fbpx
ความน่าจะอ่าน - เปิดลายแทง ‘หนังสือน่าอ่าน’ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2561

ความน่าจะอ่าน – เปิดลายแทง ‘หนังสือน่าอ่าน’ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2561

 

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2561 ในช่วงเดือนตุลาคม เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับใครที่ยัง ‘ตั้งหลัก’ หาเวลาไปเดินช้อปปิ้งหนังสืออยู่ คิดว่า ‘ความน่าจะอ่าน’ ฉบับเปิดลายแทงในงานหนังสือนี้น่าจะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อย

หนังสือในงานมหกรรมฯ นั้นหลากหลายและมีจำนวนมหาศาล บางคนมีลิสต์ไว้ในใจแล้ว หรือบางคนยังไม่มี หนังสือ 20 เล่มต่อไปนี้ อาจพอช่วยนำทางไปได้ ไล่เรียงไปตั้งแต่งานวิชาการเข้มๆ วรรณกรรมหลากรูปแบบ หรือหนังสือแนว Brainy Books ที่กำลังเป็นที่นิยม

ใครมีแล้ว หรือใครยังขาดเล่มไหน ดูได้ที่บรรทัดถัดไป

เผด็จการวิทยา

 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียน

สำนักพิมพ์มติชน

 

ในโลกและสังคมการเมืองยุคปัจจุบัน ระบอบเผด็จการถือเป็นระบอบการเมืองที่ล้าสมัยไปแล้ว และเป็นระบอบที่สังคมโลกไม่ให้การยอมรับ ทว่าในความเป็นจริง กลับมีบางประเทศที่ระบอบเผด็จการยังคงดำรงอยู่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปท่องโลกเผด็จการ ตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานของอำนาจนิยม กองทัพกับความมั่นคง รัฐธรรมนูญกับสถาบันการเมือง ไปจนถึงวิวัฒนาการของระบอบเผด็จการในประเทศต่างๆ เพื่อให้คุณรู้เท่าทันเผด็จการ ผ่านข้อเขียนอ่านเพลินของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

สายสตรีท มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา

 

 

บุญเลิศ วิเศษปรีชา เขียน

สำนักพิมพ์ Way

 

ผลผลิตจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนักวิชาการ ‘สายสตรีท’ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ที่ลงพื้นที่ไปคลุกคลีอยู่กับคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์เป็นเวลาหนึ่งปีกว่า สิ่งที่เขาค้นพบจากงานนี้คืออะไร ภาพของคนไร้บ้านที่ฟิลิปปินส์กับที่อื่นๆ ต่างกันอย่างไร ยากจนข้นแค้นเสมอไปหรือไม่ แล้วมีปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขาต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน หาคำตอบได้ในเล่มนี้ อ่านสนุกและเข้มข้นไม่แพ้ ‘โลกของคนไร้บ้าน’ ที่เคยสร้างความฮือฮามาแล้วก่อนหน้านี้

 

บางลวง

 

ปราบดา หยุ่น เขียน

สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

ผลงานล่าสุดจาก ปราบดา หยุ่น ประกอบไปด้วย 5 เรื่องสั้น ภายใต้เมืองสมมติที่ชื่อว่า ‘บางลวง’ เล่าเรื่องผ่านตัวละครและสถานการณ์ที่ต่างกัน 5 รูปแบบ ตั้งแต่ศิลปินระดับชาติผู้เก็บงำความลับบางอย่างไว้ นักเขียนนิยายผู้หลีกหนีชีวิตจากเมืองหลวง หญิงสาวชาวญี่ปุ่นผู้เคราะห์ร้าย นักข่าวผู้ถลำลึกไปกับความเชื่อประหลาดๆ ของชาวบ้าน และชายหนุ่มผู้จมอยู่กับปริศนาการตายของคนรัก

 

 

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียน

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

หนังสือลำดับที่ 3 ในชุด ‘กษัตริย์ศึกษา’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ว่าด้วยการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่พ.ศ.2475 – 2550 เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เรียบเรียงจากการสืบค้นรายงานการประชุมสภา/กรรมาธิการ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งการอภิปราย และไม่อภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นบางมิติที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 มาจนถึงปัจจุบัน

 

ประเทศเทา

 

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ปฏิพัทธ์ จันทร์ทอง บรรณาธิการภาพ

สำนักพิมพ์ Realframe Editons

รวมบทสัมภาษณ์ สารคดี และภาพถ่ายเชิงสารคดี ของ ธิติ มีแต้ม ร่วมด้วยกลุ่มช่างภาพ Realframe การันตีคุณภาพจากประสบการณ์ในสนามข่าวกว่า 10 ปี บันทึกเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของคนชายขอบ ไปจนถึงคนใหญ่คนโต เจาะประเด็นร้อนที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าแตะ จากพื้นที่จริง ตัวละครจริง หนักแน่นทั้งภาพและเนื้อหา ตีพิมพ์จำนวนจำกัด 300 เล่มเท่านั้น

 

Portrait ธนาธร

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียน

สำนักพิมพ์บางลำพู

บทสัมภาษณ์เจ้าสำนัก ‘อนาคตใหม่’ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สัมภาษณ์โดยนักสัมภาษณ์แห่งยุคสมัย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เจาะชีวิตธนาธรออกมาเป็นฉากๆ ตั้งแต่วัยนักเรียนที่ “พกสนับมือตลอดเวลา” ความหลงใหลในกีฬาเอ็กซ์ตรีม จนถึงบทบาทล่าสุดในฐานะนักการเมือง ความเปิด-เปลือยของผู้ถูกสัมภาษณ์ เมื่อปะทะกับความดิบ-เลือดเย็นของผู้สัมภาษณ์ ทำให้อ่านเพลินแบบวางไม่ลง

 

เท่ารักเธอ

 

อรุณี ศรีสุข เขียน

สำนักพิมพ์ บาร์บาหลี

“เท่ารักเธอ เกิดขึ้นเพราะฉันอยากให้อภัยตัวเองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะฉันไม่มีใครเหลือให้ขอให้ยกโทษให้..และที่สำคัญกว่านั้น ฉันได้บันทึกความทรงจำที่งดงามที่สุดให้คงไว้” คือคำสารภาพของอรุณี ผู้เขียนเรื่องนี้

หากอธิบายอย่างหยาบๆ นี่น่าจะเป็นนิยายประเภท ‘รักสามเส้า’ ที่งดงามที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งในแง่ของตัวละคร ปมต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงภาษาและวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งถ้าใครสักคนบอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บาดแผลนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งใด ทว่าในกรณีของอรุณี เธอได้แปรเปลี่ยนมันเป็นงานเขียนที่กินใจและหมดจดเหลือเกิน

 

Q&A เลี้ยงลูกให้หายสงสัย สไตล์คุณหมอประเสริฐ

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียน

SandClock Books

หนังสือที่รวบรวมคำถาม-คำตอบในการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ จากคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หากคุณกำลังหนักใจกับพฤติกรรมบางอย่างของลูก เช่น การไม่เชื่อฟัง เรียนไม่เก่ง ปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ กลัวว่าลูกจะเบี่ยงเบนทางเพศ และอีกสารพัดคำถาม หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยคลายความกังวลใจให้คุณได้บ้าง และอาจชี้ให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่คนเป็นพ่อแม่ (มือใหม่) อาจนึกไม่ถึงมาก่อน

 

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน (ภาคโรงเรียน)

 

 

สะอาด เขียน

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และ Thai Civic Education

ผลงานล่าสุดของ ‘สะอาด’ นักวาดการ์ตูนเจ้าของลายเส้นดิบๆ ตัวละครกวนๆ งานนี้ยังคงเอกลักษณ์เดิม เพิ่มเติมคือการชำแหละ ‘ระบบการศึกษาไทย’ แบบเนื้อๆ เน้นๆ ผ่านประสบการณ์จริงที่เด็กไทยทุกคนต้องเคยผ่าน ตั้งแต่การแหกปากร้องไห้ในวันแรกที่ไปเรียน การคุกเข่าบนพื้นกรวด การพับจรวดและรถกระดาษ เทคนิคการลอกข้อสอบ ไปจนถึงการกวดวิชาที่เน้นการสอนวิชามาร เปรียบเหมือนหนัง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ที่จริงกว่า ดิบกว่า ในเวอร์ชั่นของการ์ตูน

 

ยักษ์ใต้พิภพ (The Buried Giant)

 

Kazuo Ishiguro เขียน

นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ แปล

สำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์

นวนิยายแฟนตาซี ผลงานล่าสุดของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวญี่ปุ่น คาซูโอะ อิชิกูโร่ เล่มนี้เขาพาเราย้อนไปในชนบทของอังกฤษ เมื่อราวๆ พันกว่าปีก่อน เล่าเรื่องของสองตายายที่ตัดสินใจออกตามหาลูกชายที่ไม่ได้พบกันมานาน โดยระหว่างทางทั้งคู่ได้พบกับนักรบหนุ่ม เด็กกำพร้า และอัศวินเฒ่า ก่อนจะจับพลัดจับผลูเข้าร่วมภารกิจพิชิตนางมังกร ขณะเดียวกันความทรงจำที่เคยเลือนหายไป ก็ค่อยๆ หวนกลับมาเป็นระยะ เช่นเดียวกับอดีตที่เคยฝังใจ

แม้เล่มนี้แหวกออกมาในแนวแฟนตาซี ชวนฝัน ทว่ายังคงมีกลิ่นอายเศร้าๆ หม่นๆ ปกคลุมอยู่ตามสไตล์ที่อิชิกูโร่ชอบเขียน

 

เมา : ประวัติศาสตร์แห่งการร่ำสุรา (A Short History of Drunkenness)

 

Mark Forsyth เขียน

ลลิตา ผลผลา แปล

สำนักพิมพ์ Bookscape

 

เรื่องราวของน้ำเมาและความเมามายอยู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ทั้งยังสะท้อนภาพสังคม การเมือง วิถีชีวิตของมนุษย์และโลกได้อย่างน่าสนใจ หนังสือเล่มนี้ล่องไปในกระแสน้ำเมาจากแต่ละอารยธรรมทั่วโลก นับตั้งแต่งานเฉลิมฉลองในเทศกาลแห่งความเมาของชาวอียิปต์โบราณ ทะเลสาบเหล้าที่มอมเมาจักรพรรดิจีนจนสิ้นราชวงศ์ กระแสคลั่งจีนกับโศกนาฏกรรมของชนชั้นล่างชาวอังกฤษ ฯลฯ เป็นการอ่านโลกผ่านการร่ำสุราที่เพลิดเพลิน

 

ออร์แลนโด : ชีวประวัติ

 

เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขียน

จุฑามาศ แอนเนียน แปล

สำนักพิมพ์ ไลบราลี่เฮ้าส์

เรื่องราวในยุคสมัยของพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 มีหนุ่มรูปงามชนชั้นสูง นามว่าออร์แลนโด ผู้มีเรียวขางดงามที่สุดในโลกและเป็นที่รักของผู้คน เขากลายเป็นผู้หญิงเมื่ออายุ 30 ปีเมื่อตื่นจากหลับใหลอันยาวนาน และมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 400 ปี โดยแทบไม่แก่ขึ้นเลย ใช้ชีวิตอยู่กับการเขียนบทกวีที่เริ่มเขียนตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย เฝ้ามองความเป็นไปของยุคสมัย ออกเดินทาง ตกหลุมรัก และอยู่ในห้วงความคิดเกี่ยวกับเพศที่เลื่อนไหลไปมา

หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวรรณกรรมในศตวรรษที่ 20 ที่นำเสนอประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศผ่านงานเขียนแบบกระแสสำนึก

 

สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน

 

Salman Rushdie เขียน

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปล

สำนักพิมพ์มติชน

“นี่คือเรื่องจากอดีต จากยุคไกลโพ้น จนบางครั้งยังถกเถียงกันว่าควรเรียกว่าประวัติศาสตร์หรือเทวตำนาน”

นวนิยายแฟนตาซีวิพากษ์สังคมเล่มนี้ เล่าเรื่องเหตุการณ์ประหลาด เมื่อหลังพายุครั้งใหญ่ มิสเตอร์เจอโรนิโมก็เท้าไม่แตะพื้นอีกต่อไป ตัวเขาและเหล่าญาติพี่น้องไร้ติ่งหูต่างไม่เคยนึกฝันถึงโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาจำเป็นต้องร่วมต่อสู้กับเรื่องราวพิสดารในสงครามข้ามโลกที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานถึงพันหนึ่งราตรี หรือ 2 ปี 8 เดือน กับอีก 28 คืน ระหว่างภูติฝ่ายดีกับฝ่ายร้ายในเมืองนิวยอร์ก

 

โอชากาเล

 

กฤช เหลือลมัย เขียน

สำนักพิมพ์ Way

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาหารใกล้ตัวที่เราอาจไม่เคยรู้ เช่น ผัดไทมาจากไหน พริกที่เรากินเผ็ดขึ้นทุกวัน (และเผ็ดกว่าสมัยก่อนมาก) ผลงานของกฤช เหลือลมัย ที่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เขาหยิบความรู้เหล่านี้มาเล่าผสมกับความรู้ด้านอาหาร จนออกมาเป็นหนังสือรสกลมกล่อม โอชากาเลเล่าอดีต วิพากษ์ปัจจุบัน และทำนายอนาคตของอาหาร ด้วยท่วงทาและลีลาอ่านสนุก

 

ความลี้ลับของเวลา (The Order of Time)

 

Carlo Rovelli เขียน

โตมร ศุขปรีชา แปล

 

“ถอดปริศนาแห่งเวลา ในสายตาควอนตัมฟิสิกส์”

ความลี้ลับของเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามหาคำตอบมาอย่างยาวนาน หนังสือเล่มนี้พยายามหาคำตอบและถอดรื้อความลี้ลับนี้ โดยทำความเข้าใจผ่านนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ตั้งแต่อริสโตเติล ไอแซก นิวตัน และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แม้เรื่องราวจะดูซับซ้อนเข้าใจยาก แต่ผู้เขียนใช้ภาษาเรียบง่าย และเขียนถึง ‘เวลา’ ได้อย่างงดงาม จนพาเราล่องไปในปรัชญาและวิทยาศาสตร์อย่างเพลิดเพลิน

 

 

นายพลในเขาวงกต

 

Gabriel García Márquez เขียน

ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปล

สำนักพิมพ์สามัญชน

 

นวนิยายชิ้นสำคัญของผู้เขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ว่าด้วยชีวิตของนายพลโบลิวาร์ ที่มีช่วง 7 เดือนสุดท้ายของชีวิตอยู่ในป่า ซีโมน โบลิวาร์ เป็นผู้ปลดปล่อยดินแดน 6 ประเทศจากสภาพอาณานิคมของสเปน โดยการนำทัพเดินทางไกลกว่า 120,000 กิโลเมตรบนหลังม้า ในช่วงเวลากว่า 20 ปี ผ่านเส้นทางทุรกันดารทั้งแถบถิ่นป่าดงดิบอเมซอน ตลอดจนข้ามเทือกเขาอันดีส เพื่อมุ่งหน้าทำภารกิจในสมรภูมิเดือดครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนกลายเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา

มาร์เกซทุ่มเทเวลาในการหาข้อมูลกว่า 2 ปี จนผลิตงานชิ้นงดงามออกมาได้สำเร็จ ชีวิตของคนหนึ่งคนที่เต็มไปด้วยสีสันแพรวพราว ผ่านฝีมือการเล่าเรื่องอันเพริศแพร้วของมาร์เกซ นับเป็นหนังสือที่คนทั่วโลกให้การยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน

 

ผุดเกิดมาลาร่ำ

 

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เขียน

สำนักพิมพ์มติชน

เรื่องว่าด้วยชีวิต 3 ช่วงของ ‘ไลลียา’ “เด็กหญิง – ที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศรูปกลีบดอกไม้แย้ม หญิงสาว – ผิวโพรงนุ่มกระตุบ กระดุบหดรี่รำในจังหวะง่วนปรารถนา ผู้หญิง – หญิงชราขยับเคลื่อนทวนสังขาร”  ทั้งสามเป็นคนเดียวกัน แต่ต่างกันด้วย ‘ตัวตน’ เพราะต่างวันเวลา  เรื่องเล่าเล่นล้ออยู่กับสองสิ่งคู่ตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ความเป็นเด็กที่ยังฝังแน่นในร่างผู้ใหญ่ การพยายามมีชีวิตอยู่และการฝันถึงความตาย ชีวิตในชนบทกับการเข้ามาอยู่ในเมือง

ถ้าจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติก็ย่อมได้ เพราะมีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงของอารยาผู้เขียนอย่างมาก หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นการเขียนเพื่อเตรียมสู่ความตายก็คงไม่ผิดนัก

 

IFPOSSIBLE จริงเสมือนจริง

 

 

สโรชา ธารา เขียน

สำนักพิมพ์ P.S. Book

 

9 เรื่องสั้นที่ตั้งสมมติฐานและจินตนาการโลกขึ้นมาในพื้นที่ทดลอง โดยคำถามง่ายๆ ว่า ให้ลองจินตนาการว่า ‘ถ้า’ บางเรื่องเกิดขึ้นในชีวิต เราจะรู้สึกอย่างไร เช่น จะเป็นยังไง ถ้ามนุษย์ไม่มีตัวตนในกระจก จะเป็นยังไง ถ้ามนุษย์ไม่ร้องไห้และไม่ยิ้ม จะเป็นยังไง ถ้ามนุษย์มีพลังงานแม่เหล็ก แต่ต่างเป็นขั้วเดียวกันที่ผลักออกจากกัน จะเป็นยังไง ถ้าโลกคู่ขนานอยู่อย่างแนบเนียนเป็นเนื้อเดียวกับโลกความเป็นจริง ฯลฯ

หนังสือพาเราไปรู้จักกับโลกที่เราไม่เคยเห็น นอกจากจะทำให้รู้สึกประหลาดใจ บางครั้งก็ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย

P.S. Book ยังมีหนังสือน่าสนใจอีกหลายเล่ม เช่น ‘Fuel Romance เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์’ ของอุเทน มหามิตร  ‘Bubble Gum และเรื่องสั้นอื่นๆ’ ของ โบนิตา อาดา และ ‘โลกบังคับให้กูร้าย’ ของทราย เจริญปุระ ฯลฯ

 

สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับการ์ตูน

 

อิโต้ จุนจิ เขียน

สำนักพิมพ์ Luck Pim

เป็นการตีความจากหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับวรรณกรรมของดะไซ โอซามุ ให้ออกมาในรูปแบบการ์ตูน ด้วยฝีมือของอิโต้ จุนจิ นักเขียนการ์ตูนสยองขวัญผู้โด่งดัง เจ้าของผลงาน คลังสยอง ก้นหอยมรณะ ฯลฯ

ผลงานของอิโต้ จุนจิ มีความสยองขวัญพิลึกพิลั่นเป็นลายเซ็นเฉพาะตัว และเมื่อเขามาวาดเรื่องที่ว่าด้วยจิตใจอันหม่นมืดของชายหนุ่มที่เกลียดและหวาดกลัวมนุษย์ จึงออกมาเป็นงานที่สะท้อนความสยดสยองที่เกิดจากมนุษย์ได้ชวนขนลุก

สูญสิ้นความเป็นคน ฉบับการ์ตูน นับเป็นงานศิลปะจากฝีมือของตำนานทั้งคู่

 

คิมจียอง เกิดปี 82

 

โชนัมจู เขียน

ตรองสิริ ทองคำใส แปล

สำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์

เป็นนิยายสิทธิสตรีที่สร้างปรากฏการณ์ในสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวว่าด้วยชีวิตของคิมจียอง ที่จู่ๆ ก็แสดงบุคลิกเหมือนผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในชีวิตของเธอ คล้ายคนโดนผีสิง และเกิดขึ้นโดยไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ จนสามีต้องพาไปพบจิตแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงถูกกระทำผ่านวิถีชีวิตปรกติจนดูเป็นเรื่องธรรมดา และโด่งดังพร้อมๆ กับกระแส #MeToo ในเกาหลี

 

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 

17 – 28 ตุลาคม 2561 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save