fbpx

‘หลานม่า’ มูลค่าแห่งความห่วงหาอาทร

คงมีหนังไทยเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ ‘กัลปพฤกษ์’ จะดื่มด่ำกำซาบซึ้งถึงขั้น ‘ตกหลุมรัก’ ซึ่งเป็นการ ‘ตกหลุมรัก’ ที่อาการหนักกว่าหนังชาติอื่นๆ เมื่อบริบททุกอย่างคือ ‘ประเทศไทย’ สังคมวัฒนธรรมใกล้ตัวที่ ‘กัลปพฤกษ์’ เติบใหญ่และใช้เวลาเกินกว่าค่อนชีวิตมา และ ‘หลานม่า’ (2024) คือหนึ่งในหนังไทยที่ว่านั้น หนังที่ ‘กัลปพฤกษ์’ รอดูมาแสนนาน หนังไทยเนื้อหาสามัญธรรมดาทว่ามีความสากลจนเข้าถึงมหาชนในแทบทุกชายคาบ้าน หากยังเป็น ‘งานฝีมือ’ ที่สื่อด้วยวิสัยทัศน์ในทางศิลปะอันเปี่ยมไปด้วยความละเมียดละไม ประทับใจจนน้ำตาไหล ไม่รู้ว่าด้วยความปลาบปลื้มดีใจ หรือสะเทือนในความห่วงหา ‘อาทร’ ที่บางครั้งก็วัดมูลค่ากันด้วย ‘เงินทอน’ สะท้อนภาพจริงอันชวนให้เจ็บปวด…

ความรวดร้าวทั้งหมดในหนัง ‘หลานม่า’ มาจากการตีแผ่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนชนชั้นปากกัดตีนถีบที่น้ำหนักของหีบกระป๋องใส่เหรียญและธนบัตรกลายเป็นตัวชี้วัด ‘ความสำเร็จ’ ของแต่ละวงศ์ตระกูล แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้หาใช่เพราะเหล่าคนเชื้อจีนต่างเทิดทูนลัทธิ ‘วัตถุนิยม’ แต่เพราะสังคมจีนมองว่า ‘ทรัพย์’ นำมาซึ่ง ‘ศฤงคาร’ อันเป็นหนึ่งในอุปมานของความมั่งคั่ง ยิ่งมีสตางค์ก็จะยิ่งได้รับการนับหน้าถือตา บุตรหลานพร้อมใจกันมาเยี่ยมเยียนเวียนแวะ ตามที่หนังได้ค่อนแคะไว้ว่าเป็นพฤติกรรม ‘หว่านพืชหวังผล’ เมื่อ ‘หลานม่า’ วางตัวละคร ‘อาม่าเหม้งจู’ ไว้เป็นคนสำคัญ ซึ่งดันมาป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้ายจนไม่สามารถประกอบอาชีพขายโจ๊กในตลาดได้ แล้วให้ ‘หลานเอ็ม’ บุตรชายของ ‘ซิว’ ลูกสาวคนรอง อาสามาดูแล ณ บ้านห้องแถวย่านตลาดพลูอยู่ด้วยแบบเต็มเวลา ทำคะแนนให้ ‘อาม่า’ ได้เห็นว่าเขานั้นรักและห่วงหาอาทรบุพการีรุ่นก่อนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้มากขนาดไหน พินัยกรรมโฉนดบ้านและที่ดินอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายจึงควรต้องกลายเป็นของเขา คนที่เอาเวลาทั้งชีวิตอุทิศให้กับ ‘อาม่า’ สุดที่รักคนนี้ จึงนับเป็นเรื่องอัปรีย์ที่วัดใจตัวละครกันหนักหน่วงรุนแรงมากๆ แล้วมันจะยากขนาดไหนที่จะกำกับออกมาให้ทุกสิ่งยังคงสมจริง ตัวละครไม่ขิงหรือห้ำหั่นกันจนดูเป็น ‘การละคร’ มากเกินไป ซึ่งผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ก็สามารถลำเลียงความย้อนแย้ง (dilemma) ดังกล่าวส่วนใหญ่ออกมาอย่างน่าเชื่อได้ ทั้งจากรายละเอียดของบท การกำหนดบทบาทของตัวละครแต่ละราย ไปจนถึงความติดดินในส่วนของงานโปรดักชั่นทั้งหลาย คล้ายจะเป็นการจำลองเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของ ‘อาม่า’ สักคนที่ต้องทนใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังในบ้านหลังหนึ่งย่านตลาดพลู

แต่ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านจะเคยได้ยินบ้างไหมว่า ‘สิ่งที่ทำร้ายเราได้มากที่สุด ก็คือสิ่งที่เรารักมากที่สุด’ นั่นเอง!  คำสาปที่เคยหวั่นเกรงจึงสำแดงอาถรรพ์ เมื่อหนังเรื่อง ‘หลานม่า’ ที่ ‘กัลปพฤกษ์’ อยากจะทะลุจอเข้าไปโอบกอดปลอบขวัญตัวละครสำคัญทุกราย ดันต้องกลายเป็นอัญมณีที่มีตำหนิด้วยรอยปริร้าวจากฝีมือการเจียระไนที่ยังไม่แม่นมั่นพลันกลายเป็นมลทินมัวหมอง เกล็ดประกายเรืองรองจึงมีอันต้องด่างพร้อย เมื่อความงามเหล่านั้นกลับมีริ้วร้อยที่ไม่น่าจะปล่อยให้มาแปดเปื้อนจนดูเกลื่อนกลาดได้ขนาดนี้

ส่วนที่ชวนให้อึดอัดขัดใจมากที่สุดใน ‘หลานม่า’ คือลีลาการเล่าของบทหนังที่หลายๆ ฉากก็ตั้งใจยัดเยียดข้อมูลอย่างตรงไปตรงมามากไปโดยใช้น้ำเสียงแบบ didactic หรือเทศนาโวหาร ขณะที่ทิศทางการกำกับกลับต้องการความเป็นธรรมชาติซึ่งไม่อาจปล่อยให้ผู้ชมได้เห็น ‘กลไก’ ที่ผู้สร้างได้ชักใยเอาไว้ในตอนวางโครงสร้างบทได้เลย เข้าใจว่าใครที่เคยได้ศึกษาสูตรสำเร็จในการเขียนบทภาพยนตร์ จะรู้ว่าควรจะแบ่งเนื้อหาเป็นองก์ๆ แต่ละองก์จงแบ่งซอยออกเป็นฉากๆ แล้วอยากให้ฉากไหนทำงานอย่างไร ก็ค่อยลงรายละเอียดตามนั้น แต่นั่นคือขั้นตอนการพัฒนาบท พอหมดช่วงของโพสต์-โปรดักชั่นและเรนเดอร์ ไฟล์จนพร้อมจะออกฉาย คนดูไม่ควรระแคะระคายว่านี่กำลังนั่งดูเรื่องราวองก์ไหนหรือฉากใด โดยเฉพาะเนื้อหาที่ดำเนินไปคล้ายชีวิตจริงอย่าง ‘หลานม่า’ เรื่องนี้ ซึ่งถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าลำดับเนื้อหาของฉากต่างๆ ในหนังยังทิ้งเค้ารอยของการเป็นต่อนเป็นคิว (cue) หนึ่ง>สอง>สาม>สี่ มีอาการเรียงลำดับขั้นกันอย่างจงใจไปถึงไหน เอาเป็นว่าเดี๋ยวจะทำให้ดูว่า ‘กัลปพฤกษ์’ มองเห็นพิมพ์เขียวของบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยชัดเจนอย่างไร จากการวิจารณ์ในสิ่งที่ยัง ‘ม่ายล่ายหลั่งจาย’ ในหนังเรื่อง ‘หลานม่า’ โดยว่ากันเป็นลำดับอันแสนจะแข็งกระด้างดังนี้ และแน่นอนว่าจะมีการเปิดเผยเนื้อหาแบบเต็มๆ!

1. บทภาพยนตร์บนระนาบ (เกือบ) ขนาน

ต้องชมก่อนว่าโครงสร้างใหญ่ของบทภาพยนตร์เรื่องนี้มีการวางแผนไว้เป็นอย่างดีว่าจะนำเสนอมิติมุมมองสองด้านที่ต่างกันของตัวละครหลักทั้งสองราย นั่นก็คือ ‘หลานเอ็ม’ กับ ‘อาม่าเหม้งจู’ แต่ปัญหาคือเมื่อดูจนจบแล้ว น้ำหนักของมุมมองทั้งสองส่วนที่ควรจะเป็นระนาบขนาดเท่าๆ กันที่ขนานกัน ดันทิ้งไปที่ ‘หลานเอ็ม’ เป็นส่วนใหญ่จนไม่ได้ขนานตัวคานวางนิ่งตามแนวนอนกันจริงๆ โดยมีสิ่งที่ทำให้เสียสมดุลไปดังนี้

1.1. มุมมอง ‘หลานเอ็ม’ ซึ่งถือเป็นตัวพล็อตหลักที่หนังต้องการเล่าผ่านการเข้ามาในชีวิตของ ‘อาม่าเหม้งจู’ ในฐานะของผู้ดูแลเต็มเวลา เพื่อหวังเงินตราจากการขายบ้านอันเป็นมรดกชิ้นสุดท้าย จนอาจแลดูกลายเป็นลูกหลานความคิดเลวทราม หากทั้งหมดก็เป็นเพียงการทำตามแรงบันดาลใจสำคัญจากมุ่ยลูกพี่ลูกน้องของเอ็มผู้มีอาชีพหลักเป็นผู้ดูแลญาติวัยชราอาการป่วยอยู่ในขั้นวิกฤตแบบเต็มเวลา เพื่อลวงให้พวกเขาเห็นว่า หลานผู้น่ารักคนนี้ช่างมีความกตัญญูคอยดูแลปรนนิบัติพัดวีจนสมควรเหลือเกินที่จะยกมรดกตกทอดทั้งหมดให้ผ่านพินัยกรรม ซึ่งเมื่อมุ่ยทำได้สำเร็จเอ็มก็อยากจะลองเดินตามรอยเท้าบ้าง อ้างความห่วงหาอาทรอยากจะเก็บกระเป๋าเดินทางพร้อมข้าวของมาจับจองที่นอนเฝ้าอาม่าสุดที่รักคนนี้แบบเต็มเวลา เพราะเอ็มรู้ดีว่าบ้านห้องแถวหลังเก่าสมบัติชิ้นสุดท้ายของอาม่าจะถูกขายในทันทีที่อาม่าไม่อยู่กับพวกเขาแล้วเอ็มจึงต้องแสดงความแน่วแน่ในการเสนอตัวเป็นผู้ดูแล แม้จะโดนศอกกลับจับไต๋ได้แบบเต็มๆ ว่า ‘มึงก็หว่านพืชหวังผลแบบคนอื่นๆ เหมือนกันใช่ไหม’  ขณะที่ในเวลาเดียวกันพฤติกรรมของ ‘หลานเอ็ม’ ก็จะถูกเทียบเคียงกับทายาทรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘กู๋เคี้ยง’, ‘หม่าม้าซิว’ หรือ ‘กู๋โส่ย’ ซึ่งแต่ละคนต่างยุ่งและวุ่นวายกับชีวิตตนเองจนแทบไม่มีเวลามาเหลียวแลอาม่า ทายาท ‘หมายเลขหนึ่ง’ ซึ่งควรได้รับมรดกหลังนี้ไปจึงไม่มีใครจะเหมาะสมไปมากกว่า ‘หลานเอ็ม’ คนนี้อีก!

เส้นเรื่องฝั่ง ‘หลานเอ็ม’ จึงนับว่ามีความฉีกแนวไปจากหนัง feel good สูตรเรียกน้ำตา (tearjerker) ที่เธอดูแล้วต้องเสียน้ำตาโดยทั่วไป เมื่อพฤติกรรมของเอ็มอาจนำไปสู่คำถามทางจริยธรรมข้อใหญ่เมื่อรู้ว่าเขามีเจตนาลึกๆ เป็นประการใด มันคือการหลอกลวงให้ความหวังหรือไม่ เพราะเอ็มเองก็ไม่เคยคิดห่วงใยอาม่าเหม้งจูจนต้องดูดำดูดีใดๆ มาก่อน  แต่บทภาพยนตร์ที่ผู้กำกับเขียนร่วมกับ ทศพล ทิพย์ทินกร ก็ค่อยๆ บรรจงใส่ความอ่อนโยนลงไปในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หลานเอ็ม’ กับ ‘อาม่า’ หลังจากที่ฝ่ายหลานชายได้หันมาเรียนรู้ในหลายๆ อย่างเกี่ยวกับต้นตระกูลชีวิตของอาม่าที่เขาไม่เคยได้รับรู้ อุบายของ ‘หลานเอ็ม’ ที่เคยเต็มไปด้วยความคิดอันชั่วร้าย จึงกลายเป็นขั้นตอนการเรียนรู้และเติบโตของเอ็มได้ว่าครอบครัวมีความสำคัญต่อตัวเขามากขนาดไหน แล้วเขาจะไปเดินตามรอยเท้าสาวมุ่ยที่ดุ่ยเดินบนเส้นทางสายนี้อย่างคนไม่มีเหย้าไม่มีเรือน ตัวคนเดียวจนต้องเช่าห้องโรงแรมหรูเป็นรายเดือน ซึ่งย้ำเตือนว่านางเป็นคนต่อต้านวิถีความสัมพันธ์ในครอบครัวตามขนบแบบโบราณอย่างคนละขั้วด้านไปทำไม ในขณะที่คนที่เขาควรเจริญรอยตามมากที่สุดก็คือ ‘อาม่า’ สุดที่รักคนนี้นี่เอง

1.2 มุมมอง ‘อาม่า’ ซึ่งบทหนังไม่สามารถเร่งนำเสนอในช่วงแรกๆ ได้ เพราะต้องเก็บงำทุกอย่างไว้เป็นเซอร์ไพรส์สุดท้าย กว่าจะได้เรียนรู้ก็ปาเข้าไปถึงฉากจบแล้วว่าทุกอย่างที่ ‘อาม่า’ ทำไป นางต้องการทิ้งมรดกชิ้นใดไว้ให้ ‘หลานเอ็ม’ ได้สานต่อไปถึง ‘หลานเรนโบว์’ อีกบ้าง ระนาบเส้นเรื่องในส่วน ‘อาม่า’ จึงเป็นระนาบที่วางตัวเป็นฐานอยู่เบื้องล่าง ซึ่งคนดูจะต้องประกอบสร้างจากทุกการกระทำและคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ยินได้ฟังจากแต่ละช่วงตอน มาสรุปประมวลจนเห็นเจตนาของตัวละครว่าพันธกิจสุดท้ายที่นางต้องทำก่อนจะลาจากไปอย่างตายตาหลับได้คือสิ่งใดกัน ซึ่งก็น่าเสียดายที่ระนาบเรื่องอันเป็นฐานสำคัญนี้ บทหนังยังขยี้ย้ำได้ไม่ขลังไม่ปังสักเท่าไหร่ การตีความจึงยังอยู่ในระดับคาดการณ์จนไม่อาจมั่นใจได้ เพราะดูเหมือนผู้กำกับเองก็ไม่อยากให้บทบาทของ ‘อาม่าเหม้งจู’ แลดูหนักและลึกจนเป็นภาระของนักแสดงมากไปกว่านั้น

ประเมินกันง่ายๆ ตัวละคร ‘อาม่า’ คือภาพกระจกสะท้อนที่กลับซ้ายขวากันเลยกับตัวละครมุ่ย ยกเว้นก็แต่เพียงการพูดคุยเป็นภาษาจีนและซีนการตั้งใจแต่งกายเพื่อโชว์หวิวที่บทได้หยอดเป็นลูกเล่นไว้ ในขณะที่ช่วงวัยก็ดี ทัศนคติที่มีต่อครอบครัวก็ดี สถานะการเป็น ‘มารดา’ vs ‘คณิกา’ หรือ Madonna-Whore ก็ดี แม้กระทั่งวิธีการหาเลี้ยงชีวิต ทั้งคู่มีวิถีคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังที่มุ่ยเคยสารภาพไว้กับเอ็มว่าเธอออกจะประหลาดใจที่สุดท้ายเอ็มจะไม่ได้กลายเป็น ‘ที่หนึ่ง’ ตามที่เธอช่วยวางแผนให้ เพราะ ‘อาม่าเหม้งจู’ นี่แหละที่จะเป็นญาติผู้ใหญ่เพียงรายเดียวที่มุ่ยจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะเธอจะไม่มีวันได้ล่วงรู้เจตนาของ ‘อาม่า’ ที่แท้ ตราบใดที่เธอยังไม่มีโอกาสได้เป็นแม่คน!

เหตุผลหลักของทุกการกระทำของ ‘อาม่าเหม้งจู’ ในเรื่องนี้ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าความพยายามในการแก้ไขเยียวยาความล้มเหลวในการทำหน้าที่เป็น ‘มารดา’ ที่นำพาให้ครอบครัวของเธอต้องแตกฉานซ่านเซ็นแทบไม่มีพี่น้องคนไหนเห็นหัว กลับมาพร้อมใจกันสามัคคีรวมตัวด้วยความรักใคร่อย่างที่เธออยากให้เป็น ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป เธอจะตายตาหลับอย่างไรไหวในขณะที่มะเร็งร้ายก็กำลังกัดกินร่างกายอยู่เรื่อยๆ  ตลอดเส้นทางชีวิตของ ‘อาม่า’ จึงนับเป็นความเหน็ดเหนื่อยชวนให้โศกเศร้าอาดูรด้วยความผิดหวังอย่างน่าเห็นใจ และ ‘อาม่า’ เองก็โทษใครไม่ได้ เพราะความไม่เอาไหนในครอบครัวทั้งหลาย มันก็มาจาก ‘เนื้อร้าย’ ทั้งทางร่างกายและจิตใจของเธอเองทั้งสิ้น!

คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย ถ้าทายาททั้งสามใบเถาของนางจะเติบโตมาตามเส้นทางที่เธอได้แผ้วถางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ‘กู๋เคี้ยง’ ที่รักครอบครัวตัวเองยิ่งกว่าสิ่งใด (ไม่ต่างจากอาม่า) ถึงกับขีดเส้นแบ่งเขตแดนเอาไว้โดยเสร็จสรรพว่า ‘ครอบครัว’ ของเขาคือ nuclear family ที่มีสมาชิกอยู่เพียงสามราย คนที่เหลือต่อให้ร่วมสายเลือดมาอย่างไรก็จำต้องกลายเป็นคนนอกครอบครัว หรือแม้แต่ตัว ‘หม่าม้าซิว’ ของ ‘หลานเอ็ม’ เองที่ตู้เย็นบ้านอาม่ามีอาหารหมดอายุจนล้นตู้ขนาดไหน ตู้เย็นบ้านเธอก็มีสภาพที่ไม่ต่าง แถมสภาพร่างกายก็ดูจะมีความเป็น ‘ทายาทอสูร’ ของบรรดาโรคร้าย แล้วคนเป็นแม่อย่าง ‘อาม่า’ จะเจ็บปวดจนกลัดหนองภายในได้ขนาดไหน ถ้ารู้ว่าเนื้อร้ายในตัวเธอสามารถ่ายทอดสู่บุตรสาวได้ผ่าน ‘กรรมพันธุ์’ แต่นั่นก็ไม่น่าเจ็บปวดได้เท่า ‘กู๋โส่ย’ ซึ่งเธอคงไม่สามารถโบ้ยความผิดในการเลี้ยงดูไปให้ผู้อื่นได้ เพราะความไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ติดหนี้หลายล้านจากการพนัน มันไม่ใช่เพราะพฤติกรรมทำตามนิสัยชอบเล่นไพ่และไล่ลุ้นเลขหวยที่ได้มาจากอาม่าหรอกหรือ ฉะนั้นที่ชีวิต ‘กู๋โส่ย’ ต้องภินท์พังมิใช่เพราะเขาดื้อ หากมันคือ ‘ตะขาบร้าย’ ที่อาม่าเคยคายไว้ให้อย่างที่เธอไม่อาจไปโทษใครๆ  สุดท้าย ‘อาม่า’ จึงไม่มีทางเลือกใดนอกจากการไถ่โทษด้วยการยกโฉนดบ้านทั้งหลังให้ ‘กู๋โส่ย’ โดยหวังอยู่ลึกๆ ว่า ‘หลานเอ็ม’ จะเข้าใจว่าภาระหน้าที่หลักในการประคับประคองครอบครัวของอาม่าให้เดินหน้าต่อไปได้หลังจากที่นางสิ้นลมหายใจลงแล้วคืออะไร ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นเรื่องสายเกินการ ฉากที่ ‘หลานเอ็ม’ บันดาลโทสะใส่ ‘กู๋โส่ย’ ให้เก็บ ‘เงินทอน’ ที่เหลือไว้ เพราะต่อจากนี้จะไม่มีใครช่วย ‘กู๋โส่ย’ ได้อีก จะเป็นคำพูดที่ฉีกทึ้งหัวใจ ‘อาม่า’ ได้อย่างสาหัสขนาดไหน นางจึงต้องเร่งทำทุกอย่างเพื่อให้ ‘หลานเอ็ม’ เปลี่ยนใจ เพราะถ้าพูดให้แรงเลยก็คือ ‘กู๋โส่ย’ เป็น ‘มะเร็งร้าย’ ในครอบครัวอาม่า ที่ไม่มีทางเยียวยารักษา และทำได้เพียงประคับประคองดูแลไปตามอาการ!

สำบัดสำนวนสวยหวานที่มุ่ยถามเอ็มว่า “รู้ไหมว่าสิ่งที่คนแก่ต้องการแต่พวกลูกหลานให้กันไม่ได้คืออะไร ก็ ‘เวลา’ ไงเฮียคือคำตอบง่ายๆ”  กลับใช้ไม่ได้เลยกับกรณีของ ‘อาม่าเหม้งจู’ เพราะนางเองยังอยู่ในสภาพที่ดูแลตัวเองได้ และไม่ต้องการเวลาของลูกหลานมากไปกว่าครึ่งวันต่อสัปดาห์ที่ทุกคนจะได้มาพร้อมหน้ากันในช่วงยามเช้าของวันอาทิตย์ เวลาที่เหลือทุกคนจะต้องคิดหางานหาการที่มั่นคงทำ ย้ำไม่ให้งอมืองอเท้า และเมื่อเกิดมาเป็นพี่น้องท้องเดียวกันแล้วต้องเข้าใจกัน การช่วยเหลือแบ่งปันมันเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ทุกคนล้วนได้รับทั้งเนื้อดีและเนื้อร้ายไปจาก ‘อาม่า’ ดังนั้นจงผนึกผสานรวมเป็นองคาพยพเดียวกันจับมือประสานไว้ให้มั่น ถึงวันเชงเม้งปีละครั้งทุกคนห้ามมีธุระปะปังอื่นใด นอกจากการร่วมแรงร่วมใจกันมาปัดกวาดโปรยดอกไม้จัดของไหว้หน้าหลุมศพ หลุมที่ ‘อาม่า’ ต้องพยายามหาเงินงบประมาณมาลงหลักปักฐานไว้ให้สมศักดิ์ศรี เพราะฮวงซุ้ยยิ่งตระการลูกหลานจะมีข้ออ้างมาปล่อยทิ้งให้ร้างไม่ยอมดูแลไม่ได้ ใครเห็นก็จะได้อายไปถึงไหนๆ และนั่นก็จะเป็นวิธีมัดใจให้ทั้งสามศรีพี่น้องไม่มีวันจะทอดทิ้งกัน!

ฉากสุดท้ายในหนังจึงสะท้อนภาพในวันข้างหน้าของตัวละครที่เหลือในครอบครัวนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้ง ‘กู๋โส่ย’ เองที่ไม่มีวันละเลิกนิสัยการเป็นผีพนันได้ หวังรวยจากหวยแบบเดียวกับที่ ‘อาม่า’ เคยหวังแบบลมๆ แล้งๆ มาทั้งชีวิต รวมถึง ‘หลานเอ็ม’ เองที่สามารถทำตัวสนิทสนมเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวคุณลุงคุณน้าได้อย่างบริสุทธิ์ใจ พร้อมสอนให้ ‘หลานเรนโบว์’ รู้ว่า ‘อาม่า’ ได้ทิ้งบทเรียนชีวิตอันล้ำค่าประการใดไว้ ซึ่งหลานเอ็มจะได้เล่าให้เรนโบว์ฟังต่อไปเมื่อถึงเวลา เชื่อเหลือเกินว่าฉากจบอันน่าประทับใจนี้ ไม่ได้มีหน้าที่เป็นกลไกวนย้อนของพล็อตทั้งหมดที่กลับมาจรดเรื่องกันที่ฉากแรกบรรยากาศแรกเท่านั้น หากมันเป็นผลจากความพยายามทำให้ภาพๆ นี้เกิดขึ้นได้ของหนึ่งในสมาชิกตัวละครในฉากปิด ซึ่งต้องคิดหาวิธีทำให้ทุกคนต้องยอมพร้อมใจกันกลับมาอย่างพร้อมหน้าแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีปัญหากันขนาดไหน สานต่อเจตนารมณ์ที่ ‘อาม่า’ เคยวางเบี้ยหมากไว้ว่าครอบครัวนี้จะรอดได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใครสักคนยอมปล่อยมือ

แม้เหมือนจะซื้อในการตีความนี้ แต่ความรู้สึกที่มีจริงๆ ก็ไม่ได้มั่นใจเลยว่ามันเป็นการตีความตามที่บทหนังต้องการหรือไม่ ค่าที่อย่างที่บอกว่ารายละเอียดส่วนความในใจอาม่าที่หนังได้ถ่ายทอดไว้มันออกจะเบาบาง ที่สะเหร่อเสนอขายไว้ก็อาจจะเป็นการเดาอย่างงมงายมิได้เป็นเจตนาที่แท้จริงของอาม่าเสียด้วยซ้ำ ซึ่งส่วนที่ทำให้รู้สึกไปในทางนี้ก็คือ สิ่งที่อาม่าต้องการจากทุกคนไม่ใช่ ‘เวลา’ หากมันคือการทำหน้าที่ของตนตามที่อาม่าได้พร่ำบ่นเอาไว้ อาม่าพูดอะไรขอให้ทุกคนเก็บไปพิจารณาและปฏิบัติตามอย่างคนว่าง่าย เพราะไม่มีใครสามารถหนีความตาย แต่จะทำอย่างไรให้เมื่อถึงเวลาต้องสิ้นลมหายใจ จะได้สามารถไปได้แบบตาหลับ!

2. บทบาทที่ยังขาดมิติ

พอตัวบทเลือกจับวางทุกอย่างไว้เป็นกลไก แล้วให้ตัวละครคอยเป็นหมากเป็นเบี้ยในการขับเคลื่อนเนื้อหา  ลีลาการสร้างตัวละครจึงมีแนวโน้มที่จะมีมิติเดียว เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นอย่างเด่นชัดว่าแต่ละรายมีอุปนิสัยอย่างไร ซึ่งบางครั้งก็ส่งผลให้เห็นถึงความจงใจจนดูไม่เป็นธรรมชาติได้เช่นกัน ในส่วนของตัวละครสำคัญอย่าง ‘หลานเอ็ม’ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความเป็นพลวัตมากที่สุดในหนัง และการตีความเจตนาความตั้งใจของตัวละคร ‘อาม่า’ ที่ได้ว่าถึงไว้แล้วในหัวข้อก่อนหน้า อาจไม่ได้มีปัญหาเรื่องความ one-dimensional มากสักเท่าไหร่ แต่ตัวละครทายาทของ ‘อาม่า’ อีกสามราย ยังมีความ ‘หน้าเดียว’, ‘แพตเทิร์นเดียว’ และ ‘อารมณ์เดียว’ อยู่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะขอไล่กล่าวถึงไปทีละรายดังนี้

2.1. ‘กู๋เคี้ยง’ เป็นตัวละครที่ดูจะเห็นร่องรอยของการออกแบบได้อย่างชัดเจนที่สุด ทุกชุดความคิดอ่านผ่านคำพูดของกู๋เคี้ยงส่งให้เขาดูเป็นคุณพ่อที่ขอทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวที่เขาสร้างมากับมือ โดยถือว่า ‘เรนโบว์’ บุตรสาวของเขาคือตัวแทนของ ‘อนาคต’ อันสดใสเรืองรองของวงศ์ตระกูล เป็นศูนย์กลางที่ญาติพี่น้องทั้งหลายต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่ ‘อาม่า’ นั้นเป็นเพียงซากของวันวัยในอดีตที่เปล่าประโยชน์จะหวนกลับไปทำนุบำรุงดูแล การเอ่ยอาสาจะดูแล ‘อาม่า’ ในฐานะบุตรชายของกู๋เคี้ยงจึงมีน้ำเสียงในแบบ ‘หว่านพืชหวังผล’ อย่างคนเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอยู่ เพียงแต่บทไม่สู้จะลงรายละเอียดในการแสร้งทำตัวเป็นคนมีอนาคตดีของตัวละครรายนี้สักเท่าไหร่ ตัวละครกู๋เคี้ยงจึงมีมิติของบทบาทที่ใส่เข้ามาเพื่อให้ดูเป็นตัวร้าย ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาน่าจะไม่เลือกปะทะกับสมาชิกทุกคนบนวิถีแห่งความเถรตรงอย่างที่แสดงอยู่นี้

2.2. ‘หม่าม้าซิว’ บุตรีเพียงคนเดียวของบ้าน ที่ได้รับการนำเสนออยู่เพียงด้านเดียวคือการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับผิดชอบทั้งทางด้านการหารายได้มาเลี้ยงดูบุตรชาย และการเอาใจใส่ดูแลมารดาที่ดันมาล้มป่วยไร้คนช่วย ใช้ชีวิตด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมดสิ้นเรี่ยวแรงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ถ้าจะว่ากันตามบทบาทแล้ว ‘หม่าม้าซิว’ เป็นตัวละคร ‘คนกลาง’ รายสำคัญ ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หลานเอ็ม’ กับ ‘อาม่า’ ในฐานะผู้ส่งต่อสายเลือด แต่เธอก็มัวแต่เดือดร้อนเรื่องการทำมาหากิน จนเราไม่สามารถอินไปกับบทบาทการเป็น ‘แม่’ ของเธอได้เลยว่า ‘หม่าม้าซิว’ เป็นห่วงเป็นใยและใส่ใจเลี้ยงดูเอ็มแบบไหน การที่หนังจะไม่ได้กล่าวถึงสามีของเธอเลยว่าหายไปไหนอย่างไร อันนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เมื่อ ‘หม่าม้าซิว’ ต้องรับหน้าที่ในบ้านทั้งหมดเพียงลำพัง เราก็อยากเห็นเบื้องหลังเหมือนกันว่าเธอฟูมฟักดูแล ‘ลูกเอ็ม’ มาอย่างไร ถึงทำให้ตัวละคร ‘หลานเอ็ม’ กลายเป็นคนมีความคิดอ่านแบบนี้ แต่จากที่ดูเราจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงอุดมการณ์ในการเป็น ‘แม่’ ของตัวละครนี้เลยสักนิด เพราะบทมัวแต่ติดฉลากปิดป้ายให้ ‘หม่าม้าซิว’ กลายเป็นกระโถนท้องพระโรงอยู่ตลอดเวลา

2.3. ‘กู๋โส่ย’ ซึ่งโดยบทบาทแล้วเป็นตัวละครเจ้าปัญหาที่น่าจะต้องเล่าภูมิหลังครั้งเก่าให้ละเอียดลึกยิ่งกว่านี้ เรารู้แค่ว่าเขาเป็นคนใช้เงินมือเติบจนติดหนี้ แต่หนี้ที่ว่านี้มีสาเหตุจากอะไร ไม่มีใครฟันธงได้ เหมือนผู้กำกับเองก็เกรงใจที่แย้มพรายให้เห็นชัดๆ ไปเลยว่ากู๋โส่ยติดการพนันอันเป็นมรดกที่ได้รับมาจาก ‘อาม่า’ จนไม่สามารถห้ามกิเลสตัวเองได้ และต้องกลายเป็นคนไม่เป็นโล้ไม่เป็นพายทั้งที่เขาก็ได้ชื่อว่ามีงานมีการทำอยู่ตลอดเวลา จริงๆ หนังก็พาคนดูไปรู้จักเขาถึงในห้องพักที่มีหมายตักเตือนให้จ่ายชำระงวดหนี้ แต่ก็ไม่มีการพาดพิงถึงแต่อย่างใดว่าต้นตอของปัญหามันมาจากมูลเหตุใด ความไม่กระจ่างนี้ถือว่าเป็นความไม่เป็นธรรมต่อทั้งตัวละคร ‘กู๋โส่ย’ และ ‘อาม่า’ เป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่จะสื่อคือการส่งทอดพฤติกรรมปีศาจเยี่ยงทายาทอสูรจริงหรือไม่ อาม่าถึงต้องใช้วิธีการไถ่บาปตัวเองแบบนั้น วรรคที่หายไปในเรื่องราวชีวิตของกู๋โส่ยจึงเป็นห่วงโซ่ท่อนสำคัญ ที่จะอธิบายถึงปัญหาใหญ่ในครอบครัวนี้ได้ดีที่สุด

3. บทแตกหรือบทนางแบก

จากเรื่องบทบาทของตัวละคร ย่อมสะท้อนส่งทอดไปถึงการแสดงของนักแสดงว่าจะรับมือกับบทหนังที่ยังไม่สมบูรณ์เหล่านี้กันอย่างไร ซึ่งโดยภาพใหญ่แล้ว หนังเรื่อง ‘หลานม่า’ ก็อาศัยพลังทางการแสดงผ่านรังสีแสงของเหล่า ‘ดารา’ ซึ่งเรียกกันว่า star power อย่างเห็นได้ชัด ขนบการแสดงที่ดูจะขัดหูขัดตานักการละครชาวรัสเซียอย่าง คอนสตานติน สตานิสลาฟสกี (Konstantin Stanislavski) ผู้ที่ต่อต้านการอาศัย ‘ออร่า’ ของเหล่าดาราบุคลิกหน้าตาดีมาเป็นจุดขายทางการแสดงมากกว่าการแสดงบทบาทที่สมจริง จนเกิดแนวคิดทางการแสดงในแบบเมธ็อด (Method Acting) มุ่งเน้นความสมจริงและจริงใจ แต่หนังเรื่อง ‘หลานม่า’ กลับทำให้เห็นแล้วว่า การแสดงในขนบพลังดาราไม่ได้จำเป็นต้องสร้างปัญหาในการเข้าถึงอารมณ์และตัวตนของตัวละครเสมอไป และในบางครั้งดาราเหล่านั้นก็สามารถหามุมความเป็นตัวเองที่จับมือไปด้วยกันกับตัวละครนั้นๆ ได้ ทำให้การแสดงใน ‘หลานม่า’ ปรากฏทั้งกรณี ‘ตีบทแตก’ กับ ‘she คือนางแบก’ ต่างกันไปดังนี้

3.1. อุษา เสมคำ เป็น ‘อาม่าเหม้งจู’ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดง ‘หน้าใหม่’ ในวัย 78 ปี ที่ต้องบอกเลยว่าการมารับบทบาทเป็น ‘อาม่า’ ใน ‘หลานม่า’ ครั้งนี้ เป็นสิ่งท้าทายความสามารถสำหรับนักแสดงไม่ว่าจะรุ่นไหน ส่วนที่ยากที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องราวชีวิตเบื้องหลังที่นักแสดงจะต้องยกคลังประสบการณ์มาเข้าฉากต่างๆ ให้ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในหนังเนื้อหาแบบ ‘หลานม่า’ เรื่องนี้ เพราะสำหรับการแสดงบางแบบนั้น แค่มีจังหวะได้เห็นหน้าตัวละครเพียงแว้บแรก คนดูก็ถึงกับต้องร้องอุทานแทรกขึ้นมาทันทีว่า “โอ้โห! นี่ชีวิตอาม่าต้องผ่านเจออะไรมา ทำไมหน้าตาถึงได้ขื่นขมอมอดีตกรีดหัวใจเอาไว้มากมายแบบนั้นล่ะ” ก่อนที่ตัวละครจะมีโอกาสเอ่ยไดอะล็อกท่อนแรกเสียด้วยซ้ำ ขณะที่การแสดงของ อุษา เสมคำ ใน ‘หลานม่า’ เธออยู่กับเวลาปัจจุบันมากเกินไป เหมือน ‘อาม่าเหม้งจู’ ผู้นี้เพิ่งจะเริ่มต้นมีชีวิตนับตั้งแต่ฉากแรก ณ ฮวงซุ้ยหลุมใหญ่ เรื่องราวหนหลังทั้งหมดของเธอจึงดูอ่อนจางจนไม่เห็นรายละเอียดใดๆ เรียกได้ว่าแค่สามารถแสดงในแต่ละฉากให้ผู้กำกับพึงพอใจ ก็ต้องปรบมือให้ดังๆ แล้ว แต่ก็นั่นล่ะ ความไม่ประสีประสาด้านการแสดงของอุษา เสมคำก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การสร้างตัวละคร ‘อาม่า’ ในเรื่องนี้มีความน่ารักที่ดูเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะหากผู้กำกับเปลี่ยนใจหันไปพึ่งฝีมือนักแสดงรุ่นใหญ่ระดับลายคราม คงจะไม่ได้การแสดงที่คงความธรรมชาติขนาดนี้ สุดท้ายก็ยังขอชมอยู่ดีว่าการแสดงของอุษา เสมคำใน ‘หลานม่า’ ก็ยังอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเกินความคาดหมาย แม้การนำเสนอปมปัญหาภายในจะยังไม่ถึงระดับคมคาย แต่เราก็ยังสัมผัสได้ว่า ‘อาม่าเหม้งจู’ รู้สึกวิตกกังวลอย่างไรต่อปัญหาที่เธอจะต้องเร่งแก้ไขก่อนที่ทุกอย่างจะสายและกลายเป็นเกินเยียวยา

3.2. พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล เป็น ‘หลานเอ็ม’ คนนี้แหละที่จัดว่ามาในแนวรัศมีดาราแบบไม่ต้องทำเก้อหันโบ้ยไปให้ใคร ผู้กำกับเขารู้แหละว่าบท ‘หลานเอ็ม’ สำคัญต่อตัวหนังมากขนาดไหน และคงจะต้องอาศัยเสน่ห์สุดพริ้งพรายเฉพาะตัวของ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ มาช่วยสร้างจุดขายแบบของตายให้หนัง แล้วค่อยมาปรับกันทีหลังว่าจะเอาน้อง ‘บิวกิ้น’ มาทำตัว ‘ติดดิน’ เป็น ‘หนุ่มเอ็ม’ กันท่าไหนอย่างไร ซึ่งก็ต้องนับว่าการแสดงของพุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุลในบท ‘หลานเอ็ม’ ครั้งนี้เกินคาด จากตัวบทที่ต้องแสดงเป็นสมาชิกที่เมินเฉยคนอื่นๆ แบบแบนๆ ไม่เคยคิดวางแผนหรือใส่ใจใครๆ พุฒิพงศ์กลับสามารถแสดงความ ‘ไม่เอาไหน’ ในแบบของ ‘หลานเอ็ม’ ได้ไปพร้อมๆ กับการโปรยเสน่ห์ด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจใครเห็นก็ต้องรักต้องเอ็นดูแบบ ‘ดารา’ ผู้รู้งาน ด้านฉากต่างๆ ที่ต้องสร้างปมดราม่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกโกรธเกรี้ยวเขาก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างจริงใจ ดูแล้วไม่สงสัยเลยว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกอะไรแบบนั้น และพูดจาอะไรแบบนั้นออกมาจริงๆ ยิ่งช่วงต้องแสดงอารมณ์ซาบซึ้งคิดถึงอาทรในตัว ‘อาม่า’ จนน้ำตาแตก เขาก็ยอมแลกด้วยความรู้สึกเจ็บปวดที่แท้จากภายใน คือได้ดูทั้งเรื่องแล้ว ต่อให้ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ ยังติดมาดดาราเสน่ห์ออร่ามาแบบท้นล้นจอขนาดไหน เขาก็ยังสามารถถ่ายทอดตัวละครเอ็มออกมาได้อย่างไม่มีส่วนใดบกพร่องเลย! เป็นอย่างไรล่ะ สตานิสลาฟสกี อุตส่าห์สรรหาเทคนิควิธีการแสดง The System เขียนตำราเป็นเล่มๆ เกี่ยวกับการแสดงแบบเมธ็อดหวังจะติติงการแสดงในแบบอาศัยพลังดารา ถ้าได้มาเห็นการแสดงของ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ ใน ‘หลานม่า’ แล้วเขาอาจถึงกับต้องกลับไปฉีกตำราหาจังหวะกลืนน้ำลาย ถึงจะเป็น ‘ดารา’ ก็ไม่ได้หมายความว่าแสดงไม่เป็นนะครัฟ บิวกิ้นกล่าว!

3.3. สัญญา คุณากร เป็น ‘กู๋เคี้ยง’ รายนี้ก็สายพลังดารา เทียบเคียงไปกับการแสดงของ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ ได้อยู่เหมือนกัน แถมคุณสัญญานี่ก็อาจจะถือว่าเป็นหนึ่งในต้นตำรับของการแสดงแบบพลังดาราของวงการหนังและละครไทย เพราะไม่ว่าเฮียแกจะรับเล่นเรื่องไหนบทไหน เราจะได้เห็นมาดของความเป็นยอดพิธีกร ‘สัญญา คุณากร’ หลอกหลอนติดตามไปอยู่เสมอ! และหลายๆ ครั้งก็ใช้ความเป็นสัญญา คุณากรมาซ้อนทับบทบาทตัวละครที่เล่นจนเราแทบไม่เห็นเลยว่าตัวละครเป็นคนอย่างไร ทำให้บางครั้งก็สงสัยว่าคุณสัญญา คุณากรเอาตัวเองลงมาจุ้นจ้านในหนังหรือละครเรื่องนั้น ๆ ทำไม เพราะทำให้บุคลิกสำคัญของตัวละครที่ว่าไม่สามารถทะลุตัวตนของคนที่ชื่อสัญญา คุณากร เพราะทุกฉากตอนเขาจะคอยเอาแต่ยืนบัง! หากในหนังเรื่อง ‘หลานม่า’ ผู้กำกับสามารถดึงความเป็นสัญญา คุณากรในมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนมาสร้างเป็นตัวละครกู๋เคี้ยงได้อย่างแตกต่างจนน่าสนใจ โดยเฉพาะในมุมของความเป็นคนกระหายความสำเร็จของครอบครัวตัวเองจนไม่สนใจใครๆ รอบข้าง เสียแต่เมื่อผู้กำกับสร้างตัวละครกู๋เคี้ยงจากความเป็น ‘สัญญา คุณากร’ จนสะท้อนเรื่องราวได้ตรงตามโจทย์แล้ว เขากลับไม่ได้สร้างความแพรวพราวอื่นใดให้ตัวละครรายนี้ จนตัวละครดูเป็น ‘มิติเดียว’ มากไป ซึ่งสัญญา คุณากรเองก็คงเกรงใจว่าถ้าบทไม่ได้เขียนเตรียมเอาไว้ หากเขาใส่สีสันความเป็นตัวเองเพิ่มลงไปมันอาจกลายเป็นความผิดที่ผิดทาง ทั้งที่บุคลิกบางอย่างของความเป็นสัญญา คุณากรเอง ทั้งความเก่งกาจด้านงานพิธีกรด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่ต้องซ้อนลูกล่อลูกชนอันหลากหลาย น่าจะช่วยให้ตัวละครกู๋เคี้ยง ‘น่าหมั่นไส้’ ที่ชวนให้เห็นใจเขาได้มากกว่านี้ วิถีการแสดงในแบบพลังดารา เผลอเอาตัวเองไปใส่ในบทบาท อาจจะใช้ได้ผลในกรณีกู๋เคี้ยงของสัญญา คุณากรซึ่งพอยังอ่อนไปตัวละครสำคัญรายนี้จึงมีน้ำหนักที่พร่องพลังลงจนดูจมหาย ทั้งที่เขาก็เป็นคู่แข่งรายสำคัญในการดูแล ‘อาม่า’ ของ ‘หลานเอ็ม’

3.4. สฤญรัตน์ โทมัส เป็น ‘หม่าม้าซิว’ รายนี้ก็เจอปัญหาเดียวกันกับบท ‘กู๋เคี้ยง’ ของ สัญญา คุณากร คือ ตัวละครมีมิติเดียว หน้าเดียว อารมณ์เดียว แบบยาวนานไป เห็นเธอทีไร ก็มีแต่ใบหน้าของ ‘นางแบก’ ผู้เหนื่อยหน่ายไร้แรงใจแรงกายจะทำให้ชีวิตใคร ๆ อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น ซึ่งสฤญรัตน์ โทมัส ก็ได้จัดการแสดงให้ตรงตามบทที่เขียนไว้ จะต้องแสดงแบบ no make-up ผมเผ้ากระเซิงเหมือนไปจับโดนสายไฟฟ้าแรงสูงมาก็ไม่เป็นไร บทเขียนมาให้เธอต้อง ‘เหนื่อย’ ขนาดไหน สฤญรัตน์ก็จะขอ ‘เหนื่อย’ แบบแทบขาดใจให้ตามนั้น แต่อุปสรรคสำคัญในการแสดงบท ‘หม่าม้าซิว’ ของ สฤญรัตน์ โทมัสคือเธอมีเนื้อเสียงที่แสนจะไพเราะกังวาน ไม่ว่าจะขานคำใดออกมาก็ล้วนมีจังหวะจะโคนที่น่าฟัง ราวกำลังขับกล่อมบทกวีด้วยมาดของนักประพันธ์สตรีอย่าง จิระนันท์ พิตรปรีชา อย่างไรอย่างนั้น บุคลิกอันแสนจะ ‘ปัญญาชน’ ของเธอจึงดูไม่เข้ากันเลยกับบท ‘ซิว’ ที่ต้องโหมลุยงานใช้แรงในซูเปอร์มาร์เก็ตจนร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ยิ่งวิธีการพูดจาของเธอก็ฟังดูเป็นคนมีพื้นฐานการศึกษา จนไม่ปรากฏความ ‘เพิ้ง’ แบบรากหญ้าอันจะชวนให้เชื่อได้ และกลายเป็นตัวละครที่ดูแล้วชวนให้รู้สึกขัดหูขัดตามากที่สุด ชุดน้ำเสียงที่นักแสดงเลือกใช้จึงสำคัญอย่างมากในการรับบทบาทต่างๆ หาก สฤญรัตน์ โทมัสยังไม่สามารถสวมรอยเป็นชนชั้นล่างจนน่าเชื่อได้ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ยังคงดูดีแม้จะไม่ได้หวีผมก่อนเข้าฉากเลยก็ตาม

3.5. พงศกร จงวิลาส เป็น ‘กู๋โส่ย’ รายนี้ได้โอดโอยไปแล้วว่าบทหนังช่างแหว่งกลวง ดูจนจบฉากสุดท้ายก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่าลึกๆ แล้วกู๋โส่ยเป็นคนอย่างไร เขากำลังพยายามงัดข้อชักเย่อกับสิ่งไหน แล้วเขารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เขาลงมือทำ เอาจริงๆ ผู้กำกับสามารถนำเสนอคำตอบของคำถามทั้งหมดข้างต้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องร่ายคำอธิบายใดๆ ด้วยบทสนทนาหรือแม้แต่คำพูดคำจา เพราะถ้าพงศกร จงวิลาสสามารถถ่ายทอดปมขัดแย้งภายในเหล่านั้นให้ออกมาทางสีหน้าและแววตา รวมทั้งอากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสื่อความหมาย เชื่อเหลือเกินว่าคนดูจะรู้สึกสัมผัสความคับข้องใจเหล่านั้นอย่างกระจ่างได้ แม้จะไม่ได้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่ากู๋โส่ยกำลังต่อสู้กับอะไรกันแน่ แต่จากที่เห็นในหนัง ตัวละครเหมือนละล้าละลังบางอย่าง ราวกับยังงงว่าจะต้องแสดงออกมาอย่างไร และทำไมตัวละครจึงตัดสินใจอะไรแบบนี้ ก็ถ้าพี่ยังงง คนดูจะไม่ยิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่หรือว่าชีวิตนี้พี่ต้องการอะไร และกำลังมีปัญหาอะไร จนอยากให้ผู้กำกับไขทุกอย่างออกมาแบบว่ากันตรงๆ เลยดีกว่าจะมานั่งมองตาโดยไม่รู้เลยว่าควรจะต้องตอบโต้ด้วยอะไรแบบนี้! บอกเลยว่าที่บ่นนี่ก็เพราะในฐานะคนดู เรารู้สึก ‘เป็นห่วง’ ตัวละครกู๋โส่ยไม่แพ้ ‘อาม่า’ พอผู้กำกับและนักแสดงดันมาลีลาไม่ยอมระบายออกมาเลยว่าปัญหาที่แท้มันคืออะไร มันก็ถือเป็นความไม่จริงใจและไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของคนดูอยู่เหมือนกันนะ!

4. บทตลกหกฉาก

ภาพรวมด้านการกำกับของผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ใน ‘หลานม่า’ นี่ ‘กัลปพฤกษ์’ ขอประกาศเลยว่า ‘ซื้อ’ ได้เกือบหมดเลยนะ กับทุกตัวเลือกที่เลือกมา ต่อให้เนื้อหาจะว่าด้วยเรื่องราวแบบ kitchen-sink drama ของสมาชิกครอบครัวเชื้อสายจีน แต่กลิ่นอายบรรยากาศอันอวลอุ่นละมุนละไมในแบบหนังญี่ปุ่นของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda -คนทำหนังชาวญี่ปุ่น) และความอีเหละเขละขละของบ้านอันซอมซ่อและเก่าโบราณแบบที่เห็นในงานหนังไต้หวันของ ไฉ้หมิงเลียง (Tsai Ming-liang -คนทำหนังชาวไต้หวัน) ในห้องแถวย่านตลาดพลู ก็หลอมรวมกันออกมาจนดูดี ไม่มีจริตจงใจจนให้ความรู้สึกประดิษฐ์ ตัวละครทั้งหลายจึงดูใช้ชีวิตกันอย่างเป็นธรรมชาติ ปล่อยคำผรุสวาทเหน็บด่ากันอย่างรักใคร่ถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่จะมีจุดที่ดูแล้ว ‘ไม่โอเค’ ‘ไม่ประทับใจ’ ในตัวเลือกด้านการกำกับ จนกลับกลายเป็นฉากที่ดู ‘ตลก’ รวมจำนวนหกฉากด้วยกัน ฉากตลกอันน่าขบขันที่พลันทำให้หนังทั้งเรื่องต้องมีรอยแตกร้าว ไม่อาจทอประกายอันสุกสกาวจากคราบมลทินอันมัวหมอง

4.1. ฉากบากหน้าไปหาอาเฮีย ฉากนี้แหละที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ถือว่าเป็น ‘ที่สุด’ ของความ didactic ของเทคนิคการเล่าด้วยน้ำเสียงแบบ ‘เทศนาโวหาร’ โพล่งความคิดอ่านของตัวละครผ่านคำพูดจาโดยหาได้มีชั้นเชิงที่จะทำให้สถานการณ์ดู ‘เนียน’ ขึ้นแต่ประการใด โดยส่วนที่รับไม่ได้เลยก็คือปฏิกิริยาของ ‘อาเฮีย’ หลังจากที่ ‘อาม่า’ มาขอเงินซื้อฮวงซุ้ยหรูมูลค่าเหยียบล้านเพื่อเป็นการทวงมรดก แต่ ‘อาเฮีย’ กลับโพล่งตอบออกไปจนดูตลกว่า “อั๊วกะลื้อมันคนละแซ่จะกลับมาตอแยอีกทำไม แม้แต่ห้าบาทอั๊วก็จะไม่มีวันให้” ซึ่งเฮ้ย! มันเถรตรงเกินไปไหม ที่จะให้ตัวละครพูดจาอะไรใส่กันแบบนี้!

4.2. ฉากข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก ที่ดูแล้วถึงกับต้องกระตุกด้วยความตกใจว่าทำไม พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ จึงเลือกใช้การกำกับเช่นนี้ ตำแหน่งบล็อกกิ้งตัวละครดูที่ผิดทาง เดี๋ยวคนนั้นให้นั่งทางซ้าย แล้วให้คนนี้นั่งทางขวา จนไม่รู้ว่าจะจับไม้จับมือปลอบใจกันอีท่าไหน ฝ่าย ‘หม่าม้าซิว’ ก็มัวแต่ร้องห่มร้องไห้จนดูฟูมฟาย ไม่ได้เข้ามาโอบกอดปลอบประโลม ‘หม่าม้า’ ตัวเองเลยสักนิด อ้อ! เพราะมัวแต่คิดคำสวยด้วยจริตกวีตามรอยจิระนันท์ พิตรปรีชาอยู่สินะ ว่าจะอธิบายสำนวน ‘ข้าวสารกลายเป็นข้าวสุก’ ให้เอ็มฟังว่าอย่างไร จากฉากที่ควรจะซาบซึ้งประทับใจมากที่สุด มันเลยชวนให้รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านจน ‘ไม่ผ่าน’ เลยในด้านความจริงใจได้ธรรมชาติของการนำเสนอ

4.3. ฉากเคาะกระจกรถเพราะอดกินเครื่องในวัว อันนี้ก็ซื่อเสียจนอดหัวเราะไม่ได้ ชะรอยว่าผู้กำกับจนปัญญาไม่รู้ว่าจะหาสถานการณ์มาปล่อยไดอะล็อกสนทนาฟื้นฝอยหาตะเข็บสำคัญนี้อย่างไร เลยบอกให้บิวกิ้นเดินไปเคาะกระจกรถพี่ดู๋-สัญญา พร้อมต่อว่าว่าเพราะเฮียคนเดียวอาม่าเลยต้องหันมานับถือเจ้าแม่กวนอิม อดลิ้มชิมรสเครื่องในวัวสูตรเด็ดที่อาม่าเห็นแล้วต้องคอยเช็ดน้ำลายทุกครั้ง! ถือว่าพังมาก ชัดเจน (indicative) เหลือเกินจนอยากจะให้ตัดออกไป แล้วค่อยหาคำอธิบายชามเนื้อเปื่อยที่ ‘หลานเอ็ม’ เอามาให้ ‘อาม่า’ ในช่วงท้ายเสียใหม่ อะไรที่ไม่ได้ก็คือไม่ได้ จะทู่ซี้ดันทุรังไปทำไมให้หนังทั้งเรื่องต้องเสียกระบวน!

4.4. ฉากคืนเงินทอนตอนขายบ้านได้  อันนี้ก็ไม่ไหวเพราะใช้บทสนทนาที่ didactic ไม่แพ้ฉากเคาะกระจกรถข้างต้นอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะตอนที่กู๋โส่ยยืนยันจะยื่นเงินก้อนที่เหลือให้ ‘หลานเอ็ม’ ก่อนจะโดนสวนกลับแบบเต็มๆ ฉาดใหญ่ เพราะมีใครที่ไหนเขาพูดกันว่า “นี่ฉันเหลือเงินไว้ได้ก้อนหนึ่งนะ” คือ จะ แปดร้อย สามพัน ห้าหมื่น สองแสน หรือเจ็ดล้าน มันก็เงินก้อนหนึ่งเหมือนกันทั้งนั้นนะ บอกมาเลยไม่ต้องตะบอยว่าซองขาวน้อยๆ นั้นมีเงินอยู่เท่าไหร่ อย่ามาใช้ภาษาแบบบทหนังว่า “ยังมีเหลืออยู่ก้อนหนึ่ง” อย่างนี้อีก!

4.5. ฉากเปลี่ยนกะงานมารักษาพยาบาลอาม่า คือเธอมาแบบซีนใหญ่ซีนยาวมาก ‘หม่าม้าซิว’ ทำทุกวิธีที่จะสลับกะงานเพื่อมาพยาบาลมารดาจนไม่สามารถหาเวลาช่วงไหนพักผ่อน ทั้งที่ตอนดูแลกันเอ็มก็อยู่ด้วยตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็นึกแก้ปัญหาได้ว่า ก็ให้ ‘หลานเอ็ม’ เป็นคนดูแล ‘อาม่า’ พาไปโรงพยาบาลแทนสิ จะยากตรงไหน อ้าว! แล้วทำไมไม่คุยกันไว้ตั้งแต่ต้นให้ทุกคนต้องมาเสียเวล่ำเวลา! ทั้งงงทั้งฮามากเลยนะ

4.6. ฉากร้านขายโจ๊ก ส่วนนี้เท่าที่มีในหนังไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอหันมามองในภาพใหญ่ ร้านโจ๊กของ ‘อาม่า’ มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดของหนังมหาศาล เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัวของ ‘อาม่า’ เป็นทั้งอาชีพ เป็นโรงเรียนฝึก ‘จอหงวน’ ที่ทำให้ ‘อาม่า’ ลืมตาอ้าปากจนฝากอนาคตของทุกคนไว้กับเพิงริมทางแห่งนี้ แต่บทบาทของร้านขายโจ๊กที่ปรากฏอยู่ในหนัง ‘หลานม่า’ ทำไมมันจึงถูกด้อยค่าได้เวลาบนจอเพียงน้อยนิดถึงขนาดนี้ ทั้งที่มันเป็นที่เชื่อมความสัมพันธ์จากยายสู่หลาน ถ่ายทอดวิชาจอหงวนในทุกขั้นตอนกระบวนการ จน ‘หลานเอ็ม’ จากที่ตื่นไม่ทัน หันไปทำอะไรก็ไม่เป็น เขาสามารถจัดรถเข็นเตรียมไปร้านโจ๊กโดยลำพังตั้งแต่ ‘อาม่า’ ยังไม่ทันลงมาจากชั้นสองได้ ร้านขายโจ๊ก จึงเป็นเหมือนฉากเหมืองทองพร้อมให้ผู้กำกับปล่อยของลงรายละเอียดว่า ‘อาม่า’ สามารถเปิดร้านขายโจ๊กรสเด็ดดังจนลูกค้าทั้งย่านต้องแวะผ่านมาซื้อได้อย่างไร และ ‘หลานเอ็ม’ เป็นลูกศิษย์สืบทอดที่ทำให้ ‘อาม่า’ สบายใจได้ขนาดไหนว่า ถ้าสุดท้ายเขาไม่มีที่ไป ยังไงเอ็มก็จะมีวิชาหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยร้านโจ๊กแห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่บทหนังไม่คิดจะคลี่คลายขยายความใดๆ จนน่าเสียดาย  แต่ไม่ว่าฉากตลกทั้งหกนี้จะสอบตกจะดูบกพร่องขนาดไหน ‘กัลปพฤกษ์’ ก็ยินดีจะให้อภัยในทันทีที่ได้เห็นฉากที่เล่าได้อย่าง ‘วิเศษ’ ที่สุดในหนัง ฉากสั้นๆ ที่หากเผลอนั่งกะพริบตาก็อาจจะหาไม่เจอเลยว่าอยู่ตอนไหน นั่นคือฉากที่เอ็มได้กลับมานอนที่บ้าน แล้วดันตื่นนอนตั้งแต่ยังวิกาล ณ เวลาตีสี่สิบเอ็ดนาที ฉากที่ทำให้เห็นว่า ‘หลานเอ็ม’ ได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่หลังได้ใช้ชีวิตร่วมชายคากับ ‘อาม่า’ ฉากเล็กๆ ที่ ‘อาม่า’ สามารถนอนตายตาหลับ หลังจากปรับพฤติกรรมของ ‘หลานเอ็ม’ ให้เรียนรู้ที่จะอยู่ดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เหลือตลอดไป โดยที่หนังไม่ต้องพูดไม่ต้องอธิบายอะไรเลยแม้สักคำ!

มันเป็นเวรเป็นกรรมจากชาติปางไหนหนอ ที่พอ ‘กัลปพฤกษ์’ มีโอกาสได้เจอกับหนังไทยสุดเลิฟสุดรัก ก็ยังพาลมีอะไรมาดักอารมณ์ความรู้สึกไม่ให้ถลำลึกไปกับความซาบซึ้งประทับใจจนต้องมาไล่ประเด็นก่นด่าว่ากันเป็นรายหัวข้อได้ขนาดนี้ แต่ที่มาพร่ำพ่นคำตำหนิเป็นผีบ้าด้วยวาจาไม่น่าฟัง ทั้งหมดมันก็มาจากความห่วงใย ถ้าไม่รักไม่ใส่ใจก็คงไม่มานั่งร่ายยาวป่าวประกาศให้รู้ว่าชอบไม่ชอบอะไรตรงไหน เพราะหนังอย่าง ‘หลานม่า’ ไม่สามารถจะเป็นอื่นใดได้นอกเหนือจากอัญมณีเม็ดงามที่ทอประกายยามต้องแสงจากการเจียระไน ไม่สามารถจะพลาดตรงไหนได้แม้สักจุดเดียว พอเหลียวไปเห็นรอยแตกร้าวมันจึงชวนให้ใจหาย ทำให้อัญมณีทั้งเม็ดต้องพลอยด้อยมูลค่าลงไป ถ้าเปรียบเปรยแบบคนรุ่น ‘อาม่า’ แล้วยังไม่เข้าใจ เดี๋ยวจะเทียบใหม่แบบคนรุ่น ‘หลานเอ็ม’ ก็ได้ว่าจะรู้สึกยังไงเมื่อได้เห็นสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่รูปทรงโฉบเฉี่ยวไฉไล คุณสมบัติจัดเต็มแบบพร้อมใช้ แต่หน้าจอสว่างใสดันมีรอยเส้นปริแตกวางตัวตามแนวทแยง ที่ต่อให้ทุกอย่างยังคงความแข็งแรงและใช้งานได้ คุณค่าของมันย่อมจะลดน้อยถอยลงไปไม่สามารถเอามาขายในราคาเต็มได้อีกด้วยรอยฉีกแตกเส้นนั้น แล้วมันน่าโกรธไหมล่ะคุณผู้อ่านที่รักทุกท่านในเมื่อองค์ประกอบทุกด้านมันแสนจะเพียบพร้อมที่จะหล่อหลอมออกมาให้กลายเป็นชิ้นงานอันพิสุทธิ์สมบูรณ์!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save