fbpx

ซินเดอเรลลา-ทวาทศมาส Like Water for Chocolate (ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา)

ผมรู้จัก Like Water for Chocolate จากการดูหนังเม็กซิกันปี 1992 ที่ดัดแปลงจากนิยายสัญชาติเดียวกัน ชื่อเดียวกัน ผลงานกำกับของอัลฟองโซ อเรา สามีของเลารา เอสกิเวล ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ (เธอรับหน้าที่เขียนบทดัดแปลงหนังเรื่องนี้ด้วย)

จากนั้นไม่นานก็ได้อ่านนิยายฉบับแปลภาษาไทย เมื่อปี 2539 ใช้ชื่อว่า ‘รักซ้อน-ซ่อนรส’ แปลโดยจิตราภรณ์ สำนักพิมพ์ศรีสารา

จำได้แค่ว่าชอบทั้งหนังและนิยาย ซึ่งสนุกบันเทิงและมีความสดแปลกเฉพาะตัว แต่รายละเอียดต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง ล่วงเลยถึงปัจจุบัน ผมส่งคืนกลับไปยังคนทำหนังคนเขียนนิยายหมดสิ้นเกลี้ยงฉาด

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งยังจำได้แม่น คือหลังจากดูหนังและอ่านหนังสือแล้ว ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับแง่คิดแก่นเรื่องดีนัก ว่าตั้งใจนำเสนอสื่อสารแง่มุมใด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีนิยายฉบับแปลไทยสำนวนที่สอง ในชื่อ ‘ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา’ แปลโดยโสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล สำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์ จึงเป็นโอกาสดีที่จะรื้อฟื้นความหลัง รวมทั้งชำระสะสางสิ่งที่ยังคงติดค้างคาใจ

Like Water for Chocolate ฉบับนิยาย พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี 1989 ในพากย์ภาษาสเปน ส่วนฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกปี 1992 หลังจากที่หนังออกฉายแล้ว และประสบความสำเร็จในวงกว้าง

งานเขียนชิ้นนี้เป็นนิยายเรื่องแรกของเลารา เอสกิเวล และเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเธอ ทั้งในแง่ของยอดขายและคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ จนถึงปัจจุบัน Like Water for Chocolate กลายเป็นนิยายคลาสสิกร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว และเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานสำคัญในแวดวงวรรณกรรมละตินอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไรก็ตามที่มีการกล่าวถึงงานเขียนสกุล magical realism หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ โดยนักเขียนสตรี นิยายเรื่องนี้มักจะได้รับหยิบยกมากล่าวถึงเคียงคู่กับ The House of the Spirits ปี 1982 (เรื่องนี้มีแปลเป็นไทยในชื่อ ‘บ้านปรารถนารัก’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2548 โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) ผลงานของอิซาเบล อัลเยนเด และเรื่อง Tear This Heart Out ของอังเฆเลส มาสเตรตตา (เรื่องนี้ยังไม่มีการแปลเป็นไทย) ในฐานะตัวแทนที่โดดเด่นของวรรณกรรมละตินอเมริกันช่วงทศวรรษ 1980

ความน่าสนใจเบื้องต้นของ Like Water for Chocolate อยู่ที่การผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะระหว่างความสนุกบันเทิงของเนื้อเรื่องทำนองชิงรักหักสวาท แบบเดียวกับนิยายรักพาฝันประโลมโลกย์ทั่วไป กับวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ ท่วงทีลีลาแบบ magical realism และการสร้างรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยมากมาย จนกระทั่งทำให้นิยายรักเรื่องนี้ไปไกลและลึกในการนำเสนอเนื้อหาสาระประเด็นต่างๆ อย่างแยบยล

ในการอ่านครั้งล่าสุด ผมพบว่าเนื้อหาของนิยายนั้นถ่ายทอดออกมาค่อนข้างชัดเจน ไม่มีอันใดยากเย็นเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ความไม่เข้าใจของผมที่ผ่านมาในอดีตเป็นเรื่องของการหลงประเด็น มัวสาละวนค้นหาสัญลักษณ์จากฉากเหตุการณ์เหนือจริงทั้งหลายประดามี บวกรวมกับความยำเกรงต่อคำว่า magical realism (ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับผมที่เพิ่งรู้จักศัพท์วรรณกรรมนี้จากนิยายเรื่อง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ สำนวนแรก เมื่อ พ.ศ. 2529) ทำให้เกิดอาการเส้นผมบังภูเขา มองข้ามจุดที่ควรพิจารณา จนท้ายที่สุดก็หลงประเด็นไปไกล

ขณะอ่านครั้งล่าสุด ผมนึกถึงเทพนิยายเรื่องซินเดอเรลลาอยู่บ่อยครั้ง โดยเนื้อเรื่องนั้นไม่เหมือนหรอกนะครับ แต่ตัวละครหลักและสถานการณ์ห้อมล้อมสามารถเทียบเคียงกันได้ ติตา นางเอกของเรื่อง มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนสาวรับใช้ โดนกดขี่ข่มเหงต่างๆ นานา มามา เอเลนา แม่ของเธอ เข้มงวดโหดร้ายไม่ผิดกับแม่เลี้ยงใจยักษ์ใจมาร นาชา แม่ครัวประจำบ้านเหมือนนางฟ้าใจดีที่คอยช่วยเหลือดูแลติตา โรเซาราพี่สาวคนโต เหมือนคู่แข่งแย่งชิงความรัก ส่วนเปโดร พระเอกของเรื่อง ก็เทียบได้กับเจ้าชาย (ต่างตรงที่เรื่องนี้เจ้าชายทั้งอ่อนแอและไม่เอาไหน)

วรรณกรรมอีกเรื่องที่นึกถึงคือ ‘ทวาทศมาส’ โคลงดั้น สิ่งที่พ้องพานตรงกันกับ Like Water for Chocolate คือโครงสร้าง ซึ่งลำดับเหตุการณ์ผ่านระยะเวลา 12 เดือนในรอบปี (ทวาทศมาสแปลว่าสิบสองเดือน)

อันที่จริง มีวรรณคดีไทยอีกเรื่องที่ใช้โครงสร้างเช่นนี้ คือ ‘นิราศเดือน’ ผลงานของนายมีหรือหมื่นพรหมสมพัตร ซึ่งรับอิทธิพลจาก ‘ทวาทศมาส’ มาเต็มๆ

Like Water for Chocolate แบ่งออกเป็น 12 บท เริ่มจากเดือนมกราคม ไปจบลงที่เดือนธันวาคม ทุกบทขึ้นต้นที่สูตรการทำอาหารหนึ่งเมนู ระบุเครื่องปรุงวัตถุดิบ (มีบทหนึ่งที่ยกเว้นต่างออกไป คือเดือนมิถุนายน เป็นสูตรและกรรมวิธีผลิตไม้ขีดไฟ) จากนั้นก็อธิบายขั้นตอนกรรมวิธีในการปรุงอาหารนั้นๆ แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาเรื่องราว ซึ่งเล่าสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันกับอดีต

แม้ว่าลำดับของเรื่องจะไล่เรียงตามเดือนต่างๆ ในรอบปี ทว่าแต่ละเดือนในนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในปีเดียวกัน และครอบคลุมระยะเวลายาวนาน (เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขณะที่ติตาอายุ 15 และจบลงที่วัย 39 ปี)

นิยายไม่ได้ระบุชัดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นปีใด แต่รายละเอียดตามรายทางเกี่ยวกับการปฏิวัติเม็กซิโก (ประมาณปี 1910-1920) ก็ทำให้พอทราบว่าเหตุการณ์ในนิยายครอบคลุมระยะเวลาก่อนและหลังจากนั้น

พล็อตคร่าวๆ เล่าถึงชะตากรรมของติตา ลูกสาวคนสุดท้องในครอบครัว ซึ่งมามา เอเลนา ผู้เป็นแม่มีอำนาจสูงสุด และปกครองลูกๆ อย่างคุมเข้มทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่การใช้ชีวิต การศึกษา การทำงานบ้าน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกทำโทษอย่างรุนแรง

สถานะของติตาย่ำแย่เลวร้ายยิ่งกว่าพี่สาวทั้งสอง คือโรเซาราและเฮร์ทรูดิส โดยประเพณีที่ยึดถือสืบทอดกันมาเนิ่นนานในครอบครัว กำหนดบังคับไว้ว่าลูกสาวคนสุดท้องไม่มีสิทธิแต่งงานหรือมีความรัก ต้องครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิต เพื่อทำหน้าที่ดูแลแม่ (ในยามชราแก่เฒ่า)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปโดร ชายหนุ่มเพื่อนบ้าน ตกหลุมรักติตา (ซึ่งตกหลุมรักฝ่ายชายเช่นกัน) ให้พ่อมาสู่ขอหญิงสาว มามา เอเลนาจึงตอบปฏิเสธ แต่ยื่นข้อเสนอใหม่ ยินยอมอนุญาตให้แต่งงานกับโรเซารา ลูกสาวคนโต

เปโดรตอบตกลงด้วยเหตุผลว่ามันเป็นโอกาสและหนทางเดียวที่เขาจะได้ใกล้ชิดและพบเจอกับติตา

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้น ว่าด้วย ‘รักต้องห้าม’ ของตัวเอกทั้งสอง ซึ่งเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามต่างๆ สารพัดสารพัน ทั้งความถูกต้องทางศีลธรรม เหตุการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับการปฏิวัติ ซึ่งค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนมากขึ้นตามลำดับ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ มามา เอเลนา ซึ่งคอยสอดส่องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทุกชั่วขณะ ด้วยสายตาประสาทสัมผัส สัญชาตญาณอันเฉียบคม และจิตใจที่เหี้ยมเกรียม

ความสนุกบันเทิงชั้นต้นของ Like Water for Chocolate คือการติดตามด้วยความรู้สึกลุ้นเอาใจช่วยว่าความรักของตัวละครจะคลี่คลายลงเอยอย่างไร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผ่านไปราวๆ ครึ่งเรื่อง ก็ปรากฏอีกตัวละครเป็นคุณหมอผู้แสนดี จนเรื่องเข้าลักษณะ ‘รักสามเส้า’ ทำให้ต้องคาดเดาเพิ่มอีกว่าสุดท้ายแล้วติตาจะเลือกใคร)

เฉพาะเพียงแค่พล็อต ‘รักต้องห้าม’ และ ‘รักสามเส้า’ ก็นำเสนอออกมาได้ชวนอ่านชวนติดตามแล้วนะครับ ด้วยจังหวะการเล่าที่กระชับฉับไว เหตุการณ์ต่างๆ รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จากบทหนึ่งสู่บทหนึ่ง เวลาคืบผ่านเป็นแรมปี นี่ยังไม่นับรวมการดำเนินเรื่องตัดสลับเร่งเร้าความสนใจของผู้อ่าน ทั้งจากการปรุงอาหารกับเหตุการณ์ในชีวิต และการเล่าปัจจุบันสลับอดีต ซึ่งเด่นมากในการผูกปมชวนสงสัย แล้วค่อยคลี่คลายเฉลย

ความบันเทิงต่อมา คือการทำอาหารที่ปรากฏในแต่ละบทสอดคล้องกับสถานการณ์ของเรื่องราว อธิบายขยายความอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในใจของติตา พูดอีกแบบคือติตาถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังรู้สึกผ่านการปรุงอาหาร และระบายความรู้สึกที่เก็บงำไว้ลงไปในนั้น จนกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เมื่ออาหารที่เธอปรุงออกฤทธิ์ต่อทุกคนที่ได้กิน

บางครั้งอาหารของติตาดลบันดาลให้คนกินเกิดอาการเศร้าโศกจวนเจียนใจสลาย บางครั้งก็ออกฤทธิ์ปลุกเร้ากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ และอื่นๆ อีกสารพัดสารพัน

ในแง่นี้ ความสนุกนั้นอยู่ที่ว่าแต่ละเดือน แต่ละรายการอาหาร จะแผลงฤทธิ์ไปในทิศทางใด

นี่ยังไม่นับรวม รายละเอียดปลีกย่อยมากมายในแบบอย่างท่วงทำนอง magical realism ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสให้นิยายเรื่องนี้ เพิ่มพูนเสน่ห์น่าอ่านเอามากๆ เช่น

“ประสาทสัมผัสของคุณยายเล็กติตาไวต่อหัวหอม ถึงขั้นที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ใครสับหอม เธอจะร้องไห้ท่าเดียว เป็นอย่างนี่มาตั้งแต่ตอนที่เธอยังอยู่ในท้องคุณยายทวด เสียงสะอื้นของติตาดังมากจนแม้แต่แม่ครัวนาชาซึ่งหูตึงยังได้ยินถนัด ครั้งหนึ่งเธอร้องโยเยอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้หลุดจากท้องคุณยายทวดก่อนถึงกำหนดคลอด”

หรือ “บ่ายวันนั้น เมื่อความโกลาหลคลี่คลาย และน้ำระเหยแห้งเพราะแสงแดด นาชากวาดซากน้ำตาที่ยังหลงค้างบนพื้นหินสีแดงออก และพบว่ามีเกลือมากพอที่จะใส่กระสอบขนาดสิบปอนด์ได้หนึ่งกระสอบเต็มๆ”

มีรายละเอียดเหนือจริงทำนองนี้อยู่มากมายตลอดทั่วทั้งเรื่องนะครับ

Like Water for Chocolate เป็นนิยายที่อ่านสนุกแบบเดียวกับเรื่องรักโรแมนติกตลาดจ๋า ปรุงแต่งอย่างชวนติดตาม ด้วยการกำหนดโครงสร้างที่เป็นระเบียบแบบแผนในทางศิลปะได้อย่างเร่งเร้าความสนใจของผู้อ่าน และยิ่งเข้มข้นจัดจ้านด้วย เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ อย่างเช่นมีวิญญาณมาปรากฏตัว รวมถึงรายละเอียดเหนือจริง ซึ่งหน้าที่เบื้องต้นอย่างเด่นชัดคือ ขับเน้นขยายความอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นนามธรรมของตัวละครให้เด่นชัดและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

มากยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่าการปรุงอาหารในนิยายเรื่องนี้เป็นหนทางหรือวิธีต่อสู้ของติตา ซึ่งตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ไร้อิสระ ไม่มีปากไม่มีเสียง

คู่ต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาของติตา ว่ากันตามเนื้อเรื่องก็คือ มามา เอเลนา หรือถ้าจะพูดอีกแบบคือการขับเคี่ยวระหว่างนางเอกกับตัวร้าย ทว่าลึกไปไกลกว่านั้น นิยายเรื่องนี้ก็สะท้อนชัดว่า ติตาสู้รบปรบมือกับความอยุติธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียม อันโหดร้ายล้าหลัง การถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม

บนเส้นทางยาวนานจากเดือนมกราคมถึงธันวาคม ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี ติตาเริ่มต้นจากลูกสาวที่ถูกกระทำ นิ่งจำนน สยบยอม จากนั้นก็ค่อยๆ เติบโต ต่อต้าน ท้าทาย กระทั่งท้ายสุดก็ต่อสู้ขัดขืนอย่างเปิดเผย

เป็นการต่อสู้จากในครัว พื้นที่ซึ่งเพศหญิงถูกตีกรอบให้อยู่ตรงนั้น เพื่อแสดงบทบาทเป็นผู้รับใช้ เป็นแม่บ้านแม่เรือน (และถ้าหากได้แต่งงาน ก็จะเป็นการทำหน้าที่ศรีภรรยาที่ดี)

รายละเอียดฉากหลังเกี่ยวกับการปฏิวัติเม็กซิโก ซึ่งเล่าแสดงผ่านๆ ไม่บอกที่มาที่ไป ไม่เล่าถึงที่มาสาเหตุ แต่เกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องหลักแค่เพียงหลวมๆ บางๆ ในแง่ว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวละครอย่างไรบ้าง ในอีกมุมหนึ่ง รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิวัติเหล่านี้ก็เป็นภาพเปรียบไกลๆ เชื่อมโยงกับการต่อสู้ของติตา

จุดเชื่อมโยงนั้นปรากฏผ่านตัวละครเฮร์ทรูดิส พี่สาวคนรอง ซึ่งรับประทานอาหารจานหนึ่งของติตาเข้าไป จนเกิดอาการร้อนรุ่มด้วยไฟปรารถนา ต้องรีบรุดไปอาบน้ำ แต่ไอร้อนทั้งจากร่างกายและเพลิงราคะที่ระอุคุกรุ่นในใจ ก็แผดเผาจนห้องน้ำมอดไหม้ และกลิ่นกุหลาบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุง ก็ลอยไกลอบอวลจนชักนำนายทหารหนุ่มคนหนึ่งมาพบเธอ จากนั้นทั้งคู่ก็ขี่ม้าหนีไปด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งหนีจากกองทัพ อีกคนหนึ่งหนีออกจากบ้าน

กล่าวโดยรวม เฮร์ทรูดิสเป็นอีกคนที่ปลดแอกตนเอง หนีออกจากบ้านไปสู่ความเป็นอิสระ และในเวลาต่อมา เธอก็ผ่านการผจญภัยโลดโผนในโลกการสู้รบของผู้ชาย จนกระทั่งสามารถยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง

ขณะเดียวกัน โรเซาราพี่สาวคนโต ก็เป็นตัวละครที่น่าสงสารและไร้สุขมากสุด ในการประพฤติวางตัวเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นตัวละครเดียวที่ติดอยู่ในพันธนาการตลอดชีวิต

ผมพูดอย่างนี้ดีกว่านะครับ ว่า Like Water for Chocolate เป็นนิยายที่สามารถอ่านแบบมุ่งบันเทิงล้วนๆ หลีกหนีจากความจริงไปชั่วขณะ หรือจะอ่านแบบคาดหวังเนื้อหาเชิงลึกก็ได้เช่นกัน นอกจากประเด็นกว้างๆ ที่กล่าวมา งานเขียนชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงแง่มุมอื่นๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก พลังของแรงปรารถนา การเรียนรู้และเติบโตของติตา (ผมชอบแง่มุมนี้มากเป็นพิเศษ ด้วยการเขียนให้ตัวละครเรียนรู้ลองผิดลองถูก คืบหน้าอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างลื่นไหลแนบเนียนมาก) โลกของสตรี (กล่าวคือเป็นนิยายที่ตัวละครฝ่ายหญิงทั้งหมดโดดเด่นและนำเสนอออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ขณะที่บรรดาตัวละครฝ่ายชายนั้น บทบาทเป็นรองอย่างเห็นได้ชัด) ความรุนแรง และอาหาร ฯลฯ

นี่ยังไม่นับรวมถึงการใส่รายละเอียดหลายๆ อย่าง จนสามารถตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ อย่างเช่น ไฟ/ความร้อน, ความเหน็บหนาว (อาการที่เกิดขึ้นกับติตาตลอดชีวิต), การถักผ้าคลุมเตียง, น้ำตา ฯลฯ

รวมความแล้ว Like Water for Chocolate เป็นนิยายที่ดีและอ่านสนุกสมราคาคำร่ำลือ และเป็นอีกตัวอย่างที่เด่นชัดว่าพล็อตเรื่องแบบนิยายน้ำเน่านั้น ถ้าเขียนเล่าโดยฝีมืออันเก่งกาจ มีกลวิธีการเขียนที่สร้างสรรค์ บวกกับประเด็นเนื้อหาในการนำเสนอที่น่าสนใจ ก็สามารถยกระดับอัปเกรด กลายเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยมได้เช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save