fbpx

ความน่าจะอ่าน 2021 : The Finalists (ตอนที่ 2)

ความน่าจะอ่านดำเนินมาถึงปีที่ 5


แน่นอนว่าเรายังมีนายกรัฐมนตรีคนเดิม โดยที่นักประวัติศาสตร์อาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ หรือนักรัฐศาสตร์อยากจะเขียนถึงประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ แล้วก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังต่อสู้กันอยู่

ถ้าเราคิดว่าปี 2020 นั้นสาหัสแล้ว ปี 2021 ที่จุดบุหรี่รอซ้ำเติมคงยิ้มเยาะแล้วบอกเราว่า ที่เจอมานั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะดูเหมือนว่าความสาหัสจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่ยิ่งทวีคูณความโหดร้ายขึ้นซ้ำๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ จนทำให้ร้านค้าและผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียงานของตัวเอง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนขยับไปอย่างเชื่องช้า ยังไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และการทำร้ายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ถอยหลังในประเทศไทย

เราเผชิญและ ‘อ่าน’ เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนการซ้อมตกนรก” นั่นจึงทำให้เราเลือกที่จะตั้งคอนเซ็ปต์ของปีนี้ไว้ว่า ‘อ่านอะไรในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’

เพราะว่าคำว่า ‘ยิ่งกว่า’ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากมองจากสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้

ในความน่าจะอ่าน 2021 นี้ เราชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จนได้หนังสือกว่า 130 เล่ม หลากหลายทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และการ์ตูน หลายเล่มช่วยต่อจิกซอว์ให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น หลายเล่มช่วยให้เราเห็นแก่นของปัญหา และอีกหลายเล่มก็ช่วยปลอบประโลมหัวใจเราในวันที่เหนื่อยล้า

บรรทัดถัดไปจากนี้คือรายชื่อหนังสือ Finalists ชุดที่ 2 จาก 20 คนที่เลือกหยิบหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน น่าละเลียด พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราจึง ‘น่าจะอ่าน’ หนังสือเล่มนี้

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 1 ได้ที่นี่

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 3 ได้ที่นี่


อนุรุทธ์ วรรณพิณ และ นัฏฐกร ปาระชัย

ร้านหนังสือออนไลน์ Readery


เล่มที่แนะนำ :

1. แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive)

ผู้เขียน: Matt Haig

ผู้แปล: ศิริกมล ตาน้อย

สำนักพิมพ์: bookscape


“ความรู้สึกของคนเป็นโรคซึมเศร้าเหมือนมีไฟไหม้อยู่บนหัวแต่ไม่มีใครเห็น แต่แมตต์ เฮกมองเห็นเพราะอดีตเขาเคยเป็นโรคนี้ถึงขั้นจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนเราได้เจอเพื่อนที่เข้าใจเราในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดกับใครได้ เหมือนเขาเข้ามานั่งอยู่ในใจเราเลย หรือมองในอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่อยู่กับคนใกล้ตัวที่มีอาการซึมเศร้านี้ จะทำให้เข้าใจเขาและช่วยเขาได้ดีมากๆ เลย”

2. อย่ายอม (Untamed)

ผู้เขียน: Glennon Doyle

ผู้แปล: K.D.

สำนักพิมพ์: Amarin HOW-TO


“ปีนี้ถ้าเลือกหนังสือได้เล่มเดียว จะเลือกเล่มนี้ Untamed เริ่มต้นเล่าเรื่องเสือชีตาร์ที่ถูกจับมาไว้ในสวนสัตว์แล้วเลี้ยงคู่กับหมาลาบาดอร์จนเชื่อง เสือถูกฝึกให้แสดงโชว์วิ่งไล่จับตุ๊กตากระต่ายเน่าๆ ท้ายรถกระบะ ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เราทบทวนตัวเองว่า เราเองล่ะถูกใครหรือสังคมภายนอกฝึกให้เราเชื่องแบบนี้หรือเปล่า ลองสำรวจความคิดตัวเองดูว่า ที่เราคิดแบบนั้นเราคิดเองจริงๆ หรือเพราะโรงเรียน เพื่อน หรือข่าวชวนเชื่อได้กล่อมเกลาความคิดของเราให้เชื่อตามๆ กัน เล่มนี้คือสอนให้เราขบถโดยแท้เลย”

3. ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (The Alchemist)

ผู้เขียน: Paulo Coelho

ผู้แปล: กอบชลี และ กันเกรา

สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์


“หนังสือเล่าเรื่องราวการผจญภัยของเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะ ที่ออกเดินทางค้นหาขุมทรัพย์ในทะเลทรายอันไกลโพ้น ซึ่งเล่าได้อย่างสนุกสนานตามขนบนิยายผจญภัยอยู่แล้ว แต่มันเป็นหนังสือที่มีการผจญภัยอีกชั้นหนึ่งที่เล่าไปพร้อมๆ กัน มันคือการค้นหาขุมทรัพย์ภายในใจของเราทุกคน อ่านไปก็จะอดคิดไม่ได้ว่า อะไรคือขุมทรัพย์หรือสิ่งสำคัญในชีวิตที่เรากำลังค้นหากันแน่ ใครได้อ่านเล่มนี้อยากแนะนำมากๆ ว่าการผจญภัยของเด็กหนุ่มที่ว่าสนุกแล้ว แต่ลองให้ตัวเองได้ผจญภัยหาขุมทรัพย์ของตัวเองไปด้วย จะสนุกขึ้นมากๆๆๆๆๆ”


ศิวะภาค เจียรวนาลี

สำนักพิมพ์ a book


เล่มที่แนะนำ :


1. แปดขุนเขา (Le otto montagne)

ผู้เขียน: Paolo Cognetti

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี


“มีหนังสือบางเล่มที่เราไม่สามารถเล่าหรือแนะนำอะไรให้ใครมากนัก นอกจากอยากให้อ่านเอง แปดขุนเขาเข้าข่ายนี้ มันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว คู่รัก โดยมีภูเขาเป็นตัวละครสำคัญได้อย่างกลมกล่อมและตราตรึงมาก”

2. Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น

ผู้เขียน: กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura)

สำนักพิมพ์: The Cloud


“หนังสือธุรกิจและการตลาดที่ไม่ได้พูดแต่เรื่องตัวเลข แต่พูดถึงความจริงใจ ความใส่ใจ และเหตุผลในการมีชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นหัวเชื้อสำคัญของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน มีหัวใจ และมีความสุข”


3. วิชารู้รอบ (RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World)

ผู้เขียน: David Epstein

ผู้แปล: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“คนที่เก่งเหมือนเป็ด ทำอะไรได้หลายอย่างแบบไม่ลงลึกเจาะจงดูจะมีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย หนังสือเล่มนี้อธิบายว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น แท้จริงแล้วการเป็นเป็ดมีข้อเสียมั้ย ข้อมูลบางส่วนน่าจะเปลี่ยนความเชื่อด้านการศึกษาแบบพลิกฝ่ามือได้เลย แนะนำสำหรับคนสนใจงานแนว non-fiction ได้อ่านเพื่อศึกษาวิธีการเขียนครับ”


ธัชชัย ธัญญาวัลย

สำนักพิมพ์ ArtyHouse


เล่มที่แนะนำ :

1. คิด, เร็วและช้า (Thinking, Fast and Slow)

ผู้เขียน: Daniel Kahneman

ผู้แปล: จารุจรรย์ คงมีสุข

สำนักพิมพ์: WE LEARN


“ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อันเก่าแก่บอกเราว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และตัดสินใจด้วยเหตุผล แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบใหม่ว่า แท้แล้วมนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลในการตัดสินใจแต่อย่างใดเลย หนังสือเล่มนี้พาเราเข้าไปวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องราวดังกล่าว”

2. เข้าใจให้ลึกซึ้ง 3 อินดิเคเตอร์หลัก EMA MACD RSI

ผู้เขียน: Daddy Trader

สำนักพิมพ์: พราว


“เป็นหนังสือที่นักลงทุนหรือผู้ที่สนใจการลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าควรอ่าน เพราะนี่คือวิธีการใช้ indicator ที่ถูกต้อง ใช้ภาษาเข้าใจง่าย มีภาพประกอบชัดเจน และที่สำคัญคือเขียนโดยเซียนหุ้นตัวจริง มีประสบการณ์จริง และสามารถทำเงินในตลาดได้จริง”

3. ยูรากิโซ ที่นี่ผีน่ารักนะ เล่ม 24

ผู้เขียน: Tadahiro Miura

สำนักพิมพ์: Siam Inter Comics


“เล่มนี้เป็นเล่มจบ หลังจากที่ลากยาวกันมานาน ส่วนจะจบแบบไหนอย่างไรนั้น คิดว่าแฟนๆ คงจะเดาทางกันได้  

นอกจากภาพสวยๆ แล้ว และประเด็นเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้วิญญาณทั้งหลายเป็นทุกข์ไม่ยอมไปสู่สุคติแล้ว

มันก็ยังพาเราไปรู้จักผีประเภทต่างๆ ของญี่ปุ่นได้อย่างมีจินตนาการและสนุกสนาน”


ชาตรี ลีศิริวิทย์

สำนักพิมพ์ Animag


เล่มที่แนะนำ :

1. เดชคัมภีร์กระบี่เก้า ฉบับเก้าเอี้ยง เก้าอิม

ผู้เขียน: เก้ากระบี่เดียวดาย

จัดทำและจัดจำหน่าย: ริทธิเมธ ทับสุวรรณ


“รวมบทความจากเพจเก้ากระบี่เดียวดาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับดารา และภาพยนตร์จีนจากฮ่องกงในยุค 1980 s- 1990 s

ซึ่งหลายๆ บทความ เราก็มีความรู้สึกร่วมไปกับคนเขียนว่า เออ เราก็ทันยุคพวกนี้เหมือนกันนะ

บทความแนะนำ

  • เถียนมีมี่ รักไร้ราก (ตอนดูหนังไม่ได้คิดขนาดนั้น พอได้อ่าน โอ้ มันคิดได้ถึงขนาดนี้เลย ?)
  • นกไร้ขาใต้เงาพระจันทร์ (พูดถึงเลสลี่ จาง)
  • ตำนานหนังเกรดสาม (อันนี้เป็นความรู้สึกร่วมสมัย เพราะทันหนังสือที่พูดถึงในบทความเกือบทุกเรื่อง)”

2. Manchester is Red

ผู้เขียน: วิศรุต วิเคราะห์บอลจริงจัง

จัดทำโดย: บริษัท จริงจังฟุตบอล จำกัด


“รวมบทความจากเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ตัวผู้เขียนไม่ได้เป็นแฟนทีมนี้ แต่เขียนถึงแฟนทีมนี้ และเอามาขายให้แฟนทีมนี้อย่างจริงจัง

เจอเพจ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง”’ตอนที่เขียนมินิซีรีส์ จอร์จ เบสต์ จากนั้นก็ตามอ่านมาตลอด (ยกเว้นเวลาพูดถึงอีกทีมหนึ่ง)

บทความแนะนำ

  • The Munich Air Disaster
  • George Best
  • Ole Gunnar Solskjaer”

3. Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น

ผู้เขียน: กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura)

สำนักพิมพ์: The Cloud


“รู้จักเล่มนี้เพราะคุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัยโพสต์ในเพจของเขา เป็นการพูดถึงการตลาดแบบญี่ปุ่น โดยหยิบเอาเคสการตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ มานำเสนอ

บทความแนะนำ

  • ทำให้พนักงานทุกคนมีหัวใจการตลาด (พูดถึงร้านเบนโตะ ที่รับพนักงานจิ๊กโก๋กับพฤติกรรมของพวกเขาที่ทำให้อึ้งว่า แบบนี้ก็ได้ด้วย)
  • ระหว่าง passion กับ purpose (พูดถึงร้านเต้าหู้และทายาทของเขา)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอ่านของตัวเอง พบว่าตั้งแต่ปีที่แล้ว อ่านแต่บทความในเพจเป็นหลัก แต่พอรวมเล่มก็ตามมาซื้อด้วย ดังนั้นบทความในเพจจึงเป็นสินทรัพย์ และช่องทางสำคัญที่ผู้เขียนทั้งโฆษณา โปรโมต สร้างความนิยมได้อย่างต่อเนื่อง

สองในสามเล่ม จัดพิมพ์โดยเจ้าของเพจเอง แม้ว่าจะมีลักษณะแบบ limited (พิมพ์จำนวนจำกัด) แต่มันก็ประสบความสำเร็จในการขายแบบจริงจังได้ด้วย”


อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา

สำนักพิมพ์ OMG


เล่มที่แนะนำ :

1. เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์

ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม

ผู้แปล: สุชานาฎ จารุไพบูลย์

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“ผู้เขียนมองระบบทุนนิยมในยุคนี้ด้วยสายตาของฝ่ายซ้ายใหม่ ว่าทุนนิยมได้ยกระดับเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจโต้แย้งของชีวิตมนุษย์และระบบสังคมไปแล้ว (สัจนิยมแบบทุน) แทนที่จะถูกมองว่าเป็นเพียงชุดอุดมการณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง หนังสืออธิบายว่าสัจนิยมแบบทุนนี้เข้าครอบครองทุกปริมณฑลความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างไร รวมถึงเข้าไปกำหนดว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถเข้าใจปัญหาทางจิตใจและพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากโดยไม่พิจารณาระบบคิดและโครงสร้างของสัจนิยมแบบทุนนี้ด้วย อ่านแล้วชวนให้เศร้าซึมแต่ก็ให้แรงบันดาลใจไปพร้อมกัน เป็นแรงบันดาลใจให้เราหาทางทลายหรือเป็นอิสระจากการครอบงำเบ็ดเสร็จของโลกสัจนิยมแบบทุน”

2. ความถูกต้องอยู่ข้างใคร (The Righteous Mind)

ผู้เขียน: Jonathan Haidt

ผู้แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ

สำนักพิมพ์: Be(ing)


“ถ้าคุณเบื่อหน่ายความเกลียดชังและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้คนในสังคมเต็มที เบื่อการแปะป้ายตีตรากันและกันอย่างตื้นเขิน กระทั่งเบื่อตัวเองที่เกลียด ‘ฝ่ายตรงข้ามทางความคิด’ จนจิตใจแผดเผาตลอดเวลา รวมถึงอยากเข้าใจตัวเองและเพื่อนร่วมสังคมให้มากขึ้นท่ามกลางความแตกแยกร้าวลึกนี้ ถ้าคุณพร้อมที่จะทบทวนตัวเองบ้าง เข้าใจคนอื่นบ้าง หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก”

3. เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)

ผู้เขียน: Abhijit V. Banerjee, Esther Duflo

ผู้แปล: ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“ช่วยให้เรามอง ‘ความยากจน’ ด้วยสายตาใหม่ ให้เข้าใจวิธีคิดและวิธีตัดสินใจจริงๆ ของ ‘คนจน’ กับเรื่องต่างๆ ในชีวิต ทั้งสุขภาพ การศึกษา การออม การใช้จ่าย การทำมาหากิน ฯลฯ ให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงภาวะเงื่อนไขที่แวดล้อมความยากจน รวมถึงว่าทำไมเราถึงหลุดจากความจนได้ยาก มันมีพลังอะไรขับเคลื่อนบีบรัดอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อแนวนโยบายแก้ปัญหาความยากจนด้วย เป็นหนังสือที่มาจากการเข้าไปศึกษาความยากจนในโลกจริง อ่านแล้วอาจช่วยให้เราเห็นใจคนทุกข์ยากมากขึ้นด้วย”


ชมพูนุท ดีประวัติ

สำนักพิมพ์อมรินทร์


เล่มที่แนะนำ :

1. เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)

ผู้เขียน: Abhijit V. Banerjee, Esther Duflo

ผู้แปล: ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“สถานการณ์สองปีที่ผ่านมา น่าจะพูดได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คนไทยชนชั้นกลางเดินทางเข้าใกล้คำว่า ‘จน’ มากที่สุด และอีกนับไม่ถ้วนที่สูญเสียรายได้ยาวนานจนถูกผลักลงไปเป็นชนชั้นล่างเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เราก็ได้เห็นเช่นกันว่าคนที่อยู่ชั้นบนของระบบเศรษฐกิจนั้นได้รับความกระทบน้อยกว่ามากแค่ไหน เราเห็นชัดขึ้นว่าพวกเขาถูกห่อหุ้มไว้ด้วยฟูกแห่งความมั่งคั่งสะสม ที่พอกหนาขึ้นอย่างมีอัตราเร่ง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจไม่เคยปรากฏชัดเท่านี้

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยสองนักเศรษฐศาสตร์ที่เจาะลึกศึกษาเศรษฐศาสตร์ของคนจนทั่วโลก จนพวกเขาได้รางวัลโนเบล เพราะงานวิจัยของพวกเขาเขย่าความคิดคนทั้งโลกให้เห็นว่าปัญหาความยากจนจริงๆ ประกอบขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง มันซับซ้อนกว่าที่คิด มันสะเทือนใจกว่าที่คิด เมื่อรู้ว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกระบบทุนที่กดทับคนจนอยู่เช่นกัน และวิกฤตโควิด-19 ควรเป็นหมุดหมายสำคัญให้เราสนใจเแก้ปัญหาความจนอย่างด้วยยุทธศาสตร์ที่รัดกุม เข้าถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

2. เลโอนาร์โด ดา วินชี (LEONARDO DA VINCI)

ผู้เขียน: Walter Isaacson

ผู้แปล: บัญชา ธนบุญสมบัติ

สำนักพิมพ์: Be(ing)


“ช่วงเวลาอันแล้งไร้ซึ่งความฝัน (เช่นตอนนี้) เป็นเวลาที่เราควรย้อนกลับสู่ปัญญาแห่งอดีต ไอแซคสันเป็นนักเล่าเรื่องบุคคลที่เหมือนพาเรากลับไปใช้ชีวิตกับบุคคลนั้น ได้อยู่ในชีวิตเขาอย่างใกล้ชิด และเมื่อถูกกักตัวในเมืองใหญ่ที่เงียบเหงาของเรา ไม่มีอะไรจะเข้าท่ากว่าการย้อนไปใช้ชีวิตในนครฟลอเรนซ์ ในวันเวลาที่เรืองรองที่สุดของมัน

ฟลอเรนซ์ในยุคของเลโอนาร์โดคืออู่ข้าวอู่น้ำแห่งศิลปวิทยาการ ดินแดนที่มีช่างแกะสลักไม้มากกว่าคนขายเนื้อ มีตำแหน่งงานอันมั่นคงสำหรับอาจารย์ด้านศิลปะ มีความรู้เสรีสำหรับทุกคน และ ‘ไม่มีที่ใดในโลกจะงดงามเกินกว่า’ นครแห่งนี้ในยุคทองของมันจึงสร้าง ‘บุรุษผู้ใฝ่รู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย’ อย่างเลโอนาร์โด ทั้งที่เขาไม่ได้มีจุดเริ่มต้นเหนือกว่าใครเลย และก็ไม่ใช่เพราะมีพรสวรรค์จากฟ้า

หนังสือเล่มนี้ไม่ทำให้เราเห็นเลโอนาร์โดเป็นเทพหรือปีศาจ แต่เป็นคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมาย มีความสนใจมากเกินไป รับงานไว้ก็ทำไม่เสร็จ แต่ความกระหายในความรู้ทุกแขนง และเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ฟูมฟักประชาชนของมันให้เติบโตอย่างละเอียดอ่อน และนั่นคือสิ่งที่เราต้องอ่านเพื่อเตือนใจ ว่าเมืองของเราควรเป็นเช่นไร ความคิดสร้างสรรค์งอกงามได้เช่นไร ในชีวิตของคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง”

3. แมววัด

ผู้เขียน: ยูโตะ ฟุคะยะ

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ


“หนึ่งในโครงการที่สดชื่นและน่าให้กำลังใจที่สุดของปี คือโครงการ ‘เด็กสมุดบันทึก’ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ก่อร่างบนศรัทธาอันแข็งแกร่งที่มีต่อศักยภาพของเด็ก ด้วยเชื่อว่ามนุษย์ที่รักษาความบริสุทธิ์ สัตย์ซื่อต่อตนเองไว้ได้ คือหนทางรอดของโลกใบนี้ การเขียนบันทึกคือการหล่อหลอมทักษะนั้นลงไปในจิตใต้สำนึกอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อหล่อหลอมแต่เด็ก เราจะได้พบพลังงานอันสดใหม่ มีชีวิตชีวา

เล่มนี้เป็นบันทึกของเด็กชายคนหนึ่งในโครงการชื่อ ยูโตะ ฟุคะยะ เป็นเด็กลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น มาอยู่เมืองไทยตอน 6 ขวบ เริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่ 7 ขวบ เขาบวชเณรที่วัดป่าในจังหวัดขอนแก่น และเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแมวจรในวัด ไม่มีอะไรตื่นเต้นเร้าใจ ไม่มีพล็อตทวิสต์ ไม่มีตัวเอกตัวร้าย ไม่มีเทคนิคการเล่าเรื่องอะไรทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นคุณหาได้ในเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเราก็เสพกันทุกคืนอยู่แล้ว การอ่านเล่มนี้จะมอบเพียงความรู้สึกบริสุทธิ์ สะอาด กลับสู่จิตใจเรา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะหาจากไหนได้อีก”


รังสิมา ตันสกุล

สำนักพิมพ์ Library House


เล่มที่แนะนำ :

1. ความรักของวัลยา

ผู้เขียน: เสนีย์ เสาวพงศ์

สำนักพิมพ์: มติชน


“อ่านนวนิยายที่มีฉากหลังเป็นมหานครปารีสมาก็มาก แต่มีวรรณกรรมไทยเรื่องนี้ที่รู้สึกใกล้ตัวและเชื่อมโยงได้มากที่สุด เป็นความละเอียดอ่อน ละเมียดละไม ทั้งในสารที่สื่อออกมาเป็นภาษาเขียน และความรู้สึกที่เราได้หลังการอ่านครั้งแรกและทุกๆ ครั้งที่อ่านซ้ำ ตัวละครหลายตัวเป็นเหมือนคนที่รู้จัก อุดมการณ์ จุดยืนทางความคิด และความรักแบบนั้นก็ยังทอดยอดเรื่อยมาถึงวันนี้ กลายเป็นความคลาสสิกชวนสัมผัส ควรค่าแก่การอ่านและส่งต่อในวงศ์วานนักอ่านรุ่นต่อรุ่น”

2. ตึกกรอสส์ และรวมเรื่องเอก

ผู้เขียน: อ.อุดากร

สำนักพิมพ์: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์


“จะมีเรื่องสั้นไทยสักกี่คอลเลกชันที่พิมพ์ซ้ำออกมาแล้วน่าตื่นตะลึงได้เสมอ ตึกกรอสส์เป็นเอกในหมู่นั้น อ่านครั้งแรกตอนมัธยมต้น ปลายประสาทยังชา อักเสบ ใจยังเต้นรัวมาถึงวันนี้ ใครว่าเป็นเรื่องสั้นชั้นครู เราคิดว่าเป็นชั้นครูของครูอีกทีมากกว่า ถ้านับว่าอายุวรรณกรรมและผู้ประพันธ์นับร้อยปี ยิ่งคิดว่าความฉลาดและพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ของนักเขียนไทยนั้นมีมานานแล้ว (ขึ้นอยู่แค่ว่าจะถูกสนับสนุนผลักดันแค่ไหนด้วย) เป็นอีกเล่มที่พิมพ์ซ้ำใหม่ล่าสุด หน้าปกขึงขัง แนะนำให้คนไม่เคยอ่านได้อ่าน และคนที่เคยอ่าน ลองกลับไปอ่านอีก”

3. How I Love Myself

ผู้เขียน: ภาริอร วัชรศิริ

สำนักพิมพ์: Bunbooks


“คนที่ต้องเผชิญชะตากรรมโหดร้าย เส้นทางเดินไม่เป็นอย่างใจ แต่สามารถก้าวผ่านมาได้ลุล่วงด้วยดีนั้นเก่งมาก แต่คนที่สามารถเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็นเรื่องเล่าและเขียนได้ดีด้วยยิ่งเก่งกว่า เพราะการกะเทาะเอาความทรงจำและแกะบาดแผลที่อาจตกสะเก็ดไปเยอะแล้ว ออกมาตีแผ่อีกครั้ง ทางหนึ่งในเชิงจิตวิทยามันคือการตอกย้ำตัวเอง แม้ว่าจะดูเหมือนเยียวยาที่ได้เล่าได้ระบาย แต่การบันทึกให้เรื่องพวกนี้อยู่กับเราต่อไปไม่ลบเลือนไปไหน ลึกๆ ก็มักเปิดให้เราแอบร้องไห้ได้อยู่ดี หนังสือเล็กๆ จากนักเขียนเล็กๆ เล่มนี้คือประสบการณ์การดูแลบุคคลอันเป็นที่รัก จนตัวเราแทบไม่เหลือแรง เป็นข้อเขียนที่อ่านง่ายแต่ให้พลังสูงมาก แนะนำให้อ่าน โดยเฉพาะกับคนที่กำลังสูญเสียแต่ไม่อยากเสียศูนย์”


ประธาน ธีรธาดา

นิตยสาร Art4D


เล่มที่แนะนำ :


1. ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

ผู้เขียน: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

สำนักพิมพ์: Salmon Books


“เพียงหน้ากระดาษ 10 แผ่นแรกของ ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังผู้เดียว ของปาณิส โพธ์ศรีวังชัย จัดพิมพ์โดย Salmon ก็คุ้มค่าราคาหน้าปกแล้ว 10 แผ่นนี้ประกอบด้วยคำนำ 3 บท

บทแรกโดยสำนักพิมพ์ขึ้นต้นด้วย ‘ความหวัง’ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ‘ความฝัน’ งานสารคดีของปาณีส 12 ชิ้น ที่คัดสรรมาจากเว็บไซต์ The101.world + หนึ่งชิ้นใหม่ เล่าเรื่องชีวิตเล็กๆ ของคนชายขอบในสังคมเชื่อมโยงกับโครงสร้างรัฐ และกลุ่มทุนที่คอยทำหน้าที่ผูกขาดความหวังและฉกฉวยโอกาส… บทนี้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ‘เพราะทุกคนมีความฝัน, และตราบใดที่ยังหายใจ เราต้องมีความหวังไว้ในครอบครอง’ เรียบง่ายโดนใจราวกับอินโทรซีรีส์ Game of Thrones เราหลับตานึกถึงภาพสงครามการต่อสู้แย่งชิงความหวังนั้นมาครอบครอง…

บทที่สองคือไคลแม็กซ์โดยแท้ ‘ถ้า…’ โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนในดวงใจของเราและคนรักหนังสืออีกไม่น้อยแน่ๆ เนื้อความในบทนี้บรรยายถึงตัวนักเขียน เรานึกภาพตามไปเห็นผู้หญิงตัวผอมๆ หมวยๆ ใส่แว่นท่าทางเอาเรื่องอยู่ เพิ่งจะรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่แท้ ปาณิสเป็น ‘นักดื่ม’ หรืออีกคำที่น่ารักน่าเอ็นดูกว่านั่นก็คือ ‘ปีศาจสุรา’ “ใครคือปีศาจสุราที่มีเสน่ห์ กวนตีน ซิวิไลซ์ น่าใช้เวลาดื่มด้วย ใครคนหนึ่งที่ผมนึกถึงทันทีก็คือ ปาณิส วรพจน์ยังได้บรรยายถึงสำนักจอมยุทธต่างๆ บนเส้นทางนักเขียนจาก Writer ถึง 101 ที่ล้วนมีส่วนช่วยบ่มเพาะความเป็นปาณิสในวันนี้ขึ้นมาให้สังคมสื่อสารมวลชนของเราได้ภาคภูมิใจ

บทที่สาม คำนำผู้เขียน ‘กลับบ้าน’ มันคือหนังสั้นที่เล่าเรื่องแบบค่อยๆ ย้อนหลังกลับจาก สนามบินดอนเมืองถอยกลับไป สนามบินนานาชาติฮ่องกง แล้วถอยหลังต่อไปยังเมืองฮ่องกง ภาพตัดไปที่เหตุการณ์ประท้วงวุ่นวาย แก๊สน้ำตา ภาวะชุลมุน… ‘ฮ่องแน้ม’ สำเนียงไทยที่ปาณิสเริ่มได้รับการสื่อสารด้วยในขณะเดินทางต่างถิ่น “ถ้าอยากจะเข้าใจวิธีคิดของใคร ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนั่งข้างเขาและมองโลกในทัศนวิสัยแบบเขา” มันคือใช่เลยน้อง นั่นคือหนทางที่เรียบง่ายที่สุดแล้วในการทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตมนุษย์ด้วยกัน

เราเลียนแบบโครงสร้างการเขียนคำนำผู้เขียน ด้วยการอ่านหนังสือย้อนหลังขึ้นมา เริ่มจาก ‘เด็กเมื่อวานซืน’ ‘50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ฯ’ ไล่มาจนถึง ‘ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน’ ทุกบทเข้มข้น เร้าความรู้สึก เต็มไปด้วยพลังแฝงอัดแน่น… ขอไม่สปอยล์เนื้อหาแล้วกัน โดยภาพรวมมันคือการรับฟังความฝันของผู้คน ในฝันนั้นพวกเขาต่างได้อาศัยอยู่ในบ้านที่น่าพึงพอใจ”

2. พวกฉัน พวกมัน พวกเรา (Moral Tribes)

ผู้เขียน: Joshua D. Greene

ผู้แปล: วิลาสินี ฤกษ์ปฎิมา เดอเบส

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“ในวันที่เขียนนี้ เพื่อนๆ บนฟีด FB พากันโพสต์ภาพเก่าๆ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 โดยพร้อมเพรียง เข้าใจว่าเป็นการตอบโต้คนที่แต่งกายใส่สูท สะพายกล้องถ่ายรูป และบังเอิญปิดตาไปข้างหนึ่ง ‘หลายคนเหลืออดที่มีคนย่ำยีรัชกาลที่ 9 เลยแสดงจุดยืนความรักที่มีต่อพระองค์ท่าน ถึงเราจะนับถือศาสนาพุทธ… แต่ไม่ต้องไปย่ำยีพระเยซูได้มั้งครับ’ ข้อความจากมิตรสหายท่านหนึ่ง เหมือนเป็นคำประกาศให้รู้ว่า นี่คือพลังแห่งความจงรักภักดี ผู้คนเหล่านี้ผมสามารถรับรองได้เลยว่า ทุกคนเป็นคนมีคุณภาพ ทำเรื่องดีๆ ให้กับสังคมมาตลอด หลายคนนำเอาความรักความศรัทธาที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปสร้างคุณงามความดีต่ออีกมากมาย น่าเสียดายที่ไม่มีใครเอ่ยถึงการปฏิรูปสถาบันเลย พวกเขาเพียงแต่แสดงออกถึงเผ่าพันธุ์พวกพ้องที่มีความเชื่อเหมือนๆ กัน

หนังสือ ‘พวกฉัน พวกมัน พวกเรา’ พูดถึงโครงสร้างปัญหาเชิงจริยธรรม พื้นฐานคตินิยม อ่านแล้วก็หนักใจ ไม่ว่าจะใช้หลัก วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา มาพยายามทำความเข้าใจเพื่อนเราแต่ละเผ่าอย่างไร ก็ยังยากที่จะเห็นพวกเขาเปิดใจคุยและหาทางออกให้กับประเทศด้วยกัน ยังแอบหวังลึกๆ ว่า วันหนึ่งจะได้เห็นคำ ผกาจัดรายการคู่กับอัญชลี คงมีฟาดแหลก ยิงมุกกันกระจาย…”

3. ตอบแสงตะวัน

ผู้เขียน: วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์: บางลำพู


“งานเขียนของวรพจน์เป็นงานที่มีความกลมกล่อมเสมอ จังหวะการเกริ่นนำ การค่อยๆ พาเราจมดิ่งสู่ใจกลางของเรื่องราว การทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดเปิดโอกาสให้สมองเราทำงานได้อย่างอิสระ ตรรกะที่เขาแสดงมีความแข็งแรง โครงสร้างประโยคเรียบง่ายกินใจ

ตอบแสงตะวันเป็นงานรวมความคิดที่วรพจน์ตั้งใจเขียนเพื่อ บอกเล่า สื่อสาร แลกเปลี่ยนระหว่างพ่อกับลูกสาว เขาเรียกมันว่าเป็นของขวัญแห่งความล้มเหลว เอาไว้สอนตัวเอง ตลอดทั้งเล่มเต็มไปด้วยถ้อยคำเด็ดๆ น่าจดจำ โดยเฉพาะ ‘การปฎิเสธความรู้ทางการเมือง ถือเป็นโศกนาฏกรรม เป็นหายนะทางภูมิปัญญา บอดใบ้ทางการเมือง เท่ากับบอดใบ้ทางตรรกะ บอดใบ้ทางวิธีคิด และสามัญสำนึกจะค่อยถูกทำลายผุกร่อน

ตลอดเส้นทางนักเขียนของวรพจน์เต็มไปด้วย การปะทะ โต้แย้ง กับข้อมูล ผู้คน เหตุการณ์ ความจริง ความลวง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โลก อ่านจบแล้วรู้สึกขอบคุณผู้เขียนที่บันทึกถ้อยคำเหล่านี้รวมกันเป็นเล่ม ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราไม่ชนะทุกวันหรอก แพ้ก็ไม่ได้แปลว่าต้องฆ่าตัวตาย… ยอมรับ ยิ้มเยาะ ยักไหล่”

สะอาด (ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์)

สำนักพิมพ์ Kai3

เล่มที่แนะนำ :


1. ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี

ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน


“เนื้อหาเข้มข้นจนอยากให้บรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาหรือในเวลาเรียนก็ได้ และสนุกตื่นเต้นจนอยากให้มีการดัดแปลงเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ การ์ตูน ในวันที่ฟ้าของประเทศเปิดกว้างกว่านี้”


2. Real 

ผู้เขียน: Takehiko Inoue

สำนักพิมพ์: NED Comics


“ผลงานดราม่าของผู้เขียนสแลมดังก์ ว่าด้วยชีวิตนักบาสเกตบอลวีลแชร์และคนพิการ ถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้ลุ่มลึก เห็นหัวใจของมนุษย์”

3. การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์

ผู้เขียน: นิโคลาส เวร์สแตปเปิน

สำนักพิมพ์: River Books


“ผลงานประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยที่ผมคิดว่าสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมี เนื่องจากผู้เขียนเป็นชาวเบลเยี่ยม เป็นนักวิชาการที่สนใจศึกษาการ์ตูนจากทั่วโลก งานชิ้นนี้ถึงถ่ายทอดการ์ตูนไทยในมุมมองใหม่ๆ ด้วยออกแบบรูปเล่มและอาร์ตเวิร์กที่สวยงามมาก”


สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

นิตยสารสารคดี


เล่มที่แนะนำ :

1. ระเบียบแห่งการระบาด (The Rules of Contagion)

ผู้เขียน: Adam Kucharski

ผู้แปล: กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ

สำนักพิมพ์: Be(ing)


“ในสถานการณ์โรคระบาด หนังสือเล่มนี้ช่วยเผยกลไกของ ‘การระบาด’ แต่ไม่ใช่ในแง่ชีววิทยาของไวรัสหรือเชื้อโรค แต่เป็นตัวกระบวนการของการ ‘แพร่ระบาด’ ที่ประกอบด้วยตัวแปรในสูตรอันเรียบง่าย แต่ที่ทำให้เรื่องไม่ธรรมดาและยกระดับความสนุกขึ้นไปอีกมาก คือเมื่อตัวแปรและสูตรเดียวกันยังเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อทำความเข้าใจการระบาดของเรื่องอื่นๆ ในเชิงสังคม อย่างไวรัล เฟกนิวส์ในโลกออนไลน์ ยุคนี้การสร้างคอนเทนต์ข้ามสาขาน่าจะเป็นเรื่องน่าสนุกที่สุด”

2. อาคิเต็กเจอ

ผู้เขียน: ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

สำนักพิมพ์: Salmon Books


“ใครจะนึกว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นเรื่องกระจุกกระจิกรอบตัว จากภาพจำว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของตึกสูงระฟ้า อาคารอลังการ ผู้เขียนพาเราเดินไปตามท้องถนนของเมืองไทย พบเจอกับความรกรุงรัง ระเกะระกะ ไร้ระเบียบ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของผู้คนต่างฐานะและชนชั้น แต่ภายใต้ปรากฏการณ์อันดูวุ่นวายสับสนนั้น ก็มีรูปแบบหรือระเบียบของการใช้ความคิดแก้ไขปัญหาเพื่อใช้ชีวิตอยู่รอดของผู้คนในระดับต่างๆ ทำให้ผลงานเรื่องนี้มีมุมมองน่าติดตามมากๆ”

3. เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ : สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย

ผู้เขียน: ชัชพล เกียรติขจรธาดา

สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์


“ถือเป็นสารคดีวิทยาศาสตร์ที่เขียนได้สนุกมากๆ โดยฝีมือนักเขียนไทย ร้อยเรียงแต่ละบทผูกโยงเนื้อหาต่อกันเป็นเหมือนโซ่แต่ละข้อ ค่อยๆ ปูพื้นความเข้าใจให้คนอ่านเข้าใกล้แก่นแกนทีละขั้นทีละบท ซึ่งเป็นวิธีเขียนที่ไม่ค่อยพบในงานสารคดีของนักเขียนไทยที่มักเขียนแบบเกร็ดความรู้สั้นๆ จบไปเป็นตอนๆ ที่สนุกมากคือเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในแต่ละบทที่เล่าจนเห็นภาพราวกับกำลังชมสารคดีโทรทัศน์ดีๆ เรื่องหนึ่ง”


วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร

สำนักพิมพ์ Biblio


เล่มที่แนะนำ :


1. สนทนากับพระเจ้า (Conversations with God) เล่ม 1-3

ผู้เขียน: Neale Donald Walsch

ผู้แปล: รวิวาร รวิวารสกุล และ อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา

สำนักพิมพ์: OMG


“ในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับการปรัชญาชีวิต หรือหนังสือที่พยายามบอกผู้อ่านว่าความหมายของชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม หรือหนังสือสร้างแรงบันดาลใจทั้งหลายแล้ว เรียกได้ว่าหนังสือ ‘สนทนากับพระเจ้า’ นั้นแปลกใหม่ที่สุด เขียนโดยคนไร้ชื่อเสียงเรียงนามที่สุด และด้วยความที่มันถูกเขียนขึ้นโดยผู้เขียนบอกว่า เป็นบทสนทนาระหว่างเขากับพระเจ้า เขาถามแล้วพระเจ้าตอบ จึงสุ่มเสี่ยงที่หลายคนจะมองว่าเพ้อเจ้อแล้วเมินไป แต่สุดท้าย ถ้าใครได้นั่งลงอ่านก็จะรู้สึกได้ว่าไม่ธรรมดา และเราแทบจะหาข้อโต้แย้งอะไรกับสิ่งที่เนื้อหาในเล่มกำลังบอกไม่ได้เลย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มันจะกระตุ้นบางอย่างในตัวเราและทำให้เรามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตั้งแต่ทยอยออกเป็นเล่มแยกตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน จนปีนี้ถูกทำออกมาเป็น Boxset สวยงาม หนังสือชุดนี้คือหนังสือที่จะตอบทุกคำถามเกี่ยวกับทุกด้านของชีวิต และบางทีอาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องจริงๆ เสียด้วย”

2. แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive)

ผู้เขียน: Matt Haig

ผู้แปล: ศิริกมล ตาน้อย

สำนักพิมพ์: bookscape


ในยุคปัจจุบัน อาจจะด้วยหลายๆ สาเหตุ คนเราเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น แต่กลับมีคนที่เข้าใจคนที่เป็นโรคนี้น้อย นอกจากนั้นโรคซึมเศร้ายังเป็นอะไรที่รับมือได้ยาก ทั้งกับผู้ที่เป็นและผู้ที่ไม่ได้เป็นแต่ต้องอยู่กับผู้ที่เป็น นอกจากหนังสือเล่มนี้จะเขียนโดยแมตต์ เฮก นักเขียนชื่อดังที่เป็นโรคซึมเศร้าเองและก็เคยถูกโรคนี้เล่นงานหนักจนแทบไม่รอดมาก่อน ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก ‘ความเข้าใจอย่างแท้จริง’ และ ‘ความปลอบประโลมอันอบอุ่น’ ที่มีให้แก่ผู้เป็นโรคซึมเศร้าที่แหลกสลายทั้งหลาย หนังสือเล่มนี้ทั้งงดงาม สร้างแรงบันดาลใจ และเหนือสิ่งอื่นใด มันอาจเป็นเหตุผลที่จะทำให้ผู้แหลกสลาย (ด้วยโรคซึมเศร้า) มีเหตุผลที่จะยังคงเชื่อมั่นในชีวิตต่อไปได้จริงๆ”

3. บ้านหลังนี้มีคนตาย (The Haunting of Hill House)

ผู้เขียน: Shirley Jackson

ผู้แปล: สมเกียรติ ชินตระกูลวัฒนะ

สำนักพิมพ์: Merry-Go-Round


“สำหรับคอนิยายสยองขวัญแล้ว เชอร์ลีย์ แจ็กสัน ถือเป็นนักเขียนคนสำคัญของแวดวงนี้และยังเป็นต้นแบบให้กับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่มาทีหลังเธอด้วย โดยเฉพาะ ‘บ้านหลังนี้มีคนตาย’ เล่มนี้ยังเรียกได้ว่างาน ‘คลาสสิก’ ขึ้นหิ้งของเธออีกด้วย เรื่องราวของคน 4 คนที่มาอยู่ในคฤหาสน์เก่าแก่เพื่อพิสูจน์ว่ามีผีสิงบ้านหลังนี้จริงหรือไม่นี้ จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่านิยายผีขนานแท้ดั้งเดิมเป็นอย่างไร จะทำให้เราขนหัวลุกได้มากขนาดไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อทุกอย่างจบลง นิยายเรื่องนี้กลับทำให้เราตั้งคำถามกับผู้คนและความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างน่าประหลาด”

พาฝัน ศุภวานิช

สำนักพิมพ์วงกลม

เล่มที่แนะนำ :

1. ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา: ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

ผู้เขียน: ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์


“ข้อเรียกร้องที่ยกเพดานการเมืองของไทย สั้น และตรงไปตรงมา ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งในความกล้าหาญของพวกเขา”

2. ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน

ผู้เขียน: Fumie Kondo

ผู้แปล: กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

สำนักพิมพ์: Sunday Afternoon


“ร้านบิสโทรปามาลนอกจะเสิร์ฟอาหารฝรั่งเศสในสไตล์โฮมคุกกิงแล้ว ยังเป็นพักพิงทางใจของลูกค้าขาประจำอีกด้วย มาซักถามข้อข้องใจ มาคลายปมของตัวเอง มากินของอร่อย มาหาที่ปรึกษา ฯลฯ เราควรจะมีร้านแบบนี้ไว้ในละแวกบ้านของเราสักร้าน”

3. เมื่อโลกไม่มีเรา (The World Without Us)

ผู้เขียน: Alan Weisman

ผู้แปล: สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“ถ้าโลกไม่มีเรา โลกจะยืนยงต่อไปได้ มนุษย์อหังการ์เกินไป มักทึกทักว่าตนมีความสำคัญเหนือกว่าแม่ธรรมชาติ หนังสือที่อ่านสนุกและเต็มไปด้วยรสชาติ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตของเรา… หวังว่ามันจะไม่สายเกินไป”


โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์ Salt


เล่มที่แนะนำ :


1. แปดขุนเขา (Le otto montagne)

ผู้เขียน: Paolo Cognetti

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี


“เป็นนิยายที่อ่านแล้ว ‘อิ่ม’ ที่สุดในรอบหลายปี ทั้งที่เป็นเล่มเล็กๆ ไม่ใหญ่มากนัก แต่เนื้อหาในนั้นครอบคลุมเรื่องราวของมิตรภาพ ความรัก ไม่ใช่เพียงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มากมายนัก เป็นนิยายที่อยากชวนทุกคนอ่านอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ”


2. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (A History of Thailand)

ผู้เขียน: คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์: มติชน


“ดีใจอย่างยิ่ง ที่เล่มนี้กลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะน่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่ ‘สรุป’ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นเล่มที่ทุกคนควรอ่าน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะจะได้รู้ความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ที่ค่อยๆ ‘สืบสานและต่อยอด’ กันมาจนออกดอกออกผลเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน”


3. จีนยุคบุราณรัฐ

ผู้เขียน: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักพิมพ์: ศยาม


“ปกติไม่ค่อยได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับจีนเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยรู้จักจีนมากนัก แต่เล่มนี้พาเราย้อนกลับไปไกลมาก ไปจนถึงจีนในยุค ‘ตำนาน’ คือเรื่องเล่าต่างๆ ก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนค่อยๆ พาเราทำความเข้าใจความเป็นจีนทีละน้อยๆ จนคลี่คลายมาถึงปัจจุบัน อ่านแล้วทึ่งในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ของผู้เขียน นับเป็นงานมาสเตอร์พีซอีกเล่มหนึ่งถัดจาก ‘พุทธโคดม’ โดยแท้”


ศิริวร แก้วกาญจน์

สำนักพิมพ์ผจญภัย


เล่มที่แนะนำ :

1. ประวัติศาสตร์ล้อมเมืองกรุงลิสบอน (História Do Cerco De Lisboa)

ผู้เขียน: ฌูเซ่ ซารามากู

ผู้แปล: กอบชลี

สำนักพิมพ์: Library House


“การตอบโต้โจมตีประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วยวรรณกรรม คู่ขนานไปกับการตีโต้ของความรัก”

2. เด็กหญิงน้ำตาล (Sugar Child)

ผู้เขียน: โอลก้า โกรมาว่า

ผู้แปล: ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์

สำนักพิมพ์: Library Terrace


“บทสาธิตต่ออคติและการป้ายสีตีตราทางการเมือง ชะตากรรมของการถูกพิพากษาให้เป็นศัตรูของประชาชน”

3. หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม (Os Livros Que Devoraram O Meu Pai)

ผู้เขียน: อะฟงซู ครุช

ผู้แปล: เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ

สำนักพิมพ์: Bookmoby Press


“ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องเล่าอันหลากหลาย นอกขนบ นอกความรู้ นอกเหนือข้อเท็จจริงพื้นๆ ทางวิทยาศาสตร์”


สานุพันธ์ ชุมสาย ณ อยุธยา

สำนักพิมพ์ FreeMind


เล่มที่แนะนำ :

1. ก่อนอวิชชา

ผู้เขียน: ศุภวรรณ กรีน

สำนักพิมพ์: มูลนิธิสถาบันพาตัวใจกลับบ้าน


“เปิดเผยเรื่องราวเชิงลึกของการก่อเกิดชีวิต และเส้นทางการกลับไปสู่ต้นกำเนิดอีกครั้ง ที่ผสมผสานทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา บนพื้นฐานของการฝึกวิปัสสนา”

2. หนทางความสุข

ผู้เขียน: หงจื้อเฉิง

ผู้แปล: วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์

สำนักพิมพ์: Sunbeam


“บทเรียนชีวิตสั้นๆ ที่ทรงคุณค่า ที่ช่วยชี้เส้นทาง ในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ชีวิตมีความสุขสมบูรณ์”

3. เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก

ผู้เขียน: ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, เดวิด แดเนียลส์

ผู้แปล: นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์: ยิปซี


“หนังสือที่อ่านไปพร้อมกับลูกได้ ในการสืบค้นเรื่องราวที่มาที่ไปของมนุษย์และสิ่งต่างๆ ผ่านตัวการ์ตูนที่สวยงาม”


WAY Team

WAY MAGAZINE


เล่มที่แนะนำ :

1. รักของทารกวิกลรูป

ผู้เขียน: วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

สำนักพิมพ์: เม่นวรรณกรรม


“บันทึกความทรงจำของยุคสมัยที่เผด็จการหายใจรดต้นคอของบรรดาคู่รักหลากความสัมพันธ์ ลำนำแห่งความซึมเซาหลังยุครัฐประหาร อ่านเพื่อบอกตัวเองว่าคงไม่มีบรรยากาศที่หนักหน่วงหรือย่ำแย่ไปกว่านี้แล้ว”

2. ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500

ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

“อ่านได้ทั้งเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์นอกขนบ และการเมืองในแวดวงวิชาการ รวมถึงวิวาทะเรื่องการตีความทางประวัติศาสตร์”

3. นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ

ผู้เขียน: Ha Wan

ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส

สำนักพิมพ์: Springbooks


“เป็นหนังสือหมวด How to ที่ไม่ได้มีท่าทีสั่งสอน ไม่เชิงเป็นด้านกลับของคู่มือมุ่งสร้างความสำเร็จในชีวิต productive แต่ตั้งคำถามเพราะวิธีการใช้ชีวิตไม่ได้มีสูตรสำเร็จ เขียนจากบริบทของสังคมเกาหลีที่มีการแข่งขันสูง แต่อ่านแล้วก็เทียบเคียงกับชีวิตของมนุษย์เงินเดือนในไทยได้ไม่ยาก เรื่องเล่าของผู้เขียนมองลึกลงไปจะเห็นทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่บทสรุปอาจลงเอยที่ ใช่ว่าดิ้นรนเต็มที่ในเส้นทางที่คนส่วนใหญ่เฝ้าบอกว่าจะประสบความสำเร็จแล้วจะสำเร็จกันเสียทุกคน การใช้ชีวิตไม่มีเส้นทางเดียว หากเส้นทางที่กำลังเดินอยู่มันยากลำบากนัก แล้วจะใช้ชีวิตให้มันยากทำไม”


ธีรภัทร เจริญสุข

สำนักพิมพ์พะโล้


เล่มที่แนะนำ :

1. จีนก่อนคอมมิวนิสต์: ประวัติศาสตร์จีนที่คุณอาจไม่รู้

ผู้เขียน: Frank Dikotter

ผู้แปล: เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และดอน รุ่งเรือง

สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน


“ช่วงปลายราชวงศ์ชิงและยุคขุนศึกก่อนที่จะกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นช่วงเวลาพิศวงที่ผู้อ่านประวัติศาสตร์จีนไม่ค่อยศึกษา ‘จีนก่อนคอมมิวนิสต์ ประวัติศาสตร์จีนที่คุณอาจไม่รู้’ ได้เปิดเผยช่วงเวลาอันรุ่มรวยไปด้วยเสรีภาพ การเปิดกว้างทางความคิด การค้นหาสิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางไฟสงครามที่สลับสับเปลี่ยนผู้นำอำนาจกันไปมาได้อย่างตื่นตาตื่นใจ ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่สิบปีได้หล่อหลอมและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับจีนก่อนที่คอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงจะเปลี่ยนแปลงแผ่นดินจีนไปตลอดกาล

ขอเสนอเรื่องจีนหลากหลายแง่ ในทศวรรษใหม่ที่จีนกำลังพยายามทะยานขึ้นมามีอำนาจนำในเวทีโลก”

2. ครองฝัน (6 เล่มจบ)

ผู้เขียน: เฟยเทียนเย่เสียง

ผู้แปล: อลิส

สำนักพิมพ์: มีดีส์


“ครองฝัน เป็นนิยายแนว BL ที่เจาะลึกไปถึงจิตวิทยาภายในจิตใจผู้คน ซึ่งแม้จะมีบางส่วนได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Inception และเกมตระกูล Persona แต่ก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ผู้มีพลังจากของวิเศษต่างโลกเข้าไปอยู่แดนนิทราฝันของผู้อื่น ท้าทายปีศาจความเก็บกด เงื่อนปมและบาดแผลทางจิตใจ เพื่อเปิดโปงอาชญากรรมร่วมสมัยในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงของพนักงานรัฐ ความขัดแย้งระหว่างเบื้องบนพรรคคอมมิวนิสต์กับหน่วยงานท้องถิ่น ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และโอกาสของคนรุ่นใหม่ การทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงปมปัญหาด้านการยอมรับ LGBT ของแผ่นดินจีน ฉบับแปลไทยใช้ต้นฉบับเวอร์ชันพิมพ์ไต้หวันที่ไม่ถูกเซนเซอร์จากแผ่นดินใหญ่ทำให้เนื้อหาเข้มข้นลึกซึ้งมากขึ้น

เฟยเทียนเย่เสียงใช้นิยายแนว BL ส่งผ่านถ่ายทอดความเป็นจริงสะท้อนสังคมจีนยุคใหม่ได้ลึกซึ้ง และยังมีการใช้บทกวีจากวรรณคดีจีน ทั้งกวีคลาสสิคยุคถังซ่ง จนถึงสำนวนกวียุคสาธารณรัฐและกวีเหมาเจ๋อตงมาสะท้อน มีคุณค่าควรอ่านไม่ต่างจากวรรณกรรมดีๆ เล่มหนึ่ง”

3. พิเคราะห์สามก๊ก ฉบับอี้จงเทียน

ผู้เขียน: อี้จงเทียน

ผู้แปล: นิธิพันธ์ วิประวิทย์

สำนักพิมพ์: มติชน


“สามก๊กเป็นทั้งบันทึกประวัติศาสตร์และวรรณคดีที่ถูกเล่าถึงมายาวนานหลายรูปแบบ อี้จงเทียน นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ชาวจีนได้นำบันทึกประวัติศาสตร์ นิยาย บทงิ้ว และบทวิเคราะห์วิจารณ์หลากหลายมาประมวลวิเคราะห์ความเป็นมาเป็นไปที่แท้จริงของเรื่องเล่า แล้วสันนิษฐานสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นจริงในยุคสามก๊กด้วยสายตาของสมัยใหม่

จากรายการยอดฮิตทางช่อง CCTV ของจีน ได้ประมวลเป็นหนังสือ 2 เล่มที่จะพิเคราะห์สามก๊กหลากหลายมุม เป็นการก้าวเข้าสู่การอ่านสามก๊กมุมมองใหม่ในภาษาไทย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมองสามก๊กเปลี่ยนไปจากเดิม”


โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

สำนักพิมพ์สุขภาพใจ


เล่มที่แนะนำ :

1. สงครามที่ไม่มีวันชนะ: ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค

ผู้เขียน: ชัชพล เกียรติขจรธาดา

สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์


“อยากแนะนำให้อ่าน ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ’ เมื่ออ่านแล้วนอกจากเข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานแล้ว จะพบสัจธรรมของวัฏจักรชีวิตและความเป็นไปของมนุษยชาติ เมื่อเข้าใจ เราย่อมเห็นตัวเราสัมพันธ์กับโลกใบนี้ และดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและสมดุล”

2. เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย

ผู้เขียน: ชัชพล เกียรติขจรธาดา

สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์


“เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ เป็นอีกเล่มที่ทำให้การอ่านเรื่องราววิทยาศาตร์สนุก เข้าใจง่าย เหมือนผลงานของหมอเอ้วเล่มที่ผ่านๆ มา แต่เล่มนี้ เมื่ออ่านแล้วนำมาใช้กับตนเอง จะทำให้ดูแลสุขภาพด้วยความเต็มใจและเข้าใจ อินเทรนด์ปัจจุบันด้วย”

3. 500 ล้านปีของความรัก (เล่ม 1-2)

ผู้เขียน: ชัชพล เกียรติขจรธาดา

สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์


“ส่วน 500 ล้านปีความรัก เล็งไว้นานแล้ว จนฟังคลิปที่มหิดลสัมภาษณ์หมอเอ้ว เล่าที่มาของอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการอย่างไร ทำปฏิกิริยาในสมองในร่างกายเราอย่างไร จนทำให้เรารู้สึกรัก เสียใจ หรืออื่นๆ แล้วคิดว่า หากเรารู้ที่มาที่ไปของเคมีในร่างกาย ย่อมเข้าใจตัวเองมากขึ้น และจัดการให้ตัวเองพบความสุขในชีวิตด้วยมิติอีกด้าน ที่นอกเหนือไปจากใช้ธรรมะบอกตัวเองแต่ว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง”


สิรนันท์ ห่อหุ้ม

สำนักพิมพ์ Papyrus


เล่มที่แนะนำ :

1. 24-7/1

ผู้เขียน: ภู กระดาษ

สำนักพิมพ์: มติชน


ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ชวนอยากให้ย้ายประเทศตลอดเวลาอย่างทุกวันนี้ หนึ่งในคำถามยอดฮิตติดแฮชแท็ก ที่มีทั้งถามจริงจัง ทั้งถามทีเล่นทีจริงคือ #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้นไม้แห่งความล้มเหลวทั้งมวลที่งอกงามอยู่ในปัจจุบัน คงไม่ได้อยู่ดีๆ ก็งอกเงยขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และเรื่องเล่าของ ‘ตระกูลวงศ์คำดี’ คือ 1 ในคำตอบ

กว่าทศวรรษที่ล่วงเลยมา มีนิยายหลายเรื่องที่พยายามจะพูดถึงความขัดแย้งในสังคมไทย ในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป และ 24-7/1 สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ผ่านประวัติศาสตร์เรื่องเล่าท้องถิ่นแห่งตระกูลวงศ์คำดี ที่ผู้เขียนวางไว้ขนานกับประวัติศาสตร์กระแสหลักในนามของชาติ เมื่อประกอบกับการวางคาแรกเตอร์ตัวละครที่เป็นกลุ่มใหม่ๆ ทางสังคมซึ่งไม่ค่อยเห็นในงานวรรณกรรมแนวนี้ อย่างกลุ่มคนจนเมือง กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงในต่างจังหวัด ซึ่งตัวละครหลักๆ ในกลุ่มเหล่านี้มีทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างคนละขั้ว จึงนำไปสู่การปะทะกันทางความคิดของตัวละคร และการเลือกสรรความทรงจำมาเล่าขาน โดยตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ทุกตัวละครในทุกชนชั้นล้วนเป็นแรงงานที่เป็นฐานค้ำจุนยอดเขาพระสุเมรุให้คงตระหง่าน ท่ามกลางการเคลื่อนไหวผันแปรแห่งวันเวลา ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจอย่างเสมอมั่น หรือกล้ำกลืนจนต้องต่อสู้เพื่อความฝันแห่งรัฐสวัสดิการในอุดมคติก็ตามที

นอกจากความสนุกระดับแทบไม่อยากวาง ทั้งที่นิยายหนามากๆ มากระดับตอนที่เห็นเล่มครั้งแรก แอบท้อใจนิดๆ เลยว่าจะอ่านจบเมื่อไหร่นะ แต่หลายครั้งระหว่างอ่าน รู้สึกเหมือนกำลังทะเลาะกับตัวเอง ทุ่มเถียงกับวิธีคิดบางอย่างที่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อตัวเราอยู่ แม้จะพยายามปฏิเสธก็ตาม

และสำหรับเรานั่นก็คงเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามที่ว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

2. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“บนหน้าปกของ ‘ในแดนวิปลาส’ เขียนโปรยไว้ว่า ‘บันทึกบาดแผลสามัญชน บนโลกคู่ขนาน’ หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่สร้างความสะท้านสะเทือนใจให้แบบบาดลึกจาก ‘เรื่องจริง’ ของสามัญชนคนธรรมดา ที่กลายเป็นนักโทษคดีทางการเมือง ในวันที่ความอยุติธรรมกลายเป็นมาตรฐานปกติที่พบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมไทย ด้วยสถานะของนักข่าว การงานนำพาให้รัชได้เป็นส่วนหนึ่งในห้องพิจารณาคดีนักโทษการเมืองหลายคนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เรื่องของพ่อที่หลังจากพ้นโทษจำคุก 13 ปีจากการปล่อยให้มีข้อความคนอื่น 2 ข้อความปรากฏบนเว็บไซต์ที่เขาดูแล ลูกชายของเขาที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยว ก็กลายเป็นคนแปลกหน้าไปตลอดกาล, นักศึกษากฎหมายหนุ่มที่พยายามต่อสู้มาตลอด แต่ตัดสินใจพยักหน้ารับสารภาพ ในวันที่ครอบครัวที่รักของเขา ครอบครัวที่เขาเป็นลูกชายและพี่ชายแทบพังทลายลง, การ์ดการชุมนุมที่เชื่อมั่นว่าตนเป็นพลเมืองในประเทศนี้เหมือนคนอื่นๆ จนวันที่เห็นผู้คนมาร่วม Big Cleaning กันอย่างร่าเริงสดใส และนำเขาไปสู่สถานะของอาชญากรทางการเมืองที่มาพร้อมโทษจำคุก 30 ปี ในขณะที่คดีของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาที่ตายไปกลับเงียบหายราวกับไม่เคยเกิดขึ้นจริง

เป็นความเรียงเล่มเล็กๆ ที่เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีชั้นเชิงใดๆ ให้ต้องตีความ แต่ทุกความจริงของความเจ็บปวดแห่งสามัญชนกลับตีแสกหน้า และปิดหน้าสุดท้ายลงด้วยความรู้สึกหนักอึ้งในหัวใจ”

3. สุสานสยาม

ผู้เขียน: ปราปต์

สำนักพิมพ์: อมรินทร์


“ปราปต์เป็นนักเขียนที่เขียนนิยายได้หลากหลายแนวมากๆ และสุสานสยามคือนิยายแนวดิสโทเปียเล่มแรกของเขาที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘โรงงานสยามอลังการ’ ที่อยู่ในดินแดนที่คนมีค่าน้อยกว่าขยะ ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้คือจริงๆ เป็นนิยายแนวสังคมเลย ที่แซะโครงสร้างสังคมไทยชัดมากๆ แต่เอาความเป็นดิสโทเปียมาครอบไว้ ซึ่งความสนุกของดิสโทเปียน่าจะทำให้เข้าถึงนักอ่านในวงกว้างได้มากขึ้น

สุสานสยามเป็นเหมือนโรงงานขยะที่รวบรวมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงไม่เกิน 10 ปีนี้ มาชำแหละให้เห็นถึงความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำในหลากแง่มุม ความสิ้นหวังที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จุดเด่นที่ปราบต์ทำได้ดีคือการวางปมของเรื่องให้เป็นแนวสืบสวนสอบสวน ทำให้ท่ามกลางปัญหาขยะทั้งหลายทั้งปวงที่เราอนุมานได้เลยว่าเรื่องไหนในสังคมไทย มันมีความสนุกของการแกะรอยแฝงอยู่ด้วย เมื่อประกอบกับการละเล่นแปลงคำศัพท์ของนักเขียน จนต้องมีภาคผนวกอธิบายคำทับศัพท์ เลยทำให้นิยายเรื่องนี้มันก้าวพ้นไปจากนิยายวิพากษ์โครงสร้างของสังคมไทยแบบที่เคยคุ้น”


ศิริธาดา กองภา

สำนักพิมพ์ Legend


เล่มที่แนะนำ :


1. โง่ศาสตร์: กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา (The Basic Laws of Human Stupidity)

ผู้เขียน: Carlo M. Cipolla

ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

สำนักพิมพ์: bookscape


“‘โง่ศาสตร์’ นำเสนอแนวคิดว่าด้วยความโง่ที่แตกต่างจากความหมายโดยทั่วไป ซึ่งเราสามารถแบ่งความโง่ออกเป็น 5 ข้อ โดยนักเขียนอธิบายในเชิงของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และนอกจากนี้ ยังมีการจำแนกประเภทของคนออกเป็น 4 ประเภท อิงตาม ได้แก่ คนฉลาด, คนกระจอก, คนโฉด, คนโง่ และนิยามของคนแต่ละประเภทนั้นทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น

นี่ควรเป็นหนังสือเล่มบางที่สามารถอ่านจบได้อย่างรวดเร็วและมีเวลาไปสุนทรีกับเล่มอื่น แต่กลายเป็นว่าพออ่านจบแล้ว ทำให้เราตั้งคำถามวนเวียนอยู่ในหัวว่า คนแบบไหนที่เป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติมากที่สุดกันแน่นะ แล้วถ้าสังคมเราปกครองด้วย ‘ความโง่’ เราจะพังพินาศไปขนาดไหน แต่เอ๊ะ หรือเราเองก็กำลังเป็นหนึ่งในคนโฉด คนกระจอก คนโง่ หรือคนฉลาด (แกมโกง) ที่กำลังมีส่วนในการบั่นทอนสังคมโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่าว่า

…ช่างเป็นหนังสือที่ปั่นให้เรารู้สึกนั่งไม่ติดได้อย่างแท้จริง”

2. ขอให้แมวโอบกอดคุณ

ผู้เขียน: Kiyoshi Shigematsu

ผู้แปล: ปาวัน การสมใจ

สำนักพิมพ์ Piccolo


“ความหลงใหลและเป็นทาสแมวของคนญี่ปุ่นทำให้เราได้อ่านนิยายพล็อตที่มีแมวเป็นตัวเอกหลายเรื่องในช่วงสามสี่ปีมานี้ แต่นักเขียนญี่ปุ่นก็ไม่เคยหมดพล็อตที่ว่าด้วยแมวสักที และหนังสือ ‘ขอให้แมวโอบกอดคุณ’ ก็หยิบยกเอาพฤติกรรมที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้ของแมว มาเป็นตัวดำเนินเรื่องราว ที่เริ่มจากร้านบริการให้เช่าแมว ที่มีระยะเวลาการเช่าเพียงแค่สามวันสองคืน

ตอนเริ่มต้นอ่าน เรายังกังขาว่าคนเขียนจะพาเราเดินไปกับเส้นเรื่องแบบไหน เป็นไปได้หรือที่แมวเจ็ดสายพันธุ์สามารถช่วยเยียวยาผู้คนได้ มันจะมีเหตุและปัจจัยที่เป็นจุดพลิกผันอย่างไร ในเมื่อลูกค้าแต่ละคนที่มาเช่าแมวที่ร้านต่างมีปมในใจที่ฝังลึก ไม่ว่าจะเป็นสองสามีภรรยาที่ไม่สามารถมีลูกได้ เด็กที่ถูกบุลลี คุณพ่อที่ตกงาน ฯลฯ แต่ผู้เขียนก็สามารถนำเสนอให้เราเห็นว่าลักษณะและพฤติกรรมที่แตกต่างกันของแมวแต่ละสายพันธุ์นั้น รับบทบาทและหน้าที่ในการสะท้อนความสัมพันธ์และกู้วิกฤตของผู้คนที่มาใช้บริการของพวกมันได้อย่างไร

นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่เขียนเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนได้อย่างละมุนละไม ผ่านมุมมองของแมวเจ็ดตัวที่ทำให้เรารู้สึกว่า บางครั้งเราอยู่ใกล้ปัญหามากเกินไปจนมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และคงเป็นการดีหากมีมุมมองจากคนนอกมาช่วยสะท้อนให้เรามองเห็นว่าเราจะหาทางออกอย่างไร”

3. Accidentally Wes Anderson (Accidentally Wes Anderson)

ผู้เขียน: Wally Koval

ผู้แปล: ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ

สำนักพิมพ์: broccoli


“Accidentally Wes Anderson คือหนังสือที่รวบรวมภาพและเรื่องราวจากอินสตาแกรมชื่อเดียวกันของ วอลลี โควัล นักการตลาดชาวอเมริกันที่เป็นแฟนตัวยงของเวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับชื่อดังชาวอเมริกัน เขาและภรรยาออกเดินทางท่องเที่ยวโดยตั้งปณิธานว่า ถ้าเจอสถานที่ที่เหมือนหลุดมาจากฉากในหนังของเวส พวกเขาก็จะนำภาพมาลงให้ผู้ติดตามใน Instagram ได้ร่วมกันเสพความสวยงามองสถานที่เหล่านั้น แต่ไปๆ มาๆ โปรเจ็กต์นี้กลับได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก จนทำผู้ติดตามอินสตาแกรมของเขาเพิ่มขึ้นล้านกว่าคน และเขาเริ่มได้รับภาพที่เข้ากับคอนเซ็ปต์หนังของเวสจากทั่วโลก และในที่สุดเขาได้คัดสรรภาพจาก 15,000 ภาพ จนเหลือเพียง 200 ภาพและตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ภาพถ่ายสถานที่อันซีน สีพาสเทลที่สะกดสายตา และสมมาตรของภาพที่เป๊ะปังเท่านั้น แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับแต่ละสถานที่ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สร้างเสน่ห์ให้ภาพแต่ละภาพ และทำให้คนอ่านอย่างเราได้ความรู้เพิ่มเติมโดยไม่รู้ตัว จึงอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ในฐานะสารคดีท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด แม้ว่าคุณจะไม่ใช่แฟนตัวยงของเวส แอนเดอร์สัน ก็ตาม

การเที่ยวทิพย์ไปกับหนังสือเล่มนี้ ช่วยเยียวยาความหม่นเศร้าที่เราเจอจากโควิดในช่วงสองปีไปได้มากเลยทีเดียว สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเก็บกระเป๋าเดินทางในวันที่โลกดีขึ้นอีกครั้ง”

ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน ปี 2021

กลับมาอีกครั้งกับการชวนร่วมโหวตรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ประจำปี 2021

รักชอบเล่มไหน อยากให้เพื่อนอ่านเล่มไหน คิดว่าสังคมตอนนี้ควรอ่านอะไร หรืออ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้คนเดียวไม่ไหว ร่วมโหวตกับทาง The101.world ในกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2021 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ 

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม (โหวตได้ที่: https://bit.ly/popularvote2021) เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2020-2021 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ และร่วมเสนอไอเดีย #หนังสือมีไว้ทำไม (ไว้ปลอบประโลมหรือไว้ใช้เป็นอาวุธ ฯลฯ แล้วแต่ใจปรารถนา) – ถ้าเขียนดี เขียนเฉียบ ถูกใจทีมงาน จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตหนังสือ Top Highlights จากการลงคะแนนของสำนักพิมพ์และนักอ่านจำนวน 1 ชุด (จำกัด 1 รางวัล)

โหวตได้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2564

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save