fbpx

ความน่าจะอ่าน 2021 : The Finalists (ตอนที่ 3)

ความน่าจะอ่านดำเนินมาถึงปีที่ 5

แน่นอนว่าเรายังมีนายกรัฐมนตรีคนเดิม โดยที่นักประวัติศาสตร์อาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ หรือนักรัฐศาสตร์อยากจะเขียนถึงประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ แล้วก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังต่อสู้กันอยู่

ถ้าเราคิดว่าปี 2020 นั้นสาหัสแล้ว ปี 2021 ที่จุดบุหรี่รอซ้ำเติมคงยิ้มเยาะแล้วบอกเราว่า ที่เจอมานั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะดูเหมือนว่าความสาหัสจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่ยิ่งทวีคูณความโหดร้ายขึ้นซ้ำๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ จนทำให้ร้านค้าและผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียงานของตัวเอง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนขยับไปอย่างเชื่องช้า ยังไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และการทำร้ายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ถอยหลังในประเทศไทย

เราเผชิญและ ‘อ่าน’ เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนการซ้อมตกนรก” นั่นจึงทำให้เราเลือกที่จะตั้งคอนเซ็ปต์ของปีนี้ไว้ว่า ‘อ่านอะไรในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’

เพราะว่าคำว่า ‘ยิ่งกว่า’ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากมองจากสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้

ในความน่าจะอ่าน 2021 นี้ เราชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จนได้หนังสือกว่า 130 เล่ม หลากหลายทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และการ์ตูน หลายเล่มช่วยต่อจิกซอว์ให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น หลายเล่มช่วยให้เราเห็นแก่นของปัญหา และอีกหลายเล่มก็ช่วยปลอบประโลมหัวใจเราในวันที่เหนื่อยล้า

บรรทัดถัดไปจากนี้คือรายชื่อหนังสือ Finalists ชุดที่ 3 จาก 23 คนที่เลือกหยิบหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน น่าละเลียด พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราจึง ‘น่าจะอ่าน’ หนังสือเล่มนี้

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 1 ได้ที่นี่

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 2 ได้ที่นี่


สุภลักษณ์ อันตนนา

สำนักพิมพ์ SandClock Books


เล่มที่แนะนำ :

1. หนังยางแสนรักของฉัน

ผู้เขียน: Yoshitake Shinsuke

สำนักพิมพ์: Amarin Kids


“ชินสุเกะ โยชิทาเกะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีมุมมองต่อโลกไม่เหมือนใคร
ไม่ว่าจะเขียนหนังสือเล่มไหน ก็ขายดีติดอันดับเสมอ
นั่นเพราะความสามารถในการเข้าถึงจิตใจเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน
ที่ได้อ่านหนังสือของเขา

หนังสือพูดถึง ‘หนังยาง’ ของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
เมื่อหนังยางกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์
และเป็นสมบัติล้ำค่าของเด็กน้อยคนนี้

ทุกหน้าที่เปิดอ่าน เสมือนมีเพื่อนสนิทที่เข้าใจความรู้สึกนึกคิด
อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ผิดหวัง สมหวังของเด็กๆ
(หรือผู้ใหญ่อย่างเรา) อย่างเห็นภาพชัดเจน

เรื่องราวที่ดูเป็นสิ่งธรรมดาไม่มีค่าอะไรสำหรับผู้ใหญ่
หลายครั้งเราพบว่า สำหรับเด็กคนหนึ่ง
นั่นคือโลกทั้งใบของเขา”

2. สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ

เรื่องและภาพ: ไอโน ฮาวุไกเนน และซามิ ตอยโวเนน

ผู้แปล: กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์

สำนักพิมพ์: นาวา


“หนังสือในฝันของเด็กวัยแห่งจินตนาการทุกคน
นี่คือหนังสือภาพสาหรับเด็กจากฟินแลนด์ที่สนุกตื่นตาตื่นใจ
และใช้ความคิดสร้างสรรค์สุดเหวี่ยง
จนกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์พิสดารมากมาย

ลายเส้นสีสันที่เพลิดเพลิน ตัวละครที่ชวนขันจอมทะเล้น

ทั้งเราและลูกๆ ชอบอ่านผลงานจากผู้เขียนทุกเล่ม
แต่ละเล่มสนุกไม่แพ้กันเลย”

3. เลี้ยงลูกแบบเรียบง่าย (Simplicity Parenting)

ผู้เขียน: Kim John Payne และ Lisa M. Ross

ผู้แปล: นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี

สำนักพิมพ์: Goodlove


“เมื่อได้เลี้ยงลูกตัวเองจริงๆ
ก็พบว่าความเป็นจริงช่างห่างไกล
จากคำว่า ‘ความเรียบง่าย’

ทุกอย่างคือประสบการณ์ใหม่ ความกังวล ความไม่แน่ใจ
ความไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงน้อยไปหรือมากไป
ความหวั่นไหวต่อวัตถุนิยมและพลังของการตลาดในวงการแม่และเด็ก

หนังสือพูดถึงเหตุผลที่เราต้องเรียบง่าย
สิ่งแวดล้อม กิจวัตร และจังหวะชีวิต
ที่มีผลต่อความรู้สึก อารมณ์ และความสัมพันธ์กับลูก

เล่มนี้อ่านแล้วอุ่นใจและทำให้นึกถึงอะไรหลายๆ อย่างที่เราเผลอลืมไป”


สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)

สำนักพิมพ์ KOOB


อยากขอบคุณหลายสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือดีๆ ให้อ่านอย่างจุใจ แต่ที่เลือกสามเล่มจาก 3 สำนักพิมพ์นี้เพราะอยากให้กำลังใจและสนับสนุน 3 สำนักพิมพ์ที่ตั้งใจทำหนังสือที่สร้างเครื่องหมายคำถามใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในหัวเสมอ นั่นคือสำนักพิมพ์ Illuminations Editions สำนักพิมพ์สมมติ และสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน


เล่มที่แนะนำ :

1. ความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสยามไทย ชุด ประวัติศาสตร์ความคิดในรัฐไทย

ผู้เขียน: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

สำนักพิมพ์: สมมติ


“เปิดหูเปิดตาด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนในห้องเรียน แต่อาจารย์ธเนศเล่าใหม่ให้เห็นรายละเอียดที่แตกต่าง ฉายภาพความคิดทางการเมืองไทยอย่างสนุกสนาน จนอยากเชียร์ให้ใช้เป็นแบบเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยม ประวัติศาสตร์จะสนุกขึ้นมากและกระตุ้นต่อมวิเคราะห์วิพากษ์มากมาย

อย่างบทที่พูดถึงเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ทำให้เห็นการเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของโลกในยุคนั้น ตั้งแต่สงครามฝิ่นมาจนถึงการที่สยามเปิดประเทศ จอห์น เบาว์ริงไม่ได้รับบท ‘ผู้ร้าย’ ตื้นๆ ที่มาพร้อมการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกแล้วร่างสนธิสัญญาให้สยามเสียเปรียบเท่านั้น แต่มีการต่อสู้ต่อรองความคิดหลายอย่างระหว่างเก่ากับใหม่ เขาเป็นคนที่เชื่อมั่นในลัทธิเสรีนิยมอย่างมาก คิดว่าสังคมต้องมีเสรีภาพและรัฐธรรมนูญ เพราะศัตรูของเสรีภาพคืออำนาจรวมศูนย์ แถมยังเชื่อเรื่องการกระจายทรัพย์สินทั่วไปด้วย นอกจากนั้นยังเชื่ออีกว่าการค้าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมและความก้าวหน้า ฉะนั้นเมื่อมาเจอธรรมเนียมตะวันออกแบบ ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ ก็เห็นว่าเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์แบบศักดินาที่เน้นการพึ่งพาและความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม ระบบภาษีของสยามกีดขวางการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานอยากผลิตหรือสร้างงานให้มากขึ้นดีขึ้น

วิธีคิดของเขาสอดคล้องกับพัฒนาการของทุนอุตสาหกรรมในอังกฤษที่กำลังต่อสู้กับชนชั้นเจ้าที่ดิน แม้ว่าสยามจะยอมรับหลักการในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบที่เบาว์ริ่งเสนอ แต่ความคิดเรื่องคนย่อมไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงธรรมเนียม ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ และระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงอยู่มาอีกยาวนาน อ่านเล่มนี้ทำให้เห็นรายละเอียดที่น่าสนใจของตัวละครสำคัญๆ รวมถึงเห็นความเชื่อมโยงกับความเป็นมาของความคิดทางการเมืองของบ้านเมืองเรา”

2. รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม (Why Women Have Better Sex Under Socialism: and Other Arguments for Economic Independence)

ผู้เขียน: Kristen Ghodsee

ผู้แปล: เกศกนก วงษาภักดี

สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน


“ผมเป็นแฟนสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน อยากขอบคุณที่ขยันผลิตหนังสือคุณภาพ ช่วยเปิดประเด็นน่าสนใจให้สมองอยู่เสมอ เล่มนี้อ่านแล้วเห็นว่าระบบการเมืองเศรษฐกิจสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนอย่างยิ่งยวด เลยมาจนถึงความสุขบนเตียงนอนระหว่างชายหญิง

ผู้เขียนพยายามอธิบายว่าในประเทศสังคมนิยมซึ่งมีสวัสดิการดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนนั้นเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีอิสระในชีวิตมากกว่าระบบทุนนิยม และไม่จำเป็นต้องทนอยู่กับชายที่ไม่ชอบหรือหมดรักกันไปแล้วเพียงเพื่อ ‘ความมั่นคงของชีวิต’ หรือการทำอาชีพโสเภณีเพื่อหารายได้เพราะโอกาสในชีวิตมีน้อยกว่าผู้ชาย

หลายประเทศที่เป็นสังคมนิยมมีตัวเลขสถิติความพึงพอใจในเซ็กซ์สูงกว่าประเทศทุนนิยม ซึ่งส่วนต่างเห็นชัดมากในหมู่ผู้หญิง สิ่งนี้สะท้อนคุณภาพชีวิต สิทธิ รวมถึงโอกาสในการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างระบบเศรษฐกิจการเมืองสองแบบ หากบ้านเมืองใดทำให้ผู้คนในสังคมนั้นเซ็กซ์ห่อเหี่ยวก็น่าตั้งคำถามว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองนั้น ‘เวิร์ก’ จริงหรือ สามารถหยิบยืมปัจจัยดีงามของรูปแบบที่แตกต่างไปปรับใช้อย่างไรได้บ้างไหม เช่นกันกับอีกหลายเล่มของสำนักพิมพ์นี้ มันโยนเครื่องหมายคำถามใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในหัวคนอ่านและในสังคมไทยที่ยังต้องการเครื่องหมายคำถามใหม่ๆ อีกนับไม่ถ้วน”

3. Object-Oriented Ontology

ผู้เขียน: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“บางๆ แค่ 42 หน้า แต่เหมือนได้ ‘แว่นใหม่’ ไว้ใช้มองโลก โดยเปลี่ยนศูนย์กลางในการมองที่ใช้มนุษย์เป็นองค์ประธาน แล้วมองสัตว์ พืช วัตถุทั้งหลายเป็นเพียงวัตถุของการถูกรู้ กลายเป็นการมองสรรพสิ่งอย่างเท่าเทียมกัน เช่น หวีไม่ได้ถูกรับรู้จากคนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน หวีจำเป็นกับคนมีผมมากกว่าคนหัวล้าน ถ้าเทียบหวีกับแว่นตา อะไรควรค่ากับการอยู่บนโลกมากกว่ากัน ซึ่งก็บอกไม่ได้

หรืออีกตัวอย่างสนุกๆ เช่น เมื่อเขวี้ยงก้อนหินโดนกระจกแตก อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้กระจกแตก ไม่ใช่เพียงก้อนหินที่แข็งเท่านั้นที่ทำกระจกแตก เพราะถ้าขว้างหินไปโดนเหล็กก็จะไม่แตก มันเกิดจากการที่กระจกมีคุณสมบัติที่จะแตกได้เมื่อถูกกระทบด้วยความแข็งด้วย วัตถุในเวลาและสถานที่ต่างกันจึงสำคัญไม่เท่ากัน

หรืออย่างเชื้อโรคตัวจิ๋วก็อาจทำร้ายเราได้มากกว่าอะไรที่ใหญ่โต ขนาดของวัตถุจึงไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสำคัญ วิธีมองแบบนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งซึ่งไม่มีอะไรเป็นประธานและไม่มีอะไรเป็นกรรม มันลบทวิภาวะระหว่างสองสิ่งนั้น รวมถึงทวิภาวะระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ธรรมชาติกับวัฒนธรรม เพราะการเกิดขึ้นของอะไรสักอย่างนั้นเกิดจากการที่สองสิ่งสัมพันธ์กัน เหมือนคุณไม่ได้เป็นคนอ่านตัวหนังสือในหน้าจอนี้อยู่เท่านั้น แต่หน้าจอมีคุณสมบัติส่องสว่างให้คุณอ่านตัวหนังสือได้ นับเป็นหนังสือที่ยื่น ‘แว่นใหม่’ เอาไว้ใช้มองโลก แถมลดความสำคัญตนผิดของมนุษย์อย่างผมลงไปได้ไม่น้อย”


ภาวนา แก้วแสงธรรม

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ BOOKDANCE/GOODLOVE PUBLISHING


เล่มที่แนะนำ :

1. ชุดนิทานตาตุและปาตุ เช่น สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ

เรื่องและภาพ: ไอโน ฮาวุไกเนน และซามิ ตอยโวเนน

ผู้แปล: กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์

สำนักพิมพ์: นาวา


“พอมีลูกแฝด ช่วงหลายปีมานี้หนังสือที่ซื้อเยอะที่สุดคือนิทานเด็ก เพราะต้องอ่านให้ลูกฟังทุกคืน สำหรับเล่มนี้ชอบเพราะความแปลก มันเป็นนิทานที่ตลก สนุก และเพี้ยน เป็นรสชาติหนังสือที่แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรายังชอบ…ชอบตรงที่ไม่ต้องมีคำสอน แต่เวลาอ่านเราจะรู้สึกได้ถึงการนำพาไปสู่โลกจินตนาการ เพราะอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้นในหนังสือเล่มนี้

ที่สำคัญภาพสวยและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำได้ดีมาก เป็นนิทานที่ลูกแฝดสองคนใช้เวลา ‘จ้อง’ อ่านนานที่สุดเพื่อเสพว่าเครื่องประดิษฐ์แต่ละชิ้นนั้นมีกลไกทำงานอย่างไร เป็นหนังสือที่ลูกถือไปไหนมาไหนทุกที่เวลาเดินทางไกล เพราะเธอสองคนบอกว่า ‘มันสนุกมากๆๆๆ เลยแม่

อีกอย่างคือด้วยความที่เราเป็นคนทำหนังสือ เวลาพลิกอ่านจะรู้เลยว่าหนังสือฉบับแปลนี้ถูกทำขึ้นมาอย่างปราณีตจริงๆ สำหรับนิทานเด็กนั้น ฟ้อนต์อ่านที่ใช้ถือว่าสำคัญมาก หนังสือเล่มนี้ทำได้ดี เลย์เอาต์สวย หน้าเครดิตยังสวยเลย”

2. จดหมายถึงแซม (Letters to Sam)

ผู้เขียน: Daniel Gottlieb

ผู้แปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์: OMG BOOKS


“‘แซมหลานรัก ชีวิตตาเปลี่ยนไปนับตั้งแต่วินาทีที่หลานลืมตาดูโลก’ นี่คือจุดเริ่มต้นของจดหมาย 32 ฉบับที่เปี่ยมไปด้วยความห่วงหาอาทร ใกล้ชิดสนิทสนมที่แดน (‘คุณตา’) กอทท์เลียบ เขียนถึงแซม หลานชายของเขา เนื้อหาในจดหมายพูดถึงความท้าทายในชีวิตที่เราล้วนต้องประสบในรูปแบบของแต่ละคน ด้วยความตรงไปตรงมา สัตย์ซื่อ และเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ

แม้สาระสำคัญของจดหมายจะเป็นเรื่องสากล ทว่ากลั่นกรองจากประสบการณ์ส่วนตัวอย่างยิ่งของแดน กอทท์เลียบที่เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกือบคร่าชีวิตเขาเมื่อ 25 ปีก่อน และแซมหลานชายที่ตรวจพบว่ามีอาการบกพร่องทางพัฒนาการแบบรอบด้านเมื่ออายุ 14 เดือน ซึ่งเป็นอาการของออทิสซึ่มแบบรุนแรง

แดนเขียนจดหมายเหล่านี้ขึ้นมาด้วยหวังว่า สักวันหนึ่ง แซมจะสามารถอ่านและได้รู้จักคุณตาของแกผ่านจดหมายเหล่านี้ จดหมายของแดนขับกล่อมท่วงทำนองความรักอันบริสุทธิ์ของคุณตาคนหนึ่ง ทั้งยังครอบคลุมบทเรียนชีวิตตั้งแต่การรับมือกับพ่อแม่และการจัดการกับเรื่องที่โรงเรียน กระทั่งการตกหลุมรักและการมุ่งสู่ความสำเร็จส่วนตัว โดยปราศจากความรู้สึกสมเพชตัวเองหรือเศร้าเสียใจ

เป็นหนังสือที่เคยทำหน้าที่บรรณาธิการมาหลายปีแล้ว ตอนนั้นชื่อว่า ‘ดวงตาของคนที่รัก’ ออกในนามแพรวสำนักพิมพ์ โดยนักแปลคนน่ารัก คุณตี้ ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แม้จะออกมาหลายปีแล้ว และขาดตลาดไปนานแล้ว แต่ก็เป็นหนังสือที่อยู่ในใจเสมอ

ตอนนั้นมีคนรีวิวเยอะมาก มีหลายคนที่ส่งข้อความมาบอกว่ารักหนังสือเล่มนี้มาก และเมื่อพี่อาร์ทแห่งสำนักพิมพ์ OMG BOOKS นำมันกลับคืนมาสู่ผู้อ่านอีกครั้ง ในชื่อ ‘จดหมายถึงแซม’ ถึงได้รู้ว่าความคิดถึงที่คนเรามีต่อหนังสือมันมีหน้าตาแบบนี้

สั้นๆ เลยคือเป็นหนังสือที่อ่านแล้ว ‘อบอุ่น’ เรื่องราวของคุณตานักจิตวิทยาที่เขียนจดหมายหาหลานที่เป็นออทิสซึ่ม ด้วยความที่ผ่านโลกมาเยอะ ทุกถ้อยคำที่บอกเล่าให้หลานฟังถึงได้คมคายเหลือเกิน ไฮไลต์ได้แทบทุกบรรทัดเลย สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทยงดงามคือสำนวนแปลของพี่ตี้ ธิดารัตน์ การเลือกใช้คำของเธอ เหมือนเธอเกิดมาเพื่อแปลหนังสือละมุนเล่มนี้เลยทีเดียว”

3. เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish Your Parents Had Read (and Your Children Will be Glad That You Did))

ผู้เขียน: Philippa Perry

ผู้แปล: ดลพร รุจิรวงศ์

สำนักพิมพ์: bookscape


“ซื้อเพราะหน้าปกสวย แค่โทนส้มและขาวธรรมดาๆ ทำไมสวยได้ขนาดนี้ แถมชื่อที่ตั้งก็เร้าใจมาก และก็เป็นอย่างคาดจริงๆ ว่าถ้าพ่อแม่คนไหนไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเสียใจอย่างยิ่ง

นี่คือหนังสือ parenting ที่อ่านสนุกมากมาย ทำให้เราทบทวนถึงวิธีการเลี้ยงลูก หลักๆ คือกระตุ้นให้เราจัดการปมของตัวเองให้ได้เสียก่อน ก่อนจะเล่าถึงวิธีการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกตลอดชีวิต ตอนที่ชอบมากคือบทที่ 1 ที่ว่าด้วย ‘มรดกการเลี้ยงลูกจากพ่อแม่ของเรา’ ไล่เรียงไปจนจบเล่มคือ ทุกพฤติกรรมคือการสื่อสาร เป็นพ่อแม่ที่ไม่สับสนกับชีวิตเสียก่อน แล้วการเลี้ยงลูกจะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคยเป็นมา

ท่ามกลางหนังสือสอนวิธีเป็นพ่อแม่มากมาย อ่านเล่มนี้พอ แล้วออกไปเลี้ยงลูกซะ”


ดวงใจ จีนานุรักษ์

บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

เล่มที่แนะนำ :

1. Graduation จดหมายถึงฉันในวันจบการศึกษา

ผู้แต่ง: Yun I-hyeong

ผู้แปล: สุมาลี สูนจันทร์

สำนักพิมพ์ Fuurin


“เรื่องของ ‘ฉัน’ เด็กสาวอายุสิบเก้าที่ใกล้จบการศึกษา ได้รับจดหมายแจ้งผลสองฉบับ ฉบับแรกเป็นจดหมายแจ้งผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือจุดหมายที่ทำให้ชีวิต ‘ฉัน’ ต้องเปลี่ยนไป เพราะโลกของเราถูกปนเปื้อน สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ก่อให้เกิดการเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ รัฐบาลจึงออกมาตรการเพื่อเฟ้นหา เด็กสาวและเด็กหนุ่มที่มีคุณสมบัติดีพอที่จะเป็นพ่อแม่ให้กับลูกได้ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของมนุษย์ ซึ่ง ‘ฉัน’ ก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านเกณฑ์ เธอจึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะไปทางไหน

2. อัลมอนด์ (ALMOND)

ผู้เขียน: Sohn Won-Pyung

ผู้แปล: ภัททิรา

สำนักพิมพ์: Fuurin


“‘ซอนยุนแจ’ เป็นเด็กที่เกิดมามีเมล็ดอัลมอนด์ในหัวหรือทางการแพทย์เรียกว่า ‘อะมิกดาลา (Amygdala)’ เล็กผิดปกติ ทำให้ระบบความรู้สึกไม่สามารถใช้งานได้ การไร้ความรู้สึกทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งมาตลอดเพราะแตกต่างจากเพื่อน แต่เขายังมีแม่กับยายที่คอยปกป้อง แม้ทั้งสองจะรู้ดีว่าเขาไม่รู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่น แต่ทั้งสองก็ยังกอดและบอกรักเขาทุกวัน แต่แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้มีคนเสียชีวิต 6 คน สองคนในจำนวนนั้นคือแม่และยาย เขามองดูสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าทั้งหมดด้วยสีหน้าเรียบเฉยเหมือนทุกครั้ง เมื่อเหลือตัวคนเดียวเขาได้พบผู้คนมากมายที่โชคชะตานำพาไปสู่เรื่องที่จะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต เขาได้แต่ฝันว่า ‘สักวันจะได้รู้สึกถึงความรัก ความเกลียด และความเจ็บปวดแบบคนทั่วไปบ้าง’

โดยหนังสือเล่มนี้แปลไปแล้วกว่า 13 ภาษา รวมถึงได้รับรางวัล International best-selling novel ในประเทศไทยด้วย”

3. วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี (Tuesdays with Morrie)

ผู้เขียน: Mitch Albom

ผู้แปล: อมรรัตน์ โรเก้

สำนักพิมพ์: ฟีก้า


“หนังสือที่จะพาคุณผู้อ่านไปซึมซับวิชา ‘ความหมายแห่งชีวิต’ ซึ่งถ่ายทอดจากหัวใจของ ‘ครูมอร์รี’ ผู้เป็นครูตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

นี่คือชีวิตจริงของอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ที่ล้มป่วยด้วยโรคเอแอลเอส ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่มีทางรักษา โรคนี้ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายค่อยๆ ลีบ ไม่มีแรง และตายไป ในขณะที่อวัยวะส่วนนั้นยังรู้สึกเจ็บและชา ความโหดร้ายของโรคนี้อยู่ตรงที่มันจะไม่กระทบกระเทือนสมอง คนไข้จึงยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และรับรู้ความตายที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา รับรู้ความเสื่อมของร่างกายที่ทรุดโทรดลงทุกวัน เป็นการรับรู้ที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างแสนสาหัส แต่ ‘ครูมอร์รี’ กลับยอมรับความจริงนี้ได้อย่างกล้าหาญ จุดประกายทางความคิดและเติมพลังแห่งชีวิตให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดี”


กิตติพล สรัคคานนท์

ร้านหนังสือ Books & Belongings


เล่มที่แนะนำ :

1. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: พารากราฟ


“ไม่น่าจะต้องอธิบายกันมาก หลายคนที่อ่าน หลายคนที่เคยสัมผัส คงเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นหนังสือที่สะเทือนความคิดและจิตใจอย่างไร อ่านเพื่อรู้สึกเจ็บปวดแทนคนอื่นๆ ในแดนวิปลาสนี้

2. เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์

ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“คิดว่าน่าจะเป็นงานที่ดีของสรวิศ ซึ่งเปลี่ยนทฤษฎีความคิดมาอธิบายปรากฏการณ์สังคมได้อย่างแยบคาย และทำให้เรื่องที่เราเห็นเป็นเรื่องส่วนตัวพลิกกลับเป็นเรื่องส่วนรวม หรือเป็นการเมืองมากๆ”

3. Tropic of Cancer

ผู้เขียน: Henry Miller

ผู้แปล: นันทพร ปีเลย์ โพาธารามิก

สำนักพิมพ์: Library House


“Henry Miller คือหนึ่งในนักเขียนอเมริกันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะนวนิยายเล่มสำคัญของเขากลายเป็นภาษาไทยไม่นานนี้ แต่ก็ถือเป็นงานคลาสสิกร่วมสมัยที่คอวรรณกรรมไม่ควรพลาด”


ศุ บุญเลี้ยง

สำนักพิมพ์กะทิกะลา


“ชอบหนังสือที่เขกกะโหลกเรา เอาความเชื่อเก่าๆ ให้พ้นกบาล”


เล่มที่แนะนำ :

1. THE WHYS OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย

ผู้เขียน: ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

สำนักพิมพ์: Salmon Books

2. วิชารู้รอบ (RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World)

ผู้เขียน: David Epstein

สำนักพิมพ์: Salt Publishing

3. โค้ชแห่งซิลิคอนแวลลีย์ : คัมภีร์ผู้นำจากโค้ชแห่งซิลิคอนแวลลีย์ บิล แคมป์เบลล์ (Trillion Dollar Coach: The Leadership Playbook of Silicon Valley’s Bill Campbell)

ผู้เขียน อีริก ชมิดต์, โจนาธาน โรเซนเบิร์ก, อลัน อีเกิล

ผู้แปล ณัฏฐ์ เพิ่มทรัพย์, ทอปัด สุบรรณรักษ์

สำนักพิมพ์: ดิเอสเซนเชียลโค้ช


ศรัณย์ วงศ์ขจิตร

สำนักพิมพ์ Paragraph


เล่มที่แนะนำ :

1. เศรษฐกิจสามสี-เศรษฐกิจแห่งอนาคต

ผู้เขียน: วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

สำนักพิมพ์: bookscape


“ถ้าหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองจำนวนมากทำให้เรารู้ตัวว่าอยากมีชีวิตอยู่ในระบอบการเมืองแบบไหน หนังสือ เศรษฐกิจสามสี ก็ช่วยให้คนอ่านที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ‘เศรษฐกิจ/เศรษฐศาสตร์’ อย่างผม รู้ตัวว่าอยากมีชีวิตในรัฐที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบไหนขับเคลื่อนไปข้างหน้า

เมื่ออ่านจบ ช่วยให้ผมรู้ว่าครั้งหน้าถ้ามีการเลือกตั้ง นโยบายเศรษฐกิจแบบไหนหรือของพรรคใดที่ผมจะตัดสินใจเลือก และหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า ประเทศเรายังพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกแน่ (แต่คงต้องหลุดไปจากวงจรรัฐประหารแบบไทยๆ เสียก่อน)”

2. บันทึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของดา ตอร์ปิโด

ผู้เขียน: ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล


“ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ การเมืองไทย อยากชวนอ่านบันทึกช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณดา หากไม่ใช่เพื่อเข้าใจ อย่างน้อยก็เพื่อจดจำเธอไว้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

3. บัณฑิตกับนักบุญ (The Doctor and the Saint)

ผู้เขียน: อรุณธตี รอย

ผู้แปล: รวิวาร รวิวารสกุล และชาวาร์ เกษมสุข

สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา


“หนังสือที่มาจาก ‘คำนำ’ ขนาดยาว ที่พยายามวิพากษ์ระบบวรรณะของอินเดียและลบรัศมีแห่งนักบุญของคานธีไปในคราวเดียวกัน รอยนำเสนอผ่านวิวาทะระหว่าง อัมเบดการ์ (บัณฑิตคนสำคัญของอินเดียมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับคานธี) กับคานธี ด้วยภาษาสำนวนปวดแสบปวดร้อนทว่าจับใจไปพร้อมกัน ประทับใจที่รอยเปรียบเปรยการถอนรากถอนโคนระบบวรรณะในอินเดียว่าหากจะทำได้ก็เสมือนเรากำลังจัดเรียงดวงดาวบนท้องฟ้าเสียใหม่ ซึ่งนั้นไม่ได้หมายความว่า รอยจะยอมแค่ยืนมองดวงดาวเสียเมื่อไหร่”


นิวัต พุทธประสาท

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม


เล่มที่แนะนำ :

1. จวบจนสิ้นแสงแดงดาว

ผู้เขียน: กิตติศักดิ์ คงคา

สำนักพิมพ์: 13357


“เหมือนนักเขียนหน้าใหม่ แต่เขามีหนังสือออกมาแล้วหลายเล่ม หลายรูปแบบเนื้อหา จากหลายนามปากกา แม้แต่ตัวตนของเขาก็น่าสนใจไม่ต่างจากงานที่เขาเขียน จวบจนสิ้นแสงแดงดาวเล่มนี้เป็นนิยายที่น่าสนใจเมื่อเขานำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เขมรแดงมาเป็นโครงเรื่อง ซึ่งทำให้นิยายมีความน่าสนใจเมื่อชายหนุ่มชนชั้นสูงที่ต้องหนีภัยและได้รับความช่วยเหลือจากชายที่เขารับมาดูแลบ้าน เป้าหมายของทั้งสองคือลี้ภัยทางการเมืองมาที่เมืองไทย”

2. หลงหายไปในฝัน

ผู้เขียน: จิรภัทร อังศุมาลี

สำนักพิมพ์: จงสว่าง


“จิรภัทร อังศุมาลี หรือที่ผู้อ่านรู้จักกันดีในนาม ‘สิเหร่’ เขากลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง เรื่องสั้นใน ‘หลงหายไปในฝัน’ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นใหม่ โดยธีมแล้วจิรภัทรใช้ท่วงทำนองดนตรีแจ๊ซที่เขารักมาเล่าเรื่องผ่านเรื่องราวภายในตัวละคร ภายใต้ความรู้สึกที่โหยหวน เศร้า และขับเน้นความรู้สึกจากภายใน”

3. ชุดวรรณกรรมอมตะของศรีบูรพา

ผู้เขียน: ศรีบูรพา

สำนักพิมพ์: ศรีปัญญา


“ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ศรีปัญญา ที่นำผลงานของศรีบูรพากลับมาพิมพ์อีกครั้ง ศรีบูรพาเป็นนักเขียนผู้บุกเบิกแนวเขียนวรรณกรรมร่วมสมัย เขาคือรากฐานการเขียนนวนิยายสมัยใหม่ของไทย เป็นเสาหลักของนักคิดนักเขียนที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย”


มณฑล ประภากรเกียรติ

ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน


เล่มที่แนะนำ :

1. ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย (Thailand’s Theory of Monarchy: The Vessantara Jataka and the Idea of the Perfect Man)

ผู้เขียน: Patrick Jory

ผู้แปล: ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ

สำนักพิมพ์: Illuminations Edition


“อ่านจากชื่อเรื่องและสารบัญในเล่ม เหมือนจะเป็นเรื่องคติความเชื่อของศาสนา แต่เปล่าเลย มันคือแนวคิดที่จะทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยผ่านคำว่า ‘บารมี’ มาได้อย่างไร และ ‘ทานบารมี’ มีผลเหนือเหตุผลทางกฎหมายอย่างไร”

2. โง่ศาสตร์: กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา (The Basic Laws of Human Stupidity)

ผู้เขียน: Carlo M. Cipolla

ผู้แปล: สุนันทา วรรณสินธ์

สำนักพิมพ์: bookscape


“อ่านจบแล้วเราจะเข้าใจว่า บางทีคำว่า ‘คนโง่’ อาจไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ คนโง่ตามหลักของหนังสือคือ คนที่มีประโยชน์น้อยที่สุด ทำให้มีความอันตรายต่อทุกคนรอบตัว พูดง่ายๆ คือ หลีกได้หลีก ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีการจัดกลุ่ม ‘คนโฉด’ คือคนที่ทำให้ผู้อื่นเสียผลประโยชน์ และตัวเองได้ประโยชน์ อืมมม…อ่านดูแล้วก็เหลือบมองผู้นำบางประเทศ อาจไม่ใช่คนโง่อย่างที่คิด แต่เป็นอีกกลุ่มก็เป็นได้”

3. ล้ม ลุก เรียน รู้ Fall And Learn

ผู้เขียน: ธนา เธียรอัจฉริยะ

สำนักพิมพ์: KOOB


“คุณธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นนักบริหาร นักธุรกิจ และนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก เรื่องราวที่เขาเล่าในเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ สร้างนักอ่านให้ติดตามมากมาย เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ คุณธนาได้หยิบเอาเรื่องราวตัวเองและคนรอบข้างมาเล่าสอดแทรกมุมคิดที่ชวนให้เรารู้สึกว่า ‘ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้'”


ณัฐกร วุฒิชัยพรกุล

Words Wonder Publishing


เล่มที่แนะนำ :

1. เสียงเพรียกจากคธูลู รวมเรื่องเล่าในเงามืด (The Call of Cthulhu)

ผู้เขียน: เอช.พี. เลิฟคราฟท์

ผู้แปล: นภ ดารารัตน์

สำนักพิมพ์: เวลา


“ผลงานของเอช.พี. เลิฟคราฟท์เป็นอมตะ เขาคือนักเขียนนิยายสยองขวัญที่ยิ่งใหญ่ของโลก เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังมากมาย Stephen King ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ผลงานที่แปลไทยของนักเขียนท่านนี้หายากมาก ผมเลยดีใจเป็นพิเศษที่สำนักพิมพ์เวลาตัดสินใจเอาผลงานของเขามาทำ ผลงานของเลิฟคราฟท์ส่วนมากเป็นเรื่องสั้นที่อยู่ในจักรวาลเดียวกัน พูดถึงอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ นั่นคือความกลัว และที่พื้นฐานสุดๆ คือความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ การอ่านผลงานเล่มนี้ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ มนุษย์ที่ยกย่องตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้ ไม่รู้ตัวเลยว่ามีสิ่งยิ่งใหญ่กว่าในจักรวาล และเราเป็นแค่เศษเสี้ยวผงฝุ่นเท่านั้น เป็นผลงานที่มีการบรรยายเป็นส่วนมาก และแปลยาก ใครที่ชอบอ่านเรื่องสยองขวัญแบบคลาสสิกที่หาอ่านยาก ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง”

2. เด็กเล่าเรื่องมหาภารตะ

ผู้เขียน: สังหิตา อรณี

ผู้แปล: ปรีชา ช่อปทุมมา

สำนักพิมพ์: ภารตะ


“มหาภารตะ ผลงานมหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ของอินเดีย ถูกเอามาเล่าโดยเด็ก แถมยังมีภาพประกอบที่วาดเองอีกด้วย

ถ้าใครเคยอ่านหรือเคยดูซีรีส์อินเดียมาบ้าง จะรู้ว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อน ตัวละครเยอะจนแทบนับไม่ถ้วน แถมยังยาวมากๆ อ่านไปอาจงงได้ แต่เรื่องนี้ เล่าเรื่องมหาภารตะได้สนุกและเข้าใจง่าย ผมไม่ใช่เด็กอีกแล้วแต่ผมอ่านเรื่องนี้อย่างมีความสุข ให้อารมณ์เหมือนอ่านนิทานหรือตำนานที่เข้าใจง่ายแต่เก็บใจความสำคัญได้หมด แน่นอนว่ามันไม่ละเอียดเหมือนเวอร์ชันอื่นๆ แต่เหมาะกับคนอ่านในทุกวัย รูปเล่มก็สวยงาม น่าประทับใจครับ”

3. คำอธิษฐานในวันที่จากลา (Frieren)

เรื่อง: Kanehito YAMADA

ภาพ: Tsukasa ABE

สำนักพิมพ์: Siam Inter Comics


“ผมได้ยินความดีของการ์ตูนเรื่องนี้มาสักพัก แน่นอนว่ามันไม่ได้โด่งดังเหมือนดาบพิฆาตอสูร แต่เป็นมังงะที่ได้รางวัลชนะเลิศประจำปีของญี่ปุ่น เป็นเรื่องของกลุ่มผู้กล้าที่อาชนะจอมมาร คืนสันติสุขให้แก่โลกแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหลังจากนั้น ผ่านไปสิบปี ยี่สิบปี หรือมากกว่านั้น ชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยมองผ่านตัวละครตัวหนึ่งที่เป็นอมตะ เรื่องนี้ไม่ใช่การ์ตูนแอ็กชั่น แต่เป็นการพูดถึงความทรงจำที่คนในชีวิตของเราทิ้งไว้ให้ หลังจากที่พวกเขาไม่อยู่แล้ว คนเราเติบโตไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอดีดที่ผ่านไป ก็มีผลต่อชีวิตเราไม่น้อยไปกว่ากัน เป็นผลงานที่ละมุนละไม ยอดเยี่ยมและสดใหม่มาก แม้ว่าคุณอาจจะไม่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ผมอยากให้ลองเรื่องนี้ดูครับ”


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

สำนักพิมพ์เคล็ดไทย


เล่มที่แนะนำ :

1. เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics)

ผู้เขียน: Abhijit V. Banerjee, Esther Duflo

ผู้แปล: ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“แม้ปัจจุบันจะมีหนังสือและบทความที่พูดถึง ‘ความจน’ และ ‘คนจน’ อยู่ไม่น้อย ซึ่งอาจมีจำนวนพอๆ กับนโยบาย/ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ บนโลกใบนี้ แต่ดูจะมีงานเขียนอยู่เพียงไม่มากที่พยายามสะท้อนให้เห็นเฉดการมองความยากจนและคนจนอย่างเข้าใจในเงื่อนไขทั้งในเชิงปัจเจกชนและโครงสร้าง

เศรษฐศาสตร์ความจนเป็นหนังสือที่ Abhijit V. Banerjee และ Esther Duflo ในฐานะผู้เขียน ได้ชี้นำผู้อ่านเข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ความยากจนและการเข้าสู่ความยากจนในหลายสังคมทั่วโลก หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้เห็นเฉดของความยากจนและเงื่อนไขของความยากจนจากหลายมุมมอง ซึ่งถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้ชี้ชัดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร แต่เหมือนว่าผู้เขียนพยายามที่จะบอกว่าการแก้ไขความยากจนและการยกระดับคนจนอาจไม่มีสูตรสำเร็จ และสิ่งที่ควรทำในเบื้องแรกสุดคือเข้าใจเงื่อนไขของความยากจนและคนจน ทั้งในมุมของการตัดสินใจและวิถีชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจ”

2. ประวัติศาสตร์อยุธยา 5 ศตวรรษสู่โลกใหม่

ผู้เขียน: ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์

สำนักพิมพ์: มติชน


“หนังสือเกี่ยวกับ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา’ แม้จะมีอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน แต่หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’ ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ ก็ได้พยายามให้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา โดยเฉพาะการอธิบายความเปลี่ยนแปลงบนมุมมองของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์กับบริบททางการค้าในระดับโลก อันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งในระดับรัฐและระหว่างรัฐอย่างยากจะหลีกเลี่ยง”

3. ชีวิต-มุมมอง-ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ผู้เขียน: กุลธิดา สามะพุทธิ

สำนักพิมพ์: ผสานวัฒนธรรม


“หนังสือที่ผู้สนใจสังคมการเมืองคนอ่านอย่างยิ่ง แม้ในหลายตอนของหนังสือจะถูกเขียนขึ้นด้วยความระมัดระวัง หากแต่เรื่องราวระหว่างบรรทัดเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นภาพของสังคมการเมืองไทยในห้วงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากบทบาทและเรื่องราวของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ในฐานะหลานชายของหัวหน้าคณะรัฐประหารฯ ลูกชายของนายกรัฐมนตรี และฝ่ายซ้าย/นักวิชาการ/นักการเมือง/ชนชั้นนำที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่ง”


โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

Merry-Go-Round Publishing


เล่มที่แนะนำ :

1. ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (The Alchemist)

ผู้เขียน: Paulo Coelho

ผู้แปล: กอบชลี และ กันเกรา

สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์


“ชอบที่มันเป็นหนังสือว่าด้วยคนไล่ตามความฝันที่ไม่เหยียบย่ำคนที่ทำตามฝันไม่ได้หรือไม่ได้ทำ ประทับใจเรื่องของพ่อค้าแก้วมาก เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน สำหรับบางคน ความฝันคือเป้าหมาย แต่กับบางคน มันเป็นอะไรให้เอาไว้นึกถึงและทำให้ชีวิตไม่แห้งแล้งจนเกินไปนัก”

2. การศึกษาของกระป๋องมีฝัน

ผู้เขียน: สะอาด

สำนักพิมพ์: Kai3


“เป็นเล่มล่าสุดที่ได้อ่าน และดีใจที่ได้อ่าน รู้สึกเหมือนโดนคนเขียนทุบหัว ‘ระบบการศึกษา’ ซึ่งควรจะให้อะไรกับเรามากมาย สุดท้ายแล้วกลับฝังกลบตัวตนบางอย่างบางด้านของเราไปเสียอย่างนั้น เป็นหนังสือตัวหนังสือน้อยที่ใช้เวลาอ่านนานและให้ความรู้สึกหนักหน่วงไม่น้อยหลังจากอ่านจบ”

3. เสียงเพรียกจากคธูลู รวมเรื่องเล่าในเงามืด (The Call of Cthulhu)

ผู้เขียน: เอช.พี. เลิฟคราฟท์

ผู้แปล: นภ ดารารัตน์

สำนักพิมพ์: เวลา


“รวมเรื่องสั้นหกเรื่องของเลิฟคราฟท์ ไม่ถึงกับกรี๊ดมาก แต่มันตราตรึง ค้างคาอยู่ในหัวมากหลังจากอ่านจบ ซึ่งเป็นประสบการณ์การอ่านที่ไม่ได้เจอบ่อย บางคนจัดเรื่องของเลิฟคราฟท์ไว้ในกลุ่ม ‘ไซไฟ-แฟนตาซี-สยองขวัญ’ ซึ่งก็ถูกต้องทั้งหมดที่กล่าวมา แต่ส่วนตัวอยากจะวางมันไว้ในหมวด ‘หนังสือบ้าอะไรวะ’ มากกว่า (คำชม) ทุกเรื่องเพี้ยน หลอน และชวนเหวอ อ่านไประแวงไป เหมือนถูกลากเข้าไปอยู่ในฝันร้ายของใครก็ไม่รู้ หนังสืออาจจะเนิบไปบ้าง (ซึ่งก็เป็นปกติของงานเขียนยุคเก่า) แต่ถ้าใครมีเวลาว่างๆ หัวโปร่งๆ สักหนึ่งวัน ก็อยากจะชวนให้มาถลุงเวลากับเล่มนี้ดู”


ธวัช งานรุ่งเรือง

นายแพทย์ผู้หลงใหลการอ่าน เจ้าของเพจ ‘หนังสือปันกันอ่าน : Immortalbook’


เล่มที่แนะนำ :

1. เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน (Die Liebe im Ernstfall)

ผู้เขียน: Daniela Krien

ผู้แปล: ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ

สำนักพิมพ์: Library House


“วรรณกรรมเยอรมัน ร่วมสมัย
นานๆ ที ถึงจะมีมาให้อ่าน จึงไม่ยอมพลาด

ผู้หญิง 5 คน กับเรื่องราวความรัก
…. ที่ไม่ง่ายเลย
การมีคนรักแต่ไม่ใช่คู่ชีวิตที่ดี
การมีคู่ขาแต่ไม่มีความรัก
การมีความรักแต่ไม่มีครอบครัว
การมีครอบครัวแต่ความรักพังทลาย

ไม่หวือหวา เรื่องดำเนินตามมุมมองของแต่ละคน
เป็นเส้นตรงแต่เกี่ยวพันกันอย่างละนิดละหน่อย
แต่ความเรียบเนียนของเรื่องเล่า
ทำให้เรารู้สึกว่า ความรักแบบนี้มันมีจริง
คงล่องลอยรอบๆ ตัวเรา ไม่น้อยไปกว่า
ความรักสำเร็จรูปตามสูตร

เจอกัน รักกัน สานสัมพันธ์
แล้วสร้างครอบครัวที่แสนสุขไปจนแก่เฒ่า”

2. จอมโจรขโมยหนังสือ (The Book Thief)

ผู้เขียน: Markus Zusak

ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์


“เด็กหญิงบ้านแตกเพราะสงคราม
ต้องไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ชาวเยอรมัน ในเบอร์ลิน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นเรื่องเล่าในมุมที่ผมเองยังไม่เคยได้ยินใครพูดถึง

ชาวเยอรมัน ที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อนร่วมชาติ
ชาวเยอรมันที่ยังรู้สึกรู้สากับเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่า ชาวยิว

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกมาก
คงต้องใช้คำกล่าวของ ยมทูตผู้เล่าเรื่องนี้

‘พวกเขาหลั่งน้ำตา หัวใจสลาย
แต่ก็ยังก้าวเดินต่อไปได้

มนุษย์สามารถทำสิ่งที่โหดร้ายที่สุด
และสามารถทำสิ่งที่ดีงามเกินกว่าจะคาดหวัง

เหมือนจะเป็นวรรณกรรมเยาวชน
แต่ไม่ได้อ่านง่ายนัก
ผู้เขียนค่อยๆ ถักทอเรื่องราว
ไปจนถึงบทสุดท้าย”

3. หนังสือชุด Chaos Walking Trilogy

ผู้เขียน: Patrick Ness

ผู้แปล: วรรธนา วงษ์ฉัตร

สำนักพิมพ์: Words Wonder


“สารภาพว่า ไม่รู้จักมาก่อน
แต่สถานการณ์โควิด ทำให้ต้องอยู่เฝ้าโรงพยาบาล
เลยเลือกหาหนังสือที่หนาๆ มาไว้อ่านฆ่าเวลา
จิ้มเอาหนังสือชุดนี้มาอ่าน

โอ้โห … มันส์มาก

ตัวเอกเป็นเด็กชายที่เกิดในหมู่บ้านที่ไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว
โลกใบนี้ มีกฎประหลาด (สำหรับคนอ่านคือ)
ผู้ชายจะมี เสียงความคิดดังออกมาให้ทุกคนได้ยิน

และแล้ว วันหนึ่งเขาก็เจอสิ่งมีชีวิต
ที่ไม่มี เสียงคิด … เธอ คือ ความว่าง
คือ ความเงียบ เธอคือผู้หญิง
ปริศนาหนึ่งเผยตัว จากนั้น
ก็ตามมาเป็นชุดๆๆ

ที่นี่คือ โลกใหม่ เธอมาจากโลกเก่า
แล้วคนในหมู่บ้านก็ตามล่า
เธอและเขา

จากจุดเริ่มต้น เป็นวรรณกรรมแฟนตาซี
ออกแนวๆ ดิสโทเปีย
ชวนให้นึกถึง Hunger Game อยู่เหมือนกัน
แต่สนุกมากๆ จากที่คิดจะใช้ฆ่าเวลา
กลายเป็น สามเล่มใช้เวลาไม่กี่วันจบซะงั้น”


ธนาคาร จันทิมา

สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์


เล่มที่แนะนำ :


1. วิชารู้รอบ (RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World)

ผู้เขียน: David Epstein

สำนักพิมพ์: Salt Publishing

2. Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น

ผู้เขียน: ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

สำนักพิมพ์: The Cloud


กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน

สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน


เล่มที่แนะนำ :

1. ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% (FEMINISM FOR THE 99%)

ผู้เขียน: ชินเซีย อารุซซา ติถี ภัฏฏาจารย์ และ แนนซี่ เฟรเซอร์

ผู้แปล: อรชร ดำรงจิตติ และ พริม มณีโชติ

สำนักพิมพ์: SOI


“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสั้นๆ แต่มีข้อเสนอที่ทรงพลัง หนังสือเล่มนี้ขยายขอบเขตการต่อสู้ของเฟมินิสต์ให้ไปไกลกว่าเรื่องการกดทับทางอัตลักษณ์ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องชนชั้น การต่อต้านการเหยียดผิว ต่อต้านทุนนิยม และการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวแทนของคน 99% ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่เก่งที่ต่อสู้ให้ทัดเทียมกับผู้ชาย โดยระบบแห่งการกดทับอื่นๆ ยังมั่นคงสถาพร”

2. เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์

ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม เขียน

ผู้แปล: สุขานาฎ จารุไพบูลย์

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“หนังสือเล่มนี้สร้างความเป็นการเมืองให้กับปัญหาสุขภาพจิต ล้มเลิกมายาคติที่โยนความรับผิดชอบต่อปัญหานี้ไปที่ปัจเจกโดยไม่พูดถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ งานที่ไม่มั่นคง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเครียดแก่คนส่วนมาก ยาต้านเศร้าที่ได้ผลที่สุดคือการพูดถึงการเมืองเพื่อการปลดปล่อย การตีความ ‘งาน’ เสียใหม่ และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ”

3. กษัตริย์คือ(อะ)ไร?

ผู้เขียน: เดวิก เกรเบอร์ และ นิกา ดูบรอฟสกี

ผู้แปล: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และ พนา กันธา

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับ ‘กษัตริย์’ เพื่อเข้าใจต้นกำเนิดว่าไม่ได้มีมาก่อนสิ่งอื่นใด ผ่านการเล่าเรื่องที่ตลกขบขัน และยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับ ‘กษัตริย์’ ที่แฝงมาในยุคสมัยของพวกเรา นอกจากกษัตริย์จริงๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นถือสถานะ ‘เทียบกษัตริย์’ ของเหล่าชนชั้น CEO อีกด้วย”


จุฑา สุวรรณมงคล

สำนักพิมพ์ soi


เล่มที่แนะนำ :

1. 24-7/1

ผู้เขียน: ภู กระดาษ

สำนักพิมพ์: มติชน


“ถ้าจะมีนวนิยายเล่มไหนที่สามารถจินตนาการเข้าไปถึงชีวิตจิตใจของผู้คนยุคร่วมสมัยในประเทศไทยได้ เราควรนับ 24-7/1 ของภู กระดาษเป็นหนึ่งในนั้น แน่แหละว่า การบันทึกเช่นนี้เป็นการเขียนในฐานะเรื่องแต่งที่ปนเประหว่างข้อเท็จจริงกับภาวะสมมติ นวนิยายทำงานต่างจากประวัติศาสตร์ก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่านวนิยายจะเปิดเปลื้องภาวะความจริงที่มนุษย์รับมืออยู่ได้น้อยไปกว่ากันเลย

นวนิยายชิ้นนี้น่าจะเป็นความทะเยอทะยานของภู กระดาษ ที่จะเปิดให้เห็นภาพทางสังคมอันสลับซับซ้อน ไปพร้อมๆ กับภาวะจิตใจของคนที่ยอกย้อนไม่แพ้กัน ใครจะพยายามบอกว่าเรื่องนี้เป็นภาพทางการเมืองของสังคมไทยก็ได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เล่าการเมืองอย่างทื่อๆ จนตัดขาดความกระจ้อยร่อยของชีวิตประจำวันที่มีผลต่อความรู้สึก สำนึก รวมถึงการตัดสินใจอะไรต่างๆ ของคน นวนิยายเล่มนี้น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อจะลงหลักความคิดที่นักเขียนบรรจงใส่เข้าไป การใช้เวลายาวนานอย่างที่คาดเดานี้ไม่ใช่เพียงเพราะความยาวของหนังสือหรอก แต่เพราะโดยธรรมชาติของวรรณกรรมเองด้วยที่ไม่ได้ให้คำตอบอะไรใครฉับพลัน มันจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้อ่านให้เวลา และสังคมให้พื้นที่ในการลองมองภาวะเหล่านั้นอย่างจริงจัง”

2. สาวไห้

ผู้เขียน: วิตต์ สุทธเสถียร

สำนักพิมพ์: Salmon Books


“เราซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะตื่นเต้นกับโครงการของ Salmon Books ที่นำวรรณกรรมเก่ากลับมาตีพิมพ์ใหม่ แม้ว่าตัวหนังสือจะถูกโปรโมทว่า ‘วิตต์ สุทธสเถียร’ เป็นนักเขียนที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เอ่ยอ้างพาดพิงในฐานะแรงบันดาลใจ และเยินยอยกย่องสำนวนภาษาเฉพาะตัว’ แต่ผู้ไม่เคยชอบ ‘สไตล์’ ของ ’รงค์ อย่างเราคงไม่นับว่านี่เป็นการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อหนังสือเล่มนี้หรอก

ตัวละครเอกในนวนิยายสาวไห้ เป็นผู้หญิงที่มีการศึกษาให้บรรยากาศยุครุ่งอรุณของประชาธิปไตย แต่เมื่อตามอ่านจนเล่ม ความคิดเห็น การประเมินคุณค่าตัวเอง และการนิยามความรักความสัมพันธ์ของตัวละครเอกในหลายตอนทำให้เราเลิกคิ้วแบบไม่เชื่อได้อยู่เหมือนกัน ถึงอย่างนั้น เรายังรู้สึกว่านวนิยายเล่มนี้น่าตื่นเต้นสำหรับผู้อ่านหลายๆ คน เพราะนี่คือโอกาสที่เราจะได้ลองอ่านวรรณกรรมเมื่อหลายทศวรรษก่อนเสียใหม่ และการอ่านใหม่ ณ ที่นี้ไม่ใช่แค่เพียงการทำความเข้าใจตัวเองในเวลาปัจจุบัน แต่คือการกลับไปมองอดีตเสียใหม่ได้อีกด้วย”

3. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“ถ้าต้องเลือกหนังสือภาษาไทยเล่มที่ชอบที่สุดของปีนี้ (2021) เราขอเลือกเล่มนี้อย่างไม่ลังเล เป็นส่วนผสมระหว่างมุมมองของนักข่าวผู้คลุกคลีกับผลของความอยุติธรรมในสังคมไทยและความละเอียดลออเฉพาะตัวของ ‘รัช’ ในฐานะนักเขียน

พลังตัวบท ในดินแดนวิปลาส มาจากน้ำเสียงที่ไม่พยายามคาดคั้นเอาทุกอย่างจาก ‘แหล่งข่าว’ รัชไม่ฝืนอธิบายภาวะทุกอย่างราวกับตัวเองรู้เห็นทะลุปรุโปร่ง แต่ปล่อยให้ภาวะเหล่านั้นปรากฏตรงรอยปริแตกของภาษา เผลอๆ อาจกระตุกภาวะแทรกซ้อนขึ้นในตัวผู้อ่านได้อีกด้วย พลังอีกอย่างของตัวบทคือการละชื่อจริงของตัวละครทุกตัว คนจำนวนหนึ่งคงพอเดาได้ แต่ที่เหลืออาจหลงอยู่ในเกมใบ้คำ ตามแต่ประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม การไขปริศนาทำนองนี้ไม่สำคัญอะไรกับตัวบทในหนังสือเลย เพราะความเป็น ‘นิรนาม’ ไม่ได้ทำให้ตัวบทเจือจางเบาบางลงเลยซักนิด ตรงกันข้าม ชะตากรรมของมนุษย์คนหนึ่ง — หรือ ‘สามัญชน’ อย่างในชื่อสร้อยของหนังสือ — ได้อยู่ในแสงที่ไม่โดนบดบังด้วยเรื่องเล่าทางการหรือเรื่องเล่าที่รู้ๆ กันอยู่ ไม่ต้องโดนกักขังด้วยภาพที่เราอาจมีต่อบุคคลหรือเหตุการณ์เหล่านั้นจนไม่ไหวติง แทนที่จะเปิดให้ใครรวบรัดการอ่านผ่านตัวบทที่เป็นเหมือนแผลตาย รัชเขียนถึงชะตากรรมของสามัญชนให้มีเลือดมีเนื้อ มีสายใยซับซ้อน แบกภาระหนักอึ้งในชีวิต ตัดสินใจผิดพลาด บุคคลทั้งหลายเหล่านี้มีตัวตน ในดินแดนวิปลาส”


ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

สำนักพิมพ์ P.S.


เล่มที่แนะนำ :

1. สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง

ผู้เขียน: ตินกานต์

สำนักพิมพ์: ระหว่างบรรทัด


“รวมเรื่องสั้นโดยตินกานต์ เล่าถึงความเว้าแหว่ง แตกร้าวของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว สะท้อนค่านิยม ความคาดหวัง ความกดดันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ภาษาของตินกานต์ยังคงฟุ้งไปด้วยกลิ่นดอกไม้ ริ้วรอยความหลัง มวลความอบอุ่นที่แฝงไปด้วยความเศร้า นุ่มนวลหากแต่หนักหน่วง เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นที่มีความต่อเนื่องจากเล่ม ดอกรัก รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของนักเขียน ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่นเดียวกัน หากแต่เล่มนี้ให้มิติที่ลึกซึ้งและมีความท้าทายมากกว่า อาจเพราะผ่านการตกผลึกมากกว่า และเห็นได้ชัดว่าสลัดทิ้งความกังวลในการขัดเกลาเรื่องความสละสลายทางภาษาออกไป มีจังหวะที่ทิ้งระยะหายใจและให้อิสระกับตัวละครมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น จึงให้อรรถรสที่พอดิบพอดี”

2. โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21

ผู้เขียน: นันดานี


“ขอยกให้เป็นวรรณกรรมที่ disturb แวดวงวรรณกรรม มิตรน้ำหนึก สมาคมนักเขียน และประชดประชันสังคมไทยได้สนุกที่สุดของปีนี้ แค่สีบนปกหนังสือและชื่อหนังสือก็แสบสันต์แล้ว รวมเรื่องสั้น 12 เรื่องในเล่ม สร้างพื้นที่ในการสร้างสรรค์งานเขียนโดยไม่สนใจขนบและความดีงามทางภาษา ในขณะที่จิกกัดยุคสมัยอย่างจัดจ้าน งานเขียนนั้นก็ได้ขบข่วนการเขียนแบบแสบๆ คันๆ มีความทั้งรักและทั้งเกลียด ที่น่าสนใจคือตัวนักเขียนแทบไม่ออกสื่อเลย ใช้นามปากกาอันลึกลับและน้อยคนมากที่จะรู้จักนักเขียน การไม่นำเสนอตัวตน ไม่สนว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนที่รับการยอมรับในแวดวงวรรณกรรมไทยไหม จัดวางตำแหน่งของตัวเองเป็นคนนอก เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของหนังสือ หยิ่งผยองทั้งเนื้อหาและวิธีการในการนำเสนอตัวมันเอง ประทับใจ”

3. Beau (is Non-Binary of Everything): โบ และทุกสิ่งที่มิอาจแบ่งแยก

ผู้เขียน : ลาดิด (LADYS)


“เรื่องราวของเทวทูตซึ่งมีปีกสีดำชอบแมวสีส้มและทุตตี้ฟรุตตี้สีม่วง รู้จักหนังสือเล่มนี้เพราะมีรีวิวและเป็นเล่มขายดีในทวิตเตอร์ หน้าปกเขียนว่า BEAU (Is Non – Binary of Everything) ตัดสินใจว่าต้องอ่าน เพราะคำโปรยบนปก และภาพปกสวย ดึงดูดสายตา ก่อนจะพบว่าเป็นนิยายขนาดสั้นแนวแฟนตาซีและมีประเด็นที่น่าสนใจแฝงไว้ได้อย่างกลมกล่อม เรื่องราวของ ‘เบลล่า โบ’ เทวทูตที่มีปีกสีดำ และ ‘ควอนโซ’ มนุษย์ตัวเล็ก ที่ทำให้เราเชื่อในพลังของการสร้างสรรค์ มิตรภาพ และการปลอบประโลม เป็นประสบการณ์การอ่านที่เพลิดเพลินจนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว มีความรู้สึกตื้นตันและเชื่อมต่อกับประสบการณ์ส่วนตัวในของการทำงานหนังสือ การทำสำนักพิมพ์ และในเรื่องมีส่วนที่พูดถึงงานศิลปะ งานจิตรกรรมที่คนไม่ได้ศึกษาด้านศิลปะหรือมีพื้นฐานความรู้ศิลปะใดใดก็อ่านได้อย่างสนุกจนจบเล่ม”


สุกฤษฏิ์ ธีระปัญญารัตน์

ร้านหนังสือออนไลน์ Paperyard


เล่มที่แนะนำ :

1. เมื่อโลกไม่มีเรา (The World Without Us)

ผู้เขียน: Alan Weisman

ผู้แปล: สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“คำว่า What if… เป็นหนึ่งคำที่ส่วนตัวรู้สึกชอบมาก เพราะมันทำให้สมองเราคิดต่อยอดและจินตนาการไม่รู้จบ หนังสือเล่มนี้เนื้อหาตามตัวคือการจำลองว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจู่ๆ วันนี้โลกไม่มีมนุษย์เลย อย่างที่ทุกคนน่าจะเคยดูหนังจำพวกไซไฟที่ถามหาสิ่งที่ทำลายโลก เราจะฟื้นฟูโลกได้ยังไง นั่นก็คือ การทำลายมนุษย์ที่เป็นตัวทำลายโลก ยังไงล่ะ”

2. พลิกทำเนียบขาว: การต่อสู้ของนักการเมืองสังคมนิยม เบอร์นี แซนเดอร์ส (OUTSIDER in the Whitehouse)

ผู้เขียน: เบอร์นี่ แซนเดอร์ส และฮัค กุตแมน

ผู้แปล: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และวศินี พบูประภาพ

สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน


“ผมเคยดูซีรีส์เรื่อง House of Cards ซึ่งเกี่ยวกับการต่อสู่เฉือดเฉือนในการเมืองสหรัฐฯ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว.จากรัฐเวอร์มอนพรรคเดโมแครต ประสบการณ์การเมือง 30 ปี ที่แซนเดอร์สเอามาเล่า ทำให้เราเหมือนได้ดู House of Cards ในโลกจริงก็ไม่ปาน”

3. ห้วงสุดท้ายแห่งรัตติกาล (The Last Days of Night)

ผู้เขียน: Graham Moore

ผู้แปล: นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

สำนักพิมพ์: เอิร์นเนสต์


“เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักโทมัส เอดิสัน หลอดไฟของเขา และสงครามหลอดไฟในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาไม่มากก็น้อย อย่างล่าสุดก็มีภาพยนตร์เรื่อง The Current War ศึกสงครามอัจฉริยะกระแสไฟ ที่ได้เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ มารับบทเป็นเอดิสัน ถ่ายทอดเรื่องราวของเรื่องนี้

ถ้าหนังสือบอกเล่าเกี่ยวกับสงครามไฟฟ้าทั่วไป มันก็คงน่าเบื่อเหมือนหนังสือเรียน

แต่เล่มนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านมุมมองของพอล คราวัท ทนายของเวสติงเฮ้าส์ ที่หาญกล้าต่อกร สู้คดีกับเอดิสันผู้ยิ่งใหญ่ แถมยังเป็นผู้ให้กำเนิดระบบการทำงานของทนายที่เรียกว่า ‘ระบบคราวัท’ ก็เกิดจากสงครามนี้ ทำให้เรื่องนี้จึงน่าสนใจมากขึ้นอีกเท่าตัว แม้เราจะทราบตอนจบแล้วก็ตาม”


นักรบ มูลมานัส

นักออกแบบปก


เล่มที่แนะนำ :


1. การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์

ผู้เขียน: นิโคลาส เวร์สแตปเปิน

สำนักพิมพ์: River Books


“อภิมหางานขุดค้น รวบรวม และเรียบเรียงที่น่าทึ่ง ปะติดปะต่อก่อร่างสร้างสรรค์ให้การ์ตูน ซึ่งเป็น genre งานเขียน / งานสร้างสรรค์ที่มักจะถูกมองข้าม ให้ผู้อ่านได้หวนกลับมาพินิจพิจารณาในหลากหลายมุมอีกครั้ง”

2. โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

ผู้เขียน: วีรพร นิติประภา

สำนักพิมพ์: SandClock Books


“ข้อเขียนเเหว่งวิ่นที่แสนจะเป็นมนุษย์ อ่านไปน้ำตาพานจะไหล ถ้าประเทศไทยมีแม่แบบคุณแม่วีรพรมากกว่านี้ เราคงไม่มาถึงจุดนี้”

3. ฤกษ์งามยามปารีส (A Moveable Feast)

ผู้เขียน: Ernest Hemingway

ผู้แปล: ไพรัช แสนสวัสดิ์

สำนักพิมพ์: ไชน์


“อ่านตอนได้ทุนมาทำงานที่ปารีสเลยรู้สึกร่วมไปด้วยกับการหาแห่งหนในฉากหลังอันชวนฝัน (ทั้งฝันดีและฝันร้าย!) ความเป็นปุถุชนของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ก็น่าจะเป็นจุดที่ผู้อ่านสนุกไปด้วยได้ ติ่งปารีสหรือติ่งนักเขียนน่าจะอ่านเล่มนี้ ถึงไม่ติ่งไรเลยก็ยังน่าอ่านอยู่นะ (อ่านจบอาจจะกลายเป็นติ่ง)”


อำนาจ รัตนมณี

ร้านหนังสือเดินทาง


เล่มที่แนะนำ :

1. สะพรึง (Terror)

ผู้เขียน: Ferdinand von Schirach

ผู้แปล: ศศิภา พฤกษฎาจันทร์

สำนักพิมพ์: Illuminations Editions


“สะพรึงสมชื่อ เรื่องราวการพิจารณาคดีนายทหารคนหนึ่งที่ตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสารซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายจี้ เหตุการณ์เผยออกมาจากบทสนทนาอย่างกระชับแต่สัมผัสชัดถึงความอึดอัดกดดัน ขณะอ่านรู้สึกราวกำลังร่วมตัดสินคดีโดยมีความรู้สึกพะอืดพะอมโผล่ขึ้นมามากมาย เช่นว่า คนหน้างานนั้นลำบากเสมอ ส่วนผู้บังคับบัญชามักลอยตัวไม่ต้องรับผิดอะไร หนำซ้ำเมื่อเป็นคดีหากเจอนักกฎหมายที่ฉลาดและรู้ผิดชอบชั่วดีด้วยก็ดีไป ทว่าหากไม่ใช่ก็กลายเป็นอะไรที่แสนน่ากลัว นี่ทำให้ตัวเราเองต้องหันมาตรวจสอบตรรกะ จุดยืน และความเชื่อทั้งหมด เข้าใจแล้วว่าทำไมนี่จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อถกเถียงทางนิติปรัชญา แนะนำให้หลายคนอ่าน คนที่ได้อ่านไม่น้อยกลับมาถามกันว่า ‘เป็นเราจะยิงไหม?’ หรือ ‘แล้วพี่ล่ะ เป็นพี่…จะยิงไหม?'”

2. ก้าวเดิน (WALKING: One Step at a Time)

ผู้เขียน: Erling Kagge

ผู้แปล: ธันยพร หงษ์ทอง

สำนักพิมพ์: OMG


“หนังสือที่ยืนยันว่าหลายอย่างดีขึ้นได้หากเรา ‘เดิน’ กันให้มาก เรื่องราวจากการอ่านและการเดินเท้าของผู้เขียน ซึ่งได้เดินไปขั้วโลก เดินในท่อระบายน้ำของนิวยอร์ก และเดินบนท้องถนนของหลายเมือง ขณะเดิน เขาทั้งได้คุยกับตัวเอง คุยกับสภาพแวดล้อม และคุยกับแนวคิดของนักปรัชญา ชอบที่เขาบอกว่า เมื่อวางเท้าไปบนฟุตบาทที่ชำรุด แรงสะเทือนจะส่งผ่านมาถึงสมองเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับก้าวต่อไป หมอโรคหัวใจจึงบอกว่าการเดินคือยาที่ดีที่สุด ชอบที่เขาบอกว่า การเดินทำให้เราสัมผัสอากาศ ได้กลิ่นมื้ออาหาร เห็นการแสดงความรัก การประกอบอาชีพ เห็นรายละเอียดของเมือง ชอบที่เขาบอกว่า เมื่อเดินเรามีโอกาสสนทนาและปฏิสัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดจากน้ำมือของคนที่ตัดสินใจลุกขึ้นเดิน และชอบที่เขาบอกว่า หากไม่เดิน คุณก็ตัดขาดจากความเป็นจริงของผู้คน โลกจะเปลี่ยนไปจากนี้มาก หากผู้นำแต่ละประเทศถูกบังคับให้เดินไปกับประชาชนของตนทุกๆ วัน นี่เป็นหนังสือเดินทางที่ดีมากเล่มหนึ่ง”

3. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (A History of Thailand)

ผู้เขียน: คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์: มติชน


“พิมพ์มาแล้วหลายครั้ง แต่ได้กลับมาอ่านอีกครั้ง เมื่อเจอคำขอจากคุณแม่บางคนให้ช่วยแนะนำหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ ‘เป็นกลาง’ สักเล่ม อธิบายไปว่า ‘เป็นกลาง’ นั้นตัดสินยาก แต่หากพิจารณาว่านี่คือผลงานของสองนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยมานาน และเป็นงานที่มีบรรณานุกรมอ้างอิงยาวเหยียดก็มั่นใจได้ว่าจะได้ประวัติศาสตร์การเมืองที่ครบถ้วน เป็นระบบ สำหรับครอบครัวที่ช่องว่างระหว่างวัยทำให้คุยเรื่องการเมืองกันยาก นี่เป็นหนังสือที่ทุกคนควรได้อ่าน สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจัง นี่เป็นเหมือนหนังสือรหัสวิชา 101 ที่ทำให้เรารู้จักเส้นเรื่องหลัก เป็นพื้นฐานที่ดีหากว่าต่อมาเราอยากศึกษาประวัติศาสตร์แต่ละช่วงให้ลึกซึ้งขึ้น”


ชุลีพร วุ่นบำรุง

สำนักพิมพ์กำมะหยี่


เล่มที่แนะนำ :

1. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ แต่อัดแน่นด้วยเรื่องราวที่หนักหนาของผู้คนที่มุ่งหวังที่จะสร้างที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อชีวิตที่ดีมีความเสมอภาคในความเป็นคนร่วมชาติ ร่วมสังคม

เพียงแค่ไขว่คว้า ‘เสรีภาพ’ ‘หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงที่หลุดจากขนบเดิม ซึ่งเป็นเสมือนโซ่ล่าม’
ทำไมพวกเราต้องโดนขับไล่ให้ไปยืนอยู่อีกฟากของสังคม
ทำไมต้องโดนเกียจชัง โดนประณาม โดนลากเข้าคุก โดนยัดเยียดความผิด
‘ทำไมมนุษย์ชาติเดียวกันถึงทำกับเพื่อนมนุษย์ชาติเดียวกันได้ถึงเพียงนั้น’

กฎหมายมีไว้เพื่อพิทักษ์สันติของประชาชนจริงหรือ
แล้วคุกมีไว้ขังคนชั่ว คนทำความผิดจริงหรือ
ทุกคนมีโอกาสที่จะโดนหมวกที่ชื่อ ‘อาชญากรรมทางการเมือง’ สวมลงบนหัว
ความยุติธรรมควรหยิบยื่นความเป็นธรรมให้พวกเขา ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของคนเฉพาะกลุ่มใช้เหยียบย่ำและกดขี่พวกเขา

“หัวใจของเขาแหลกสลาย หลังค้นพบว่าเขาเข้าใจบางอย่างผิดไปอย่างยาวนาน ถวายหัวให้แก่ประติมากรรมทางการเมือง หาใช่มนุษย์จริง”

หนังสือที่อุทิศ ‘แด่สังคมอันสุขสงบ ที่มีความวิปลาสอยู่คู่ขนาน’”

2. โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

ผู้เขียน: วีรพร นิติประภา

สำนักพิมพ์: SandClock Books


“หนังสือว่าด้วยทัศนะการใช้ชีวิตร่วมกันของพ่อแม่และลูก (ไม่อยากจัดหนังสือเล่มนี้เป็น ‘คู่มือเลี้ยงลูก’)
หนังสือที่เป็นเหมือนการนั่งล้อมวงคุยกัน

หนังสือที่ไม่ใช่เหมาะสำหรับการเลี้ยงดูเด็กๆ เท่านั้น แต่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคน สามารถนำข้อคิดจากเนื้อหาที่เป็นเสมือนการนั่งฟังผู้เขียนบอกกล่าวเล่าเรื่องราวให้เราฟังไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ไม่ยากนัก
หลายๆ เรื่องที่เราอาจคาดไม่ถึง บางเรื่องเรามองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ พ่อแม่บางคนอาจมีเป้าหมายเพียงเลี้ยงลูกให้มีชีวิตที่ดีที่สุด มอบสิ่งที่ (คิดว่า) ดีที่สุด หวังมองเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิต แต่จริงๆ แล้ว ‘การเลี้ยงดูเด็ก’ สักคนมีเรื่องราวมากมาย

  • บางครั้งความหวังดีของพ่อแม่อาจกลายเป็นยาพิษที่กัดกร่อนทำลายลูกโดยคาดไม่ถึง
  • อย่าทำให้ลูกเอือมพ่อแม่
  • อย่าทำให้ลูกกลัวพ่อแม่
  • อย่าทำให้ลูกอยากหลบลี้หนีห่างไปจากพ่อแม่
  • ถ้าลูกไม่สามารถไว้ใจพ่อแม่ของตัวเอง แล้วในโลกนี้เขาควรจะไว้ใจใครได้อีก

เดินจูงมือใช้ชีวิตร่วมไปกับลูกในฐานะเพื่อนร่วมทางสายชีวิต จนกว่าจะถึงวันที่คุณต้องปล่อยมือจากเขา
เพราะไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ความเป็นพ่อแม่อาจเป็นนิรันดร์ แต่พ่อแม่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องสูญสลายไปสักวัน

หนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนเพื่อนคอยสะกิดเพื่อตักเตือนเมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มล้ำเส้นเขตแดนของลูก”

3. เมื่อโลกไม่มีเรา (The World Without Us)

ผู้เขียน: Alan Weisman

ผู้แปล: สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“ไม่ใช่หนังสือวิชาการที่อ่านยาก เล่มหนาหนักแต่สามารถอ่านได้เพลินๆ หากนึกภาพตามไปด้วยจะยิ่งสนุกและเพลิดเพลิน

โลกจะเป็นเช่นไรหากไม่มีมนุษย์หลงเหลืออยู่บนโลกนี้ ธรรมชาติที่สูญหายจะย้อนกลับสู่กระบวนการเริ่มต้นก่อเกิดหรือไม่

ในเมื่อทุกสิ่ง-ทุกชีวิตบนโลกมีโอกาสที่จะ ‘สูญหาย’ และ ‘สูญพันธุ์’ บางเผ่าพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไป แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า มนุษย์จะไม่ต้องเผชิญกับสิ่งนั้น

แล้วอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์หายไปจากโลก

  • การเกิดขึ้นของโรคและเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ร้ายแรงจนเกินกว่าที่มนุษย์จะรับมือไหว
  • ภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรง
  • ภัยทางเทคโนโลยี
  • สภาพแวดล้อมถูกทำลายขั้นวิกฤต
  • หรือว่ามนุษย์ได้กระทำในสิ่งที่เป็น ‘อัตวินิบาตกรรมตนเอง’

หนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าโลกใบนี้จะเป็นอย่างไร หากมนุษย์ยังไม่หยุดกระทำการประทุษร้ายโลก และเราสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายโลกและทำลายชีวิตของเผ่าพันธุ์ตนเองได้อย่างไร”


วชิรา รุธิรกนก

rabbithood studio


เล่มที่แนะนำ :


สาวไห้

ผู้เขียน: วิตต์ สุทธเสถียร

สำนักพิมพ์: Salmon Books


อาจารีย์ สุทธิโรจน์

นานมีบุ๊คส์


เล่มที่แนะนำ :

1. ร้านขนมแห่งความลับ

ผู้เขียน: Tsukasa Sakaki

ผู้แปล – ปาวัน การสมใจ

สำนักพิมพ์: แพรว


“ชอบเพราะอ่านแล้วรู้สึกอุ่นๆ นวลๆ ละมุนๆ สืบสวนหน่อยๆ กุ๊กกิ๊กนิดๆ ตลกพองาม อ่านเพลินจบเล่มรวดเดียว อยากไปโตเกียวเพื่อสำรวจว่ามันมีร้านนี้อยู่จริงมั้ยขึ้นมาเลย และอยากหาขนมญี่ปุ่นกินมากกกก อ่านจบสั่งไดฟุกุมากินทันที”

2. จั๊กกะจิ่งจิ่ง

ผู้เขียน: คณะใกล้เที่ยงคืน


“ชอบเล่มนี้เพราะเป็นหนังสือเด็กที่แหวกแนวจากตลาดไทยดี ไม่ระบุว่าหนูต้องเป็นนั่นนี่หรือสั่งสอนตามขนบนิทานทั่วไป เล่มนี้คือให้เด็กรู้ว่าหนูจะเลือกเป็นใคร เป็นอะไรก็ได้เลย เพราะทุกคนแตกต่างกันได้”

3. พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด

ผู้เขียน: Emily Haworth-Booth (อริยา ไพฑูรย์)

สำนักพิมพ์: SandClock Books


“เป็นหนังสือเด็กที่รู้สึกว่าเออ บ้านเรามีคนกล้าเอาเล่มนี้มาแปลแล้วแฮะ เราได้อ่านต้นฉบับอังกฤษแล้วก็คิดว่าน่าสนใจจัง เล่มนี้เป็นนิทานเด็กก็จริง แต่ผู้ใหญ่อ่านก็ตีความได้อีกอย่างที่ลึกซึ้งกว่า อ่านแล้วสะเทือนมาก ดีใจที่มีคนเอามาแปล”

ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน ปี 2021

กลับมาอีกครั้งกับการชวนร่วมโหวตรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ประจำปี 2021

รักชอบเล่มไหน อยากให้เพื่อนอ่านเล่มไหน คิดว่าสังคมตอนนี้ควรอ่านอะไร หรืออ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้คนเดียวไม่ไหว ร่วมโหวตกับทาง The101.world ในกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2021 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ 

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม (โหวตได้ที่: https://bit.ly/popularvote2021) เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2020-2021 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ และร่วมเสนอไอเดีย #หนังสือมีไว้ทำไม (ไว้ปลอบประโลมหรือไว้ใช้เป็นอาวุธ ฯลฯ แล้วแต่ใจปรารถนา) – ถ้าเขียนดี เขียนเฉียบ ถูกใจทีมงาน จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตหนังสือ Top Highlights จากการลงคะแนนของสำนักพิมพ์และนักอ่านจำนวน 1 ชุด (จำกัด 1 รางวัล)

โหวตได้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2564

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save