fbpx

“ผมเขียนเรื่องคนธรรมดา เพื่อคนธรรมดา” ชีวิตที่ไม่ ‘เอ๊าะเยาะแอ๊ะแยะ’ ของเอ๊าะ หนูหิ่น

*เอ๊าะเยาะแอ๊ะแยะ แปลว่า ไม่เป็นระเบียบ, ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน, เหลาะแหละ, เหยาะแหยะ

หากใครเคยอ่านการ์ตูนเรื่อง หนูหิ่นอินเตอร์ ย่อมคุ้นตาดีกับ ‘ดอกจันท์’ เล็กๆ ใต้ภาพที่ใช้อธิบายความหมายของคำอีสาน คล้ายเป็น ‘ซับไตเติล’ ของศัพท์ยากศัพท์ลึกที่คนภาคอื่นอาจไม่เข้าใจ

‘หนูหิ่นอินเตอร์’ ตีพิมพ์เป็นตอนครั้งแรกในมหาสนุกเมื่อปี 2538 ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก จนได้รับการรวมเล่มเป็น หนูหิ่นอินเตอร์ ในปี 2539

เป็นเวลากว่า 25 ปีที่เรื่องราวของหนูหิ่นกับคุณมิลค์ปรากฏบนหน้ากระดาษในหนังสือที่มีทุกบ้าน หนูหิ่นฯ วางจำหน่ายรายประจำเล่มที่ 251 เมษายน ปี 2564 เป็นฉบับสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการออกเล่มเฉพาะกิจและเผยแพร่เป็นอีบุ๊กทางออนไลน์แทน

เรื่องราวของเด็กสาวจากบ้านโนนหินแห่ จากอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตรึงใจคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนอีสานพลัดถิ่นที่ต้องทำงานไกลบ้าน เสียงเพลงที่หนูหิ่นขับร้อง อาหารที่หนูหิ่นคิดถึง และถ้อยคำที่หนูหิ่นเอื้อนเอ่ย เป็นภาพสะท้อนความเป็นอีสานที่หลายคนคิดถึง

เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากปลายปากกาของ ผดุง ไกรศรี หรือ เอ๊าะ นักวาดการ์ตูนผู้มีพื้นเพเป็นคนอำเภอตระการพืชผล เช่นเดียวกับหนูหิ่น

เขาไม่เพียงสร้างเรื่องราวของหนูหิ่นให้กลายเป็นบทบันทึกของยุคสมัยเท่านั้น แต่เขายังเป็นหนึ่งในนักวาดการ์ตูนประจำบรรลือสาส์นที่อยู่มาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจนถึงยุคนี้ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา

ภายใต้หมวกแก็ปและแว่นกรอบหนา เขามีรอยยิ้มทุกครั้งเมื่อพูดถึงการวาดรูป – ตัวจริงเขาไม่ได้ผมชี้เหมือน ‘เอ๊าะ’ ในตัวการ์ตูน แต่ท่าทียียวนและขี้เล่นนั้นมีเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก

ในวันที่เขาเขียนการ์ตูนมากว่า 40 ปี เขาย้ำหลายครั้งว่า “ในการทำงาน ไม่มีเรื่องบังเอิญ” ทั้งหมดผ่านการคิดอย่างดีและมุ่งมั่นมาทั้งชีวิต

“การทำงานของผมเหมือนทำอะไรเล่นๆ แล้วได้ตังค์ แต่จริงๆ แล้วหนัก ผมวาดรูปวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง” คือประโยคที่เขาเลือกใช้อธิบายวิธีทำงานของตัวเอง

บทสนทนาต่อจากนี้คือเรื่องราวของนักวาดการ์ตูนที่สร้างปรากฏการณ์ในสังคมไทย และแม้วันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน เขายังเอาจริงเอาจังกับงานเสมอมา – เป็น ‘เอ๊าะ’ ที่ไม่เคย ‘เอ๊าะเยาะแอ๊ะแยะ’ เมื่อเป็นเรื่องการวาดรูป

ทุกวันนี้คุณยังวาดรูปทุกวัน?

วาดทุกวัน วาดเพื่อส่งบรรลือสาส์นนี่แหละ ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็วาดรูปเล่น เครียดก็วาดรูป ไม่เครียดก็วาดรูป วาดรูปสาวสวย วาดทั้งคนรุ่นนี้ รุ่นก่อน พอสมองโล่งก็มาแต่งเรื่องราว คิดแก๊กต่อ ถ้าอยู่บ้านแทบจะไม่เคยหยุดวาดรูป แต่ถ้าไปเที่ยวก็อาจจะไม่ได้วาด คิดว่าน่าจะวาดสัก 300-500 แผ่นต่อปี

ปกติคุณร่างรูปด้วยดินสอก่อนไหม หรือลงปากกาไปเลย

ถ้าต้องการความสวยงามถูกต้อง ต้องร่างภาพด้วยดินสอก่อนแล้วค่อยตัดเส้น หรือไม่ก็ลงสีเสร็จค่อยลบดินสอออกไป แต่บางงานก็เขียนด้วยปากกาเลยก็มี เพราะบางงานเราไม่ต้องการความเนี้ยบ แต่เอาเส้นสาย ลีลา ฟีลลิ่ง

ส่วนมากดูตามแบบหรือวาดจากจินตนาการ

แล้วแต่ อย่างในเล่มล่าสุด Beauty and the เอ๊าะ เรื่องนี้แบ่งครึ่งเลย คือดูแบบ 50% ส่วนอีก 50% คือด้นจินตนาการเลย เขียนให้เข้าเรื่อง เราก็คิดแอ็กชัน ลีลา หน้าตาให้คล้ายๆ กัน อย่างเรื่องที่ยากหน่อย เช่น โรมิโอกับจูเลียต เจ้าหญิงอียิปต์ เราก็ดูตัวอย่างเครื่องแต่งตัวจากในหนัง ไม่ได้ลอกเขานะ แต่ก็จำเป็นต้องดูแบบด้วยเหมือนกัน

การ์ตูนเล่มล่าสุด เรื่อง Beauty and the เอ๊าะ ได้แรงบันดาลใจจากไหน มีไอเดียตั้งต้นอย่างไร

ต้องเล่าก่อนว่า ผมถนัดวาดรูปผู้หญิง และเป็นพวกเล่าไปเรื่อยๆ ไม่ใช่นักเล่าเรื่องที่ฮาปังๆๆ เหมือนการ์ตูนแก๊กของขายหัวเราะ ลองไปดูเรื่องหนูหิ่นฯ จะว่าฮาตลอดก็ไม่ใช่ แต่ต้องบวกเรื่องเล่ากับความสวยความงามไปด้วย เพราะผมเขียนการ์ตูนไม่ค่อยตลก เลยเน้นขายความงามไว้ก่อน ดังนั้นผมจึงอยู่กับความสวยงามของผู้หญิงมาโดยตลอด มุกไว้ทีหลัง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ เพราะในเมื่อเรายืนหยัดขายความงามของผู้หญิงแล้ว คุณนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทวิธิตากรุ๊ป) เลยเสนอโครงการนี้ให้ผมเขียนผู้หญิงสวยๆ ที่มาจากทั้งในพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และวรรณคดีของประเทศต่างๆ รวมกันสัก 50 คน ทางกองบรรณาธิการจะหามาว่าให้วาดใครบ้าง เสร็จแล้วผมจะเป็นคนเขียนเรื่องให้เข้ารูป บางทีก็ใช้รูปเยอะกว่าเรื่อง ให้รูปเล่าไป มีข้อความนิดๆ หน่อยๆ เป็นที่เข้าใจ แต่บางเรื่องก็จะมีข้อเขียนเรื่องราวเยอะ

คนหนึ่งต่อเรื่องก็ 3-4 แผ่น รวม 50 คนก็ประมาณสัก 200 แผ่น เป็นโครงการเขียนข้ามปีเลย ใช้เวลาวาดเฉลี่ยวันละ 1-2 แผ่น หรือวันหนึ่งอาจไม่ได้สักแผ่นเลยก็มี เล่มนี้ทำงานประมาณ 200 วันกว่าจะเสร็จ

ถ้าตามงานคุณจะเห็นว่าลายเส้นของคุณสะอาดตา คมชัด คุณวาดการ์ตูนมากว่า 40 ปี มองว่าลายเส้นของตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม

เปลี่ยนตามลักษณะของงานนะ ผมโตมาจากงานนิยายภาพ การ์ตูนเล่มละบาท ลายเส้นยุ่งไปหมด พอตอนมาเขียนที่ขายหัวเราะใหม่ๆ คุณวิธิต อุตสาหจิต (บรรณาธิการ) ก็จะมีคำพูดประมาณว่า “เอ๊าะ เส้นนี้ไม่ต้องแรเงา พวกเงาในเสื้อผ้าไม่ต้องใส่ก็ได้ เอาโปร่งๆ บางๆ”

ผมก็ต้องไปดูงานของพี่ต้อม (สุพล เมนาคม) พี่ต่าย (ภักดี แสนทวีสุข) ขวด (ณรงค์ จรุงธรรมโชติ) เป็นตัวอย่าง อีกคนที่ผมชอบดูสมัยทำงานด้วยกันคืองานของเดี่ยว (ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ) ตอนนั้นงานของเขาวัยรุ่นที่สุด เส้นสนุก เราก็ไปดัดแปลงมา

ด้วยความที่เราเขียนนิยายภาพมาก่อน ก่อนหน้านี้จะติดวิธีวาดแบบการ์ตูนญี่ปุ่น ติดมาตั้งแต่เด็กๆ พวกไอ้มดแดง กาโม่ พอโตขึ้นมาก็ดูแนวบู๊ เช่น ไออิ&มาโคโตะ งานของอิเคงามิ เรียวอิจิ ไปจนถึงงานของอากิระ โทริยามะ (ผู้เขียน ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่) ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาก ตอนเขียนคุณมิลค์ใหม่ๆ ผมก็เอาแอ็กชัน ทรวดทรง และการแต่งตัวของครูมิโดริ (ตัวละครใน ดร.สลัมป์ฯ) มาใช้ ทำให้งานเราสะอาดขึ้น

ถ้าสังเกต ตัวละครคุณมิลค์ หนูหิ่น ผมได้อิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่น คุณมิลค์จะตัวสูง สมส่วน สวย ขายาวหน่อย แต่ตัวหนูหิ่นจะย่อส่วนลงมา ซึ่งความสมจริงไม่มี แต่ถ้าเน้นความเป็นการ์ตูนในโลกอนิเมะหรือจินตนาการ แบบนี้ได้

ย้อนไปชีวิตในวัยเด็ก คุณให้สัมภาษณ์กับหลายที่ว่าคุณวาดรูปเป็นก่อนเขียนหนังสือ

ไม่ใช่แค่ผมหรอก คุณก็เหมือนกัน การที่เราวาดรูปก่อนเขียนตัวหนังสือได้เป็นเรื่องเบสิกมาก ทุกคนวาดรูปเป็นหมดถ้าตั้งใจศึกษาแล้วไม่ละทิ้งไปเสียก่อน ฝีมือและพรสวรรค์สำคัญพอๆ กับการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนที่มีทั้งพรสวรรค์และขยันด้วย เขาเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน

สมัยผม กว่าจะได้เข้าเรียนก็ 6-7 ขวบ ซึ่งผมวาดรูปเป็นแล้ว พ่อทำงานเป็นข้าราชการที่ที่ว่าการอำเภอ สมัยก่อนมีเฮลิคอปเตอร์มาลง ผมเห็นแล้วประทับใจ ก็ไปวาดเฮลิคอปเตอร์ แม่เห็นก็คงคิดว่า โอ้ ไอ้นี่วาดรูปเป็นนี่หว่า ผมใช้ถ่านวาดตรงผนังข้างครัว แม่ก็ไม่ว่าอะไร ถึงเวลาสกปรกก็ไปเช็ดล้างเอา

คุณรู้ตัวตั้งแต่เด็กเลยไหมว่าตัวเองอยากเป็นอะไร

รู้เลย หลังจากอ่านหนังสือได้ ผมเป็นเด็กคนเดียวในรุ่นที่เข้าไปในห้องสมุดเพื่อไปหาหนังสืออ่าน ทั้งแบบตัวหนังสือ การ์ตูน นิตยสาร พวกกุลสตรีที่มีเรื่องให้อ่านบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่สวยตรงมีภาพประกอบของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์เหม เวชกรบ้าง จนบรรณารักษ์บอกว่า “เด็กคนนี้ทำไมไม่ไปเล่นกับเพื่อนๆ ทำไมมาอ่านหนังสืออยู่ในนี้ แปลกคน” แต่ถึงตอนนี้เขาคงไม่แปลกใจแล้วแหละ

คุณตัดสินใจเรียนศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ตั้งแต่สมัย ปวช. คุณให้สัมภาษณ์เสมอว่าคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อคุณมากคืออาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์

ใช่ อาจารย์จบจากเพาะช่าง ฝีมือระดับสุดยอด เก่งมาก เป็นที่รู้จัก คนก็อยากให้เป็นอาจารย์ในกรุงเทพฯ แต่อาจารย์เลือกมาสอนที่อาชีวะฯ อุบลฯ ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมเข้าไปเรียนด้วย อาจารย์มาเปลี่ยนความคิดและวิธีการวาดรูปของผม

ก่อนหน้านั้น ผมก็ดูตามแบบใบปิดหนัง รู้จักแต่งานสีโปสเตอร์ของอาจารย์เปี๊ยก โปสเตอร์  อาจารย์ทองดี ภานุมาศ เราก็เลาะใบปิดจากโรงหนังล้อมผ้าแถวบ้านมาเป็นแบบวาด ยังไม่ได้เรียนจริงจัง แต่พออาจารย์โชคชัยมาสอนเรื่องการวาดอนาโตมี การวาดมือ สอนเรื่องโครงสร้างกระดูก ทำให้รู้ว่าวิธีวาดผู้หญิงกับผู้ชายเป็นคนละแบบ เราควรเน้นกล้ามเนื้อส่วนไหน เราต้องท่องคำศัพท์พวกกระดูกต่างๆ ให้ครบ

หรือแม้แต่การวาดนู้ด อาจารย์โชคชัยจ้างนางแบบผู้หญิงมา ซึ่งเราก็ตกใจนะ สั่นที่ได้วาด สำหรับเราเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก จำได้แม่น อาจารย์บอกว่า “คนที่มาเป็นแบบนู้ดให้เรา ถือว่าเป็นครูนะ” คืออย่าไปคิดลามก เราเรียนรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่แรกๆ

ถ้าให้ประเมินตัวเอง คิดว่าตอนนั้นวาดรูปนู้ดออกมาได้ดีไหม

ผมมือหนึ่ง (หัวเราะ) คนอื่นยังวาดไม่เสร็จ ผมวาดได้สองรูป ส่งอาจารย์หนึ่งรูป ให้คนที่เป็นแบบอีกหนึ่งรูป อาจารย์พูดในห้องถึงผมว่า “นี่เขาเบอร์หนึ่ง” แกพูดคำเดียวนะ แต่เรายิ่งต้องระวังตัว ต้องขยัน ต้องวาด บ้าพลังหนักเข้าไปอีก เพื่อให้สมกับที่อาจารย์พูดไว้

นอกจากเรื่องพื้นฐานและเทคนิคการวาดรูปที่อาจารย์โชคชัยสอน แล้วเรื่องวิธีคิดต่อการทำงานศิลปะล่ะ มีวิธีคิดไหนของอาจารย์ที่ส่งผลต่อคุณบ้าง

อาจารย์บอกว่า ถ้าเราอยู่กับอะไรให้นานที่สุด เราจะค้นพบเอง ให้เราอยู่กับสิ่งที่เขียน มีวิธีคิดกับงานนั้นเพื่อเอาชนะงานให้ได้

อย่างตอนที่ผมเข้าใจว่าการเขียนสถาปัตยกรรมให้เข้ากับงานการ์ตูนนั้นสำคัญ ก็ทำให้วาดรูปได้ดีขึ้น มันจะมีเปอร์สเปกทีฟของมันอยู่ตลอด ไม่ใช่ว่าวาดรูปมุมนี้แต่เอาเปอร์สเปกทีฟอีกแบบหนึ่งมาใส่ มันก็ไม่เข้ากัน มันมีมุมเสย มุมตั้ง มุมระดับสายตาอยู่ หรืออย่างการวาดคนก็เหมือนกัน เขียนคนโดดๆ ก็ต้องมีเปอร์สเปกทีฟ ถ้าเราเข้าใจเรื่องพวกนี้ เราก็สามารถจินตนาการหรือเอาแบบมาประกอบกันได้ ทำงานด้วยความเข้าใจ

ตอนที่คุณเรียนวาดรูป ตอนนั้นได้คิดไหมว่าจะเดินไปทางพาณิชย์ศิลป์หรือวิจิตรศิลป์

มี ผมเรียนเอกจิตรกรรมสากลที่เพาะช่าง ต้องวาดแนวสีน้ำมัน ดรออิ้ง พอมีวิชาบังคับ วิชารอง พวกพาณิชย์ศิลป์ก็มีเรียนเกี่ยวกับการ์ตูน ก็ทำให้มีประกายขึ้นมาบ้างเหมือนกัน แต่ใจลึกๆ ก็ยังอยากเป็นจิตรกร เป็นศิลปิน เพราะชอบการวาดสีน้ำมันมาก สมัยเรียนคิดตลอดเวลาว่าถ้าไม่ได้มาเขียนการ์ตูน เราต้องเป็นศิลปินเหมือนเพื่อนหลายๆ คน ไม่รู้ว่าเขารวยหรือไม่รวย แต่หลายคนดูมีความสุขดี

แล้วจุดแยกที่ทำให้มาทางเขียนการ์ตูนเต็มตัวคืออะไร

ช่วงจบใหม่ๆ ไปสอบบรรจุ อยากเป็นครูอาจารย์เหมือนเพื่อนๆ ก็ชวนกันไป ซึ่งตอนนั้นก็เขียนการ์ตูนลงนิตยสารรายสัปดาห์แล้วนะ แล้วก็มีงานดีเสนอเข้ามาบ่อยๆ เช่น วาดภาพประกอบหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนให้กระทรวงศึกษา เราก็รับมาเต็มไปหมด สมัยนั้นรายได้ดีมาก ยุคนั้นคนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ได้เงินเดือนละสองพันกว่าบาท แต่ผมได้เงินเดือนละสองหมื่นกว่าบาท

สมัยนั้นเวลาเราอยากเป็นนักวาดการ์ตูน ยากง่ายแค่ไหน สมัครงานแล้วได้งานเลยไหม

ไม่ๆ ตอนนั้นคิดเองนะว่าตัวเองเก่ง เพราะสอบเข้าเพาะช่างได้สบายๆ หรืออย่างสมัยเรียนอยู่ ปวช. ที่อุบลฯ ผมเป็นมือหนึ่งเลย แต่พอมาเขียนการ์ตูนเป็นเรื่องขาย เขาไม่เอา เขาบอกว่ารูปสวยแต่เรื่องไม่ได้ เพราะการ์ตูนเล่มละบาทเขาขายเรื่อง ผมเคยตั้งคำถามว่าบางงานเขียนรูปได้แค่นี้ทำไมขายได้ แต่พอมาอ่านจริงๆ เรื่องเขาดี เขาแต่งเรื่องเก่ง ก็เริ่มทำความเข้าใจ

ผมเขียนส่งไปสองรอบ เจ้าของหนังสือเลยบอกเคล็ดลับว่า หนึ่ง เขียนเรื่องให้เหมือนการแต่งเพลง มีอินโทร มีเรื่อง คือผมเขียนเปิดมาก็รัวฉากบู๊เลย ไม่รู้ว่าตัวละครผิดใจกันมาจากไหน เปิดลูกเดียว เขาบอกว่าไม่ได้ ต้องมีเหตุผลว่าคนเราจะตีกันเพราะอะไร สอง เรื่องผีขายได้ตลอด ผมเลยเขียนเรื่องผี และสาม ตอนจบต้องมีคติสอนใจ ผมก็เอาที่เขาสอนมาประมวลแล้วเขียน ก็ขายได้

ก่อนจะเขียนต้องหาอ่านหนังสืออ่านเรื่องสั้นก่อนไหม ก่อนจะได้เรื่องมาวาด

นี่คือหัวใจของนักเขียน คุณจะเป็นนักเขียนไม่ได้ถ้าคุณไม่ใช่นักอ่าน คุณต้องรู้ทุกเรื่อง ต้องอ่านทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพวกไซไฟวิทยาศาสตร์ ผี ปีศาจ เรื่องบนฟ้าใต้ดิน ต้องเอามาไว้ในหัวหมด

ตอนช่วงที่เริ่มวาดการ์ตูนเล่มละบาท มีหนังสือเล่มไหนที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเอามาใช้ในงานได้เยอะ หรือเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องบ้าง

ถ้าเป็นหนังสือแบบตัวหนังสือเลย สมัยนั้นผมอ่านงานของพนมเทียน คืออ่านเพราะติดเองด้วย แต่ก็เอามาใช้เวลาเขียนเรื่องในป่าหรืออาถรรพ์ต่างๆ แล้วก็มีพวกการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนฝรั่งแนวซูเปอร์ฮีโร เขาเขียนมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด พวกสตาร์เทร็ก สตาร์วอร์ส แบทแมน ซูเปอร์แมน ฯลฯ ต้องเข้ากรุงเทพฯ ถึงจะเห็นหนังสือพวกนี้ แล้วก็เรื่องโคแนนที่สำนักพิมพ์บรรลือสาส์นแปลออกมา ผมก็เอามาดูลายเส้นกับอนาโตมี

ช่วงแรกๆ ที่คุณทำงาน ตอนนั้นในตลาดนักวาดการ์ตูนไทยมีคนทำอยู่เยอะแค่ไหน แล้วคุณโดดเด่นขึ้นมาในระดับไหน

ถ้าพูดถึงการ์ตูนเล่มละบาท ผมก็ถือว่าอยู่ในแนวหน้านะ แต่ไม่ได้ดังเท่าหลายๆ คน คือเพิ่งเขียนได้ 1-2 ปี คนก็เห็นว่าเป็นเด็กไฟแรง เส้นสายสวย งานละเอียดมาก สมัยนั้นได้ค่าต้นฉบับเล่มละ 400-500 บาท ผมเขียนอย่างกับได้เล่มละพัน ขยันน่ะ

ตอนนั้นเพื่อนเขาเขียนอาทิตย์หนึ่งได้เงินเป็นพัน แต่เราไม่เคยคิดว่าทำไมตัวเองได้แค่ 400-500 บาท คิดว่ามีความสุขแค่นั้น  มันก็พอใช้นะ สมัยปี 2523 เข้ามาใหม่ๆ ได้เขียนการ์ตูนเล่มละบาท เป็นที่รู้จักของพี่ๆ นักเขียน เขาก็บอกว่า เฮ้ย เก่งเว้ย ดีแล้ว ถูกแล้ว เอางานทั้งของฝรั่งและญี่ปุ่นมาแมตช์กัน อนาโตมีเป๊ะเลย เพราะผมเรียนจิตรกรรมสากล

แล้วคุณเริ่มต้นทำงานกับ บ..วิธิตที่บรรลือสาส์นได้อย่างไร

ก่อนหน้าที่จะมาเจอ บ.ก.วิธิต ผมทำงานกับเตรียม ชาชุมพร (ผู้เขียนภาพประกอบ มานะ มานี ปิติ ชูใจ) แล้วพี่เตรียมเขาก็มีเส้นทางของเขา แล้วก็คงเห็นว่าการ์ตูนกึ๋นฮาที่ผมเป็น บ.ก. เจ๊ง พี่เตรียมเลยแนะนำให้ผมรู้จักกับ บ.ก.วิธิต บอกว่า “คนนี้ไฟแรงนะ” บ.ก.วิธิตก็บอกว่า “ผมรู้จัก นี่คนเขียนกึ๋นฮา” เพราะผมเป็นคนแรกๆ เลยที่เขียนหน้าปกด้วยการพ่นแอร์บรัช ได้อิทธิพลจากเรื่อง ดร.สลัมป์ฯ นั่นแหละ ครูมิโดริใส่ชุดขาสั้น สวมรองเท้าแบบ ดร.มาตินส์ คุณวิธิตก็ชอบ บอกว่าให้เขียนส่งมาเลย

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนแรกที่ส่งเรื่องหนูหิ่นกับคุณมิลค์มาที่ขายหัวเราะ บ.ก.วิธิตไม่เอาเพราะลายเส้นยังไม่ได้ แต่ส่งมารอบสองกลับผ่าน

ใช่(หัวเราะ)ตอนนั้นผมอีโก้จัด จริงๆ ผมไม่ควรอีโก้ แค่ บ.ก. บอกว่าไปแก้ตรงนี้มาหน่อย เรื่องสัดส่วน เส้นเยอะไป พวกนี้ถ้าเราแก้สักหน่อยก็จะเริ่มต้นได้เร็ว แต่เราไม่ยอมแก้ ผมหายไปสองปี

สองปีที่หายไป ผมไปทำงานกับโอม รัชเวทย์ เก่งมากคนนี้ พี่โอมเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานของผมทุกอย่าง ความเป็นติสต์ไม่มีเลย เพราะพี่โอมจะบอกเสมอว่า “เราเป็นติสต์ก็จริง แต่ต้องใช้ความเป็นติสต์ของเราเพื่องาน” เพราะการ์ตูนเป็นงานพาณิชย์ศิลป์ ไม่ใช่ศิลปะแบบติสต์จ๋า ต้องทำงานผสมผสานกัน พอผมดูพี่โอมทำงานก็เห็นว่าจริงอย่างที่เขาบอก หลังจากทำงานกับพี่โอมสองปี พี่หมู นินจา (สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์) ก็แนะนำให้มาทำงานกับคุณวิธิต

จริงๆ ก่อนที่ผมจะมาทำกับคุณวิธิต ผมทำงานหนังสือสำหรับเด็กกับคุณฐานิศร์ อมรธีรสรรค์ (น้องสาววิธิต อุตสาหจิต) ก่อน พอดีออฟฟิศอยู่ติดกัน เสร็จแล้วพี่หมูดึงผมเข้าห้องคุณวิธิต คุณวิธิตบอกว่า “มานี่ มาเขียนให้ผม” ผมเลยได้กลับมาเริ่มต้นใหม่ บ.ก. ให้แก้อะไรก็ตอบว่า “ได้ครับๆ” เริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความเป็นมนุษย์ขึ้น (หัวเราะ)

ในเมื่อมีพรสวรรค์ติดตัวมา ทำได้ดีมาตลอด คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้ความพยายามในการวาดรูปบ้างไหม หรือทำได้สบายๆ เลย

ตอนวาดรูปขาย ผมไม่ต้องใช้ความพยายามเลย ไม่ใช่เพราะวิเศษกว่าใคร แต่เพราะผมทำมาเยอะ ฝึกตลอด การวาดรูปเล่นก็เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดอย่างวิชาการก็จะบอกว่า ผมวาดรูปเพื่อฝึกมือทุกวัน แต่จริงๆ คือผมวาดรูปเล่นทุกวัน การวาดเล่นหมายถึงวาด 1-2 ชั่วโมงต่อภาพ มันถึงออกมาสวยไง

กล้ามเนื้อจำแล้ว?

ใช่ การทำงานของผมเหมือนการเดินเล่น การใช้ชีวิตธรรมดา งานไม่ใช่งาน เหมือนเราทำอะไรเล่นๆ แล้วได้ตังค์ แต่จริงๆ แล้วหนัก ผมวาดรูปวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง บางวัน 20 ชั่วโมงก็มี ก็แล้วแต่เราสถิตอยู่กับมันนะ บางทีก็ลุกไม่ขึ้น งานนี้ยังสนุกอยู่ สีที่ผสมแล้วต้องลงให้หมด แต่ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือเหมือนถูกบังคับขู่เข็ญนะ

คุณทำงานด้วยความชอบมาตลอด แล้วพอถึงจุดที่เขียนการ์ตูนออกมาแล้วประสบความสำเร็จมาก ตอนนั้นรับมืออย่างไรกับชื่อเสียงที่เข้ามา

ช่วงที่ออกหนังสือพร้อมกัน 3-4 เล่ม เขียนลงประจำทั้งขายหัวเราะ มหาสนุก หนูหิ่นอินเตอร์ หนูหิ่นอินเดอะซิตี้ แล้วก็หนูหิ่นอินโนนหินแห่ที่ออกรายปี ผมต้องเขียนเดือนหนึ่งประมาณร้อยกว่าแผ่น ร่างแทบแหลก ซึ่งเรื่องประสบความสำเร็จ รายได้ หรือชื่อเสียงก็มาพร้อมกันนั่นแหละ แต่เราสนุก ไม่ได้คิดว่าต้องรับมือมาก

ยุคที่เขียนขายหัวเราะ มหาสนุก มีนักเขียนชื่อดังอยู่ในเล่มเดียวกันเยอะ มีการแข่งกันหรือคุยกันเยอะไหม

คุยกันตลอด เมื่อก่อนจะมีห้องทำงานประจำ นักเขียนมารวมตัวกันวันจันทร์ พุธ ศุกร์ คนเต็มเลย 10-20 คน คุยกันเฮฮา หาอะไรกินกัน ลงขันกันคนละร้อยสองร้อย รุ่นใหญ่ก็ลงห้าร้อยให้น้องๆ ได้กิน 

ถามว่าแข่งกันไหม ในความเป็นจริงก็ต้องมีบ้าง แข่งกันเรื่องผลงาน เพราะทุกคนก็อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง บ.ก.ให้โอกาสทุกคน ถ้าคุณเขียนเรื่องสั้นได้ก็จะได้รวมเล่ม ถ้าประสบความสำเร็จยอดขายดีก็จะมีเล่มต่อๆ ไป

ตอนนั้นการที่นักเขียนคนหนึ่งจะได้ออกรวมเล่มของตัวเอง ยากมากแค่ไหน

ยากๆ ต้องเขียนเรื่องสั้นก่อน ทุกคนต้องได้เขียนเรื่องสั้นลงในหนังสือมหาสนุก ต้องเขียนได้ 10 ตอนถึงจะรวมเล่มได้สักเล่มหนึ่ง แล้วยอดขายจะบอกว่าคุณได้ไปต่อไหม

ณ ตอนนั้นในหมู่นักวาดการ์ตูนด้วยกัน คนที่เป็นรุ่นใหญ่ที่สุดคือใคร

ถ้าไม่รวมอาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ) กับอาจุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) ก็จะเป็นพี่ต้อม พี่หมู พี่เฟน (อารีเฟน ฮะซานี) พี่นิค (นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์) และพี่ต่าย พวกนี้เขามานานแล้ว มาพร้อมๆ กัน ผมมาทีหลังเป็นสิบปี เพราะผมก็ไปโลดแล่นตามประสากว่าจะมาที่นี่ได้ก็เพราะพี่เตรียมพามาแนะนำตัว หลังจากนั้น 5-6 เดือน พี่เตรียมก็เสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ

คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้ทำงานร่วมกับนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แรกๆ ตื่นเต้นไหม

ตื่นเต้นอยู่ แต่ก็รู้สึกดีด้วย จริงๆ เรารู้จักกันข้างนอกก่อนที่จะมาทำงานร่วมกันอีก เขาก็งงๆ เหมือนกัน ไม่คิดว่าผมจะมาทำร่วมกับเขา เพราะผมเป็นคนละสายกับพวกการ์ตูนตลก แต่ผมปรับตัว เวลาได้รับโจทย์อะไรต้องยอมปรับตัว ตัวการ์ตูนพวกนี้ปรับเยอะ บางอันก็เหมือนฝรั่ง บางทีเหมือนไทย ญี่ปุ่น จีน เป็นคุณสมบัติของพวกนักเขียนนักวาดที่ต้องทำได้หลากหลาย

คุณบอกว่าคุณไม่ถนัดสายการ์ตูนแก๊ก ถนัดเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ มากกว่า แล้วพอต้องมาเขียนแก๊ก 3 ช่อง ต้องฝึกอย่างไรบ้าง

ผมได้ฉายาว่าเป็นพวกมุกกระบือ อ่านวันนี้ พรุ่งนี้ค่อยขำ ผมถึงพยายามวาดให้มีผู้หญิงเข้าร่วมฉากไง อย่างทุกวันนี้ที่เขียน อาจวาดเป็นตัวละครผมกับพี่ต่ายคุยกัน แล้วมีคุณมิลค์กับหนูหิ่นเดินมา พอเปิดมาช่องสุดท้าย ผมกับพี่ต่ายกำลังเจออะไรที่ฮาๆ พวกหนูหิ่นกับคุณมิลค์ก็จะพูดว่า “ปัดโธ่ ฉันมาทำอะไรที่นี่นะ” ซึ่งสองคนนี้ไม่เกี่ยวกับมุกเลย แค่โผล่มาเฉยๆ อันนี้คือวิธีการขายงานของผม ผมก็พูดกับ บ.ก. ว่าผมเขียนไม่ค่อยตลกนะ

นักเขียนคนไหนที่คุณรู้สึกว่าเขียนมุกตลกเก่งที่สุด

พี่ต่าย เก่งที่สุดแล้ว แต่ถ้าตลกร้ายต้องพี่นิค ตลกน่ารักๆ ต้องมะเดี่ยว หรือขวดกับพี่เฟนก็ได้ พี่เฟนเขาก็ไม่ใช่เจ้าแห่งการเขียนการ์ตูนตลก แต่เขาเขียนเรื่องสั้นเก่ง

แวะถามเกร็ดหน่อยหนึ่ง อย่างคุณนายหกเหลี่ยม เขาบอกว่าตัวจริงไม่เหมือนในการ์ตูนเลย ตัวจริงน่ารัก แต่ทำไมคุณตัดสินใจเลือกวาดไปทางนั้น

จริงๆ อยากให้บุคลิกเขาเป็นคนพวกเหลี่ยมจัด มายาหญิงแปดร้อยเล่มเกวียน แต่เราแทนเขาด้วยการเขียนหน้าเป็นหกเหลี่ยม หน้าหกเหลี่ยมเอามาจากการ์ตูนญี่ปุ่นนะ เพียงแค่เราเปลี่ยนทรงผม ปาก คิ้ว และตานิดหน่อย

มีคนแซวไหมว่าวาดผู้หญิงทุกคนสวยหมดเลย ยกเว้นคุณนายหกเหลี่ยม

(หัวเราะ) ใช่ เคยลงรูปเขาในเฟซบุ๊ก ก็มีคนมาคอมเมนต์ทำนองว่าเราใจร้าย คุณนายออกจะน่ารัก

ขยับจากการ์ตูนแก๊ก พอคุณเริ่มเขียนหนูหิ่นฯ ลงเป็นตอนๆ มีเครียดบ้างไหม หรือกังวลเรื่องการต้องรวมเล่ม

ไม่เครียดเลย ตอนเขียนหนูหิ่นฯ ครั้งแรกลงในมหาสนุก ฟีดแบ็กดีมาก เพราะผมเขียนซับไตเติ้ลเวลาหนูหิ่นพูดอีสาน คำบางคำที่คนอีสานลืมแล้วก็มี อย่างคำว่า ‘ปลาอีฮื้อ’ คือปลาหมึก รองเท้าเขาก็เรียกว่าปลาอีฮื้อ เพราะเหม็นเหมือนปลาหมึกเน่า

เขียนแบบนี้ก็เผอิญไปตรงจริตคนเยอะแยะ เขียนไปสักพักก็จะมีคนบอกว่าเรื่องแบบนี้เราก็เจอ เช่น หนูหิ่นอยากกลับบ้าน แม่ส่งอาหารอีสานจากบ้านมาให้กิน หรือบางทีผมเขียนถึงเรื่องหน่อไม้เซียงไพ ที่แกงแล้วใส่จิโป่ม (จิ้งโกร่ง) แมงกีนูนเข้าไป มีคนหนึ่งมาบอกผมว่า “พี่ หนูคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่มากเลย พี่เขียนเรื่องนี้มาหนูนั่งร้องไห้เลย หนูจะกลับบ้าน” เขาก็กลับจริงนะ แล้วเขียนมาบอกว่า “หนูกลับบ้านแล้วพี่ ขอบคุณมากที่เขียนแบบเรื่องนี้มา” ทุกครั้งที่ใครมาสัมภาษณ์ ผมก็จะบอกว่านี่คือความภูมิใจ

ตอนที่เขียนก็ไม่ได้คิดว่าจะส่งผลต่อความรู้สึกคนอ่านขนาดนั้น

พอเขียนได้สักเล่มสองเล่ม คุณนก (โชติกา อุตสาหจิต รองประธานกลุ่มบริษัทวิธิตากรุ๊ป) ยังบอกเลยว่า “เอ๊าะ เธอไปทำอะไรมา เด็กที่บ้านฉันบอกว่าให้ออกเป็นรายวันเลยได้ไหม” คือเด็กที่ทำงานเขาเป็นคนอีสาน คงไปโดนใจเขา เขารอไม่ไหวที่จะอ่านเป็นรายเดือน

หนูหิ่นเป็นคนซื่อๆ เปิดฉากขึ้นมาก็จะร้องเพลงของจินตหราบ้าง เพลงหมอลำลูกทุ่งที่กำลังฮิตช่วงนั้นบ้าง ซึ่งบ่งบอกถึงกาลเวลา จนมีนักศึกษาปริญญาโทของธรรมศาสตร์คนหนึ่งมาขอทำวิทยานิพนธ์เรื่องหนูหิ่น

ในเรื่องมีภาพที่บอกว่าตอนนี้อยู่ในช่วงปีอะไร ดูได้จากเพลง สินค้า หรือหนังที่ผมเขียนล้อ แล้วก็มีภาพของอีสานในหนูหิ่นวาไรตี้ ที่เป็นชีวิตวัยเด็กของหนูหิ่น ก็บ่งบอกวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอีสานที่เราอยากจะเขียนถึง เช่น บุญบั้งไฟ แห่กัณฑ์หลอน ไปหาปูหาปลาหาของกินที่บ้านนอก

แต่เอาจริงๆ คนทำงานไม่มีเรื่องบังเอิญ ผมต้องเขียนมาหลายร้อยตอน หนูหิ่นอย่างน้อยก็ 300-400 ตอน ไม่ใช่เขียนเรื่องเดียวแล้วฟลุก ผมต้องหาเรื่อง วางบท วางตัวละคร ความชัดเจนของนิสัยใจคอของแต่ละคน เหมือนทำหนังเรื่องหนึ่ง ต้องมีโปรดักชันที่แน่นอนชัดเจน หนูหิ่นต้องนิสัยอย่างไร คุณมิลค์นิสัยอย่างไร พ่อแม่ เพื่อน สาวด่อนที่เป็นคนผิวเผือกต้องเจอกับอะไรบ้าง เจอการบูลลี่ต่างๆ คิดหมด ไม่ใช่นึกอะไรได้ก็เขียนไป

คนอีสานต้องสู้กับการถูกคนทักหรือล้อเลียนเวลาเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งตัวหนูหิ่นก็เจอบ้างเหมือนกัน คุณตั้งใจสะท้อนเรื่องเหล่านี้ด้วยไหม

ผมก็ไม่ข้ามไปถึงเรื่องนั้นหรอก แต่ก็พยายามทำให้เข้าใจว่าคนเรามีความเสมอภาคกัน สิทธิเท่าเทียมกัน ยิ่งทุกวันนี้ใครไปพูดดูถูกข่มเหงคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ต่อให้เขาไม่ได้เรียนหนังสือหรือยากจนอย่างไร แต่ความคิดของคนจะเท่าเทียมกันเสมอ เหมือนเราไปนั่งฟังชาวบ้านล้อมวงคุยการเมือง เขารู้เรื่องทุกอย่าง มีสิ่งเดียวที่ไม่เท่ากันคือความรวยความจน บางเรื่องเขาไม่รู้เพราะเขาไม่ได้เรียน แต่ถ้าอยู่ที่บ้านเขา เขาคือปราชญ์ ปล่อยเขาทิ้งไว้ไม่มีวันตาย หรือมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีวันตายอีก ความสามารถในการเป็นคนต่างถิ่นของเขาสูง

ผมเองจะไม่สอนใคร ในการ์ตูนหนูหิ่นฯ ผมไม่เคยสอนใคร ใครอยากดูก็ดู พื้นฐานคนซื้อเยอะแค่ไหน เราก็ดูเอา คนอ่านกี่ล้านคน เราก็ดูเอา

คุณเห็นการเติบโตของความนิยมของหนูหิ่นบ้างไหมว่าไปแรงช่วงไหน แล้วมีจังหวะที่ตั้งใจให้แรงขึ้นไหม เพราะมีกราฟของความนิยมที่พุ่งสูงจนมีการเอาไปทำหนัง

ทำไปช่วงปีแรกก็จะมีโพลออกมาแล้ว ฝ่ายบริหารจัดการของเราทำโพลกันเอง ทำไมยอดสูงขึ้นๆ พิมพ์แล้วไม่เหลือกลับ แต่ตัวผมเองรู้เพราะจดหมายมาเยอะ มีคนบอกให้เขียนแนวนั้นแนวนี้บ้าง แทบจะไม่ต้องคิดเรื่องเองเลยเวลานั้น (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นผมกับคนอ่านเหมือนเป็นเพื่อนหรือญาติกัน เวลาไปเจอกันข้างนอกหรือมีคนมาขอลายเซ็น ผมจะไม่บอกว่าผมรีบ มาได้เลย เราต้องคิดและทำให้ได้อย่างนั้น หลังจากไปแจกลายเซ็นก็จะมีจดหมายตามมา ผมไม่เคยเล่นเฟซบุ๊กเลย เพิ่งจะมาเล่น เชิญติดตามได้ที่เพจ หนูหิ่น&คุณมิลค์ และ เอ๊าะ หนูหิ่นอินเตอร์ นะครับ

ตอนที่รู้ว่าหนูหิ่นได้ทำเป็นหนัง ตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไร

ตกใจเหมือนกัน ตอนที่เขาตกลงกันว่าจะทำ บ.ก.ก็มาถามว่า “ยังไงเอ๊าะ ดีใจไหม” ผมก็ตอบว่า “ครับ” จริงๆ ในใจร้องยาฮู!’ (หัวเราะ)

เป้าหมายในการเขียนหนูหิ่นฯ ของคุณคืออะไร นอกจากความสนุกและความเพลิดเพลินของตัวเองแล้ว

ที่ผมบอกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะผมเป็นนักเขียนการ์ตูน ผมอยากประสบความสำเร็จ ผมคิดเสมอว่าผมต้องเป็นหนึ่งในท็อปเท็น เรามายืนอยู่ในอาชีพนี้ เราต้องประสบความสำเร็จไปสู่จุดสุดยอดให้ได้ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าผมวางตัวละคร ตัวโครงงานไว้หมด ต้องมีความชัดเจน คนอ่านต้องเชื่อเรา แต่เราจะไม่สอนใครให้เชื่อในสิ่งที่เราทำ แต่จะบอกเสมอว่าคุณทำดีคุณก็ได้รับความชื่นชม ไม่ต้องปีนบันไดอ่านน่ะ เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะฉะนั้นที่เราเขียนมันถูกจริตคน ไม่สอนคน จะดีที่สุด

อย่าลืมว่าการ์ตูนของผมคนต้องซื้อถึงจะได้อ่าน ไม่เหมือนเราดูทีวีหรือยูทูบที่ทุกวันนี้ฟรีทั้งนั้น ดีไม่ดียังไม่สรุป แต่คนอ่านการ์ตูนเขาต้องจก (ล้วง) กระเป๋าลูกเดียว ฉะนั้นเราต้องคิดเสมอว่าการที่เราจะได้เงินจากใคร เราก็ต้องตั้งใจทำให้ดี

ปัจจุบันคุณมองว่ากลุ่มคนอ่านการ์ตูนเปลี่ยนไปไหม

คนที่รักการอ่านการ์ตูนไม่มีเปลี่ยนใจเลย เขาจะรักสิ่งนี้ แต่สิ่งสำคัญคือเราอยากให้คนรักการอ่าน คุณจะอ่านอะไรก็ได้ แต่เราต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งจะเริ่มที่การ์ตูน ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ไม่เข้าใจในเรื่องแบบนี้ก็เลิกไปเลย เราจะไม่คุยกันเลย เพราะการ์ตูนประเทศอื่นเขาใช้เป็นต้นกำเนิดความคิดและการอ่าน ทำไมคนญี่ปุ่นเขาถึงเรียกคนเขียนการ์ตูนว่าเป็นอาจารย์ ฝรั่งเชิดชูคนเขียนการ์ตูน ทุกวันนี้เอาแต่การ์ตูนไปทำหนัง ดูซูเปอร์ฮีโร่จนเหนื่อย สนุกด้วย แต่ของไทยบางทีพ่อแม่ก็ยังถามลูกว่า “อ่านการ์ตูนทำไม” อยู่เลย

ถ้าจะส่งเสริมวงการการ์ตูนไทย ในฐานะที่คุณอยู่ในวงการ์ตูนมา 40 ปี เห็นจุดแข็งอะไรของการ์ตูนไทย เสน่ห์ของมันคืออะไร และเราจะพัฒนาอย่างไร

นักเขียนการ์ตูนไทยหลายคนเก่งมาก เส้นสายสวยมาก แต่เขาบอดเรื่องการแต่งเรื่อง เราต้องหาเรื่องดีๆ ให้เขา เอาคนเก่งมารวมกัน ช่วยกันทำงาน

คุณไปดูต่างประเทศเขาทำสิ เขาไม่ใช่ฮีโร่คนเดียวเขียนทุกอย่าง ทั้งเขียน ทั้งแต่ง ทั้งลบ ทั้งถมดำ ไม่จำเป็นเลย ต่างประเทศเขาทำเป็นระบบกันมาก ทำมาจะเป็นร้อยปีแล้ว ต้องทำเป็นทีม ถ้าเราทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่มีทางที่เราจะขายต่างประเทศได้ เพราะคนแต่งเรื่องเก่งๆ ไม่ได้มาแต่ง

ถ้าดูนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ คุณเห็นความหวังไหม ในแง่ของฝีมือเฉพาะคน

เยอะเลย เป็นร้อยเป็นพัน ที่มาเขียนขายหัวเราะก็หลายคน เขียนรูปเก่งจริงๆ แต่แต่งเรื่องไม่เก่ง รัฐบาลน่าจะมีงบประมาณให้ ยกตัวอย่างเกาหลี เขามีงบให้เลยนะ กระดาษฟรี ภาษีไม่ต้องจ่าย หรืออย่างหนังเพลง ทำไมเขาขายทั่วโลกได้ เพราะรัฐบาลเขาให้ฟรีหมด แต่ว่าได้กลับคืนมาไง คนไปท่องเที่ยวเกาหลี ซื้อแบรนด์เกาหลี

แล้วตัวคุณเองในฐานะนักวาดการ์ตูน มีการเติมความรู้ใหม่ๆ อย่างไร ปรับสไตล์ตัวเองอย่างไร เช่น บางคนอาจบอกว่าการ์ตูนอย่างหนูหิ่นฯ ขายหัวเราะ มหาสนุก เชยไปแล้ว โลกไปไหนต่อไหนแล้ว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมพร้อมที่จะเปลี่ยนเสมอไม่ว่าเรื่องไหน  ถ้ารักที่จะก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กลัวการตกงาน ไม่กลัวการเริ่มต้นใหม่ เป็นนักเขียนการ์ตูนที่อหังการเนอะ แต่เราต้องกล้าคิดแบบนี้

สไตล์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณวาดอย่างเดียวคุณก็เป็นไป แต่สิ่งที่จะทำให้โลกจดจำคือสไตล์ของคุณ ตอนนี้ผมหาสไตล์เจอ ไปที่ไหนคนก็เห็น ลายเซ็นเอ๊าะเป็นแบบนี้ ต่อให้ผมเปลี่ยนลายเส้นหรือสีที่ต่างไป แต่ว่ายังมีลายเซ็น นี่คือความพิเศษของคนที่จะมีสักอาชีพ เราต้องมีสไตล์ของตัวเอง

แก่นคิดในการทำงานที่คุณยึดถืออยู่ตลอดที่นำมาสู่สไตล์ของคุณคืออะไร

เราต้องเป็นผู้รับฟัง รับชม และทันเหตุการณ์อยู่เสมอ เพราะทุกวันนี้ทุกสิ่งเปลี่ยนไปเร็วมากเพราะโซเชียลมีเดีย ผมเองก็อยู่กับสื่อพวกนี้เยอะ จนบางทีลูกบอกว่าพ่อไถแต่มือถือ เอ้า นี่ลูกยังไม่รู้อีกเหรอว่าที่พ่ออยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอะไร (หัวเราะ) บางทีพวกแก๊ก ความคิดของเด็กรุ่นใหม่ หรือเพลงหนังที่กำลังเป็นกระแส พวกนี้จะไปเร็วมากถ้าเราไม่รีบทำตอนนี้ หรือถ้าเรามัวแต่ก้มหน้าก้มตาเขียนรูปคนสำคัญขาย มันไม่ได้ ผมไม่เคยเขียนพวกนั้นขายเลย ผมเขียนเหตุการณ์ของคนธรรมดาเพื่อคนธรรมดา

คนเราจะพิเศษได้ต้องเริ่มจากความธรรมดา เราขายความเป็นคนธรรมดา แต่คนทำงานต้องเป็นคนพิเศษ

ถ้าให้คุณนิยามความรักในงานของตัวเอง คุณจะนิยามอย่างไร

เดอะเบสต์เลย สุดๆ ผมรักงานของผมทุกชิ้นเลยนะ เพราะงานที่ตีพิมพ์มันหล่อเลี้ยงชีวิต งานทุกเรื่องที่ทำ พวกเคนนี่ หอย บ๋อยอินเตอร์ พวกซนแสบใส แต่ใจเดียวกัน มีคนรักหมด

สำหรับที่บรรลือสาส์น เหมือนเราผูกใจให้กัน ผมไม่เคยเขียนการ์ตูนลักษณะอย่างนี้ไปให้ค่ายอื่นเลย ทั้งๆ ที่หลายค่ายอยากได้งานผม ผมบอกว่าทำให้ที่เดียว ซึ่งที่นี่ดูแลดีมาก

ถ้าสังเกต งานคุณมักเป็นงานฟีลกู๊ด อ่านสบายๆ

ใช่ เป็นงานที่ผ่านจิตใจที่ดีงามของผม (หัวเราะ) เป็นคนอบอุ่น คนหน้าตาดีที่ได้ทำงานที่รัก มอบให้กับคนที่เรารักทุกคน และเมื่อไหร่ที่เราได้ทำงานที่เรารัก มันเหมือนไม่ใช่งาน จะไม่เหนื่อยไม่ท้อ ไม่เสียพลังงานเยอะเลย ผมทำงานเขียนการ์ตูน ไม่เหนื่อยเลย

ถ้าจะฝากอะไรถึงคนที่จะกำลังจะเข้ามาในสายงานวาดรูปเขียนการ์ตูนนี้ แล้วเขารู้สึกว่าไม่เห็นทางข้างหน้า อาจจะยังจนอยู่ หรือทำแล้วไม่มีคนมองเห็น คุณจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น

ทุกอาชีพมีความสำเร็จรอคุณอยู่เสมอ คุณต้องมีศรัทธาว่างานเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงชีวิตคุณได้ หรือแม้แต่ทำให้รวยได้ มีวิธีวาดรูปและขายรูปมากมาย คุณต้องเรียนรู้

ถามว่าถ้าเราเริ่มใหม่ๆ จะไส้แห้งไหม ก็มีโอกาสไส้แห้ง แต่ถ้ามีครอบครัวซัปพอร์ตได้ดีก็ตั้งใจทำเลย เรียนรู้เยอะๆ แล้วต้องทำให้จริง ทำให้เยอะหน่อย คนเราจะประสบความสำเร็จได้ในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ไม่ควรทำงานพวกนี้น้อยกว่า 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าน้อยกว่านั้นถือว่าทำไม่เท่ากับคนทำงานออฟฟิศ เราต้องวาดให้ได้ นั่งสถิตอยู่กับมันให้ได้เกินนั้น เขาจะยกย่องคนที่นั่งทำงานได้แบบนี้ว่ามีพรสวรรค์ ต้องอยู่กับงานได้เกิน 8 ชั่วโมง การซ้อมกีฬา การซ้อมดนตรี การคิดคำนวณที่มีพรสวรรค์ต่างๆ ต้องทำให้มาก ต้องรักจริง ถ้ารักจริงจะไม่ท้อหรอก ก็เริ่มจากศูนย์ทั้งนั้นแหละ

เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจคิดว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นยุคบุกเบิกเหมือนรุ่นพี่ๆ แล้ว มองไปทางไหนก็การแข่งขันสูง ค่าใช้จ่ายสูง ยุคสมัยไม่เหมือนกัน คุณมองอย่างไร

ก็คิดใหม่เสียสิ โอกาสเหมือนบ่อน้ำ ไม่มีบ่อน้ำไหนเคลื่อนมาหาเราเอง เราต้องเดินเข้าไป ถ้าคุณมีโอกาสสักสองครั้งในชีวิตก็ถือว่าเป็นโชคของคุณแล้ว

ผมเคยละทิ้งโอกาสเพราะอีโก้จัด ทำให้เสียเวลาไปสองปี แต่ไม่ได้เสียใจนะ เพราะได้ไปทำในสิ่งที่เรารักทั้งนั้น อย่าคิดแค่ว่าข้างหน้าเป็นหลุมโคลน จริงอยู่ว่าระหว่างทางเราต้องคิดบ้างว่าจะยากลำบากแค่ไหน แต่เราควรที่จะคิดถึงปลายทางด้วย ปลายทางที่ว่าไม่ได้หมายถึงการประสบความสำเร็จหรือเงินก้อนโตรออยู่นะ แต่หมายถึงมีสิ่งที่เรารักรออยู่ เราต้องได้ไปทำในจุดนั้น พอถึงเวลาได้ทำในจุดนั้น สิ่งที่เราผ่านไปจะถือเป็นเรื่องยิบย่อยมาก ผมเคยเขียนงานได้ต้นฉบับแผ่นละยี่สิบบาท ทุกวันนี้ไม่ต้องบอกว่าได้เท่าไหร่

คุณต้องรอให้เป็น เหมือนชาวไร่ชาวสวน ทุเรียนต้นหนึ่งเขาใช้เวลา 7 ปี ในระหว่างนี้ก็ควรปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลจากทุเรียน หลังจากนั้นคุณจะเก็บอย่างเดียว เหมือนที่ผมตะบี้ตะบันเขียนการ์ตูน กว่าหนูหิ่นฯ จะเกิด กว่าจะมีชื่อเสียง 15 ปีนะ แล้วผลจะทยอยตามมาเอง

เป็น 15 ปีที่สุขมากกว่าทุกข์ไหม

สุขสิ เราทำในสิ่งที่เรารัก ที่ทำอยู่ไม่ใช่ว่ารายได้น้อยนะ ชื่อเสียงเรามีแต่เป็นที่กล่าวขานในวงแคบๆ เพราะเราไม่อยู่ในจุดที่เหมาะสม ถ้าสถานที่ จังหวะเวลา ผู้คน และโอกาสมารวมกันอย่างเหมาะสมจะเพอร์เฟกต์ทันที ที่บรรลือสาส์นให้โอกาส มีผู้คนที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี เจ้านายสนับสนุนดี สถานที่ดี เป็นที่ทำงานที่กระจายงานได้ดี จังหวะเวลาดี

เราต้องรอจุดนั้นให้เป็น ต้องทนให้เป็น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save