fbpx

‘เกาหลีอาจไม่ใช่สวรรค์ของแรงงานข้ามชาติ’ สำรวจความทุกข์ร้อนของนักล่าเงินวอนในดินแดนที่รัฐไม่เหลียวแล

หอบความทุกข์ยากมาจากอีสาน

สาธุเด้อหลวงปู่ผ่านให้ด่าน ต.ม. ผ่านได้

มาตามคำเชิญที่เพื่อนชวนมาเป็นคนสวนเป็นคนไร่

เอาเหงื่อมาล่อเส้นชัยเอาแรงจากไทยมาแลกเงินวอน

เนื้อร้องส่วนหนึ่งจากเพลง ขอให้เกาหลีใจดีกับลูก ที่ขับร้องโดย ลูกเต้า-ศักรินทร์ สะท้อนความรู้สึกแรงงานไทยผู้ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไป ‘เสี่ยงดวง’ หาโอกาสในประเทศเกาหลีใต้ โดยมีด่านแรกให้ต้องเสี่ยงคือด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ ต.ม.

ตั้งแต่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประเทศต่างๆ ปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคระบาด ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก นักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากปักหมุดหมายปลายทางการจองเที่ยวบินไปที่สนามบินอินชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แต่หลายคนกลับต้องถูกจับเข้า ‘ห้องดำ’ และจำนวนมากถูกปฏิเสธการเข้าประเทศแม้จะมีเอกสารครบถ้วน เป็นที่มาของการตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการคัดคนเข้าประเทศของเกาหลี

ขณะที่หน่วยงานรัฐของเกาหลีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติก็มีการหยิบยกประเด็นที่แรงงานไทยหลั่งไหลเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีมากขึ้น หรือหากอ้างตามสถิติแล้ว ‘ผีน้อยไทย’ มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลี ทำให้ ต.ม. ต้องเข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรอง ถึงกระนั้นก็มีหลายกรณีที่นักท่องเที่ยวถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เช่น โดนปฏิเสธเพราะไม่รู้ค่ารถไปโรงแรม จนเกิดกระแส #แบนเที่ยวเกาหลี วนมาให้เห็นเรื่อยๆ

ไม่ใช่แค่ความร่ำรวยทางวัตถุและวัฒนธรรมที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนแดนโสมขาวเท่านั้น แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าหลายประเทศในแถบเอเชีย[1] ก็เชื้อเชิญแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนานับล้านคนเข้ามาแสวงหาโอกาสในการทำงาน แต่กว่าประเทศที่เคยย่อยยับจากสงครามจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นประเทศรายได้สูงแบบนี้ได้ ย่อมต้องใช้แรงกายแรงใจของคนจำนวนไม่น้อย ปาฏิหาริย์แม่น้ำฮันอาจสร้างขึ้นจากมันสมองของคนเกาหลี แต่ก็มีหยาดเหงื่อแรงงานจากหลากหลายพื้นที่ของโลกทำให้มันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ได้ และอาจกลายเป็นอนาคตของเกาหลีในวันที่คนเกิดน้อย ประชากรแรงงานถดถอย

จากประเด็นผีน้อยที่ไม่เคยหายไปจากหน้าปัดสื่อไทย 101 ชวนเปิดไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่า ว่าด้วยนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติของเกาหลีใต้ สำรวจความทุกข์ยากของแรงงานในรัฐบาลที่อาจเรียกได้ว่า ‘ขวาจัด’ หาคำตอบว่าแรงงานชาติอื่นประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับแรงงานไทยหรือไม่ และตั้งคำถามกับระบบการนำเข้าแรงงานที่ผลักแรงงานให้อยู่นอกระบบมากขึ้น พร้อมพูดคุยกับสหภาพแรงงานข้ามชาติในเกาหลีถึงเส้นทางการต่อสู้กับรัฐและนายจ้าง

อยากได้แต่ไม่ดูแลเมื่อคนเกิดน้อย แรงงานในประเทศถดถอย แรงงานข้ามชาติจึงเป็นที่ต้องการ (แต่ไม่มีมาตรการคุ้มครองนะ!)

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสถิติของเกาหลีใต้เปิดเผยค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ ในปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 0.72 คนต่อสตรี 1 คน จากเดิมอยู่ที่ 0.78 ในปี 2022 ส่วนสถิติจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงเหลือ 230,000 คน หากเทียบกับตัวเลขเด็กเกิดใหม่ตลอดช่วง 10 ปีนี้ จะพบว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีลดลงมากถึง 47.2%

ปีแล้วปีเล่าที่ข้อมูลทางสถิติเหล่านี้ถูกเผยแพร่ เรามักจะเห็นสื่อนำเสนอโดยมีคำว่า ‘ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์’ พ่วงมาด้วยเสมอ จนเป็นเรื่องที่ไม่ได้น่าแปลกใจนักสำหรับใครหลายคน และแม้วิกฤตเด็กเกิดน้อยจะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก แต่หากเทียบกับชาติอื่นๆ อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ก็รั้งท้ายตารางทุกประเทศในโลกติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็เน้นย้ำว่าเป็นวาระเร่งด่วนทุกปี เนื่องจากส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กระนั้นก็เป็นความเร่งด่วนที่ยังหาทางออกไม่เจอ

นอกจากอัตราการเกิดใหม่จะเป็นจำนวนที่เรียกได้ว่า ‘ไม่เต็มคน’ เกาหลีใต้ยังอยู่บนเส้นทางสู่ ‘สังคมผู้สูงวัยอย่างยิ่งยวด’ (super-aged society) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 สัดส่วนประชากรเกาหลีซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงแตะ 20% ของประชากรทั้งหมด ตัวเลขคนเกิด-คนแก่เหล่านี้เป็นที่น่าวิตกสำหรับรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้มาพร้อมกับวิสัยทัศน์อันทะเยอทะยานในการสร้างเกาหลีให้เป็น ‘Global Pivotal State’ ซึ่งต้องการเพิ่มบทบาทและ ‘บารมี’ ในระดับนานาชาติให้มากกว่าเดิม เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นี้จำเป็นต้องอาศัยอำนาจเศรษฐกิจในการไปสู่จุดหมาย แต่เมื่อกำลังแรงงานที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดน้อยถอยลง จึงกลายเป็นอุปสรรคที่อาจไปไม่ถึงฝัน คงไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในไทย ที่เมื่อแรงงานภายในขาดแคลน หนทางออกจึงเป็นการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ

สถิติโควตาการให้วีซ่าประเภท E-9 ปี 2015-2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในยุคสมัยของประธานาธิบดียุน ซอกยอล | ที่มาภาพ KOWORK

ในปี 2023 เกาหลีใต้มีแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติเกาหลีไหลเวียนอยู่ในภาคการผลิตและบริการอยู่ 923,000 คน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2022 ถึง 10% ในจำนวนนี้มีแรงงานสัญชาติจีนมากที่สุด (35.3 %) ตามมาด้วยสัญชาติเวียดนาม (11.3 %) หากขยายเข้าไปดูตัวเลขเหล่านี้จะพบว่ามีแรงงานทักษะต่ำ (Low-skilled workers) อยู่มากกว่า 300,000 คน ที่เข้ามาทำงานด้วยวีซ่าการทำงานชั่วคราว และมีแรงงานต่างชาติมากถึง 430,000 คน ที่เป็นกลุ่ม Overstay Visa คือพักอาศัยหรือทำงานในเกาหลีเกินระยะเวลาที่กำหนด ในปี 2024 นี้ รัฐบาลเกาหลีเพิ่มโควตาการให้วีซ่าแรงงานข้ามชาติประเภท E-9 (แรงงานทั่วไป) อีก 165,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากสมัยประธานาธิบดีมุน แจอิน สะท้อนว่านับวัน เกาหลีใต้จะยิ่งพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น

จากผลสำรวจกิจการประเภท SME ในเกาหลีใต้ กว่า 500 บริษัท ที่จัดทำโดย Korea Federation of SMEs (KBIZ) พบว่า 50.8% ของผู้ประกอบการระบุว่าการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดและส่งผลต่อการวางแผนธุรกิจในระยะยาว สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานย่ำแย่เป็นพิเศษในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมหนัก ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงถือเป็นความเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้

จอน มยองอู กรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัท SK Oceanplant ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SK Group บริษัทยักษ์ใหญ่หรือ ‘แชโบล’ อันดับสามในเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ ทำให้บริษัทต้องจ้างแรงงานไทยมากขึ้นในงานประเภทการเชื่อมโลหะและการทาสี และบริษัทยังมองหาแรงงานเพิ่มเติมจากจีน เวียดนาม อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน เพื่อปิดช่องโหว่การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตดังกล่าว

หนึ่งเสียงจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นอีกหนึ่งภาพแทนว่างานในตลาดงานเกาหลีที่ต้องการแรงงานข้ามชาติมาเติมเต็ม มักจะเป็นงานที่จัดว่าเสี่ยงอันตราย ต้องอยู่กับสารเคมี และเป็นงานที่เน้นใช้แรงงาน หากคนไทยคุ้นหูคำว่า ‘งาน 3D’ หรือ งานที่เสี่ยง สกปรก และลำบาก (Dangerous–Dirty–Difficult) ซึ่งมักถูกใช้อธิบายลักษะงานที่แรงงานข้ามชาติจากพม่าหรือกัมพูชามักเข้ามาทำในไทย งานที่เกาหลีใต้อ้าแขนรอแรงงานจากไทยและประเทศโลกที่สามอื่นๆ ก็เป็นงานในลักษณะเดียวกันนี้

ท่ามกลางความต้องการแรงงานจำนวนมากและอัตราค่าจ้างในเกาหลีที่ดึงดูดแรงงานจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ให้มุ่งหน้ามาแสวงหาโอกาสที่เกาหลีใต้ นโยบายจากรัฐบาลและมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายกลับยังมีช่องโหว่ ทอดทิ้งให้แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับการถูกกดขี่และละเมิดสิทธิจากนายจ้างในหลายมิติ อีกทั้งอัตราค่าจ้างที่ว่าคุ้มค่ากับหยาดเหงื่อ ในความเป็นจริงแล้วแรงงานข้ามชาติกลับได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย รายงานจากธนาคารแห่งประเทศเกาหลี เผยให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติในเกาหลีได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานสัญชาติเกาหลี 29% [2] โดยมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งที่เกาหลีใต้มีกฎหมายที่กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องถูกบังคับใช้กับแรงงานทุกคน ไม่ว่าจะสัญชาติใดก็ตาม

เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้หารือกับประชุมรัฐมนตรีถึงความเป็นไปได้ของการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ซึ่งมีหนึ่งในข้อผูกพันทางกฎหมายว่ารัฐสมาชิกต้องบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงงานทุกคน การถอนตัวจาก ILO จะเปิดทางให้ภาคธุรกิจในเกาหลีสามารถจ่ายค่าจ้างแก่แรงงานข้ามชาติในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดได้ โดยก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจในเกาหลีมีความพยายาม ‘ล็อบบี้’ ให้รัฐบาลถอนตัวออกจาก ILO อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องการลดต้นทุนในการประกอบกิจการและมองว่าค่าจ้างในปัจจุบันนั้นสูงเกินไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า ‘ไม่อยากจ่ายแพง’ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสนอให้แรงงานข้ามชาติรับค่าตอบแทนในอัตราเดียวกับประเทศต้นทาง ท่าทีดังกล่าวจากรัฐบาล ที่ดูจะสนองข้อเสนอภาคเอกชน ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนว่าเป็นนโยบายเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ การออกจาก ILO อาจส่งผลกระทบต่อความตกลงการค้าเสรีเกาหลี-สหรัฐอเมริกา (KORUS FTA) ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเกาหลี การตัดสินใจถอนตัวจึงอาจวกกลับมาทำให้ภาคการส่งออกของเกาหลีบาดเจ็บได้

แม้ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ยังไม่ได้ตัดสินใจเดินหน้าต่อในประเด็นเกี่ยวกับการถอนตัวจาก ILO แต่ในสายธารประวัติศาสตร์แรงงานเกาหลี แรงงานข้ามชาติถือเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่จะได้รับความสนใจใยดีจากรัฐบาล แม้จะมีความพยายามแก้กฎหมายหรือออกมาตรการใหม่ๆ หวังแก้ปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญ ทั้งการถูกกดค่าจ้าง ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ก็ดูเหมือนว่าการป้อนแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ขาดแคลนจะเป็นความเร่งด่วนลำดับแรก จนดูเหมือนว่าบางครั้งรัฐต้องดำเนินนโยบายที่ย้อนแย้ง เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปต่อได้

‘ระบบ EPS’ เมื่อนายจ้างเป็นใหญ่และรัฐคุ้มครองแบบไม่ครอบคลุม แรงงานจึงออกนอกระบบ

ต้นทศวรรษ 1990 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้กำลังเติบโตอย่างพุ่งทะยาน ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ค่อยๆ รุนแรงยิ่งขึ้น ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจให้สุดขีดความสามารถ รัฐบาลเกาหลีจึงมีนโยบายให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางนำเข้าแรงงานต่างชาติ ภายใต้ระบบการฝึกงานอุตสาหกรรม (Industrial Training System: ITS) การใช้แรงงานที่อยู่ภายใต้คำว่า ‘ฝึกงาน’ ทำให้มาตรการคุ้มครองทางกฎหมายเอื้อมไม่ถึงพวกเขาเหล่านี้ แม้จะต้องลงแรงกายแรงใจไม่ต่างจากพนักงานทั่วไป บางคนต้องทำงานในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย แต่กลับได้ค่าจ้างต่ำกว่า เมื่อการอยู่ในระบบดูจะไม่ตอบโจทย์ในการหารายได้ คลื่นการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติออกไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายจึงเริ่มก่อตัวขึ้น โดยมีการลักลอบไปทำงานที่ให้ค่าจ้างมากกว่า

ท้ายที่สุดเมื่อ ITS ไม่สามารถเติมเต็มแรงงานเข้าสู่ระบบได้ตามที่หวังไว้ ทั้งยังเกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายขยายตัว ในปี 2004 รัฐบาลเกาหลีจึงผุดนโยบายใหม่เพื่อควบคุมสถานการณ์แรงงานผิดกฎหมายและขจัดปัญหาแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้า นั่นคือต้นกำเนิดระบบใบอนุญาตทำงาน (Employment Permit System: EPS) เป็นระบบการส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศต้นทางและเกาหลีใต้ (MOU) โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ถูกเลือกให้สามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานได้ [3]

กว่า 2 ทศวรรษที่ระบบ EPS ถูกนำมาใช้ ดูเหมือนว่าจะยิ่งทำให้การทำงานอย่างผิดกฎหมายขยายตัว และธุรกิจนายหน้าฟูเฟื่องกว่าที่เคยเป็นมา หากหันมามองสถานการณ์แรงงานไทยที่เลือกไปทำงานที่เกาหลี เราจะเห็นข่าว ‘ผีน้อย’ หรือแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีแบบผิดกฎหมายผ่านตาบ่อยครั้ง ข้อมูลทางสถิติจากรัฐบาลเกาหลีแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 ข้อมูลในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาระบุว่าอาจมีคนไทยถึง 157,000 คนอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย (คิดเป็น 36.6% จากทั้งหมด) และหากพิจารณาตัวเลขจากหน่วยงานรัฐไทยและเกาหลีเทียบกัน ก็จะเห็นความไม่สอดคล้องของข้อมูล กระทรวงแรงงานไทยระบุว่ามีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในเกาหลีผ่านระบบ EPS ราว 93,000 คน แต่ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้กลับมีแรงงานไทยแค่ 26,000 คนที่ถือวีซ่าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย เบื้องหลังตัวเลขแรงงานผิดกฎหมายที่มากมายขนาดนี้ อาจเป็นกระจกสะท้อนของปัญหาเชิงระบบในการนำเข้าแรงงาน

รีณา ต๊ะดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำการศึกษาอุปสรรคในการทำงานและการเข้าถึงความช่วยเหลือของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ได้เสนอข้อสรุปว่าด้วยข้อจำกัดของระบบ EPS ไว้ 4 ประการ คือ (1) ความยาวนานของระยะเวลาในการรอกรมการจัดหางานเกาหลี ‘สุ่มโดน’ รายชื่อตัวเอง (2) เกณฑ์อายุที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 39 ปี (3) แรงงานผู้หญิงมีโอกาสถูกเรียกตัวน้อยกว่าแรงงานผู้ชาย และ (4) เงื่อนไขการจ้างงานของฝั่งนายจ้างที่มีหลายขั้นตอนและมีข้อจำกัด ทำให้นายจ้างเลือกใช้แรงงานผิดกฎหมายเพราะไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการ ข้อจำกัดเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแรงงานหลายคนให้เลือกเสี่ยงดวงเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย และตอกย้ำว่าระบบ EPS ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับแรงงานทุกคน

“ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ยุคไหน นโยบายและการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย แต่ในยุคนี้ (รัฐบาลยุน ซอกยอล) ถือว่าดิ่งลงเหว” อุดายา ไร (Udaya Rai) ประธานสหภาพแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ (The Migrants’ Trade Union: MTU) ให้สัมภาษณ์กับ 101 ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ อุดายาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานชาวเนปาลที่เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้นานกว่า 20 ปี เขาและสมาชิกในสหภาพกว่า 700 คน มีบทบาทในการเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนระบบการรับแรงงานข้ามชาติจากระบบ EPS เป็นระบบ WPS (Work Permit System) ซึ่งจะปลดล็อกหลายข้อจำกัดที่ทำให้แรงงานข้ามชาติติดกับดักสภาพการทำงานอันเลวร้าย และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้แรงงานได้ร่วมออกแบบระบบ

อุดายา ไร (Udaya Rai) ประธานสหภาพแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ | ที่มาภาพ MTU – Migrants’ Trade Union

อุดายาเล่าว่าหนึ่งในข้อจำกัดของระบบ EPS ที่บีบคั้นแรงงานข้ามชาติให้จำยอมทำงานในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและไม่สามารถหลุดพ้นจากนายจ้างที่กดขี่ได้คือ ‘เงื่อนไขการเปลี่ยนงาน’ ซึ่งกำหนดไว้ว่าแรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้เพียง 3 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปีตามสัญญาในระบบ EPS ซึ่งการเปลี่ยนงานต้องมีเหตุผลจากการปิดกิจการ การจ่ายเงินเดือนล่าช้า หรือนายจ้างเป็นคนเสนอให้สิ้นสุดสัญญาเท่านั้น และในการเปลี่ยนงานทุกครั้งจะต้องได้รับการยินยอมจากนายจ้าง ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว นายจ้างย่อมไม่ยินยอมปล่อยแรงงานออกจากมือในสภาวะที่แรงงานขาดแคลนเช่นนี้ ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานจะเปลี่ยนงานเพื่อหาที่ที่ลงตัวกว่า

อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างยินยอมให้เปลี่ยนงานก็จะต้องหางานใหม่ให้ได้ภายในระยะ 3 เดือน นอกจากนี้แรงงานยังไม่สามารถเปลี่ยนงานข้ามสายได้ และข้อจำกัดล่าสุดที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมากำหนดไว้ว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถเปลี่ยนงานได้เฉพาะในภูมิภาค โดยให้ยึดภูมิภาคจากสถานที่ทำงานแรก โฆษกกระทรวงแรงงานเกาหลีให้เหตุผลว่าเงื่อนไขนี้มีขึ้นเพื่อไม่ให้แรงงานย้ายเข้ามากระจุกตัวในพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นแล้วอย่างกรุงโซล ในขณะที่พื้นที่ชนบทมีประชากรลดลงและยังต้องการแรงงานเพิ่ม

ด้วยข้อจำกัดที่รัดรึงเช่นนี้ ทางเลือกของแรงงานข้ามชาติที่ตกอยู่ในสภาพการทำงานอันย่ำแย่จึงดูจะมีเพียงสองทาง คือ จำนนต่อโชคชะตาและก้มหน้าทำงานต่อไป หรือออกจากระบบไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ที่แม้จะมีอิสระแต่ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มีหลักประกัน

ไม่ต่างจากคำที่อุดายาบอกเล่า คิม ดัลซอง บาทหลวงผู้ก่อตั้งศูนย์แรงงานข้ามชาติโพชอน ได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ไว้ว่า “ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของระบบ EPS คือการความสัมพันธ์แบบนาย-บ่าว ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างต่างชาติ” ระบบที่ค้ำยันความไม่เท่าเทียมของอำนาจในการต่อรองส่งผลให้แรงงานไร้ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่พักอาศัย การที่ระบบ EPS ไม่มีหน่วยงานจัดหาที่พักให้แรงงาน โดยให้หน้าที่การจัดหาเป็นของนายจ้าง ทำให้แรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายผ่านระบบ EPS ต้องไปเสี่ยงดวงว่าจะได้พักอาศัยในสภาพแวดล้อมแบบใด มีผลสำรวจพบว่าแรงงานในภาคเกษตรกว่า 70% ต้องหลับนอนในตู้คอนเทนเนอร์หรือเรือนกระจกที่มีเพียงแผ่นพลาสติกคลุม ห่างไกลจากคำว่าที่พักอาศัยที่ได้มาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย และการที่ที่พักอาศัยผูกติดอยู่กับการจ้างงาน ทำให้แรงงานที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้างตัดสินใจออกจากงานเดิมได้ยากขึ้น เพราะจะส่งผลให้ขาดที่พักอาศัยระหว่างรองานใหม่

ปี 2021 Nuon Sokkheng แรงงานชาวกัมพูชาในฟาร์มแห่งหนึ่งในโพชอน เสียชีวิตท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบในเรือนกระจกซึ่งทำจากพลาสติกอันเป็นที่พักอาศัยประจำของเธอ ปี 2023 ‘ลุงบุญชู’ แรงงานชาวขอนแก่นวัย 67 ปี ซึ่งเข้าไปทำงานที่ฟาร์มหมูในเมืองโพชอนอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลากว่า 10 ปี ถูกพบเป็นศพอยู่บริเวณเนินเขาหลังฟาร์มหมูที่เขาทำงาน ผลการชันสูตรพลิกศพพบว่าบุญชูน่าจะเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพ ต่อมานายจ้างได้ยอมรับว่าหลังจากพบว่าลูกจ้างของตนเสียชีวิต ก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวความผิดฐานจ้างแรงงานผิดกฎหมาย จึงขนร่างไปทิ้ง จากการเข้าตรวจสอบที่พักของบุญชูโดยหน่วยงานด้านแรงงานของเกาหลี พบว่าเขาพักอาศัยอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยเชื้อราและขยะ มีเพียงไวนิลช่วยบดบังแสงอาทิตย์ สภาพการอยู่อาศัยที่ย่ำแย่เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ข้อมูลจากฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เปิดเผยว่าระหว่างปี 2559 ถึงเดือน ก.ย. 2565 มีแรงงานไทยเสียชีวิตจำนวน 695 คน โดย 86% เป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่าหรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ บัญชา ยืนยงจงเจริญ อัครราชทูต ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ให้ข้อมูลกับ Reuters ไว้ว่าแรงงานไทยผิดกฎหมายจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างหลับ โดยมีสาเหตุจากการทำงานหนักเกินไปและปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตแรงงานผู้ดิ้นรนอยู่บนผืนแผ่นดินที่ไม่ใช่แผ่นดินแม่ และยืนยันคำพูดของอุดายาที่กลั่นจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิกว่า 2 ทศวรรษว่า “รัฐบาลและนายจ้างไม่เคยคิดว่าแรงงานข้ามชาติก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับแรงงานอื่นๆ พวกเขาปฏิบัติกับเราเหมือน ‘แรงงานใช้แล้วทิ้ง’ หลายต่อหลายครั้ง”

คัดง้างกับรัฐบาลด้วยสหภาพที่เข้มแข็ง

ในรัฐบาลปัจจุบันของยุน ซอกยอล การเรียกร้องของสหภาพแรงงานและภาคประชาสังคมที่ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางสิทธิของแรงงานข้ามชาติมีขึ้นอย่างแข็งขัน หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีการประท้วงถี่ขึ้น อุดายากล่าวว่าเริ่มเห็นสัญญาณความแข็งกร้าวของนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ตอนที่ยุน ซอกยอลกล่าวไว้ตอนหาเสียงว่า “จะจัดการอย่างจริงจังกับชาวต่างชาติที่เข้ามาหาประโยชน์และเอาเปรียบคนเกาหลี” ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ยุนหยิบยกมาขยายความว่าคนเกาหลีกำลังถูกเอาเปรียบคือภาระทางการเงินของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเกาหลีที่ต้องรองรับ ‘ชาวต่างชาติ’ และครอบครัวซึ่งเข้ามาทำมาหากินในประเทศ

แม้ในระยะเวลา 2 ปีที่ยุน ซอกยอล ดำรงตำแหน่งผู้นำจะยังไม่มีการออกนโยบายตัดสวัสดิการการรักษาดังที่กล่าวไว้ในช่วงหาเสียง แต่หลายกรณีที่เกิดขึ้นดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นก็พอจะสะท้อนให้เห็นแล้วว่าท่าทีในการเปิดรับชาวต่างชาติในยุคสมัยนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป และผลักไสแรงงานผู้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจของชาติเหล่านี้ร่วงหล่นจากระบบการคุ้มครอง อุดายากล่าวว่าหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการบุกจับกุมแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายขนานใหญ่

“เป็นเรื่องย้อนแย้งเหมือนกันที่รัฐบาลให้โควตาวีซ่ารับแรงงานต่างชาติใหม่เข้ามาเกือบแสนหก แต่ก็เร่งทำยอดจับกุมแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งกลับ ปีที่แล้ว (2023) รัฐบาลบอกว่าจับกุมได้มากถึง 38,000 คน เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ แทนที่จะหาแนวทางเปลี่ยนแรงงานเหล่านี้ให้ถูกกฎหมายแบบยั่งยืน แต่เขาเลือกจะส่งกลับ แล้วก็นำกลุ่มใหม่เข้ามา พอเข้ามาก็เจอปัญหาในระบบและออกไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายอีก ก็ต้องปราบปรามกันต่อไม่จบสิ้น” อุดายากล่าว

ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ข่าวการจับกุมผีน้อยไทยเกือบ 160 คน ในคอนเสิร์ตของนักร้องลูกทุ่ง อาม-ชุติมา โสดาภักดิ์ ซึ่งจัดขึ้นที่อินชอน เกาหลีใต้ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ไทย หลังตัวนักร้องออกมาอัดคลิปขอโทษแฟนเพลงที่โดนจับกุม ไม่กี่เดือนถัดมา สื่อสังคมออนไลน์เกาหลีก็มีการพูดถึงการจับกุมโดยใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเกาหลีที่ใช้แขนล็อกคอและฉุดกระชากแรงงานที่พยายามหลบหนี ชาวเน็ตทั้งในเกาหลีและจากประเทศที่ส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ต่างตั้งคำถามถึงการกระทำของเจ้าหน้ารัฐที่ดูจะเกินกว่าเหตุและไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข่าวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมการปราบปรามแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐที่ภาคประชาชนและสหภาพแรงงานต้องลุกขึ้นมาคัดง้างและขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องของตัวเองบ้าง แต่กลุ่มผู้ประกอบการซึ่งมีความเป็นปฏิปักษ์กับแรงงานข้ามชาติก็เป็นอีกตัวแสดงที่มีความท้าทายในเส้นทางการต่อสู้

ก่อนที่รัฐบาลจะออกเงื่อนไขกำหนดให้แรงงานในระบบ EPS เปลี่ยนงานได้เฉพาะภายในภูมิภาค ผู้ประกอบการ SMEs เกือบ 60% ออกมาเรียกร้องมาตรการอันแข็งกร้าวจากรัฐบาลในการจัดการกับปัญหา ‘แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป’ นายจ้างจำนวนมากสะท้อนว่าเมื่อตนปฏิเสธคำขอสิ้นสุดสัญญาเพื่อเปลี่ยนงานของลูกจ้างต่างชาติ แรงงานเหล่านี้จะประท้วงโดยการทำงานช้าลง ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงเสนอให้รัฐบาลใช้ไม้แข็งอย่างมาตรการส่งกลับ และหากย้อนดูบทบาทของภาคเอกชนเหล่านี้ จะเห็นว่าในหลายครั้งเสียงของนายจ้างก็ดังพอให้รัฐออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ ขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ แม้จะส่งเสียงดังขนาดไหนก็ไม่ถูกได้ยิน

อุดายาจึงเน้นย้ำความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เขากล่าวว่า MTU ก็ก่อตั้งขึ้นโดยแรงงานผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งกฎหมายเกาหลียังไม่รองรับการจัดตั้งสหภาพโดยแรงงานที่ไม่มีเอกสาร แต่สมาชิกก็ต่อสู้และเรียกร้องอย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งปี 2015 ศาลฎีกาตัดสินให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกกฎหมายสามารถเข้าร่วมสหภาพได้ ทำให้กระทรวงแรงงานเกาหลีต้องรับรองการจัดตั้งสหภาพ อุดายากล่าวว่าสมาชิก MTU ส่วนใหญ่เป็นชาวเนปาลและบังกลาเทศ ซึ่งมักจะทำงานอยู่ในภาคก่อสร้างและโรงงาน และยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับสมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลี การขับเคลื่อนเรียกร้องที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อผู้กำหนดนโยบายได้จริง

อย่างไรก็ตาม อุดายากล่าวว่าตนยังไม่เคยเจอแรงงานไทยที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานในเกาหลี ใน MTU เองก็ไม่มีสมาชิกชาวไทยแม้แต่คนเดียว เขาตั้งข้อสังเกตว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร แต่สหภาพที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและเหนียวแน่นมักจะอยู่ในภาคการผลิตและก่อสร้าง อีกทั้งมีแรงงานไทยจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานเกาหลี แต่เขาก็คาดหวังการมีส่วนร่วมจากแรงงานไทยที่จะช่วยสะท้อนปัญหาในมุมที่ต่างออกไป

อุดายาอยากส่งเสียงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยให้ช่วยให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักถึงสิทธิที่แรงงานพึงได้รับเมื่อมาทำงานที่เกาหลี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและการถูกหลอกลวงจากนายหน้า เขาทิ้งท้ายว่า “การเพิ่มขึ้นของแรงงานไม่มีเอกสารไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ระบบนำเข้าแรงงานยังมีข้อบกพร่องที่ทำให้แรงงานเลือกออกนอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป แต่ปัญหาใหญ่คือการที่แรงงานไม่รู้สิทธิตัวเองและไม่รู้ว่าต้องเข้าหาใครเมื่อโดนละเมิดสิทธิ ซึ่งในส่วนนี้สื่อและภาคประชาสังคมช่วยแก้ได้”

ที่ผ่านมาเราเห็นการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างหน่วยงานราชการไทยและเกาหลีถึงการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายและการถูกปฏิเสธเข้าประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่เราก็คาดหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการเปิดวงหารือครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐผู้ส่งออกแรงงานเองก็ควรมีบทบาทขันแข็งมากขึ้นในการปกป้องสวัสดิภาพประชาชนของตนที่ยอมจากลาบ้านเกิดเมืองนอนไปขายแรงงานที่ต่างประเทศ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งประกาศหยุดส่งแรงงานภาคเกษตร ซึ่งอยู่ในประเภทวีซ่าการทำงานตามฤดูกาลไปเกาหลีใต้ชั่วคราว โดยอ้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดในการตัดสินใจของรัฐเพื่อคุ้มครองพลเมืองของตนเอง

สำหรับแรงงานหลายคน แม้จะผ่านประตู ต.ม.มาได้ แต่ก็มีอีกหลายประตูให้ต้องไปลุ้น จะดีกว่าหรือเปล่าถ้ารัฐปลายทางมีระบบการนำเข้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพรองรับ โดยไม่ต้องให้แรงงานเหล่านี้ต้องไปลุ้นเอาดาบหน้าหรือต้องคอยขอพร ‘ให้เกาหลีใจดีกับลูก’ เราได้แต่หวังว่าจะเห็นนโยบายที่มีหัวใจจากรัฐ ปฏิบัติกับพี่น้องแรงงานเยี่ยงเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง มิใช่ปฏิบัติประหนึ่งสิ่งของ ที่เมื่อขาดแคลนก็สั่งเข้ามา เมื่อเขามีปัญหาก็ส่งกลับไป

References
1 อัตราค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีเพิ่งถูกปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ให้เริ่มที่ชั่วโมงละ 9,860 วอน (ประมาณ 260 บาท) หรือหากคิดเป็นเดือนจะอยู่ที่ราว 2 ล้านวอน (ประมาณ 54,000 บาท
2 Kim, H., & Lee, C. (2021). The immigrant wage gap and assimilation in Korea. Social Science Research Network. https://doi.org/10.2139/ssrn.3946099
3 ปัจจุบันมี 16 ประเทศที่เข้าร่วมการส่งแรงงานผ่านระบบ EPS ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา มองโกเลีย จีน กัมพูชา อุซเบกิสถาน ปากีสถาน เนปาล  คีร์กิซสถาน บังกลาเทศ พม่า ติมอร์ตะวันออก และลาว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save