fbpx

มูดิก (Mudik) : กลับบ้านเกิดวันฮารีรายา ช่วงเวลาที่ถนนทุกสายมุ่งออกจากจาการ์ตา

ไม่มีช่วงเวลาใดของปีที่ชาวอินโดนีเซียจะเดินทางมากเท่ากับช่วงวันฮารีรายาอีดุลฟิตรี (Hari Raya Idulfitri) ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมจากอินโดนีเซียและทั่วโลก โดยหลังจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ ชาวมุสลิมอินโดนีเซียจะเดินทางกลับบ้านเพื่อใช้เวลาเฉลิมฉลองกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน 

วันหยุดอย่างเป็นทางการสำหรับวันฮารีรายาอีดุลฟิตรีในปีนี้คือวันที่ 8-15 เมษายน แต่คนจำนวนมากหยุดก่อนและหลังจากวันหยุดที่รัฐบาลประกาศด้วย เราจึงเห็นภาพการจราจรติดขัดยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ท้องถนนเต็มไปด้วยรถ ตามสถานีขนส่งรถบัสวิ่งระหว่างเมืองเต็มไปด้วยผู้คนต่อคิวซื้อตั๋วและรอขึ้นรถ ขณะที่ในตู้โดยสารรถไฟเต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดเยียด อย่างไรก็ดี แม้จะยากลำบาก ใช้เวลานาน เหนื่อยล้าจากการเดินทาง และหมดเงินไม่น้อย แต่คนจำนวนมากรอคอยเทศกาลนี้อย่างใจจดใจจ่อเพื่อกลับบ้าน

ผลสำรวจของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียพบว่าจะมีผู้เดินทางกลับบ้านในช่วงวันฮารีรายาอีดุลฟิตรีปีนี้ 193.6 ล้านคน คิดเป็น 71.7% ของประชากรอินโดนีเซียที่มีอยู่ราว 270 ล้านคน หรือก็คือ 7 ใน 10 ของคนอินโดนีเซียเดินทางกลับบ้าน เพิ่มขึ้น 45% หากเทียบกับปี 2023 ที่มีคนเดินทางกลับบ้านราว 123.8 ล้านคน 

การเดินทางกลับภูมิลำเนาของชาวอินโดนีเซียในช่วงเวลานี้เรียกว่า ‘มูดิก’ (Mudik) เทศกาลนี้มีความสำคัญถึงขนาดที่กระทรวงสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซียจัดทำ e-book ชื่อ ‘Mudikpedia Lebaran 2024’ ความยาว 66 หน้าเพื่อให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมูดิก 

สถิติจากการสำรวจอื่นๆ ที่น่าสนใจคือสถิติยานพาหนะที่คนนิยมใช้เดินทางกลับบ้านมากที่สุด ได้แก่ รถไฟราว 39.32 ล้านคน รองลงมาคือรถบัส 37.51 ล้านคน รถยนต์ส่วนตัว 35.42 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 31.12 ล้านคน และรถยนต์เช่า 11.64 ล้านคน ขณะที่บริเวณจาการ์ตาและปริมณฑลหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า Jabodetabek (ย่อมาจาก Jakarta Bogor Depok Tangerang และ Bekasi) มีประชากรที่จะกลับบ้านราว 28.4 ล้านคน คิดเป็น 84.27% ของประชากรทั้งหมดใน Jabodetabek ซึ่งจุดหมายปลายทางของการกลับบ้านของคนที่พักอาศัยอยู่ Jabodetabek คือชวากลาง ชวาตะวันออก พื้นที่ Jabodetabek เอง ชวาตะวันตก และยอกยาการ์ตา ตามลำดับ 


‘มูดิก’ คำนี้มีที่มาอย่างไร


มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของคำว่า ‘มูดิก’

ทฤษฎีแรก คำว่ามูดิกมาจากคำในภาษาชวาคือ ‘mulih dilik’ ที่แปลว่า ‘กลับบ้านชั่วครู่’ บางแหล่งข้อมูลก็เขียนว่า ‘mulih dhisik’ ที่แปลว่า ‘กลับก่อน’ ทั้งสองความหมายคือการกลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวหลังจากเดินทางไปแสวงโชคไกลบ้าน

ทฤษฎีที่สอง คำว่ามูดิกมาจากชาวเบอตาวี (Betawi) หมายถึง ‘กลับสู่หมู่บ้าน’ หรือ ‘udik’ ซึ่งในภาษาเบอตาวีคำว่าอูดิก (udik) มีความหมายเท่ากับหมู่บ้าน เมื่อชาวเบอตาวีซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บริเวณจาการ์ตาพบคนชวาต้องการกลับบ้าน คนเบอตาวีก็จะพูดว่า “พวกเขาจะกลับไปอูดิก” แล้วจึงเพี้ยนเป็น มูดิก

ทฤษฎีที่สาม คำว่ามูดิกมาจากคำภาษาอาหรับ ‘al-aud’ ที่แปลว่า ‘กลับ’ บ้างก็ว่ามาจากคำภาษาอาหรับ ‘adhoo’a’ ที่แปลว่า ‘ผู้ให้แสงสว่างหรือกระจ่าง’ ซึ่งหมายถึงผู้ที่กลับบ้านเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่หมู่บ้าน นอกจากนี้คำว่า ‘adhoo’a’ ยังหมายถึง ‘คนที่หายไป’ ซึ่งหมายถึงคนที่จากบ้านไป 

ทฤษฎีที่สี่ คำว่ามูดิกมาจากคำภาษามลายู ‘อูดิก’ (udik) ที่แปลว่า ‘ต้นหรือปลาย’ มีคำพูดในจารีตมลายูว่า ‘ไปที่ต้นน้ำ’ (pergi ke hulu sungai) ซึ่งในสมัยก่อนประเพณี ชาวมลายูที่อาศัยบริเวณต้นน้ำมักเดินทางด้วยเรือไปบริเวณปลายน้ำหรือปากน้ำเพื่อเยี่ยมญาติที่อยู่ห่างไกลหรือไปทำธุระอื่นๆ เมื่อผู้คนเริ่มไปทำงานในเมืองมากขึ้นและกลับบ้านตามวาระสำคัญ คำว่ามูดิกจึงเป็นที่รู้จักและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

แม้คำว่ามูดิกจะมีมานานแล้ว แต่คำนี้เพิ่งเป็นที่แพร่หลายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อนักข่าวไปสัมภาษณ์หญิงในเขตเมืองยอกยาการ์ตาที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ย่านถนนกาลีอูรัง (Kaliurang) ในการสัมภาษณ์พวกเธอใช้คำว่า ‘มูดิก’ เมื่ออธิบายการเดินทางกลับบ้าน ทำให้คำว่ามูดิกถูกใช้อย่างกว้างขวางหลังจากนั้น


วัฒนธรรมมูดิกเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่


นักวิชาการอินโดนีเซียเสนอว่าวัฒนธรรมมูดิกมีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรมัชปาหิต (1293-1527) ซึ่งเป็นฮินดู-พุทธ และรัฐสุลต่านมะตะรัม (1586-1755) ในช่วงเวลานั้นอาณาจักรมัชปาหิตแผ่อิทธิพลไปถึงศรีลังกาและคาบสมุทรมลายู ผู้ปกครองอาณาจักรจึงส่งคนไปประจำตามดินแดนต่างๆ เพื่อดูแลพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจของมัชปาหิต และบรรดาคนที่ถูกส่งไปก็จะมีช่วงเวลาที่กลับศูนย์กลางอาณาจักรเพื่อรายงานต่อราชาหรือเยี่ยมบ้านและครอบครัว ปรากฏการณ์นี้นักวิชาการอินโดนีเซียกล่าวว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมูดิก ซึ่งมีคำว่ามูดิกปรากฏในบันทึกงานเขียนโบราณภาษามลายูด้วย ต่อมาเมื่ออาณาจักรมะตะรัมขึ้นมามีอำนาจก็ส่งคนออกไปดูแลพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจของอาณาจักร ซึ่งคนที่ถูกส่งออกไปก็เดินทางกลับบ้านหรือมูดิกเช่นกัน

นอกจากนี้ บรรดาชาวนาและชาวประมงจากอาณาจักรมัชปาหิตก็ปฏิบัติประเพณีมูดิกเช่นกัน เนื่องจากผู้คนในวัฒนธรรมหมู่เกาะอินโดนีเซียมีวัฒนธรรมเมอรันเตา (merantau) หรือก็คือการออกจากบ้านไปเสาะแสวงหาโชค ณ ดินแดนอื่นเพื่อศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพ ทำให้มีคนจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ชาย เมื่อถึงช่วงเทศกาลวันฮารีรายาอีดุลฟิตรี คนเหล่านี้ก็จะกลับบ้านเพื่อเยี่ยมสมาชิกครอบครัวทั้งที่ยังอยู่และจากไปแล้ว ทั้งนี้ มีผู้เสนอว่าวัฒนธรรมมูดิกอาจมีมาก่อนยุคอาณาจักรมัชปาหิตด้วยซ้ำ เนื่องจากวัฒนธรรมกลับบ้านไปเคารพบรรพบุรุษมีมาตั้งแต่ก่อนยุคมัชปาหิต และเมื่ออาณาจักรในหมู่เกาะอินโดนีเซียเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมมูดิกจึงกระทำกันในช่วงวันปีใหม่อิสลาม 

ขณะที่นักประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเสนอว่าประเพณีมูดิกเกิดขึ้นหลังอินโดนีเซียประกาศเอกราช ช่วงทศวรรษ 1950 มีการเดินทางกลับบ้านของคนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ในช่วงวันฮารีรายาอีดุลฟิตรี โดยเฉพาะในจาการ์ตา 

ในช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราช รัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียเคยย้ายเมืองหลวงหนีการรุกรานของเนเธอร์แลนด์ไปที่เมืองยอกจาการ์ตาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1946 ก่อนประธานาธิบดีซูการ์โนจะย้ายเมืองหลวงกลับมาที่จาการ์ตาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1949 หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ จากนั้นประชากรในจาการ์ตาช่วงทศวรรษ 1950 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากช่วงเวลาก่อนหน้าที่มีราว 800,000 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านคน ผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เศรษฐกิจไม่พัฒนา เข้าไปอยู่ในจาการ์ตาเพื่อหางานทำ ขณะที่จำนวนคนที่เดินทางเข้ามาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาเริ่มคิดถึงบ้านและสะสมเงินได้มากพอที่จะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด วัฒนธรรมมูดิกจึงเริ่มเป็นที่นิยม ซึ่งในช่วงเวลานั้นรัฐบาลอินโดนีเซียรื้อฟื้นทางรถไฟตั้งแต่สมัยอาณานิคมในทุกเมืองเพื่อเป็นพาหนะสำหรับพาคนกลับบ้าน รถไฟเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนั้น แต่ก็ยังมีรถบัสเป็นทางเลือกอีกด้วย 


ยุค 70s การพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่จาการ์ตา


ในหนังสือพิมพ์ Kompas วันที่ 10 ธันวาคม 1969 มีบทความชื่อ ‘ก่อนถึงวันฮารีรายาทุกครั้ง, ประชากรจาการ์ตาลดลงมาก’ (Tiap Mendjelang Hari2 Raya, Penduduk Djakarta Banjak Berkurang) เป็นประจักษ์พยานว่าวัฒนธรรมมูดิกมีแล้วตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 และกลายเป็นสิ่งที่ชาวอินโดนีเซียนิยมปฏิบัติอย่างแพร่หลายช่วงทศวรรษ 1970

เนื่องจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (1966-1998) นำไปสู่กระบวนการพัฒนาเมือง จาการ์ตากลายเป็นเมืองศูนย์กลางทั้งทางด้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในช่วงเวลานั้นจาการ์ตาเป็นเมืองโตเดี่ยวและกลายเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่ดึงดูดคนจากทั่วสารทิศ ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลไปจาการ์ตาเพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าทั้งด้านการศึกษาและด้านการทำงาน พวกเขาเข้าสู่สายงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานราชการ งานบริษัทเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม กรรมกรก่อสร้าง คนถีบสามล้อ ช่าง ค้าขาย และอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้จำนวนผู้ที่เข้าไปหางานทำและอาศัยอยู่ในจาการ์ตามีมากกว่า 80% ของประชากรจาการ์ตาในขณะนั้น

สภาพดังกล่าวสะท้อนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นทำให้คนจำนวนมากต้องจากบ้านเกิดมุ่งสู่จาการ์ตา จาการ์ตากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา ขณะที่วันหยุดยาวมากพอที่จะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดได้คือช่วงวันฮารีรายาอีดุลฟิตรีเท่านั้น ซึ่งจากสภาพภูมิประเทศและการคมนาคมของอินโดนีเซีย การเดินทางกลับบ้านของคนจำนวนมากใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะหากต้องข้ามเกาะจากชวาไปยังเกาะอื่นๆ 

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 การเดินทางกลับบ้านของชาวอินโดนีเซียมีทางเลือกมากขึ้น เริ่มมีการเดินทางด้วยเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม รถไฟก็ยังคงเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง ตามด้วยรถบัส รถยนต์ส่วนตัว และเรือ พื้นที่ที่ห่างไกลที่เคยไปถึงได้อย่างยากลำบากก็เริ่มไปง่ายและสะดวกขึ้น 

วัฒนธรรมมูดิกไม่ได้จำกัดแค่ชาวมุสลิมเท่านั้น ชาวอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสำคัญเช่นกัน เช่น วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ หรือเมื่อมีความจำเป็นทางครอบครัว เป็นต้น แต่เทศกาลที่มีผู้คนเดินทางมากที่สุดก็คือช่วงวันฮารีรายาอีดุลฟิตรีที่ถนนทุกสายมุ่งออกจากจาการ์ตา 


ข้อมูลประกอบการเขียน

Diahwahyuningtyas, Alicia and Nugroho, Rizal Setyo. “Sejarah Mudik, Sudah Ada Sejak Zaman Majapahit, Populer Saat Lebaran.” Kompas.com, 8 April 2024, https://www.kompas.com/tren/read/2024/04/08/203000765/sejarah-mudik-sudah-ada-sejak-zaman-majapahit-populer-saat-lebaran?page=all  

Kominfo. Mudikpedia Lebaran 2024. http://ebook.indonesiabaik.id/books/wprj/#p=10 

Mutiarasari, Kanya Anindita. “Sejarah Mudik di Indonesia: Pengertian Beserta Asal-usul Istilahnya.” Detiknews, 27 March 2023. https://news.detik.com/berita/d-6641081/sejarah-mudik-di-indonesia-pengertian-beserta-asal-usul-istilahnya 

Pamungkas, M. Fazil. “Sejarah Mudik Lebaran.” Historia, 9 May 2021, https://historia.id/kultur/articles/sejarah-mudik-lebaran-PNLMg/page/1 

Savitri, Devita. “Mudik Lebaran 2024 Diproyeksikan Jadi yang Termeriah Sepanjang Sejarah RI.” Detikedu, 8 April 2024. https://www.detik.com/edu/detikpedia/d-7283746/mudik-lebaran-2024-diproyeksikan-jadi-yang-termeriah-sepanjang-sejarah-ri 

Triyunanto, Callan. “Apa Arti Istilah Mudik? Begini Asal Usulnya Menurut Sejarawan.” Detikedu, 3 April 2024, https://www.detik.com/edu/detikpedia/d-7274862/apa-arti-istilah-mudik-begini-asal-usulnya-menurut-sejarawan 

Ucu, Karta Raharja. “Sejarah Mudik, Tradisi Sejak Zaman Pra-Majapahit.” Republika, 8 April 2024, https://republika.id/posts/51890/sejarah-mudik-tradisi-sejak-zaman-pra-majapahit

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save