มันจึงเกิด ‘ช่วงชั้น’ ของการกดเหยียดกันมาเป็นลำดับ จากผู้มีอำนาจสู่เจ้าของทุน และเจ้าของทุนมาสู่แรงงาน วิธีสะสมทุนแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากถึงขั้น ‘จำเป็นต้อง’ เอาเปรียบแรงงาน เพราะด้านหนึ่งต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับตัวแทนของอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ จึงถูกเอาเปรียบมาแล้วชั้นหนึ่ง ผลก็คือต้องมา ‘เอาเปรียบ’ คนที่มีอำนาจน้อยกว่าตัวเองด้วยการ ‘กด’ กันลงมาเรื่อยๆ ค่าแรงและมาตรฐานชีวิตของคนงานที่อยู่สุดท้ายปลายน้ำจึงอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ ตลอดมา

อาจารย์ผาสุกบอกด้วยซ้ำนะครับ ว่าความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในปัจจุบันนั้น ที่จริงแล้วคือ ‘การปะทะกัน’ ของ ‘จารีตศักดินา’ กับ ‘แนวคิดสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่’ ซึ่งเป็นปัญหาที่ลึกลงไปในระดับวัฒนธรรม เรื่องนี้จริงๆ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะในไทยเท่านั้นนะครับ แต่เกิดทั่วโลกในหลายยุคสมัยด้วยหลายเหตุผล ใครสนใจเรื่องนี้ คุณเบเวอร์ลีย์ ซิลเวอร์ (Beverly Silver) จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ได้เขียนเอาไว้อย่างละเอียดในงานที่ชื่อ Forces of Labor

จะเห็นได้ว่า อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาที่สืบทอดมาถึงทุนนิยมไทยนั้น ได้สร้างวัฒนธรรมชนชั้นนำที่มีแนวโน้ม (และในหลายกรณีก็ถึงขั้นจำเป็นต้อง) เอาเปรียบแรงงาน รวมทั้งมองข้าม ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ของคนงาน จนทำให้กลไกตลาดแรงงานถูกบิดเบือนและไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานได้ เพราะการที่คนชั้นล่างจะลุกขึ้นมามีสิทธิเรียกร้องหรือมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อ ‘อำนาจ’ และ ‘สถานะ’ ของชนชั้นปกครองที่เคยได้เปรียบมาโดยตลอด แม้ไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย แต่ก็ ‘ฝังลึก’ อยู่ในทัศนคติของหลายๆ ฝ่าย (แม้แต่ฝ่ายลูกจ้างเองบางส่วน) จนสะท้อนออกมาเป็นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เราเห็นสภาพการยอมจำนนอยู่ในนั้น ทั้งนี้ก็เพราะเกิดการ ‘ยอมรับ’ ในทางอุดมการณ์แบบเดียวกันมาตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

หลายคนอาจจะมองว่า การเข้าไป ‘ยุ่ง’ กับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เท่ากับรัฐเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนโดยตรง จึงคล้ายขัดกับหลักการของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อเรื่องตลาดเสรีและการแข่งขัน โดยรัฐต้องเข้าไปมีบทบาทให้น้อยที่สุด แต่ในหลายกรณี รัฐก็ควรต้องเข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะถ้าตลาดแรงงานไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์ เพราะนายจ้างมีอำนาจต่อรองเหนือลูกจ้างมาก โดยอำนาจนั้นลึกลงไปถึงระดับอำนาจทางวัฒนธรรมที่มองไม่เห็น

ดังนั้น การสร้างมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำด้วยวิธีใหม่ โดยสร้างหลักเกณฑ์อ้างอิงที่สอดคล้องกับสภาพสังคมโดยรวมจริงๆ จึงไม่ได้มีเป้าหมายไปขัดขวางการแข่งขันทางการตลาดเสรีใดๆ แต่กลับกัน มันคือกลไกที่จะ ‘รื้อ’ รัฐที่ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้กับกลุ่มทุนตามสำนึกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมจนส่งผลให้เกิดการกดขี่แรงงานลง แล้วสร้างกลไกการแข่งขันใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงเป็นการส่งเสริม ‘เสรีนิยม’ ทางเศรษฐกิจในแบบที่ควรจะเป็นต่างหากเล่า

จะเห็นได้ว่า เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เกี่ยวพัน ‘ลึก’ ไปถึงการปฏิรูป ‘โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ’ หลายชั้นมาก โดยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียง ‘อาการหนึ่ง’ ของ ‘โรค’ ที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่เท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save