fbpx
Joy to the World: ชีวิตใหม่ในโลกใบเดิมของ ‘จอย’ พิมลัดดา

Joy to the World: ชีวิตใหม่ในโลกใบเดิมของ ‘จอย’ พิมลัดดา

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

ปรัชญพล เลิศวิชา ภาพ

 

สำหรับหลายคน เรือนจำเป็นเพียงสถานที่ ‘ลงเอย’ ของคนกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก และไม่รู้รายละเอียดใดนอกจากเพศกำเนิดและรูปลักษณ์ ทว่าเรือนจำเป็นสถานีปลายทางของผู้ไม่อาจเดินทางต่อไปจริงหรือ จะเป็นไปได้ไหม หากสังคมจะมองทะลุกำแพงสูงและซี่ลูกกรง ปลดเปลื้องอคติและเห็นเรือนจำเป็นเพียงสถานีหนึ่งบนเส้นทางชีวิตอันผันผวน หลากหลาย และบางครั้งก็ซับซ้อนเกินเข้าใจของมนุษย์คนหนึ่ง

เพราะเชื่อว่าเรือนจำไม่ใช่สถานีปลายทาง หากเป็นสถานีหนึ่งบนเส้นทางชีวิตที่บ้างเรียบราบและบ้างขรุขระ โครงการ ‘Street Food สร้างโอกาส’ โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจฯ จึงเสนอความช่วยเหลือแก่ผู้พร้อมเดินทางต่อไป หรือเพิ่งเริ่มต้นเดินทางจากสถานีนั้นแล้ว ให้เดินทางสู่จุดหมายดังตั้งใจได้โดยสวัสดิภาพ

ในช่วงแรกเริ่ม โครงการนี้เกิดจากความพยายามสนับสนุนผู้ขาดรายได้จากการระบาดของโควิด-19 ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ด้วยการจำหน่ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย จนกระทั่งทาง TIJ เห็นและเชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกตีตราว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ จนเกิดการพัฒนามาเป็นโครงการสร้างโอกาส ที่อาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือทั้งระยะสั้น คือทุนและรถเข็นนวัตกรรมต้นแบบ ไปจนถึงระยะยาว คือการให้องค์ความรู้แก่ผู้ที่ตั้งใจเดินทางต่อไป

หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้คือ ‘จอย’ พิมลัดดา มารยาตร์ หญิงสาวชาวราชบุรีผู้มุ่งมั่นหาเลี้ยงชีพ แต่เช่นเดียวกับใครอีกหลายคน เพราะปัญหาการเงินที่รุมเร้าทำให้จอยเผลอทำผิดพลาดและต้องเข้าสู่เรือนจำ แต่อย่างที่บอกไปว่าเรือนจำเป็นเพียงสถานีหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน จอยเองก็เช่นกัน ตอนนี้เธอออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำแล้ว พร้อมกับเส้นทางชีวิตและการเดินทางครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นอีกครั้ง

101 ชวนติดตามความพยายามกลับสู่เส้นทางชีวิตในโลกที่คุ้นเคยของเธอ ผ่านบทสัมภาษณ์พิมลัดดาหรือจอย เจ้าของแบรนด์แซนด์วิชทอด ‘บีแอนด์เจ กำลังปัง’ – เรื่องราวของจอยเป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่า เธอและเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ ไม่ได้ขออะไรมากไปกว่า ‘โอกาส’ และ ‘เครื่องมือ’ เพื่อที่จะเดินทางต่อไปอย่างปลอดภัยในโลกใบเดิม

 

 

ถ้าย้อนกลับไปก่อนจะเข้าเรือนจำ คุณทำงานอะไร รายได้ตอนนั้นเพียงพอกับการใช้ชีวิตไหม

ตอนนั้นเราทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ดูแลร้านสาขา แต่รายจ่ายก็ยังมากกว่ารายได้อยู่ดี เพราะเราออกจากบ้านมาอยู่อำเภออื่นด้วย เลยเจอทั้งค่าเช่าบ้าน บวกกับค่าเทอม ค่าอาหาร และค่าน้ำมัน ทุกอย่างสวนทางกับรายได้หมด

ตอนทำงานแรกๆ เราก็หาลูกค้าได้เป็นปกติและมียอดขายตามเป้านะ เป็นอย่างนั้นอยู่สามเดือนได้ แต่หลังๆ ยอดขายเริ่มไม่เข้าเป้าแล้ว เมื่อไม่เข้าเป้าก็ได้ค่าคอมมิชชั่นน้อยลงมาก หรือไม่ได้เลยก็มี ถึงยอดขายจะขาดไปราวพันหนึ่งก็ไม่มีการอะลุ้มอล่วยเลย และยังเหมือนถูกลงโทษด้วยการลอยแพ ไม่ให้ร่วมประชุมหรืออบรมในบริษัท ไม่ส่งสินค้าหรือความช่วยเหลือใดๆ ให้ เมื่อลูกค้าต้องการสินค้า เราก็ต้องหาสินค้านั้นให้ลูกค้าเอง ไม่มีการอุดหนุนค่าใช้จ่าย จะขอเบิกเงินเวลาฉุกเฉินก็ไม่ได้ 1,000 บาทก็ไม่ได้ 500 บาทยังไม่ได้ ส่วนเอกสารแจ้งยอดขายที่ส่งผ่านคนกลางไปยังสำนักงานใหญ่หลังๆ ก็ไม่เคยให้ผ่าน บอกแต่ว่าเอกสารไม่ชัดเจน ทั้งที่เราพยายามทำทุกวิถีทางแล้วแท้ๆ

ตอนนั้นจำได้ว่าเราร้องไห้บ่อย บางทีนอนหลับยังสะดุ้งตื่นเพราะคิดถึงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายวันพรุ่งนี้ ทั้งค่ารับส่งลูกไปโรงเรียน ไหนจะค่าขนมอีก ตอนนั้นลูกคนโตเราอายุประมาณ 10 ขวบ คนเล็ก 8 ขวบ และเราก็เพิ่งมารู้ตอนหลังว่า ยอดขายของร้านตัวเองที่หายไปจะถือเป็นยอดขายของสาขาใหญ่ เราก็อดคิดไม่ได้นะว่า มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เพราะยอดขายของเราอยู่ในมือเขาอย่างนั้น เขาจะทำอะไรก็ได้

พอเป็นแบบนี้เราก็พยายามหารายได้เสริมอย่างสุดความสามารถ ทั้งพยายามหาลูกค้าใหม่และขายลูกชิ้นทอดร่วมด้วย ทำงานทุกวัน 7 วันไม่มีวันหยุด เพราะหยุดแล้วก็ไม่มีรายได้

 

คุณได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐบ้างไหม

เราได้เงินจากบัตรคนจนเดือนละ 300 บาท  ได้ปุ๊บก็ตุนทั้งมาม่าทั้งข้าวเลย ทั้ง 300 บาทนั่นแหละ จริงๆ ถ้าตอนนั้นเราได้ความช่วยเหลือมากกว่านี้ก็คงพอมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง เราก็พยายามคำนวณรายจ่ายทุกเดือนแล้วนะ แล้วตั้งเป้าเลยว่าเราต้องขายหรือหารายได้ให้ได้เท่านั้นๆ แต่ก็ผิดคาดไปเสียทุกอย่าง

 

ช่วยเล่าเรื่องตอนเข้าสู่เรือนจำ และชีวิตในเรือนจำให้เราฟังได้ไหม ตอนนั้นสภาพจิตใจคุณเป็นอย่างไร และคุณมีวิธีเยียวยาจิตใจตัวเองอย่างไร

ตอนแรกเลย เรานึกถึงลูก เป็นห่วงคนข้างหลัง เรียกได้ว่าเป็นห่วงทุกอย่างจนท้อ หมดกำลังใจ หดหู่ เราถามตัวเองตลอดว่าทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างที่พยายามทำไม่มีประโยชน์บ้างหรือ หรือจริงๆ มีวิธีที่ดีกว่านี้แต่สายไปแล้ว ก็ได้แต่ยอมรับความจริง และคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านแต่ละวันไปได้ จะทำอย่างไรให้ได้กลับบ้านหรือได้เห็นหน้าลูกบ้าง เพราะเราอยากร่ำลาลูกสักครั้งก่อนเข้ามา แต่ตอนนั้นไม่มีโอกาสเลย

ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากนอกเรือนจำมากนะ ตอนนั้นเราต้องทำอะไรเหมือนๆ กับคนอื่น ทั้งการกินหรือนอน ต้องตื่นตอนตีห้าครึ่ง พับผ้าห่มให้เรียบร้อย มีสวดมนต์ด้วย พอราวหกโมงครึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาเปิดห้องนอนให้เราได้อาบน้ำ แต่งตัว จิบกาแฟไปพลางระหว่างรอรับประทานอาหารเช้า พอแปดโมงก็เคารพธงชาติ หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งข่าวสารและเล่าสถานการณ์ภายนอกให้ฟัง คล้ายๆ กับการดูข่าว

พอเก้าโมงเป็นเวลาเริ่มงาน หลังขานชื่อในแต่ละกองงานและแจ้งยอดในวันนั้นๆ ต่อเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำพวกเราไปทำงานที่ได้รับมอบหมาย พอตกเย็นก็ได้เวลาอาบน้ำ ซักผ้า และได้กลับห้องนอนราวหกโมงเย็น ได้ดูโทรทัศน์จอ 14 นิ้ว เป็นเพลงเก่าๆ หรือวาไรตี้เก่าๆ ที่ออกอากาศเมื่อสักสามเดือนก่อน ดูอยู่ถึงสักสามทุ่ม โทรทัศน์ทุกเครื่องก็จะปิดอัตโนมัติ เป็นสัญญาณว่าได้เวลานอนแล้ว

เรายอมรับนะว่าตอนนั้นลำบากพอสมควร ต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์กว่าจะคุ้นกับห้องน้ำที่เป็นบล็อกๆ มีผ้าปิดหน่อยเดียว แต่ก็มองเห็นกันได้อยู่ดี และเรายังมีเวลาอาบน้ำแค่ 3 นาที บางวันก็ไม่มีน้ำอาบเพราะมีน้ำแค่กระป๋องเดียว แต่ต้องใช้ทั้งอาบและซักผ้า ส่วนที่นอนก็แออัดพอสมควร นอนหงายก็ชนกัน นอนตะแคงก็ปวดเมื่อย แต่ก็ต้องทน ยิ่งลำบากแบบนี้เรายิ่งคิดถึงครอบครัว คิดถึงลูก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ร้องไห้ ยกผ้าห่มคลุมแล้วข่มตานอน แต่จริงๆ บริการให้คำปรึกษาในเรือนจำก็ให้กำลังใจเราได้ดีนะ แต่ที่ดีสุดคือได้เขียนจดหมายโต้ตอบกับสามีเรื่อยๆ เล่าสู่กันฟัง จดหมายจากสามีและครอบครัวเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดเลย

ทุกวันนี้เราก็ยังพยายามสวดมนต์และออกกำลังกายทุกเช้าเหมือนตอนอยู่ในเรือนจำ นั่งสมาธิบ้างให้จิตใจสงบ ตรงนี้ถือเป็นบทเรียนที่ได้มาจากความพยายามอดทนให้วันเวลาในเรือนจำผ่านไป

 

 

การอบรมวิชาชีพในเรือนจำเป็นยังไงบ้าง แล้วคุณสนใจวิชาชีพไหนเป็นพิเศษไหม

การอบรมก็มีหลากหลายแบบ ในนั้นเขาจะแบ่งเป็นกองงานเหมือนการฝึกอาชีพ มีกองงานเย็บปักถักร้อย ซักรีด เราก็ไปศึกษาดูว่าในนั้นมีทักษะอาชีพอะไรบ้าง แล้วพอออกไปจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ชอบกองงานเบเกอรี่ เพราะจะได้เงินปันผลรายเดือนเยอะเพื่อนำไปใช้จ่ายในเรือนจำ ขายในเรือนจำนี่เอง ไม่ได้ขายที่ไหน แต่ต้องขยันหน่อย ตื่นเร็วกว่าเพื่อน อาบน้ำเช้ากว่าเพื่อน ส่วนใหญ่ก็อบรมตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงบ่ายสอง

ก่อนเข้าเรือนจำ เราเคยร่วมฝึกอบรมทำขนมในโครงการต้นกล้าอาชีพแล้ว เลยชอบกองกลาง กองโยธามากกว่าจะได้ไปหลายๆ ที่ ไม่จมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราฝึกทุกอย่างเลยนะ ทั้งล้างท่อ ขัดห้องน้ำ ดูแลระบบน้ำรอบแดน และดูแลไม่ให้ใครอู้งานหรือส่งเสียงดัง มีงานก่อสร้างที่ไหนก็ไปทำหมด เพราะเราตั้งใจแล้วว่าตัวเองจะไม่กลับเข้าไปอีกแน่นอน เลยต้องเรียนรู้ให้หมดว่าเขาทำอะไรกันบ้าง อะไรที่ยากและไม่เคยทำก็ต้องลองให้หมด และทักษะเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่เราเรียนรู้เองไม่ได้ด้วย

 

ในฐานะของคนที่เคยเข้าสู่เรือนจำและออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว มีข้อเสนอแนะอะไรเพื่อปรับปรุงในเรือนจำบ้างไหม

จริงๆ สิ่งที่ดีก็มีนะคะ เช่น อาหารในนั้นก็ดี ทั้งเยอะและสะอาด ส่วนการฝึกอาชีพก็มีตัวเลือกเยอะมาก ร้านขายของชำก็ใช้ได้ บริการด้านสุขภาพก็ดี อย่างตอนที่เราอยู่ในเรือนจำเป็นช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทางเรือนจำก็ให้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่มาให้บริการผู้ต้องขังทุกคนเลย กลุ่มเสี่ยงจะได้รับการรักษาทันที ส่วนผู้ต้องขังที่มีลูกอ่อนก็ได้รับการดูแล มีอาหาร เครื่องใช้ ผ้าอ้อม และนมบริการ

แต่ที่เรามองว่าพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้คือ ห้องนอนที่แออัดและผ้าอนามัยที่ไม่พอใช้ โดยสำหรับคนที่ไม่มีเงินซื้อ ยาก็มีไม่เพียงพอ และกว่าจะได้พบแพทย์ก็มักใช้เวลาหลายวัน คือถ้าป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ จะขอยาบรรเทาอาการจากเจ้าหน้าที่ได้เลย แต่ถ้าต้องพบแพทย์ สมมติว่าป่วยวันเสาร์ กว่าจะลงทะเบียนพบแพทย์ได้ก็วันจันทร์ รับการรักษาจริงวันพุธ ยามาถึงวันพฤหัสบดีหรือศุกร์ ถ้าไม่เกือบหายก็อาการแย่มากแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือการได้พบญาติ เราหวังว่าจะได้มีโอกาสพบลูกโดยไม่มีซี่ลูกกรงกั้นบ้าง ถ้าได้กอดลูกบ้าง พ่อแม่หลายคนคงมีกำลังใจ ไม่ย่อท้อ ถ้าเป็นไปได้ เราอยากขอโอกาสให้ผู้ก้าวพลาดได้กอดลูกทุกครั้งที่ได้เข้าเยี่ยมเถอะ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าผู้ต้องขังในนั้นต้องการที่สุด

 

ปัจจุบันคุณทำอาชีพอะไรอยู่ ช่วยเล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยได้ไหม

ปัจจุบันเราประกอบอาชีพค้าขาย ถ้าพูดให้ชัดหน่อยก็คือขายแซนด์วิชทอดที่บริเวณใกล้ๆ ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาชัฏป่าหวาย จังหวัดราชบุรี ที่อยู่ราชบุรีเพราะเราเกิดและโตที่จังหวัดนี้ และในวันที่ 18 ธันวาคม (งาน 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ : ร่วมจุดประกายพลังความร่วมมือทางสังคม) เราจะไปร่วมจัดงานแสดงสินค้า พร้อมกับรับรถเข็นนวัตกรรมต้นแบบจากโครงการ ‘Street Food สร้างโอกาส’ ในวันเดียวกันนั้นด้วย

รถเข็นที่จะไปรับจากโครงการเป็นรถเข็นที่ขายได้ทั้งแซนด์วิชทอดและก๋วยเตี๋ยวในคันเดียว เรามองว่าไหนๆ การทำแซนด์วิชทอดก็ไม่ได้ใช้พื้นที่มาก จึงตั้งใจต่อยอดขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วยเลย ซึ่งเท่าที่ได้ติดต่อพูดคุยกับโครงการมา รถเข็นนี้จะมีทั้งพื้นที่สำหรับทำและทอดแซนด์วิช และมีช่องใส่หม้อก๋วยเตี๋ยวด้วย พอเป็นแบบนี้ ถ้าวันไหนเราจะขายแต่แซนด์วิชทอด แค่หาอะไรมาปูทับหน่อยก็ใช้ได้แล้ว

 

คุณรู้จักและเข้าร่วมโครงการ ‘Street Food สร้างโอกาส’ ได้อย่างไร

เรารู้จักโครงการนี้จากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ เพราะในเรือนจำมีโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กำลังจะออกจากเรือนจำเป็นปกติอยู่แล้ว เขาจะให้ผู้ต้องขังระบุว่า หลังออกจากเรือนจำแล้วจะประกอบอาชีพใดต่อไป ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจนะว่า โครงการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร แต่ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำมาเยี่ยมบ้านหลังเราออกมาแล้ว เพื่อหาข้อมูลว่า เรากำลังประกอบอาชีพอะไร และจะปฏิบัติตามแผนที่เสนอก่อนออกจากเรือนจำได้ไหม จากนั้นจึงให้ความช่วยเหลือ เป็นเงินบ้าง เป็นการอบรมวิชาชีพบ้าง

พอดีทาง TIJ ได้ติดต่อเรือนจำเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการนี้ เจ้าหน้าที่ที่เราเคยติดต่อก็เลยถามเราว่า สนใจเข้าร่วมโครงการไหม แต่ก่อนจะเข้าร่วมโครงการต้องอบรมในเรือนจำให้ครบ 7 ครั้ง ซึ่งเราก็เข้าร่วมการอบรมทุกครั้ง

 

ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจนค้าขายได้ เคยคิดว่าจะประกอบอาชีพอื่นบ้างไหมหลังออกจากเรือนจำ

เราเคยคิดว่าจะทำงานในโรงงานนะ โรงงานแรกที่สมัครคือโรงงานในจังหวัดราชบุรีนี่แหละ เขาให้ค่าตอบแทนรายวัน วันละ 300 หรือ 350 บาท และมีค่าตอบแทนสำหรับโอทีต่างหาก โดยรวมวันหนึ่งทำงานราว 12 ชั่วโมง จะมีรายได้ 400 บาทเศษ แต่ถ้าพิจารณาดูแล้ว รายได้เท่านั้นไม่พอหรอก ไหนจะค่าเดินทาง ไหนจะค่าจ้างญาติรับส่งลูกจากโรงเรียน วันละ 40 บาท ค่าอาหาร ค่าขนมของลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แถมยุคนี้ต้องใช้อินเทอร์เน็ตอีก

แต่พอมาเป็นรถเข็นนี่ได้เลย เราว่ามันช่วยได้มากจริงๆ ดีกว่ารถเข็นที่เห็นกันทั่วไปมากๆ ทั้งระบบน้ำ อ่าง แผงโซลาร์เซลล์ เหมาะกับการเดินขายของแม่ค้าริมทาง ส่วนระบบล้อและการเคลื่อนย้ายก็แข็งแรงและสะดวกมาก

 

คุณบอกว่าเลือกขายแซนด์วิชทอดเป็นหลัก ลองเล่าให้ฟังได้ไหมว่า ทำไมถึงตัดสินใจเลือกขายอาหารชนิดนี้

ก่อนตัดสินใจเป็นช่วงล็อกดาวน์ เราก็กำลังหาไอเดียสินค้า ไล่ดูใน YouTube ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ขายให้ได้ทั้งเด็กและคนทั่วไป และยังเป็นของว่างได้ พอดีเห็นแซนด์วิชทอดก็สนใจ เลยเริ่มหัดทำและเปิดตลาดโดยให้ลูกทดลองนำไปขายที่โรงเรียน ประกอบกับใช้วิธีการขายออนไลน์ทาง Facebook ด้วย โดยลูกค้าจะเป็นคนในละแวกใกล้เคียงที่เราส่งสินค้าให้เองได้ เรียกได้ว่าทอดใหม่ๆ ให้เลย ตอนนั้นกระแสตอบรับดีจนมีหน้าร้านขายใกล้บ้านได้ ซึ่งระยะทางของทั้งร้าน บ้าน และโรงเรียน ห่างกันราวหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น

 

แล้วทำไมถึงเลือกจะขายก๋วยเตี๋ยวควบคู่ไปด้วย

เราเคยเป็นลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวราว 8-9 ปี เรียกได้ว่าอยู่กับเส้นก๋วยเตี๋ยวมานานมากจนคุ้นเคยกับสูตรและการบริหารจัดการ จึงคิดว่าจะลองทำดูสักตั้ง           อีกอย่าง เราลองไปสำรวจในพื้นที่ดูแล้วพบว่า ยังไม่มีใครขายก๋วยเตี๋ยวแบบที่เราจะขายเลย คิดว่าก็คงอาศัยทั้งสูตรเก่าๆ ที่พ่อแม่เคยทำขายในกรุงเทพฯ บวกกับประสบการณ์ของตัวเองด้วย

เราตั้งใจไว้แล้วนะว่าจะขายเย็นตาโฟ อาจใช้ชื่อว่า ‘เย็นตาโฟโคตรเครื่อง’ เพราะจะมีเผือกทอดกรอบโรยหน้าให้แตกต่างจากของเจ้าอื่นๆ ในพื้นที่

 

 

คุณคิดถึงทั้งการขายแซนด์วิชทอดและก๋วยเตี๋ยว แบบนี้มีแผนพัฒนาสินค้าทั้งสองชนิดไหม อย่างไร

ถ้าเป็นแซนด์วิชทอด เราคิดไปถึงเรื่องการสร้างแฟรนไชส์และตั้งใจจะไปถึงจุดนั้นให้ได้ แต่คงต้องทดลองทำแซนด์วิชให้กรอบตลอดวันได้ก่อน ถ้าไปถึงตรงนั้นได้จริงๆ เราก็คงขายสูตรให้ร้านแฟรนไชส์ เพราะมีชื่อแบรนด์ ‘บีแอนด์เจ’ เรียบร้อยแล้ว กำลังปังเลย

ส่วนก๋วยเตี๋ยว เราก็คงเริ่มเหมือนแซนด์วิชทอดแหละ คือเริ่มส่งให้ลูกค้าละแวกใกล้เคียงก่อน ถ้าเติบโตดีก็คงพอขยับขยายเป็นแฟรนไชส์ต่อไปได้

 

แล้วรายได้ปัจจุบันของคุณถือว่าเพียงพอกับการใช้ชีวิตหรือยัง

ดีเลยค่ะ เพียงพอและดีขึ้นมาก ลำพังส่งในละแวกบ้านวันหนึ่งๆ ก็ได้เยอะ พูดง่ายๆ คือ เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาปากท้องน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เริ่มมีเงินเก็บและวางแผนการใช้จ่ายให้อยู่ได้ยั่งยืน แถมยังดูแลครอบครัวได้มากขึ้นแล้ว

ถ้าเป็นเรื่องการเงิน ต้นทุน และผลิตภัณฑ์ ทางเบทาโกรได้เข้ามาอบรมการคำนวณต้นทุนการผลิต ซึ่งช่วยได้มากสำหรับการบริหารเงินในครอบครัว เราก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง เคยผ่านอะไรมาก็จดจำ ถือเป็นประสบการณ์และเป็นบทเรียนในชีวิต

ทุกวันนี้ สิ่งที่เราทำเป็นประจำคือ ได้เงินมาเมื่อไหร่ต้องแบ่งสำหรับลงทุนวันถัดไป 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แบ่งเป็นเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน 20 เปอร์เซ็นต์ และใช้จ่ายจริง 30 เปอร์เซ็นต์

 

ในฐานะคนที่ได้รับโอกาสเปลี่ยนชีวิตจากโครงการนี้ คุณมีข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาโครงการให้ดีขึ้นกว่าเดิมไหม

เราคิดว่าอาชีพค้าขายเติบโตง่าย และเท่าที่เห็น โครงการก็ทำได้ดีแล้ว แต่ในอนาคต หากเป็นไปได้ เราอยากให้มีการฝึกอบรมการจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ทั้งระหว่างเราและพ่อแม่กับเราและลูก ซึ่งตัวเราเคยผ่านตาทักษะความสัมพันธ์ในครอบครัวมาบ้างนะ แต่หลายคนก็ดูจะไม่มีความเข้าใจประเด็นนี้เท่าไหร่เลย อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ การบริหารเงินในครัวเรือน การทำรายรับรายจ่าย และการลงทุนอย่างปลอดภัยในระยะยาว

จริงๆ คือ เราอยากให้สอนโดยที่เราไม่ต้องมาเรียนรู้ และได้ลองผิดลองถูกเองจากประสบการณ์จริง เท่านี้ก็พอแล้ว

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save