fbpx
อุษาคเนย์ยาม ‘ว่างแผ่นดิน’

อุษาคเนย์ยาม ‘ว่างแผ่นดิน’

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

1.เกริ่นนำ

 

หนังสือ ว่างแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ‘กรุงแตก’ ในสามราชอาณาจักร เป็นหนังสือเล่มใหม่ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิโตโยต้า และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมูลนิธิโครงการตำราฯ ได้ชวนผมไปร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ร่วมกับอาจารย์นิธิ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ และอาจารย์พศุตม์ ลาศุขะ ที่หอศิลป์ใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 ผมจึงขอนำบันทึกที่เตรียมสำหรับการเสวนามาเล่าต่อในที่นี้

ผมรับรู้เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกก็เมื่อได้ฟังปาฐากถาของอาจารย์นิธิเรื่องนี้ ครั้งที่อาจารย์ชาญวิทย์จัดงาน ‘250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา – สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 คราวนั้นอาจารย์ลลิตารับหน้าที่มาอ่านปาฐกถาแทนอาจารย์นิธิ ผมนั่งฟังปาฐกถาอย่างตื่นเต้น ขณะที่ฟังอยู่ ผมมีบทสนาเงียบๆ ในใจมากมาย ทั้งอยากแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เรื่องเวียดนามและเรื่องอุษาคเนย์ พร้อมทั้งอยากขอความรู้อาจารย์เพิ่มเติมอีกหลายประเด็น

อย่างไรก็ดี ผมเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่อาจารย์จะพิมพ์ปาฐกถานั้นออกมา จนเมื่อทางมูลนิธิโครงการตำราฯ ชวนเชิญผมมาพูดในงานเปิดตัวหนังสือ ผมตื่นเต้นและรู้สึกเป็นเกียรติมากที่จะได้อ่านหนังสืออย่างละเอียด และจะได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับอาจารย์นิธิ

บทสนทนาที่ผมเตรียมบันทึกไว้ มีอยู่แล้วสองส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน เรื่องหนึ่งว่าด้วยเวียดนาม อีกเรื่องหนึ่งว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แต่ก่อนอื่น ผมขอเล่าเกี่ยวกับหนังสืออย่างย่นย่อก่อน ซึ่งจะเป็นการสรุปที่ตัดตอนมาก เพราะอยากให้ทุกท่านได้อ่านเอง และเพื่อใช้เนื้อที่สำหรับการคิดต่อและแลกเปลี่ยนกันมากกว่าครับ

 

2. สังเขปเนื้อหาหนังสือ

 

หนังสือเล่มนี้เปรียบเทียบการล่มสลายของสาม ‘รัฐราชอาณาจักร’ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คืออยุธยา อังวะ และด่ายเหวียดของเวียดนาม (ในข้อเขียนนี้ผมถ่ายเสียงภาษาเวียดนามแบบที่ผมเรียนมา ซึ่งบางคำอาจต่างกับในงานของอาจารย์นิธิบ้าง บางคำที่คนไทยคุ้นก็อาจจะใช้ชื่อนั้น) สามรัฐราชอาณาจักรนี้พัฒนาขึ้นมาจากการรวบรวม ‘รัฐแว่นแคว้น’ จนครอบคลุมพื้นที่ มีกำลังเข้มแข็ง และมีฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลักษณะพิเศษของรัฐราชอาณาจักรทั้งสามแตกต่างจากกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่อาจารย์นิธิเรียกว่ารัฐแว่นแคว้นอย่างไรนั้น อาจารย์นิธิอธิบายอย่างละเอียดและสลับซับซ้อนผ่านเงื่อนไขต่างๆ

ไล่ไปตั้งแต่ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการเกษตรที่สำคัญ คือการมี ‘ผาลไถ’ (หน้า 10) สอง เทคโนโลยีการทหาร ที่สำคัญคือปืนใหญ่และปืนไฟ (หน้า 13) สาม พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญคือการก่อตัวทางสังคมที่ทั้งสัมพันธ์กับการผลิตทางการเกษตรและการค้าขายทางทะเล สี่ การปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ให้สามารถทั้งเก็บภาษีและระดมกำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห้า การค้าทางทะเล ที่ทำให้ “รัฐแว่นแคว้นที่อยู่ส่วนใน ไม่สามารถเข้าถึงการค้านานาชาติเช่นนี้ได้สะดวกเท่ารัฐราชอาณาจักร” (หน้า 24-25) หก เงื่อนไขทางวัฒนธรรม คือการผนึกตัวทางวัฒนธรรม ที่สำคัญคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีทางสังคม ภาษาและวรรณคดี และชาติพันธ์ุ (หน้า 100)

รวมความแล้ว อาจารย์นิธิสร้างคำอธิบายองค์รวมของการก่อตัวทางสังคม ซึ่งระดับการผลิต การเมืองการปกครอง สังคม และวัฒนธรรม ล้วนเปลี่ยนจากรัฐแว่นแคว้น กลายเป็นรัฐราชอาณาจักร

หากแต่ท้ายที่สุด สามรัฐราชอาณาจักรนี้ก็ถึงแก่การล่มสลายไปในช่วงเวลาเดียวกัน ตามที่รับรู้กันว่า อยุธยาล่มสลายเพราะการโจมตีของอังวะ ด่ายเหวียดล่มสลายจากการโจมตีของกบฏเต็ยเซอน ส่วนอังวะล่มสลายจากการโจมตีของชาวพม่าจากพะโค ดินแดนชาวมอญทางใต้ หากแต่ในงานของอาจารย์นิธิ เหตุของการล่มสลายดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงระดับลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านั้น

อาจารย์นิธิอธิบายย้อนกลับไปถึงเงื่อนไขทางโครงสร้างต่างๆ ที่ทั้งมีส่วนทำให้รัฐราชอาณาจักรทั้งสามพัฒนาขึ้นมา ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้รัฐราชอาณาจักรทั้งสามมีจุดเปราะบาง จนไม่สามารถต้านทานพลังการทำลายตัวเองของโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นมาได้ เช่น ด่ายเหวียดพัฒนาอำนาจเหนือที่ราลลุ่มภาคกลางขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่แล้วเมื่อถึงศตวรรษที่ 17 เกิดการแตกกันภายใน แล้วด่ายเหวียดก็แยกเป็นสองส่วน คือด่างจองม์ (Đàng Trong) ทางใต้ (ใต้จังหวัดแทงหวาลงมาถึงเว้ ฮอยอัน กุยเยอน แล้วก็แยกออกจากด่างหว่าย (Đàng Ngoài) ทางเหนือ (บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง) แล้วก็กลับต้องล่มสลายลงทั้งด่างจองม์และด่างหว่าย ด้วยผลของการขูดรีด ทำให้ทั้งชาวนาเหวียด พ่อค้าจีน และชนหลายชาติพันธ์ุเข้าร่วมกันโค่นขุนศึกเหงวียนในภาคใต้และขุนศึกจิ่งญ์ภาคเหนือ ตลอดจนโค่นราชวงศ์เล ในช่วงเดียวกับที่อยุธยาล่มสลาย แล้วก็ตามมาด้วยการล่มสลายของอังวะ

แล้วรัฐราชอาณาจักรทั้งสามก็จัดการกับการล่มสลายด้วยวิธีใกล้เคียงกัน คือการอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน หรือที่อาจาย์นิธิเรียกว่าช่วง ‘ช่วงว่างขนบ’ หรือ ‘ว่างแผ่นดิน’ นั่นเอง แล้วทั้งสามก็กลับคืนสู่ระเบียบอำนาจแบบรัฐราชอาณาจักรอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยการสลายไปของผู้กอบกู้อำนาจในช่วงว่างขนบ อย่างในสยามที่พระเจ้าตากเข้าครองอำนาจช่วงว่างแผ่นดิน หรืออย่างในด่ายเหวียดและพม่า ที่ผู้นำกบฏอย่างครอบครัวเหงวียน และพญาทะละ ตามลำดับ เข้ามารักษาอำนาจในช่วงว่างขนบ

แต่แล้ว ด้วยเหตุที่เหล่าผู้รักษาอำนาจช่วงว่างขนบไม่สามารถขยายเครือข่ายทางการเมืองของพวกเขาได้ครอบคลุมเท่ารัฐราชอาณาจักรก่อนหน้า เนื่องจากเขาเองและเครือข่ายของเขาเป็นเพียง ‘ชนชั้นนำชายขอบ’ (หน้า 149) อีกทั้งอำนาจบารมีก็ต่ำต้อยกว่า เนื่องจากพวกเขาเป็น ‘คนนอก’ ของขนบอำนาจเก่า (หน้า 176) สุดท้าย คนที่เชื่อมโยงกับระเบียบอำนาจเก่านั่นแหละ ที่กลับมากอบกู้รัฐราชอาณาจักรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

3. ว่าด้วยเรื่องเวียดนาม

 

ระหว่างที่ศึกษาวิชามานุษยวิทยาระดับปริญญาเอก ผมยังได้ศึกษาประวัติศาสตร์หลายวิชา ความที่ผมเลือกทำวิจัยเรื่องเวียดนาม จึงต้องผ่านการฝึกฝนแบบ ‘อาณาบริเวณศึกษา’ คืออ่านทุกอย่างทุกยุคสมัยเกี่ยวกับประเทศและอาณาบริเวณที่จะศึกษาวิจัย ครูทางประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของผมมี 3 คนด้วยกัน หนึ่งคือแคธเทอรีน บาววี่ (Katherine Bowie) ผู้เป็นลูกศิษย์นักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์คนสำคัญคือเบอร์นาร์ด คอห์น (Bernard Cohn) สองคือธงชัย วินิจจะกูล หากไม่นับเรื่องแผนที่และ 6 ตุลาฯ อาจารย์ธงชัยยังเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนสมัยใหม่ สามคืออัลเฟรด แม็คคอย (Alfred McCoy) เป็นผู้เชี่ยวชาญเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเอเชียใต้ ผมจึงอ่านทั้งงานประวัติศาสตร์เวียดนาม ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปพร้อมๆ กัน

ในหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ อาจารย์นิธิไม่ได้เดินตามแนวทางการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์เวียดนามแบบเป็นเส้นตรง ที่มักเล่าว่าเวียดนามเกิดทางเหนือบริเวณลุ่มน้ำแดง แล้วขยายอำนาจลงมาทางใต้ ที่เรียกกันว่า “การเคลื่อนจากเหนือลงใต้” (nam tiến) งานอาจารย์นิธิยิ่งห่างไกลมากจากการเล่าเรื่องโดยไล่เรียงตามราชวงศ์ ที่แม้แต่ประวัติศาสตร์ทางการในยุคคอมมิวนิสต์เองบางครั้งก็ยังเล่าแบบนั้น หรือไม่อย่างนั้น นักประวัติศาสตร์ทางการที่ต้องทำตามแนวทางของพรรคฯ ก็มักเล่าตามโครงเรื่องของพัฒนาการทางสังคมตามขั้นตอนของการเปลี่ยนแบบวิถีการผลิต หากแต่อาจารย์นิธิเล่าต่างออกไป

เรื่องเล่าหลักของประวัติศาสตร์เวียดนามระยะยาว ที่มักกล่าวถึงการปลดปล่อยเวียดนามจากจีน แล้วเวียดนามก็ค่อยๆ เคลื่อนลงมาทางใต้ ราวกับว่าเวียดนามทั้งประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่เหนือจรดใต้นั้น ถูกท้าทายมานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-19 การท้าทายโครงเรื่องที่ครอบงำประวัติศาสตร์เวียดนาม ถูกนำเสนอผ่านงานของคีธ เทย์เลอร์ (Keith Taylor) อเล็กซานเดอร์ วูดไซด์ (Alexander Woodside) และลี ทานา (Li Tana) ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานที่อาจารย์นิธิอาศัยเป็นฐานสำหรับการเขียนหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ ทั้งสิ้น งานศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาเหล่านี้ ล้วนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสร้างฐานอำนาจทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ุ ตลอดจนการก่อตัวทางเศรษฐกิจ ที่ทั้งเหนือและใต้มีส่วนต่อกันและกันทั้งสิ้น

เช่น กองทัพของเลเหล่ย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เลในศตวรรษที่ 16 ผู้ถือเป็นวีรบุรุษของชาวเวียดนามซึ่งยังเป็นที่เล่าขานกันถึงปัจจุบัน เป็นยุคที่ราชอาณาจักรด่ายเหวียดก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับราชอาณาจักรอยุธยา ก่อฐานอำนาจทางการเมืองจากทางใต้ของลุ่มน้ำแดงในจังหวัดแทงหวา ก่อนจะขึ้นไปมีอำนาจเหนือลุ่มน้ำแดง ซ้ำถิ่นฐานของพระองค์ยังอยู่ในดินแดนของชาวเหมื่องและชาวไต ผมเองก็ยังเคยไปเยือนพระราชวังดั้งเดิมของพระองค์ก่อนที่พระองค์ขึ้นไปยึดอำนาจจากผู้ปกครองจีน มีร่องรอยฐานเสาท้องพระโรงให้เห็นอยู่ในจังหวัดแทงหวาในปัจจุบัน ดังนั้น เครือข่ายทางการเมืองของเลเหล่ยย่อมมาจากกลุ่มชาติพันธ์ุมากกว่ากลุ่มเดียว หรือไม่ได้มีแต่เฉพาะชาวเหวียดพื้นราบเท่านั้นอย่างแน่นอน

ในงานของอาจารย์นิธิ เมื่อเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์เลในยุคก่อนสิ้นราชวงศ์ คือในปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีการแยกขั้วอำนาจเป็นสองส่วน ขั้วหนึ่งนำโดยขุนศึกตระกูลจิ่งญ์อยู่ที่ลุ่มน้ำแดง อาศัยฐานอำนาจจากการเกษตรในที่ราบขนาดใหญ่เป็นหลัก กับอีกขั้วหนึ่งนำโดยขุนศึกตระกูลเหงวียน ย้ายลงมาอยู่ใต้แทงหวาลงมาใกล้เว้ อาศัยอำนาจจากการค้าของป่ากับชาวต่างชาติทางทะเล จนทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญคือฮอยอัน ยิ่งเมื่อราชวงศ์เลล่มสลายลงด้วยน้ำมือของกบฏพี่น้องตระกูลเหงวียน ที่ร่วมมือกับชาวนาในภาคใต้ พ่อค้าชาวจีน และชนขาติพันธ์ุต่างๆ ในที่ราบสูงภาคกลางถึงภาคใต้

เรียกได้ว่า เพียงแค่เราพิจารณาประวัติศาสตร์เวียดนามในยุคการก่อตัวของราชวงศ์เลจนถึงการสิ้นสุดของราชวงศ์นี้ ก็จะพบความไม่เป็นเอกภาพ ความไม่ต่อเนื่อง ความพลิกผันของความเป็นเวียดนาม และอิทธิพลของกลุ่มชนต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากชาวเวียดพื้นราบ มากกว่าที่จะกล่าวอย่างง่ายๆ ได้ว่า เวียดนามเป็นเอกภาพของการเคลื่อนจากเหนือลงใต้

หากเดินตามโครงเรื่องแบบนี้ เอาเข้าจริงเราสามารถขยายโครงเรื่องความไม่เป็นเอกภาพชัดเจน และการเป็นส่วนผสมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่สัมพันธ์กันในดินแดน ‘เวียดนาม’ ได้ในหลายๆ พื้นที่และยุคสมัยของประวัติศาสตร์ ที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้พอสมควรในบทความ ‘เวียดนามที่ไม่ใช่มังกรน้อย: อ่านประวัติศาสตร์เวียดนามผ่านพื้นผิวของอดีต’ (ตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2556) ในบทความนั้น ผมตั้งโจทย์ว่า หากจะเขียนประวัติศาสตร์เวียดนามโดยพิจารณาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่จีน ไม่ใช่ขงจื้อแล้ว เราจะเห็นอะไรบ้าง ไล่เรียงมาเท่าที่จะหาหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการต่างๆ ได้

ผลก็คือ ผมพบว่าไม่ว่าจะชี้ไปที่ไหนของประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ยุคการก่อตัวของชุมชนทางการเมืองในลุ่มน้ำแดงในเขตที่สูง ไล่ลงมาจนลุ่มน้ำแดงพื้นราบ ในระยะตั้งแต่ยุคปลายหินใหม่เป็นต้นมา การก่อเกิดรัฐในเวียดนามเหนือเป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไตและออสโตรเอเชียติกกลุ่มต่างๆ ที่มีภาษาเวียดนามเป็นแขนงหนึ่ง

ต่อจากนั้น ในสมัยที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นราชวงศ์ที่ต่อเนื่องยาวนาน คือราชวงศ์เล ซึ่งเป็นยุคที่อาจารย์นิธิสนใจ ก็เกิดการปะทะสังสรรค์กันของคนหลายกลุ่ม อันเนื่องมาจากการขยายการติดต่อลงมาทางใต้ นับตั้งแต่ที่จะต้องมาติดต่อกับชาวจามที่เริ่มเสื่อมอำนาจลงหลังศตวรรษที่ 13 และยังมีชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นจาราย บานา เอเด หรือมนง รวมทั้งชาวขแมร์พื้นราบ และชาวจีนอพยพ ที่มาอยู่ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ผลก็คือทำให้ภาคใต้ของเวียดนามยิ่งมีความหลากหลายและปะปนกันของชนกลุ่มต่างๆ มากยิ่งกว่าในภาคเหนือ

อย่างไรก็ดี ผมอยากจะกล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นคว้าใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์เวียดนามในยุคดังกล่าวโดยนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นใหม่นั้น น่าจะช่วยขยับขยายการทำงานของอาจารย์นิธิออกไปได้อีกมาก หากแต่อาจารย์นิธิยังไม่ได้นำมาพิจารณามากนัก ผมกำลังหมายถึงผลงานของมรกตวงศ์ ภูมิพลับ (วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 32(1), 2556: 87-113) และงานของสุเจน กรรพฤทธิ์ (วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 5(1), 2561: 117-175) ที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนาม ในยุคสมัย ‘ช่องว่างขนบ’ ที่อาจารย์นิธิกล่าวถึงพอดี

สุเจนเน้นศึกษาการขยายอิทธิพลไปยังห่าเตียน ดินแดนใต้สุดของเวียดนามปัจจุบัน ของทั้งพี่น้องตระกูลเหงวียนแห่งเต็ยเชอนและพระเจ้าตาก ส่วนมรกตวงษ์กล่าวถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพรัชกาลที่ 1 ที่ไปช่วยขุนศึกตระกูลเหงวียนกอบกู้อำนาจในเวียดนามจากพวกกบฏเต็ยเชอน ก่อนที่ตระกูลเหงวียนจะยึดอำนาจคืนมาได้จนตั้งราชวงศ์เหงวียน

สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษในงานของมรกตวงศ์และสุเจนก็คือ การใช้หลักฐานชั้นต้นจากเอกสารภาษาเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมุมมองจากฝ่ายเวียดนามให้แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมากยิ่งขึ้น และใช้การศึกษาประวัติศาสตร์ข้ามเขตแดนในจินตนาการแบบรัฐชาติ พิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐในสมัยที่ยังไม่มีพรมแดนอย่างชัดเจน แม้ว่าการรับรู้เหตุการณ์การปะทะกันของอำนาจนำจากสองอาณาจักรดังกล่าว จะไม่ถึงกับกระทบโครงเรื่อง ‘ว่างแผ่นดิน’ ของอาจารย์นิธิแต่อย่างใด หากแต่ก็เพิ่มรายละเอียด และช่วยให้จินตนาการถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงว่างแผ่นดินของทั้งสามรัฐได้มากขึ้น

ในขณะที่งานของอาจารย์นิธิยังคงเน้นที่ช่วงว่างแผ่นดินของแต่ละอาณาจักรเป็นหลัก แต่ทั้งมรกตวงศ์และสุเจนแสดงให้เห็นถึงการซ้อนทับกันของอำนาจจนอาจถึงขั้นปะทะกันด้วย การปะทะกันนี้อาจมีนัยแสดงว่า ในการพยายามรื้อฟื้นระบอบราชอาณาจักรกลับมานั้น อาจเรียกร้องการจัดสรรอำนาจและดินแดนใต้อิทธิพลในบริเวณชายขอบกันเสียใหม่ พร้อมๆ กับการต้องรื้อฟื้นขนบและระเบียบอำนาจในส่วนกลาง นอกจากนี้งานของมรกตวงศ์ยังชี้ให้เห็นการที่สยามเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยกอบกู้อำนาจในเวียดนาม และยังชวนให้คิดว่า การกอบกู้ระเบียบขึ้นมาใหม่ในแต่ละรัฐราชอาณาจักร อาจต้องการเงื่อนไขที่แตกต่างกัน นอกเหนือจาก ‘อาณาบารมีส่วนบุคคล’ ของแต่ละอาณาจักร ดังที่อาจารย์นิธิสรุปทิ้งท้ายหนังสือไว้ (หน้า 175-178)

 

4. ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

แม้ว่าความยอกย้อนของประวัติศาสตร์เวียดนามแบบที่อาจารย์นิธิหยิบมานำเสนอนั้น จะไม่ถึงกับเป็นเรื่องแหวกแนวเมื่อมองจากงานประวัติศาสตร์เวียดนามในโลกวิชาการสากลทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา หากแต่เมื่อมองในภาพที่กว้างกว่านั้น คือประวัติศาสตร์ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ผมคิดว่า หากกล่าวถึงเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 16-18 นี้ ก็กล่าวได้ว่าหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ ได้นำเสนอข้อคิดใหม่ให้แก่การศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงไต้เลยทีเดียว

หากในภาคพื้นสมุทรมีผลงานของแอนโทนี รีด (Anthony Reid) เป็นหลัก ที่ว่าด้วยความสำคัญของการค้า ส่วนภาคพื้นทวีปก็มีเจมส์ สก็อตต์ (James Scott) ที่ว่าด้วยการก่อตัวของสังคมหลากหลายบนที่สูงกับสังคมรัฐบนพื้นราบ ‘ว่างแผ่นดิน’ ของอาจารย์นิธิก็นำเสนอภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคมราชอาณาจักร ที่มักไม่ค่อยมีใครศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะร่วมและลักษณะเด่นของทั้งสามรัฐราชอาณาจักรสำคัญแบบนี้มาก่อน

งานที่ศึกษาการล่มสลายของอาณาจักรทั้งสามเป็นผลงานที่ทำกันมาไม่น้อยแล้ว หากแต่ที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครหยิบเอาผลงานเหล่านั้นมาสังเคราะห์ให้เห็นภาพเปรียบเทียบช่วงประวัติศาสตร์ร่วมกันของการล่มสลายของสามรัฐราชอาณาจักร เรียกได้ว่า ทั้งสามรัฐราชอาณาจักรนั้น ล้วนก่อตัวขึ้นมาในเงื่อนไขเชิงโครงสร้างคล้ายคลึงกัน เช่น ต่างก็อาศัยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน คือทั้งควบคุมที่ราบขนาดใหญ่และควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างดินแดนในทวีปกับเส้นทางทางทะเล ต่างก็อาศัยกลไกเชิงโครงสร้างทางการเมืองคล้ายคลึงกัน คือการควบคุมกำลังคน การบริหารเครือข่ายทางการเมืองผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจพร้อมๆ กับการพยายามรวมศูนย์อำนาจ

ในทางกลับกัน ทั้งสามราชอาณาจักรต่างก็ล่มสลายลงด้วยเงื่อนไขคล้ายๆ กัน คือการไม่สามารถควบคุมอำนาจที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ได้ จนเกิดความขัดแย้งภายในอันเนื่องจากการสั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในส่วนกลางเอง พร้อมๆ กับการถูกท้าทายจากอำนาจภายนอก หรือจาก ‘คนนอก’ ที่อยู่ในระเบียบอำนาจของราชอาณาจักรเอง ข้อสรุปเหล่านี้มีอยู่ในหนังสืออาจารย์นิธิในแบบที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อน

ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ การล่มสลายของราชอาณาจักรทั้งสาม ล้วนมีส่วนสำคัญมาจาก ‘คนนอก’ ไม่ว่าจะเป็นพม่าในกรณีของสยาม ซึ่งการกอบกู้อำนาจส่วนสำคัญก็อยู่ในมือของ ‘ชาวจีน’  ส่วนในด่ายเหวียด การล่มสลายก็เกิดจากน้ำมือของขุนนางท้องถิ่นห่างไกลทางใต้ ชาวนาท้องถิ่นห่างไกลจากทางใต้ ร่วมมือกับพ่อค้าชาวจีนทางใต้ และชนกลุ่มน้อยบนที่สูงในภาคใต้ แตกต่างจากการที่รัฐเวียดนามก่อนหน้าราชวงศ์เลมักมีอำนาจคุกคามสำคัญอยู่ที่ราชสำนักจีนจากทางเหนือของประเทศ มากกว่าที่จะเป็นกลุ่มชนที่รวบรวมกันมาต่อกรกับราชสำนักแบบสมัยกบฏเต็ยเซอน ในขณะที่ในพม่านั้น อังวะถูกท้าทายโดยชาวพม่าจากพะโคที่เป็นเมืองมอญ ถือเป็นคนนอกของราชอาณาจักรเช่นกัน จะเห็นว่าทั้งสามราชอาณาจักรนี้ คนชายขอบมีพลังต่อรองกับรัฐส่วนกลางไม่น้อยทีเดียว

ทั้งหมดนี้ ผมถือว่าอาจารย์นิธิได้ชี้ให้เห็นถึงพลังของอำนาจชายขอบที่มีต่อการก่อตัวของรัฐราชอาณาจักร และมีส่วนสร้างรัฐราชอาณาจักรไม่น้อยกว่าอำนาจส่วนกลาง หากแต่ในภาวะปกติ เราจะไม่เห็นพลังของอำนาจชายขอบ ต่อเมื่อมีการคุกคามหรือขูดรีดอย่างรุนแรงจนเกินภาวะปริ่มน้ำ หรือถ้าเกิดการเสื่อมลงของอำนาจส่วนกลางเมื่อไหร่ อำนาจชายขอบก็พร้อมที่จะท้าทายอำนาจส่วนกลาง พร้อมที่จะสถาปนาระเบียบอำนาจใหม่ขึ้นมา จนอาจมีผลล้มล้างอำนาจส่วนกลางได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักประวัติศาสตร์มักไม่สนใจอำนาจจากชายขอบมากเท่ากับที่อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นความสำคัญ

หากคิดถึงประวัติศาสตร์รัฐราชอาณาจักรในลักษณะที่เป็นการขึ้นลงของอำนาจรวมศูนย์ และอำนาจดึงดันจากชายขอบ หรือกล่าวอีกอย่างคือ เป็นวัฎจักรของการสถาปนาอำนาจราชอาณาจักรขึ้นมา จนขึ้นสู่พัฒนาการอย่างสูง แล้วก็กลับเสื่อมลงมา จนเกิดช่องว่างขนบ แล้วก็กลับมาสู่การสถาปนารัฐราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่ ทั้งในสยาม ได่เหวียด และพม่า เราอาจกล่าวได้ว่า หากไม่เกิดการแทรกแซง หรือจะเรียกว่าการเปลี่ยนระเบียบอำนาจระดับโลกของอาณานิคมตะวันตก เราก็อาจเห็นรัฐราชอาณาจักรทั้งสามมีอันต้องเสื่อมลงอีกครั้ง แต่รัฐทั้งสามจำต้องเกิดการปรับตัวแบบใหม่กับอาณานิคมตะวันตกเสียก่อน เราจึงไม่ทันได้เห็นว่าหลังการฟื้นตัวของรัฐราชอาณาจักรแล้ว จะพัฒนาไปอย่างไรต่อไป

 

5. สรุป

 

โดยสรุปแล้ว ผมอยากแนะนำให้ใครก็ตามที่สนใจประวัติศาสตร์ของทั้งสามประเทศหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน นอกจากประเด็นต่างๆ ที่ผมเอ่ยถึงแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ค้นคว้าเอกสารต่างๆ ก็จะสามารถเข้าใจรายละเอียดที่สลับซับซ้อนยอกย้อนของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรทั้งสามไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี เพราะอาจารย์นิธิเขียนหนังสือผ่านการอ่าน ย่อย แล้วสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ได้อย่างเป็นระบบ ชัดเจน เข้าใจได้ง่าย

ที่ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นในอีกระดับคือ การที่ ‘ว่างแผ่นดิน’ น่าจะเป็นงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศตวรรษที่ 16-18 เล่มเดียว ที่นำเสนอมุมมองใหม่สู่โลกวิชาการสากล ผ่านงานเขียนภาษาไทย ในแง่นี้ผมก็ยังหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม และภาษาพม่าในโอกาสต่อไป

สำหรับนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิว่า ปัจจุบันนี้มีทั้งเอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นสองที่สอดแทรกอยู่ในหนังสือวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ดินแดนต่างๆ มากมาย ที่ล้วนแต่ถูกแปลหรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วทั้งสิ้น ทำให้นักวิชาการปัจจุบันนี้มีโอกาสที่จะค้นคว้าประวัติศาสตร์ข้ามแดน ข้ามพรมแดนภาษา ได้มากขึ้น ดังมี ‘ว่างแผ่นดิน’ เป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ดี ผมก็เข้าใจดีว่า ส่วนหนึ่งของการศึกษาพื้นที่ใดอย่างลึกซึ้ง ก็ยังจำเป็นต้องศึกษาภาษาของดินแดนนั้นอย่างดีด้วย

หนังสือเล่มนี้ของอาจารย์นิธิแสดงให้เห็นว่า การยืนอยู่ที่ใดที่หนึ่งในดินแดนนี้ ช่วยให้เกิดมุมมองที่แตกต่างไปจากนักประวัติศาสตร์สากลได้มากเช่นกัน ในเมื่อใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็อ่านงานศึกษาราชอาณาจักรทั้งสามได้ไม่ต่างจากที่อาจารย์นิธิจะหาอ่านได้ แม้แต่เรื่องพระเจ้าตากเอง แน่นอนว่าอาจารย์นิธิรู้ดีที่สุดคนหนึ่ง แต่ก็มีงานภาษาอังกฤษที่เขียนดีๆ ออกมาให้อาศัยเป็นข้อมูลศึกษาได้เช่นกัน แต่ด้วยความที่อาจารย์นิธิเล็งเห็นความสำคัญของช่วงประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าตาก ที่เป็นภาวะ ‘ว่างแผ่นดิน’ อย่างลึกซึ้ง จึงทำให้อาจารย์เห็นความเชื่อมโยงที่สยามมีร่วมกับด่ายเหวียดและพม่าอย่างเป็นระบบ ในแบบที่นักวิชาการจากภูมิภาคอื่นอาจไม่เห็นชัดก็เป็นได้

ผมจึงเชื่อว่า หากนักประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ลุกขึ้นมาศึกษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างเปรียบเทียบเชื่อมโยงกันแบบหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ กันมากขึ้น จนเกิดสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า ‘เพื่อนบ้านศึกษา’ ขึ้นมาแทนที่ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา’ ก็จะทำให้งานวิชาการเกี่ยวกับดินแดนนี้มีมุมมองใหม่ๆ จากคนในพื้นที่นี้เองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save