fbpx

‘คัลแลน-พี่จอง-น้องแดน’ : ปรากฏการณ์ความน่ารักแบบ ‘ชายแท้’ ในโลกอันท็อกซิก

ปรากฏการณ์ ‘คัลแลน-พี่จอง-น้องแดน’ หรือคลิปของชาวเกาหลี (อย่างน้อย) สามคนที่มาอยู่เมืองไทย แล้วตระเวนออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมืองหลังจากที่กรมอุทยานฯ ทาบทามให้พวกเขามาเป็นพรีเซนเตอร์การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติของไทย

ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูยูทูบชวนเที่ยวของคัลแลนมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ตอนเขาเริ่มทำคลิปใหม่ๆ และยังพูดเกาหลีในคลิปของตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าเป็นแฟนคลิปของคัลแลนมาตั้งแต่ต้น และเคยเสนอแนะให้บางหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ ชวนเขามาร่วมพูดคุยด้วยตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เพราะรู้สึกว่าเขาน่าจะมองเห็นอะไรต่อมิอะไรในเมืองไทยได้ด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป แต่กระนั้นก็ต้องออกตัวก่อนว่า – ไม่ได้ดูทุกตอนอย่างละเอียดลอออะไรนัก เพียงแต่เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้น จึงเห็นว่ามีแง่มุมหลายอย่างที่น่าพูดถึง

ในคลิปแรกๆ คัลแลนพูดถึงการเป็นคนเกาหลีที่มาอยู่เมืองไทย และค่อยๆ เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ทีละเล็กละน้อยใกล้ตัวก่อน ช่วงแรกๆ คลิปของคัลแลนเป็นเหมือน Vlog ธรรมดาๆ ที่ไม่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน มันเหมือน Vlog ของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ยังหาตัวเองไม่เจอ บางครั้งพาไปทดลองทำอะไรแปลกๆ เช่น ไปทำบิงซูในร้านอาหารเกาหลีที่เมืองไทย ไปนั่งเรือเล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา ไปเที่ยวตลาดนัด และบางครั้งก็พาไปพบกับเพื่อนฝูงของเขาที่มีทั้งคนไทยและคนเกาหลี โดยเฉพาะเพื่อนคนไทยระดับ ‘ตัวแม่’ ที่มีชื่อว่าจูดี้

ช่วงแรกๆ เห็นได้ชัดว่าคัลแลนไม่ได้ตั้งใจสื่อสารกับกลุ่มผู้ชมชาวไทยเป็นหลัก การพูดเกาหลีแบบมีซับไตเติลภาษาอังกฤษของเขาจำกัดวงผู้ชมอยู่พอสมควร แต่เมื่อเป็นการเดินทางในเมืองไทย คัลแลนย่อมต้องสื่อสารกับคนไทยด้วยภาษาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับได้เพื่อนคนไทย – โดยเฉพาะจูดี้ที่คอยพาไป ‘ดู’ ชีวิตแบบ ‘ไทยๆ’ ในหลายเรื่อง รวมทั้งสอนภาษาไทยในแบบที่คนต่างชาติหรือโรงเรียนสอนภาษาไทยทั่วไปไม่ค่อยได้เรียน คือ ศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปของคนไทยนี่แหละครับ แต่มักเป็นศัพท์ที่ถูกมองข้ามไป เช่น เมื่อไปเดินตลาดนัดแล้วได้พบกับของกินอย่างข้าวหลาม ปลาสลิด ตีนไก่ (หรือเล็บมือนาง) ไปจนถึงศัพท์ภาษาถิ่นอย่างเช่น แซบอีหลี และอื่นๆ 

นั่นทำให้คัลแลน ‘พุ่งทะลุ’ กรอบแห่งภาษาจนเข้าถึงภาษาไทยได้ตรงๆ โดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้อย่างเป็นทางการจากสถาบันสอนภาษาที่ไหน 

วิธีเรียนภาษาไทยของคัลแลนนั้น ทำให้ผมนึกถึงหนังสือชื่อ ‘Ultralearning’ ของสก็อต ยัง ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่ง ผู้เขียนเล่าถึงวิธีเรียนภาษาท้องถิ่นให้ได้อย่างรวดเร็วแบบ ultralearning ด้วยการเดินทางไปอยู่ในประเทศเป้าหมายปลายทาง แล้วเลิกพูดภาษาอังกฤษอย่างสิ้นเชิง หันมาสื่อสารด้วยภาษาปลายทางเพียงอย่างเดียว ผู้ที่เรียนรู้แบบนี้จึงสามารถเรียนภาษาใหม่จนใช้การได้ดีพอสมควรภายในเวลาเพียงสามเดือน

การเรียนภาษาไทยของคัลแลน จึงเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้แบบ ultralearning ในทางภาษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้เขาจะยังสร้างประโยคด้วยไวยากรณ์แบบเกาหลีอยู่ แต่ถ้า ‘ความ’ นั้น ‘สื่อสารได้’ แถมยังสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาด้วย เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ควรค่าแก่การที่ ‘นักภาษาศาสตร์’ ชาวไทยทั้งหลายจะได้รีบศึกษาโดยเร็วพลัน

ถัดจากคลิปแรกๆ ที่อาจดูสะเปะสะปะ คัลแลนเริ่มสนใจการเดินทางท่องเที่ยวไปในท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะมันคือการเริ่มสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ให้กับตัวเอง หลายคลิปในช่วงนี้ คัลแลนออกเดินทางไปตามที่ต่างๆ ตามลำพัง เขาไม่ได้เลือกไปจังหวัดที่ฮอตฮิตติดกระแสท่องเที่ยว แต่ไปในที่ที่แลดู ‘ธรรมดาๆ’ อย่างจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ บางครั้งเขาถึงขั้นเช่ามอเตอร์ไซค์ในต่างจังหวัด โดยขี่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นระยะทางไกลหลายสิบกิโลเมตร รวมไปถึงการขี่ขึ้นเขาด้วย มีบ่อยครั้งที่คัลแลนไม่ได้จองที่พักล่วงหน้า แต่ไปหาเอาที่นั่นเลย จึงเป็นการเดินทางแบบ ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ โดยแท้ บางครั้งค่ำมืดแล้วยังหาที่พักไม่ได้และอยู่ตัวคนเดียว จึงให้รสชาติของการผจญภัยและ ‘เรียนรู้’ ท้องถิ่นไปพร้อมกันในแบบเอาตัวเข้าแลก ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบ ultralearning อีกเช่นกัน

คัลแลนโด่งดังอย่างมาก เมื่อมีเพื่อนร่วมเดินทางเพิ่มมาอีกหนึ่งหรือสองคน ได้แก่ ‘พี่จอง’ กับ ‘น้องแดน’ ซึ่งไม่ใช่พี่น้องกันจริงๆ แต่เป็นเพื่อนชาวเกาหลีที่มีวัยต่างกันนิดหน่อย โดยมีพี่จองเป็นคู่หูประจำทริปเดินทางท่องเที่ยวไปกับคัลแลน ส่วนน้องแดนมาร่วมด้วยเป็นบางหน (เช่น ตอนที่ไปภูกระดึงหรือภูเก็ต) และบางครั้งก็มีจูดี้มานำทริป (เช่น ทริปที่ไปสุพรรณบุรีช่วงลอยกระทง – ซึ่งได้รับคำชมมากว่าจูดี้พาชาวเกาหลีไปรู้จักกับความเป็น ‘ไทยๆ’ ได้ดีเหลือเกิน) แต่หลักๆ แล้วจะเป็นการเดินทางของคัลแลนกับพี่จอง

แม้พี่จองจะได้ชื่อว่าเป็นพี่ แต่บุคลิกของเขาออกไปทางผู้ตามมากกว่า แม้ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่หากสังเกตจากภาษากายพี่จองดูคล้ายจะยกให้คัลแลนเป็นหัวหน้าทีมคอยพาไปไหนมาไหน รวมทั้งเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในขณะที่พี่จองยอมเป็นผู้ ‘ถูกแกล้ง’ บ่อยหนกว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้ออกไปในเชิง ‘จิ้น’ แต่เป็นเพื่อนผู้ชายที่ไปเที่ยวด้วยกันจริงๆ

หลายคนอาจสงสัยว่า ‘ปรากฏการณ์คัลแลน-พี่จอง-น้องแดน’ มีอะไรน่าสนใจนักหนาหรือ ถึงขั้นต้องหยิบมาเขียนถึงเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว ก็ต้องบอกว่าการที่ปรากฏการณ์โด่งดังขึ้นมา มันทำให้เราเห็น ‘การชุมนุม’ กันของเหตุปัจจัยหลายเรื่อง

เรื่องแรกสุดนั้นพูดไปแล้ว คือความเป็น ‘คนต่างชาติ’ ที่ ‘พยายาม’ พูดภาษาไทย

สำหรับมนุษย์ทั่วไป ภาษาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือแสดง ‘อำนาจ’ และ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ด้วย คนที่ใช้ภาษาได้ดีกว่า คล่องแคล่วกว่า แสดงเหตุผล (โดยเฉพาะการพยายามหาเหตุผลมารองรับข้อตั้งของตัวเอง) ได้ดีกว่า มักเป็นคนที่ได้ชัยชนะในโลกสมัยใหม่ที่อาศัยการถกเถียงทางภาษาและการ ‘เจรจาต่อรอง’ เป็นเครื่องมือต่อสู้กัน

ดังนั้น คนที่ ‘อ่อน’ ในทางภาษา จึงมักตกเป็นผู้แพ้ในเกมสังคม ลองนึกถึงเราต้องพยายามไปอธิบายเรื่องยากๆ ด้วยภาษาที่ตัวเองไม่คุ้นอย่างภาษาอังกฤษ ก็มักจะออกมาติดๆ ขัดๆ หรือให้เหตุผลได้ไม่เต็มที่ การสื่อสารจึงไปไม่ถึงระดับที่ตั้งใจเอาไว้  – คัลแลนก็เช่นเดียวกัน

เขามีปัญหาในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยๆ เช่น เวลาเหงื่อออกซ่กจนหน้าเปียก เขาไม่รู้จะหาคำภาษาไทยอย่างไรมาอธิบายสภาวะนี้ คัลแลนจึงใช้วิธีย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับ ‘คลังคำ’ ที่มีจำกัดของตัวเอง แล้วบอกว่าใบหน้าของตัวเองกำลังอยู่ในสภาวะ ‘หน้าน้ำตก’ คือมีน้ำ (หรือเหงื่อ) ไหลลงมาบนใบหน้า

เขาใช้วิธีการแบบนี้บ่อยครั้งมาก จนเกิด ‘ศัพท์คัลแลน’ รวมไปถึง ‘ศัพท์พี่จอง’ ขึ้นมาหลายคำ เช่น คำว่า บุดด้าอ้วน (พระสังกัจจายน์), โรงพยารถ (รถพยาบาล), ยายุงกัด (ยาทากันยุง), ยุง Adidas (ยุงลาย) ซึ่งแม้หลายคำจะฟังไม่รู้เรื่องในทันที แต่เมื่อคุ้นเคยกับ ‘วิธี’ ประกอบสร้างคำ และด้วยความช่วยเหลือจากการตัดต่อของทีมงาน (ที่เป็นคนไทย) แล้ว สุดท้ายผู้ฟังก็สามารถ ‘ตีความ’ ได้ว่าคำคำนั้นหมายถึงอะไร (ถึงได้บอกไงครับ ว่านักภาษาศาสตร์น่าศึกษาภาษาของคัลแลนและเพื่อนเอามากๆ)

การประกอบสร้างคำแบบชาวต่างชาติที่ ‘ไม่รู้ภาษา’ แบบนี้ แทนที่จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ล้มเหลว คัลแลนและเพื่อนกลับยิ่งใช้ความพยายาม ‘ทะลุ’ กำแพงภาษา ด้วยการอธิบายหลายๆ วิธี ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา จนบ่อยครั้งเกิดเป็นการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผล และยังก่อให้เกิดผลลัพธ์อีกแบบหนึ่งขึ้นมา เป็นผลลัพธ์ที่ไม่สามารถวางแผนให้เกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นจากลักษณะร่วมหลายๆ อย่าง

สิ่งนั้นก็คือ cuteness ที่แปลเป็นไทยแล้วอาจจะยี้ๆ หน่อยว่า ‘ความน่ารัก’

คำว่า cuteness นั้น นักพฤติกรรมสังคมอย่าง คอนราด ลอเรนซ์​ (Konrad Lorenz) เคยอธิบายว่าหมายถึงความดึงดูดใจ (attractiveness) ที่โดยทั่วไปแล้วสัมพันธ์กับสองเรื่อง คือ ‘ความอ่อนเยาว์’ (youth) และ ‘ลักษณะปรากฏ’ (appearance)

นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาในทารก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความ ‘น่ารัก’ ที่สุดของมนุษย์ โดยประเมินความน่ารักของเด็กโดยดูจากปัจจัยสำคัญๆ และความแตกต่างด้านเพศสภาพ พบว่าทารกหญิงนั้นมักจะถูกมองว่าน่ารักจาก ‘รูปร่างลักษณะภายนอก’ มากกว่าทารกชาย คือ แค่อยู่เฉยๆ ก็น่ารักได้แล้ว ในขณะที่ทารกชายนั้น ผู้ดูแลเด็กจะเห็นว่าเด็กชายน่ารักจาก ‘การแสดงความสุข’ ของตัวเองออกมาให้คนเห็นมากกว่าเด็กหญิง เช่น หัวเราะเอิ้กอ้ากหรือยิ้มแป้นอะไรทำนองนั้น

ถ้าเรากลับมาดูคัลแลนและสหาย เราจะพบเลยว่า – โดยไม่รู้ตัว, พวกเขามี ‘องค์ประกอบ’ ของ‘ความน่ารัก’ แบบ cuteness ครบถ้วน นั่นก็คืออยู่ในวัยเยาว์ (youth) มีรูปร่างหน้าตาดี (appearance) แม้จะไม่ถึงขั้นหล่อเหลาเป็นดาราดังก็ตามที เพียงสองเรื่องนี้ ก็ทำให้พวกเขามีสิ่งที่คอนราด ลอเรนซ์ เรียกว่า Baby Schema หรือคุณลักษณะน่ารักแบบทารกหรือคนอ่อนเยาว์ไม่มีพิษมีภัยใดๆ กับผู้อื่นแล้ว แต่ที่ยิ่งเหนือไปกว่านั้นก็คือ พวกเขายังแสดงออกถึง ‘ความสุข’ ในความสัมพันธ์และการเดินทางให้เห็น ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินความน่ารักของเด็กตามเพศสภาพที่แตกต่างอีกด้วย

เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ เพราะคัลแลนและเพื่อนมีเพศสภาพ (gender หรือ gender display) เป็นชาย แต่ถ้าเราสังเกตดูดีๆ เราจะพบว่าพวกเขาสมาทาน ‘ความเป็นชาย’ ตามแบบและเบ้าของสังคม (อย่างน้อยที่สุดก็สังคมไทย) น้อยมาก เราจะเห็นพวกเขาทำสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าไม่ค่อยจะ ‘แมนๆ’ หลายเรื่อง เช่น ป้อนอาหารให้กันกิน คอยช่วยเหลือกันและกัน รวมไปถึงการ ‘ปราม’ กันเวลาจะมีคนพูดคำหยาบ (ครั้งหนึ่งแดนเคยพูดคำว่า ‘สัตว์’ ออกมา แต่คัลแลนเตือนในทันทีว่าพูดแบบนี้ไม่ดี) 

เราอาจพูดได้ว่า ‘ความเป็นชาย’ (masculinity) แทบจะอยู่ขั้วตรงข้ามกับ Baby Schema หรือ ความน่ารักแบบทารกไร้เดียงสาช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้น ในสังคมที่ต้องการแสดง ‘ความเป็นชาย’ ออกมามากๆ เราจึงเห็นการพูดจามึงมาพาโวย ใช้คำหยาบ ไม่ค่อยดูแลเพื่อนเพราะถือว่าแมนๆ ด้วยกันต้องช่วยเหลือตัวเองได้ และที่สำคัญที่สุด ถ้าเราดูคลิปประเภท Vlog ที่เป็นการท่องเที่ยวของเพื่อนผู้ชายๆ บ่อยครั้งเราจะเห็นอาการ ‘ข่มกัน’ ว่าใครรู้มากกว่าใคร หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง (อาจเป็นการพูดแบบเหมารวมอยู่สักหน่อย) ก็คือในคลิปที่มี ‘ความเป็นชาย’ สูงนั้น เจ้าของคลิปหลายรายมักมีลักษณะของ mansplainer (มาจาก man + explainer) หรือ ‘ชายผู้รู้ทุกเรื่องในโลก’ จึงคอยเป็นคนอธิบายหรือให้คำแนะนำสอนสั่งคนอื่นๆ อยู่เสมอจนบางครั้งเข้าข่ายยกตนข่มท่าน เราจึงได้ยินคำพูดประเภท “เชื่อผมเถอะ” “มึงไม่รู้อะไร” “ใครบอกมึง” อะไรทำนองนี้อยู่บ่อยๆ

แต่คลิปของคัลแลนและเพื่อนนั้น แทบพูดได้ว่าไม่มีลักษณะของ mansplainer อยู่เลย ทุกคนรักษา Baby Schema เอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ภาษาด้วย ทุกคนเหมือนเซ็ตตัวเองอยู่ที่ ‘ศูนย์’ คือไม่มีความรู้ใดๆ เลย จึง ‘ง่าย’ ต่อการเป็น ‘นักเรียนรู้’ ไม่ต้องวางท่าเหมือนตัวเองเป็นผู้รู้รอบน้ำล้นแก้วอยู่ตลอดเวลาตามขนบของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ดังนั้นความน่าสนใจในคลิปของคัลแลนกับเพื่อน จึงอยู่ที่การนำ ‘ความเป็นชาย’ (ในความหมายของตัวเอง) มารวมเข้ากับความ ‘น่ารัก’ จนก่อให้เกิดสมการ masculinity + cuteness ขึ้นมาได้ในจังหวะที่สังคมดูเหมือนกำลังเบื่อหน่ายความ ‘ท็อกซิก’ ต่างๆ อยู่พอดี

ความน่ารักที่ว่านอกจากนำไปสู่ความ ‘คลีน’ ในแทบทุกเรื่อง เช่น ไม่มีการพูดคำหยาบ ไม่ได้ไปหลีสาวที่ไหน ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีไปเที่ยวกลางคืนเที่ยวบาร์เที่ยวผับเลย ฯลฯ แล้ว ยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่สอดรับกับสังคมไทยเป็นอย่างดี นั่นคือแทบไม่มีการ ‘วิเคราะห์’ หรือ ‘วิพากษ์’ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางให้เห็นเลย ไม่มีภาพร้ายๆ ใดๆ มีแต่ภาพในแง่บวกของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราสามารถ ‘คลีน’ พร้อมกับวิเคราะห์หรือวิพากษ์ได้ แต่ดูเหมือนคลิปของคัลแลนและเพื่อนจะได้ ‘วิเคราะห์’ มาเรียบร้อยแล้ว ว่าการนำเสนอแบบนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมลงตัวที่สุดเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญหน้ากับ ‘ดราม่า’หรือสภาวะ ‘ท็อกซิก’ ใดๆ

ในท่ามกลางสังคมออนไลน์ที่ด่าทอ ด่ากราด นิยมคำหยาบ พูดทุกคำที่เคยถูกกดข่มไว้โดยการเซนเซอร์อย่าง กบว. เมื่อหลายปีก่อน คลิปของคัลแลนและสหายกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่คลิปที่ ‘คลีน’ แต่ ‘ขบขัน’ และ ‘เป็นธรรมชาติ’ ในแบบที่หาได้ยากจากคลิปอื่นๆ สำหรับผม เรื่องหนึ่งที่ ‘เสียดเย้ย’ เอามากๆ ก็คือเพลงประกอบคลิปของคัลแลน เป็นเพลงจากวงดนตรีของคัลแลนและเพื่อนที่ชื่อว่า Hateberry (โปรดอย่าลืมว่า Hateberry หมายถึงผลไม้แห่งความเกลียด – นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเสียดเย้ย) เพลงนั้นชื่อ ‘Toxic’

ดังนั้น บ่อยครั้งเวลาคลิปของคัลแลนตัดภาพสวยๆ เพลินๆ ให้ดู เราจะได้ยินเสียงร้องเพลงร่าเริงเบิกบานประกอบว่า ‘ท็อกซิก-ท็อกซิก’ ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ มันจึงคล้ายเป็นการบอกเราว่า ต่อให้เพลิดเพลินอยู่กับคลิปสวยๆ เสียงเพลงสนุกสนาน และได้เสพ ‘สมการความเป็นชาย’ ที่น่ารักของคัลแลนและผองเพื่อนมากแค่ไหน ก็อย่าลืมว่าเรานั่งอยู่ในโลกที่มี ‘เสียงของฉากหลัง’ เป็นความท็อกซิกอยู่เสมอ

ในอีกแง่หนึ่ง คลิปของคัลแลนจึงเป็นเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ท่ามกลางกองขยะพิษในโลกออนไลน์นั่นเอง

ปรากฏการณ์ ‘คัลแลน พี่จอง น้องแดน’ ที่โด่งดังขึ้นมาในช่วงนี้ จึงทำให้เราเห็นอะไรๆ ได้หลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในคลิปของพวกเขาเท่านั้น แต่สามารถใช้สิ่งที่เห็นนั้นย้อนกลับมาสะท้อนตัวเราและสังคมที่เราอยู่ได้หลายเรื่องทีเดียว

คำถามที่เกิดขึ้นกับปรากฏการณ์คัลแลน คือ เราดูพวกเขาเพียงเพื่อจะหนีออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือดูเพื่อจะส่องสะท้อนย้อนกลับ – ว่าที่เรารักชอบปรากฏการณ์นี้, เป็นเพราะเราอาศัยอยู่ในสังคมที่กำลัง ‘ขาด’ สิ่งนี้อยู่กันแน่!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save