fbpx

บ้าน เมือง เวียง เชียง แช่ : ความหมายของชื่อชุมชนในล้านนา

ชื่อเรียกของชุมชนต่างๆ ในล้านนาหลายชุมชนประกอบด้วยคำเก่าซึ่งมีความหมายแตกต่างหรือไม่ใช้แล้วในภาษาไทยสยามปัจจุบัน ผู้ที่เคยชินแต่กับภาษาไทยสยามปัจจุบันจึงอาจไม่สามารถทำความเข้าใจความหมายของชื่อชุมชน รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนที่แฝงมากับชื่อของชุมชนนั้นๆ ด้วย

ในบทความนี้จึงขอเสนอเกร็ดความรู้เรื่องความหมายของคำที่มักใช้ตั้งชื่อชุมชนในล้านนา ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องกับการปกครองและโครงสร้างชุมชน ได้แก่คำว่า บ้าน เมือง เวียง เชียง และ แช่

บ้าน หมายถึง ‘หมู่บ้าน’ หรือกลุ่มของผู้คนหลายหลังคาเรือนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เป็นหน่วยการปกครองระดับพื้นฐาน ผู้ปกครองบ้านมีตำแหน่งเรียกว่า ‘แก่บ้าน’ ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ‘พ่อ/แม่หลวง’ หรือผู้ใหญ่บ้าน นัยเดิมของชื่อตำแหน่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในอดีต คนไทนิยมเลือกผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสขึ้นเป็นผู้นำของชุมชนระดับหมู่บ้าน

บางครั้ง ‘บ้าน’ บางแห่งขยายตัวใหญ่โตจนไปมาหาสู่ไม่ทั่วถึง ก็อาจแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองหน่วย มักตั้งชื่อง่ายๆ โดยใช้ทิศทางเป็นหลัก เช่น บ้านเหนือ บ้านใต้ ฯลฯ หากชุมชนที่แยกตัวออกไปมีขนาดเล็กกว่าชุมชนเดิม ชุมชนนั้นมักมีชื่อเรียกว่า ‘ป๊อก’ ‘พ็อก’ หรือ ‘จ๊อก’ (ช็อก) เป็นต้น

โดยทั่วไป ชุมชนประเภท ‘บ้าน’ มักตั้งอยู่ตามชนบท เป็นพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยของผู้ทำเกษตรกรรม รอบๆ บริเวณที่ตั้งของ ‘บ้าน’ จึงมักมี ‘นา’ หรือทุ่งนาสำหรับเพาะปลูกที่กำหนดบริเวณไว้เฉพาะเจาะจงรายล้อมด้วย นาเหล่านี้ก็มักมีชื่อเป็นของตนด้วยเช่นกัน บางครั้ง ชื่อของนาอาจตั้งตามชื่อของบ้าน หรือชื่อของบ้านอาจตั้งตามชื่อของนาก็ได้

ยังมีคำอธิบายอีกสำนวนหนึ่งว่า ‘นา’ คือเส้นฎีกา หมายถึงชุมชนขนาดเล็กที่ประกอบด้วยคนห้าหลังคาเรือนและที่นาที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกโดยคนเหล่านั้น อัตราขนาดของ ‘นา’ เช่นนี้ปรากฏร่องรอยอยู่ในระบบศักดินาของไทยสยามที่กำหนดให้ไพร่แต่ละคนมี ‘นา’ ตามระบบศักดินาจำนวน 5 ไร่

ในส่วนของล้านนานั้น ‘นา’ สามารถรวมกันเป็นหน่วยการปกครองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น หมวดนา (ห้าสิบนา) ปากนา (หนึ่งร้อยนา) พันนา จนกระทั่งล้านนาซึ่งเป็นหน่วยการปกครองขนาดใหญ่ที่สุด คือเป็นหน่วยการปกครองระดับอาณาจักร และกลายเป็นชื่อของอาณาจักรล้านนาที่ใช้เรียกโดยนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

เมือง เป็นหน่วยการปกครองที่มีขนาดใหญ่กว่า ‘บ้าน’ คือเป็นกลุ่มของบ้านหลายๆ บ้านรวมกัน และมีผู้ปกครองเป็นขุนนางหรือเจ้าเมืองที่มียศถาบรรดาศักดิ์ตามระบบศักดินา เมืองในที่นี้ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ ขอเพียงมี (หรือเคยมี) บ้านในขอบเขตจำนวนหนึ่ง บางเมืองจึงมีขนาดเพียงตำบลเล็กๆ ในปัจจุบันเท่านั้น

เมืองเล็กๆ เหล่านี้มักขึ้นตรงเป็นบริวารของเมืองที่มีขนาดใหญ่ และเมืองที่มีขนาดใหญ่เหล่านั้นก็มักขึ้นตรงเป็นบริเวณของเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าเป็นทอดๆ ตามระบบศักดินาหัวเมือง ไปจนถึงเมืองของกษัตริย์ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีสถานะสูงที่สุด เช่นเมืองนะ (ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) เป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงดาว เมืองเชียงดาวเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่อีกทอด เป็นต้น เมืองจึงอาจเป็นเสมือนตำบล อำเภอ หรือจังหวัดในปัจจุบันก็ได้ ตามแต่ขนาด ลำดับศักดิ์ และความสำคัญ

นอกจากนี้ เมืองยังไม่จำเป็นต้องมีความเจริญหรือเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและเศรษฐกิจ (เพราะนั่นคือความหมายของคำว่า ‘เวียง’ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) และไม่ใช่คำตรงข้ามกับคำว่าชนบท เมืองในที่นี้มีความหมายครอบคลุมทั้งหน่วยการปกครอง นั่นคือชุมชนและอาณาบริเวณทั้งหมดที่เจ้าเมืองนั้นปกครอง จึงปรากฏว่าชุมชนจำนวนมากที่ใช้ชื่อว่าเมืองในปัจจุบันเป็นชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่มีสภาพเป็น ‘ตัวเมือง’ ตามความหมายของภาษาปัจจุบัน หลักเกณฑ์สำคัญของความเป็นเมืองอยู่ที่มี ‘เจ้าเมือง’ ปกครองอยู่หรือไม่

เวียง เป็นคำที่มีสองความหมาย ความหมายหนึ่งหมายถึงกำแพงขนาดใหญ่หรือกำแพงเมือง คล้ายคลึงกับคำว่า ‘เมก’ ชื่อกาดเมฆ ซึ่งเป็นตลาดแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดลำปางนั้น แต่เดิมคือ ‘กาดเมก’ หมายถึงตลาดติดกำแพงเมืองนั่นเอง

อีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึงเขตที่อยู่ภายในกำแพงเมืองหรือมีกำแพงร้อมรอบ ซึ่งมักเป็นศูนย์กลางของเมือง (ตามความหมายที่เพิ่งกล่าวถึงไป) ทั้งในทางการปกครอง เศรษฐกิจ และความเจริญ ตรงกับคำว่า ‘ตัวเมือง’ ในปัจจุบัน ทุกวันนี้ ชาวล้านนายังใช้คำว่า ‘เวียง’ หมายถึง ‘ตัวเมือง’ อยู่ เช่น ไปยะก๋านในเวียง แปลว่า ไปทำงานในเมือง เป็นต้น

ชื่อชุมชนที่มีคำว่าเวียงอยู่สะท้อนประวัติศาสตร์ของชุมชนนั้นๆ ว่าอาจเคยมีกำแพงเมืองก่อไว้ โดยกำแพงดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นกำแพงอิฐ อาจเป็นกำแพงไม้ไผ่หรือคันดินธรรมดาก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีตำบลที่ใช้ชื่อว่า ‘เวียง’ โดดๆ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของตำบลนั้นเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองใดเมืองหนึ่งมาก่อน

เชียง เป็นคำที่มีความหมายสับสนที่สุดในคำที่ใช้ตั้งชื่อชุมชนกลุ่มนี้ สำนวนหนึ่งอธิบายว่าเชียงหมายถึงเมืองหรือเมืองใหญ่ มีรากศัพท์มาจากคำภาษาจีนสมัยกลาง (Middle Chinese) ว่า 城 (อ่านออกเสียงว่า dzyeng ทำนองว่าเชียง ภาษาจีนกลางปัจจุบันอ่านว่าเฉิง) ซึ่งมีความหมายว่า เมือง ปราสาท ป้อม กำแพง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามว่าหมายถึง ‘เมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ’ ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะเห็นด้วยตามความหมายนี้ได้หรือไม่เพราะ ‘เชียง’ หลายแห่ง (ที่อาจไม่ปรากฏในปัจจุบัน) ก็ไม่ได้มีกำแพงล้อมรอบ บางเชียงไม่แม้กระทั่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่โดยเอกเทศด้วยซ้ำ เช่น เชียงเรือก (บริเวณท่าแพในตัวเมืองเชียงใหม่) เชียงโฉม ฯลฯ

อีกสำนวนหนึ่งอธิบายว่า ในภาษาไทดำ ‘เชียง’ หมายถึงป่าศักดิ์สิทธิ์กลางเมืองอันเป็นที่อยู่อาศัยของผีเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ในบริบทของล้านนาน่าจะตรงกับเสาหลักเมืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนไม้ศักดิ์สิทธิ์ของเมือง เชียงจึงหมายถึงเมืองที่มีการปักเสาหลักเมืองหรือที่เรียกว่า ‘เสาอินทขีล’ ข้อสันนิษฐานนี้ผู้เขียนก็ยังไม่แน่ใจอีกว่าจะเชื่อได้สนิทใจหรือไม่ เพราะประเพณีการปักเสาอินทขีลนั้นเพิ่งปรากฏในสมัยพระเจ้ากาวิละ ตำนานเสาอินทขีลซึ่งอธิบายที่มาที่ไปของเสาอินทขีลเมืองเชียงใหม่นั้นก็น่าจะเป็นตำนานแต่งใหม่ไม่เก่ากว่าสมัยพระเจ้ากาวิละ อาจารย์ภูเดช แสนสา เคยให้ความเห็นกับผู้เขียนว่าเป็นประเพณีที่พระเจ้ากาวิละนำมาจากลำปางเมื่อครั้งที่ย้ายตำแหน่งจากเจ้านครลำปางมาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่

อาจารย์สุพจน์ แจ้งเร็ว เคยออกความเห็นไว้กับผู้เขียนว่า ‘เชียง’ น่าจะหมายถึงศูนย์กลางของ ‘พันนา’ แต่ละพันนา อาจเป็นตลาดประจำพันนา ความเห็นทำนองนี้ก็น่ารับฟังอยู่เหมือนกัน เพราะคำว่า 场 ซึ่งแปลว่าตลาดในภาษาจีนกลางปัจจุบันนั้น ในภาษาจีนสมัยกลางอ่านว่า tʃʱiɑŋ˩ ฟังได้คล้ายๆ คำว่าเชียงอยู่เหมือนกัน คำว่าเชียงในภาษาล้านนาอาจยืมมาจากคำภาษาจีนสมัยกลางคำนี้ก็เป็นได้

แช่ หรือที่บางครั้งสะกดว่า แจ้ ในปัจจุบัน เช่น อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางนั้น แปลว่าป้อมค่ายหรือเมืองที่มีป้อมค่าย คล้ายกับความหมายของคำว่า ‘เวียง’ ที่กล่าวถึงไปแล้ว ตรงกับคำว่า 寨 หรือไจ้ในภาษาจีนกลาง ในเอกสารจีนมีบันทึกกล่าวถึงที่มาของชื่อ ‘ปาไป่สีฟู่’ หรือเมืองสนมแปดร้อย ซึ่งเป็นชื่อที่ราชสำนักจีนใช้เรียกล้านนาโบราณว่าเจ้าผู้ปกครองล้านนานั้นมีชายาถึงแปดร้อยนาง แต่ละนางจะครอง ‘ไจ้’ กันคนละไจ้ ก็คือมีป้อมค่ายประเภทแช่หรือเวียงให้ปกครองกันคนละแห่งนั่นเอง ชื่อแช่หรือแจ้นี้ ทางฝ่ายไทใหญ่ก็ปรากฏการใช้อยู่เหมือนกัน ดังปรากฏชื่อเมือง ‘เจ้ล้าน’ หรือ ‘แช่ล้าน’ เป็นเมืองหลวงของเจ้าเสือบ่านฟ้า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ ความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘แช่’ สูญหายไป จึงปรากฏการแต่งนิรุกติศาสตร์พื้นบ้าน (folk etymology) หรือตำนานเมือง (urban legend) มาอธิบายที่มาและความหมายของคำว่า ‘แช่’ นี้แบบลากเข้าความว่าหมายถึงการ ‘แช่น้ำ’ เช่นในตำนานพระธาตุแช่แห้ง อธิบายว่าได้มีการแช่หมากไว้จนแห้งจึงเรียกว่าแช่แห้ง เป็นต้น

อันที่จริง เป็นไปได้มากกว่าว่าชื่อพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน จะมีที่มาจากการที่เมื่อคราวพญาครานเมืองอพยพผู้คนจากเมืองปัวหรือเมืองวรนครล่องแม่น้ำน่านมาหาที่ตั้งเมืองใหม่นั้น ได้มาสถาปนาเมืองป้อมค่ายไว้ที่บริเวณอำเภอภูเพียง แต่พบว่าทำเลสถานที่ดังกล่าวแห้งแล้งเกินกว่าจะตั้งเมืองขนาดใหญ่ได้ จึงล่องแม่น้ำน่านต่อไปตั้งเมืองน่านบริเวณทำเลอำเภอเมืองในปัจจุบัน สถานที่ตั้งเมืองป้อมค่ายแห่งแรกก่อนสถาปนาเมืองน่านอย่างถาวรจึงได้ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แทน เรียกว่า ‘แช่แห้ง’ จนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง เมืองที่ใช้ชื่อว่า ‘แช่’ นั้นมีอยู่ไม่มาก บางเมืองก็ล่มสลายหายไปหรือไม่ได้ใช้คำว่า ‘แช่’ ในชื่อเมืองแล้ว เช่น แช่สัก แช่พร้าว แช่ฝาง แช่พราน เป็นต้น

ชื่อเรียกของชุมชนต่างๆ มักเป็นเครื่องสะท้อนหรือแสดงลักษณะบางประการ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ รวมถึงลักษณะการปกครองที่ปรากฏในชุมชนนั้นๆ ในล้านนามีชื่อชุมชนหลายชุมชนที่ประกอบด้วยคำอันแสดงลักษณะการปกครองในอดีตเมื่อครั้งล้านนายังดำรงอยู่เป็นอาณาจักร การทำความเข้าใจความหมายของชื่อชุมชนเหล่านี้จึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจสภาพสังคมล้านนาในอดีตของชุมชนเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น

ที่สำคัญ การทำความเข้าใจความหมายและสืบค้นที่มาของชื่อชุมชนเป็นแบบฝึกหัดการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวที่สุด ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์สามารถทดลองทำได้จากการศึกษาประวัติชื่อชุมชนของตัวเอง ผู้เขียนเองก็เริ่มต้นการศึกษาประวัติศาสตร์จากการค้นคว้าทำนองนี้เช่นกัน ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเกร็ดความรู้ในบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของตนต่อไป



บรรณานุกรม

韻典網, . https://ytenx.org/kyonh/sieux/815/ (สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567)

Nathan Badenoch, “Mountain People in the Muang: Creation and Governance of a Tai Polity in Northern Lao” in Upland Peoples in the Making of History in Northern Continental Southeast Asia. 2013, 2(1). pp. 29-67. https://doi.org/10.20495/seas.2.1_29

กนกพร นุ่มทอง, แปลและเรียบเรียง, หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน. กรุงเทพ: สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2564.

เรณู วิชาศิลป์, พื้นเมืองแสนหวี ฉบับหอคำเมืองไหญ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2550.

วิกิพจนานุกรม, เชียง. https://th.wiktionary.org/wiki/เชียง (สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567)

สถาบันภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, พจนานุกรมภาษาล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2550.

โสภณปริยัติสุทธี (ถิรธมฺโม), พระครู, สภาพทางสังคมและการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว. https://www.gotoknow.org/posts/443284 (สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2567)

สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรตและจัดทำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ, พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2539.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, “ข้อคิดใหม่เรื่องพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่” ใน วารสารราชบัณฑิตยสถาน. 2012. 37(3) น. 198-233 http://legacy.orst.go.th/royin2014/upload/246/FileUpload/2487_8948.pdf

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save