fbpx

เปลี่ยน ‘ผี’ ให้เป็น ‘คน’ : เหตุผลที่คนเลือกเป็น ‘ผีน้อย’ และปัญหาเชิงระบบของการส่งแรงงานไปเกาหลี

“ใดๆ คือเงินล้วนๆ เลยจ้า ที่ทุกคนยอมสู้” นี่คือหนึ่งในคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดียของแรงงานไทยท่านหนึ่งที่เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ด้วยช่องทางที่ไม่ถูกกฎหมาย กล่าวไว้เมื่อถามว่าทำไมถึงตัดสินใจไปทำงานที่เกาหลี

ในช่วงหลายปีหลัง เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คนไทยเดินทางไปมากที่สุดทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวและไปทำงาน ในส่วนของการทำงานมีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เราเรียกแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายกันว่า ‘ผีน้อย’

ข้อมูลสถิติจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้จำนวนกว่า 2.14 ล้านคน เป็นคนไทยจำนวน 195,569 คน (ชาย 91,081 คน หญิง 104,488 คน) แบ่งเป็น ผู้ที่พำนักถูกกฎหมาย 48,129 คน พำนักผิดกฎหมาย 147,440 คน (ชาย 67,711 คน หญิง 79,729 คน) และวีซ่าทำงานหมดอายุ 5,271 คน (ชาย 4,078 คน หญิง 1,193 คน)

ข้อมูลนี้เผยให้เห็นว่าคนไทยที่พำนักผิดกฎหมายนั้นมีสัดส่วนมากกว่า 75% ของคนไทยในเกาหลี และคิดเป็นกว่า 7% ของคนต่างชาติในเกาหลีทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงถึงระบบด้วย

แรงงานไทยไปเกาหลีได้อย่างไร: รู้จักระบบ EPS

ระบบ EPS หรือ Employment Permit System เป็นระบบการส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศต้นทางและเกาหลีใต้ ระบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลเกาหลีพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้าจัดหางาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในราคาที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้

ปัจจุบันมี 16 ประเทศต้นทางเข้าร่วมในการส่งแรงงานผ่านระบบ EPS ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา มองโกเลีย จีน กัมพูชา อุซเบกิสถาน ปากีสถาน เนปาล  คีร์กิซสถาน บังกลาเทศ พม่า ติมอร์ตะวันออก และลาว

แรงงานจากประเทศต้นทางสามารถเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ได้ในกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต งานเกษตรเพาะปลูก งานเกษตรเลี้ยงสัตว์ หรืองานก่อสร้าง โดยแรงงานจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่สำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (Human Resources Development Service of Korea: HRD Korea) เป็นผู้กำหนด เว็บไซต์ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้สมัครไปทำงานที่เกาหลีใต้ตามระบบ EPS จะต้องเป็นชายหรือหญิงอายุ 18-39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม และไม่ใช่บุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือห้ามเดินทางเข้าประเทศเกาหลี

‘ผีน้อย’ คือใคร

คำว่า ‘คนผี’ เป็นคำเรียกทั่วไประหว่างคนไทยกันเองที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ โดยเป็นการระบุสถานะทางกฎหมายของแรงงาน ‘คนผี’ ในที่นี้คือแรงงานที่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีในฐานะนักท่องเที่ยวและลักลอบทำงานนอกระบบ EPS หรือแรงงานผิดกฎหมาย ส่วน ‘คนวี’ หมายถึงคนที่มีวีซ่าทำงาน หรือคนที่เดินทางไปทำงานในเกาหลีผ่านระบบ EPS นั่นเอง

สุริยา สมุทคุปติ์ ได้เขียนบันทึกงานวิจัยจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเทศเกาหลีใต้ว่า ‘คนผี’ ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานต่างชาติอื่นๆ ด้วย เช่น เวียดนาม จีน ที่เดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีในช่องทางที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายของเกาหลีได้

บันทึกของ สุริยา สมุทคุปติ์ ได้บรรยายถึงการดำรงชีวิตของแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีในแต่ละวันว่าต้องเผชิญกับความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับและส่งกลับประเทศ นอกจากนี้ ยังเผยถึงวิธีก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว และความห่างไกลจากครอบครัว เช่น การสร้างชุมชนแรงงานเพื่อทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการสังสรรค์ร่วมกันในเวลาว่าง (Samutkupt S., 2014) สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลี ความเป็นอยู่ การทำงาน และการใช้ชีวิตในชุมชนแรงงานต่างชาติขนาดย่อมๆ ที่ถูกตัดขาดจากสังคมเกาหลีโดยรวม เป็นกลุ่มคนที่ ‘ไม่สามารถถูกมองเห็นได้’ (invisible) จึงเป็น ‘คนผี’ และภายหลังถูกเรียกให้มีความน่ากลัวน้อยลง จึงเรียกว่า ‘ผีน้อย’ ในบางบริบท

‘ผีน้อย’ : กระจกสะท้อนข้อจำกัดของ EPS

ในความเข้าใจของคนทั่วไป ผีน้อยคือคนที่เดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้อย่างไม่ถูกกฎหมาย โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้

ประเภทแรก ผีน้อยที่ ‘เวอร์วี’ มาจากคำว่า Overstay Visa หมายถึงคนที่เดินทางไปเกาหลีแล้วอยู่เกินกำหนดอนุญาตให้ท่องเที่ยว 90 วัน

อีกประเภทคือแรงงานที่ ‘ไปๆ มาๆ’ เดินทางไปเกาหลีในฐานะนักท่องเที่ยวแต่ลักลอบทำงานในเกาหลีและเดินทางกลับก่อนกำหนด 90 วันจะหมดอายุ

แรงงานนอกระบบ EPS หรือ ‘ผีน้อย’ ไม่ได้มีแค่คนที่ไปแบบนักท่องเที่ยว และไปหางานทำที่เกาหลีเท่านั้น แต่ยังมีผีน้อยแบบที่สาม คือแรงงานที่ ‘โดดแทรค’ หรือแรงงานหลุดออกจากระบบ EPS ไปเป็นคนผี รวมถึงคนที่สัญญาหมดอายุแล้วแต่ยังอยากทำงานที่เกาหลีต่อไปด้วย

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2565 ที่จังหวัดอุดรธานี และเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 ในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อประกอบงานวิจัยปริญญาเอกในหัวข้อ ‘เส้นทางการเดินทางผ่านสื่อสังคมของแรงงานข้ามชาติชาวไทยในเกาหลีใต้’ ได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่เกาหลีและเดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของแรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ที่เกาหลี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลี อาทิ โรงเรียนสอนภาษา หน่วยงานภาครัฐของไทยและเกาหลี รวมถึงแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศเกาหลี พบว่ามีข้อจำกัดหลายประการในขั้นตอนการส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้แก่

ประการแรก ระบบ EPS มีขั้นตอนและระยะเวลาที่ต้องรอ แม้จะสอบผ่านก็ไม่ได้การันตีว่าจะถูกเลือกไปทำงาน ด้วยเงื่อนไขการสุ่มรายชื่อแรงงานในอัตรา 1 ต่อ 5 หมายความว่า เมื่อนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงาน 1 คน กรมการจัดหางานเกาหลีจะสุ่มรายชื่อแรงงานส่งให้นายจ้างเลือก 5 คน แปลว่าอีก 4 คนที่ไม่ถูกเลือกจะต้องรอต่อไป บางรายรอจนคะแนนหมดอายุ 2 ปีก็ต้องไปสอบใหม่ และรอใหม่อีกหนจนกว่านายจ้างจะเลือก จะเห็นได้ว่าการสุ่มรายชื่อแรงงานไม่มีระบบที่ชัดเจนและให้อำนาจนายจ้างในการเลือกแรงงาน แรงงานที่สอบผ่านทำได้เพียงแค่รอเท่านั้น ส่วนแรงงานเองไม่สามารถรอเวลาเพื่อเรียนภาษา สอบภาษา และรอเรียกตัวได้ แรงงานนอกกระบบ EPS บางรายระบุว่าอยากไปทำงานที่เกาหลีให้เร็วที่สุดด้วยเหตุผลทางการเงิน โดยใช้เวลาตัดสินใจและวางแผนเดินทางไม่นาน เพียงแค่ต้องการไปทำงานหาเงินให้เร็วที่สุดเพราะมีภาระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายในครอบครัวมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ถูกให้ออกจากงาน หรือกิจการที่ทำอยู่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ขาดรายได้

ประการที่สอง เกณฑ์อายุที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 39 ปี สร้างข้อจำกัดให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ จากการลงพื้นที่พบว่าแรงงานหลายคนเคยไปทำงานประเทศอื่นมาก่อน เป็นแรงงานมีทักษะอยู่แล้ว และอยากไปทำงานที่เกาหลีต่อ แต่มีอายุเกินเกณฑ์จึงสมัครไม่ได้ ทั้งที่ภาคเกษตรของเกาหลี โดยเฉพาะการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ต้องการแรงงานจำนวนมาก และแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทั้งชาวต่างชาติและชาวเกาหลี แต่แรงงานไทยที่อายุเกิน 39 ปี กลับไม่มีโอกาสได้เข้าไป โดยทั่วไปแล้ว แรงงานไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศมาก่อนไม่ต้องการกลับไปทำงานที่ประเทศไทยเนื่องจากเคยรับค่าแรงที่สูงกว่าในต่างประเทศ การรับค่าแรงที่ต่ำกว่าทำให้รู้สึกไม่คุ้มค่าแรง นอกจากนั้นยังเข้าไม่ถึงโอกาสทั้งทางธุรกิจและแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผลหากต้องการลงทุนทำธุรกิจที่ประเทศไทย

ประการที่สาม แรงงานผู้หญิงมีโอกาสถูกเรียกตัวน้อยกว่าแรงงานผู้ชาย เพราะลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานโรงงาน และเกาหลีให้สิทธิเถ้าแก่เป็นคนเลือกแรงงาน งานโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ โรงกลึง โรงปั๊ม จำเป็นต้องยกของหนัก นายจ้างมักจะเลือกแรงงานผู้ชายมากกว่า แม้ว่าโควตาทางที่เกาหลีกำหนดมาจะระบุจำนวนแรงงานชายครึ่งหนึ่ง หญิงครึ่งหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติจริง แรงงานชายมีโอกาสได้รับเลือกมากกว่าแรงงานหญิง

ประการที่สี่ เงื่อนไขการจ้างงานของฝั่งนายจ้างที่มีหลายขั้นตอนและมีข้อจำกัด ทำให้นายจ้างเลือกใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยนายจ้างที่มีความประสงค์จ้างแรงงานต่างชาติต้องดำเนินการตรวจสอบประวัติ สถานที่ทำงาน มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูว่ามีที่พักให้แรงงานที่ได้มาตรฐานหรือไม่ และต้องมีการยืนยันว่ามีการประกาศรับสมัครงานในเกาหลีแล้ว แต่ไม่มีคนเกาหลีมาสมัคร จึงจะสามารถขอจ้างแรงงานต่างชาติได้ นอกจากนี้ยังมีการจำกัดโควตาการจ้างแรงงานต่างชาติของแต่ละโรงงานด้วย แรงงานในระบบ EPS ท่านหนึ่งเล่าว่า “อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่โรงงานหรือผู้ประกอบการเลือกที่จะจ้างแรงงานต่างชาติแบบผิดกฎหมายคือ ข้อจำกัดโควตาจำนวนแรงงานที่จะจ้างในแต่ละสถานประกอบการ ยังคงมีโควตาน้อยมาก เช่น โรงงานหนึ่งต้องการแรงงานต่างชาติ 10 คน แต่มีโควตาในการจ้างแรงงานต่างชาติเพียง 4 คน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้นายจ้างต้องเลือกใช้แรงงานแบบผิดกฎหมาย (ผีน้อย) เข้ามาเสริม”

นอกจากข้อจำกัดในขั้นตอนการสมัครและการจ้างงานแล้ว ระบบ EPS ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขในการเปลี่ยนงานและการช่วยเหลือแรงงานเมื่อแรงงานไทยไปอยู่ที่เกาหลีใต้แล้วอีกด้วย ดังนี้

ประการแรก มีการจำกัดว่าแรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้ 3 ครั้งในช่วงเวลาสัญญา EPS ที่มีระยะ 3 ปี และในการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งจะต้องให้นายจ้างเซ็นยินยอม ซึ่งบางครั้งนายจ้างไม่ยอมเซ็น นอกจากนี้แรงงานจะต้องไปเดินเรื่องเอง และต้องหางานใหม่ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างที่ว่างงาน แรงงานจะไม่มีที่พักเนื่องจากที่พักของแรงงานผูกติดอยู่กับการจ้างงาน และระบบ EPS ไม่มีหน่วยงานที่จัดหาที่พักให้แรงงานในช่วงที่ว่างงาน มีเพียงโบสถ์คริสต์หรือวัดไทยที่เป็นที่พึ่งพิงของแรงงานในช่วงว่างงาน รองานใหม่ ขาดรายได้ และไร้บ้าน “ผมเปลี่ยนงาน 3 ครั้งกว่าจะเจอโรงงานที่ทำอยู่ปัจจุบัน ช่วงที่เปลี่ยนงานก็อาศัยไปอยู่ห้องเพื่อนบ้าง อะไรบ้าง ระหว่างรองานจะมี SMS แจ้งมาว่ามีงานตรงไหน ให้เราไปดูงานเอง คุยกับเถ้าแก่ ตกลงกันเอง ถ้าเป็นงานที่เราไม่สนใจก็ไม่ต้องไปดูก็ได้ แต่ภายใน 3 เดือนต้องหางานใหม่ให้ได้ ไม่งั้นจะหลุดออกจากระบบ EPS” แรงงานในระบบ EPS ท่านเดิมกล่าว

ประการที่สอง แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานข้ามสายงานได้ เช่น แรงงานที่มาทำงานในสัญญางานเกษตรจะไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งงานอุตสาหกรรมจะมีความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ดีกว่างานเกษตร มีค่าล่วงเวลามากกว่า มีงานเยอะกว่า ทำให้มีรายได้มากกว่า แรงงานไทยที่มาเกาหลีส่วนใหญ่มีฝีมือสามารถทำงานภาคอุตสาหกรรมได้สบาย แต่คนที่มาในสัญญางานเกษตรก็จะถูกจำกัดให้อยู่ในงานเกษตรเท่านั้น แรงงานบางคนมีคนรู้จักเยอะ เถ้าแก่ในโรงงานก็ต้องการคนงานด้วย บางคนมีช่องทางก็ตัดสินใจ ‘โดดแทรค’ ไปเป็นคนผีเพื่อรายได้และสภาพเป็นอยู่ที่ดีกว่า

ประการที่สาม แม้จะมีศูนย์ช่วยเหลือแรงงาน แต่แรงงานในระบบ EPS กลับรู้สึกว่าศูนย์ช่วยเหลือไม่ได้ช่วยเหลือเท่าที่ควร แรงงานที่เคยเป็นแรงงานในระบบ EPS และปัจจุบันตัดสินใจออกจากระบบ EPS มาเป็นคนผีท่านหนึ่งเปิดใจว่า ศูนย์ช่วยเหลือไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานมากไปกว่าการช่วยโทรศัพท์คุยกับเถ้าแก่ในกรณีที่เถ้าแก่โกงค่าแรง จ่ายเงินช้า หรือไม่ยอมเซ็นใบย้ายงานให้ แต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้มากกว่าการโทรศัพท์คุยกับเถ้าแก่ได้ สุดท้ายแรงงานรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งพิง ไม่สามารถทำอะไรเถ้าแก่ที่โกงได้ ทางเดียวที่ทำได้คือต้องเอาตัวเองออกมาจากระบบแล้วหางานเองผ่านคนรู้จักหรือเครือข่ายแรงงานไทยในเกาหลี

ประการสุดท้าย แรงงานสามารถต่อสัญญาในระบบ EPS ได้สูงสุด 2 ครั้งเท่านั้น โดยสัญญาละ 4 ปี 10 เดือน หากต้องการต่อสัญญา ต้องทำการสอบภาษาเกาหลีแบบพิเศษ โดยไม่ต้องสอบทักษะการทำงานเพิ่มเติม และต้องมีช่วงเวลาที่ต้องกลับไปพักที่บ้านระหว่างสัญญาเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อครบ 2 สัญญาแล้วจะไม่สามารถต่อสัญญาได้อีก ยกเว้นเปลี่ยนจากวีซ่าเดิมที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (E-9) เป็นแรงงานมีทักษะ (E-7 แรงงานมีทักษะ) ซึ่งจำกัดเฉพาะบางอาชีพเท่านั้น เช่น ช่างเชื่อมในอู่ต่อเรือ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้แรงงานในระบบ EPS ที่ทำงานครบ 1 สัญญาหรือ 2 สัญญาแล้วบางส่วนตัดสินใจ ‘โดดแทรค’ และทำงานในเกาหลีต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย เห็นได้จากสถิติล่าสุดจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่าในเดือนมกราคม 2566 มีจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายโดยวีซ่าทำงานหมดอายุจำนวนถึง 5,271 คน

ทำอย่างไรให้ผีกลายเป็นคน

จะเห็นได้ว่าข้อจำกัดของระบบ EPS มีตั้งแต่ขั้นตอนการจัดส่งและเมื่อแรงงานไทยเดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยต่างทราบดีถึงข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเกาหลีว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากระบบ EPS และเงื่อนไขต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ในการแก้ไขปัญหาที่ระบุมานั้น ผู้เขียนและทีมนักวิจัยจึงมีข้อเสนอให้มีการจัดเวทีพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงตัวแทนแรงงานไทยที่ทำงานในเกาหลีใต้ เพื่อถอดบทเรียนและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

เนื่องจากแรงงานไทยในเกาหลีส่วนใหญ่ระบุว่า เหตุผลหลักที่ต้องไปทำงานที่เกาหลีคือปัจจัยเรื่องเงิน ดังนั้นในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการให้ความรู้ในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน การเข้าถึงตลาดสินค้าในการกระจายสินค้าและผลผลิต ตลาดทุนในการเข้าถึงเงินกู้เพื่อการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศหรือเพื่อการประกอบกิจการส่วนตัวในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล สร้างตลาดแรงงานที่จ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ 

จากที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 โดยการฝังตัวอยู่ในชุมชนแรงงานไทยในเกาหลีใต้ตามพื้นที่ต่างๆ และได้พูดคุยกับแรงงานผิดกฎหมายหลายคน ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า การเลือกเป็น ‘ผีน้อย’ ไม่ใช่เรื่องของการ ‘เอาง่าย’ และไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล หากแต่เป็นปัญหาในเชิงระบบของ EPS เอง ในด้านหนึ่ง ระบบ EPS ไม่สามารถจัดสรรโควตาแรงงานได้เพียงพอกับความต้องการแรงงานในเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้นายจ้างยอมหลับตาข้างหนึ่งจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดทั้งของการเข้าสู่ระบบ EPS และการคงสถานะในระบบ EPS ทำให้แรงงานที่แม้อยากจะอยู่อย่างถูกกฎหมายต้องเลือกไปทำงานแบบผิดกฎหมาย

หากมองเช่นนี้ย่อมเห็นว่า “ผีน้อยไม่ใช่อาชญากร” และเชื่อเถิดว่า “ไม่มีใครอยากอยู่แบบผีหรอก”


อ้างอิง

​​รีนา ต๊ะดี. 2559. แรงงานไทยในเกาหลีใต้: ปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและเกาหลีใต้. ประเทศไทยกับศตวรรษแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติ. 109-122. https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/3.1_Reena_IPSR2016_fulltext.pdf

Smutkupt, Suriya. 2014. “Research Note: Being Khon Phi as a Form of Resistance among Thai Migrant Workers in Korea.” SOJOURN 29(3): pp.721-37.




MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save