fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

ความน่าจะอ่าน 2020 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1

 

 

ว่ากันว่าปี 2020 คือปีที่ทดสอบมนุษย์ได้อย่างหนักหนาสาหัสที่สุด ไม่ว่าพื้นที่ไหนในโลกก็เจอภาวะวิกฤต ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ถ้าจะมีปีไหนสักปีถูกคั่นไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก ปี 2020 ต้องขึ้นทำเนียบอย่างไม่ต้องสงสัย

ไฟป่าออสเตรเลีย ตัวเลขคาร์บอนที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี เหตุการณ์กราดยิงโคราช การยุบพรรคอนาคตใหม่ ไฟป่าภาคเหนือ ฯลฯ ที่ไล่เรียงกันมาเดือนต่อเดือนแบบไม่มีใครยอมใคร ก่อนจะมาระเบิดตู้มที่การระบาดของโควิด-19 เรื่อยมาจนถึงการประท้วงเหตุการณ์ จอร์จ ฟลอยด์ ที่สหรัฐอเมริกา และการประท้วงฮ่องกงที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

โลกปั่นป่วน ผู้คนวิตกกังวล และยิ่งในเวลาที่เราไม่อาจนั่งล้อมวงปลอบใจกับเพื่อนฝูงและครอบครัวได้ในวันที่ทั้งโลกต้อง ‘ล็อกดาวน์’

นอกจากการเล่นติ๊กต๊อกและดูซีรีส์จนตาฉ่ำแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนทำคือการอ่านหนังสือ (ดูเหมือนทุกคนอยากทำทุกอย่างยกเว้นงาน)

แน่ละ ไม่ใช่ทุกเล่มที่จะปลอบประโลมหัวใจในยามยากลำบากได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย ไม่ใช่ทุกเล่มที่จะหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้เราได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความรู้ที่ควรค่าแก่การจดจำเลย

หนังสือทำหน้าที่อย่างที่มันเป็น — แล้วแต่ใครจะหยิบฉวยใช้ อำนาจล้วนอยู่ในมือของผู้อ่าน

 

2

 

‘ความน่าจะอ่าน’ ปีนี้ดำเนินมาถึงครั้งที่สี่

ครั้งแรกและครั้งที่สอง เราชวนตัวแทนนักเขียน-บรรณาธิการ 5 คน คือโตมร ศุขปรีชา ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นิวัต พุทธประสาท สฤณี อาชวานันทกุล และทราย เจริญปุระ มานั่งจับเข่าคุยเรื่องหนังสืออย่างออกรส ใครชอบเล่มไหน ใครเชียร์เล่มไหน เอามากางลงบนโต๊ะ อธิบาย ถกเถียง จนได้เล่มที่ดีที่สุดออกมาจำนวนหนึ่ง สองครั้งแรกเราวางคอนเซ็ปต์ว่า – นี่คือการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจ’ ที่สุด

ระหว่างปีเราก็คั่นด้วย ความน่าจะอ่าน (ฉบับนอกคอก) ความน่าจะอ่านในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือหนังสือชวนอ่านรับปีของคอลัมนิสต์ 101 เป็นต้น

ครั้งที่สาม เราขยายขอบเขตการเลือกหนังสือให้อยู่ในมือคนจำนวนมากขึ้น โดยชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน มาร่วมเลือกหนังสือ 3 เล่มที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดในปี 2019 ทั้งนี้ต้องเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในไทยปีนั้นๆ และไม่ใช่หนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเอง ก่อนจะรวมคะแนนและออกมาเป็นหนังสือ Top Highlights ในครั้งนี้เรามีสโลแกนว่า — การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก! ในช่วงที่การเมืองไทยกำลังร้อนระอุ

ในจำนวนนั้น มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกซ้ำกันเยอะที่สุด คือเรื่อง ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ บันทึกชีวิตในเรือนจำของภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผู้โดนจำกัดอิสรภาพเพียงเพราะเล่นละครเวที – กลายเป็นเรื่องตลกร้าย ที่หนังสือชนะเลิศใน ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก’ มีที่มาห่างไกลจากประชาธิปไตยเหลือเกิน

 

มาถึงครั้งที่สี่ – ครั้งนี้ เราอยากจะใช้คำว่า ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าครั้งที่แล้ว’ แต่ก็เกรงใจนักอ่าน เลยหยิบเอาประเด็นที่ปี 2020 ยืนหนึ่งเรื่องรับความสาหัสสากรรจ์ในทุกรูปแบบ มาชวนคนเลือกในธีม – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส โดยใช้กติกาเดิมกับครั้งที่แล้ว คือชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 60 คน  มาร่วมเลือกหนังสือ 3 เล่มที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดในปี 2020

แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งที่แล้ว คือเราเปิดให้ ‘นักอ่านทุกคน’ มาร่วมโหวตหนังสือน่าอ่านที่สุดแห่งปีแสนสาหัสนี้ไปด้วยกัน ด้วยการเพิ่มรางวัล ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ เข้ามาด้วย (บอกแล้วว่าเป็นการแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตยกว่าครั้งที่แล้ว)

ตอนนี้ รายชื่อหนังสือที่เจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบเลือก อยู่ในมือทีมงานแล้ว ส่วนรายชื่อหนังสือขวัญใจมหาชน สามารถเข้าไปร่วมโหวตได้ที่นี่ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ The101.world และทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย

คำพูดที่ชวนจั๊กจี้หูอย่าง ‘เราจะผ่านไปด้วยกัน’ แม้จะดูน้ำเน่าเงาจันทร์ไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความหมายต่อหัวใจเลย

ปีแสนสาหัสนี้ เรายังมีหนังสือเป็นเพื่อน

 

_________________________________________________

ติดตาม ‘ความน่าจะอ่าน 2020’ ได้ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ และพบกันในรูปแบบงานเสวนาวันที่ 8 สิงหาคม 2563 แขกรับเชิญเป็นใครนั้นอุบไว้ก่อนให้ร้อนใจ และอาทิตย์หน้าทันใดเราจะเปิดเผยรายชื่อหนังสือทั้งหมด

รู้จัก ‘ความน่าจะอ่าน’ มากขึ้นได้ที่นี่

 

[box]

ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน

รักชอบเล่มไหน อยากให้เพื่อนอ่านเล่มไหน คิดว่าสังคมตอนนี้ควรอ่านอะไร หรืออ่านแล้วชอบมาก เก็บไว้คนเดียวไม่ไหว ร่วมโหวตกับทาง The101.world ในกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2020 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม (โหวตได้ที่: https://bit.ly/notablebookpopularvote2020) เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2019-2020 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้ – ถ้าเขียนดี เขียนเฉียบ ถูกใจทีมงาน จะได้รับรางวัลเป็นเซ็ตหนังสือ Top 6 Highlights จากการลงคะแนนของสำนักพิมพ์และนักอ่านจำนวน 1 ชุด (จำกัด 2 รางวัล)

โหวตได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

[/box]

 

 


 

ขอเชิญคนรักหนังสือ คนรักการอ่าน-การเขียน มาร่วมปิดท้ายโปรเจ็กต์นี้พร้อมๆ กัน

ในงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2020 – อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’

เจาะลิสต์หนังสือแห่งปี มองอนาคตวงการอ่านเขียน คุยเชื่อมโยงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมือง ผ่านหนังสือที่เราทุกคนช่วยกันเลือก ร่วมกับ 4 วิทยากรรับเชิญ

– นิวัต พุทธประสาท ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม และ Alternative Writers
– ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้เขียนหนังสือ ‘ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร’
– ทราย เจริญปุระ เจ้าของคอลัมน์ ‘รักคนอ่าน’ ในมติชนสุดสัปดาห์
– ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ (สะอาด) นักวาดการ์ตูน เจ้าของผลงาน ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ จาก The101.world

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00-16.00 น.

ณ Open House ชั้น 6 Central Embassy

**Exclusive**

13.00-13.30 น. ช่วงก่อนเริ่มเสวนา

คุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล เจ้าของร้านหนังสือ Hardcover และสำนักพิมพ์ Serindia จะพาทัวร์โซนต่างๆ ใน Open House ชมหนังสือหายาก อาทิ หนังสือภาพถ่ายของญี่ปุ่น และหนังสือศิลปะที่เป็น Limited editon ทั้งจากฝั่งตะวันออกและตะวันตก (รับจำนวนจำกัด 20 คนเท่านั้น)

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) : ที่นี่

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save