fbpx

หุ้นญี่ปุ่นนิวไฮ แต่เศรษฐกิจถดถอย: ทำไมตลาดทุน จึงไม่สะท้อนเศรษฐกิจจริงของญี่ปุ่น?

ช่วงเดือนมีนาคม 2024 ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei ทะยานขึ้นทะลุระดับราคาสูงสุดตลอดกาลที่ 38,915.71 เยน ซึ่งเคยทำไว้ได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1989 หรือเมื่อ 35 ปีก่อน และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าดัชนี Nikkei ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 26,000 เยน มาอยู่ที่ประมาณ 40,000 เยน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ภายในระยะเวลาปีเศษเท่านั้นเอง

กระนั้นดัชนี Nikkei ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นนี้กลับไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังเต็มไปด้วยความอึมครึม ไม่สดใสเหมือนกับสถานการณ์ในตลาดหุ้น โดย GDP ไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2023) ของญี่ปุ่นซึ่งประกาศมาครั้งแรกช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่อัตรา -0.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนภายในประเทศยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ -0.1% แม้ว่าต่อมาในเดือนมีนาคมจะมีปรับแก้ไขตัวเลข GDP เปลี่ยนเป็นขยายตัวที่อัตรา 0.4% ก็ตาม

การที่ดัชนีหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นทะลุจุดสูงสุดหรือทำ ‘นิวไฮ’ อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงต้นเดือนมีนาคม ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ชัดเจนเช่นนี้ จึงก่อให้เกิดคำถามว่าทำไมราคาหุ้นญี่ปุ่นจึงปรับตัวขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ

โดยทั่วไปแล้ว การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาดัชนีตลาดหุ้นมักขึ้นอยู่กับการปรับปรุง ‘มูลค่าที่แท้จริง’ หรือที่นิยมเรียกว่า ‘มูลค่าพื้นฐาน’ เช่น เกิดการปรับปรุงปัจจัยบางประการที่เพิ่มศักยภาพผลักดันให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศและผลกำไรของบริษัทญี่ปุ่น, เกิดการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ หรือเกิดการขยายตัวของภาคการผลิตหรือภาคบริการซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของมาตรฐานการครองชีพและการใช้จ่าย

แต่ในการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นญี่ปุ่นในตอนนี้นั้น ปัจจัยหลักกลับไม่ใช่เป็นเพราะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ

บทความนี้จึงชวนไปทำความเข้าใจว่าเหตุใดราคาดัชนี Nikkei กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น จึงไม่ได้สอดคล้องกัน และทำไมตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องนานนับปีได้ แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะยังมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

ดอกเบี้ยต่ำดันตลาดหุ้นพุ่ง แต่ผู้บริโภคในประเทศอ่วม

ราคาหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยสามประการได้แก่ ‘มาตรการการผ่อนคลายทางการเงิน’, ‘เงินเยนอ่อนค่า’ และ ‘ราคาค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น’ วนเวียนเป็นวัฏจักรจนกดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนภายในประเทศ แต่ขณะเดียวกันกลับส่งเสริมการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ตั้งแต่ ค.ศ. 2022 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน Core CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด) เทียบปีก่อนหน้าปรับตัวขึ้นมาสูงกว่า 4% นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่สองช่วงต้นทศวรรษ 1980 ส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเฉลี่ยใน ค.ศ. 2023 ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 3.2% แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ 2% ทว่าสาเหตุหลักกลับไม่ใช่เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างการบริโภคหรือการผลิตภายในประเทศ แต่กลับมาจากผลกระทบของราคาสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง และบริษัทส่วนใหญ่ส่งผ่านต้นทุนการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบไปยังราคาสินค้าให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นแบกรับ

รูปที่ 1: ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2023
ที่มา: Tradingeconomics. (2024). 日本 – CPI .https://zh.tradingeconomics.com/japan/cpi-core-core

อย่างไรก็ดี อัตราการขึ้นค่าจ้างในญี่ปุ่นกลับไม่สอดคล้องกับอัตราการขึ้นของราคาค่าครองชีพจากเงินเฟ้ออย่างที่ควรจะเป็น โดยต้องเท้าความถึงค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นว่า ปกติแล้วเป็นเรื่องยากมากสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่จะขอปรับลดค่าจ้างพื้นฐาน แม้ว่ากำไรของบริษัทจะลดลงมากเพียงใดก็ตาม เนื่องจากค่านิยมในระบบการจ้างงานตลอดชีพ ในทางตรงกันข้ามเมื่อญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทญี่ปุ่นก็นิยมปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มขึ้นในระดับแค่ให้สมดุลกับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น แม้กระทั่งในช่วงที่กำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นการชดเชยที่บริษัทไม่สามารถปรับลดค่าจ้างได้ขณะที่บริษัทประสบกับภาวะขาดทุน การปรับขึ้นจ้างให้เท่ากับระดับเงินเฟ้อ ซึ่งเสมือนการไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้าง จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและข้ออ้างที่ใช้ต่อรองกับสหภาพแรงงานมากว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ดังนั้น ค่าจ้างแท้จริงของญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งหมายความถึงมาตรฐานการครองชีพของภาคครัวเรือนที่แย่ลงตามไปด้วย นี่คือบรรยากาศอึมครึมที่ปกคลุมเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

พฤติกรรมไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง (ซึ่งสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่น) ที่ทำต่อเนื่องจนกลายเป็นความเคยชินเช่นนี้ ส่งผลให้เมื่อบริษัทญี่ปุ่นเริ่มมีกำไรเติบโตต่อเนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าในระยะหลัง อันเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ บริษัทญี่ปุ่นยังมีข้ออ้างขอไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับผลกำไร และผลกำไรเหล่านั้นก็ไปสะท้อนที่ราคาหุ้นของบริษัทแทนโดยเฉพาะในกรณีบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ นี่เป็นกลไกที่ส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นจากการส่งออกเพราะเงินเยนอ่อนค่า แต่การบริโภคภาคครัวเรือนภายในประเทศยังมีแนวโน้มหดตัว เพราะการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ระดับของราคาค่าครองชีพจะปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดการหดตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน แต่ BOJ ก็ยังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระดับต่ำด้วยนโยบาย YCC (Yield Curve Control) ซึ่งโดยทั่วไปคือการควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีให้อยู่ระดับต่ำ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำ โดย BOJ ใช่นโยบายนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 หรือคิดเป็นเกือบ 8 ปีแล้ว นโยบาย YCC นี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง [อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) หักด้วยอัตราเงินเฟ้อ] อยู่ในระดับติดลบมาอย่างยาวนาน สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 2022 จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ มีส่วนต่างสูงถึง 5.25% ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมาก และทำให้ BOJ ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ทำหน้าที่ของตัวกลางที่ควรรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

ที่จริงแล้ว การลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สำหรับกรณีญี่ปุ่นนั้นกลับยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา โดย ‘เศรษฐกิจภายในประเทศ’ ญี่ปุ่นยังขยายตัวในระดับต่ำหากอ้างอิงจากการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1% ทั้งที่ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องนานเกือบสิบปีแล้ว

การลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการอ่อนค่าของเงินเยน เงินเยนที่อ่อนค่าลงจะเพิ่มผลกำไรของบริษัทส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินเยนที่อ่อนค่ายังทำให้ราคาหุ้นญี่ปุ่นถูกลงสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่นิยมลงทุนด้วยเงินสกุลดอลลาร์หรือยูโร กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น จึงยิ่งทำให้ราคาหุ้นญี่ปุ่นปรับสูงขึ้น ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำทำให้ราคาค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น โดยยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับผลกำไรของบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กซึ่งไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น[1]

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในระดับต่ำ (หรือติดลบ) จึงกลายเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะด้านการบริโภคภาคครัวเรือน เป็นกลไกพื้นฐานที่อธิบายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัวเค (K-shaped) ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน แบ่งแยกเป็นเคขาบน (ผู้ที่ฟื้นตัวได้ดี) คือบริษัทส่งออกหรือกลุ่มเทคโนโลยีกขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับเคขาล่าง (ผู้ที่ฟื้นตัวได้ไม่ดี) คือบริษัทขนาดกลางและเล็กซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้เฉพาะจากภายในประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ในญี่ปุ่นต่างวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของ BOJ ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% แล้ว โดยส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องให้ BOJ ยกเลิกมาตรการ YCC และปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ค่าเงินเยน และลดความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศจากอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น  

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ดัชนี Nikkei ทำนิวไฮ

แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง แต่กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติกลับหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 2023 โดยมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ได้แก่ 1) การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ 2) ปรากฏการณ์ Buffett effect และ 3) โครงการ Shin-NISA

การปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นญี่ปุ่นในรอบหลายปีที่ผ่านมาคือแนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และผลของการอ่อนค่าของเงินเยน เมื่อพิจารณาราคาย้อนหลังของดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ กับดัชนี NIkkei ตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันมามากกว่า 2 ทศวรรษแล้ว โดยจากรูปที่ 2 ซึ่งแสดงสัดส่วนความแตกต่างของราคาดัชนี Dow Jones และ Nikkei สะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ราคาของดัชนีหุ้นทั้งสองประเทศนี้มีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันสูง

จากแนวโน้มดังกล่าว นักลงทุนอาจคาดหวังจะเห็นราคาของดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้นตามดัชนี Dow Jones ซึ่งอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นตามดัชนี NASDAQ อีกต่อหนึ่ง ตราบเท่าที่นักลงทุนยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ soft landing หรือภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแต่ไม่ชะลอมากเกินไปจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี อันเป็นสิ่งที่นักลงทุนกำลังคาดหวัง

รูปที่ 2: การเคลื่อนไหวของราคาดัชนี Dow Jones และดัชนี Nikkei ระหว่าง ค.ศ. 2001-2024

ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นพึ่งพาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงจากสหรัฐฯ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวจากภาวะสงครามและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนเคยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในช่วงทศวรรษ 1970-2000 โดยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ยังคงสูงเป็นอันดับ 2 ที่ระดับร้อยละ 13-15 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด[2]

นอกจากนี้ ตลาดทุนของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วย โดยบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น Toyoya, Honda, Sony และ MUFG ต่างก็จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก NYSE แม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้จะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในการคำนวณดัชนี Dow Jones แต่เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวมปรับตัวขึ้น หุ้นของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ก็มักจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน และสะท้อนกลับมาที่ราคาของหุ้นในตลาดญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2022 นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนนำโดย Nvidia ออกมาดีเกินคาด แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 5.50 ก็ตาม ราคาของหุ้นญี่ปุ่นจึงยังคงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อไปตามแนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินเยน โดยมีปัจจัยหนุนคือผลประกอบการของบริษัทส่งออกและบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ออกมาดีกว่าคาด

ปรากฏการณ์ Buffett effect

นอกจากการอ่อนค่าของเงินเยนจะเป็นปัจจัยที่จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นแล้ว ข่าวการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นของนักลงทุนคุณค่าชื่อดังอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ก็เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเข้าลงทุนตามการลงทุนของบริษัท Berkshire Hathaway ของบัฟเฟตต์ กระแสการแห่ลงตามทุนตามบัฟเฟตต์ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การลงทุนนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์ ‘Buffett effect’

ช่วงเดือนเมษายน 2023 บัฟเฟตต์ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและเข้าประชุมกับกลุ่มผู้บริหารจากกลุ่มบริษัทชั้นนำหลายแห่งเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทและมุมมองของผู้บริหารต่อทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก แหล่งข่าวระบุว่าผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้นตอบรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจจากบัฟเฟตต์ด้วย โดยบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนลงในหุ้นของบริษัท Mitsubishi, Mitsui, Sumitomo, Itochu และ Marubeni ตั้งแต่ ค.ศ. 2020 หลังจากราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ปรับตัวลดลงจนต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 [3] จากการหารือในครั้งนั้น นักลงทุนในตลาดคาดการณ์กันว่า บัฟเฟตต์อาจจะเพิ่มการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นอีก ทำให้นักลงทุนต่างชาติจากบริษัทอื่นๆ สนใจเข้าลงในตลาดหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงเมษายน 2023 การเข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องโดยนักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนี Nikkei ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ความเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผ่านทางกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา โดยรูปที่ 3 แสดงปริมาณการซื้อขายแยกประเภทระหว่างนักลงทุนรายย่อยชาวญี่ปุ่นและนักลงทุนต่างชาติ ในปี 2023 พบว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยมีช่วงเวลาที่สลับสถานะเป็นขายบ้าง เช่นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ในภาพรวมโดยเฉพาะครึ่งปีหลัง นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นญี่ปุ่นโดยมีมูลค่าเฉลี่ยสูงกว่า 6 ล้านล้านเยน[4]

รูปที่ 3: ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาด Nikkei แยกประเภทระหว่างนักลงทุนรายย่อยในญี่ปุ่นกับนักลงทุนต่างประเทศ
ที่มา: The Japana Times. (2023). The inside story of Buffett’s big Japan bet, over glasses of Coke at Four Seasons. https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/02/business/corporate-business/warren-buffett-big-japan-bet/

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตประการหนึ่งจากรูปที่ 3 คือนักลงทุนรายย่อยชาวญี่ปุ่นกลับเป็นฝ่ายขายสุทธิหุ้นญี่ปุ่นออกมาสูงติดต่อกันตลอดปี 2023 นักวิเคราะห์ของ Nomura Securities อธิบายว่านักลงทุนรายย่อยชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือนักลงทุนรุ่นเก่ากับนักลงทุนรุ่นใหม่

นักลงทุนรุ่นเก่าเป็นนักลงทุนที่เคยลงทุนในตลาดทุนมาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เคยผ่านประสบการณ์กับการสูญเสียครั้งใหญ่จากวิกฤตฟองสบู่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1989 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ. 2008 นักลงทุนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขายหุ้นเพื่อล็อกผลกำไรเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุอาจเพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าดัชนี NIKKEI จะสามารถปรับตัวทะลุระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ที่ 38,915 เยนได้ แต่นักลงทุนประเภทนี้อาจเปลี่ยนใจลดสถานะการขายและถือหุ้นญี่ปุ่นต่อไป หากมั่นใจได้ว่าการขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นครั้งนี้จะยั่งยืนและสามารถปรับตัวขึ้นไปเหนือระดับ 40,000 เยน ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบประมาณ 34 ปี

ส่วนประเภทที่สองเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่าและได้ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนให้มีความรู้ในการจัดพอร์ตโฟลิโอ นักลงทุนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะลงทุนในระยะยาว และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังนับว่ามีสัดส่วนน้อยกว่านักลงทุนรุ่นเก่า ดังนั้นเมื่อดัชนีหุ้นของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น ยอดการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนรายย่อยญี่ปุ่นจึงอยู่ในสถานะขายสุทธิตลอดปีที่ผ่านมาจากอิทธิพลของนักลงทุนรุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยรุ่นใหม่ประเภทหลังมีแรงจูงใจในการลงทุนที่ต่างออกไป ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ไม่ได้คาดหวังการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งจากผลกำไร เพียงแค่กังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของเงินเยนเท่านั้น[5]

อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วงปลายปีที่ผ่านนักลงทุนรายย่อยเทขายเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการลดหย่อนภาษี และคาดการณ์ว่าจะลดการขายสินทรัพย์ลดลงแล้วพลิกกลับมาเป็นฝ่ายซื้อหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้งระหว่างช่วงต้น ค.ศ. 2024 แม้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะแตะระดับสูงสุดใหม่แล้วก็ตาม[6]

Shin (New)-NISA

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในญี่ปุ่นตลอด ค.ศ. 2023 มาจากความคาดหวังว่านักลงทุนรายย่อยในญี่ปุ่นจะย้ายเงินออมของพวกเขาเข้ามาซื้อหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ผ่านโครงการออมผ่านการลงทุนที่เรียกว่า NISA (Nippon Individual Savings Account) เดิมโครงการ NISA ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนหรือนักลงทุนรายย่อยของญี่ปุ่นย้ายทรัพย์สินที่ส่วนใหญ่เป็นเงินสดเปลี่ยนมาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากภาคครัวเรือนญี่ปุ่นถือครองเงินสดมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยประมาณการว่า ณ เดือนกันยายน 2023 มีมูลค่าถือเงินสดสูงถึง 2,100 ล้านล้านเยน[7]

รูปที่ 4: สัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น ค.ศ. 2023
ที่มา: BOJ. (2023).  「資金環境の日米欧比較」: https://www.boj.or.jp/statistics/sj/sjhiq.pdf

 

รูปที่ 4 แสดงข้อมูลสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าภาคครัวเรือนญี่ปุ่นส่วนใหญ่สะสมทรัพย์สินในรูปเงินสดและเงินฝากมากถึง 54.2% ประกันชีวิตหรือกองทุนเงินบำนาญ 26.2% ลงทุนในตลาดทุนเพียง 11% และลงทุนผ่านกองทุน 4.4% เท่านั้น ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ซึ่งนิยมสะสมสินทรัพย์ในรูปแบบของการลงทุนในตลาดทุนมากถึง 39.4% และถือครองเงินสดหรือเงินฝากเพียง 12.6% เท่านั้น[8] การที่ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นไม่นิยมสะสมความมั่งคั่งในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาช้านานนับตั้งแต่เกิดวิกฤตฟองสบู่ ค.ศ. 1989

รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ต้องการแก้ไขพฤติกรรมทางเงินที่มีลักษณะแบบตั้งรับของคนญี่ปุ่นมานานแล้วเช่นกัน แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วยนโยบาย ‘ลัทธิทุนนิยมใหม่’ (新しい資本主義) ของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ.​2022 ประกอบด้วยนโยบายเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) เพิ่มค่าจ้างเชิงโครงสร้างของระบบแรงงาน 2) ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ 3) เปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล

หนึ่งในแนวคิดสำคัญสำหรับนโยบายเสาหลักที่ 2 คือการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศจากภาคครัวเรือน โดยจะดำเนินการพร้อมไปกับนโยบายเสาหลักที่ 1 คือการปรับค่าจ้างในเชิงโครงสร้างซึ่งจะทำให้ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วส่งเสริมให้ภาคครัวเรือน “เปลี่ยนจากการสะสมเงินสดไปเป็นการลงทุน” (貯蓄から投資へ) โดยมีโครงการ NISA ปรับปรุงใหม่หรือ Shin (New)-NISA เป็นโครงการสำคัญสำหรับนโยบายเสาหลักที่ 2[9]

โครงการ Shin-NISA ขยายวงเงินการออมด้วยการลงทุนเพิ่มจนถึง 3.6 ล้านเยนต่อปี โดยแบ่งการลงทุนเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งเป็นการลงทุนแบบออมทรัพย์สะสมที่ได้รับการยกเว้นภาษี (คล้ายกับ RMF) มีวงเงินสูงสุด 1.2 ล้านเยนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าของวงเงินการลงทุนต่อปีจากโครงการ NISA ออมทรัพย์ (つみたてNISA) แบบเดิม ส่วนรูปแบบที่สองเป็นการลงทุนเพื่อคาดหวังผลการเติบโต (คล้ายกับ LFT) ขยายวงเงินสูงสุดที่ 2.4 ล้านเยนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าของวงเงินลงทุนสูงสุดต่อปีของ NISA ทั่วไป (一般 NISA) แบบเดิม

เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วสามารถใช้เป็นมูลค่าทรัพย์สินปลอดภาษีรวมทั้งหมดตลอดโครงการได้สูงสุดถึง 18 ล้านเยน โดยไม่มีจำกัดระยะเวลาในการใช้สิทธิขายหน่วยลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน นอกจากนี้ยังขยายช่วงปลอดภาษีออกไปจากเดิมทีแบ่งเป็น 20 ปี สำหรับ NISA ออมทรัพย์ และ 5 ปี สำหรับ NISA ทั่วไป กลายเป็นปลอดภาษีได้ตลอดการลงทุนโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทำให้สามารถซื้อหน่วยลงทุนรอบใหม่ซ้ำได้ตลอด เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดโครงการส่งเสริม

นักวิเคราะห์คาดหวังว่าระบบ NISA แบบใหม่นี้เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว และประมาณการว่าจะดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยผ่านการลงทุนในกองทุนเพื่อการลงทุนและกองทุนหุ้นส่วนบุคคลได้มากยิ่งขึ้น

นักลงทุนต่างชาติคาดหวังผลกระทบเชิงบวกจากโครงการ NISA แบบใหม่ ได้แก่การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนตามจำนวนบัญชีลงทุนผ่านทางโครงการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายใน 5 ปี ตามแผนการเพิ่มรายได้ผ่านทางการลงทุนด้วยสินทรัพย์ รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนบัญชี NISA จำนวนทั้งหมดจาก 17 ล้านบัญชีใน ค.ศ. 2022 ให้กลายเป็น 34 ล้านบัญชี และจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งหมดจะมีมูลค่าสูงถึง 56 ล้านล้านเยน ภายในระยะเวลา 5 ปี จากการสำรวจความเห็นโดย Nomura Securities ในเดือน มี.ค. 2023 พบว่ามีการเปิดบัญชี NISA เพื่อการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว 17 ล้านบัญชี และคาดการณ์ว่าจะเปิดเพิ่มในช่วง 5 ปีอีกราว 11.6 ล้านบัญชี รวมเป็นประมาณ 28.6 ล้านบัญชี หรือประมาณร้อยละ 80 ของเป้าหมายที่รัฐบาลคาดเอาไว้[10]

จากที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของดัชนี NIKKEI ทั้ง 3 ประการนี้ไม่ได้มาจากพื้นฐานของเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง แต่เกิดจากความคาดหวังผลกระทบเชิงบวกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของ BOJ ซึ่งกดดันค่าเงินเยนให้อยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า และนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศจากรัฐบาล แน่นอนว่าความคาดหวังเหล่านี้วางอยู่สมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีโอกาสฟื้นตัวจนหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ดำเนินติดต่อกันมานานกว่า 3 ทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ BOJ ต้องยกเลิกนโยบาย YCC ในที่สุด แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายดอกเบี้ยของญี่ปุ่น อาจก่อให้เกิดผันผวนของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เนื่องจากเงินเยนอาจกลับทิศทางสู่แนวโน้มแข็งค่า โดยที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเหมือนกับดัชนี Nikkei ที่สามารถประคองตัวอยู่ในระดับสูงสุดตลอดกาลอยู่ได้

ดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป แม้ยกเลิก YCC แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา BOJ ได้ประกาศยกเลิกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และปรับขึ้นสู่ระดับ 0-0.1% รวมทั้งยกเลิกการใช้มาตรการ YCC (มติที่ประชุม 7-2) และยุติการซื้อกองทุน ETF และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (J-REITs) (มติเอกฉันท์)

คำแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นการประกาศสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นที่ดำเนินมานานกว่า 10 ปี และก้าวเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างเป็นทางการตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ แต่ผลตอบรับจากตลาดการเงินและตลาดทุนกลับไม่สอดคล้องกับแถลงการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ครั้งนี้ โดยวันที่ 19 มีนาคม ค่าเงินเยนกลับอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐจนกลับขึ้นสูงเหนือระดับ 150 เยน/ดอลลาร์อีกครั้ง ขณะที่ดัชนี Nikkei ก็ดีดตัวจนสูงกว่า 40,000 เยนเช่นกัน

ผลตอบรับจากตลาดเงินและตลาดทุนที่กลับตาลปัตรจากการคาดการณ์ก่อนหน้า อาจเป็นเพราะนักลงทุนเห็นว่า การยกเลิกมาตรการควบคุมดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับติดลบของ BOJ ไม่ได้หมายถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันใกล้ เหมือนกรณีของธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.25% ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

BOJ แสดงท่าที่ดังกล่าวในมติวาระที่ 2 ว่า  “BOJ จะดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่อไปด้วยปริมาณเงินเท่าเดิม (6 ล้านล้านเยนต่อเดือน) หรือปรับเพิ่มปริมาณมากขึ้นในกรณีที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรยระยะยาวปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว (มติที่ประชุม 8-1)”[11] 

ดังนั้นการยกเลิกมาตรการ YCC จึงเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น โดยเนื้อแท้แล้ว BOJ ไม่ได้ถอนมาตรการผ่อนคลายทางออกเงินออกทั้งหมด แต่ยังสามารถพลิกกลับมาควบคุมอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้ด้วยกลไกการควบคุมในตลาดการเงินแบบปกติ

นักวิเคราะห์ของ Nomura Securities คาดการณ์ว่าผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปี อาจจจะปรับตัวขึ้นได้สูงสุดที่ระดับ (+) 0.7-0.8% เท่านั้น[12] Nikkei Asia รายงานว่านักวิเคราะห์หลายแห่งเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า หรืออาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในครึ่งหลังของปีนี้[13] นั่นเท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีที่นักวิเคราะห์คาดการณ์นี้แทบไม่แตกต่างจากอัตราในปัจจุบันเลย ค่าเงินเยนจึงไม่ได้แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ซ้ำยังพลิกกลับสู่ทิศทางอ่อนค่าเสียด้วยซ้ำ เพราะท่าทีของ BOJ ผ่อนคลายกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้มาก

BOJ ยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่ากำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังกังวลต่อความอ่อนแอของภาคการผลิต การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงกังวลต่อผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก[14] ดังนั้นแม้จะเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในญี่ปุ่น เช่น การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างของบริษัทขนาดใหญ่ในระดับสูงสุดในรอบ 34 ปีที่ 5.28% [15] แต่ศักยภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังต้องการการกระตุ้นจากภาครัฐ เพราะยังอยู่ในสถานะที่อ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย นายกรัฐมนตรีคิชิดะแสดงความเห็นต่อถ้อยแถลงของ BOJ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมว่า “ เชื่อว่า BOJ จะตัดสินใจคงภาวะผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ[16]

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของ BOJ ครั้งนี้จึงยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงปัจจัยของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหรือตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ ดัชนี Nikkei อาจยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดิมต่อไป ตราบเท่าที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเติบโต และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าสกุลเยน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศก็ยังถูกกดดันจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าต่อไป จนกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

References
1 木内登英. (2024). 「日経平均終値史上最高値更新を主導した3つの要因『物価高・金融緩和・円安』の循環に逆回転のリスクも」 https://www.nri.com/jp/knowledge/blog/lst/2024/fis/kiuchi/0222_2
2 Japan custom. (2023). 「貿易相手国上位10カ国の推移」https://www.customs.go.jp/toukei/suii/html/data/y3.pdf.
3 SBISEC. (2024). 「新NISAで史上最高値更新が視野に!?その理由は?」https://go.sbisec.co.jp/media/report/op225/op225_240109.html?fbclid=IwAR32MReb8wzR6ZvFjiYAoYk1fmSRjQYWXtUGjDGGatj5A3KVeAnJhlNaAto.
4 The Japana Times. (2023). The inside story of Buffett’s big Japan bet, over glasses of Coke at Four Seasons. https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/02/business/corporate-business/warren-buffett-big-japan-bet/
5 NIKKEI Asia. (2024). Foreign enthusiasm over Japanese stocks yet to filter down at home. https://asia.nikkei.com/Spotlight/Market-Spotlight/Foreign-enthusiasm-over-Japanese-stocks-yet-to-filter-down-at-home.
6 NIKKEI Asia. (2024). Japan’s stock market boosted by revamped NISA and seasonality. https://asia.nikkei.com/Business/Markets/Japan-s-stock-market-boosted-by-revamped-NISA-and-seasonality
7 NIKKEI Asia. (2024). Foreign enthusiasm over Japanese stocks yet to filter down at home. https://asia.nikkei.com/Spotlight/Market-Spotlight/Foreign-enthusiasm-over-Japanese-stocks-yet-to-filter-down-at-home.
8 BOJ. (2023).  「資金環境の日米欧比較」: https://www.boj.or.jp/statistics/sj/sjhiq.pdf
9 The finance編集部. (2023). 「新しい資本主義をわかりやすく解説」https://thefinance.jp/strategy/231226-2#08
10 SBISEC. (2024). 「新NISAで史上最高値更新が視野に!?その理由は?」https://go.sbisec.co.jp/media/report/op225/op225_240109.html?fbclid=IwAR32MReb8wzR6ZvFjiYAoYk1fmSRjQYWXtUGjDGGatj5A3KVeAnJhlNaAto.
11 木内登英. (2024). 「日銀がマイナス金利政策解除で17年ぶりの利上げ」https://www.nri.com/jp/knowledge/blog/lst/2024/fis/kiuchi/0319
12 BOJ. (2024). 「金融政策の枠組みの見直しについて」https://www.boj.or.jp/mopo/mpmdeci/mpr_2024/k240319a.pdf
13 NIKKEIAsia. (2024). What’s next for the BOJ after its exit from negative rates? https://asia.nikkei.com/Economy/Bank-of-Japan/What-s-next-for-the-BOJ-after-its-exit-from-negative-rates?utm_campaign.
14 BOJ. (2024). 「金融政策の枠組みの見直しについて」https://www.boj.or.jp/mopo/mpmdeci/mpr_2024/k240319a.pdf
15 NIKKEI Asia. (2024).  Japan’s unions win biggest wage hike since 1991 in ‘stage change’. https://asia.nikkei.com/Economy/Japan-s-unions-win-biggest-wage-hike-since-1991-in-stage-change
16 NIKKEI Asia. (2024). What’s next for the BOJ after its exit from negative rates? https://asia.nikkei.com/Economy/Bank-of-Japan/What-s-next-for-the-BOJ-after-its-exit-from-negative-rates?utm_campaign.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save