fbpx
ความน่าจะอ่าน (ฉบับนอกคอก) : 10 เล่มน่าอ่าน จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ความน่าจะอ่าน (ฉบับนอกคอก) : 10 เล่มน่าอ่าน จากงานสัปดาห์ฯ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 เริ่มต้นไปได้ครึ่งทางแล้ว หลังจากไปเดินสำรวจมาคร่าวๆ เราพบว่ามีหนังสือที่น่าซื้อน่าอ่านมากมาย แต่จะให้ตามเก็บตามซื้อทุกเล่มก็คงไม่ไหว อาจล้มละลายได้ตั้งแต่ต้นเดือน

แต่หากเพื่อนๆ คนไหนยังตัดสินใจไม่ได้ เลือกไม่ถูก วันนี้เราคัดสรรหนังสือที่น่าสนใจมาแนะนำกันแบบเน้นๆ 10 เล่ม ภายใต้ธีม ‘ความน่าจะอ่าน (ฉบับนอกคอก)’ เอาใจหนอนหนังสือสายอินดี้ที่ชอบอ่านงานเข้มๆ แนวๆ นอกกระแสนิดๆ ฉีกตำราหน่อยๆ

10 เล่มที่ว่า จะมีเล่มไหนจากสำนักพิมพ์ใดบ้าง ไปดูกันเลย!

 

 

1. เบสเมนต์ มูน

 

 

ปราบดา หยุ่น เขียน

สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

ตำแหน่งบูธ : Typhoon studio | H12 โซนเพลนารี่ ฮอลล์

 

ในที่สุดก็คลอดออกมาแล้ว กับผลงานนวนิยายเล่มใหม่จาก ปราบดา หยุ่น ว่างเว้นจาก ‘นอนใต้ละอองหนาว’ นวนิยายเล่มก่อนหน้าถึง 11 ปี ปราบดาพาเราข้ามเวลาไปในปีค.ศ. 2069 ที่เราสามารถสร้าง ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ ได้สำเร็จ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐไทยใช้จัดการกับขบวนการใต้ดิน ซึ่งพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ที่ถูกลบล้างให้กลับคืนมา

นับเป็นงานที่มีกลิ่นอายแบบปราบดาอยู่ครบถ้วน ทั้งความยียวน เสียดสี ล้ำสมัย ทำให้หวนนึกไปถึงงานยุคแรกๆ อย่าง ‘ชิทแตก’ และ ‘แพนด้า’ ทว่าสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือชั้นเชิงในการสะท้อนสังคมผ่านฉากและเรื่องเล่าที่เหนือจินตนาการ

 

2. วัยหนุ่ม

 

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียน

สำนักพิมพ์บางลำพู

ตำแหน่งบูธ : The Writer’s secret | S39 โซน C2

 

รวมความเรียงคัดสรรในรอบ 15 ปี ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ ที่ปักหมุดหมายและยืนหยัดบนเส้นทางนักเขียนมาตั้งแต่วัยหนุ่ม บ่มเพาะฝีมือจากค่ายผู้จัดการและ GM ก่อนผันตัวมาเป็นสื่อมวลชนอิสระ

สำหรับนักอ่านหน้าใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับชื่อวรพจน์ งานเล่มนี้น่าจะทำให้เห็นจุดยืน ตัวตน น้ำเสียง และพัฒนาการบนเส้นทางนักเขียน-สื่อมวลชน ได้อย่างครบถ้วน ส่วนใครที่เป็นแฟนประจำอยู่แล้ว งานเล่มนี้อาจเป็นเหมือนไดอารี่ที่บันทึกไฮไลท์จากงานแต่ละช่วง แต่ละเล่ม ของวรพจน์เอาไว้ อิ่มเอมครบรสในเล่มเดียว

 

3. America First รบเถิดอรชุน

 

 

ภาณุ ตรัยเวช เขียน

สำนักพิมพ์มติชน

ตำแหน่งบูธ : มติชน | V10 โซน พลาซ่า

 

ผลงานล่าสุดจาก ภาณุ ตรัยเวช เจ้าของผลงาน ‘ในสาธารณะรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ประวัติศาสตร์อ่านสนุกที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่องราวของสงครามโลกอีกครั้ง

คราวนี้เขาเปลี่ยนมาศึกษาในบริบทของอเมริกา โดยตั้งต้นจากความขัดแย้งที่ว่า ก่อนที่อเมริกาจะกระโจนเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง คนอเมริกาแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เชื่อว่าอเมริกาไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งในยุโรป กับกลุ่มที่ต้องการหยุดยั้งการแผ่ขยายอำนาจของฮิตเลอร์

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเล่าเรื่องผ่านการนำเสนอมุมมองของคนสองคนที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันสุดขั้ว ซึ่งสะท้อนความคิดและอุดมการณ์ของชาวอเมริกาในห้วงเวลานั้นได้อย่างแจ่มชัด อ่านสนุกและได้อรรถรสไม่แพ้เล่มไวมาร์ฯ

 

4. ด้วยรักแห่งอุดมการณ์

 

 

วัฒน์ วรรลยางกูร เขียน

สำนักพิมพ์ลูกสมุน

ตำแหน่งบูธ : สำนักพิมพ์อ่าน | S39 โซน C2

 

นวนิยายการเมืองเข้มข้น ผลงานชิ้นสำคัญของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ที่เป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนตัว ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 สะท้อนอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวที่ต้องการปลดแอกบ้านเมืองให้พ้นจากอำนาจเผด็จการ แต่กลับต้องเผชิญกับชะตากรรมอันน่าอดสู

งานเขียนชิ้นนี้กำเนิดขึ้นในช่วงที่วัฒน์หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สำหรับเวอร์ชั่นนี้ เป็นการนำมาตีพิมพ์ใหม่ในรอบเกือบยี่สิบปี ภายใต้สถานการณ์ที่สังคมไทยเดินถอยหลัง บ้านเมืองยังถูกปกครองด้วยกระบอกปืน และตัวผู้เขียนจำต้องลี้ภัยอีกครั้งหลังการรัฐประหารของคสช.

 

5. ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา

 

 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เขียน

สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย

ตำแหน่งบูธ : สำนักพิมพ์อ่าน | S39 โซน C2

 

งานชิ้นสำคัญที่เป็นเสมือนผลึกความคิดของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘นิติราษฎร์’ มีบทบาทในการเคลื่อนไหวและเสนอข้อเรียกร้องสำคัญๆ ทางกฎหมายในช่วง 7-8 ปีผ่านที่มา อาทิ ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

หนังสือเล่มนี้ชี้ชวนให้นักกฎหมาย รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจกฎหมายและสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ หันมาตั้งคำถามกับการบังคับใช้กฎหมายในบริบทต่างๆ เทียบเคียงให้เห็นวิธีคิดที่อยู่ภายใต้สำนักกฎหมายแต่ละแบบ และชวนวิเคราะห์รากฐานความขัดแย้งในสังคมไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านแว่นตาของนักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักการและเหตุผล

 

6. ผู้หญิง อยุธยา

 

 

บินหลา สันกาลาคีรี เขียน

สำนักพิมพ์ The Writer’s secret

ตำแหน่งบูธ : The Writer’s secret | S39 โซน C2

 

ในวันเวลาที่กระแส ‘บุพเพสันนิวาส’ ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง หนังสือ ‘ผู้หญิงอยุธยา’ ของ บินหลา สันกาลาคีรี ที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้ราวๆ หนึ่งปี เปรียบได้กับคัมภีร์ที่รวบรวมเรื่องราวของ ‘ออเจ้า’ แห่งกรุงศรีฯ ไว้อย่างครบถ้วน

จุดที่น่าสนใจคือ เวลาเราพูดถึงผู้หญิงสมัยอยุธยา ตัวละครเด่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในตำรามักมีอยู่ไม่เกิน 4-5 ชื่อเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปรู้จักกับออเจ้าอีกหลายสิบคนที่หล่นหายไปจากตำรา แต่มีตัวตน มีเลือดเนื้อ และมีบทบาทอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างที่เราคาดไม่ถึง

 

7. ผีเพลง

 

 

สิเหร่ เขียน

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

ตำแหน่งบูธ : Alternative Writers | D01 โซนเพลนารี่ ฮอลล์

 

นี่คือหนังสือเล่มสำคัญที่บันทึกเรื่องราวของเพลงและศิลปินยุค 60 – 70 ไว้อย่างถึงแก่น เขียนโดย ‘สิเหร่’ หรือ จิรภัทร อังศุมาลี นักเขียน คอลัมนิสต์ และกูรูด้านดนตรีที่หาตัวจับยากคนหนึ่งในเมืองไทย

ในเล่มนี้ เขาเขียนถึงศิลปินและบทเพลงสำคัญๆ ระดับโลก ที่เป็นเสมือนบ่อน้ำชโลมใจท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยสงคราม ศิลปินมากมายที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ยังคงส่งอิทธิพลผ่านเสียงดนตรีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น จอห์น เลนนอน, บ๊อบ ดีแลน, บ๊อบ มาเลย์, ลีโอนาร์ด โคเฮน ฯลฯ จุดเด่นของสิเหร่คือการอธิบายให้เห็นว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้อย่างไร ความยิ่งใหญ่ของนักดนตรีคนหนึ่งกำเนิดมาจากไหน ขณะเดียวกันก็ชวนให้เราเข้าถึงความหมายและสุนทรียะที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ด้วย

 

8. นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน

 

 

แอนนา เลียวโนเวนส์ เขียน

อบ ไชยวสุ แปล

สำนักพิมพ์ Shine Publishing House

ตำแหน่งบูธ : สมมติ | R52 โซน C2

 

หนังสือเล่มสำคัญที่ ‘แหม่มแอนนา’ หรือ แอนนา เลียวโนเวนส์ ผู้เป็น ‘พระอาจารย์ฝรั่ง’ ของรัชกาลที่ 5 เป็นผู้เขียน กลั่นจากเหตุการณ์ที่เธอพบเจอและรับรู้ขณะถวายงานอยู่ในราชสำนัก ถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมชั้นเลิศ ก่อนจะถูกนำไปดัดแปลงเป็นนวนิยายและละครเพลงที่โด่งดังระดับโลก

ทุกวันนี้งานเขียนชิ้นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเรื่องใดบ้างที่จริง หรือไม่จริง เพราะข้อมูลหลายอย่างยังเป็นปริศนา ทว่าสิ่งที่ไร้ข้อกังขาคือความยอดเยี่ยมทางวรรณศิลป์ ซึ่งทำให้เรื่องเล่าชุดนี้ทั้งทรงพลังและทรงคุณค่า ขณะเดียวกันก็ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเกี่ยวกับราชสำนักสยาม

สำหรับการตีพิมพ์ครั้งนี้ ได้มีการตรวจสอบต้นฉบับแปลอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมด้วยภาคผนวกที่เกี่ยวข้อง และคำนำขนาดยาวที่ประมวลประวัติความเป็นมาและปริศนาของหนังสือเล่มนี้

 

9. The Glass Palace

 

 

อมิตาฟ กอช เขียน

ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ แปล

สำนักพิมพ์มติชน

ตำแหน่งบูธ : มติชน | V10 โซนพลาซ่า

 

ผลงานเลื่องชื่อของ Amitav Ghosh นักเขียนชาวอินเดีย ว่าด้วยเรื่องราวของหนุ่มกำพร้าชาวอินเดียที่ระเหระหนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพม่า และลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในวันเวลาที่สงครามโลกกำลังคุกรุ่น การเมืองภายในกำลังระอุ ลูกๆ ของเขาจึงเกิดมาท่ามกลางความโกลาหลของการเมือง สับสนกับรากเหง้าและชาติกำเนิด กลายเป็นบาดแผลจากอดีตที่ไม่อาจหลีกหนี อ่านเอาอรรถรสก็ดี แต่ถ้ามีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ก็จะยิ่งอ่านสนุก

หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ Sudha Shah นักเขียนชาวอินเดีย ออกไปค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนสารคดีกึ่งชีวประวัติเกี่ยวกับกษัตริย์พม่า จนกลายเป็นผลงานเลื่องชื่ออีกเล่มหนึ่งคือ ‘The King in Exile : The fall of the royal family in Burma’ จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ราชันผู้พลัดถิ่น เมื่อพม่าเสียเมือง’ โดยสำนักพิมพ์มติชน

 

10. The Handmaid’s Tale

 

 

มาร์กาเร็ต แอตวูด เขียน

จุฑามาศ แอนเนียน แปล

สำนักพิมพ์ Library House

ตำแหน่งบูธ : บทจร | S39 โซน C2

 

ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ มาร์กาเร็ต แอตวูด นักเขียนหญิงชาวแคนาดา ที่ล่าสุดถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ในชื่อเดียวกัน และคว้ารางวัล Best TV Series จากเวที Golden Globes 2018

แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1986 แต่เนื้อหากลับพูดถึงโลกอนาคตในปี 2195 ฉากหลังคืออเมริกาที่กลายเป็นสังคมดิสโทเปียแบบสุดขั้ว สิ่งแวดล้อมพังทลายจากภัยพิบัติ ปกครองโดยระบอบเทวาธิปไตยที่มีศาสนาคริสต์เป็นศูนย์กลาง ดำเนินเรื่องผ่านหญิงสาวรับใช้ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่สืบพันธุ์ไปชั่วชีวิต

หนังสือเล่มนี้กลับมาขายดีอีกครั้งหลังจากทรัมป์ขึ้นสู่ทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมๆ กับการประกาศนโยบายหลายอย่างที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกและกดขี่ สะท้อนว่าสิ่งที่มาร์กาเร็ตเคยให้กล่าวไว้นั้นไม่ได้เกินเลยจากความจริงนัก เธอบอกว่าเธอจะไม่ใส่เรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ลงไปในงานเขียน ทุกสิ่งที่เธอเขียนล้วนเคยเกิดขึ้นแล้ว ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022