fbpx

อ่านอนาคต ตีโจทย์(แรง)งานไทย เราควรปรับตัวอย่างไรในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับคนในวัยผู้ใหญ่ ชีวิตของเราส่วนใหญ่ถูกผูกติดอยู่กับงาน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่อยู่บนตึกสูงใหญ่ระฟ้า ฟรีแลนซ์ที่นั่งทำงานจากที่ใดก็ได้ในโลก หรือคนขายของที่เปิดร้านรวงอยู่จนเห็นชินตา ทุกคนล้วนผูกชีวิตของตนเองอยู่กับงาน ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่ในที่ทำงาน กับเพื่อนร่วมงาน และใช้มันเพื่อทำงาน

เช่นเดียวกับอีกหลายสิ่งบนโลกนี้ โลกแห่งการทำงานล้วนเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย จากการทำงานในท้องไร่ท้องนาพลิกผ่านเข้าสู่การทำงานโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัทใหญ่ จนกระทั่งดิจิทัลเริ่มเข้ามา ‘เขย่า’ ในทุกมิติของสังคม โลกแห่งการทำงานก็เริ่มเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้น ยิ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งพลิกโฉมโลกการทำงานไปอย่างรวดเร็วจนเกินที่ใครจะคาดคิด

โลกแห่งการทำงานเปลี่ยน แต่คนกลุ่มใหญ่ที่ยังคงอยู่ในระบบคือแรงงาน ประเด็นท้าทายสำคัญคือเมื่อโลกเปลี่ยน แรงงานจะปรับและเปลี่ยนตามอย่างไร โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนพูดคุยกันว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทักษะทางดิจิทัลกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ตลาดแรงงานต้องการ พร้อมด้วยความต้องการทักษะใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ไม่ใช่แค่แรงงานเท่านั้น แต่ในโลกแห่งการทำงานยังมีคนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ผู้ประกอบการ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ต้องปรับให้เข้ากับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหากไม่ปรับตัวแล้ว คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอาจจะถาโถมเข้าใส่จนกระทั่งพัดพาคนบางส่วนออกจากตลาดแรงงานก็เป็นได้

คำถามสำคัญคือ เราจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เข้ากับเทรนด์การทำงานในยุคปัจจุบันนี้?

101 ชวนอ่านอนาคตตลาดแรงงานไทย พร้อมทั้งตีโจทย์สำคัญว่าในยุคที่ทุกคนขนานนามว่าเป็นยุค ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ แรงงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวอย่างไร ผ่านบทสนทนากับผู้คนจากหลากหลายวงการ ประกอบด้วย ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สคูลดิโอ จำกัด (Skooldio) ธนา เธียรอัจริยะ ประธานกรรมการบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยเก็บความจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #8: ‘ถอดรหัสอนาคตแรงงานไทย’

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่แปดในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมอ่านอนาคตและตีโจทย์ใหม่ของ (แรง)งานไทย เพื่อสร้างระบบนิเวศการทำงานที่ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ สอดรับกับเทรนด์โลกปัจจุบัน และที่สำคัญคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในบรรทัดถัดจากนี้

YouTube video

อ่านกระแสตลาดแรงงานยุคใหม่ เมื่อดิจิทัลคือ ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ –  ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

“ดิจิทัลในยุคนี้คือ ‘ทางรอด’ ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’” คือคำกล่าวนำจาก ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สคูลดิโอ จำกัด (Skooldio) พร้อมชี้ให้เห็นโจทย์ต่อไปว่า โจทย์ของเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) คือทุกคนหันมาทำเรื่องดิจิทัลกันหมด คำถามสำคัญคือนี่เป็นความเสี่ยงหรือว่าโอกาส

“ถ้าพูดเรื่องความเสี่ยง เราลองดูแต่ละแอปพลิเคชันที่เราจ่ายเงินติดตาม (subscription) หรือใช้เป็นประจำทุกวัน เกือบทุกแอปฯ เป็นของต่างชาติหมดเลย น่าจะมีแค่ mobile banking ที่เป็นของไทย แต่ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไฟเขียวให้เปิด digital banking แบบไม่มีสาขาได้แล้ว ก็เป็นไปได้อีกที่ธนาคารต่างชาติจะเข้ามา”

คำถามของวิโรจน์คือ เราจะทำธุรกิจต่อไปอย่างไร และอนาคตกำลังแรงงาน (future workforce) แบบไหนที่จะช่วยให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้นได้

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ความเสี่ยง การเป็นดิจิทัลและโลกไร้พรมแดนนำมาซึ่งโอกาสได้เช่นกัน วิโรจน์ชี้ว่าบริษัทในยุคนี้สามารถเป็นบริษัทระดับโลก (global company) ได้ตั้งแต่วันแรกๆ เพราะดิจิทัลทำให้คนที่อาจจะไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่ ทุนหนา สามารถเติบโตในยุคที่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ครอบคลุมทั้งโลกได้

เมื่อมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส วิโรจน์จึงสรุปว่า ทุกองค์กรต้องเตรียมกำลังแรงงานของตนเองให้มีทักษะเพียงพอที่จะแข่งระดับนานาชาติได้

เมื่อขยับมาดูเรื่องการจ้างงาน วิโรจน์ชี้ว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่มองไปถึงเรื่องอนาคตการจ้างงานและตลาดที่เกี่ยวพันกับทักษะของแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กล่าวคือตลาดแรงงานจะต้องการอาชีพใหม่ๆ เช่น วิศวกรสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งต้องอาศัยทั้งทักษะด้านเครื่องกลไก ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการเขียนโปรแกรม

แต่ไม่ใช่แค่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในแต่ละสายอาชีพ (hard skill) เท่านั้น ทว่าทักษะด้านอารมณ์และอุปนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (soft skill) ก็สำคัญเช่นกัน เช่น ความอดทนและความขยัน

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

สำหรับเรื่องที่เทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI จะเข้ามาเขย่า (disrupt) อย่างรุนแรง วิโรจน์เสนอว่า การเข้ามาแทนที่ของ AI จะเกิดขึ้นในสองรูปแบบ คือการทำงานแทนที่คนไปเลยกับกับการช่วยเสริมให้มนุษย์ทำงานง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อมองภาพตลาดแรงงานในปัจจุบัน พบว่า ตลาดแรงงานกำลังขาดแคลนผู้มีความสามารถ (talent shortage) ในการทำงาน พร้อมไปกับการที่เด็กจำนวนมากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถหางานทำได้

“คำที่หายไประหว่างสองประเด็นนี้คือ ‘คุณภาพ’” วิโรจน์กล่าว “เรามีทั้งนายจ้างที่มองหาคนเก่งมาทำงาน และคนที่หางานแต่ไม่เก่งพอที่จะทำงาน นี่เป็นช่องว่างระหว่างทักษะที่มหาวิทยาลัยสอนเด็กกับสิ่งที่ตลาดต้องการจริงๆ และเราต้องตระหนักด้วยว่ามันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคยมีมา”

“หรือถ้ามองไปให้ไกลกว่านั้น เรากำลังอยู่ในโลกที่ความรู้มีวันหมดอายุเร็วขึ้น สิ่งที่เรียนในช่วง 4 ปีของมหาวิทยาลัยอาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในอนาคตข้างหน้า จึงมีการพูดถึงเรื่องทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้แบบตลอดชีวิต (lifetime employability)”

เมื่อเอาสองประเด็นข้างต้นมารวมกัน วิโรจน์ชี้ว่า งานแต่ละงานยังจะต้องมีความรู้หรือทักษะเฉพาะในวิชาชีพอยู่ แต่ทุกคนจะต้องมีทักษะซึ่งเทคโนโลยีใดก็ไม่สามารถแทนที่ได้ เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการเรียนรู้และรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือแม้กระทั่งทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

นอกจากนี้ แรงงานยังจะต้องมีทักษะใหม่ ความรู้ใหม่ ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน เช่น การใช้ Microsoft Excel หรือมีความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) มากไปกว่านั้นคือทักษะที่จะช่วยให้แรงงานก้าวนำคนอื่นได้ เช่น AI Cloud หรือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security)

“สถาบันการศึกษาอาจจะต้องเริ่มพิจารณาแล้วว่า วิธีการสอนปัจจุบันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ในโลกลักษณะนี้ สมัยก่อนเราอาจจะได้ความรู้จากห้องสมุด แต่สมัยนี้เรามี Chat GPT เด็กได้ความรู้จากการถาม ตรงนี้ก็น่าจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้วย”

“บางทีการแบ่งเป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์อาจจะไม่ได้เหมาะนัก คำถามคือเด็กจำเป็นต้องเลือกเลยไหมในเมื่อเรายังไม่มีระบบแนะแนวที่ดีพอ เราควรจะสอนให้เด็กกล้าสำรวจและมีความรู้พื้นฐานที่ดี เพื่อให้เขาเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learner) มากกว่า”

วิโรจน์ชี้ให้เห็นเทรนด์ภาพกว้าง 3 ส่วนในตลาดแรงงานไทย เทรนด์แรก คือ การเน้นที่การประกอบอาชีพ (career focused) โดยในปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่จบปริญญาตรีแต่ทำงานในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี จึงเป็นคำถามว่า เด็กกลุ่มนี้สมควรจะเรียนในสายอาชีพแต่แรกหรือไม่เพื่อให้สอดรับกับทักษะและความสามารถของตนเอง

เทรนด์ที่สอง คือ การเรียนรู้แบบสหวิทยากร (interdisciplinary) วิโรจน์ชี้ว่าปัญหาใหญ่ของไทย คือ กำแพงของความเป็นคณะ ที่ทำให้เด็กต้องเข้าเรียนในคณะนั้นและโดนบังคับให้เก็บหน่วยกิตให้ครบตามที่กำหนด ทำให้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมภาพของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

และสุดท้าย คือ การได้ใบปริญญาหรือหนังสือรับรองที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (flexible credentials) ซึ่งจะสอดคล้องกับเรื่องการจ้างงานที่อิงตามทักษะที่ได้กล่าวไปตอนต้น วิโรจน์ชี้ว่าใบปริญญายังมีความสำคัญอยู่ แต่ลักษณะการได้ปริญญามาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น เริ่มจากการเข้า workshop ในคอร์สที่สนใจ และนำไปต่อยอดการเรียนจนกระทั่งได้ใบปริญญามา

“ความรู้ของเราตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ในระบบเท่านั้น แต่ยังมีโปรแกรมเรียนออนไลน์หลายแห่งที่มีผู้สอนจากทั้งมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม บางที่ก็มีทั้งให้เรียนออนไลน์จนผ่านแล้วถึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความยืดหยุ่นอย่างมหาศาล”

ในตอนท้าย วิโรจน์ทิ้งท้ายในเชิงนโยบายว่า ภาครัฐควรมีกลยุทธ์ให้ชัดเจนว่าอยากส่งเสริมด้านใด อยากมุ่งเน้นธุรกิจไหน แต่ที่สำคัญคือ อย่าทำเองทั้งหมด แต่ให้สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

อ่านผลกระทบของ ‘ทุนนิยม’ ต่อตลาดแรงงานไทย – ธนา เธียรอัจฉริยะ

หนึ่งในภาพใหญ่ของประเทศไทยตอนนี้คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยและการเกิดของประชากรที่ลดลง โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเด็กเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยลดลงจะทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดตัวลง และเมื่อประชากรลดลง นั่นย่อมเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนอย่างมาก

เมื่อขยับมาที่ตลาดแรงงาน ธนาชี้ให้เห็นภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทใหญ่ๆ ต้องการปรับขนาดองค์กร จึงต้องลดคน ทำให้เกิดภาวะที่คนทักษะสูงว่างงานจำนวนมากในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานก็ต้องเจอกับภาวะที่เงินเดือนแต่ละเดือนน้อยจนน่าใจหาย นำมาสู่เทรนด์การใช้ชีวิตแบบไม่มีลูก (Double Income No Kid: DINK) ซึ่งจะย้อนกลับไปที่ปัญหาประชากรเกิดน้อยข้างต้น

“มีคนบอกผมว่า ความมั่งคั่ง (wealth) ของประเทศ 90% อยู่ที่กลุ่ม baby boomer และ Gen X เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง ส่วน Gen Y มีหนี้เยอะสุด และเด็กรุ่นใหม่ไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นหนี้หรือเงิน”

ทั้งหมดนำมาสู่ข้อสรุปของธนาว่า ความมั่งคั่ง แรงงาน ทุน และการเคลื่อนย้ายของทุน มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานมาก ทุนเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาทุกอย่างและต้องการอะไรที่ได้ผลตอบแทนเร็ว ทำให้หลายครั้งที่ความยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะต้องใช้เวลารอนานเกินไป

“ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย เราอาจจะมองว่าแข่งระดับซีเกมส์ก็ได้ เอาชนะประเทศแถวๆ นี้ก็พอ แต่ตอนนี้การแข่งขันเป็นโอลิมปิกแล้วนะครับ ต้องใช้ทั้งทุนและความสามารถ”

อย่างไรก็ดี ธนาชี้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะ k-shaped หรือการฟื้นตัวแบบที่ขาดสมดุล คือมีทั้งส่วนที่ฟื้นตัวขึ้นจากจุดสูงสุดจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ และส่วนที่ตกต่ำต่อไป ทำให้ปลายทางของกราฟการเจริญเติบโตฉีกไปคนละทิศทางเหมือนตัว k ยิ่งขับเน้นความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนมากขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องการศึกษา กล่าวคือคนที่พ่อแม่มีฐานะดีจะสามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ หรือโรงเรียนนานาชาติได้ ทว่าเด็กอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงตรงนี้

“ทักษะที่เด็กไทยควรมีมากๆ คือเรื่องภาษาอังกฤษ ในไทย ทักษะภาษาอังกฤษคือสิ่งที่เราขาด แต่จริงๆ ในระดับโลกมันเป็น default เลยนะ เพราะภาษาอังกฤษจะช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ของโลกได้ แต่เรายังมีปัญหาตรงนี้อยู่เลย ทำให้เราวิกฤต”

ธนา เธียรอัจฉริยะ

นอกจากนี้ ธนายังมองว่า การพัฒนาแรงงานต้องคุยควบคู่ไปกับเรื่องทุนด้วย ซึ่งอีกหนึ่งความโหดของทุนคือเรื่องแพลตฟอร์มที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งบีบธุรกิจให้ลดต้นทุนและทำให้ธุรกิจต้องบีบแรงงานต่อเพื่อทำกำไร ทำให้แรงงานคล้ายจะเป็น ‘ผู้โดนลูกหลง’ จากทุนอีกทอดหนึ่ง

“ลองคิดภาพว่า ถ้าธุรกิจต้องเผชิญค่าส่วนต่าง 30% แล้วเขาจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานได้อย่างไร แล้วสิ่งนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในระยะสั้น ผมคิดว่าประเทศอย่างเราต้องยืนบนไหล่ของยักษ์ให้ได้ โดยเราต้องเข้าใจการทำงานแพลตฟอร์ม”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามสำคัญคือ ภาคนโยบายหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรจะปรับแก้อย่างไร

“ผมคิดว่า เราต้องยอมรับก่อนว่าเรามีปัญหา” ธนากล่าว “เราอาจจะลองวิจัยดูว่า เด็กควรมีทักษะอะไรถึงจะสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองและทันโลกด้วย และมีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะเอื้อให้เด็กได้ใช้ทักษะเหล่านี้”

ถ้าให้เจาะจงยิ่งขึ้น ธนามองว่าทักษะที่จำเป็นและสำคัญคือทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Microsoft Office หรือ Canva หากเป็นทักษะสำหรับแรงงานที่ค่อนข้างมีอายุและเสี่ยงที่จะถูกเลย์ออฟ ธนามองว่านี่จะเป็นความท้าทายที่ยากขึ้นอีก

“สำหรับคนรุ่นผม ทุกบริษัทอยากให้ออกหมดแหละเพราะว่าค่าตัวแพง ความรู้เท่าทันด้านดิจิทัล (digital literacy) ก็ต่ำ ความอึดถึกทนก็ไม่เหมือนเด็กๆ แถมมีภาระเยอะอีก และด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็ทำให้อายุยืนขึ้นอีก”

ธนาเล่าว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับแรงงานที่ค่อนข้างมีอายุ คือ ‘ความไม่อยากเรียนรู้’ ซึ่งขัดกับความต้องการของบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการคนที่สามารถเรียนรู้ได้ (ability to learn) ดังนั้น จึงนำมาซึ่งข้อสรุปว่า สำหรับแรงงานในกลุ่มนี้ ทักษะที่พัฒนาได้คือภาวะความเป็นผู้นำ (leadership)

“โลกทุนนิยมมันโหดร้ายนะครับ เพราะตอนนี้ทุกที่พยายามลดขนาดองค์กรและเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลิตภาพ (productivity) ให้มากขึ้นเพื่อจะได้กำไร คิดอะไรไม่ออกก็เอาคนออกก่อน ความยากของไทยคือ เรายังไม่อยู่ในสายตาทุนใหญ่ด้วยซ้ำ แถมยังโดนแพลตฟอร์มบีบอีก ทำให้พื้นที่ในการขยับตัวมีน้อยมาก”

ในตอนท้าย ธนาชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะหาโจทย์วิจัยเพื่อวางแผนการวิจัยในเรื่องดังกล่าว ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของการวิจัย แต่อยู่ที่เรื่องของการรับข้อมูลข่าวสาร ที่คนในสมัยนี้อาจจะไม่สนใจและทำให้เกิดผลกระทบยาก

“แต่ก่อนเราชอบคิดเป็นตัว I คือรู้อย่างเดียวแต่รู้ให้ลึกที่สุด แต่ผ่านมายุคหนึ่งแล้วมันไม่พอ เพราะการรู้เยอะที่สุดแบบไม่ยุ่งกับใครเป็นไปไม่ได้ กระแสจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้แบบตัว T คือทั้งรู้ลึกและรู้กว้าง จะได้เข้าใจคนอื่นด้วย แต่ถ้าเป็นเด็กยุคนี้ที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนที่ได้ทุกเมื่อ อาจจะต้องรู้เป็น Y คือรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์”

“ผมคงไม่ฝากเรื่องโจทย์วิจัย แต่ฝากประเด็นการเล่าเรื่อง (storytelling) มากกว่า เพราะยุคนี้รับข้อมูลข่าวสารกันยากมาก เราจะทำยังไงถึงจะทำให้คนเห็นว่าประเด็นนี้สำคัญและน่าสนใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำเหมือนกัน” ธนาทิ้งท้าย

ตีโจทย์การศึกษาไทย เพื่อสร้าง ‘มนุษย์แห่งอนาคต’ – รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

จากมุมมองในภาคธุรกิจ ส่งไม้ต่อให้ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการศึกษาอย่าง รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้ฉายภาพกว้างให้เห็นว่า ตอนนี้โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาจำนวนผู้เรียนลดลงเยอะมาก โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากผู้เรียนจะมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าระดับชั้นอื่น

อีกปัญหาที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีประมาณสามหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ ในจำนวนนั้นมีโรงเรียนที่ถูกนิยามว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 60% หรือประมาณ 15,000 โรงเรียน

“การเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหมายความว่า มีนักเรียนระดับชั้นใดก็ได้รวมกันไม่เกิน 120 คน นี่ยังไม่นับโรงเรียนห่างไกล อยู่บนเกาะ อยู่แถบชายแดนอีก ในโรงเรียนเหล่านี้มักจะมีครูประมาณคนสองคน ทำทุกหน้าที่ สอนทุกวิชาและทุกระดับชั้น บางทีต้องทำกับข้าวและทำความสะอาดโรงเรียนด้วย”

แต่นั่นไม่ใช่ภาพเดียวในระบบการศึกษาไทยเท่านั้น อนุชาติชี้ให้เห็นภาพต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาท่านอื่น คือ ระบบการศึกษามีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงมาก ดังที่เราเห็นภาพเด็กจำนวนมากแห่กันสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมชื่อดัง ในเวลาเดียวกันนั้น ก็มีเด็กอีกนับแสนคนที่ร่วงหล่นออกจากระบบการศึกษา ยังไม่นับเด็กที่อยู่ในระบบแล้ว แต่มีความสุ่มเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับสถานการณ์ที่เด็กมีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าและปัญหาเชิงจิตวิทยาสูงถึง 40% ของประชากรทั้งหมด

“ผมพูดมา 7-8 ปีแล้วว่าการศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน แต่ถ้าย้อนมองในเชิงประวัติศาสตร์ ผมก็จะบอกว่า ได้โปรดเห็นใจคนในวงการด้วย เพราะระบบการศึกษาทั่วโลกถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนามนุษย์ของประเทศ”

“เราลองจินตนาการว่าสัก 40-50 ปีที่แล้ว การสร้างหลักสูตรหรือการปั้นองคาพยพของระบบการศึกษาเกิดขึ้นในจินตนาการของโลกรูปแบบหนึ่ง เราคาดการณ์ว่าประเทศต้องการแพทย์ วิศวกร กี่คน แล้วทำหลักสูตรไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ เราต้องการแรงงานที่เป็นเลิศ ก็อัดเข้าไป เลยกลายเป็นการเรียนแบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง (content based) ยิ่งเรียนมากก็แปลว่าเก่งมาก และสุดท้ายก็ได้วุฒิบัตรตอนเรียนจบ นี่คือสิ่งที่เป็นมาตรฐานมาตลอดและไม่ได้ผิดปกติอะไร”

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

อย่างไรก็ดี อนุชาติชี้ว่า สิ่งที่ผิดปกติคือหลักสูตรดังกล่าวหยุดลงแค่ปี 2540 แต่เป็นหลักสูตรที่ใช้สืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงเด็กยุคปัจจุบัน และไม่มีแววว่าจะถูกปรับเปลี่ยนอีกครั้ง กล่าวให้ชัดกว่านั้น อนุชาติชี้ว่าไทยกำลังใช้หลักสูตรเมื่อเกือบสามทศวรรษที่แล้วกับเด็กในยุคปัจจุบัน ทั้งที่โลกพัฒนาไปไกลมากแล้ว

“เรามีระบบราชการที่แข็งแรงจนกลายเป็นบริหารการศึกษาแบบแข็งตัว การรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางทำให้ไม่เกิดการกระจายอำนาจ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะยึดเก้าอี้ขนาดไหนก็ขึ้นกับการตัดสินใจของคนในเมือง บวกกับการที่เราฝากความหวังและการพัฒนาประเทศไว้กับระบบการศึกษาแบบลอยๆ มาโดยตลอด คิดอะไรไม่ออกก็ส่งเรื่องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ฝากความหวังและโครงการต่างๆ เอาไว้ที่ครู”

เมื่อเป็นเช่นนี้ อนุชาติจึงชี้ว่า ไม่น่าประหลาดใจที่การเรียนโรงเรียนนานาชาติจะกลายเป็นเทรนด์ในขณะนี้ และในอนาคต อนุชาติคาดการณ์ว่าจะมีโรงเรียนที่คล้ายโรงเรียนติว เป็นโรงเรียนแบบทางการที่ติวเด็กในวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดรูปแบบหนึ่ง

“ในฐานะนักการศึกษา เราตระหนักอยู่แล้วว่าโลกในอนาคตจะมีความซับซ้อนสูงมากและถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่โจทย์ที่พบมากกว่านั้นคือ เราพยายามจะไม่นำอาชีพมาเป็นตัวตั้ง เพราะเราเชื่อว่าโลกแห่งอาชีพในอนาคตเป็นอะไรที่เรามองไม่เห็น”

“ในมุมการสร้างคน เรามองว่าการเปลี่ยนระบบการศึกษาที่ดีคือการเปลี่ยนบนโจทย์ที่ว่า เด็กจะไปสร้างอาชีพได้ด้วย แน่นอนแหละว่ามันจะยังมีทักษะอาชีพแบบเดิมดำรงอยู่ แต่จะมีทักษะใหม่เพิ่มขึ้น”

อนุชาติชี้ว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ระบบการศึกษาแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังนั้น ถ้าจะให้ประเทศนี้ไปรอดต่อได้ เขาชี้ว่าเราอาจจะต้องนำผู้เล่นคนอื่นๆ นอกเหนือจากกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาร่วมสร้างระบบการศึกษากันด้วย

“ผมว่าประเทศของเรามีทรัพยากรที่ไม่เลวเลยนะครับ แต่เราจำกัดผู้เล่นให้เป็นสินค้าผูกขาด โจทย์คือ จะต้องผลักดันเชิงนโยบายอย่างไรจึงจะช่วยให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมในระบบการศึกษาของประเทศนี้มากขึ้น จริงๆ เรามีศูนย์การเรียนรู้ มีแคมป์การเรียนรู้อยู่ทั่วประเทศที่เอกชนทำ แต่ยังเข้าไม่ถึงกันเลย”

นำมาสู่ข้อเสนอแนวคิด ‘การศึกษาแบบไร้รอยต่อ’ เพื่อตอบโจทย์อนาคตของโลกด้วยการทำให้ระบบมีรอยต่อน้อยที่สุด

“ถ้าเรานำเด็กเป็นตัวตั้ง อยากให้เขาเติบโตและพัฒนาศักยภาพของเขาไปถึงจุดสูงสุด เราต้องให้สังคมช่วยกัน นี่ไม่ใช่แค่โจทย์ของแค่กระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาล แต่ต้องเป็นโจทย์ของทั้งสังคม”

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือเรื่องของ ‘ทักษะ’ เพราะเมื่อพูดถึงทักษะ อนุชาติชี้ว่าเราต้องมองในสองระดับ ระดับแรกคือทักษะทางอาชีพ (professional skill) เช่น การเป็นแพทย์ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่การจะบอกได้ว่าคนๆ หนึ่งเป็นแพทย์ที่เก่งและมีทักษะที่ดี อาจต้องมีทักษะพื้นฐาน (foundation skill) บางอย่างที่จะนำไปสู่ตรงนั้นได้ เช่น ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ที่นำมาประกอบกันจนมีทักษะทางอาชีพที่ดี และมีทักษะความเป็นมนุษย์ (human skill) ที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป

“ต่อให้คุณเก่งเท่าไหร่ เรียนโรงเรียนที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่มีทักษะความเป็นมนุษย์ นักการศึกษาจะเศร้ามาก”

อนุชาติชี้ว่า นี่คือโจทย์ของวงการการศึกษาและการเรียนรู้ และเป็นโจทย์ที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในโลกที่ซับซ้อน คำถามใหญ่คือ เราต้องการคนแบบใดไปอยู่ในสังคมต่อไป แน่นอนว่าทักษะพื้นฐานและทักษะด้านอาชีพเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทักษะความเป็นมนุษย์อื่นๆ เช่น ภาวะผู้นำ การเป็นผู้ตามที่ดี ความสามารถในการทำงานเป็นทีม ก็เป็นเรื่องสำคัญ

“เราใช้คำว่า การกำกับควบคุมตนเอง (self-regulation) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเราตอนนี้หายนะโดยสิ้นเชิง เราพร้อมจะลุกกันขึ้นมาด่าตลอดเวลา ยังไม่ต้องนับว่าเราจะต้องสร้างคนไทยที่รู้ร้อนรู้หนาวจริงๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งงานวิจัยในอนาคตจะต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังแล้วว่า ถ้าจะสร้างคนแบบนี้ขึ้นมาจริงๆ เราจะต้องวางรากฐานของระบบการศึกษาอย่างไร”

สำหรับอนุชาติ ระบบการเรียนในโรงเรียนยังจำเป็นอยู่ ทว่าระบบในตอนนี้กลับก่อให้เกิดคนที่ไม่เห็นหัวความทุกข์ยากคนอื่นหรือเป็นผู้นำแบบเอาตัวรอด ขณะที่พ่อแม่จำนวนมากยังขาดความเข้าใจเรื่องพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย

ในตอนท้าย อนุชาติกล่าวสรุปว่า สำหรับการสร้างคนนั้น “พ่อแม่สำคัญที่สุดนะครับ บางคนเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน แล้วจะทำให้ลูกขาดภูมิคุ้มกันในชีวิต ไม่กล้าเผชิญกับความผิดหวัง ทั้งที่ความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ต้องล้มและลุกเองให้ได้”

“ผมว่านี่เป็นโจทย์ของการสร้างองค์ความรู้ว่าเราจะเติมเต็มเรื่องนี้กับเทคโนโลยีอย่างไรเพื่อสร้าง ‘มนุษย์ของอนาคต’” อนุชาติกล่าวทิ้งท้าย

มองภาพใหญ่ตลาดแรงงานไทย เมื่อเทคโนโลยีกลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ – รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์

“เราได้สำรวจสภาวการณ์การทำงานของประชากรเป็นเวลา 30 ปี โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สิ่งที่พบคือ ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้ว (wage polarization) ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในค่าจ้างของแรงงานที่มีทักษะต่างๆ”

ข้างต้นคือข้อค้นพบในงานวิจัย Brain over Brawn: Job Polarization, Structural Change, and Skill Prices ที่ รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมในการวิจัย ซึ่งฉายภาพใหญ่ของตลาดแรงงานไทยให้เห็น

“เราแบ่งกลุ่มทักษะออกเป็น 3 กลุ่ม ข้อค้นพบของเราคือ ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มทักษะสูงและทักษะต่ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มแรงงานที่มีทักษะปานกลางกลับเป็นกลุ่มที่แนวโน้มค่าจ้างค่อนข้างคงที่และไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเลย”

สาเหตุของเรื่องนี้คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีความโน้มเอียงไปยังการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (skilled-biased technological change) กล่าวคือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทำให้ตลาดแรงงานต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้มีค่าจ้างที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ พบว่า มีการเคลื่อนย้ายจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมบริการที่มีค่าจ้างสูงขึ้น ประกอบกับมีการเคลื่อนย้ายของประชากรจากชนบทมาสู่เมือง ทำให้แรงงานทักษะต่ำมีค่าจ้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทว่าสำหรับกลุ่มแรงงานทักษะกลางที่มักทำงานในโรงงานหรืองานที่เป็นงานกิจวัตรประจำวัน (routine) ศศิวิมลชี้ว่า งานดังกล่าวสามารถถูกทดแทนด้วย AI หรือเทคโนโลยีได้ ทำให้ค่าจ้างค่อนข้างคงที่ นำมาซึ่งช่องว่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานทักษะสูง/ต่ำและแรงงานกลุ่มทักษะปานกลางที่ทิ้งห่างกันเรื่อยๆ

“สรุปได้ว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน”

รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์

อีกข้อค้นพบคือ ทักษะแต่ละอย่างมีราคาไม่เท่ากัน กล่าวคือเมื่อดูอัตราผลตอบแทนที่มีค่าเป็นบวกพบว่า ยิ่งงานที่ใช้ปัญญา (brain) เยอะขึ้นจะทำให้มีผลตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลับกันกับงานที่ใช้กำลังกาย (brawn) เยอะ จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนต่ำลงเรื่อยๆ

ศศิวิมลชี้ว่า ผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพตลาดแรงงานไทยว่า ตลาดแรงงานไทยต้องการแรงงานที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงมาก หรืออาจถึงขั้นขาดแคลนเสียด้วยซ้ำ ทำให้แรงงานที่มีทักษะสูงได้ผลตอบแทนมากตามลำดับ

อีกประเด็นคือความแตกต่างระหว่างแรงงานเพศชายและเพศหญิง ศศิวิมลชี้ว่า แนวโน้มช่องว่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานเพศชายและเพศหญิงในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คือจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 20% กลายเป็นแทบจะไม่มีช่องว่างเลย สาเหตุมาจากผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น เปลี่ยนจากการทำงานในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นแรงงานที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม/ภาคบริการแทน ประกอบกับแนวโน้มการกีดกันแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

แม้ความแตกต่างระหว่างเพศจะลดลง แต่ประเด็นที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือเรื่องแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูก กล่าวคือ การมีลูกจะส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อแรงงานสตรี (motherhood wage penalty) ที่จะได้ค่าจ้างต่ำกว่ากลุ่มแรงงานสตรีที่ไม่มีลูกถึงประมาณ 20%

“สิ่งที่เราอยากให้ภาครัฐให้ความสนใจคือ ประเทศเราอาจจะขาดการสนับสนุนสวัสดิการให้แรงงานที่เป็นพ่อแม่” ศศิวิมลกล่าว “ถ้าดูช่วงโควิด จะมีภาวะเรียกว่า ‘shecession’ คือช่วงโควิด เศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่กลุ่มผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะผู้หญิงจะทำงานในภาคส่วนบริการเยอะ พอร้านอาหารหรือโรงแรมต้องปิดตัวก็เลยได้รับผลกระทบ และนอกจากเรื่องการทำงานแล้ว มาตรการล็อกดาวน์ก็ทำให้สถานรับเลี้ยงเด็กต้องปิดชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อความเป็นแม่เช่นกัน”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ศศิวิมลจึงชี้ว่า เราควรพิจารณาเรื่องการเพิ่มสถานเลี้ยงดูเด็กที่มีคุณภาพ หรืออาจจะขยายผลไปถึงการมีสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ เพื่อให้แรงงานที่เป็นแม่สามารถทำงานและเลี้ยงดูลูกไปด้วยได้ ซึ่งภาครัฐอาจให้แรงจูงใจ (incentive) ตรงส่วนนี้เพื่อกันไม่ให้แรงงานที่เป็นแม่หลุดออกจากตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการมีเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น (flexible)

“อย่าลืมว่าตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย การเกิดของประชากรลดลง แต่ถ้าการมีลูกทำให้แม่ต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างก็จะกลายเป็นบทลงโทษของแรงงานที่เป็นแม่ ภาครัฐจึงต้องพิจารณาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย” ศศิวิมลกล่าว พร้อมเสริมว่า แม้ช่วงโควิดจะมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานค่อนข้างมาก แต่ผลกระทบของโควิดไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนและทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน มาตรการเดียวจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกกลุ่ม แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่มีต่อแรงงานแต่ละกลุ่มก่อนจะออกมาตรการช่วยเหลือใดๆ มา

เมื่อมองต่อไปในอนาคต ศศิวิมลชี้ว่า ตลาดแรงงานน่าจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ที่กำลังจะถูกผลิตออกมาสู่ตลาดแรงงาน โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้ทั้งมีคุณภาพมากขึ้น และมีทักษะที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ และอีกกลุ่มหนึ่งคือแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว ซึ่งต้องหาทางพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้นเท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ซึ่งศศิวิมลชี้ว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างมาก

“เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมาก เราอาจจะจำเป็นต้องมีไกด์ไลน์ว่าตลาดแรงงานไปถึงไหนแล้ว ภาคเอกชนควรได้รับการฝึกฝนด้านไหน จะอัปสกิลหรือรีสกิลอย่างไร และต้องดูเนื้อหาด้วยว่าสามารถเพิ่มทักษะให้แรงงานได้จริงๆ ไหม ไม่ใช่ว่าฝึกฝนแล้วจบไป อาจจะต้องอัปเดตไกด์ไลน์รายปีด้วยซ้ำว่าตอนนี้เราต้องการแรงงานที่มีทักษะแบบใด” ศศิวิมลทิ้งท้าย

ปรับมาตรฐานใหม่ แรงงานไทยต้องอยู่ได้อย่างเป็นคน – ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงแรงงานมาเป็นเวลานาน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ชี้ว่า แรงงานในประเทศไทยมีประมาณ 39-40 ล้านคน และมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องอยู่ในสถานะดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

ปัจจัยแรก คือ กรอบแนวคิดแบบโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ศักดินาเท้าความว่า ก่อนหน้านี้ คนทำงานอยู่สายพานผลิตแบบเดียวกันตามแนวคิดแบบฟอร์ดนิยม (Fordism) ที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ซึ่งเน้นการผลิตจำนวนมาก ทว่าแนวคิดโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้นำคนออกจากระบบผลิตแบบเดียวกันและกระจายออกไป ก่อให้เกิดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่ทำให้เกิดการแข่งขัน บีบให้แรงงานต้องยืดหยุ่นและมีชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้น

ปัจจัยที่สอง คือ กรอบแนวคิดแบบระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นแนวคิดที่ทำให้เชื่อว่าคนไม่เท่ากันและไม่จำเป็นต้องเท่ากัน คนมีฐานะสูงสามารถตัดสินใจแทนคนอื่นได้ ศักดินาเน้นว่า แนวคิดนี้มีผลมากต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ เพราะทำให้คนทำงานส่วนใหญ่แทบจะไม่มีสิทธิตัดสินใจ

“การบอกว่าคนเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง มันสะท้อนวัฒนธรรมของเราในภาษาไทยนะครับ เพราะคนส่วนหนึ่งสามารถตัดสินใจสิ่งที่จะส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ได้”

ปัจจัยที่สาม คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่นำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาและมีผลกระทบกับแรงงานอย่างมาก

ปัจจัยที่สี่ คือ เรื่องโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการทำงานที่บ้าน (WFH) ซึ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตและรูปแบบของการจ้างงานและการทำงานไปโดยสิ้นเชิง

ปัจจัยที่ห้า คือ เรื่องสังคมสูงวัย คนเกิดน้อย ส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานและทำให้งานดูแลสุขภาพเป็นงานที่สำคัญขึ้น

และปัจจัยสุดท้าย คือ การเข้ามาของทุนจีน รวมถึงการทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ที่จะมีส่วนในการทำให้ชีวิตของแรงงานเปลี่ยนไป

“เราเคยได้ยินทัวร์จีนศูนย์เหรียญใช่ไหมครับ ตอนนี้เราเริ่มมีอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญแล้ว คือทุนจีนเข้ามาในประเทศโดยที่เราไม่ได้อะไร” ศักดินากล่าว พร้อมเสริมว่า การเจรจา FTA กับยุโรปที่มีประเด็นทางสังคมเข้ามาร่วมด้วยจะมีผลต่อการจ้างงานในไทยเช่นกัน

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

จากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสถานะแรงงานไทย ศักดินาชี้ให้เห็นสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน โดยหากแบ่งประเภทของแรงงานในไทย ประเภทแรก จะเป็นกลุ่มคนรับจ้าง คือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจาก 3 ล้านคนเหลือ 2 ล้านกว่าคน ประเภทที่สอง คือแรงงานในระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคมและมีกฎหมายคุ้มครอง ประมาณ 12 ล้านคน และประเภทสุดท้าย เป็นกลุ่มที่สำคัญมาก แต่ไม่ถูกนับรวม คือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 24 ล้านคน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่มีประมาณ 4 ล้านคนในไทย และสุดท้าย คือแรงงานไทยในต่างแดน

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อสรุปของศักดินาว่า แม้แรงงานอาจดูรวมเป็นก้อนเดียวกัน ทว่าแรงงานแต่ละประเภทมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญคือ การรวมตัว เพราะกฎหมายไม่ได้เอื้อให้เกิดการรวมตัวกันของแรงงานขนาดนั้น และถ้าแรงงานไม่สามารถรวมตัวกันได้ อำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ผู้ประกอบการ

“ผมสนใจเรื่องการรวมตัว เพราะส่วนมาก ประเทศที่แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีจะเป็นประเทศที่แรงงานรวมตัวกันและสามารถเจรจาต่อรองได้” ศักดินากล่าว “แต่ในบ้านเรา คนที่รวมตัวกันได้เป็นสหภาพมีแค่ 3.27% และมากกว่าครึ่งไม่ได้แอคทีฟ ส่วนเรื่องการทำข้อตกลงร่วม เรามีแค่ประมาณ 400 ฉบับโดยเฉลี่ยจากสถานประกอบการทั้งหมดห้าแสนกว่าแห่ง”

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า นายจ้างเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตเสียเป็นส่วนใหญ่ ค่าจ้างแรงงานไทยจึงอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำในไทย ซึ่งอิงจากความสามารถในการจ่ายของนายจ้างอีกที ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ควรอิงจากความจำเป็นของแรงงานมากกว่า

“ข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานคือ ให้ได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากลอยู่ดีนั่นแหละ เพราะถ้าดูปัจจัยที่บอกไปตอนต้น ล้วนเอื้อให้ผู้ประกอบการหมดเลย กลายเป็นทุนต่างชาติและผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์เยอะ ส่วนแรงงานถูกกดเอาไว้ เพราะพวกเขาคือต้นทุนที่จะนำไปสู่การแข่งขัน”

อีกกลุ่มสำคัญคือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายต่ำกว่า นำมาซึ่งการคุ้มครองที่ต่ำกว่าหรือแม้กระทั่งร่วงหล่นออกจากการคุ้มครองของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานกลุ่มนี้ยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ศักดินายกตัวอย่างแรงงานบนแพลตฟอร์มที่แถบยุโรป ซึ่งแรงงานต่อสู้จนได้รับสิทธิตามกฎหมาย มีวันพักผ่อน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ ต่างจากแรงงานไทยที่ทุกวันนี้ต้องทำงานถึงวันละประมาณ 14 ชั่วโมง เนื่องจากแพลตฟอร์มบีบให้ค่าจ้างน้อยลงทำให้ต้องทำงานมากขึ้น

“รูปแบบการจ้างงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป และเราไม่ได้ตั้งรับเลยว่าจะทำอย่างไร กฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นยุคอุตสาหกรรม 2.0 ด้วยซ้ำที่มองแต่กลุ่มคนที่อยู่บนสายพาน และปล่อยคนนอกสายพานให้หลุดร่วงไป”

แรงงานอีกกลุ่มที่มักถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิงคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยในต่างแดน ทว่าศักดินาขยายความว่า ในตอนแรกเริ่มที่มีแรงงานรับจ้างหรือแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนในประเทศไทย แรงงานส่วนใหญ่คือกลุ่มคนจากประเทศจีน หรือที่ไทยเรียกกันว่ากลุ่มกุลี ซึ่งเข้ามาเป็นแรงงานในไทยจนกระทั่งถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

“จะเห็นว่าแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องปกติมาก ทุกวันนี้เรามีแรงงานข้ามชาติเฉลี่ยสี่ล้านคน แต่พวกเราแทบไม่รู้เลยว่าเขามีชีวิตอย่างไร เพราะเราใช้กรอบความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรอบอุปถัมภ์ มองว่าเขาเป็นต่างด้าวและปฏิบัติต่อเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่เราขาดเขาไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย”

เมื่อถามถึงทางออก ศักดินายอมรับว่า ทั้งทุนนิยม โลกาภิวัตน์ หรือแม้กระทั่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถ ‘กำหนด’ ได้ แต่เราสามารถ ‘กำกับ’ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

“ทุกวันนี้แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ผมมองว่าเราเป็นสังคมที่ดีกว่านี้ได้ คือเป็นสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่าหากสมมติมีการเสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เราจะสนับสนุนถ้าเป็นแรงงาน แต่เราจะมองอีกแบบถ้าเราเป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนมุมมองเวลามองปัญหาและกำหนดนโยบาย อาจจะลองมองในมุมคนส่วนใหญ่ดูบ้างไหม”

หากมีงานวิจัยในอนาคต ศักดินาชี้ว่าควรเป็นงานวิจัยที่แสดงให้โลกเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ดี และเราไม่ควรยอมรับหรือพอใจในสถานการณ์ที่แรงงานกำลังเผชิญอยู่ จากนั้นจึงมองหาทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้

“ที่ผ่านมา เรากำหนดนโยบายแบบบนลงล่าง (top-down) มาตลอด คนส่วนน้อยคือคนกำหนดนโยบายประเทศและบอกเสมือนว่าเราไม่มีทางเลือกอื่น อย่างที่ผมบอกว่าเราเชื่อใจทุนนิยมมากเกินไป และวางใจมันเกินไป”

อย่างไรก็ดี ศักดินาชี้ว่า แม้ทุนนิยมจะมีลักษณะเอารัดเอาเปรียบตามธรรมชาติ แต่เราสามารถกำกับได้เหมือนชาติยุโรปหลายประเทศ นายทุนก็ยังไปต่อได้ ส่วนแรงงานก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ศักดินายกตัวอย่างโครงการ Fairwork ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดทำร่วมกับสถาบันสังคมศาสตร์แห่งเบอร์ลินในช่วงที่เริ่มมีการจ้างงานบนแพลตฟอร์มเกิดขึ้น ซึ่งวางกรอบที่จะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีงานที่เป็นธรรมขึ้นได้

ข้อแรก คือ fair play หรือการได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ซึ่งดังที่ศักดินาพูดตอนแรกว่าหลักเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างของไทยกลับเอาความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นตัวตั้ง ประกอบกับการที่สหภาพแรงงานไทยมีน้อยและไม่แข็งแรง ทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรองมากพอ

“ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าค่าจ้างไม่ขยับ ทั้งระบบก็จะไม่ขยับตาม เราควรเปลี่ยนให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น living wage ได้ และควรจะเป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย”

ข้อที่สอง คือ fair condition มีสวัสดิการ ได้รับการดูแล และมีหลักประกันทางสังคมที่ดี รวมถึงมี work-life balance ของตนเอง

“คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียว แต่เกิดมาเพื่อจะมีชีวิตด้วย เราควรจะทำงานเพื่อจะได้มีเวลาใช้ชีวิต”

ข้อที่สาม คือ fair contract มีข้อตกลงที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่โดนผลักออกมานอกระบบ ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเป็นฟรีแลนซ์

ข้อที่สี่ คือ fair management ทำให้การบริหารจัดการเป็นธรรม โดยอาจร่วมเป็นหุ้นส่วนทางสังคมหรือตัดสินร่วมกัน และคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศด้วย

ข้อสุดท้าย คือ fair representation การทำให้คนงานมีสิทธิมีเสียง สามารถรวมตัวและเจรจาได้

“ไทยเป็นประเทศที่เขาว่ากันว่าเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก เพราะคนส่วนใหญ่มีอำนาจน้อยทำให้คนส่วนน้อยมีอำนาจมากเกินไปจนไม่เกิดการแบ่งปันที่เป็นธรรม เราควรเปลี่ยนจากการมองนายจ้างลูกจ้างด้วยความสัมพันธ์แบบระบบศักดินาเป็นหุ้นส่วนทางสังคมมากกว่า เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้”

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับแรงงาน เราต้องปรับตัวให้เขาอยู่อย่างเป็นคน ไม่ใช่ปรับแบบติดดินและมีชีวิตแบบไม่รู้จะอยู่ต่อไปยังไง” ศักดินากล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save