จุดจบของคนกลั่นแกล้งครูบาศรีวิชัย

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย พระภิกษุผู้นำมวลชนที่ชาวล้านนาให้ความเคารพอย่างสูงจนขนานนามว่า ‘นักบุญแห่งล้านนา’ นั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายสงฆ์ (ซึ่งยืนอยู่ข้างฝ่ายบ้านเมือง) จนเป็นเหตุให้ท่านต้องถูกกลั่นแกล้งหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านถูกใส่ความด้วยข้อหาร้ายแรงหรือที่เรียกว่า ‘ต้องอธิกรณ์’ ถึงหกครั้ง และถูกควบคุมตัวจากล้านนาลงไปคุมขังที่กรุงเทพฯ ถึงสองครั้ง

ในที่นี้จะกล่าวถึงเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งใส่ความครูบาเจ้าศรีวิชัยดังกล่าวพออ่านสนุกสัก 2-3 เรื่องดังต่อไปนี้

ครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปาง แขวงเมืองลี้ จังหวัดลำพูน เป็นภิกษุนักพัฒนาที่มีผลงานโดดเด่นด้านการช่วยเหลือชาวบ้านและการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนวัตถุที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งตามคติจารีตแล้วเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองในยุคนั้นไม่อาจช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ทั้งยังไม่อาจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาล้านนา แต่กลับพยายามนำพระพุทธศาสนาแบบกรุงเทพฯ ขึ้นมาเผยแผ่แทนที่พระพุทธศาสนาล้านนาดั้งเดิม ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่ไม่อาจพึ่งพาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้

ด้วยเหตุนี้ ชื่อเสียง บารมี และความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อของครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเป็นที่เลื่องลือและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเป็นที่ร่ำลือกันในหมู่ชาวบ้านว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็น ‘ผู้มีบุญ’ มาเกิดบ้าง ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ บ้าง กระทั่งลือกันว่าพระอินทร์ได้นำ ‘มีดสรีกัญไชย’ อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์ล้านนามาถวายครูบาเจ้าศรีวิชัยบ้าง ทำนองว่าจะให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้นำของล้านนา (ซึ่งเพิ่งถูกสยามยึดครองและผนวกอย่างสมบูรณ์)

บารมีอันยิ่งใหญ่ของครูบาเจ้าศรีวิชัยดังกล่าวสร้างความระแวงแคลงใจต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและพระสังฆาธิการที่รัฐสยามแต่งตั้งเป็นอย่างมาก ใน พ.ศ.2462 พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน จึงได้มีหนังสือสั่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากเขตจังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน แต่เมื่อครูบาเจ้าท้วงถามว่าตนได้กระทำผิดพระวินัยข้อใดนั้น ฝ่ายเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนจึงเลิกราไป

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา ฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามนำตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากพื้นที่ลำพูนอีกครั้ง โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน นิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยจากเมืองลี้เข้ามาในตัวเมืองลำพูน ปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาพร้อมกับชาวบ้านและศรัทธาญาติโยมกว่า 500 คน (เรียกได้ว่าเป็นม็อบย่อมๆ) ในครั้งนั้น เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาโดยเท้าลอยไม่ติดดิน อีกทั้งฝนตกตัวก็ไม่เปียก จำนวนผู้ร่วมขบวนส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยและเสียงร่ำลือที่เกิดขึ้นตอกย้ำความกลัวเรื่อง ‘ผู้มีบุญ’ ที่ทางการมีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ทางบ้านเมืองซึ่งคงจะตกใจอยู่ไม่น้อย จึงได้คุมขังครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

แต่การคุมขังดังกล่าวส่งผลให้มีศรัทธาญาติโยมชาวลำพูนมารวมตัวที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นจำนวนมาก หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร (คนเดียวกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชที่ก่อกบฏบวรเดช) อุปราชมณฑลพายัพในขณะนั้น จึงได้สั่งให้ย้ายตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยจากลำพูนมาคุมขังที่วัดป่ากล้วย (วัดศรีดอนไชยในปัจจุบัน) เมืองเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของพระครูสุคันธศีล (สีโหม้ สุคันฺโธ) ผู้ซึ่งจะได้เป็นพระโพธิรังสี เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ในเวลาต่อมา


ครูบาเจ้าศรีวิชัยขณะถูกกักตัวที่วัดศรีดอนไชย


ที่วัดศรีดอนไชยนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกักตัวไว้ในศาลาบาตร (โรงเก็บของ) เล็กๆ ถูกแสงแดดร้อนๆ สาดส่องตลอด มีเพียงเชือกมะนิลาผูกล้อมไว้เป็นคอกสี่เหลี่ยมเล็กๆ และให้ตำรวจหลายนายยืนยามเฝ้า เป็นสภาพน่าสลดหดหู่แก่สาธุชนที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียน กระนั้น การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมิได้แสดงอาการหวั่นไหว ยังรักษาความสำรวมตามสมณสารูป และมีความมุ่งมั่นต่อสู้กับ ‘มาร’ ที่เข้ามาผจญในครั้งนั้น ก็ส่งผลให้มวลชนศรัทธาชาวล้านนาให้การยอมรับตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย และส่งผลให้ชื่อเสียงบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยขจรขจายยิ่งขึ้นไปอีก

มีเกร็ดประวัติมุขปาฐะอยู่ว่าในขณะที่ถูกคุมขังครั้งนั้น พระครูสุคันธศีลได้นำภัตตาหารมาถวายครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาเจ้าศรีวิชัยเห็นว่าภัตตาหารเป็นของคาว ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ถือเป็นของมีวิญญาณ จึงปฏิเสธไม่ฉันภัตตาหารนั้นโดยให้เหตุผลว่าตัวครูบาเจ้าถือศีลฉันมังสวิรัติและไม่ฉันอาหารที่ปรุงรสเป็นของคาว พระครูสุคันธศีลได้ยินก็ไม่พอใจ จึงตำหนิครูบาเจ้าศรีวิชัยว่าเป็นภิกษุเลือกฉัน เลี้ยงยาก ทั้งได้เอาไม้เท้าเคาะศีรษะครูบาเจ้าศรีวิชัยไปเสียทีหนึ่ง

ปรากฏว่าหลายปีต่อมา ในช่วงบั้นปลายนั้น ขณะที่พระครูสุคันธศีล ซึ่งได้เป็นพระโพธิรังสีแล้วกำลังเดินออกจากวิหารหลังสวดมนต์ไหว้พระ กลับเกิดอุบัติเหตุช่อฟ้าวิหารหักตกใส่ศีรษะ มรณภาพทันที

ต่อมาหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและพระสังฆาธิการเมืองเชียงใหม่สอบสวนครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว เห็นว่าไม่อาจเกลี้ยกล่อมให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยอ่อนน้อมต่อฝ่ายตนได้ ครั้นจะตั้งข้อหาแล้วเอาผิดครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ติดคุกติดตาราง ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้ทั้งหมด อุปราชมณฑลพายัพ พร้อมด้วยเจ้าคณะมณฑลพายัพ จึงตัดสินใจส่งตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยลงไป ‘ชำระอธิกรณ์’ ที่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งข้อหาไว้ถึง 8 ข้อ ได้แก่ ตั้งตัวเป็นอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่อยู่ในบังคับบัญชาเจ้าคณะแขวงเมืองลี้ ไม่ยอมไปประชุมคณะสงฆ์ตามที่เจ้าคณะแขวงเมืองลี้เรียก ไม่ยอมตีฆ้องกลองเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประพฤติตนแข็งขืนไม่ฟังคำตักเตือนเจ้าคณะแขวงเมืองลี้ ไม่ยอมสำรวจสำมะโนครัว เป็นแกนนำพาวัดอื่นๆ กระด้างกระเดื่อง และตั้งตนเป็นผู้มีบุญ โดยรวมๆ คือ หม่อมเจ้าบวรเดชส่งตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยลงกรุงเทพฯ ในข้อหา ‘กบฏ’ หรือ ‘กระด้างกระเดื่อง’ นั่นเอง

เป็นอันว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปคุมขังที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร โดยให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พร้อมทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้สอบสวนครูบาเจ้าศรีวิชัย ผลการสอบสวนครั้งนั้นปรากฏว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่มีความผิด เพราะข้อกล่าวหาข้อที่ 1-7 นั้น ครูบาเจ้าได้ยอมรับความผิดไปในการโดนกล่าวหาครั้งก่อน และถูกจับกุมคุมขังไปแล้ว จึงถือเป็นการกล่าวหาซ้ำ ส่วนข้อกล่าวหาสุดท้ายที่ว่าเป็นผู้มีบุญนั้น เป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างของชาวบ้าน จึงให้ปล่อยตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับล้านนา โดยสมเด็จพระมหาสมรเจ้าฯ ได้ประทานเครื่องอัฏฐบริขารและเงิน 90 บาทเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางกลับ ทั้งสองสิ่งนี้ ปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยนำไปทำบุญถวายพระแก้วมรกตและพระปฐมเจดีย์ทั้งสิ้น ไม่ได้นำติดตัวกลับล้านนาแต่อย่างใด

ส่วนหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ผู้ส่งตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยลงกรุงเทพฯ ในข้อหากบฏนั้น ใน พ.ศ.2472 ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 กล่าวกันว่าในคราวแรกเริ่มนั้น พระองค์เจ้าบวรเดชสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะหวังว่าตนซึ่งเป็นเจ้านายปลายแถวจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อผิดหวังจากตำแหน่งดังกล่าวจึงคิดการก่อกบฏบวรเดชขึ้นใน พ.ศ.2476 แต่ไม่สำเร็จ จึงต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศเวียดนามนานถึง 16 ปี ก่อนจะกลับเข้าประเทศได้อีกครั้ง และสิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ.2496

อีกเรื่องที่จะกล่าวถึง คือกรณีการต้องอธิกรณ์ครั้งสุดท้ายของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ และกำลังนำมวลชนก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพอันเป็นที่เลื่องลือมาจนปัจจุบัน ในครั้งนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และหลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอุปัชฌาย์จัดการอุปสมบทให้ ‘หนานปี๋’ หรือครูบาอภิชัยขาวปี ศิษย์เอกและมือขวาของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ถูกจับสึกเพราะภัยการเมืองมาแล้วหลายครั้งจนต้องห่มผ้าขาวแทนผ้าเหลือง ให้ได้ห่มผ้าเหลืองเต็มตัว ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ยินดังนี้ก็ลังเลอยู่ เพราะเกรงว่าจะทำให้มีปัญหากับทางบ้านเมืองซึ่งกำลังเพ่งเล็งอยู่แล้ว แต่เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐกับหลวงศรีประกาศให้คำรับรองว่าหากเกิดอะไรขึ้นจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงอุปสมบทให้หนานปี๋ได้เป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์


ครูบาอภิชัยขาวปี


ผลปรากฏว่าหลังจากนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกทางบ้านเมืองจับกุมตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อ ‘ชำระอธิกรณ์’ อีกครั้ง ครั้งนี้ถูกควบคุมตัวไว้นานถึงปีเศษ นับเป็นการถูกควบคุมตัวที่นานที่สุด หนึ่งในข้อหาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกล่าวหาคือ ‘เป็นอุปัชฌาย์เถื่อน’ อุปสมบทให้หนานปี๋โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกล่าวหาว่าหนานปี๋นั้นเคยตัดไม้ในป่าไปสร้างวิหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ถือเป็นทุติยปาราชิก เพราะลักทรัพย์หลวง เป็นผู้ที่ไม่สามารถบวชได้ตามคำประกาศของคณะสงฆ์

ระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไปในกรุงเทพฯ นั้น คณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่ก็ทยอยปราบปรามขบวนการสหธรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย มีการจับกุมเจ้าอาวาสวัดที่เป็นสหธรรมกับครูบาเจ้าศรีวิชัยกว่า 60 วัด รวมถึงพระเณรที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบรรพชาอุปสมบทให้ ในครั้งนั้นมีพระเณรถูกจับสึกไปรับ 2,000 รูป นับเป็นการสึกพระเณรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ล้านนา

ส่วนที่วัดพระสิงห์ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยครองอยู่ในฐานะเจ้าอาวาสนั้น ครูบาเจ้าได้ทิ้งไว้ให้ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้ดูแลแต่เพียงลำพัง ทางคณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่จึงสบโอกาสสึกครูบาอภิชัยขาวปีเสีย โดยให้พระมหาสุดใจ วัดเกตุการาม และพระครูวัดพันอ้นอีกรูปไปหว่านล้อมกดดันครูบาอภิชัยขาวปีว่า ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมไปเพราะได้อุปสมบทให้ครูบาอภิชัยขาวปี เป็นข้อหาร้ายแรงถึงขั้นจะจับครูบาเจ้าศรีวิชัยติดคุกติดตารางได้ จึงขอให้ครูบาอภิชัยขาวปีลาสิกขาออกมาก่อน จะได้ผ่อนโทษของครูบาเจ้าศรีวิชัยจากหนักให้เป็นเบา ครูบาอภิชัยขาวปีได้ยินดังนั้นจึงยอมสละผ้าเหลืองมานุ่งผ้าขาวเป็นครั้งที่สาม และตั้งปฏิญาณจะถือศีลตามปาฏิโมกข์ แต่ไม่กลับไปห่มผ้าเหลืองอีกตลอดชีวิต

หลายปีจากนั้น พระมหาสุดใจได้เป็นพระครูปริยัติยานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในช่วงบั้นปลายชีวิต กล่าวกันว่าท่านล้มป่วยหนัก เกิดฝีหนองปะทุขึ้นตามผิวหนังทั่วร่างจนไม่สามารถนุ่งห่มจีวรได้ ต้องถอดจีวรออกจนถึงแก่มรณภาพ

เกร็ดประวัติสามเรื่องนี้ ผู้เขียนมุ่งหมายเล่าให้ฟังเอาสนุกเท่านั้น สรุปว่าคนที่เอาไม้เคาะศีรษะครูบาเจ้าศรีวิชัย ถึงแก่ชีวิตเพราะถูกไม้ช่อฟ้าตกใส่ศีรษะ คนที่พรากครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากล้านนาโดยกล่าวหาว่าเป็นกบฏ สุดท้ายตัวเองก็เป็นกบฏและต้องพรากบ้านเกิดเมืองนอนไป ส่วนคนที่ยุแยงศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ถอดผ้าเหลืองออกนั้น ก็ไม่สามารถห่มผ้าเหลืองในวาระสุดท้ายได้

จะเป็นเพราะบังเอิญ ตัวทำ หรือกรรมบันดาลนั้นก็สุดแท้แต่จะคิด ผู้เขียนขอเล่าไว้ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาความเป็นไปของโลกต่อไป


บรรณานุกรม

สมาคมชาวลำพูน, ครูบาเจ้าศรีวิชัย: สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ: พี.พี.เค. การพิมพ์, 2561.

เพ็ญสุภา สุคตะ, “หม่อมเจ้าบวรเดชกับการย้ายคดีอธิกรณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยจากลำพูนสู่เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (จบ)” มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_44355

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save