fbpx

ความน่าจะอ่าน 2021 : The Finalists (ตอนที่ 1)

ความน่าจะอ่านดำเนินมาถึงปีที่ 5


แน่นอนว่าเรายังมีนายกรัฐมนตรีคนเดิม โดยที่นักประวัติศาสตร์อาจจะอยากเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ หรือนักรัฐศาสตร์อยากจะเขียนถึงประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ แล้วก็ได้ แต่ก็อย่างที่รู้ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังต่อสู้กันอยู่

ถ้าเราคิดว่าปี 2020 นั้นสาหัสแล้ว ปี 2021 ที่จุดบุหรี่รอซ้ำเติมคงยิ้มเยาะแล้วบอกเราว่า ที่เจอมานั่นยังไม่ใช่ของจริง เพราะดูเหมือนว่าความสาหัสจะไม่ได้จางหายไปไหน แต่ยิ่งทวีคูณความโหดร้ายขึ้นซ้ำๆ ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย เพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ จนทำให้ร้านค้าและผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียงานของตัวเอง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนขยับไปอย่างเชื่องช้า ยังไม่นับการจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และการทำร้ายผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ถอยหลังในประเทศไทย

เราเผชิญและ ‘อ่าน’ เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนการซ้อมตกนรก” นั่นจึงทำให้เราเลือกที่จะตั้งคอนเซ็ปต์ของปีนี้ไว้ว่า ‘อ่านอะไรในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’

เพราะว่าคำว่า ‘ยิ่งกว่า’ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากมองจากสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้

ในความน่าจะอ่าน 2021 นี้ เราชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จนได้หนังสือกว่า 130 เล่ม หลากหลายทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และการ์ตูน หลายเล่มช่วยต่อจิกซอว์ให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมมากขึ้น หลายเล่มช่วยให้เราเห็นแก่นของปัญหา และอีกหลายเล่มก็ช่วยปลอบประโลมหัวใจเราในวันที่เหนื่อยล้า

บรรทัดถัดไปจากนี้คือรายชื่อหนังสือ Finalists ชุดที่ 1 จาก 20 คนที่เลือกหยิบหนังสือที่คิดว่าน่าอ่าน น่าละเลียด พร้อมเหตุผลว่าทำไมเราจึง ‘น่าจะอ่าน’ หนังสือเล่มนี้

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 2 ได้ที่นี่

ดู ‘Finalists ความน่าจะอ่าน 2021’ ชุดที่ 3 ได้ที่นี่


พิพัฒน์ พสุธารชาติ

สำนักพิมพ์ Illuminations Editions

เล่มที่แนะนำ :

1. ประวัติศาสตร์อยุธยา 5 ศตวรรษสู่โลกใหม่

ผู้เขียน: ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์

สำนักพิมพ์: มติชน


“เป็นหนังสือวิชาการที่ศึกษาอยุธยาได้อย่างครอบคลุมทั้งในช่วงเวลา (คือ 500 ปี) และมีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะการอธิบายให้เห็นถึงพลวัตทางสังคม-เศรษฐกิจของอยุธยาในช่วง 500 ปีดังกล่าว จัดเป็นงานวิชาการด้านอยุธยาศึกษาที่อัปเดตที่สุดในเวลานี้ และผู้ที่ต้องการศึกษาอยุธยาอย่างจริงจัง จำเป็นต้องอ่าน”


2. วิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์

บรรณาธิการ: ชนิดา พรหมพยัคฆ์ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

สำนักพิมพ์: ศยาม


“เป็นหนังสือรวบรวมบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎี และแนวทางใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติศาสตร์ เป็นหนังสือที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างซีเรียส ควรมีไว้เป็นคู่มือด้านวิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์”


3. ปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย

บรรณาธิการ: วิศรุต พึ่งสุนทร

สำนักพิมพ์: คบไฟ


“เป็นหนังสือรวบรวมบทความที่อธิบายแนวคิดทฤษฎีของนักทฤษฎีร่วมสมัยคนต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของโลกในยุคปัจจุบัน”

ธนาพล อิ๋วสกุล

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

เล่มที่แนะนำ :


1. 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน

ผู้เขียน: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม

“เรื่องราวของคณะราษฎรในแง่มุมต่างๆ ที่มุ่งศึกษาจากเอกสารชั้นต้น ที่หลายชิ้นเป็นความมานะอุตสาหะของผู้เขียนในการค้นหา แม้จะเขียนต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อมารวมในเล่มเดียวกันทำให้เติมเต็มประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนั้นและมรดกมาจนถึงปัจจุบัน”


2. กองทัพคณะราษฎร: ล้อมรั้วประชาธิปไตยในยุคปฏิวัติสยาม

ผู้เขียน: ปรัชญากรณ์ ลครพล

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม


“ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการจัดองค์กรทหารหลัง 2475 เห็นความพยายามที่จะจัดการกองทัพของคณะราษฎร มีการต่อสู้ทั้งระบอบใหม่กับระบอบเก่า และระบอบใหม่ด้วยกันเอง แม้จะผ่านกองทัพของระบอบเก่ามาได้ แต่กองทัพคณะราษฎรก็ยังมีภารกิจต่อไปที่จะสถาปนาให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและกองทัพที่แท้จริง”


3. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“กระชับ ตรงประเด็น ความวิปลาสที่เป็นปกติภายใต้ระบอบรัฐประหาร ทำให้การใช้สามัญสำนึกของตัวละครในเล่มกลายเป็นความกล้าหาญที่ต้องก้มคารวะ”

ภาคย์ มหิธิธรรมธร

สำนักพิมพ์ฮัมมิ่งบุ๊คส์

เล่มที่แนะนำ :


1. คนดีตายหมดแล้ว

ผู้เขียน: สรจักร

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์

เป็นรวมเรื่องสั้นหักมุมของนักเขียนผู้เป็นตำนานของเมืองไทย ซึ่งคัดเฉพาะเรื่องที่เด็ดๆ มารวมไว้ในเล่มเดียว หลายเรื่องเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว…พอมาอ่านซ้ำก็ยังจำเรื่องได้ไม่ลืม อดทึ่งกับความสามารถของผู้เขียนไม่ได้จริงๆ”


2. ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน

ผู้เขียน: Fumie Kondo

ผู้แปล: กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

สำนักพิมพ์: Sunday Afternoon

“เล่าเรื่องเรียบง่าย แต่อ่านเพลินมากๆ จนวางไม่ลง ผู้ที่ชอบเรื่องอาหารการกินน่าจะชอบเล่มนี้เป็นพิเศษ”

3. เด็กสาวฆาตกร

ผู้เขียน: Rikako Akiyoshi

ผู้แปล: ธนพล ศักดิ์สมุทรานันท์

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์


“เป็นนิยายที่ตีแผ่ความดำมืดของจิตใจมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น ช็อตเด็ดของเรื่องอยู่ที่บทสรุปที่หักมุมไปมาหลายต่อหลายรอบจนคนอ่านหัวหมุน เชื่อว่าไม่มีใครเดาตอนจบของหนังสือเล่มนี้ได้”

อรรถ บุนนาค

สำนักพิมพ์ J-Lit

เล่มที่แนะนำ :

1. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง

ผู้เขียน: ชานันท์ ยอดหงษ์

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม


“หนังสือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในการมองการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากมุมมองของผู้หญิง ซึ่งเป็นเหล่าภรรยาของคณะราษฎร เสนอมุมมองความสัมพันธ์ เครือข่ายของอำนาจและการใช้อำนาจในแบบผู้หญิงที่มักถูกมองข้ามหรือมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ถูกบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะไปพูดถึงในประวัติศาสตร์สังคมมากกว่า

จึงมีความน่าสนใจในการใช้สิ่งที่มักถูกมองว่าไร้สาระ หรืออำนาจผู้หญิงที่มักจะมองข้ามไม่ว่าเรื่องการครัว การออกสมาคม งานสังคมสงเคราะห์ งานการกุศลต่างๆ สิ่งเหล่านี้ในการกระทำนั้นมีนัยซ่อนอยู่ไว้เสมอ รวมถึงหลักฐานที่ใช้ในการใช้หนังสืออนุสรณ์งานศพ หนังสืออัตชีวประวัติ และการเขียนแบบคอลลาจตัดแปะให้ผู้อ่านมีอิสระในการตีความหรือทำความเข้าใจ”

2. สุสานสยาม

ผู้เขียน: ปราปต์

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์


“นิยายแนวดิสโทเปียที่สะท้อนภาพในปี 2020-2021 ได้ดีและบังเอิญอย่างน่าประหลาด แก่นเรื่อง แนวคิด สะท้อนความคิดของคนในยุคปัจจุบันเอาไว้ รวมถึงฉายภาพสังคมในการเขียนภาพให้ใหญ่และดูสุดโต่ง แต่เมื่อมาอ่านพิจารณาแล้วแก่นกระพี้เนื้อแท้ก็คือสิ่งที่ต้องเผชิญเหมือนกัน รวมถึงบางเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันก็ประหลาดโอเวอร์ไม่แพ้สิ่งที่บรรยายในนิยาย จนไม่อาจะใช้ตรรกะสามัญสำนึกเข้าใจได้”


3. วุธเธอริง ไฮตส์

ผู้เขียน: เอมิลี บรอนเต

ผู้แปล: ปทุมจิต อธิคมกมลาศัย

สำนักพิมพ์: Library House


“ไม่ต้องพูดเยอะ—เจ็บคอ นวนิยายคลาสสิกสุดๆ ของอังกฤษ ของเอมิลี บรอนเต เขียนแค่เรื่องเดียวแต่ดังตลอดกาล เป็นนิยายติดทำเนียบจารจดไว้บนหน้าประวัติวรรณคดีอังกฤษ ไม่ธรรมดา”

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เล่มที่แนะนำ :

1. ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี

ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน


“จุดเด่นสำคัญของงานวิชาการเล่มนี้คือ ทำให้ ศักดินา ปรากฏกายมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองอย่างชัดเจน หลังจากถูกมองข้ามปัจจัยนี้มายาวนาน ทำให้การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่สมบูรณ์”


2. 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน

ผู้เขียน: นริศ จรัสจรรยาวงศ์

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม


“จุดเด่นคือการศึกษาค้นคว้าเอกสารจากหนังสืองานศพจำนวนมาก ทำให้เรื่องราวของคณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 มีแง่มุมที่ขยายมากขึ้น การค้นพบวันเดือนปีเกิดและตายของสมาชิกคณะราษฎร เป็นเสมือนอนุสาวรีย์ที่กำลังก่อสร้างขึ้นใหม่”


3. Japonisme

ผู้เขียน: Erin Niimi Longhurst

ผู้แปล: ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

สำนักพิมพ์: broccoli


“จุดเด่นทำให้ช่วงเวลาแห่งความว้าวุ่นกังวลใจกับภัยพิบัติโควิด ทำให้เรากลับมาสร้างมาละเอียดกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เติมพลังให้กับตัวเราและคนรอบข้าง”

ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์

ร้านหนังสือ Fathom Bookspace


เล่มที่แนะนำ :

1. มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน (The Midnight Library)

ผู้เขียน: แมตต์ เฮก

ผู้แปล: วรรธนา วงษ์ฉัตร

สำนักพิมพ์: Beat


“พอพูดถึงปีที่โหดร้าย และดูจะร้ายขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกๆ ที่เรานึกถึง แมตต์ เฮกเป็นนักเขียนนิยายอ่านง่ายขายดี ในความง่ายๆ แบบนี้ เฮกเล่าเรื่องชีวิตและปรัชญาซับซ้อนไปคู่กันได้อย่างน่าติดตาม สนุก และปฏิเสธไม่ได้ถึงพลังที่ตัวหนังสือมอบให้

นิยายเล่าเรื่องถึงนอรา ซีด ผู้หญิงอายุ 35 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง หลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าและความผิดหวังซ้ำๆ มาตลอดชีวิต แต่หลังจากกินยาฆ่าตัวตายไปแล้ว เธอฟื้นขึ้นมาในห้องสมุดเที่ยงคืน สถานที่ที่อยู่ระหว่างชีวิตและความตาย และทางเลือกนับไม่ถ้วนก็ปรากฏตัวขึ้น

จะเป็นยังไง ถ้าวันนั้น เราตัดสินใจอีกแบบ มีชีวิตอีกอย่าง เป็นหนังสือที่ทำให้พบว่าในบ้านเมืองน่าหดหู่ใจ มันอาจจะมีทางอยู่บ้างก็ได้ สลักเล็กๆ การเคลื่อนไหวบางอย่าง การกระทำเล็กใหญ่ของเรา มีทางเลือกที่เป็นไปได้ของทุกคน”

2. พลังแห่งเหมียว แมวขององค์ทะไลลามะ

ผู้เขียน: เดวิด มิชี่

ผู้แปลและเรียบเรียง: จรณิต แก้วกังวาล

สำนักพิมพ์: มูลนิธิโกมลคีมทอง


“หนังสือปรัชญาแบบพุทธศาสนา เรื่องเล่าผ่าน ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งเป็นแมวขององค์ทะไลลามะ พบกับสถานการณ์ ผู้คนต่างๆ เรื่องอ่อนโยนเล่าเป็นตอนๆ คำสอนที่ถูกแปลงใหม่ให้อ่านในบรรยากาศของเทือกเขาหิมาลัย และชุมชนของการเรียนรู้ แวดล้อมของพระธิเบต หนังสือคลี่แง่มุมของปัญหาหลากหลายในชีวิต มีเป็นการทบทวน เฝ้ามอง ไตร่ตรองใหม่ คู่ไปกับประเด็นใหญ่ของสังคมมนุษย์อย่างความขาดแคลน ความรังเกียจ การกระทำที่เราไม่อาจยอมรับได้ ฯลฯ

หนังสือที่จะช่วยให้เข้านอนได้ง่ายขึ้น มอบชั่วชณะที่มีกายใจของเราอยู่กับเรา”


3. ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

ผู้เขียน: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

สำนักพิมพ์: Salmon Books


“หนังสือในปีแสนสาหัส ก็คือ หนังสือที่ทำให้เราเห็นภาพความแสนสาหัส


เล่มนี้เป็นงานเขียนสารคดี 13 เรื่องจากการลงพื้นที่ พูดคุย สัมภาษณ์ สำรวจ ของบรรณาธิการและนักเขียนสารคดีประจำ ‘101.world’ ที่เริ่มเดินทางจากความสนใจในสายวรรณกรรม งานของปาณิสสนใจเสียงของผู้คน คุยให้เห็นทั้งเรื่องราวภาพใหญ่ และหัวใจของมนุษย์ ในเล่มครอบคลุมเรื่องราวหลากหลาย ทั้งชาวบ้านที่โดนรุกที่ดิน หญิงขายบริการ แรงงาน นักเรียน นักมวย สนามม้า และอื่นๆ ที่มาพร้อมการจั่วหัวที่ตั้งคำถาม ว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นแบบนี้ ไม่มีอะไรที่เราจะทำได้ เข้าใจได้มากกว่านี้แล้วหรือ


ผู้คนและเหตุการณ์ก่อนโควิดที่ทำให้เราเห็น ‘คน’ ที่ไม่ใช่ตัวเลข”

ชวณัฐ สุวรรณ และ เพชรลัดดา แก้วจีน

กราฟิกดีไซเนอร์ Whale&Rabbit Library

เล่มที่แนะนำ :

1. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน  

ผู้เขียน: รัช 

สำนักพิมพ์: Paragraph

“บันทึกคำบอกเล่าของเหล่าคนธรรมดาที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นฯ หนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยให้เห็นโลก 2 ใบที่ซ้อนทับกันอยู่ในสังคมไทย นั่นคือโลกของคนที่ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น กับโลกของคนที่ถูกจองจำ ทำร้าย บังคับให้สูญหาย เพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นต่อการใช้อำนาจของชนชั้นปกครองไทย แม้หนังสือเล่มนี้จะบาง แต่เมื่ออ่านจบแล้วกลับรู้สึกหนักอึ้ง เพราะเราจะได้ยินเสียงจากอดีตมากมายที่ถูกทำให้แผ่วเบาราวกับไม่มีตัวตน กลับมาดังชัดไปพร้อมกับการต่อสู้ของคนในยุคปัจจุบันอีกครั้ง”

2. งานบัดซบ (Factotum)

ผู้เขียน: Charles Bukowski

ผู้แปล: ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ 

สำนักพิมพ์: ไลต์เฮ้าส์


“นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของชายคนหนึ่งที่เหมือนจะมีแต่เรื่องสำมะเลเทเมา เสเพลไปวันๆ แต่กลับทำให้เราเห็นชีวิตจริงของคนใช้แรงงานระดับล่างในสังคมอเมริกันว่าเต็มไปด้วยการโดนขูดรีดมากแค่ไหน สิ่งที่เราชอบที่สุดในงานชิ้นนี้คือความกล้าที่จะยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเป็น จริงใจยอมรับความต่ำตมของตัวเองที่ส่องสะท้อนสังคมที่ต่ำตมอีกทีหนึ่งตัวละครของบูคาวสกี้ไม่ยี่หระกับความล้มเหลวและการตัดสินจากสังคม แต่เลือกที่จะพยายามมีชีวิตในแบบของตัวเองอย่างถึงที่สุด สิ่งนี้เองที่ทำให้นวนิยายเล่มนี้มีชีวิตชีวา อ่านแล้วเหมือนได้เจอเพื่อนร่วมทางที่มาถ่มถุยสังคมพังๆ ไปด้วยกัน”


3. รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร

ผู้เขียน: รสมาลิน ตั้งนพกุล

สำนักพิมพ์: อ่าน


“เรื่องราวบันทึกความผูกพันของป้าอุ๊ รสมาลิน ภรรยาอากงที่โดนจำคุก 20 ปี คดี 112 เเละอากงได้เสียชีวิตในเรือนจำความอยุติธรรมนี้พรากอิสระไปจากอากง เเละทิ้งความทุกข์และความอาลัยไว้ให้กับป้าอุ๊อย่างไม่เคยจางหายไป การเล่าเรื่องที่ใช้ถ้อยคำธรรมดา เรียบง่าย สัมผัสได้ถึงความจริงใจในทุกๆ ประโยคที่ป้าอุ๊เขียนออกมาบอกเล่าถึงผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ครอบครัวที่มีทั้งรอยร้าว การต่อสู้อุปสรรค ความยากลำบากที่ชีวิตสามัญชนมักจะพบเจอในประเทศนี้ มันกระทบไปถึงรากลึกในชีวิตประจำวัน โอกาสในชีวิต ไม่เเม้เเต่จะอนุญาตให้เราฝันถึงการมีชีวิตที่ดี ป้าอุ๊ไม่ได้พูดเรื่องนี้อย่างตรงๆ เเต่รับรู้ได้ผ่านเรื่องราวของบุคคลที่สะท้อนออกมา ความทุกข์ปนสุขในความรัก คนรัก เเม้มันจะไม่เคยราบรื่น เมื่อเกิดขึ้นกับชั้นราษฎร สุขมักมีระยะสั้นกว่าความทุกข์เสมอ”


ปฏิกาล ภาคกาย, ธีรภัทร์ เจนใจ, นภษร ศรีวิลาศ

คณะบรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอน


เล่มที่แนะนำ :

1. ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบุกิโจ

ผู้เขียน: รติพร ชัยปิยะพร

สำนักพิมพ์: P.S.

“เรื่องราวของ ‘พอนจัง’ หญิงสาวผู้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อใช้ชีวิตยามค่ำคืนไปกับบรรดาโฮสต์หนุ่มในคาบุกิโจ ซึ่งนอกจากจะได้ซึมซับและรับรู้รายละเอียดของวงการบาร์โฮสต์แล้ว ยังได้เพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่าของความสัมพันธ์ที่จะมองให้เป็นเกมก็ได้ หรือมองว่ามีอะไรมากกว่านั้นก็ดี เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และอาจเหมาะอ่านในบรรยากาศยามนี้ ทั้งเพื่อบรรเทาความเครียด และเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเรามุ่งหน้ากลับไปสู่การใช้ชีวิตในอย่างที่ต้องการได้ เพราะไม่ใช่แค่จะได้ติดตามการผจญภัยของพอนจังต่อ แต่นั่นหมายถึงว่าผู้อ่านอย่างเราๆ ก็จะได้ออกไปผจญภัยกับเขาบ้างเหมือนกัน”

2. วาระสมมติหมายเลข 02 ‘ว่าด้วย The King and I’

ผู้เขียน: รวมนักเขียน

สำนักพิมพ์สมมติ

“บทบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนทั้ง 13 ท่านกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่การระลึกถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เคยตั้งคำถามในวัยเด็ก ความในใจของผู้คนที่อัดอั้นกับความรักที่ไม่อาจกล้ำกลืน รวมถึงบันทึกประวัติศาสตร์ที่บางเรื่องก็ไม่เคยถูกเล่า ประทับใจกับการนำเสนอความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาในระดับชิดเพดาน เชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านจะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองถึงความสัมพันธ์นี้ ไปจนถึงเกิดความกล้าที่จะซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง”

3. Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น

ผู้เขียน: ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura)

สำนักพิมพ์: The Cloud


“ท่ามกลางหนังสือพัฒนาธุรกิจที่วางอยู่เต็มแผง ‘Makoto Marketing หลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น’ เป็นหนังสือที่บอกเล่าหลักการตลาดได้จริงใจสมชื่อ แม้ชื่อกิจการหรือแบรนด์ภาษาญี่ปุ่นในเล่มจะจำยากไปบ้าง แต่อ่านแล้วจำได้ขึ้นใจ ว่ามีใครสักคนลุกมาทำบางสิ่งที่แตกต่างแต่แก้ปัญหาได้จริง ซึ่งฉีกทุกกฎของธุรกิจ เช่น การปรับตัวของร้านหนังสือที่มาพิสูจน์ว่าทำไมเราจึงไม่ควรอ้างว่าอุตสาหกรรมนี้ตายแล้ว การทำสินค้าที่ลูกค้า 1 คนยอมซื้อของซ้ำ 100 ครั้งนั้นดีกว่าสินค้าที่ลูกค้า 100 คนซื้อแค่ครั้งเดียว การสร้างแบรนด์ที่แท้จริงของร้านชาอายุ 300 ปีที่ไม่ยอมพูดเรื่องอื่นนอกจากใบชา ไปจนถึงการแยกให้ออกว่า สิ่งใดควรเปลี่ยน สิ่งใดควรรักษา อ่านจบแล้วให้ความรู้สึกเหมือนได้จัดตาราง–ลงทะเบียน–เช็กชื่อ–ฟังเลกเชอร์–ทำการบ้าน และสอบไฟนอลในเล่มเดียว”


พรชัย วิริยะประภานนท์ (นรา)

นักเขียน นักอ่าน นักดูหนังและซีรีส์ ดีเจ และคอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์


เล่มที่แนะนำ :

1. Midnight’s Children

ผู้เขียน : ซัลมาน รัชดี

สำนักพิมพ์ : มติชน


“เล่มนี้ผมอ่านจบไป 2 รอบแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาสาระดีนัก แต่ที่ชอบมากคือ วิธีการเขียน การคิดพล็อต สำนวนภาษา และจังหวะลีลาในการลำดับเรื่องราว ทั้งหมดนี้หวือหวาโลดโผน หวือหวา แพรวพราวมาก เป็นงาน ‘ปล่อยของ’ แบบไม่บันยะบันยัง โดยคนที่ ‘มีของ’ อย่างล้นเหลือ”

2. กระทรวงสุขสุดๆ (The Ministry of Utmost Happiness)

ผู้เขียน : อรุณธตี รอย

สำนักพิมพ์ : มติชน


“นิสัยอย่างหนึ่งที่ผมชอบทำเป็นประจำระหว่างการอ่านหนังสือก็คือ จดสิ่งที่อ่านแล้วชอบ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำ (อันนี้รวมทั้งสำนวนแปล), ประโยคที่ชอบ ทั้งในแง่ความแปลก คมคาย ไพเราะสละสลวย หรือมีอารมณ์ขัน, วิธีการเปรียบเปรยอุปมาอุปไมย, การเสนอประเด็นหรือข้อมูลที่น่าสนใจ ฯลฯ


‘กระทรวงสุขสุดๆ’ เป็นหนังสือที่ผมอ่านไปจดไป ได้มากมายหลายแผ่นกระดาษ”

3. เจาะลึกแท็กติกบอลยุโรป (Zonal Marking)

ผู้เขียน : ไมเคิล ค็อกซ์

สำนักพิมพ์ :ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์


“ในหนังสือเล่มก่อนหน้า The Mixer (เดอะ มิกเซอร์ เจาะลึกแท็กติกพรีเมียร์ลีก) ไมเคิล ค็อกซ์เล่าประวัติของฟุตบอลอังกฤษนับตั้งแต่เปลี่ยนจากดิวิชันหนึ่งมาเป็นพรีเมียร์ลีก ไล่ลำดับตั้งแต่ยังฮิตภายในประเทศ จนกระทั่งครองตลาดไปทั่วโลก

ส่วนเล่มล่าสุด Zonal Marking พูดถึงประวัติศาสตร์ฟุตบอลยุโรป ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน ผ่านยุคทองการสลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอลของฮอลแลนด์, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน และโปรตุเกส โดยแจกแจงถึงแบบแผนระบบการเล่นของแต่ละประเทศ

เป็นหนังสือเกี่ยวกับกีฬาที่อ่านง่าย อ่านสนุกมาก เต็มไปด้วยเกร็ดจำพวกเบื้องลึกเบื้องหลังแบบข้อมูลวงในอันน่าทึ่ง”


กว่าชื่น บางคมบาง

สำนักพิมพ์บางคมบาง

เล่มที่แนะนำ :

1. ทะเลสาบน้ำตา

ผู้เขียน: วีรพร นิติประภา

สำนักพิมพ์: ArtyHOUSE


“อยากให้ผู้ใหญ่ได้อ่าน และเด็กได้อ่านเพื่อเรียนรู้ความเดียวดายของตนเอง ต้องอยู่กับชีวิตได้”

2. บ้านที่กลับไม่ได้

ผู้เขียน: บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา


“เปิดมุมของโลกที่เราไม่รู้จัก”

3. We Should All Go To Hell เราทุกคนควรลงนรก

ผู้เขียน: บริษฎ์ พงศ์วัชร์

สำนักพิมพ์: P.S.


“โลกสมัยใหม่ ก้าวสู่แดนดิบของมนุษย์ร่วมสมัยที่พบเห็นได้ทั่วไป”

วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์บางลำพู


เล่มที่แนะนำ :

1. สามัญสำนึก (Common Sense)

ผู้เขียน: โธมัส เพน

ผู้แปล: ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์: bookscape


“งานของนักคิดในอดีต อภิปรายปัญหาระบอบกษัตริย์มาสองร้อยกว่าปีแล้ว ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เห็นด้วยหรือเห็นต่าง ประเทศที่ยังอยู่ใต้ตีนกษัตริย์จนถึงนาทีนี้ น่ารับฟังว่าปราชญ์โบราณท่านคิดอ่านสิ่งใดมา”


2. คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ผู้เขียน: วรเจตน์ ภาคีรัตน์

สำนักพิมพ์: อ่านกฎหมาย


“งานของนักคิดในปัจจุบัน
อนาคตไม่รู้ ดูกันต่อไป แต่วิเคราะห์ ทบทวน ศึกษา ไล่เรียงจากอดีตมาถึงปัจจุบัน พบว่านักกฎหมายมหาชนผู้นี้ถึงพร้อมด้วยหลักวิชาการ ปัญญา และความกล้าหาญเปี่ยมล้น ไม่ว่าเขาจะพูดหรือเขียนสิ่งใดออกมา ไม่ว่าจะยากหรือง่าย ในนามของคนร่วมสมัย เราควรน้อมนำมาใส่กะโหลกพิจารณา”


3. โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21

ผู้เขียน: นันดานี

สำนักพิมพ์: Anthill Archive


“งานของนักเขียนใหม่ที่จะเติบโตไปในอนาคต
เนื้อยังมีให้เห็นน้อย แต่ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ซึ่งมี 12 เรื่อง อ่านแล้วรู้สึกว่าใช้ได้ น่าสนใจ ราวสัก 3 เรื่อง (เช่น ส่งต่อ, ข่าวต่อไป) มันก็น่ายินดีว่าสังคมวรรณกรรมของเราเคลื่อนไหว ก้าวไปข้างหน้า โดยตัวละครหน้าใหม่ๆ ส่วนในอนาคต นันดานีจะทำได้ดีเลวแค่ไหน ไม่รู้ รู้แต่อย่าเพิ่งหมิ่นประมาทกัน สังคมที่จมอยู่แต่กับคนเก่า เรื่องเล่าเก่าๆ ชื่อเสียงเก่าๆ คำสอนและอาญาสิทธิ์เก่าๆ ไม่กล้าไปพบเผชิญ ลิ้มลอง หกล้ม กับเรื่องและรสที่หลากหลายแปลกใหม่ ไม่นาน–สังคมนั้นย่อมจะเน่าและเฉาตาย”

ทราย เจริญปุระ

นักเขียน นักแสดง และนักอ่าน


เล่มที่แนะนำ :

1. วิทยาศาสตร์แห่งความเหงา (Loneliness)

ผู้เขียน: John T. Di Cacioppo, William Patrick

ผู้แปล: โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์: Salt Publishing


“ทำให้เรารู้สึกแย่น้อยลงกับความเหงาอะ คือไม่ได้ทำให้ความเหงามันเท่หรือหดหู่เกินจริง เหมือนเป็นความหิว ความง่วงอะไรงี้ ซึ่งมันจำเป็นมากๆ สำหรับเราในช่วงนี้ ที่จะให้เหตุผลกับความอ้างว้างของตัวเอง ทั้งจากภาวะโรคระบาดและการหยุดยาซึมเศร้า”


2. แด่ผู้แหลกสลาย (Reasons to Stay Alive)

ผู้เขียน: Matt Haig

ผู้แปล: ศิริกมล ตาน้อย

สำนักพิมพ์: bookscape


“หมอเราเคยให้คิดเหตุเล็กๆในการที่จะมีชีวิตอยู่ บางทีเราหวังใหญ่ หวังไกลเกิน แบบอยากมีบ้านมีรถ มีประชาธิปไตยที่แท้จริงไรงี้ 555 แต่เหตุที่อยากให้เราลืมตาในแต่ละวัน มันควรเรียบง่ายและมีกรอบเวลาไม่นานเกินไป แต่ก่อนเราใช้จักรวาลหนังมาร์เวลให้รออะ แบบต้องดูให้ครบ ตอนนี้มาร์เวลจบ ก็มองหาอะไรอื่นๆ สำหรับคนที่ป่วยซึมเศร้า หรือกระทั่งหลายๆ คนในภาวะนี้ เราว่าอะไรเล็กๆ เช่นรอชอปปี้ส่งของมามันก็ไม่แย่อะ มันมีไรให้รอ หนังสือพูดถึงอะไรแบบนี้โดยไม่ต้องแง่งามเกินไป ก็คุยเรียบๆ”

3. ฟื้นคืน (Revival)

ผู้เขียน: Stephen King

ผู้แปล: วรรธนา วงษ์ฉัตร

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์


“เราชอบเล่มนี้ มันมีความแฟรงเกนสไตน์ในแบบคิง คือคนที่เฟลมากๆ จนเลิกเชื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ ที่เคยยึดถือ แล้วหันไปเชื่ออีกสิ่งที่มันใหญ่โตพอๆ กัน มันทะเยอะทะยาน มันอาจจะไม่ได้ถึงขั้นรื้อความเชื่อทางศาสนาจนราบคาบ แต่เราดีใจที่ได้อ่านงานคิงแบบไม่ติดหวานและด่าพระเจ้า ในเล่มที่ไม่หนาเกินไป 555 หลังๆ ลุงหนาจัดแถมรักพระเจ้ามาก เราต้องการอะไรแบบนี้ และมันมาถูกจังหวะชีวิต ช่วงที่เราตั้งคำถามกับหลายอย่างพอดี ^^”


ขจรฤทธิ์ รักษา

สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ


เล่มที่แนะนำ :

1. ยัญพิธีเชือดแพะ (The Feast of the Goat)

ผู้เขียน: Mario Vargas Llosa

ผู้แปล: พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

สำนักพิมพ์: บทจร


“สะท้อนการเมืองให้เห็นถึงความทุกข์ยากที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากผู้นำที่บ้ากาม บ้าอำนาจ ข่มเหงประชาชน รีดภาษี สร้างความร่ำรวยให้ครอบครัวตัวเอง พวกเขาทุกคนอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะที่คนอื่นลำบาก และอยู่ใต้อำนาจด้วยความกลัว”

2. โอลก้า (OLGA)

ผู้เขียน: Bernhard Schlink

ผู้แปล: เจนจิรา เสรีโยธิน

สำนักพิมพ์: Library House


“เด่นตรงการเล่าเรื่องชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ประสบปัญหาสามีหายสาบสูญไปกับความเชื่อของตนเอง ผู้หญิงเมื่อรักใครก็รักได้จนหมดใจ ทำทุกอย่างเพื่อให้รักนั้นดำรงอยู่ในใจ เรื่องราวของโอลก้านั้นจำหลักแน่นอยู่ในใจของคนอ่าน ฝีมือของผู้เขียนนั้นโดดเด่นและเชื่อถือไดมาตั้งแต่เรื่องเดอะรีดเดอร์แล้ว”

3. เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน (Die Liebe im Ernstfall)

ผู้เขียน: Daniela Krien

ผู้แปล: ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ

สำนักพิมพ์: Library House


“เป็นวรรณกรรมจากเยอรมันเป็นผลงานของคานีเอลา ครีน เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่สนิทสนมกัน สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือเล่าเรื่องต่างๆ สู่กันฟังได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นส่วนตัวแค่ไหน ความสัมพันธ์แบบนี้ลึกซึ้งและหายาก แต่ก็มีอยู่จริง หนังสือพูดถึงการแต่งงาน ความรัก และความล้มเหลวในชีวิตคู่ เขียนได้ลึกซึ้งกินใจ จนอยากจะแนะนำให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้อ่าน”


วาด รวี

สำนักพิมพ์ Shine


เล่มที่แนะนำ :

1. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“หนังสือเล่มนี้นิยามตัวเองไว้ว่า ‘บันทึกบาดแผล’ เรื่องเล่า 3 เรื่อง สั้น กระชับ แต่ความหมายระหว่างบรรทัดขยายออกไปไม่รู้จบ เรื่องราวของตัวละครไร้ชื่อไร้นาม ข้นไปด้วยความรู้สึก คนที่พอรู้ความจริงอยู่บ้างอ่านแล้วต้องหยุดนิ่งซึมซับรสชาติ ผู้เขียนเขียนมันออกมาในแบบที่ให้พื้นที่กับคนอ่านอย่างเหลือเฟือ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของคนที่ถูกกฎหมายเล่นงานเพียงเพราะพวกเขาพูด คิด แสดงออก”


2. กวีราษฎร

ผู้เขียน: ไม้หนึ่ง ก.กุนที 

สำนักพิมพ์: Lookshine


“รวมบทกวีทั้งชีวิตของกวีนักสู้ผู้ถูกสังหารในปี 2557 ก่อนเผด็จการยึดอำนาจ”


3. ในฝันอันเหลือจะกล่าว: นิยมนิยายอันเหลือจะบรรยาย

ผู้เขียน: เดือนวาด พิมวนา 

สำนักพิมพ์: อ่าน


“นิยายเสียดสีเล่าล้อการเมืองโดยนำตัวละครที่เป็นตำนานวรรณกรรมอย่างดอนกิโฆเต้และซานโช่ ปันซ่ามาเป็นอุปมาของความฟั่นเฟือนในการเมืองไทย วรรณกรรมของเดือนวาดเรียบง่ายแต่แสบสันต์ ขันขื่นและกระตุกรอยยิ้มได้กับเหตุการณ์ที่ชวนปวดร้าวใจ”


ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

สำนักพิมพ์ bookscape


เล่มที่แนะนำ :


1. มนุษย์ 6 ตุลา

ผู้เขียน: มนุษย์กรุงเทพฯ


“ขอเลือกเล่มนี้ด้วยความสะเทือน-สะท้าน-สะท้อนใจหลายๆ อย่าง


สะเทือนใจกับความเจ็บปวดของเหล่าผู้สูญเสีย บางประโยคตอนอ่านต้องกล้ำกลืนน้ำตา
สะท้านใจเมื่อคิดว่าความโหดร้ายทารุณในครั้งนั้น กลับหลงเหลือเพียงพื้นที่ไม่กี่บรรทัดในหน้าหนังสือเรียน เรื่องราวบันทึกอาจบิดเบือนเลือนรางไปตามแต่ใครเขียนประวัติศาสตร์ แต่ความสูญเสียและความเจ็บปวดไม่เคยลดทอน และกาลเวลาไม่อาจเยียวยา การเปิดเผยความจริงและจดจำบทเรียนในอดีตต่างหากคือความยุติธรรมที่พอจะมอบคืนให้พวกเขาได้

สุดท้าย … สะท้อนใจที่แม้เหตุการณ์ 6 ตุลาจะล่วงเลยมากว่า 40 ปี แต่วันนี้เหมือนเวลายังไม่เคลื่อนผ่าน และความคิดของบางคนคล้ายยังแช่แข็งอยู่ในยุคนั้นไม่เปลี่ยนแปลง”


2. ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน (Last Night’s Currry, Tomorrow’s Bread)

ผู้เขียน: คิซาระ อิซึมิ

ผู้แปล: อิศเรศ ทองปัสโณว์

สำนักพิมพ์: Bibli


“นี่คือเล่มที่ปลอบประโลมได้ดีในช่วงปีอันสาหัส ความรู้สึกตอนอ่านเหมือนได้ไปแอบดูบางเสี้ยวชีวิตของเหล่าตัวละครนิสัยพิลึกพิลั่นแต่ชวนให้หลงรัก เหล่าผู้คนที่จมดิ่งอยู่ในหลุมหลบภัยจากความสูญเสีย ได้เฝ้ามองชั่วขณะสั้นๆ ที่พวกเขาค่อยๆ หยัดยืนแล้วก้าวต่อไป ส่วนจะก้าวไปทางไหนนั้นก็สุดแล้วแต่จะจินตนาการ

แม้เรื่องราวจะเกาะเกี่ยวกันบนความสูญเสีย แต่ไม่มีบรรยากาศหม่นหมอง ไม่มีน้ำเสียงฟูมฟาย ทว่าเรียบง่ายเหมือนรสชาติแกงกะหรี่ในความทรงจำ

อ่านเล่มนี้แล้วคล้ายได้สะสมเรี่ยวแรงจากแกงกะหรี่ที่ซึมซับรสชาติของวันวาน เจือความสุขเมื่อนึกถึงกลิ่นขนมปังปิ้งเช้าวันพรุ่งนี้

เมื่อตกตะกอนความทรงจำจนได้ที่ พรุ่งนี้ก็ดูจะมีแรงเดินต่อ”


3. BEASTARS

ผู้เขียน: Paru Itagaki

สำนักพิมพ์: NED Comics


“ซูโทเปียฉบับโรแมนติกปนดิบเถื่อน พร้อมคติประจำใจว่า “หากสัตว์กินพืชรู้พลาด สัตว์กินเนื้อคงรู้พลั้ง”
ฉากหน้าของมังงะเรื่องนี้คือเรื่องราวของหมาป่าสีเทาที่กลุ้มใจกับชีวิตว้าวุ่นในวัยเรียน แต่เบื้องหลังโลกที่สัตว์กินเนื้อและกินพืชอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขใบนี้ กลับซุกซ่อนรอยร้าวในสมดุลแสนเปราะบางที่ตั้งอยู่บนสัญชาตญาณดิบอันง่อนแง่น

เป็นมังงะที่อ่านสนุกและมีเสน่ห์ โดดเด่นด้วยการสร้างโลกแห่งสรรพสัตว์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด รวมถึงการออกแบบคาแรกเตอร์ ‘สัตว์กึ่งมนุษย์’ นานาพันธุ์ (วาดกวางยังไงให้หล่อได้!) เป็นมังงะที่อ่านแล้วกิ๊วก๊าวกับเรื่องความรักต้องห้ามต่างสายพันธุ์ เอาใจช่วยหมาป่าหนุ่มน้อยในช่วง coming-of-age และชวนติดตามว่ารอยร้าวระหว่างสัตว์สองขั้วจะไปจบลงที่ใด แล้วสุดท้ายซูโทเปียนี้จะกลายเป็นยูโทเปียหรือดิสโทเปีย”


พัลลภ สามสี

สำนักพิมพ์จงสว่าง


เล่มที่แนะนำ :

1. บิเบลีย บันทึกไขปริศนาแห่งร้านหนังสือ: เล่ม 8 โทบิระโกะกับเหล่าลูกค้าผู้น่าพิศวง

ผู้เขียน: En Mikami

ผู้แปล: พลอยทับทิม ทับทิมทอง

สำนักพิมพ์: animag

“หลงรักนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่เล่มแรก เป็นหนังสือของคนรักหนังสือที่แท้จริงอีกเล่มหนึ่ง เพราะเรื่องดำเนินอยู่ในร้านหนังสือมือสอง ตัวเอกเป็นผู้ที่ลุ่มหลงในหนังสือ และรู้จักหนังสือชนิดละเอียดลออ จนนำพาไปสู่การไขปริศนาคดีต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งการไขปริศนาและสืบสวนสอบสวนนี่เองที่เป็นเครื่องมือที่ผู้เขียนใช้ได้อย่างช่ำชอง จนพาเราเดินตามจากต้นไปจนจบได้อย่างเพลิดเพลิน


ความสนุกอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ได้รู้ว่าชาวญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสืออะไรกันบ้าง”

2. ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

ผู้เขียน: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

สำนักพิมพ์: Salmon Books


“ปกติอ่านสารคดีน้อยลงทุกวัน เพราะชีวิตและงานผันหน้าไปสู่นิยายโรมานซ์ชนิดจมดิ่ง แต่พอหนังสือรวมสารคดีนี้ออกมา ก็ปฏิเสธไม่อ่านไม่ได้ เพราะในปัจจุบันหามือเขียนสารคดีที่ลงลึกได้ยาก อีกทั้งยังหยิบประเด็นที่เฉียบคมมาเล่าด้วยสำนวนภาษาที่อ่านสนุก และเข้ากับชีวิตที่แร้นแค้นความความสุขอย่างทุกวันนี้อย่างยิ่ง ทำให้รู้สึกว่าเราเองก็ไม่ต่างจากผู้คนและเรื่องราวที่ผู้เขียนหยิบมาเล่า เราเองก็ต้องการความหวังแม้เพียงริบหรี่ก็ตาม”

3. โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

ผู้เขียน: วีรพร นิติประภา

สำนักพิมพ์: SandClock Books


“เราจะเลี้ยงลูกอย่างไรด้วยการไม่กะเกณฑ์ชีวิตของเขา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพ่อแม่ทุกคนเต็มไปด้วยคามคาดหวัง ยิ่งลงทุนมาก ยิ่งหวังมาก จนลืมคิดไปว่า เราได้เอาภาระทางจิตใจทับถมไว้ในความคิดของลูกอย่างมหาศาล ผู้เขียนเคยพูดไว้ตลอดว่า เด็กที่เกิดมายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวเองเพศอะไร แต่ดันติดแท็กใส่ข้อมือแล้วว่าเป็นเด็กหญิงเด็กชาย ไม่เคยถามเลยว่าลูกต้องการอะไร โลกทั้งใบหมุนรอบและโอบประคองไว้ให้แต่พ่อแม่ แม้กระทั่งอนาคตที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วยแล้ว ก็ยังวาดหวังให้ลูกทำตามที่ต้องการ… อ่านหนังสือเล่มนี้ เหมือนได้นั่งคุยกับวีรพรแบบออกรส”


จรัญ หอมเทียนทอง

สำนักพิมพ์แสงดาว


เล่มที่แนะนำ :

1. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง

ผู้เขียน: ชานันท์ ยอดหงษ์

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม


“เป็นหนังสือที่มันมาก อยากให้คนที่เป็นผู้หญิงอ่าน เป็นเรื่องราวของเมียๆ ของผู้ก่อการ เน้นไปที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ว่ามีบทบาทในรัฐบาลอย่างไร ถึงขนาดที่ลดทอนความเป็นสถาบัน และนำตัวเองมาเทียบเท่าหรือเหนือกว่า จะเห็นเรื่องราวของมหาอำนาจอเมริกาที่มีบทบาทต่อการเมืองไทย ตลอดจนมีส่วนในการบันดาลให้อาภัสรา หงสกุล เป็นนางงามจักรวาลได้”


2. สงครามเย็น(ใน)ระหว่าง โบว์ขาว

ผู้เขียน: กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

สำนักพิมพ์: มติชน


“เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ในยุคใหม่ที่อ่านง่าย เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนสองรุ่น คือรุ่นสงครามเย็นกับเด็กรุ่นใหม่ที่เรียกว่าโบว์ขาว เป็นเรื่องของโลกทัศน์ ตัวตนของแต่ละรุ่น ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม ต่างเงื่อนไขในการต่อสู้ แต่จุดหมายเดียวกัน ต่างกันแค่เงื่อนไขทางกาลเวลาเท่านั้น

ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คืออ่านง่าย เขียนงานวิชาการที่ไม่เป็นวิชาการ เรื่องราวที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนที่สนใจและมีส่วนร่วมในเหตุการณ์

ข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้ อาจจะทำรูปเล่มที่ไม่มีพลังจูงใจให้นักอ่านอยากอ่าน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่น่าอ่านมากเปรียบเทียบกับคนสองรุ่นคือคนรุ่นสงครามเย็นกับคนรุ่นปัจจุบันที่ใช้โบว์ขาวเป็นสัญญะ ของการเคลื่อนไหว ถ้าอยากอ่านหนังสือที่สะท้อนและบันทึกภาพความเคลื่อนไหวของปี 2563 หนังสือเล่มนี้มีคำตอบครับ”


3. การปฏิวัติ 2475 ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์

ผู้เขียน: Henri Roux

ผู้แปล: พิมพ์พลอย ปากเพรียว

สำนักพิมพ์: ศิลปวัฒนธรรม


“เป็นนายทหารฝรั่งเศส ที่รายงานเหตุการณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงและหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 รายงานเรื่องราวกลับไปที่ฝรั่งเศส เพื่อติดตามสถานการณ์ในบ้านเรา เรื่องส่วนใหญ่เราทุกคนจะรู้อยู่แล้ว แต่มีบางส่วนในทัศนะของเจ้านายที่เป็นเกร็ดในประวัติศาสตร์บางอย่าง เรามารับทราบจากหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้ ไม่หนาครับ อ่านง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นหนังสือแนวเดียวกับหนังสือ ‘บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475′”


ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด


เล่มที่แนะนำ :

1. แปดขุนเขา (Le otto montagne)

ผู้เขียน: Paolo Cognetti

ผู้แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี


“เรียบง่าย เนิบๆ กว่าจะอินก็เข้าไปกลางเล่ม พูดเรื่องความสัมพันธ์ของคนได้งดงาม เจ็บปวด และแสนเศร้า”

2. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน: รัช

สำนักพิมพ์: Paragraph


“บันทึกแห่งยุคสมัย แหว่งวิ่น ไม่มีข้อมูลอันล้นปรี่ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่มีต่อปัจเจกบุคคลที่รัฐกระทำผ่านความผิดทางการเมือง”

3. แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary)

ผู้เขียน: Alok Vaid-Menon

ผู้แปล: มุกดาภา ยั่งยืนภราดร

สำนักพิมพ์: ซอย


“ความเรียงเวรี่ร่วมสมัย อธิบาย non-binary แบบเห็นชัด นี่คือความเรียงแห่งปัจจุบัน ที่สะท้อนความคิดเรื่องเพศที่ลื่นไหลที่สุดของ พ.ศ. นี้”


สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร

สำนักพิมพ์สมมติ


เล่มที่แนะนำ :

1. ดินแดนแห่งความอาดูรสูญสิ้น (The Waste Land and Other Poems)

ผู้เขียน : ที.เอส. เอลเลียต (T.S. Eliot)

ผู้แปลและเรียบเรียง : สายฝน ตรีณาวงษ์

สำนักพิมพ์ : โรงนาบ้านไร่


“หากต้องการหาหนังสือสักเล่มเพื่อให้ความคิดโลดแล่นทะลุเพดานจินตนาการ รวมบทกวีเล่มนี้อาจเป็นคำตอบ ข้อความเหล่านี้บันทึกเสียงคร่ำครวญ ความเปล่าเปลี่ยว การหลอกลวง เศษซากความรู้สึก เป็นดนตรีแห่งอักษร และท่วงทำนองอารมณ์ที่ยังก้องกังวานอยู่ภายใน”

2. ตอบแสงตะวัน

ผู้เขียน : วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์ : บางลำพู


“วรพจน์ก็คือวรพจน์ เขาหยิบจับเรื่องอะไรมาเป็นความเรียงก็น่าสนใจ เหลี่ยมมุมที่เขานำเสนอแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับให้แง่มุมใหม่เสมอ รวมความเรียงนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของมิตรภาพ ความฝัน ชีวิต และความคิดทางการเมือง ที่สำคัญชั้นเชิงการเล่าเรื่องก็หาตัวจับได้ยาก หนังสือเล่มนี้เป็นอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่า ‘ตอบแสงตะวัน’ เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่กับคำถาม อยู่กับความจริง”

3. สองมุมมองของเสรีภาพ (Two Concepts of Liberty)

ผู้เขียน : ไอเซยา เบอร์ลิน (Isaiah Berlin)

ผู้แปล : เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และชยางกูร ธรรมอัน

สำนักพิมพ์ : สำนักนิสิตสามย่าน


“เปิดมุมมองเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนถวิลหา อะไรคือข้อจำกัดของเสรีภาพ ข้อดี/ข้อเสียของมันคืออะไร รัฐจำกัดเสรีภาพเราได้แค่ไหน และจำกัดได้ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝากฝั่งไหนทางการเมือง หนังสือเล่มนี้ก็ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง”


กองบรรณาธิการ 10 มิลลิเมตร

สำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร


เล่มที่แนะนำ :

1. คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง (THE WHY CAFÉ)

ผู้เขียน : จอห์น พี. สเตรเลกกี

ผู้แปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์ : Be(ing)


“เป็นหนังสือที่ทำให้รู้สึกมีความหวังในการทำตามเป้าหมายชีวิตมากขึ้น

2. ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน (Last Night’s Curry, Tomorrow’s Bread)

ผู้เขียน : คิซาระ อิซึมิ

สำนักพิมพ์ : Bibli


“อบอุ่นหัวใจและเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต”

3. โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

ผู้เขียน : วีรพร นิติประภา

สำนักพิมพ์ : SanClock Books


“แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านเพื่อให้เรียนรู้ที่จะรักลูกอย่างถูกต้อง
และเรียนรู้ที่เป็นบ้านที่แท้จริงให้กับลูก ปกป้องลูกจากสังคมภายนอกที่โหดร้ายอย่างอบอุ่น”

ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน ปี 2021

กลับมาอีกครั้งกับการชวนร่วมโหวตรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ประจำปี 2021

รักชอบเล่มไหน อยากให้เพื่อนอ่านเล่มไหน คิดว่าสังคมตอนนี้ควรอ่านอะไร หรืออ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้คนเดียวไม่ไหว ร่วมโหวตกับทาง The101.world ในกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2021 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’ 

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม (โหวตได้ที่: https://bit.ly/popularvote2021) เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2020-2021 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ และร่วมเสนอไอเดีย #หนังสือมีไว้ทำไม (ไว้ปลอบประโลมหรือไว้ใช้เป็นอาวุธ ฯลฯ แล้วแต่ใจปรารถนา) – ถ้าเขียนดี เขียนเฉียบ ถูกใจทีมงาน จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตหนังสือ Top Highlights จากการลงคะแนนของสำนักพิมพ์และนักอ่านจำนวน 1 ชุด (จำกัด 1 รางวัล)

โหวตได้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2564

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save