fbpx

ถอดคำวินิจฉัยระหว่างบรรทัด คดีล้มล้างการปกครอง กับ มุนินทร์ พงศาปาน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล จากการที่มีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 และการใช้มาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 นั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการปกครองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กาลนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง เลิกกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 พร้อมทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คำวินิจฉัยดังกล่าว สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่สังคมไทย และ ส่งผลต่อแวดวงนิติศาสตร์ ซึ่งมีการถกเถียงถึงหลักการ แนวคิด ที่นำมาสนับสนุนคำวินิจฉัยนี้ รวมถึงอาจสั่นคลอนต่ออำนาจสามขาหลักของอธิปไตยอีกด้วย

101 จึงถือโอกาสชวน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันอ่านระหว่างบรรทัด ชำแหละคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสะท้อนถึงนักนิติศาสตร์ในการตีความหลักกฎหมาย ความเข้าใจของประชาชน และวิเคราะห์ผลพวงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

กระบวนการที่โปร่งใส คือหัวใจของการพิจารณาคดี

คราแรกที่ฟังคำวินิจฉัย อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ต้องบอกว่าเกินความคาดหมายไปมาก เมื่อเทียบกับคดีก่อนหน้า คดีของคุณพิธาทั้งสองคดีนี้ตามหลักกฎหมายแล้วคงมีโอกาสรอดทั้งคู่ เพียงแต่คดีคุณพิธา (คดีถือหุ้นไอทีวี) โอกาสรอดน่าจะน้อยกว่าคดีล้มล้าง อย่างที่ได้บอกไปหลายครั้งว่า เรายังหาคำอธิบายทางหลักกฎหมายเพื่อทำความเข้าใจผลทางคดีไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ และยังพยายามทำความเข้าใจเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่ว่าเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไร

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…ทั้งสองฝ่ายทราบดีว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง…’ 

อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไรเมื่อศาลระบุว่าตนใช้ระบบไต่สวน มีระบบอะไรบ้าง และระบบไต่สวนแท้จริงเป็นอย่างที่ประเทศไทยใช้อยู่หรือไม่

ผมมองว่าปัญหาของระบบไต่สวนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อยู่นั้นสะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยในหลายคดี โดยเฉพาะคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลล่าสุด ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของระบบไต่สวน ซึ่งเราเคยเห็น (ระบบไต่สวน) ในคดีล้มล้างการปกครองที่คุณรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ คุณอานนท์ นำภา เคยถูกกล่าวหาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน

ระบบพิจารณาคดีระดับสากลของศาลในโลกมีระบบใหญ่คือ ‘ระบบกล่าวหา’ กับ ‘ระบบไต่สวน’ ระบบกล่าวหาเป็นระบบที่ศาลจะทำหน้าที่ลักษณะเหมือนเป็นผู้ตัดสิน คล้ายกับกรรมการฟุตบอล ปล่อยให้คู่ความเป็นผู้เล่น คู่ความจะต้องนำเสนอพยานหลักฐาน อีกทั้งแต่ละฝั่งจะมีสิทธิถามค้าน แสดงให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่อีกฝ่ายนำเสนอนั้นไม่มีน้ำหนัก เป็นระบบที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเปิดพยานหลักฐานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แล้วศาลจะชั่งน้ำหนักเองว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน

ส่วนระบบไต่สวน จะให้บทบาทศาลในการทำหน้าที่ค้นหาความจริงค่อนข้างมาก ระบบไต่สวนจะเอามาใช้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งบ้านเราใช้ระบบนี้ในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรมบางระบบซึ่งยังเป็นส่วนน้อยอยู่ เนื่องจากถ้าให้คู่ความที่เป็นเอกชนต่อสู้กับรัฐอาจสู้ไม่ไหว เพราะรัฐมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่า ฉะนั้นศาลจึงต้องเข้ามาช่วยในการแสวงหาพยานหลักฐาน

จริงๆ แล้วในอุดมคติของผม ระบบไต่สวนควรเข้ามาช่วยระบบกล่าวหา อย่างแรกเราต้องปล่อยให้คนที่ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐานเข้ามาแสดงความบริสุทธิ์หรือหักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ก่อน รวมถึงเปิดโอกาสให้คู่ความได้ถามค้าน หากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานอื่นใดที่น่าจะช่วยพิสูจน์ความจริง ศาลจึงใช้อำนาจในการเรียกดูพยานหลักฐาน ซึ่งอำนาจแบบนั้นเป็นอำนาจที่หนักไปทางระบบไต่สวน

แต่ปัจจุบัน การใช้ระบบไต่สวนกลายเป็นการทำให้กระบวนการไม่เป็นระบบ เราไม่รู้เลยว่าเรามีสิทธิเอาพยานบุคคลมาเท่าไร พยานหลักฐานแบบใด มันเป็นการตัดโอกาสเราในการหักล้างพยานหลักฐานของคนที่กล่าวหา เช่น คนที่กล่าวหาอาจนำพยานหลักฐานมา ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นก็เป็นข้อมูลที่สนับสนุนคนที่กล่าวหา 

คำถามคือ ในการพิจารณาคดีของศาล ศาลเปิดโอกาสให้กับคนที่ถูกกล่าวหาได้หักล้างมากน้อยเพียงใด พวกเขามีโอกาสได้ถามค้านหรือไม่ หรือศาลเชื่อข้อมูลตามนั้นเลย ซึ่งหากเป็นระบบกล่าวหาปกติ จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้สอบถามว่า สิ่งที่ผู้กล่าวหาบันทึกว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการใดๆ นั้นมันจริงหรือไม่ จำเป็นต้องยืนยันข้อเท็จจริงกัน

วิธีพิจารณาความลักษณะนี้หายไปในช่วงหลัง บางครั้งเราได้ยินเรื่องของการตัดพยาน เวลาผู้ถูกกล่าวหาอยากจะนำพยานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โอกาสเหล่านั้นมักจะถูกตัดออกไป อีกทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่ศาลกำลังพยายามชี้ให้เห็นว่าศาลรับฟังนั้น เราไม่รู้ว่าพยานผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนถูกอ้างในฝั่งไหน ซึ่งโดยปกติในการพิจารณาคดี หากมีการอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่ความเสนอมา หรือศาลเป็นผู้ตั้งเองก็มิอาจทราบ หากเป็นคู่ความอ้างมา จำต้องเปิดโอกาสให้อีกฝั่งหนึ่งถามค้าน สิ่งนี้เป็นระบบพิจารณาปกติในระดับนานาชาติ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ กระบวนพิจารณาต้องมีลักษณะถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย (due process) คือมีความเป็นธรรม ให้โอกาสคู่ความได้นำเสนอพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ มีโอกาสได้ซักค้าน และต้องโปร่งใส

ผมยังคงมีความรู้สึกค้างคาใจอยู่กับการใช้คำว่าระบบไต่สวน เพราะฟังแล้วดูเหมือนว่า ระบบไต่สวนถูกนำมาใช้เพียงเพื่อเป็นความชอบธรรมในการที่ศาลไม่ให้โอกาสและทำให้ไม่โปร่งใสหรือไม่ คำถามนี้คงต้องรอดูคำตอบในคำพิพากษาฉบับเต็มว่า ตกลงศาลรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร รวมถึงให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหามากน้อยเพียงใด

พยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลอ้างถึง บางท่านนำความเห็นหรือคำให้การมาเผยแพร่ แต่บางท่านไม่ได้เผยแพร่ ส่วนนี้ในต่างประเทศ พยานผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยโปร่งใสเพียงใด สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้หรือไม่

คดีลักษณะนี้เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง จำต้องเปิดเผยและโปร่งใส ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีการถ่ายทอดสดให้สาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน พยานที่ถูกอ้างมาควรจะให้คู่ความได้มีโอกาสซักถาม เนื่องจากคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญมีคุณและโทษกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ทั้งสองฝั่งต้องมีโอกาสได้สอบถามกันอย่างเปิดเผยต่อหน้าคนจำนวนมาก อย่างที่ศาลยุติธรรมกระทำในระบบกล่าวหา ผมคิดว่าคู่ความทั้งสองฝั่งพึงพอใจ เพราะพวกเขามีโอกาสได้นำเสนอพยานหลักฐาน หรือมีโอกาสได้ซักถามพยานหลักฐานของอีกฝั่งหนึ่งอย่างเต็มที่ และไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

เป็นหน้าที่ของศาลหรือไม่ในการที่ต้องเปิดเผยคำให้การ

ใช่ เพราะไม่มีอะไรต้องปิด พยานหลักฐานที่ศาลรับฟังเป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ ยกเว้นจะเป็นความลับชั้นสุดยอด เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหารต่างๆ ส่วนพยานหลักฐานอื่นสามารถเปิดเผยได้ และสาธารณชนควรมีสิทธิได้รับรู้

ผมคิดว่าการมีระบบกล่าวหาหรือไต่สวนไม่ได้มีความหมายอะไร สิ่งสำคัญคือ คุณต้องเปิดโอกาสให้คู่ความมีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ มีโอกาสถามค้าน และกระบวนการพิจารณาต้องโปร่งใส นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เมื่อการตีความข้อกฎหมายอย่างกว้าง คือการละเมิดสิทธิและเสรีภาพบุคคล

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1)’

ศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงการมีอำนาจตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมคิดว่ามันมีนัยอะไรบางอย่าง คือ ศาลต้องการจะบอกว่าการที่ศาลใช้อำนาจเข้ามาตรวจสอบการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญซึ่งสอดคล้องกับหลักการในการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นหลักการปกติของการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสามองค์กรหลักในระบอบ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติรัฐสภา อำนาจบริหารรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการ

ฟังดูเหมือนจะปกติ แต่หากเราอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้มากกว่าฉบับใดๆ เราจะเห็นภาพชัดว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วหลายคดีนั้นทำลายสมดุลของอำนาจทั้งสามอำนาจ

แต่ละองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน เขาเป็นองค์กรสูงสุดภายใต้ระบบของเขา แต่ละองค์กรอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ควรมีใครอยู่สูงกว่าใคร ฉะนั้น ในการทำหน้าที่หลักของแต่ละองค์กร ควรจะสามารถใช้ดุลยพินิจอิสระในการตัดสินใจได้ เช่น ฝ่ายบริหารก็สามารถตัดสินใจในด้านนโยบาย ถ้าผิดพลาด รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง การทุจริตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ว่ากันไปตามกระบวนการอยู่แล้ว แต่การใช้ดุลยพินิจเป็นอำนาจที่เขาได้มาเป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ นโยบายในการออกกฎหมาย ดีหรือไม่อย่างไรนั้น ควรที่จะไปถกเถียงในสภาได้ ไม่ควรมีองค์กรใดใช้ดุลยพินิจแทนก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้

ต่อให้ร่างกฎหมายแย่อย่างไร ก็ควรต้องไปถกเถียงกันในสภาฯ ประชาชนต้องมีโอกาสได้ร่วมรับฟังและตัดสินใจ นั่นคือกระบวนการปกติในระบบรัฐสภา

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามีสิทธิ์ตรวจสอบเพื่ออำนาจถ่วงดุล คำถามคือ แล้วใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้

ในรัฐธรรมนูญนี้ กลไกการตรวจสอบศาลถูกนำออกไปหมด เรื่องของการถอดถอนโดยวุฒิสภาก็ถูกถอดออกไป ประกอบกับถ้อยคำของบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่มักเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างกว้าง ฉะนั้นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในแง่มุมใดก็ได้ของการกระทำทางกฎหมาย แม้กระทั่งการใช้ดุลยพินิจตรวจสอบกระบวนการ ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ อย่างมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องของการล้มล้างนั้น ผู้ใดจะไปยื่นก็ได้

ไม่เพียงเฉพาะพรรคก้าวไกล เมื่อบทบัญญัติกว้าง พรรคอื่นๆ อาจถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน องค์กรนั้น องค์กรนี้ หรือเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้น คนนี้ กระทำการที่เป็นการล้มล้างการปกครอง สามารถเป็นไปได้หมด

ในมาตรา 49 ตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ‘รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ส่วนนี้มีขอบเขตจำกัดหรือไม่

ผมหาขอบเขตไม่ได้ เพราะเขาตั้งใจทำให้กว้าง และผมเห็นว่ามันกว้างถึงขนาดที่สามารถประกาศให้นโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งยื่นในนามของ สส. กลับถูกตรวจสอบได้ คำถามคือ ศาลสามารถไปตรวจสอบนโยบายในการเลือกตั้งได้เลยหรือ เป็นการกระทำใดในทางกฎหมาย 

แต่ต้องยอมรับว่า หากตีความอย่างกว้างที่สุด การกระทำเหล่านี้อาจรวมอยู่ในข้อกฎหมายนี้ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญคงทราบดีว่า ลำพังนโยบายที่ใช้หาเสียง หรือการไปยื่นแก้กฎหมายในกลุ่ม สส. ฟังดูไม่มีน้ำหนักพอที่จะเป็นการล้มล้าง จึงต้องไปโยงการกระทำอื่นมาประกอบ สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ต่อให้ข้อกฎหมายเขียนกว้างอย่างไร นักกฎหมายทราบกันดีว่าหลักการหรือทฤษฎีในการตีความ จะเป็นตัวจำกัดการตีความของศาลให้อยู่ในกรอบที่ไม่กว้างจนเกินไป เพราะยิ่งตีความกว้างเท่าใด ยิ่งล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเท่านั้น

นักกฎหมายทราบกันดีว่า เรามีหลักการในการตีความกฎหมายที่เขียนไว้กว้างๆ ว่า หากกฎหมายข้อใดที่ผลของมันเป็นการไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว เราต้องตีความให้แคบ

ยกตัวอย่างเช่น ในคดีเลือกตั้งของคุณชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ที่ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับคดีของคุณพิธา ตอนที่ศาลพิจารณาคำว่า ‘ผู้ถือหุ้น’ ซึ่งเป็นกฎหมายมาตราเดียวกัน องค์ประกอบเดียวกัน แต่ตีความโดยศาลละคนศาล คุณชาญชัยโดนกล่าวหาในช่วงที่กำลังเลือกตั้ง ขณะที่คุณพิธาถูกรับรองเป็น สส. แล้ว

ศาลฎีกาในคดีคุณชาญชัยได้วางหลักไว้อย่างดีมากว่า ‘ศาลยืนยันหลักการที่ถูกต้องในทางนิติศาสตร์ การจำกัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย อีกทั้งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ’

นี่คือหลักการตีความที่ถูกต้องและมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนในคดีนี้ ฉะนั้น หลักการสามารถปรับใช้ได้กับกฎหมายส่วนใหญ่ที่มีผลไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน หากกฎหมายเขียนกว้างและคลุมเครือ ศาลมีหน้าที่ตีความให้แคบ

เมื่อสองสามวันที่แล้ว อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ ได้เขียนสเตตัสไว้ในเฟซบุ๊ก ซึ่งยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจของสหราชอาณาจักรที่มีระบอบการปกครองและมีกฎหมายคล้ายไทย ศาลฎีกาของสหราชอาณาจักรซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นศาลสภาขุนนาง ผู้พิพากษาได้วางหลักไว้เป็นรากฐานว่า การตีความการกระทำที่เป็นการล้มล้าง ต้องเป็นการล้มล้างโดยใช้กำลัง ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผมคิด ในความคิดเห็นของผม การกระทำที่เป็นการล้มล้างนึกได้เพียงกรณีเดียวคือ กรณีที่มีคนสุมหัวกันวางแผนใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างระบอบการปกครอง การตีความอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็น การตีความอย่างแคบเพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล

ผมเชื่อว่านักกฎหมายเราเรียนตำราเดียวกัน และรู้ถึงหลักการเหล่านี้ ฉะนั้น ถ้าเรายึดถือหลักการในทางตำรา ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลธรรมดาสามัญ ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้ น่าจะมีคำตอบที่คล้ายกันว่า เวลาที่เรานึกถึงการล้มล้างการปกครอง ควรจะเป็นเรื่องของการวางแผน อาจจะใช้กำลัง เตรียมการใช้กำลัง หรือปลุกระดมกำลังเพื่อล้มล้าง จะนึกถึงกรณีอย่างนั้น ทว่าพอเป็นเรื่องของนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือเรื่องการแก้กฎหมายในรัฐสภา จึงต้องหยิบยกการกระทำของปัจเจกกับบุคคลอื่นๆ การไปประกันตัว การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญามาประกอบ ซึ่งแต่ละสถานการณ์ที่หยิบยกมานั้นมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เป็นไปได้อย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญในคดีคุณพิธา ย้อนกลับไปอีกคดีหนึ่งก่อนหน้านี้คือเรื่องถือหุ้นไอทีวี ศาลมีการตีความตามตัวอักษร กล่าวคือ หากเขียนเพียงแค่ว่าเป็นผู้ถือหุ้น มีหุ้นเดียวก็ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว แต่เมื่อศาลดูอีกองค์ประกอบหนึ่งคือ ธุรกิจสื่อ ศาลกลับตีความว่าดูเพียงคำว่า ธุรกิจสื่ออย่างเดียวไม่ได้ ควรดูประกอบด้วยว่าเป็นสื่อที่ยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ การตีความส่วนนี้เป็นการตีความตามเจตนารมณ์ แต่การตีความเรื่องถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็เป็นสื่อนั้น เป็นการตีความตามตัวอักษร ซึ่งเหล่านี้จะมีความขัดแย้งกันเองในการตีความมาตราแบบเดียวกัน 

ให้อำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญ คือการสั่นคลอนอำนาจอธิปไตย

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นเป็นการลดสถานะความคุ้มครอง ขอสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรงและให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน…’

การที่คุณพิธาและพรรคก้าวไกล เสนอให้มาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ และเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรคหนึ่งว่า ความผิดนี้ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องแทนแล้วถูกวินิจฉัยว่าเป็นการลดสถานะความคุ้มครองนั้น ส่วนนี้หมายความว่าอย่างไร

สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของความไม่เข้าใจถึงบทบาทของแต่ละองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ฝ่ายที่ต้องเป็นผู้พิจารณาว่า กฎหมายควรได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกนั้น ควรจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ในการพิจารณาต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายใดที่จะทำให้ปัญหาเรื่องนั้นๆ ได้รับการแก้ไขสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขามีความชอบธรรมในการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ อำนาจนั้นเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อศาลมาพิจารณาเองในเรื่องนี้ ต่อไปเกือบทุกกฎหมาย หากมีคนไปร้อง ก็มีโอกาสที่ศาลจะเข้ามาข้องแวะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล คดีของพรรคก้าวไกลเป็นสัญญาณอันตรายที่แสดงให้เห็นว่า อาจจะมีคดีอื่นๆ อีกตามมาในอนาคต ที่ศาลจะมาช่วยดูดุลยพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติ ผมกังวลว่าเราจะไม่มีสามอำนาจเท่าเทียมในการตรวจสอบถ่วงดุล กังวลว่าอำนาจทั้งหมดจะไปรวมอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีอำนาจในการตรวจสอบกันแต่ต้องมีเส้นแบ่งที่ชัด

เราร่างรัฐธรรมนูญโดยการไปดูบทบัญญัติของต่างประเทศ นำบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมันมา แต่ว่าศาลของประเทศอื่นเขาขีดเส้นตัวเองชัดเจน เขารู้หลักการว่าไม่ควรเข้าไปแทรกแซงมากจนเกินเหตุ ฉะนั้นแล้ว วิธีการใช้กฎหมายของเขาจึงไม่เหมือนของไทย ผมพยายามนึกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะขีดเส้นตัวเองตรงไหน ดีไม่ดี อาจจะต้องรอคำพิพากษาในอนาคต ขีดเส้นชัดเจนว่าฉันจะไปเท่านี้ จะไม่ไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ผมยังมองไม่เห็นเส้นนั้นเลย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยมักจะให้ความสำคัญกับผู้ที่มีสถานะเป็นชนชั้นนำ (elite) ทางสังคม ซึ่งตุลาการก็เป็นชนชั้นนำทางสังคม คนจำนวนหนึ่งจึงอาจจะแย้งอาจารย์ว่า ให้ตุลาการตรวจสอบนั้นดีแล้ว

มันจะกลายเป็นตุลาการภิวัฒน์ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ข้อสรุปแล้วว่าอย่าไว้ใจนักกฎหมายมากจนเกินไป ความยุ่งเหยิงของระบบกฎหมาย ปัญหาของบ้านเมือง ส่วนหนึ่งมาจากนักกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เรื่องที่ร้ายแรงที่สุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะศาลถูกเขียนให้อำนาจ และศาลก็ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญเขียน

นักกฎหมายมีส่วนทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ หากในอนาคตข้างหน้าเรามีโอกาสได้วางกติกาใหม่ อย่าไว้ใจนักกฎหมายมากจนเกินไป ควรไว้ใจเสียงของเรา ไว้ใจผู้แทนประชาชน อย่างน้อยที่สุด ผู้แทนประชาชนก็มีวาระที่จำกัด และประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจได้ ผมยังรู้สึกว่าหลายเรื่องที่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในทุกวันนี้ สามารถจบในรัฐสภาได้ ต่อให้นักกฎหมายบางคนบอกว่าชอบหรือไม่ชอบทางกฎหมายตามหลักทฤษฎีก็ไม่เป็นไร ให้ผู้แทนประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจเหมาะกว่าคนเพียงไม่กี่คน ผิดถูกอย่างไร ประชาชนจะชี้ชะตาเองในอีกสี่ปีข้างหน้า

แก้ไขอาญา มาตรา 112 ≠ ล้มล้างสถาบัน

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง…’

การขอแก้ไขเพิ่มเติมนี้นำไปสู่ประเด็นของการล้มล้าง อาจารย์คิดเห็นว่าอย่างไร

ผมคิดว่าศาลด่วนสรุปเกินไป ตามหลักการแล้วเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ในสภาฯ เราเห็นแล้วว่าสมาชิกสภาฯ หลายท่านคงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล หากจะตำหนิพรรคก้าวไกลว่าล้มล้างการปกครองหรือทรยศประเทศชาติ สามารถวิจารณ์กันในสภาฯ ได้ ต่อให้ฟังแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วยหรือไม่สมเหตุสมผลเพียงใด การถกเถียงกันในสภาก็ยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด หากไม่เห็นด้วย ถกเถียงแล้วโหวตไม่รับร่าง ก็ถือว่าเป็นเจตจำนงของประชาชนทั้งประเทศผ่านทางผู้แทนราษฎร เหตุใดศาลจึงต้องมาตัดสินใจแทน

ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่ศาลมาข้องเกี่ยวในเรื่องนี้ และผมคิดว่าการลด ยก หรือเซาะกร่อนสถานะ จะเป็นหรือไม่นั้นควรเปิดโอกาสให้กับสมาชิกสภาฯ ได้อภิปรายกัน ถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบร่วมด้วย หลังจากฟังอภิปรายในสภาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะเห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เอาร่างกฎหมายนี้ก็ได้

การแก้ไขกฎหมายแล้วถูกมองว่าเป็นการลดสถานะ มันเกิดจากข้อสันนิษฐานว่า การปกป้องสถาบันต้องโดนลงโทษอย่างรุนแรงเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะกฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โทษทางอาญาบางฐานก็มีการปรับลด บางฐานก็เปลี่ยนจากโทษจำคุกให้กลายเป็นโทษปรับมากมาย และผู้เชี่ยวชาญทางอาญาเองคงเชื่อคล้ายกันว่า ประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายอาญา หรืออาชญากรรมที่มันเกิดขึ้นนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง การเพิ่มโทษอาจไม่ใช่คำตอบเดียว ต้องดูปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ ในเวลานั้นร่วมด้วย ซึ่งผู้ที่มีความชอบธรรมที่สุดในการตัดสินใจเรื่องนี้คือฝ่ายนิติบัญญัติ เขาได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากรัฐธรรมนูญให้มาพิจารณานโยบาย หรือมาตรการต่างๆ ในรูปของกฎหมายทั้งหลาย แต่ปัจจุบันถูกตัดตอนไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญ

ในคำวินิจฉัยนั้น นอกจากการกล่าวถึงการชุมนุม การรณรงค์ รวมถึงการโพสต์เฟซบุ๊กแล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นมากที่สุดคือ การที่สมาชิกพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยมาตรา 112 การเป็นนายประกันนั้นผิดมากหรือไม่

เหตุผลนี้เป็นการไปหยิบยกพฤติการณ์ซึ่งศาลมองว่ามิชอบมาสนับสนุนเจตนาที่ไม่ดีของผู้ที่ถูกกล่าวหา แต่ว่าเมื่อพิจารณาตามหลักอีกกฎหมายหนึ่ง มันคือการกระทำที่ควรจะได้รับการสรรเสริญ ในเมื่อสิทธิพื้นฐานของบุคคลคือ เมื่อคุณถูกกล่าวหาในคดีอาญา คุณจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ คุณควรมีสิทธิที่จะอยู่นอกคุก ได้รับการประกันตัว หากคุณไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีผู้มาประกันตัวให้ คุณก็ติดคุกและเข้าไม่ถึงสิทธิที่คุณควรจะได้รับ หากมีคนยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย บุคคลเหล่านั้นควรได้รับการสรรเสริญ มิใช่ประณามว่าเป็นพฤติกรรมของการกระทำความผิด ผมมองว่ามันขัดแย้งกันเองกับอีกหลักกฎหมายหนึ่ง

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…ตามหนังสือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคำเบิกความของผู้ถูกร้องทั้งสองต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายรายได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ จำนวน 2 คดี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว จำนวน 2 คดี น.ส.รักชนก ศรีนอก เป็นต้น การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา…’

การที่ศาลอ้างถึงสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องมีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเคยตกเป็นจำเลยในคดี 112 สามารถอธิบายพฤติการณ์นี้ว่าอย่างไรได้บ้าง

เป็นอีกพฤติการณ์หนึ่งซึ่งยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่า ศาลไปหยิบยกพฤติการณ์นี้มาบ่งชี้ถึงเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองได้อย่างไร เนื่องด้วยโดยการกระทำของมันเอง มันเป็นการกระทำที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักกฎหมายอีกหลักหนึ่ง อย่างที่ผมกล่าวไปว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินถึงที่สุด สมมติ ถ้า สส. คนหนึ่งถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก แล้วอยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่างๆ ท้ายสุดศาลฎีกาตัดสินว่าเขาไม่ผิด นั่นหมายความว่าการกระทำที่ศาลชั้นต้นบอกว่าผิดก็จะไม่ผิดแล้ว และเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

การที่คดียังไม่สิ้นสุด ศาลยังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด คุณจะบอกเขาผิดได้อย่างไรในเรื่องนี้ คำอธิบายหรือการให้เหตุผลมันยังไม่มีคำตอบว่าศาลจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร เมื่อสิ่งที่ศาลชี้มันกลับไปขัดต่อหลักกฎหมายพื้นฐานที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันอีกหลักหนึ่ง ตรงนี้เราก็ยังไม่เห็นและไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้…’

การที่ศาลสั่งหยุดการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 49 อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ผมค่อนข้างจะติดใจในส่วนนี้ ฟังดูก่อนหน้านั้นคือ ศาลพยายามชี้ไปที่ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ศาลเชื่อว่าเขาล้มล้างการปกครอง เมื่อมาถึงตรงนี้ถ้อยคำที่ศาลใช้ดูเหมือนว่า ศาลบังคับใช้มาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาหยุดการกระทำที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่ต้องการให้พฤติการณ์เหล่านั้นนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง หมายความว่า ณ เวลาที่ถูกกล่าวหายังไม่มีการล้มล้าง แต่หากปล่อยไปและยังทำพฤติกรรมเช่นนี้ก็จะนำไปสู่การล้มล้างได้ ฉะนั้น มันอาจจะยังไม่ชัดเจนว่า แล้วตกลงเป็นการล้มล้างจริงหรือไม่

ในมาตรา 92 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในการบุยพรรค มันใช้การกระทำหรืออ้างถึงการกระทำคล้ายกัน แต่ว่าการพิสูจน์ความผิดในมาตราตามกฎหมายนั้น ควรจะต้องหนักแน่นกว่านี้ว่าเป็นการล้มล้างอย่างแท้จริง มีการกระทำที่ถือเป็นการล้มล้างแล้ว ถึงจะยุบพรรคก็ได้ นี่คือการฆ่ากันทางการเมืองซึ่งไทยเราทำบ่อยมาก และมันเป็นเรื่องที่แปลก เพราะเกิดขึ้นมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย  พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ มีแต่พรรคใหญ่ทั้งนั้น

ผมคิดว่า แค่บันทึกตัวเลขของพรรคที่ถูกยุบ และขนาดของพรรคที่ถูกยุบก็เป็นเรื่องผิดปกติแล้ว เอาคนนอกเช่นต่างประเทศมาดู ก็คงจะกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องปกติของการใช้กฎหมาย ที่ทำให้พรรคใหญ่ขนาดนี้ถูกยุบได้ง่ายๆ

อาจารย์ยังมีความหวังเล็กๆ หรือไม่ว่า เมื่อมีผู้ร้องยุบพรรคหรือร้องตัดสิทธิทางการเมืองชั่วชีวิต จะทำให้เห็นว่าเป็นเพียงการกระทำที่คาดการณ์ในอนาคต

กระบวนการในแต่ละบทของกฎหมาย เป็นกระบวนการที่ต้องว่ากันตามกฎหมายนั้น ที่ศาลพิจารณาเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา มันเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ก็มีวาระ ขั้นตอนของมัน แต่พอเป็นเรื่องของการยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีกระบวนการในการพิจารณาอีก กล่าวคือ กกต.ต้องพิจารณาก่อน ซึ่งได้ยินว่า กกต.เคยพิจารณาประเด็นเดียวกันนี้ และบอกว่าไม่เป็นการล้มล้าง จึงไม่ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนนั้น แต่ตอนนี้กลับต้องมาพิจารณาใหม่ และ กกต.ต้องพิจารณา วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่ แล้วจึงส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลอาจจะต้องใช้เวลาไต่สวนอีก จะช้าหรือเร็วก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนั้น ซึ่งผลอาจจะมีทั้งสองแบบ ฉะนั้น ในทางหลักการก็อาจจะมีที่ไม่ได้จบลงโดยการยุบพรรค ดังนั้น คดีตามมาตรา 49 เมื่อวันที่ 31 มกราคม เป็นเพียงการเตือนว่าสิ่งที่คุณกำลังทำนั้นจะนำไปสู่การล้มล้าง ศาลจึงต้องหยุดคุณไว้ก่อน

จากคำวินิจฉัยว่า ‘…อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74…’

การถูกสั่งห้ามให้กระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อีกนั้น อาจารย์คิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้

จากคำสั่งศาลในทั้งสองข้อ ข้อแรก ถึงแม้ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทั้งองค์กร แต่เนื่องจากเป็นการสั่งเฉพาะพรรคก้าวไกล ฉะนั้นแล้วพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล พรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ก็อาจจะแก้ได้ แต่แน่นอนผลในทางการเมืองของคำตัดสินคงทำให้พรรคการเมืองไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง อีกทั้งศาลสั่งห้ามยกเลิก ไม่ได้ห้ามแก้ 

ข้อสอง แก้ไขได้  แต่ต้องแก้ไขโดยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ หมายความว่า หากมีพรรคการเมืองต้องการที่จะแก้ไข ก็แก้ไขโดยวิธีการทางรัฐสภา เสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าไปให้มีการพิจารณา แต่ผมติดใจที่คำว่า ‘โดยชอบ’ นั้นหมายความว่าอย่างไร

ตุลาการต้องการจะบอกว่า หากอยากเสนอแก้ไขกฎหมายใด ก็เสนอรายชื่อ ยื่นเข้าสภา อย่าไปทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวนอกสภา เพราะไม่ใช่วิธีการตามรัฐสภาและไม่ใช่กระบวนทางนิติบัญญัติโดยชอบ หรือไม่

เป็นเช่นนั้น แต่คำถามคือ คำว่า ‘โดยชอบ’ หมายถึงอะไร ใครชอบ และชอบด้วยอะไร ตามการคาดการณ์ของผมคือน่าจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วย หมายความว่า หากเสนอร่างกฎหมายเข้าไปในสภาฯ เพื่อแก้ไขมาตรานี้ สามารถกระทำได้ แต่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบก่อน กล่าวคือ เมื่อมีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลไม่เห็นชอบ อาจจะกลายเป็นนิติบัญญัติที่ไม่ชอบก็เป็นได้ ท้ายสุดคงต้องรอดูคำอธิบายจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ตกลงแล้วคืออย่างไรกันแน่

ผมไม่แน่ใจว่า ในคำวินิจฉัยฉบับเต็มมีโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนขยายความในเรื่องพวกนี้หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าจะห้ามเพียงพรรคก้าวไกล แต่กลับส่งผลกระทบทางความเป็นจริงต่อพรรคอื่นๆ ด้วย และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของมาตรา 112 อย่างเดียว กรณีนี้อาจนำไปเทียบเคียงกับเรื่องอื่นที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลให้พรรคการเมืองมีความรู้สึกว่าจะถูกวินิจฉัย และผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบนี้เหมือนกัน

นักสิทธิมนุษยชนหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า ครั้งนี้ตุลาการใช้ถ้อยคำบางถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นลักษณะจารีต มีคำคล้องจอง เพื่อสร้างความทรงจำและจูงใจประชาชนต่อเหตุผลคำพิพากษา พยายามนำพาสังคมให้เดินตามอำนาจเก่า ทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่กล่าวมานั้นพอจะมองมุมนี้ได้หรือไม่

คำวินิจฉัยยังหาหลักการหรือทฤษฎีทางกฎหมายมาสนับสนุนไม่ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจคิดต่าง ในหลายส่วนของการให้เหตุผลของศาลยังขัดแย้งกับหลักการที่มีอยู่หลายหลัก ด้วยความที่ตรงจุดนี้ไม่ได้ช่วยเสริมเท่าไร อย่างหนึ่งที่จริงๆ ไม่ใช่แค่ศาลที่ทำ บางทีจะเห็นทนายความหรือนักกฎหมายมักใช้ถ้อยคำสละสลวยเพื่อสะกิดความรู้สึกในจิตใจ เป็นผลในทางจิตวิทยาให้คนเกิดความรู้สึก พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีน้ำหนัก 

ฉะนั้น ความรู้สึกที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาล มันอาจเกิดได้ทั้งจากเหตุผลทางกฎหมายที่มีน้ำหนักมากพอ หรือเกิดจากเหตุผลในเชิงอารมณ์ ซึ่งการใช้ภาษาทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้นได้ ผมไม่แน่ใจว่า การใช้ภาษาในกรณีนี้มีวัตถุประสงค์เช่นนั้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ช่วยในเรื่องของเหตุผลทางกฎหมาย

คำพิพากษาจะสมบูรณ์แบบมากขึ้น หากภาษามีความพิศดาร แปลก สละสลวย หรือสร้างภาพจำให้แก่ปุถุชน อีกทั้งเหตุผลในทางกฎหมายยังมีน้ำหนักมากพอที่นักกฎหมายด้วยกันอ่านแล้วรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้เห็นด้วยแต่ยอมรับได้

ที่ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบในคดีของคุณชาญชัยเมื่อตอนต้น ผมอ่านคำพิพากษาแล้วประทับใจมาก น้อยมากที่ศาลฎีกาจะตัดสินคดีทางรัฐธรรมนูญแล้วสามารถอ้างถึงหลักการตีความทางกฎหมายที่เป็นพื้นฐานได้อย่างดีและถูกต้อง ผมไม่แน่ใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินแบบเดียวกันหรือไม่ เพียงแต่ในคดีนั้นได้แสดงให้เห็นถึงหลักการที่ถูกต้อง และต้องการหลักการแบบนี้ในคำวินิจฉัย ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่เจอ

ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกระบวนการกฎหมายไทย

ทุกปีจะมีการสำรวจหลักนิติธรรม Rule of Law Index ออกมา และไทยอยู่ต่ำมากในทุกปี ดัชนีเรื่องความยุติธรรมทางอาญาต่ำที่สุด อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

ตัวเลขสถิติเหล่านั้นบ่งชี้อย่างสำคัญ สิ่งน่ากังวลที่เห็นเป็นรูปธรรมและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยคือ เศรษฐกิจและการลงทุน ประเทศเราเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ถามว่าต่างชาติอยากจะใช้กระบวนการยุติธรรมไทยหรือไม่ หากเขารู้สึกว่ามันแปลก การตัดสินไม่เป็นตามหลักกฎหมายสากล เขาอาจหนีไปใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อขึ้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและรัฐไทยเป็นจำเลย เรามักจะแพ้เสมอ เพราะการใช้อำนาจของเราไม่ค่อยมีคำอธิบายตามหลักกฎหมาย ฉะนั้น มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมไทย หากไม่ปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลกระทบต่อเรื่องของความเชื่อมั่นจากต่างชาติ

อาจารย์มีข้อเสนอทิ้งท้ายอย่างไรกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย

พัฒนาการของระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นไปในทางที่มีธงเรื่องคุณงามความดี การทุจริตคอร์รัปชั่น ต่างๆ และสุดท้ายถูกพิสูจน์แล้วว่า ระบบที่วางไว้โดยมีเป้าหมายแบบนั้นกลายเป็นการเปิดช่องให้ประชาชนถูกด้อยค่าและไม่ได้อะไรเลยในระบบกฎหมายบ้านเรา สิทธิเสรีภาพถูกละเมิด ไม่ได้รับความยุติธรรมตามหลักการที่ควรจะเป็น

ผมอยากจะให้กระบวนการทางกฎหมายกลับไปอยู่ในจุดที่สามัญที่สุด คือ เราปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตทางการเมืองของตัวเอง โดยไม่ต้องมีองค์กรอิสระมากมาย ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 40 การเมืองไทยค่อนข้างจะเละเทะ แต่ถึงจะเละเทะอย่างไร เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องเลือกตั้ง มีกลไกการกดดันต่างๆ จากประชาชน

อยากให้กลับไปสู่สังคมที่เรียบง่ายในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรพึ่งพาองค์กรอิสระมากอย่างที่เป็นอยู่ จนสุดท้ายประชาชนกลายเป็นอะไรไม่รู้ไป และได้แต่มองตาปริบๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save